ย้อนคำให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยขณะขอลี้ภัยในออสเตรเลียในช่วงปลายปี 2558 ของ พล.ต.ต. ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์จนมีผู้ถูกจับกุมตัวมาลงโทษจำนวนมาก
ในขณะนั้น เขาเปิดใจถึงความรู้สึกกดดันที่ถูกสั่งย้ายโดยไม่เป็นธรรม ถูกแทรกแซงการทำงาน ถูกข่มขู่คุกคามระหว่างการทำคดี และกังวลเรื่องความปลอดภัยหลังถูกสั่งย้ายไปประจำจังหวัดชายแดนใต้
"ผมไปทำคดีค้ามนุษย์โรฮิงญาที่หาดใหญ่ 5 เดือนเต็ม ๆ แล้วก็ทำการจับกุมผู้ต้องหาจำนวนมาก ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักการเมืองท้องถิ่น พ่อค้าคหบดี ในหลายจังหวัด เป็นเครือข่ายโยงใยเชื่อมต่อกันเป็นขบวนการค้ามนุษย์ที่ใหญ่มาก ทำให้กลุ่มผู้ต้องหาเหล่านี้และผู้บังคับบัญชาที่ได้ประโยชน์จากการค้ามนุษย์ของเจ้าหน้าที่ของรัฐมีความไม่พอใจ พยายามกดดันทีมทำงาน และผมเนี่ยถูกข่มขู่หลายครั้งให้หยุดทำงาน และขู่ว่าจะเกิดอันตราย รวมทั้งพยายามที่จะไม่ให้ออกหมายจับทหาร" พล.ต.ต. ปวีณ กล่าว
ชื่อของ พล.ต.ต. ปวีณ กลับมาอยู่ในความสนใจของประชาชนอีกครั้ง หลังจากที่นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล อภิปรายเรื่องขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา ซึ่งมี พล.ต.ต. ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 เป็นอดีตหัวหน้าชุดทำคดีเมื่อปี 2558 จนสามารถเปิดโปงผู้ร่วมขบวนการได้ ซึ่งมีตั้งแต่นักการเมืองท้องถิ่น ตำรวจ ทหาร โดยเฉพาะจำเลยสำคัญ พล.ท. มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก
"คำสั่งย้ายไม่เป็นธรรม"
พล.ต.ต. ปวีณ เล่าว่า การทำงานของทีมทำงานของเขาร่วมกับอัยการ ทำด้วยความถูกต้องชอบธรรมและโปร่งใส ตามพยานหลักฐาน ไม่มีการกลั่นแกล้งใคร
"แล้วเราคิดว่า มันเป็นวาระแห่งชาติ เป็นเรื่องของการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ที่ประชาคมโลกต้องการให้ดำเนินการ และเชื่อมั่นว่า รัฐจะคุ้มครองผู้ทำหน้าที่ แต่ปรากฏว่า เมื่อดำเนินการส่งสำนวนการสอบสวนไปแล้ว ผมเนี่ย ถูกย้ายไปอยู่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้"
"การย้ายไปตรงนั้น ต้องได้รับการยินยอมสมัครใจไป ตามมติของ ครม." พล.ต.ต. ปวีณ กล่าวอ้างถึงมติคณะรัฐมนตรี แต่กลับไม่มีการถามความสมัครใจของเขา และเขากังวลว่า การสั่งย้ายที่เขาเห็นว่าไม่ถูกต้องชอบธรรมนี้ จะทำให้เขาตกอยู่ในอันตรายถึงชีวิตได้ เพราะมีศัตรูสืบเนื่องจากคดีค้ามนุษย์รอแก้แค้นเขาอยู่มากมาย โดยเฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ เป็นพื้นที่สำคัญของขบวนการค้ามนุษย์ รวมทั้งกลุ่มทหารที่กระทำความผิด
