ลมหายใจที่ไม่แพ้: ทศวรรษแห่งการต่อสู้ของพี่จ๋า กองหน้าเสื้อแดง
2018-11-03
โดย กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์
ที่มา ประชาไท
พี่จ๋าเป็นหนึ่งในคนเสื้อแดงที่ผู้เขียนพบเจอและขอสัมภาษณ์ในระหว่างที่กำลังทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ผู้เขียนเริ่มพบปะ พูดคุย ขอสัมภาษณ์ผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่าคนเสื้อแดงมาตั้งแต่ปี 2557 แต่กว่าผู้เขียนจะเจอพี่จ๋าก็ต้องรอจนปี 2558 ทั้งนี้ก็เพราะพี่จ๋าถูกจองจำอิสรภาพเพราะโดนข้อหาทำร้ายเจ้าหน้าที่ทหาร อย่างไรก็ตาม ในหมู่คนเสื้อแดงที่ผู้เขียนได้รู้จัก พี่จ๋าถือได้ว่าเป็น “คนดัง” คนหนึ่ง จากคำบอกเล่าของหลายๆ คน พี่จ๋าคือนักสู้ตั้งแต่ยุคต้านรัฐประหารแรกๆ เป็น “ขาลุย” อีกทั้งยังมีคำชมว่าแกชอบทำขนมมาแจกคนในที่ชุมนุมอีกด้วย
พี่จ๋าเสียชีวิตเพียงลำพังในห้องเช่าในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561
พี่จ๋าเป็นผู้หญิงใส่แว่น ผมซอยสั้น แกชอบใส่เสื้อยืดหลวมๆ พร้อมกางเกงขาสั้น หลังจากที่พี่จ๋าถูกปล่อยตัวออกมา ผู้เขียนพบปะพี่จ๋าเป็นครั้งคราวในที่ชุมนุม ในที่รวมตัวของคนเสื้อแดง แถมยังเห็นแกไปร่วมร้องเพลงกับน้องๆ นักศึกษา ในเดือนมีนาคม 2558 ประมาณหนึ่งเดือนหลังจากที่พี่จ๋าได้รับอิสรภาพ ผู้เขียนจึงตัดสินใจขอสัมภาษณ์เพื่อให้พี่จ๋าเล่าเรื่องราวการต่อสู้ของตัวเอง อนึ่งเรื่องราวด้านล่างนี้มาจากความทรงจำ การรับรู้ การตีความของพี่จ๋า ในบางครั้งก็ผสมกับการตีความของผู้เขียน ดังนั้นมันอาจจะไม่ได้สอดคล้องกับความเป็นจริง หรือการรับรู้ของคนอื่นๆ หากกระทบกับกลุ่มหรือบุคคลใด ผู้เขียนขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย
จาก “จ๋า จตุจักร” สู่ “จ๋า คนวันเสาร์” : หอบหมาไปหน้าบ้านสี่เสาฯ
พี่จ๋าหันมาสนใจการเมืองเมื่อปี 2548-49 ก่อนหน้านั้นพี่จ๋าตอบอย่างมั่นใจว่าตัวเองไม่เคยสนใจการเมืองเลย ส่วนอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร พี่จ๋าบอกสั้นๆ เพียงว่า ตอนนั้นก็คิดว่าเขาบริหารประเทศดี มาช่วยปลดหนี้IMF พี่จ๋าเล่าต่อไปว่าตนเองไม่พอใจกับการชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เหตุผลก็เพราะสื่อทุกสื่อรายงานแต่ข่าวพันธมิตรฯ ทำให้พี่จ๋ารู้สึกว่าเธอโดยเบียดเบียนสิทธิในการบริโภคข้อมูล:
