วันนี้มีร่างกฎหมายสำคัญหลายฉบับเข้าสภา บ้างอยู่ระหว่างพิจารณา บ้างเพิ่งได้เสนอหน้า โดยเฉพาะกฎหมายลูกประกอบ รธน.เรื่องเลือกตั้ง ส.ส.และ พรบ.พรรคการเมือง ขณะที่มีเวลาสามวันสำหรับการประชุมสมัยนี้ เว้นแต่จะเพิ่มสมัยวิสามัญ
ร่างซึ่งกำลังอภิปรายกันในวาระสองขณะนี้ เป็น พรบ.ป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหาย ถูกจับจ้องเป็นพิเศษเนื่องจากมีร่างฯ ของกรรมาธิการซึ่งภาคประชาชนเด่นๆ หลายคนได้ร่วมร่าง เช่น หมอทศพร เสรีรักษ์ บก.ลายจุด สมบัติ บุญงามอนงค์ และอังคณา นีละไพจิตร
@iLawclub ชวนให้จับตาการพิจารณา โดยชี้ว่าร่างฉบับ กมธ.นี้มีการเปลี่ยนแปลงหลายประเด็น โดยรับเอาเนื้อของพรรคการเมืองและภาคประชาชนมาผสม และ “จะมาเป็นกลไกสำคัญในการหยุดวงจรลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ”
ณัฐวุฒิ บัวประทุม จากพรรคก้าวไกลผลักดันให้บรรจุถ้อยความสำคัญ “แต่เรากลับดูไม่สนใจ” กันนัก เพื่อยืนยัน ‘ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์’ และเน้นย้ำความน่าสพรึงของ “การกระทำทีโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม” โดยระบุไว้ในมาตรา ๓
สำหรับร่างกฎหมายลูกเรื่อเลือกตั้งและพรรคการเมือง ซึ่งฝ่ายค้านเสนอให้เพิ่มเติมเนื้อหาหลายอย่าง ให้สมบูรณ์และป้องกันข้อบกพร่องที่เกิดในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว แต่ปรากฏท่าทีไม่ยี่หระของฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาล วิปแจ้งมติแล้วว่ารับเฉพาะร่างของ ครม.
จุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แจ้งว่าพรรคของตนจะรับหลักการ พรป.ทั้งสองตามมติของวิปรัฐบาล นั่นคือเกี่ยวกับการเลือกตั้งไม่ติดใจอะไรเป็นพิเศษ แต่เกี่ยวกับพรรคการเมือง บางร่าง “แตกลูกออกไปเยอะ” เช่นร่างของพรรคเพื่อไทย
“เสนอให้แก้มาตรา ๒๗ และมาตรา ๒๘ ว่าด้วยการเปิดช่องทางให้ประชาชนเสนอแนะความเห็นมายังพรรคการเมืองได้” หรือฉบับของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล “เสนอยกเลิกการยุบพรรคการเมือง เป็นต้น” ชินวรณ์ บุณยเกียรติ รองประธานวิปขอดูก่อน
ประเด็นที่ว่า “ยินยอมให้บุคคลภายนอกครอบงำ ควบคุมสั่งการ ทำให้พรรคการเมืองขาดความเป็นอิสระ ที่ถือเป็นความผิดถึงขั้นยุบพรรค” ชูศักดิ์ ศิรินิล พรรคเพื่อไทยบอก “ต้องทำความกระจ่าง” ว่าการขอคำปรึกษาควรเป็นเรื่องปกติ
“ไม่ถือเป็นการครอบงำ ควบคุม สั่งการ ถ้าการให้คำปรึกษานั้นเป็นเพียงการเสนอแนะ ทำความเข้าใจ โดยที่อำนาจการตัดสินใจยังคงอยู่กับพรรค”