"ผมได้ร้องขอผู้บังคับบัญชาทบทวน [คำสั่ง] ทุกระดับไม่มีใครให้ความเห็นใจ ไม่มีใครปกป้องคุ้มครอง ผมเห็นว่า ถ้าไปที่นั่นเนี่ย มันอันตรายแน่นอน และมีกรณีตัวอย่างของ พล.ต.อ. สมเพียร เอกสมญา ซึ่งเป็นนายตำรวจที่ผมรู้จักดีเนี่ย และคุ้นเคยกันมาก ได้เสียชีวิตมาแล้ว รวมทั้งเพื่อนผม พล.ต.ต. นพดล เผือกโสมณ ที่ขาขาดไปเนี่ย ก็เป็นเพื่อนสนิทของผม ทุกคนประสบเหตุกันทั้งนั้น ผมไม่ต้องการประวัติศาสตร์ซ้ำรอยนะครับ"
พล.ต.ต.ปวีณ ได้อ้างถึงเพื่อนตำรวจที่เคยประสบชะตากรรมเลวร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งที่ถึงขั้นเสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่อย่าง พล.ต.อ. สมเพียร หรือ "จ่าเพียร" ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรบันนังสตา จังหวัดยะลา ซึ่งถูกลอบวางระเบิดสังหารในปี 2553 และถึงขั้นพิการขาขาดอย่าง พล.ต.ท. นพดล ซึ่งเป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาสในขณะนั้น จากการเหยียบกับระเบิดที่คนร้ายลอบวางไว้ในปี 2550
(แฟ้มภาพ) การขุดค้นหาศพของชาวโรฮิงญา
พล.ต.ต. ปวีณ กล่าวว่า การที่ผู้มีอำนาจ "บังคับ" ให้เขา "ลาออกแล้วอยู่เงียบ ๆ" แสดงให้เห็นว่า ไม่มีใครปกป้องคุ้มครองเขา "ไม่มีความเมตตา ไม่มีความเห็นใจให้กับคณะทำงานต่อไปแล้ว จึงได้ตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศ"
เขายืนยันว่า เขาได้ร้องเรียนเรื่องคำสั่งย้ายไปถึงระดับนายกรัฐมนตรีด้วย โดยในขณะนั้น พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี
"ท่านนายกฯ ก็ทราบเรื่องดีครับ ได้กล่าวกับ พล.ต.อ. เอก อังสนานนท์ แล้วท่านเอกก็ไปกล่าวถึงเลขาธิการท่านนายกรัฐมนตรีแล้วครับ"
แต่การร้องเรียนนั้นก็ไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคำสั่งใด ๆ ขึ้น ทำให้เขาตัดสินใจลาออกและเดินทางไปขอลี้ภัยในออสเตรเลียในที่สุด
ค้ามนุษย์ : นายกฯ โต้อดีตหัวหน้าชุดจับคดีค้ามนุษย์โรฮิงญาลี้ภัย ไม่ผิดก็กลับมา ไม่มีใครทำอะไรได้
พล.ท. มนัส คงแป้น จำเลยคนสำคัญคดีค้ามนุษย์โรฮิงญาเสียชีวิตในเรือนจำ ส่วน พล.ต.ต. ปวีณ พงศ์สิรินทร์ หัวหน้าชุดทำคดีขอลี้ภัย
ประวิตร บอก "ไทยดีที่สุดในเอเชีย" หลัง สหรัฐฯ ยกระดับสถานะต้านค้ามนุษย์
พล.ต.ต. ปวีณ เห็นว่า การทุ่มเททำงานหนักของเขาและทีมงาน ไม่ได้รับการปูนบำเหน็จตามสมควร ตรงกันข้าม นายตำรวจในพื้นที่ที่มีปัญหาค้ามนุษย์กลับได้รับการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง
"พอผมทำงานหนักมาตลอดถึง 5 เดือนเต็ม ๆ เนี่ย เอกสารเนี่ยเป็นแสน ๆ แผ่น ควรที่จะปูนบำเหน็จให้กับทีมทำงานนะครับ ปรากฏว่าในทีมทำงานเนี่ย ซึ่งเป็นระดับลูกน้องผมนะครับ ไม่มีใครเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นเป็นนายพลสักคนเดียวเลย แต่ขณะที่พื้นที่ที่มันมีปัญหา แล้วผู้ที่รับผิดชอบในส่วนนั้นเนี่ย ควรที่จะโดนลงโทษ กลับได้รับการปูนบำเหน็จสูงขึ้น"