“มันจะมีช่องเล็กๆ ในทีวี (ถ่ายทอดสดการชุมนุมพันธมิตร) ที่เราดูละคร ถามว่า มึงต้องมาเบียดเบียนกูทำไม ในเมื่อกูจะดูละคร มันจะเบียดไปเกือบครึ่งช่อง ตอนนั้นที่มันมีถ่ายทอดพันธมิตร เกือบทุกช่อง สาม ห้า เจ็ด เก้า”
เอาเข้าจริงๆ ผู้เขียนไม่คิดว่าพี่จ๋าเป็นคนไม่สนใจการเมืองอย่างที่แกออกตัว เพราะไม่มีคนไม่สนใจการเมืองคนไหนที่จะออกจากบ้านไปร่วมขบวนคาราวานคนจน (กลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ) ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2549 ช่วงเวลานี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ทางการเมืองของผู้หญิงธรรมดาๆ อย่างพี่จ๋า โดยเริ่มจากการไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนสนับสนุนรัฐบาลที่สวนจตุจักร พี่จ๋าเล่าว่าตัวเองไปบ่อยจนได้ฉายาว่า “จ๋า จตุจักร”
ก่อนหน้านี้พี่จ๋าไม่เคยเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองใดมาก่อนเลย พี่จ๋ามีความทรงจำสั้นๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ แต่ก็น่าสนใจว่าหลังจากที่พูดถึงพฤษภาทมิฬแล้ว พี่จ๋าก็เสริมต่อด้วย “คำด่า” ไปยังบรรดา “ชนชั้นกลางมีการศึกษา” อีกด้วย:
“ไม่รู้ว่าเค้าไปทำอะไรกัน [ในเหตุการณ์พฤษภา35] ไม่รู้เรื่องการเมือง ไม่รู้อะไรเลย เราเด็กบ้านนอก พี่ความรู้น้อย เด็กโรงเรียนเทศบาล [พี่จ๋าเป็นคนราชบุรีแต่ย้ายมาอยู่กรุงเทพฯนานหลายสิบปีแล้ว – เพิ่มเติมโดยผู้เขียน] แค่นั้นเอง ถามว่าความรู้น้อยไม่ได้บอกให้เราโง่นิ ความคิดความอ่านเราอาจจะดีกว่าพวกระดับปริญญา เพราะว่า พวกปริญญาบางคน พวกชนชั้นกลาง พวกผู้ดีทั้งหลาย จะมองว่า ตัวเองดีตัวเองเก่ง ตัวเองเด่น แล้วเหยียบหัวชาวบ้าน แล้วมึงรู้มั้ยว่าชาวบ้านที่มึงเหยียบ อีโก้เค้าสูงกว่ามึงอีก ไอเดียเค้าสูงกว่ามึงอีก ไม่ใช่ว่าประเภทไอเดียสูงอีคิวต่ำ เค้ามีทั้งไอคิว อีคิว”
ผู้เขียนเองก็อยากให้พี่จ๋าด่าทอชนชั้นกลางหลายปริญญาต่อ แต่ในขณะเดียวกันก็อยากให้แกกลับไปเล่าเรื่องราวการต่อสู้ของแก ดังนั้นจึงขัดจังหวะและขอให้แกย้อนความทรงจำเกี่ยวกับพันธมิตรฯ พี่จ๋าจึงเล่าต่อ “ไม่พอใจพันธมิตรว่ามีอำนาจบาทใหญ่ในจอทีวี มาเดือนมิถุนา ครองราชย์หกสิบปี อันนี้ มันจะถึงงานอยู่แล้ว แล้วเวทีพันธมิตรตรงนั้นมันเป็นทางผ่าน”
