วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 07, 2562

ใต้อุ้งตรีนมาร ! เมื่อ "เอกชัย" ถูกทำร้ายซ้ำ ๆ ท่ามกลางความเงียบงัน !!!




+++เมื่อ "เอกชัย" ถูกทำร้ายซ้ำ ๆ ท่ามกลางความเงียบงัน+++

"การเผารถยนต์ส่วนตัว" ของ "เอกชัย หงส์กังวาน" กลางดึกของวันที่ 26 ม.ค ที่ผ่านมา เป็นสัญญานบ่งชี้ความรุนแรงที่คาดการณ์ไม่ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ

เพราะเพียง 1 สัปดาห์ในเดือนแรกของปี 2562 นักเคลื่อนไหวทางการเมืองรายนี้ ถูกคุกคามทั้งโดนทำร้ายร่างกาย ทำลายทรัพย์สิน และถูกดำเนินคดีรวมแล้วกว่า 3 ครั้ง

และถ้าหากนับตลอดหลังประหาร 2557 จนถึงปัจจุบัน ด้วยบทบาทที่ออกมาเคลื่อนไหวตรวจสอบการทุจริต คอรัปชั่นของรัฐบาล คสช. เขาผ่านการถูกคุกคามทำร้ายอย่างต่อเนื่องในหลากหลายลักษณะ

ท่ามกลางความเงียบงันจนน่าใจหายของสังคม รายงานชิ้นนี้รวบรวมรูปแบบการคุกคามเอกชัย หงส์กังวานเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเฝ้าระวังสถานการณ์การละเมิดสิทธิทางการเมืองโดยรวมของประชาชน

...

นับตั้งแต่ออกมาตรวจสอบการทุจริต คอรัปชั่น ในหมู่ผู้นำระดับสูงของรัฐบาลคสช. ทำให้ “เอกชัย หงส์กังวาน” นักกิจกรรมรณรงค์ประชาธิปไตยและอดีตจำเลยในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ (มาตรา 112) กลายเป็นชื่อแรก ๆ ที่มีรายงานการถูกคุกคามทำร้ายบ่อยครั้ง กล่าวเฉพาะเริ่มปี 2562 เพียงเดือนเดียว เอกชัยถูกคุกคามทั้งโดนทำร้ายร่างกาย ทำลายทรัพย์สิน และถูกดำเนินคดีต่อเนื่องกันรวมแล้ว 3 ครั้ง ภายในรอบ 1 สัปดาห์

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์คนร้าย “เผารถยนต์ส่วนตัว” ของเขาเองในเวลากลางดึก ซึ่งดูจะสะเทือนความรู้สึกผู้คนที่เอาใจใส่ติดตามสถานการณ์การละเมิดสิทธิ เพราะนี่เป็นความรุนแรงที่มิเพียงมุ่งให้เกิดความหวาดกลัวแก่ตัวบุคคลเท่านั้น แต่ยังอาจกระทบไปถึงความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินผู้อื่นที่อยู่ในละแวกบ้านพักของเขาด้วยเช่นกัน ทว่าจน ณ วันนี้ยังไม่สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรวบรวมรูปแบบการทำร้ายและคุกคามเอกชัย หงส์กังวาน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเฝ้าระวังสถานการณ์การละเมิดสิทธิทางการเมืองของประชาชน ท่ามกลางความเงียบงันของสังคมต่อความรุนแรงที่มีต่อนักเคลื่อนไหวทางการเมืองรายนี้





1. ควบคุมตัวในสถานที่ที่ไม่เปิดเผย

การคุกคามครั้งแรก ๆ ที่เอกชัยต้องเผชิญ ต้องย้อนไปเมื่อวันที่ 24 ต.ค. 60 เมื่อเขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารพาไปควบคุมตัวไว้ยังรีสอร์ทแห่งหนึ่ง ในจังหวัดกาญจนบุรี หลังจากที่เขาโพสต์เฟสบุ๊กว่าจะสวมเสื้อสีแดงในวันที่ 26 ต.ค. 60 โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าการนำตัวเอกชัยไปต่างจังหวัดเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในช่วงงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ระหว่างนั้นเขาถูกคุมตัวเป็นเวลากว่า 5 วัน ในขณะที่ไม่มีใครสามารถเข้าไปเยี่ยมเขาได้ระหว่างการควบคุมตัว

