วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 01, 2562

วิกฤตกรุงเทพฯ น้ำท่วม 'ปูเอาอยู่' ละอองฝุ่นคลุ้ง 'ตู่เอาใหญ่'

สมัยรัฐบาลนายกฯ ปู โดนวิกฤตน้ำท่วมกรุง ถูกฝ่ายตรงข้ามตั้งฉายาให้ว่า เอาอยู่ สมัยรัฐบาลรัฐประหารของเฮีย ตู่ เจอปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ ก็ไม่ได้เอาอยู่เหมือนกัน แต่ว่าดัน เอาใหญ่

แบบว่าไปพูดที่เซ็นทรัลเวิร์ลด์ถึงคนที่ไม่ชอบทหาร บอกให้ลองไปอยู่ชายแดนใต้บ้าง “ให้ไปอยู่ที่นู้นเป็นปีๆ มันไม่ได้สบายนักหรอก ถ้าไม่มีทหารชายแดนจะเกิดอะไรขึ้น” กลับกลายเป็นว่า

ประยุทธ์กำลังประจานความล้มเหลวของของกองทัพในการแก้ปัญหาชายแดนใต้” เหมือนที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ชี้ให้เห็น

แล้วก็ เอาใหญ่ตรงที่หลังๆ นี่โดนด่าหนัก แทนที่จะตระหนักว่าไม่ใช่เพราะชอบแกว่งปากหาเสี้ยนอย่างเดียว แต่ว่าเพราะปัญหาที่เจอนี่ไม่ใช่เรื่องไม่คาดหมายเหมือนน้ำท่วมเฉียบพลัน แต่มันสะสมมานานนมกาเล อย่างน้อยๆ ๕ ปี ๑๐ ปี

ถึงจะอ้างอย่างไรว่าได้เริ่มมาตรการแก้ไข ๑-๒ แล้วจะไป ๓-๔ ต่อก็เถอะ ประเด็นมันอยู่ที่ว่า ได้ทำอะไรมาบ้าง ถูกทางไหม เพิ่งมาพ่นน้ำ (จะ 'หวาน' หรือ 'ลาย' สุดแล้วแต่) ตอนที่มันหนักหนาสากัณฑ์อันดับ ๘ ของโลก (และยังไต่ขึ้นไปไม่หยุด) นั่นต่างหาก
 
คล้ายมะเร็งขั้นท้ายๆ ฉีดคีโมเข็มละล้านก็เอาไม่อยู่ ตอนนี้พรรคการเมืองหลักๆ ต่างออกมาแสดงวิสัยทัศน์ เสนอนโยบายกำจัดฝุ่นละอองกันเกือบพร้อมหน้า ประชาธิปัตย์ ไทยรักษาชาติ เพื่อไทย อนาคตใหม่ บ้างมีมาตรการระยะยาวอาจต้องใช้เวลา ๒๐ ปี บ้างแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพิ่มจำนวนหน้ากากกันพิษให้เพียงพอ

ข้อสำคัญที่สุดต้องใช้นโยบายป้องกันอย่างเข้มงวดและจริงจัง ถึงอย่างนั้นก็ยังจะต้องใช้เวลาอีกสัก ๑๐-๒๐ ปี ตัวอย่างเห็นได้จากนครลอส แองเจลีส รัฐแคลิฟอร์เนียเคยเป็นเมืองลับแล ท้องฟ้าปกคลุมด้วยหมอกสีแดงเรื่อของ สม็อก เกือบทุกวัน

ด้วยการใช้กฏระเบียบเกี่ยวกับไอเสียรถยนต์เข้มงวดอย่างที่สุดในโลกเป็นหลักใหญ่ ก็ยังต้องใช้เวลานับยี่สิบปีจนบัดนี้นานๆ จึงจะเห็นสม็อกกันสักที สิ่งที่เป็นข้อด้อยของรัฐบาล คสช. ในสายตาประชากรที่แต่ก่อนเป็นพลเมืองเฉยอยู่ที่ เกือบห้าปีเป็นข้อพิสูจน์แล้วว่าเสียของ