ในช่วงนั้น กกต.ถูกโจมตีอย่างหนัก พี่จ๋าก็เป็นหนึ่งในพรรคพวกที่ไปให้กำลังใจและปกป้อง กกต. โดยเฉพาะคุณวาสนา เพิ่มลาภ จะเห็นได้ว่าพี่จ๋าเริ่มที่จะเป็น “ขาลุย” ตั้งแต่สมัยก่อนรัฐประหารเสียด้วยซ้ำ โดยพี่จ๋าเน้นย้ำว่า ตัวเองชอบทำอะไรคนเดียว และไม่อายที่จะบอกว่าตัวเองไม่ใช่สันติอหิงสา “พี่ตีพันธมิตรประจำ เราไม่ใช่อันธพาล แต่เราก็ไม่ให้ใครมารังแกเรา ไม่ใช่มึงตีกูได้ฝ่ายเดียวนะ มึงตีกูกูก็ตีมึง” นี่คือจุดยืนของพี่จ๋า
“สู้ไปสู้มา ทำไมมันถึงหลุดเข้าไปในวงอำมาตย์ ไม่ใช่ละ พี่นึกว่าเป็นแค่อีสุกอีไส ไม่ใช่เอดส์ นี่แม่งเรื้อรังมันกลายเป็นเอดส์ เอดส์อำมาตย์” นี่คืออุปมาอุปไมยที่พี่จ๋าใช้เพื่อบรรยายอาการป่วยทางการเมืองไทยที่ผู้เขียนคิดว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
แน่นอนว่าหลังวันที่ 19 กันยายน 2549 พี่จ๋าไม่อยู่บ้านดูละครเฉยๆ อย่างแน่นอน “พี่ก็เริ่มออกสนามหลวง ไปรวมกับคนวันเสาร์ [ไม่เอาเผด็จการ]” เป็นที่เข้าใจกันในหมู่คนเสื้อแดง (อย่างน้อยก็คนเสื้อแดงกรุงเทพฯ) ว่าถ้าเริ่มสู้มาตั้งแต่ “รุ่นสนามหลวง” และ “เป็นคนวันเสาร์” นั่นหมายความว่าเป็นรุ่นบุกเบิก สู้มานาน พี่จ๋าเองก็เป็นหนึ่งในนั้น แกเล่าบรรยากาศต้านรัฐประหารที่สนามหลวงว่า:
“แต่ละคน เอาโทรโข่งเอาเก้าอี้ไป ตอนหลังมีเอาเครื่องปั่นไฟไป แต่มันยังอยู่ในเคอฟิวอยู่ พี่ออกเกือบทุกวัน .... ไปดูทหารมัน เอาดอกไม้จันไปให้รถถัง ไม่ใช่กิจกรรมกลุ่มนะ เป็นกิจกรรมตัวเอง เพราะมันมีเอาดอกกุหลาบอะไรไปให้ พี่ออกไปป่วน ไปด่าทหาร ไม่พอใจ”
ด้วยน้ำเสียงภูมิใจ พี่จ๋าบอกว่าฉายาตัวเองเปลี่ยนจาก “จ๋าจตุจักร” กลายมาเป็น “จ๋าคนวันเสาร์” ที่สำคัญ พี่จ๋ายังจำวีรกรรมของตัวเองในงานศพคุณลุงนวมทอง ไพรวัลย์อย่างแม่นยำ พี่จ๋าเล่าอย่างละเอียดว่า ตนจะไปชิงศพลุงนวมทองเพื่อจะนำมาตั้งที่สนามหลวง ด้วยเหตุนี้ แกจึงไปกระทบกระทั่งกับคนในครอบครัวลุงนวมทอง หลังจากนั้น ในงานศพลุงนวมทอง พี่จ๋าเล่าว่า เมื่อตนทราบว่า พันเอก อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษก คปค.