วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 07, 2562

ฮาคีม อยู่ตรงไหน ในความสัมพันธ์ บาห์เรน-ไทย ซึ่ง“ใกล้ชิดกันทุกระดับ”



EPAคำบรรยายภาพฮาคีม อัล อาไรบี ถูกนำตัวขึ้นศาลเมื่อวันจันทร์ (4 ก.พ.)


ฮาคีม อยู่ตรงไหน ในความสัมพันธ์ “ใกล้ชิดกันทุกระดับ” บาห์เรน-ไทย


6 กุมภาพันธ์ 2019
BBC Thai


กระทรวงการต่างประเทศของไทยระบุว่า "บาห์เรนถือเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดของไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง" ขณะที่นานาชาติร่วมกดดันเรียกร้อง ให้ไทยปล่อยตัวนักเตะบาห์เรนกลับออสเตรเลีย

"ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย และประเทศบาห์เรนนั้น เป็นความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันทุกระดับ ตั้งแต่ระดับพระราชวงศ์ ไปจนถึงประชาชนของทั้งสองประเทศ" นายฐานิศร์ ณ สงขลา เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมานามา กล่าวกับไทยรัฐออนไลน์ ในบทสัมภาษณ์ที่ตีพิมพ์เมื่อ 13 พ.ค. 2561

นายฐานิศร์ บอกด้วยว่า เจ้าชายคอลิฟะห์ บิน ซัลมาน อัล คอลิฟะห์ นายกรัฐมนตรีบาห์เรน ทรงโปรดปรานประเทศไทยอย่างมาก เสด็จมาไทยทั้งในแบบส่วนพระองค์และเป็นทางการอยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้ยังทรงชื่นชมศักยภาพด้านการแพทย์ของไทย เสด็จมาตรวจพระวรกายที่โรงพยาบาลไทยอยู่บ่อยครั้ง

"หากถามว่า ทำไมนายกรัฐมนตรีบาห์เรนถึงทรงชื่นชอบประเทศไทยอย่างมาก คำตอบก็คือ ท่านชื่นชอบในอัธยาศัยไมตรีของคนไทย คนไทยมีความยิ้มแย้ม ถ้อยทีถ้อยอาศัย ซึ่งจุดนี้เป็นนิสัยของคนไทยโดยทั่วไปที่ทำให้ชาวต่างชาติตกหลุมรักโดยไม่รู้ตัว"

คนไทยสามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในบาห์เรนได้นานถึง 30 วัน โดยไม่ต้องขอวีซ่า เช่นเดียวกับชาวบาห์เรนที่จะมาไทย

ล่าสุด เมื่อ 1 พ.ย. 2560 นายกรัฐมนตรีบาห์เรนเสด็จเยือนเป็นทางการ และทรงพบกับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยพล.อ. ประยุทธ์ ขอบพระทัยที่เสด็จเข้าร่วมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรด้วยพระองค์เอง ซึ่งนายกรัฐมนตรีบาห์เรนรับสั่งว่าไม่ว่าอย่างไรต้องมาร่วมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงฯ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีบทบาทสำคัญและพระมหากรุณาธิคุณทั้งต่อประชาชนชาวไทยและนานาชาติ


นักเตะบาห์เรน: ถูกควบคุมตัวต่อไปอีกอย่างน้อย 2 เดือน หลังปฏิเสธการส่งตัวกลับบาห์เรน
นักเตะบาห์เรน : ภรรยาของฮาคีม อัล อาไรบี ส่งจดหมายถึงประยุทธ์เรียกร้องให้ปล่อยตัวสามี
นักเตะบาห์เรน : รมว. ตปท. ออสเตรเลีย พบ รมว. ตปท. ไทย เรียกร้องให้ปล่อยตัว ฮาคีม อัล อาไรบี



EPAคำบรรยายภาพณัฐาศิริ ทนายความของฮาคีมนำส่งจดหมายเปิดผนึกขอให้นายกรัฐมนตรีไทยปล่อยตัวฮาคีม

พันธมิตรสำคัญที่สุด" ในตะวันออกกลาง

เว็บไซต์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในบาห์เรน โดยกระทรวงการต่างประเทศของไทยระบุว่า ไทยและบาห์เรนได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อ 17 ม.ค. 2520 มีความสัมพันธ์อันใกล้ชิด บาห์เรนถือเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดของไทยในภูมิภาคตะวันออกกลางและมีบทบาทเป็นสะพานเชื่อมไทยสู่ประเทศในตะวันออกกลางในหลายมิติและมีความร่วมมือที่ใกล้ชิดทั้งระดับทวิและพหุภาคี เช่น การให้เงินช่วยเหลือไทย เมื่อครั้งน้ำท่วมปี 2554 การให้คนไทยสามารถเดินทางเข้าประเทศบาห์เรนโดยไม่ต้องขอวีซ่า การให้การสนับสนุนไทยในเวทีระหว่างประเทศต่าง ๆ เป็นต้น