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความจริงใจในการแก้ปัญหาของการค้ามนุษย์ของรัฐบาลในขณะนั้น แม้จะมีการย้ำถึงความสำคัญของปัญหานี้ "อธิบายให้ฟังทั้งหมดแล้ว ก็คงจะหาคำตอบได้เองนะครับว่า เป็นยังไงครับ" พล.ต.ต. ปวีณ กล่าว
นอกจากนี้ เขายังแสดงความไม่มั่นใจต่อการปราบปรามการค้ามนุษย์ในช่วงหลังจากนั้นด้วย
"เราทำอย่างเต็มที่ แต่พอไปตามเต็มที่เนี่ย แล้วเราได้รับผลของการกระทำเป็นแบบนี้ ผมก็เลยไม่รู้ว่า จะมีเจ้าหน้าที่ คนอื่นเนี่ย จะทำอีกหรือเปล่า" อดีตนายตำรวจปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์กล่าว
พล.ท. มนัส คงแป้น (คนกลาง) อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ผู้ต้องหาคดีขบวนการค้ามนุษย์ เดินทางพร้อมด้วยนายทหารพระธรรมนูญ เข้ามอบตัวกับ ผบ.ตร. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 2558
ถูกข่มขู่
ในช่วงที่เขาสืบสวนเพื่อหาตัวผู้ร่วมขบวนการค้ามนุษย์มาลงโทษนั้น เขาต้องเผชิญกับการข่มขู่คุกคามหลายครั้ง
"มันเป็นตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของการทำงานมาแล้วล่ะครับ เป็นระยะ ๆ ๆ มีการเตือนว่า อย่าทำ มันอันตราย โดยเฉพาะการออกหมายจับทหารนะครับ รวมทั้งมีคนมาส่งข่าวว่า ให้ระมัดระวัง เดินทางไปไหนมาไหนเนี่ย ให้เปลี่ยนรถด้วย นอกจากนั้นแล้วเนี่ย ยังมีเรื่องของการปกปิดข้อมูลอีกนะครับ" พล.ต.ต. ปวีณ เล่า
ผลของการสืบสวนจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยในขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลงานของพล.ต.ต. ปวีณ ได้นำไปสู่การพิพากษาลงโทษของศาลต่อจำเลย 62 คนจากทั้งหมด 103 คน ในปี 2560 ในฐานความผิดต่างกัน อาทิ เป็นสมาชิกองค์กรอาชญากรรมต่างชาติ, สมคบและร่วมกันค้ามนุษย์, นำพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร, รับและให้ที่พักคนต่างด้าว, ความผิดต่อเสรีภาพ, เรียกค่าไถ่ และทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย โดยให้ลงโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึง 94 ปี เป็นคดีประวัติศาสตร์ที่ได้รับความสนใจจากสาธารณชนและสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างชาติ
จำเลยคนสำคัญในคดีนี้คือ พล.ท. มนัส ถูกศาลชั้นต้นตัดสินให้จำคุก 27 ปี ฐานมีส่วนในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติและความผิดฐานค้ามนุษย์ 3 คดี และยังพบอีกว่าการมีรับโอนเงินจากเครือข่ายค้ามนุษย์ราว 13 ล้านบาท ต่อมาในปี 2562 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาเพิ่มโทษเป็น 82 ปี โดยให้ได้รับโทษจริง 50 ปี เขาเสียชีวิตระหว่างรับโทษจำคุกเมื่อปีที่แล้ว แต่เรื่องที่ยังคาใจคนในสังคมคือ มีใครในขบวนการค้ามนุษย์ที่อยู่เบื้องหลัง พล.ท.มนัส อีกหรือไม่