จะมาเคารพศพ ตนจึงไปยืนด่า “ด่า ด่าจนกระทั่งมัน ถอดเชือกรองเท้าได้ข้างเดียว แล้วมันใส่รองเท้าขึ้นไปนั่งบนศาลาเลย ด่าตลอดงาน” แกเล่าต่อ “ยืนด่าจนผู้การภาคหนึ่ง นายตำรวจบอก จ๋าไปกินข้าวกับพี่ พี่บอก ไม่แดก เดี๋ยวเสียนาทีทอง กูปวดเยี่ยวยังไม่ไปเยี่ยวเลย ด่าตั้งแต่เย็นจนสวดศพเลิก ป่วนทั้งงาน” นี่คือความทรงจำของแก
เมื่อถามพี่จ๋าว่าคิดอย่างไรกับคุณลุงนวมทอง พี่จ๋าตอบว่า “โมโห นึกด่าด้วยว่าทำไมแกโง่ไปฆ่าตัวตาย ทำไมไม่ออกมาร่วมกันตรงนี้ จะตายทั้งทีน่าจะมีผลมากกว่านี้ อย่างพี่ถ้าพี่จะต้องตายเนี่ย พี่จะต้องมีตัวแลก ถ้าจะพลีชีพทั้งทีก็เอาให้คุ้ม”
ไม่กี่เดือนหลังรัฐประหาร พี่จ๋าก็ผันตัวมาเป็นผู้ชุมนุมต้านรัฐประหารขาประจำ พี่จ๋าบอกว่าตนเองไม่ใช่นักปราศรัย ไม่เคยขึ้นเวทีไปพูดปลุกระดม ถ้าจะให้นิยามก็คงเป็น “มวลชน” แต่พอผู้เขียนเสริมว่าเป็น “มวลชนแนวหน้า” พี่จ๋าก็ไม่เถียง ดูเหมือนว่าบทบาทของพี่จ๋าในขบวนคือ อยู่แถวหน้าแนวปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐ คอยรับกระบองเป็นกลุ่มแรกๆ โดยพี่จ๋ามองว่าตนมีหน้าที่ปกป้องพี่น้องที่อยู่ด้านหลัง
แม้จะมีบุคลิก บู๊ ห้าว และลุย แต่พี่จ๋าเป็นคนรักหมามาก ก่อนวิกฤตการเมือง พี่จ๋าเลี้ยงหมาหลายตัว แน่นอนว่าหลังจากผันตัวมาเป็นผู้ชุมนุมทางการเมือง พี่จ๋ามักพาเพื่อนตัวน้อยไปร่วมกิจกรรมการเมืองด้วย พี่จ๋าเล่าเหตุการณ์บุกบ้านสี่เสาเทเวศน์ (22 กรกฎาคม 2550) ไว้ว่า:
“แก๊สน้ำตา ........ โหว ครั้งแรกในชีวิต ปวดแสบปวดร้อน ทรมานชิบหาย เอาหมาไปด้วย เอาหมากลับบ้านไปล้าง (เอาหมาไปนี่นะ - ผู้เขียน) ใช่ สามตัว เอาหมาไปเก็บบ้าน แล้วออกมาลุยแม่ง”
พอย่างเข้าปี 2551 การเมืองบนท้องถนนร้อนระอุ พี่จ๋าก็เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดงทุกวัน แกบอกว่าเป็น “ยาอายุวัฒนะ” “วันไหนไม่ออกนอนไม่ได้กินไม่ได้” เราถามพี่จ๋าว่ารู้สึกอย่างไรเวลาออกไปชุมนุม พี่จ๋าตอบว่า: “มันอบอุ่นน่ะ มันไปเจอพี่น้อง ไปเจอมวลชนที่ออกมาแลกเปลี่ยนความคิดความอ่าน อยู่บ้านด่าให้หมูให้หมาฟัง”
เมษา 52 ถึง พฤษภา 53: “มึงฆ่าประชาชน.....นี่เป็นอะไรที่กูลืมมึงไม่ลง”
“คิดอย่างไรเมื่ออภิสิทธิ์ขึ้นมาเป็นนายกฯ?”