เมื่อกลับจากรีสอร์ทปริศนานั้น เขากลับไปหาเจ้าหน้าที่ทหาร เพื่อขอสำเนาบันทึกข้อตกลงห้ามเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เคยลงชื่อก่อนได้รับการปล่อยตัว เพราะประสงค์จะดำเนินการทางกฎหมายจากการควบคุมตัวครั้งนี้ ทว่าจากคำบอกเล่าของเอกชัยคือ นอกจากจะไม่ให้สำเนาบันทึกนั้นกลับมา เจ้าหน้าที่ยังฉีกเอกสารดังกล่าวทิ้ง

อีกเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกัน หากแตกต่างในแง่กาละและเทศะ ในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 16 เม.ย. 61 ขณะที่เอกชัยและเพื่อนกำลังไปทำกิจกรรม “รดน้ำดำหัว” มีการดำเนินคดีประชาชนไปกว่า 130 คน “MBK39” “PTY12” “RDN50” “Army57” พลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณที่ทำเนียบรัฐบาล ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบไปที่บ้าน เมื่อเขาเดินไปรอรถประจำทางที่ป้ายรถประจำทาง ตำรวจได้เข้าควบคุมตัวเขาออกไปทันที จากการติดตามในภายหลังจึงทราบว่า เขาถูกควบคุมตัวไว้ที่กองบังคับการตำรวจนครบาล 4 พร้อมกับนายโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ เพื่อนอีกคนที่กำลังเดินทางด้วยกัน

จากการตรวจสอบของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า เจ้าหน้าที่ไม่มีการแจ้งว่าใช้อำนาจใดในการควบคุมตัว ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้ใช้กำลังกับนายโชคชัยโดยกดลงกับพื้นทางเดินเท้า จากนั้นใช้วิธีแยกพวกเขาทั้งสองขึ้นรถของ สน.โชคชัย เพื่อนำตัวไปที่กองบังคับการตำรวจนครบาล 4 ซึ่งระหว่างการเดินทางตำรวจมีการคลุมหัวนายโชคชัยและกดตัวนายโชคชัยไว้กับเบาะของรถ และยึดโทรศัพท์มือถือไปด้วย

ไม่แตกต่างไปจากการควบคุมตัวครั้งก่อน เจ้าหน้าที่ได้ทำบันทึกข้อตกลงเอาไว้ แต่เอกชัยปฏิเสธลงลายมือชื่อในบันทึกดังกล่าว จนกระทั่งเวลาประมาณ 11.00 น. ของวันเดียวกัน พวกเขาจึงถูกปล่อยออกจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 4 ก่อนเจ้าหน้าที่จะคืนโทรศัพท์ให้ทั้งสอง ทว่าภาพเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุที่โชคชัยถ่ายไว้ได้นั้น ได้หายไปจากโทรศัพท์

ถัดจากนี้จึงเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ที่ทำให้การทำกิจกรรมเพื่อตรวจสอบรัฐบาล คสช. นำมาสู่ความเสี่ยงในการถูกคุกคามในอีกหลายรูปแบบ





2. ถูกตามข่มขู่ถึงบ้านพัก

ดูเหมือนว่าการคุกคามจะเข้าประชิดที่พักเอกชัยมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังเหตุที่เกิดในวันที่ 6 ก.ค. 61 เวลาประมาณ 11:40 น. ได้มีกลุ่มนักศึกษาในนาม “กลุ่มคนรุ่นใหม่ใส่ใจสังคม” จำนวน 18 คน เดินทางมาชูป้ายประท้วงพร้อมกับอ่านแถลงการณ์คัดค้านและประณามการกระทำของเขา จากการที่เขาวิพากษ์วิจารณ์ภารกิจของกองทัพในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนเป็นเวลาหลายสัปดาห์

ผู้ที่ไปรวมกลุ่มหน้าบ้านพักของเขาในวันนั้นได้หยิบการวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวมากล่าวหาว่า “การวิจารณ์ของเอกชัยมุ่งหวังประโยชน์ทางการเมืองและทำลายกำลังใจของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน” ขณะที่เอกชัยเดินออกมาจากบ้านเพื่อออกมาตอบโต้กับผู้มาชุมนุมที่หน้าบ้าน ก่อนที่เหตุการณ์ในวันนั้นจบลงด้วยการที่ผู้ชุมนุมแยกย้าย และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้บอกกับเอกชัยว่า ได้นำแกนนำไปจ่ายค่าปรับหลังจากการทำกิจกรรมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นี่เป็นความคืบหน้าเดียวในกรณีนี้

การข่มขู่ถึงขั้นน่ากังวลมากยิ่งขึ้น เมื่อคนร้ายมาที่บ้านพักของเอกชัยและเริ่มทำลายทรัพย์สินของเขา

