วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 14, 2562

'มติยุบพรรค ทษช.' กกต.ว่าว่องไวแล้ว ยังไม่เท่าเดลินิวส์ที่ 'มาก่อนกาล'

งานนี้เข้าตำหรับ กัมพูชาโมเดลเช่นที่ ประจักษ์ ก้องกีรติ นักรัฐศาสตร์ มธ. ชี้ชัดว่าการเลือกตั้งปี ๒๕๖๑ “พรรคของฮุนเซนคุมกลไกลรัฐ คุมกรรมการเลือกตั้ง แต่ไม่มั่นใจการลงคะแนนของปชช.+คนรุ่นใหม่ จึงปราบปรามฝ่ายค้าน+สื่อที่วิพากษ์รัฐบาล

สุดท้ายยุบพรรคฝ่ายค้านด้วยข้อหา ปฏิปักษ์ต่อรัฐ ลงแข่งขันโดยไร้คู่แข่ง สุดท้ายฮุนเซนชนะเลือกตั้งตามที่ต้องการ”
 
มันตรงกันพอดีกับที่คณะกรรมการเลือกตั้งวินิจฉัยกรณีพรรคไทยรักษาชาติเสนอชื่อ ทูลกระหม่อม อุบลรัตน์ เป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี เมื่อ ๘ กุมภาพันธ์ ๖๒ ว่า “เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

และเร่งรีบนำข้อวินิจฉัยไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ทำการตัดสิน ทันทีภายในหนึ่งชั่วโมงของวันที่ ๑๓ กุมภา จนเป็นที่น่าสังเกตุว่า กกต.จัดการคดีนี้ลุกลี้ลุกลนพิกลนัก ต่างกับกรณีที่มีคำร้องให้ตรวจสอบพรรคพลังประชารัฐจัดเลี้ยงโต๊ะจีนระดมเงินเข้าพรรค

ดูได้จากไทม์ไลน์ที่นักรบไซเบอร์อนงค์หนึ่ง ‘Joy_จิตนภา @joydaynapas’ เรียงไว้ว่า “มันเกิดขึ้นเร็วมากค่ะคุณตำรวจ (ขา) 8 ก.พ. 9.10 น - ไทยรักษาชาติยื่นพระนามทูลกระหม่อมเป็นนายกฯ 8 ก.พ. 22.55 น - พระราชโองการ พระมหากษัตริย์และพระบรมราชวงศ์อยู่เหนือการเมือง”

พอ “13 ก.พ. 12.00 น - กกต.มีมติยุบพรรคไทยรักษาชาติ 13 ก.พ.13.20 น - กกต.ส่งคำร้องยุบพรรคให้ศาล รธน.” (คณะกรรมการฯ ไปถึงหน้าศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ ๑๒.๔๕ น. thapanee ietsrichai @thapanee3miti รายงานไว้)

กรณีโต๊ะจีนเหตุเกิดเมื่อ ๑๙ ธันวา ๖๑ มีคำร้องยื่นเมื่อ ๒๑ ธ.ค. จนบัดนี้ผ่านมากว่า ๕๖ วันแล้ว กกต.ยุ่งมาก ยังไม่มีการพิจารณาใดๆ ไม่เท่านั้น มีลูกไล่ ไซ้ด์คิกออกมาเสนอแนะให้ยุบทั้งพวงของพรรคตระกูลเพื่อให้สิ้นซากอีกด้วย
 
ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักกฎหมาย ม.สยาม อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ให้ความเห็นต่อสื่อว่าถ้าจะยุบพรรค ทษช. ต้องรีบยุบก่อนเลือกตั้ง ไม่เช่นนั้นจะเป็นปัญหาให้ต้องมีการเลือกตั้งซ่อม

นักวิชาการที่เคยขึ้นเวทีพันธมิตรฯ โจมตีอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังแนะด้วยว่าควรที่จะยุบพรรคเพื่อไทยและเพื่อชาติพ่วงกันไปด้วย ไม่เช่นนั้นคะแนนจะไหลไปรวมกับพรรคเครือข่ายได้ เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยและเพื่อชาติมีการเกลี่ยผู้สมัครกับพรรค ทษช. ทั้งนี้อยู่ที่ผู้เกี่ยวข้องการยื่นคำร้องจะขยายผลได้มากแค่ไหน


มิใยที่พรรค ทษช.พยายามวิงวอน กกต.ให้ความกรุณา อย่าเพิ่งเร่งรัดส่งศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้มีความผิดตาม พรป. พรรคการเมือง มาตรา ๙๒ ต้องยุบพรรค ในเมื่อมาตรา ๙๓ ระบุให้ กกต.กระทำตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด แต่ยังไม่เคยมีการกำหนดหลักเกณฑ์ใดๆ ไว้ 
พรรคไทยรักษาชาติขอให้ กกต.ทำการไต่สวนโดยให้โอกาสตอบข้อกล่าวหาเสียก่อน ตามสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาดังระบุไว้ในมาตรา ๔๓ แห่ง พรป.คณะกรรมการเลือกตั้ง แต่อนิจจัง กกต.ไม่ฟัง เร่งส่งศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว

เหมือนจะทำคล้องจองกับข่าวบางสำนักที่ มาก่อนกาลเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภา ขณะ กกต.เพิ่งเริ่มพิจารณาคำร้อง นสพ.เดลินิวส์ ก็ตีข่าวออกมาแล้วว่า กกต. “ได้มีมติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าสมควรยุบพรรคไทยรักษาชาติหรือไม่”

จนทำให้ช่วงสายวันที่ ๑๓ ก.พ. เกิดโกลาหลบนหน้าทวิตเตอร์กันอยู่พักใหญ่ ว่ามีการปล่อยข่าวปลอมเหมือนราชกิจจาย้าย ผบ.เหล่าทัพกันอีกแล้ว
 
กระนั้นก็ดีความสับสนต่อการที่ กกต.ตัดสินเร็วมาก ไม่รอฟังข้อต่อสู้ของผู้ถูกกล่าวหา ก็ยังอลหม่านอยู่จนบัดนี้ มีคำถามจาก #ผู้ใช้facebookท่านหนึ่ง ซึ่ง ispacthailand.org นำมา “เปิดประเด็นร้อน สะท้อนมุมคิด” เอาไว้

ว่า ทั้ง กกต.และศาลรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่อธิบายต่อสังคมอย่างน้อย ๒ ประเด็น นอกจากความหมายของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ยังไม่กระจ่างแล้ว คำว่า ปฏิปักษ์ ซึ่งหมายถึงการเป็นศัตรูนั้น

“การเสนอชื่อแคนดิเดทนายกฯ ที่มีพระนามของเชื้อพระวงศ์ ซึ่งมีเอกสาร ยินยอม เป็นการแสดงความเป็นศัตรูต่อระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อย่างไร”