“เหี้ยสุดๆ ” พี่จ๋าตอบทันที
“แล้วท้อไหมคะ ตอนนั้น”
“ไม่ท้อ กูต้องลุย……”
พี่จ๋าเชื่อว่ามีคนจากฝั่งเสื้อแดงถูกฆ่าตายในเหตุการณ์เดือนเมษาปี 52 แต่ศพถูกนำไปซ่อน นี่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์เมษา 52 ที่ผู้เขียนเคยได้ยินมาจากคนเสื้อแดงคนอื่นๆ ด้วย พอล่วงเข้าปี 53 พี่จ๋าก็ทำหน้าที่เป็น “มวลชนแนวหน้า” ตามที่ตนถนัด “ไปตรวจตราตรงผ่านฟ้า เพราะตรงนั้นมันเป็นแหล่งพันธมิตร” พอผู้เขียนถามว่า “ไปเป็นการ์ดหรือ?” พี่จ๋าก็ยังยืนกรานว่า “ไม่ได้เป็น” แต่ “ไปร่วมกับการ์ดเอง ไม่ได้ขึ้นกับใคร”
“สิบ เมษา ห้าสาม มึงฆ่าประชาชน.....นี่เป็นอะไรที่กูลืมมึงไม่ลง”
เมื่อความรุนแรงบานปลายมากขึ้น ในที่สุด พี่จ๋าก็ถูกจับวันที่ 3 พฤษภาคม 53 และโดนข้อหายิง ฮ. ผู้เขียนไม่ได้ถามรายละเอียดเกี่ยวกับคดียิง ฮ.นี้ในระหว่างการสัมภาษณ์ ด้านล่างนี้คือความเห็นโดยรวมของพี่จ๋าที่มีต่อแนวทางการต่อสู้ของตัวเองแบบ ตาต่อตา ฟันต่อฟัน
“แล้วมึงมาตีกูทำไมอะ เอ้อ มึงมาทำพวกกูทำไม ไม่ใช่พระอิฐพระปูนนะโว้ย กูก็เจ็บเป็น ตายเป็นนะมึง”
จะเห็นได้ว่าพี่จ๋ามองว่า ตนโดนกระทำก่อน และไม่เห็นด้วยที่จะยอมถูกกระทำโดยไม่ตอบโต้ “ไม่มีใครหรอกจะยอมให้ตบหัวเล่นๆ ข้างเดียว .....มึงก็สองมือสองตีน กูก็สองมือสองตีน อยู่ที่ว่ากูจะตัวใหญ่หรือมึงตัวใหญ่ มึงก็มีเลือดมีเนื้อ กูก็มีเลือดมีเนื้อ”
แน่นอนว่านี่ไม่ใช่แนวทางที่ทุกคนเห็นด้วย พี่จ๋าเองก็ทราบดี พร้อมอธิบายต่อไปว่า “ไม่มีใครมาสั่งพี่ได้ กูจะเดิน ไปไหน ใครไม่ต้องมายุ่ง พี่เป็นคนที่ห้ามไม่ได้ สั่งไม่ได้ และพี่เชื่อว่าเค้าไม่กล้ามาสั่งพี่ด้วย เพราะ เค้าก็รู้ว่าพี่อีโก้แรง”
หลังสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง 53 พี่จ๋าบอกว่า พวกเรา “เริ่มรู้ว่าใครคือตัวตน ใครคือตัวบงการที่แท้จริง” พร้อมกับเสริมว่า “อย่าลืมนะตอนนี้โลกโซเซียลมันไวทั้งนั้นเลย มันไม่เหมือนเมื่อยี่สิบปีที่แล้วที่กูไม่รู้ว่า มึงทำอะไร”
ออกจากคุกปี 54
หลังได้รับอิสรภาพในปี54 ช่วงนั้นการชุมนุมของคนเสื้อแดงบนท้องถนนไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก ทั้งนี้ก็เพราะพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งและยิ่งลักษณ์ ชินวัตรขึ้นมารับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลานั้นถือได้ว่า มีการจัดงานเสวนาวิชาการตามมหาวิทยาลัยอบู่บ่อยครั้ง ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นคนเสื้อแดง พี่จ๋าเองก็เข้าร่วมกิจกรรมเสวนาวิชาการตามมหาวิทยาลัยอยู่บ่อยครั้ง