วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 11, 2562

'สดศรี' ชี้ ไม่ควรมองว่าพรรคไทยรักษาชาติควรรับผิดชอบ และกฎหมายก็ไม่ได้บังคับว่าการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ห้ามไม่ให้เสนอชื่อบุคคลใดบ้าง





'สดศรี' ชี้ 'ไทยรักษาชาติ' ไม่ถึงขั้นถูกยุบพรรค แนะจบด้วยดีเดินหน้าต่อสู้ศึกเลือกตั้ง


2019-02-10
ประชาไท


10 ก.พ. 2562 เว็บไซต์ amarintv.com รายงานว่านางสดศรี สัตยธรรม อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เปิดเผยว่า สำหรับเรื่องในวันที่ 8 ก.พ. 2562 ที่พรรคไทยรัษาชาติ มีการเสนอพระนาม ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ เป็นเเคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย ส่วนพรรคไทยรักษาชาติก็ยังไม่ได้มีการหาเสียง เป็นเพียงส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเข้ามา เป็นไปตามขั้นตอน และการหาเสียงยังไม่ได้เริ่มต้น

ในเมื่อมีพระราชโองการ ซึ่งเราต้องรับเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ซึ่งจะต้องยุติในเรื่องต่าง ๆ ทั้งข้อเท็จจริง เเละข้อกฎหมาย ไม่ควรนำเรื่องนี้เข้ามาสู่การพิจารณาของ กกต. ด้วยซ้ำ ไม่ควรมองว่าพรรคไทยรักษาชาติควรรับผิดชอบ ในเรื่องการเสนอชื่อทูลกระหม่อมฯ หรือไม่ เพราะเป็นเรื่องที่ผ่านมาเเล้ว เเละกฎหมายก็ไม่ได้บังคับว่าการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ห้ามไม่ให้เสนอชื่อบุคคลใดบ้าง

ส่วนถ้ามีการร้องเรียน เเละมีการเสนอยุบพรรค กกต.จะต้องมีการสืบสวนไต่สวน เเละอาจจะต้องทำเรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญด้วย ถามว่าเราจะดึงพระองค์ท่านเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ เพราะเรื่องนี้น่าจะจบกันด้วยดี เพราะมีพระบรมราชโองการอย่างชัดเจนแล้ว เเละทุกอย่างก็ถือว่าเป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่จะดำเนินงานกันต่อไป ทั้งนี้ การนำเรื่องนี้ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น กกต.หรือศาล ซึ่งก็จะบาดเจ็บกันทุกฝ่าย พรรคการเมืองจะต้องนัดสืบพยานผู้เกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้น ควรเดินหน้ากันต่อไปในการเเข่งขันต่อสู้ ในวันเลือกตั้งที่ 24 มี.ค. 2562 นี้

ในส่วนของผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี กกต.ก็ต้องตรวจสอบ ถ้าเห็นว่าไม่ถูกต้อง ก็จะเทียบเคียงกับเรื่องนี้ คือเสนอเรื่องไปยังศาลฎีกาพิจารณาต่อไป ศาลฎีกาก็จะพิจารณาว่าควรจะตัดชื่อออกหรือไม่ ถึงแม้ว่า กกต. จะตัดชื่อออกหรือไม่ เราต้องยอมรับว่าทุกอย่างเป็นไปด้วยดี กกต. ก็จะสบายใจขึ้น เพราะว่าไม่ต้องวินิจฉัย ทุกฝ่ายที่ร้องกันขึ้นมา ก็ควรจะยุติเหตุการณ์ต่าง ๆ เเละทำให้ประชาชนชนชาวไทยเกิดความภูมิในว่าเรามีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคุ้มครอง ถือว่าเป็นบรรทัดฐาน และประวัติศาสตร์ของประเทศไทย และเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น
...







รายชื่อว่าที่นายกฯ สมัครแล้วถอนไม่ได้
.
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 หรือ #กฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 13 กำหนดกติกาใหม่ขึ้นมาใช้เป็นครั้งแรก ให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้พรรคละไม่เกินสามรายชื่อ เพื่อให้ประชาชนได้เห็นหน้าค่าตากันก่อนเลือกตั้งและตัดสินใจกากบาทได้ โดยพรรคใดไม่มีคนที่อยากเสนอจะไม่เสนอก็ได้

กติกาข้อนี้เองที่เปิดโอกาสให้มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ต้องลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ก็ได้ ไม่ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองก็ได้ แต่จะเรียกว่า เป็น "นายกฯคนนอก" เสียทีเดียวก็ไม่เต็มปาก หากผู้สมัครนั้นเปิดตัวเข้าร่วมกิจกรรมหาเสียง ลงพื้นที่พบปะประชาชน และนำเสนอนโยบายร่วมกับพรรคการเมืองนั้น สร้างความกระอักกระอ่วนด้านความชอบธรรมให้เกิดขึ้นในสนามเลือกตั้งรอบนี้

ซึ่งก็เห็นได้ชัดว่า ช่องทางนี้เปิดเอาไว้เพื่อให้พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ โดยที่ไม่ต้องลงแรงตั้งพรรคการเมืองเอง ไม่ต้องลาออกจากตำแหน่งสารพัดที่ยังนั่งควบอยู่ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง และพรรคไทยรักษาชาติเองก็หยิบเอาช่องทางนี้มาใช้เสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์เป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรค

รายละเอียของมาตรา 13 กำหนดไว้ว่า

"มาตรา 13 ในการเลือกตั้งทั่วไป ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแจ้งรายชื่อบุคคล ซึ่งพรรคการเมืองนั้นมีมติว่าจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกินสามรายชื่อต่อคณะกรรมการก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง และให้คณะกรรมการประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวพร้อมกับชื่อของพรรคการเมืองนั้นให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป

