วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 22, 2565

ปาสีใส่รูป ร.10 โดน 112


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
19h ·

เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2565 เวลาประมาณ 13.30 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งกรณีของนายสมพล (นามสมมติ) หนุ่มวัย 28 ปี ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นและจับกุมจากบ้านพักย่านดอนเมือง กรุงเทพมหานาคร ในช่วงเวลาประมาณ 7.00 น. โดยทราบว่าเจ้าหน้าที่มีการแสดงหมายจับตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เหตุเกี่ยวกับปาสีใส่พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10
.
ญาติของสมพล ผู้แจ้งถึงการจับกุมระบุว่า ในตอนแรกตำรวจได้จับกุมตัวสมพลไปยัง สภ.ปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เนื่องจากเป็นคดีของท้องที่ดังกล่าว โดยญาติได้ติดตามไปด้วย แต่ต่อมา ตำรวจฝ่ายสืบสวนได้พาตัวสมพลไปชี้สถานที่เกิดเหตุ โดยไม่รอทนายความติดตามมา และตำรวจยังตรวจยึดโทรศัพท์มือถือสมพลไป ทำให้ไม่สามารถติดต่อได้ ระหว่างนั้นก็ไม่ทราบว่าตำรวจนำตัวเขาไปที่ใดอีกบ้าง
.
ต่อมาเวลา 16.00 น. หลังทนายความติดตามไปที่ สภ.ปากเกร็ด ก็พบว่าตำรวจยังไม่นำตัวผู้ต้องหากลับมาที่สถานีตำรวจ จนเวลาประมาณ 17.10 น. ตำรวจฝ่ายสืบสวนจึงได้พาตัวสมพลกลับมายัง สภ.ปากเกร็ด พร้อมแจ้งทนายความว่าจะสอบปากคำผู้ต้องหาในช่วงเช้าวันที่ 20 ก.พ. 2565 ต่อไป แต่ทางเจ้าหน้าที่ได้ทำบันทึกจับกุมและตรวจค้นเรียบร้อยไปแล้ว โดยไม่ได้มีทนายความอยู่ร่วมด้วย
.
จากการตรวจสอบบันทึกจับกุม พบว่าได้จัดทำขึ้นที่กองบังคับการสืบสวนตำรวจภูธรภาค 1 โดยการจับกุมอ้างอำนาจตามหมายจับที่ออกโดยศาลจังหวัดนนทบุรี และศาลจังหวัดปทุมธานี ลงวันที่ 18 ก.พ. 2565 ทั้งสองหมาย
.
การจับกุมนำโดย พ.ต.ท.ยศวัฒน์ นิติรัฐพัฒนคุณ รองผู้กำกับสืบสวน 2 พร้อมเจ้าหน้าที่จากกองบังคับการสืบสวนตำรวจภูธรภาค 1 จำนวน 13 นาย, จาก สภ.ปากเกร็ด จำนวน 6 นาย, จาก สภ.เมืองปทุมธานี จำนวน 4 นาย และจาก บก.ปอท. จำนวน 2 นาย รวมตำรวจชุดจับกุมกว่า 26 นาย
.
หมายจับของทั้งสองศาล ระบุข้อกล่าวหาทั้งหมด 3 ข้อหา ได้แก่ ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ข้อหา “ทำให้เสียทรัพย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และข้อหา “ทำให้โคมไฟ ป้าย หรือสิ่งใดๆ ที่ราชการได้จัดทำไว้เพื่อสาธารณชนเกิดความเสียหายหรือใช้ประโยชน์ไม่ได้” ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 35
.
การเข้าจับกุม ยังมีการแสดงหมายค้นที่ออกโดยศาลอาญาลงวันที่ 18 ก.พ. 2565 เข้าตรวจค้นบ้านของนายสมพล ก่อนเจ้าหน้าที่จะตรวจยึดของกลางรวมจำนวน 9 รายการ อาทิ รถจักรยานยนต์, หมวกนิรภัย, เสื้อผ้า, รองเท้า, คอมพิวเตอร์, โทรศัพท์มือถือ และกล้องถ่ายรูป
.
หลังจากควบคุมตัวสมพลไว้ที่ สภ.ปากเกร็ด ในคืนที่ผ่านมา ช่วงสายวันที่ 20 ก.พ. 2565 พ.ต.ท.ประมวล นวลงาม พนักงานสอบสวน สภ.ปากเกร็ด, พ.ต.อ.บุญยิ่ง บัณฑิตไทย และ ร.ต.อ.ตูชัย สุระเสียง พนักงานสอบสวน สภ.เมืองปทุมธานี ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนสมพล ในสองคดีที่เกิดขึ้นในสองท้องที่ โดยมีทนายความเข้าร่วมรับฟังการสอบปากคำด้วย