เวลาดึกสงัด ราว ๆ 2 นาฬิกา ของวันที่ 26 ม.ค. 62 มีชายสวมแจ็กเก็ตกางเกงขายาวสวมหมวกแก๊ป ถือขวดซึ่งขาดว่าข้างในบรรจุน้ำมันติดไฟ เดินมาที่ข้างรถยนต์ส่วนตัวของเอกชัย ก่อนจะก้มจุดไฟเผารถ ทว่าโชคดีที่ไฟดังกล่าวดับไปในเวลาไม่กี่นาที ทำให้เกิดความเสียหายเพียงรอยดำบนสีรถ และยางบนประตูรถด้านซ้ายชำรุด กระนั้นก็ตามภาพถ่ายที่ได้จากกล้องวงจรปิดบริเวณนั้นก็ไม่สามารถระบุลักษณะใบหน้าของคนร้ายได้

เอกชัยเปิดเผยว่า โดยปกติภายในซอยที่เขาพักอาศัย จะมีคนผ่านไปมาจำนวนมาก จึงไม่ทราบว่าก่อนเกิดเหตุจะมีคนที่มีพฤติกรรมมาดูลาดเลาที่บ้านเขาก่อนหรือไม่ อีกทั้งกว่าเขาจะทราบเรื่องก็ล่วงเลยมาจนถึงวันที่ 27 ม.ค. แล้ว เนื่องจากเขาไม่ได้ออกจากบ้านตลอดวันที่ 26 ม.ค. มีเพียงตอนเช้ากับตอนเย็นที่ออกมาเปิดประตูเหล็กม้วนหน้าบ้านเท่านั้น ซึ่งหลังเกิดเหตุเอกชัยได้เดินทางไปแจ้งความที่ สน.ลาดพร้าว และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจพิสูจน์หลักฐานมาตรวจสอบรถและเก็บเขม่าไปตรวจสอบ

“การเผารถส่วนตัว” ได้สะท้อนแบบแผนความรุนแรงต่อเอกชัยที่คาดการณ์ไม่ได้ว่าความรุนแรงต่อเขาจะไปถึงจุดใด





3. ถูกรุมทำร้ายในที่สาธารณะ

การทำร้ายร่างกายถือเป็นการคุกคามต่อเอกชัยที่มีจำนวนถี่มากที่สุด โดยเริ่มขึ้นครั้งแรก ๆ ในช่วงที่มีกระแสการทุจริตในรัฐบาล คสช. ในเดือนมี.ค. 61 เมื่อเอกชัยและเพื่อนเดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. และทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ด้วยการจุดธูป 36 ดอกไล่สะเนียดจัญไร เพื่อให้ ป.ป.ช. เร่งรัดคดีนาฬิกาหรู ของ พล.อ.ประวิตร แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่หิ้วปีกจนได้บาดแผนที่นิ้วมือ โดยอ้างเหตุไม่ได้ขออนุญาตทำกิจกรรม(อ่านเพิ่มเติมที่: เอกชัย เข้าร้อง ป.ป.ช. เร่งคดีนาฬิกาประวิตร พร้อมจุดธูป 36 ดอก แต่ถูก จนท.หิ้วปีกออกมา)

อีกครั้งที่เขาทำกิจกรรมบริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพบก ครั้งหนึ่งมีบุคคลที่อ้างว่าเห็นต่างทางการเมืองทราบชื่อว่านายฤทธิไกร ชัยวรรณศาสน์ เข้าดักทำร้ายร่างกายด้วยการชกต่อย จากการพยายามเข้าไปมอบนาฬิกาแก่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ท่ามกลางข้อครหาเรื่องการครอบครองนาฬิกาหรูหลายเรือนของรองนายกรัฐมนตรี

“ชาย 3 คน อายุประมาณ 20-30 ปีดักทำร้ายร่างกายผมระหว่างเดินเข้าบ้าน”

นี่เป็นข้อความที่เอกชัย โพสต์ในเฟสบุ๊ค ที่เขาตั้งค่าสาธารณะอยู่เสมอ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 61” เวลา 12.00 น. เหตุการณ์เกิดขึ้นที่หน้าปากซอยเข้าบ้านพักของเขาอีกครั้ง ขณะที่มีชายคนหนึ่งใช้ไม้พยายามฟาดที่หน้าของเขา ซึ่งเขายกแขนขึ้นมาป้องกันไว้จนได้รับบาดเจ็บ เหตุการณ์นี้มีคนในซอยเห็นเป็นจำนวนมาก แต่ไม่พบว่ามีใครเข้าไปให้ความช่วยเหลือ