GETTY IMAGESคำบรรยายภาพนายกรัฐมนตรีบาห์เรน เดินทางมาร่วมการประชุม เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ครั้งที่ 21 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในปี 2555


GETTY IMAGESคำบรรยายภาพชีค คอลิฟะห์ บิน ซัลมาน อัล-คอลิฟะห์ เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ 3 วันในช่วงเดือน ส.ค. 2552


เว็บไซต์นี้ ระบุด้วยว่า บาห์เรนเคยเป็นเมืองท่าสำคัญในเส้นทางค้าขายระหว่างยุโรปกับอินเดีย คนบาห์เรนจึงมีความเข้าใจความแตกต่างด้านวัฒนธรรม แม้ว่าในภายหลังจะได้รับอิทธิพลของศาสนาอิสลาม สังคมบาห์เรนมีทัศนคติสายกลางและพร้อมที่จะเข้าใจวัฒนธรรมประเพณีของคนต่างชาติมากกว่าหลาย ๆ ประเทศในตะวันออกกลาง จึงทำให้บาห์เรนดึงดูดชาวต่างชาติเข้ามาทำงานจากทั้งประเทศตะวันตก แอฟริกาและเอเชีย โดยมีชาวต่างชาติอาศัยและทำงานอยู่ในบาห์เรนกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด

.....


สัมพันธ์ไทย-บาห์เรน ในเครือโรงแรมเคมปินสกี้

เครือโรงแรมเคมปินสกี้ เรียกตัวเองว่าเป็น "เครือโรงแรมหรูที่เก่าแก่ที่สุดของยุโรป" จะมีอายุครบ 122 ปี ในวันที่ 5 เม.ย. นี้ ก่อตั้งในประเทศเยอรมนี เมื่อปี 1897 ปัจจุบัน มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์

หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ (เอฟที) รายงาน เมื่อ 24 พ.ค. 2009 ว่า เครือโรงแรมเคมปินสกี้ เคยเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหุ้นของประเทศเยอรมนี ต่อมาถอนตัวออกไปเป็นบริษัทจำกัดอีกครั้งเมื่อปี 2002

เว็บไซต์ ของเครือโรงแรมเคมปินสกี้ ระบุว่า เมื่อปี 2004 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ของไทย เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ บริษัท เคมปินสกี้ จำกัด ทำให้บริษัทสามารถขยายเครือข่ายออกไปได้ทั่วโลก โดยพัฒนาตลาดใหม่ ๆ แต่ไม่ได้ระบุสัดส่วนการถือหุ้น ทว่ารายงานของเอฟที เมื่อ 24 พ.ค. 2009 ระบุว่า สำนักงานทรัพย์สินฯ ถือหุ้นในเครือโรงแรมนี้ถึง 86% ส่วนอีก 14% ถือโดยสาแหรกหนึ่งของราชวงศ์บาห์เรน



GETTY IMAGESคำบรรยายภาพโรงแรมเคมปินสกี้ ในนครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์


เว็บไซต์ของเครือโรงแรมเคมปินสกี้ ระบุว่า ผ่านไป 13 ปี จนถึง ก.พ. 2017 ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ทั้ง 2 ราย ได้เข้าสู่กระบวนการ "เปลี่ยนถ่ายหุ้น" ทำให้ จำนวนหุ้นส่วนใหญ่อยู่ในมือของ "ผู้ถือหุ้นชาวบาห์เรนคนเดิม" และทำให้ ผู้ถือหุ้นเดิมจากประเทศไทยกลายเป็น "ผู้ถือหุ้นข้างน้อย" โดยไม่บอกจำนวนการถือครองหุ้นของทั้งสองฝ่าย

"ผู้ถือหุ้นทั้งสองยังคงยืนหยัดอยู่กับยุทธศาสตร์ระยะยาวของเคมปินสกี้ในการเป็นเครือข่ายอิสระในการบริหารจัดการโรงแรมหรูสัญชาติยุโรปต่อไป" เว็บไซต์ดังกล่าวชี้แจง

เว็บไซต์ ข่าวสารกฎหมาย LegalMonitor รายงานเมื่อ 22 ก.พ. 2017 ว่า สำนักงานกฎหมายและบัญชีนานาชาติ เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ในไทยและเยอรมนีเป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่สำนักงานทรัพย์สินฯ ในการขายครั้งนี้ โดยทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย "ตกลงไม่เปิดเผยราคา" ของธุรกรรมนี้ที่เสร็จสิ้นเมื่อ 16 ก.พ. 2017