"พล.ท. มนัส เนี่ย รับผิดชอบเรื่องค้ามนุษย์มา ตั้งแต่ยศเป็น พ.อ. แล้วก็เลื่อนยศเป็น พล.ต. เลื่อนยศเป็น พล.ท. โดยที่ พล.ท. มนัส เนี่ยเป็นนายพลทีหลังผม แล้วเนี่ย เป็นพล.ท. แล้ว ขณะที่ผมเนี่ย ยังไม่มีอนาคตเลย ยังเป็น พล.ต.ต. อยู่นั่นแหละ แล้วการเจริญเติบโตของ พล.ท. มนัส เนี่ย ใครเป็นคนให้ความดีความชอบ ไปพิจารณากันว่า เขาเป็นใคร มิฉะนั้นแล้ว พล.ท. มนัส เนี่ย ไม่สามารถที่จะโตได้ขนาดนี้ครับ" พล.ต.ต. ปวีณ กล่าวเมื่อกว่า 6 ปีก่อน
เปิดใจหลังลี้ภัยกว่า 6 ปี
หลังการอภิปรายของ ส.ส. พรรคก้าวไกลในสภาเมื่อ 18 ก.พ. 2565 อดีตหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา ได้ออกมาเปิดใจถึงเรื่องนี้อีกครั้ง
"วันนี้เป็นวันที่มีความสุขมากที่สุดวันหนึ่ง มันเป็นเรื่องเฉพาะตัวที่ติดค้างคาอยู่ในใจ ที่สร้างความทุกข์ระทมขมขื่น ทั้งเครียด ทั้งกลัว สะท้อนจิตใจ นับตั้งแต่หลบหนีออกนอกประเทศไทย จนถึงวันนี้ นานถึง 6 ปี 6 เดือน 3 วัน จากการที่ผมปฏิบัติหน้าที่แล้วถูกกลั่นแกล้ง ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และรัฐบาล รวมถึงผู้มีอำนาจ" เขากล่าว
พล.ต.ต. ปวีณ ปรากฏตัวผ่านระบบวิดีโอออนไลน์ หนึ่งวันหลังจากนายรังสิมันต์เปิดอภิปรายเรื่องขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาในสภา ทั้งนี้ พล.ต.ต. ปวีณ กล่าวยืนยันว่า สิ่งที่ ส.ส. พรรคก้าวไกลพูด "คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง" และ "รู้สึกได้รับความเป็นธรรมกลับมาครึ่งหนึ่ง"
พล.ต.ต. ปวีณ กล่าวยืนยันว่า สิ่งที่ ส.ส. พรรคก้าวไกลพูด "คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง" และ "รู้สึกได้รับความเป็นธรรมกลับมาครึ่งหนึ่ง"
เขาหวังว่า จะได้กลับมาใช้ชีวิตในประเทศไทย บ้านเกิดเมืองนอนของเขาอีกครั้ง แต่ขณะนี้เขาต้องยอมรับและปรับตัวเอาชีวิตรอดกับการเป็นผู้ลี้ภัยในต่างแดน
"ต้องมาใช้ชีวิตในแบบผู้ลี้ภัยเหมือนคนทั่วไป มาเรียนภาษา แบบคนที่หนีภัยสงคราม เหมือนชาวซีเรีย เลบานอน เหมือนคนอิหร่าน หรือเหมือนคนพม่า เมื่อเรียนแล้วก็ต้องทำงาน หางานเลี้ยงชีพ ผมไม่รู้ตัวมาก่อน ไม่เคยใช้ชีวิตในต่างประเทศ ภาษาผมก็ไม่ได้ ทรัพย์สินก็ไม่มีอะไร" พล.ต.ต. ปวีณ กล่าว
เขาบอกด้วยว่า หากวันนั้นประเทศไทยเป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มีนายกรัฐมนตรีและผู้บริหารทุกระดับที่อยากให้ประเทศไทยเราใสสะอาดจริง ๆ มีความซื่อสัตย์ และมีความกล้าหาญ ให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินไปอย่างเที่ยงตรง เหมือนนานาอารยะประเทศ และปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินไปอย่างสุดทาง ชีวิตราชการของของเขาที่เหลืออีก 3 ปี ประกอบกับความรู้ความสามารถในการสืบสวนสอบสวน และประสบการณ์ส่วนตัว จะสามารถสาวไปถึงปลาตัวใหญ่ได้อีกหลายตัวแน่นอน ส่วนจะใหญ่แค่ไหน ให้ทุกคนไปคิดเอาเอง