แกบอกว่าแกรู้จักนักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตยเกือบหมด “แต่ไม่เคยฟัง” ที่เขาพูดเลย อาจารย์เหล่านี้มักเดินมาหาพี่จ๋าแล้วถามไถ่ด้วยความเป็นห่วงเป็นใย เช่น อาจาย์ “ยิ้ม” อาจารย์วรเจตน์ และ อาจารย์ “เจียมศักดิ์” พี่จ๋าเล่าต่อว่า “อาจารย์เจียมศักดิ์จะห่วงเรื่องหมาพี่มาก” ผู้เขียนรอให้พี่จ๋าพูดจบจึงแก้ว่า “อาจารย์สมศักดิ์” พี่จ๋าตอบว่า “เออ”
พี่จ๋าเล่าว่าตนไม่รู้จักว่าอาจาย์สมศักดิ์หน้าตาเป็นอย่างไร จนกระทั่งอาจารย์มาทักพี่จ๋าก่อน พี่จ๋าเล่าติดตลกว่า ที่งานศพอากง อาจารย์สมศักดิ์เข้ามาถามว่า “เด็กๆ เป็นไงมั่ง ไม่ได้ถามว่าเราเป็นไงนะ ถามว่า เด็กๆ เป็นไงมั่ง (หัวเราะ)”(“เด็กๆ ”ในที่นี้คือสุนัข) พี่จ๋าบอกว่าตัวเองเป็นห่วงอาจารย์สมศักดิ์ แต่ “คิดว่าคงไม่นาน คงกลับเข้ามาได้.......เมื่อถึงวันนั้น”
จากนั้นพี่จ๋าก็ถามไถ่ผู้เขียนว่า หมาอาจารย์สมศักดิ์ตอนนี้ใครดูแล และมีกี่ตัว ผู้เขียนเองก็ตอบไปแบบกึ่งเดาว่า คงอยู่บ้านของอาจารย์ที่ไทย พี่จ๋ารำพึงออกมาว่า “น่าสงสารนะ พี่ก็ยังเอาหมาเข้ามาไม่ได้ แล้วตอนนี้พี่ก็ยังไม่ได้คิดว่า จะอยู่เป็นบ้านหลังหรืออย่างไร” พอพูดมาถึงตรงนี้ ผู้เขียนจึงฉุกคิดได้ว่า ในช่วงเวลาเพียงไม่ถึงสิบปี ชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งต้องเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใด จากคนที่มีสัตว์เลี้ยง ใช้ชีวิตปกติ ดูละครโทรทัศน์อยู่กับบ้าน มาเป็นผู้ชุมนุมที่หิ้วหมาไปอาบแก๊สน้ำตาด้วยกัน จนกระทั่งกลายเป็นผู้ต้องหาคดีทางการเมือง ติดคุก สิ้นเนื้อประดาตัว พลัดพรากกับสัตว์เลี้ยงคู่ใจ
การเมืองปัจจุบัน : “ประชาธิปไตยไม่ได้ใส่กางเกงใน” และ “ความหวังต่อนิสิตนักศึกษา”
ตามประสานักวิจัยทั่วไป ผู้เขียนจำเป็นต้องถามพี่จ๋าว่า ประชาธิปไตยคืออะไร? “ประชาธิปไตยที่ยังไม่ได้ใส่กางเกงใน” คือคำตอบของพี่จ๋า ผู้เขียนต้องให้พี่จ๋าอธิบายขยายความต่อ ได้ความว่ามันคือประชาธิปไตยที่ “เอามาหลอกเค้า” พี่จ๋าบอกว่าตอนนี้เมืองไทยไม่มีประชาธิปไตย “มีแต่เผด็จการ” พร้อมบรรยายต่อว่า:
“เอาทหารมาเดินถือปืน [กลางเมือง] เดินหาโคตรพ่อโคตรแม่มึงหรอ มันใช่สถานที่ที่มึงมาเดินหรอ มึงต้องอยู่ชายแดนกัน ไม่ใช่มาอยู่ในป่าคอนกรีต ฝึกรบ ยิง จับประชาชน เอาไปกระทืบไปฆ่าทิ้ง ส้นตีน ประชาธิปไตยโคตรพ่อโคตรแม่มึง”
“ทหารต้องไม่เข้ามายุ่งการเมือง ต้องไม่รุกราน สส. เพราะ สส.ประชาชนเค้าเลือกมาให้เป็นตัวแทนเค้า ไม่ใช่ให้มึงมาครองอำนาจบาทใหญ่มารังแก”