.
พฤติการณ์ข้อกล่าวหาสรุปรวมกันระบุว่า เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2565 ตำรวจภูธรภาค 1 ได้สืบสวนพบว่ามีผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ถูกสาดสีจำนวน 6 รูป ต่อมาตรวจสอบในพื้นที่รับผิดชอบพบว่ามีป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ 3 จุด ในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 1 ถูกสาดสี แยกเป็นคดีในพื้นที่ สภ.เมืองปทุมธานี เป็นกรณีป้ายพระบรมฉายาลักษณ์บริเวณเกาะกลางถนนด้านหน้าตลาด Awake (อเวค) อำเภอเมืองปทุมธานี และคดีในพื้นที่ สภ.ปากเกร็ด เป็นกรณีป้ายพระบรมฉายาลักษณ์บริเวณทางขึ้นด่วนศรีสมาน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี จากการสืบสวนพบว่าพฤติการณ์ดังกล่าวมีนายสมพล เป็นผู้ก่อเหตุ จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติศาลออกหมายจับ
.
ทั้งนี้ในรายละเอียดข้อกล่าวหารายคดี ยังระบุว่าเหตุการณ์ปาสีดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงรุ่งเช้าของวันที่ 13 ก.พ. 2565 มีผู้ออกใช้รถจักรยานยนต์ ตระเวนใช้ถุงพลาสติกบรรจุสีน้ำสีแดงปาใส่พระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทำให้เปรอะเปื้อนได้รับความเสียหาย
.
ข้อกล่าวหาอ้างว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำมิบังควร ไม่ให้ความเคารพเทิดทูลในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งพระองค์เป็นประมุขของประเทศ ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทย กระทำของผู้ต้องหาสร้างความเสื่อมเสียพระเกียรติพระองค์ท่าน หน่วยงานราชการหรือท้องถิ่นต่างๆ ได้จัดทำพระบรมฉายาลักษณ์ขึ้นตามสถานที่ต่างๆ เพื่อให้สาธารณชนเทิดพระเกียรติพระองค์ท่าน ประชาชนทั่วไปได้แสดงความเคารพ พระบรมฉายาลักษณ์จึงเปรียบเสมือนตัวแทนพระองค์
.
สมพล ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาในทั้งสองคดี และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อไป
.
จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ให้สมพลพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และควบคุมตัวไว้ที่ สภ.ปากเกร็ด ต่ออีกหนึ่งคืน โดยจะยื่นขอฝากขังผู้ต้องหาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ต่อศาลจังหวัดปทุมธานีและศาลจังหวัดนนทบุรี ในวันที่ 21 ก.พ. 2565 ทำให้ต้องเตรียมยื่นขอประกันตัวในทั้งสองคดีต่อไป หากศาลอนุญาตให้ฝากขัง
.
.
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หากนับตั้งแต่ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งมีการเริ่มกลับมาบังคับใช้มาตรา 112 อีกระลอก จนถึงวันที่ 20 ก.พ. 2565 พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ไปแล้วอย่างน้อย 173 คน ใน 181 คดี
.
.
อ่านบนเว็บไซต์: https://tlhr2014.com/archives/40583
.
ดูสถิติคดีมาตรา 112: https://tlhr2014.com/archives/23983
...