นายกฯ - ตร. ชี้แจง
เมื่อ 21 ก.พ. พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ภายหลังมีการอภิปรายเรื่องขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา ของนายรังสิมันต์ โรม ว่า ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง และสถานการณ์การค้ามนุษย์ก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งใดที่ผ่านมาแล้วในอดีต ก็เป็นเรื่องของอดีตก็ได้มีการชี้แจงออกมาแล้ว บางเรื่องก็เป็นประเด็นที่ผ่านมาแล้ว และผ่านมันได้ด้วยระเบียบและกฎหมายต่าง ๆ
ส่วนกรณี พล.ต.ต. ปวีณ ลี้ภัยไปออสเตรเลีย นายกฯ ย้อนถามสื่อว่า เขามีคดีอะไรหรือ ส่วนที่ พล.ต.ต.ปวีณ ออกมาระบุว่าต้องลี้ภัยไปอยู่ออสเตรเลียเนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรม เรื่องการแต่งตั้งตำแหน่ง ก็ขอให้ไปร้องทุกข์ตามช่องทาง
"เขามีคดีอะไรหรือ... ก็ไปร้องทุกข์มา ผมไม่ได้เขาออกไปไม่ใช่หรือ เขาออกไปเองไม่ใช่หรือ ใครจะไปทำอะไรเขาได้ บ้านเมืองมีขื่อมีแป มีกฎหมายอยู่" พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว
นายกฯ กล่าวด้วยว่า กรณีนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ชี้แจงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขอให้ผู้สื่อข่าวไปย้อนดู อย่าฟังช่องทางใดช่องทางเดียวแล้วก็ขัดแย้งกันไม่เลิก พร้อมยืนยันว่าไม่ปกป้องใครที่กระทำความผิดเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ เมื่อมีการกล่าวอ้างแล้วไม่เปิดชื่อใครก็อ้างได้ สังคมต้องคิดให้มีหลักเกณฑ์ หลักฐาน จะทำอะไรก็ต้องมีหลักฐาน ขอให้กลับมาจะฟ้องร้องใครก็ฟ้องร้องไป กระบวนการก็ตัดสินไป แต่ถ้าฟ้องมาแล้วไม่ใช่ก็คงฟ้องกลับ
พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกมาชี้แจงถึงกรณีที่มีการอภิปรายประเด็นการปราบปรามจับกุมคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาเมื่อปี 2558 ในทางที่ไร้ประสิทธิภาพ ไม่มีการปฏิบัติที่เป็นธรรม ว่า คดีค้ามนุษย์โรฮิงญา พื้นที่ สภ.ปาดังเบซาร์ จ.สงขลา เมื่อเดือน พ.ค. 2558 พนักงานสอบสวนได้ขอให้ศาลออกหมายจับผู้ต้องหาในคดีนี้จำนวน 155 ราย จับกุมตัวได้แล้วจำนวน 120 ราย เสียชีวิตจำนวน 2 ราย และหลบหนี อยู่ระหว่างติดตามจับกุมเพิ่มเติมจำนวน 33 คน
พล.ต.ต.ยิ่งยศ กล่าวด้วยว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอยืนยันว่าจะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ทุกรายโดยไม่มีละเว้น
สำหรับนโยบายการปราบปรามจับกุมการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีผลการจับกุมและดำเนินคดีในปี 2564 จำนวน 182 คดี และปี 2565 จำนวน 11 คดี
23 กุมภาพันธ์ 2022