อย่างไรก็ดี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย มีร่างกฎหมายอื่นๆ รอเสนออีกหลายฉบับ เช่นแก้มาตรา ๑๕๙ และ ๑๗๐ “ให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. และหากพ้นจากสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย”
นอกจากนั้นยังมีการขอแก้ไขหมวด ๓ เรื่องสิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะมาตรา ๒๙ แก้ไขเรื่องสิทธิการได้ประกันตัวในคดีอาญา ให้คุมขังจำเลยเท่าที่จำเป็น หากจะไม่ยอมปล่อยตัวชั่วคราว ต้องเป็นเฉพาะกรณีไม่ให้จำเลยหลบหนีเท่านั้น
เรื่องนี้คล้องจองกับกรณีเป็นที่โจษจรรกันตอนนี้ ตามที่ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล@AmaratJeab มีคอมเม้นต์บนทวิตเตอร์ “ด้วยเงื่อนไขเดียวกัน ยื่นไปหลายรอบไม่ให้ประกัน หลัง #ค้ามนุษย์ กลายเป็นประเด็นร้อน บทจะอนุญาตก็ให้ง่าย ๆ”
ใช่สิ จู่ๆ ศาลก็บอกว่ายินดีให้ประกันตัว อานนท์ นำภา และพริษฐ์ ชีวารักษ์ สองแกนนำราษฎร ๖๓ ซึ่งถูกคุมขังมากว่า ๒๐๐ วัน ทั้งคู่ประกาศไม่ยื่นขอมาแล้วพักใหญ่ พอศาลเปิดไฟเขียว เงินกองทุนราษฎรไม่พอค่าประกันตั้งสองล้านกว่า
มีการประกาศขอบริจาคทางสื่อสังคม เพียงสามชั่วโมงเท่านั้นได้เงินบริจาคกว่า ๑๑ ล้านบาท เป็นที่กล่าวขวัญว่าพลังราษฎรไม่ได้อ่อนล้าลงไปแม้แต่นิด “จำนวนเงินที่โอนช่วยอานนท์กับเพนกวินนั้นไม่เยอะหรอกครับ” ชำนาญ จันทณ์เรือง เปรย
“แต่จำนวนคนที่โอนสิครับ มากจนขาบางคนสั่นเลยล่ะ” มีคนลองคำนวณเล่นๆ ว่าภายในสามชั่วโมงนี่ ถ้าบริจาคเพียงรายละ ๑๑๒ บาท ก็เท่ากับจำนวนคนถึง ๑ แสนเลยทีเดียว ขณะเดียวกันมีข้อให้คิดอีกว่า เอ๊ะ ค่าประกันไฉนแพงหูฉี่
ตำรวจสิงห์มอ’ไซค์ ขี่บิ๊กไบ๊ค์ชนจักษุแพทย์หญิงตายตรงทางม้าลาย ได้ประกันตัวทันทีด้วยวงเงินเพียง ๕ หมื่นบาท แต่สองนักกิจกรรมนี่ถูกขังมาจะสี่เดือน ทั้งที่ยังไม่ได้เริ่มกระบวนการคดี “เปลือยให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมมีปัญหา” ดังรังสิมันต์ว่า
แต่พลังประชาชนก็ “ทำให้เห็นว่าเราทำได้” Puangthong Pawakapan บอกถึงผู้กุมอำนาจ ‘คุมเกม’ และ ‘ปั่นหัว’ เพียงใด หรือ “จะเรียกเท่าไรก็ได้” ไม่ย่นย่อ ชนิดที่ นรเศรษฐ์ นาหนองตูม เก็บความจากเรือนจำมาเล่า สถานการณ์ตอนค่ำ
เจ้าหน้าที่ถามว่าจะได้เงินประกันทันไหม “ได้ครบแล้วครับ ตอนนี้พร้อมโอน” “โอโห้!! ทำไมได้เร็วจัง” “พี่เชื่อมั่นในพลังของประชาชนไหมครับ...นี่คือพลังของราษฎร”
(https://www.matichon.co.th/politics/news_3198205, https://www.voicetv.co.th/read/3d5GVuE2j, https://ilaw.or.th/node/6086, https://www.innnews.co.th/news/politics/news_295956/, https://www.posttoday.com/politic/news/676320 และ https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_523048)