GETTY IMAGESคำบรรยายภาพอาคารทางซ้ายคือ โรงแรมบัลชุก-เคมปินสกี้ในกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย


ทันทีที่ธุรกรรมนี้เสร็จสิ้น เครือโรงแรมเคมปินสกี้ ออกเอกสารแถลงเมื่อ 16 ก.พ. ว่า ได้ตั้งคณะกรรมการกำกับดูแล (Supervisory Board) ชุดใหม่ ที่ประกอบไปด้วย นายอับดุลลา ฮาซัน ซาอีฟ อดีต รมว. คลัง ของบาห์เรน เป็นประธาน และ นายชุมพล ณ ลำเลียง อดีต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เป็นรองประธาน

เว็บไซต์ของเคมปินสกี้ ระบุว่า ปัจจุบันเครือโรงแรมเคมปินสกี้ รับบริหารโรงแรม 5 ดาว ทั้งหมด 76 แห่ง ใน 31 ประเทศ ทั้งในยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา เอเชีย ทั่วทวีปอเมริกา ในส่วนของประเทศไทย เป็นโรงแรมขนาด 401 ห้อง ใช้ชื่อว่า สยามเคมปินสกี้ ตั้งอยู่บริเวณข้างสยามพารากอน

นักฟุตบอลปากกล้า

27 พ.ย. 2561 ฮาคีม อัล อาไรบี นักฟุตบอลชาวบาห์เรนวัย 25 ปี ผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากบ้านเกิดและได้การรับรองสถานะผู้ลี้ภัยจากสหประชาชาติ ให้พำนักในออสเตรเลีย ถูกควบคุมตัวในกรุงเทพฯ หลังจากที่เขาเดินทางจากออสเตรเลียมาเที่ยวที่ไทยพร้อมกับภรรยา เนื่องจากมี "หมายแดง" ที่ออกโดยองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ หรือ อินเตอร์โพล ให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกติดตามตัวมารับโทษในบาห์เรน

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) กล่าวกับบีบีซีไทยเมื่อต้น ธ.ค. ว่า โดยปกติแล้ว วิธีปฏิบัติต่อผู้ที่ถูกคุมตัวตามบัญชีรายชื่อของอินเตอร์โพล คือ ต้องห้ามเข้าประเทศและผลักดันกลับประเทศที่อยู่ก่อนหน้านี้ แต่สาเหตุที่ สตม. กักตัวนายอัล อาไรบี ไว้ เนื่องจากกระทรวงการต่างประเทศได้ทำหนังสือถึง สตม. ให้กักตัวบุคคลดังกล่าว หลังได้รับแจ้งจากทางการบาห์เรน ก่อนที่ นายอัล อาไรบี มาถึงไทย



REUTERS


ในปี 2555 นายอัล อาไรบี ถูกจับกุมและซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่บาห์เรน เนื่องจากกิจกรรมทางการเมืองของพี่ชายในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ลุกฮือต่อต้านรัฐบาลในตะวันออกลางหรือ "อาหรับสปริง" หลังจากนั้นก็ได้ออกมาพูดเกี่ยวกับเหตุการณ์การซ้อมทรมานกับสื่อต่าง ๆ

ในเดือน ม.ค. 2557 ศาลบาห์เรนอ่านคำพิพากษาลับหลังนายอัล อาไรบี โดยศาลพิพากษาจำคุก 10 ปี ในข้อหาสร้างความเสียหายให้สถานีตำรวจ แต่เขาปฏิเสธ โดยอ้างว่า ขณะนั้นเป็นตัวแทนทีมชาติบาห์เรนแข่งฟุตบอลที่ถ่ายทอดสดอยู่ที่ประเทศกาตาร์

ออสเตรเลียนำทีมเรียกร้องปล่อยตัว

ระหว่างที่นายอัล อาไรบีถูกคุมตัวในไทย กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนในออสเตรเลียและทั่วโลกร่วมมือกับสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า และองค์กรกีฬานานาชาติอื่น ๆ เคลื่อนไหวผ่านทางเวทีการทูตและโซเชียลมีเดียเรียกร้องทางการไทยให้ปล่อยตัวเขา

4 ก.พ. สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทยแถลงผ่านเฟซบุ๊กของสถานทูต ขณะที่โลกโซเชียลมีเดียร้อนแรงด้วยข้อความให้ไทยปล่อยตัวนายอัล อาไรบี และให้คว่ำบาตรประเทศไทย โดย แฮชแท็ก #SaveHakeem และ #BoycottThailand ขึ้นเป็นอันดับหนึ่งและสองในทวีตเตอร์ของไทย