แต่กระนั้นยังไม่วายมีคนเด่นประเภทโลกสวยขอให้ แบ่งปันอำนาจ แก่พรรคการเมืองของคณะทหารบ้างหลังการเลือกตั้ง คนที่พูดนี่เขาคงเชื่อแน่ว่าผลการเลือกตั้งครั้งที่ว่าจะมีนี้พรรคของ คสช. จะไม่ได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งแน่

โคทม อารียา ชื่อนี้คุ้นกันดีในฐานะที่เป็นอดีตกรรมการเลือกตั้ง เดี๋ยวนี้เป็นนักวิชาการที่ปรึกษาด้านสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยมหิดล ถ้าจะเรียกด้วยคุณสมบัติเก๋ไก๋ก็ต้องว่า นักสันติวิธีเพราะมี นิสัยอันแก้ไม่หายแบบที่ ธนาพล อิ๋วสกุล ว่า “เฒ่าเพราะอยู่นาน” นั่นละมัง

เขาไปบรรยายที่ซอยรางน้ำเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ว่ามีข้อบังคับน่าสนใจบางอย่าง เช่นให้มี หัวคะแนน อย่างเป็นทางการ เรียก ผู้ช่วยหาเสียง ซึ่งผู้สมัครต้องจ่ายค่าจ้างให้เพียง ๓๒๐ บาทต่อวัน วันละไม่เกิน ๒๐ คน หรือรถหาเสียงก็ให้ใช้ได้วันละไม่เกิน ๑๐ คัน
 
รศ.โคทมอ้างว่าแผนของคณะรัฐประหาร ๒๕๕๗ ต้องการอยู่นาน ๑๓ ปี ตอนนี้รัฐบาล คสช.อยู่มาแล้วจะห้าปี อีกสี่ปีจะมี สว.ชุดเดิม “กติกาเดิม ก็น่าจะได้นายกฯคนเดิม นี่ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ แต่คือการยึดกุมอำนาจตามรัฐธรรมนูญ” อย่างละมุนละม่อม

ดังนั้น โคทมจึงเสนอหลัก ๔ ข้อ ต้นๆ ก็เป็นหลักให้เคารพสิทธิของ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง ควรได้เป็นนายกฯ ข้อสุดท้ายในทางปฏิบัติ “ให้พรรคที่ได้คะแนนอันดับ เชิญพรรค พปชร.มาคุยก่อน พยายามให้มาร่วมรัฐบาล

เหตุผลของโคทมก็คือ “ถ้าเป็นเช่นนี้จะเป็นการแบ่งปันอำนาจอย่างแท้จริง เหมาะสมกับช่วงเปลี่ยนผ่าน ทำให้บ้านเมืองสงบ มีเสถียรภาพ” ดูเหมือนเขาจะไม่ชอบให้พรรคที่ได้อันดับ ๑ มีเสียงมากท่วมท้นจนเกินไป นี่ตรงตามเจตนารมณ์ของ คสช. โดยแท้


ความยากลำบากของประชากรภาคส่วนที่ต้องการปลดแอกจากอำนาจ อิทธิพล และการกดขี่ของระบอบรัฐประหาร นั้นไม่เพียงความเหี้ยมโหด (อุ้มฆ่า ๕ ศพจากลาว) ความปลิ้นปล้อน (พ่นน้ำลายไล่ฝุ่นละออง) ของคณะทหารเท่านั้น

การต่อสู้กับความงมงายของบรรดาสลิ่มที่หลงใหลศักดินา และพวกนักกิจกรรม นักวิชาการโลกสวย และนักนบนอบเพื่อสันติ นั้นเป็นอุปสรรคอันยิ่งใหญ่ประดุจประดากบน้อยในสระจ้อยแอ่งกะลา ก่นว่าพวกพ้องให้สงบเสงี่ยมอย่าเคลื่อนไหว เกรงนกกระสาจะหัวเสีย