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากทำกิจกรรมที่ทำเนียบรัฐบาล เอกชัยได้ลงจากรถประจำทาง และเริ่มสังเกตเห็นผู้ชายสองคนจอดมอเตอร์ไซค์รออยู่หน้าร้านซ่อมรถปากซอย เขาเห็นว่าชายสองคนมองมาที่เขาแปลก ๆ แม้จะรู้สึกผิดสังเกต แต่ก็เลือกที่จะเดินต่อเพื่อเข้าบ้านพักที่อยู่ในซอยถัดไปจนเอกชัยเดินเข้าซอยจนใกล้จะถึงบ้าน ได้มีคนตะโกนเรียกชื่อ “เอกชัย”

เขาหันไปเห็นชายสองคนขี่มอเตอร์ไซค์ตามมาข้างหลัง โดยที่หนึ่งในสองคนเอาหมวกกันน๊อกฟาดมาที่เขา ระหว่างที่ถูกทำร้ายอยู่นั้น ได้มีผู้ชายคนที่สามเพิ่มมาอีกแต่เขาไม่ทราบว่ามาจากไหน ได้เอาไม้หน้าสามตีเขาราว ๆ 4-5 ครั้ง ขณะที่คนร้ายอีกสองคนยืนดู ครั้งนั้นคนร้ายตีเขาจนไม้หลุดมือ และพยายามหยิบไม้อันอื่นขึ้นมาตีซ้ำ เอกชัยจึงรีบวิ่งเข้าบ้าน ซึ่งชายสามคนนั้นไม่ได้ตามเขามาภายในบ้าน

เราจะเห็นว่าจำนวนคนทำร้ายเอกชัย ได้เพิ่มขึ้นจาก 1 คน เพิ่มเป็น 3 คน ทว่าครั้งล่าสุดของความรุนแรงรูปแบบนี้คนร้ายมาเป็นจำนวนถึง 4 คน เหตุนี้เกิดขึ้นหลังจากเอกชัยเข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์ “ไม่เลื่อนเลือกตั้ง” เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 62 (อ่านการประมวลการชุมนุม “ไม่เลื่อนเลือกตั้งได้ที่: การปิดกั้น-คุกคามยังคงอยู่: ส่องปรากฏการณ์ชุมนุมรอบเดือน ม.ค. ก่อนเส้นทางสู่วันเลือกตั้ง)

เรื่องราวเริ่มขึ้นเมื่อเขาและเพื่อนนักเคลื่อนไหวอีก 2 คน ได้พบกับชายที่แสดงตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ชวนไปทานอาหารเย็นในถนนตานี ย่านบางลำพู ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากสถานที่จัดกิจกรรมมากนัก

เอกชัยรู้สึกผิดสังเกตและไม่ไว้ใจจึงไม่ได้สนทนาด้วย จนกระทั่งทานอาหารเสร็จแล้วแยกย้ายกันกลับ

ให้หลังมื้อเย็นกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคงนั้น เพียงไม่กี่นาที ระหว่างทางที่เขาและเพื่อนกำลังเดินทางเพื่อกลับไปเอารถยนต์ส่วนตัว มีชาย 4 คนสวมหมวกนิรภัยแบบเต็มใบลงจากจักรยานยนต์สองคัน 3 คน เข้ารุมทำร้ายเอกชัยและเพื่อน โดยมีคนร้ายอีก 1 คนคอยยืนดูต้นทาง

ครั้งนี้โชคดี เมื่อมีกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาช่วย ระหว่างที่คนร้ายกำลังรุมทำร้ายเขาและเพื่อน โดยระหว่างนั้นคนร้ายขู่ว่า “กูมีปืน ยิงแม่งเลย”

ทั้งนี้เอกชัยคิดว่านักท่องเที่ยวชาวจีนคงแปลคำนั้นไม่ออก จึงไม่กลัวคำขู่ดังกล่าวและยังให้ความช่วยเหลือเขาต่อจนกระทั่งชายทั้ง 4 คนหนีไป

หลังเกิดเหตุได้เข้าแจ้งความที่สน.ชนะสงคราม และได้เดินทางไปรักษาบาดแผลที่โรงพยาบาลวชิระ แต่ภายหลังการรักษาแพทย์ที่ทำการรักษาไม่ออกใบรับรองแพทย์ให้ แม้ว่าเขาจะแจ้งกับแพทย์ว่าจะเอาไปใช้ในการแสดงต่อศาลเพื่อขอเลื่อนการพิจารณาคดีในวันรุ่งขึ้น และเพื่อใช้ประกอบการแจ้งความจากเหตุถูกทำร้ายร่างกายแล้วก็ตาม โดยแพทย์บอกว่าเป็นเพียงแผลเล็กน้อยเท่านั้น