AFPคำบรรยายภาพกลุ่มสิทธิมนุษยชนและแฟนฟุตบอลในออสเตรเลียประท้วงเรียกร้องให้ปล่อยตัวฮาคีม ที่ซิดนีย์ เมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา


"ปีนี้ เป็นปีที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับประชาชนชาวไทยและประเทศไทย ผมขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า รัฐบาลออสเตรเลียต้องการให้คุณ ฮาคีมกลับไปประเทศออสเตรเลียเพราะเขาเป็นผู้ลี้ภัย และเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวรที่ประเทศออสเตรเลียโดยเร็วที่สุด"

ผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อว่า Jake Buckley ชาวออสเตรเลีย ได้ทวีตข้อความโดยระบุว่า "ประเทศไทย เราปลดปล่อยนักฟุตบอลของคุณแล้ว ตอนนี้ถึงเวลาที่คุณจะปลดปล่อยนักฟุตบอลของเราแล้ว ขอแสดงความนับถือ จากออสเตรเลีย" เป็น พร้อมติดแฮชแท็ก #SaveHakeem

ภาพเขาในกุญแจมือขณะถูกนำไปฝากขัง หรือใส่กุญแจเท้าขณะไปศาลเมื่อวันที่ 4 ก.พ. ยิ่งสร้างความไม่พอใจให้เกิดขึ้นต่อผู้สนับสนุนเขา

5 ก.พ. พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เรื่องดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนของศาลแล้ว เป็นกระบวนการยุติธรรมของไทย ซึ่งตามขั้นตอน ไม่สามารถแทรกแซงฝ่ายตุลาการได้ ขออย่ามองเป็นเรื่องการเมือง โดยขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศได้ประสานกับ บาห์เรนและออสเตรเลียเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้แล้ว

ด้าน นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์วันเดียวกันว่าทางตำรวจไทยปฏิบัติตามขั้นตอนที่เป็นมาตรฐานสากลเท่านั้น และทางออสเตรเลียกับบาห์เรนควรจะเป็นฝ่ายที่ถกเถียงกันในปะเด็นนี้โดยตรง โดยประเทศไทยยินดีที่จะเป็นตัวกลางในการอำนวยความสะดวกให้ เขายังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า มันอาจจะทำให้เรื่องง่ายขึ้นที่จะส่งนายฮาคีมไปยังประเทศที่สามในช่วงที่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน



GETTY IMAGESคำบรรยายภาพชีค คอลิฟะห์ บิน ซัลมาน อัล-คอลิฟะห์ เสด็จเยือนไทยในเดือน มิ.ย. 2549 เพื่อร่วมพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของในหลวงรัชกาลที่ 9


ส่วน พ.ต.อ. ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ชี้แจงเรื่องการ "ใส่ตรวน" ผู้ต้องหาขณะไปขึ้นศาลว่ากรณีดังกล่าวเป็น "กุญแจเท้าไม่ใช่ตรวนอย่างที่เข้าใจกัน" ซึ่งเป็นระเบียบขั้นตอนปกติที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์สามารถกระทำได้ตาม พ.ร.บ ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560

ใครบอกบาห์เรน

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผบช.สตม. ได้กลาวไว้ในทวิตเตอร์ส่วนตัว เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ว่า ในช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลบาห์เรนไม่เคยแสดงความพยายามหรือแจ้งรัฐบาลออสเตรเลียแม่แต่ครั้งเดียวถึงกรณีคุณฮาคีม หรือต้องการตัวเขากลับประเทศ แต่ทันทีที่เขาเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ทางรัฐบาลบาห์เรนได้ประสานเร่งด่วนมาทางไทยเพื่อขอควบคุมตัว และดำเนินการส่งนายฮาคีมในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปยังบาห์เรนในทันที ซึ่งการกระทำนี้ทำให้ประเทศไทยอยู่ในสถานะที่ลำบาก

ในทวิตเตอร์ส่วนตัวของนายโจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวของบีบีซีประจำประเทศไทย ได้อ้างอิงจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ว่า "สิ่งที่น่าสนใจก็คือทางการบาห์เรนได้ร้องขอให้อินเตอร์โพลออกหมายแดงเพื่อจับกุมนายฮาคีม 4 วันหลังจากที่เขายื่นขอวีซ่าเข้าประเทศไทย ใครเป็นคนแจ้งทางบาห์เรนว่า เขากำลังจะเดินทางออกจากออสเตรเลียที่ที่เขาเป็นผู้ลี้ภัย เพื่อเดินทางมาฮันนีมูนที่ประเทศไทย"