หลังจากเป็นคนถูกถามมาสักพัก พี่จ๋าก็ถามผู้เขียนบ้างว่า ที่ผ่านมาไปร่วมชุมนุมอะไรกับเขาบ้างหรือไม่ ผู้เขียนไม่ได้มีประวัติการต่อสู้โชกโชนแบบพี่จ๋า จึงตอบกึ่งละอายไปว่า ได้ไปร่วมกิจกรรม “กินลาบ” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมา และล่าสุดวันวาเลนไทน์ก็ได้ไปร่วมกิจกรรม “เลือกตั้งที่ลัก” เมื่อทราบพี่จ๋าจึงฝากให้ผู้เขียนไปบอกเหล่านักกิจกรรมรุ่นใหม่ว่า “เป็นความหวัง”
“เจอเค้าบอกว่า ผู้หญิงยิงฮอ ฝากให้กำลังใจ ฝากให้นักศึกษาออกมา แล้วเราจะยืนเคียงข้างกัน ไม่ต้องกลัวนักศึกษาออกพี่ออกแน่นอน”
อย่างไรก็ตาม พี่จ๋าเสริมภายหลังว่าตนเองอาจจะทำให้น้องๆ เดือดร้อน “ถ้าออกไปร่วม เรามีคดีอะไรงี้ มันทำให้เค้าเดือดร้อนมากขึ้น เพราะพวกเหี้ยนี่ หมาลอบกัด งับแล้วงับอีก”
นอกจากจะไม่ชอบทหารแล้วพี่จ๋ายังต่อว่า “อีพวกผู้ดี ชนชั้นกลางที่เสียผลประโยชน์” ว่าเป็นอุปสรรคขัดขวางประชาธิปไตยอีกด้วย ผู้เขียนจึงขอให้พี่จ๋าขยายความว่าคนกลุ่มนี้คือใคร แล้วพี่จ๋าถือว่าตัวเองเป็นชนชั้นกลางหรือไม่? พี่จ๋าตอบผู้เขียนดังนี้:
“พวกชนชั้นกลาง เค้าจะยกตัวว่าเค้าเป็นผู้ดี แต่พวกเรามันไม่ใช่น่ะ เข้าได้ทุกสถานที่ ติดดิน อย่างไอเหี้ยเสรี วงมณฑาน่ะ กปปส.ทั้งหลาย ม๊อบผู้ดีทั้งหลาย .........อย่างพวกมึง ผู้ดี จุดจบของกูและมึงคือเชิงตะกอนทั้งนั้น ยังไงก็ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน”
“ลมหายใจที่ไม่แพ้” “นักสู้ธุลีดิน”
พี่จ๋าบอกผู้เขียนว่า สโลแกนเสื้อแดงที่ตัวเองชื่นชอบมากที่สุดคือ “ลมหายใจที่ไม่แพ้” ผู้เขียนเชื่อว่า พี่จ๋าไม่คิดว่าตัวเองแพ้แม้กระทั่งลมหายใจสุดท้ายของพี่จ๋า และถ้าหากจะมีเพลงเสื้อแดงไหนที่พี่จ๋าจดจำได้อย่างตรึงใจ พี่จ๋าชอบเพลงของ “พี่จิ้นกรรมาชน” “คนนั้นถ้าเค้าจะแต่งกลอนหรือแต่งเพลง มันจะโดนใจเรา” ไม่ว่าจะเป็นเพลง “เพื่อมวลชน” และ “นักสู้ธุลีดิน” พี่จ๋ารำพึงให้ผู้เขียนฟังว่า “คนเสื้อแดงนี่แม่งนักสู้ธุลีดินจริงๆ ”
สำหรับผู้เขียน พี่จ๋าคือพิราบขาว คือนักสู้นิรนามที่มีไม่สิ้น พี่จ๋าพลีชีวิตในช่วงสิบปีสุดท้ายให้กับสิ่งที่ตัวเองเชื่อ มันเป็นการ “พลีชีพ” ที่ “คุ้ม” แล้ว ผู้เขียนขอชื่นชมและละอายใจยิ่งนักที่ทำได้แค่มอบงานเขียนสั้นๆ นี้เป็นของขวัญส่งพี่จ๋า
เกี่ยวกับผู้เขียน: ดร.กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์ เป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม งานศึกษาวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ กรพินธุ์ ศึกษาเรื่องขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง การต่อสู้ในชีวิตประจำวัน ทางสัญลักษณ์และภาษาของคนเสื้อแดง