4. คุกคามด้วยการดำเนินคดี
จากรูปแบบการคุกคามทำร้ายที่ผ่านมา จะเห็นว่านอกจากความเสี่ยงทางด้านความปลอดภัยในสวัสดิภาพของชีวิตแล้ว ในแต่ละวัน ชีวิตของเอกชัยยังผูกพันไปด้วยภาระทางคดีความจำนวนมาก สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะในการกดปราบผู้เห็นต่างทางการเมืองอย่างหนึ่งหลังการรัฐประหาร 2557 นั่นคือการใช้กลไกทางกฎหมาย ปิดปากประชาชน (Judicial harassment)

แม้ว่าก่อนการรัฐประหาร 2557 เขาเคยถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ (ม.112) จนศาลสั่งจำคุกในเรือนจำเป็นเวลากว่า 3 ปี 4 เดือน แต่หลังจากออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกครั้งหลังการรัฐประหาร 2557 จนถึงขณะนี้ เขาถูกตั้งข้อหาไปแล้วถึง 8 คดี ได้แก่ ชุดคดีการชุมนุมร่วมกับคนอยากเลือกตั้งซึ่งเรียกร้องให้รัฐบาล คสช. จัดการเลือกตั้งตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้แก่ประชาชน ทั้งบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้า MBK, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน,หน้ากองบัญชาการกองทัพบก, และการชุมนุมใหญ่ของคนอยากเลือกตั้งในวาระครบรอบ 4 ปี การรัฐประหาร คสช. บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และหน้าที่ทำการสหประชาชาติ รวมทั้งสิ้น 4 คดี

นอกจากนี้เอกชัยยังต้องต่อสู้คดีในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2 คดี คือ คดีโพสต์เฟสบุ๊คที่เข้าข่ายลามกอนาจาร และคดีหมิ่นเกียรติภูมิของกองทัพ โดยเนื้อหาที่ถูกนำมาดำเนินคดีมาจาก ข้อความในเฟซบุ๊กของเขาที่ระบุว่า

“สมรภูมิร่มเกล้า ไทยแพ้สงครามให้กับลาวจนเสียดินแดน หมู่บ้านร่มเกล้า (จ.พิษณุโลก) รวมถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพไทย ไม่เคยชนะสงครามแม้แต่ครั้งเดียว ทหารไทยเก่งแต่รัฐประหารและรังแกคนที่อ่อนแอกว่า”

รวมถึงคดีที่คสช. แจ้งความเอาผิดกับเขาและโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ เพื่อนนักเคลื่อนไหว ในฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน หลังจากที่เขาแจ้งความให้เอาผิดกับผู้บัญชาการกองทัพบกฐานกบฏ จากเนื้อหาให้สัมภาษณ์ของผบ.ทบ ที่ไม่รับประกันว่าจะไม่มีการรัฐประหารอีก (อ่านเรื่องนี้ใน: สั่งฟ้องเอกชัย-โชคชัย คดีแจ้งความเท็จ จากเหตุแจ้งความเอาผิดฐานกบฏกับ ผบ.ทบ.)

การถูกดำเนินคดีจำนวนมากดังกล่าว ทำให้เอกชัยต้องแบกภาระทั้งภาระด้านเวลา ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายไปกับการต่อสู้คดี ขณะที่เอกชัยเองเลือกจะยืนยันสิทธิในการตรวจสอบรัฐบาลอย่างไม่ย่อท้อ ในทางเดียวกันถือเป็นเรื่องที่หดหู่ เมื่อทุกคดีที่เขาและเพื่อนถูกดำเนินคดี ดูเหมือนทุกขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรม จะเลือกสั่งฟ้องแทนการยุติคดี หรือลดภาระการต่อสู้ให้แก่เขา

ทุก ๆ วัน เอกชัยยังคงเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทาง บางครั้งใช้รถส่วนตัวที่ยังไม่ได้ซ่อมแซมจากเหตุคนร้ายเผาทำลาย โดยมักจะมีเจ้าหน้าที่คอยติดตามอยู่เป็นประจำโดยอ้างว่าคอยดูแลความปลอดภัย แต่จากความรุนแรงที่เอกชัยเผชิญมาแทบจะทุกรูปแบบ คงประจักษ์ได้ว่าสวัสดิภาพของประชาชนที่ออกมาตรวจสอบรัฐบาลตกต่ำถึงขีดสุดแล้ว