วันอาทิตย์, กุมภาพันธ์ 03, 2562

'น่าสังเกตุ' คดีพันธมิตรฯ บุกรุกทำเนียบเลื่อนอีกเพราะ 'ยะใส' ท้องเสีย


ท่ามกลางเสียงอึงคนึงเรื่องนายกฯ ของคณะยึดอำนาจใช้คำผรุสวาสขึ้น กู-มึงในการปาฐกถา เนื่องจากอารมณ์บ่จอยไปหน่อยเดียว (แต่บ่อย) ก็ปรากฏการตัดสินคดีที่ตอกย้ำความอยุติธรรมในสังคมออกมาอย่างน่าโพทธนาให้โลกรับรู้

วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ศาลฎีกากำหนดอ่านคำพิพากษาคดีแกนนำ พธม. ผู้ก่อม็อบบุกข้าไปยึดครองทำเนียบรัฐบาลก่อความเสียหาย โดยมุ่งหมายกดดันให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นออกจากตำแหน่ง

เหตุแห่งคดีเกิดระหว่างวันที่ ๒๖ สิงหาคม ถึง ๓ ธันวาคม ๒๕๕๑ ครอบคลุมตั้งแต่ก่อนนายสมัครถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พ้นตำแหน่ง และหลังจากที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เข้ารับตำแหน่งต่อ มีการปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล ทำลายกุญแจ ทำลายแผงกั้น เข้าไปทำความเสียหายภายในบริเวณและในอาคารทำเนียบ

จำเลย ๖ คนล้วนแต่มีชื่อเสียงโด่งดังในการก่อม็อบประท้วงหลายครั้ง จนกระทั่งมีผู้ร่วมประท้วงเสียชีวิต ที่โดดเด่นคนหนึ่งจากระเบิดปิงปองซึ่งพบว่าพกพากันภายในบริเวณชุมนุม อีกคนจากระเบิดแสวงเครื่องติดตั้งภายในรถจี๊บที่ขับมุ่งสู่ที่ทำการพรรคการเมืองแห่งหนึ่ง

คดีนี้ศาลชั้นต้นตัดสินว่าจำเลยทั้ง ๖ คนมีความผิดฐานบุกรุกสถานที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๘, ๓๖๕ (อนุ ๒), ๓๖๒ และ ๘๓ พิพากษาจำคุกคนละ ๓ ปี ลดโทษให้เหลือ ๒ ปี เพราะให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา

ต่อมาจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ แม้ศาลจะเห็นว่าจำเลยมีความผิดจริงตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น แต่ศาลอุทธรณ์กลับเห็นว่าโทษจำคุก ๒ ปี หนักไป ตัดสินใหม่ให้เหลือโทษจำเพียงคนละ ๘ เดือน แม้ไม่รอลงอาญา แต่จำเลยฎีกาต่อก็ไม่ถูกจำคุก

ในวันกำหนดอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา มีเหตุทำให้รูปคดีเปลี่ยนไปเล็กน้อย ศาลจำต้องเลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไปถึงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ เนื่องจากนายสุริยะใส กตะศิลา จำเลยคนหนึ่งไม่ไปศาล มีใบรับรองจากหมอว่าป่วย ท้องเสีย และความดันโลหิตขึ้นสูง

จำเลยอีกคน นายสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งอยู่ในระหว่างถูกจำคุกในคดีฉ้อโกง ศาลเบิกตัวจากเรือนจำคลองเปรมมาฟังคำพิพากษา ได้แจ้งต่อศาลขอถอนคำร้องซึ่งยื่นไว้ก่อนหน้านี้ที่ต้องการถอนฎีกาของตน


จึงเป็นที่น่าสังเกตุสำหรับคนทั่วไปโดยไม่คำนึงถึงข้อกฎหมายว่า การที่นายสนธิยื่นขอถอนฎีกาไว้ก่อนหน้า คงจะเป็นเพราะเห็นว่าโทษที่ศาลอุทธรณ์ลดให้นั้นพอใจแล้ว ไม่เช่นนั้นหากศาลฎีกาพิพากษากลับให้โทษหนักขึ้นไปอีก จะเป็นการแส่หาเรื่องโดยใช่ที่

ครั้นถึงวันพิพากษากลับยื่นขอถอนคำร้อง ย่อมทำให้เกิดความเข้าใจได้ว่า จำเลยอาจมีญานพิเศษอะไรบางอย่างให้คาดเดาว่า ศาลฎีกาอาจจะพิพากษาให้นุ่มนิ่มไปกว่าเดิม โทษไม่รอลงอาญาอาจเปลี่ยนเป็นรอลงอาญา หรือว่ายกฟ้องเหมาไปทั้งหมดเลย

นั่นก็เป็นเรื่องคาดเดากันเอาตามประสาคนที่เคยเห็นศาลฎีกาไทยพิพากษาคดีคล้ายกันไม่เหมือนกันมาแล้ว มาครั้งนี้ศาล “เชื่อว่าจำเลยที่ ๖ (ยะใส) มีอาการป่วยจริง ทำให้ไม่สามารถมาฟังคำพิพากษาได้ และอนุญาตให้นายสนธิ จำเลยที่ ๒ ถอนคำร้องขอถอนฎีกาได้” ด้วยเช่นกัน 

ทั้งที่เมื่อสองวันก่อนหน้านี้ ยะใสยังมีสุขภาพปกติสามารถไปฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีเกี่ยวเนื่องกันได้ เมื่อศาลยกฟ้องทั้งกระบิ อ้างว่าเป็นการฟ้องซ้ำซ้อนในเหตุการณ์เดียวกันที่จำเลยถูกดำเนินคดีไปแล้ว ฐานบุกรุก

แม้คดีนี้เป็นการฟ้องตามมาตรา ๑๑๖, ๒๑๕ และ ๒๑๖ ของประมวลกฎหมายอาญา เกี่ยวกับการใช้กำลังประทุษร้าย ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง อันมีฐานความผิดต่างกับอีกคดี แถมยะใสมีการให้ความเห็นเสียด้วยว่า

“ศาลชี้ให้เห็นว่าการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ แต่เหตุของความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาจากภายนอก นี่ก็เป็นพยานหลักฐานสำคัญที่นำมาต่อสู้ในทุกคดี”


ในความรู้สึกของคนมีญาติมิตรติดคุกหรือเสียชีวิตจากการชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่เมื่อปี ๒๕๕๓ซึ่งตลอดเวลา ๘-๙ ปีที่ผ่านมาได้แต่รันทดใจกับโชคชะตาที่ความยุติธรรมในบ้านเมืองเกิดกับคนสองฝ่ายไม่เหมือนกัน

อดสันนิษฐานไม่ได้ว่า ยะใสอาจมีญานสำนึกอะไรพิเศษบ้างอย่างที่คาดเดาเอาว่าสนธิมี ว่าการอ่านคำพิพากษาครั้งใหม่ของศาลฎีกาอาจจะคล้อยตามศาลอุทธรณ์ในอีกคดีก็ได้