เมื่อพรรคการเมืองแจ้งรายชื่อบุคคลใดตามวรรคหนึ่งแล้ว บุคคลนั้นหรือพรรคการเมืองนั้นจะถอนรายชื่อหรือเปลี่ยนแปลงรายชื่อบุคคลนั้นได้เฉพาะกรณีบุคคลนั้นตายหรือขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม และต้องกระทําก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง

การคัดเลือกรายชื่อบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

พรรคการเมืองจะไม่เสนอรายชื่อบุคคลตามวรรคหนึ่งก็ได้"

ข้อความในวรรคสองที่ห้ามถอนหรือเปลี่ยนแปลงรายชื่อนั้นมีขึ้นเพื่อประโยชน์ของประชาชน เพื่อให้ประชาชนศึกษาและตัดสินใจใช้สิทธิของตัวเองเลือกพรรคการเมืองใดได้ โดยช่วยรับประกันว่าเมื่อประชาชนตัดสินใจแล้วจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงภายหลัง แต่ก็ยังเปิดช่องให้ถอนรายชื่อได้เฉพาะกรณีขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ซึ่งก็ต้องถอนหรือเปลี่ยนแปลงก่อนปิดการรับสมัครเท่านั้น

เมื่อมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ ในวันที่ 8 กุมภาพันธุ์ 2562 และมีประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามมาในเวลาประมาณ 23.00 อธิบายความไม่เหมาะสมของการให้พระบรมราชวงศ์มาเกี่ยวข้องกับการเมือง ก็นำมาซึ่งการหาช่องทาง "ถอย" ของพรรคไทยรักษาชาติ และตัวผู้สมัครเอง แต่ปรากฏว่า ติดขัดกฎหมายเลือกตั้งมาตรา 13 ที่ไม่เปิดช่องให้พรรคการเมืองเปลี่ยนแปลงรายชื่อและไม่ให้ตัวผู้สมัครถอนตัวเองได้ แม้ว่าจะอยากถอยเพียงใดก็ตาม

ทางเลือกที่จะเป็นไปได้ คือ กกต. ต้องสั่งว่า ผู้สมัครขาดคุณสมบัติ แต่เมื่อดูคุณสมบัติของผู้สมัครเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วก็ไม่เห็นว่า ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ จะขาดคุณสมบัติข้อใด และที่สำคัญ คือ ไม่ว่า กกต. จะสั่งว่าขาดคุณสมบัติข้อใด วันรับสมัครเลือกตั้งวันสุดท้าย คือ 8 กุมภาพันธ์ ได้ผ่านไปแล้วจึงเลยเวลาที่กฎหมายกำหนดให้สามารถถอนรายชื่อได้แล้ว

หากทั้งกระแสสังคม พรรคไทยรักษาชาติ และตัวผู้สมัคร ต้องการจะถอยในเกมนี้กฎหมายก็ยังไม่เปิดช่องไว้ จึงยังเป็นเรื่องปวดหัวของ กกต. ว่าจะสั่งเพื่อหาทางออกโดยหยิบยกมาตราใดของกฎหมายใดขึ้นมาใช้ หรือจะต้องมีการเสนอแก้ไขกติกาการเลือกตั้งอีกครั้งเพื่อเปิดทางให้ผู้สมัครว่าที่นายกฯ คนพิเศษนี้สามารถถอนตัวได้

............................

คุณสมบัติของรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 กำหนดว่า
(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปี
(3) สําเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
(4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
(5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
*(6) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98
(7) ไม่เป็นผู้ต้องคําพิพากษาให้จําคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ
เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทําโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
(8) ไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตําแหน่งเพราะเหตุกระทําการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186
หรือมาตรา 187 (เป็นผู้ถือหุ้นในกิจการ) มาแล้วยังไม่ถึงสองปีนับถึงวันแต่งตั้ง

ซึ่งข้อที่น่าสนใจต่อไปคือ ลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98
ในมาตรา 98 กำหนดลักษณะต้องห้าม มีข้อที่น่าสนใจได้แก่
(4) เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะเป็นภิกษุ หรือนักบวช, ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือ วิกลจริตจิตฟั่นเฟือน
(5) อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

ซึ่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/068/40.PDF)
กำหนดเรื่องผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไว้ในมาตรา 35 ดังนี้

มาตรา 35 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและมิได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งแล้วแต่เหตุนั้นมิใช่เหตุอันสมควร ผู้นั้นถูกจํากัดสิทธิ ดังต่อไปนี้
(1) ยื่นคําร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(2) สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา
(3) สมัครรับเลือกเป็นกํานันและผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่
(4) ดํารงตําแหน่งข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา
(5) ดํารงตําแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหาร ท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

***การจํากัดสิทธิตามวรรคหนึ่งให้มีกําหนดเวลาครั้งละสองปีนับแต่วันเลือกตั้งครั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และหากในการเลือกตั้งครั้งต่อไปผู้นั้นไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งอีกให้นับเวลาการจํากัดสิทธิครั้งหลังนี้โดยนับจากวันที่มิได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งใหม่ หากกําหนดเวลาการจํากัดสิทธิครั้งก่อนยังเหลืออยู่เท่าใดให้กําหนดเวลาการจํากัดสิทธินั้นสิ้นสุดลง

............................

ดูเรื่องบัญชีว่าที่นากฯ กติกาใหม่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้ที่https://ilaw.or.th/node/5131