วันจันทร์, พฤศจิกายน 19, 2561

แม้ยังไม่ปลดล็อกเลือกตั้ง! แต่ “คนมีสี” กลับเดินสายบีบคอ “อดีต ส.ส.” เข้าสังกัด





ชกหมัดตรง : แม้ยังไม่ปลดล็อกเลือกตั้ง! แต่ “คนมีสี” กลับเดินสายบีบคอ “อดีต ส.ส.” เข้าสังกัด / ที่แปลกใหม่คือมีผู้มีอิทธิพลต้อน “ดาวเด่น” เข้าคอกไปเร่ขายพรรคการเมือง / ด้านปมขัดแย้งใน ปชป. “แตกหัก” ให้จับตาผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 และ 4 สงขลา


18 พ.ย. 2561
โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ตั้งใจมานานพอสมควรว่าจะใช้พื้นที่ “ชกหมัดตรง” เขียนเรื่องราว “แวดวงการเมือง” เมื่อได้เวลาอันสมควร และ ณ เวลานี้ก็ถือว่าการเมืองเข้าสู่ “โหมดเลือกตั้ง” เริ่มที่จะนิ่ง ฝุ่นที่เคยตลบอบอวลเริ่มจะซาลง จนมองเห็นปรากฏการณ์ต่างๆ ในทุกแทบบริบทของการเมืองที่ชัดเจนมากขึ้น จึงคิดว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะนำเสนอเรื่องราวของการเมืองแล้ว อันเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อทุกผู้คน รวมทั้งการเดินไปข้างหน้าของประเทศชาติ ซึ่งแน่นอนว่าเราทุกคนย่อมมีทั้งรักและเกลียด “นักการเมือง” เช่นเดียวกับ “พรรคการเมือง” แต่เราทุกคนต่างก็ถือหุ้นส่วนของประเทศไทยคนละ 1 หุ้นเท่าเทียมกัน ดังนั้น เราจึงได้รับผลกระทบจากเรื่องของการเมืองเท่าๆ กัน

จากการที่จับตาความเคลื่อนไหวสนามการเลือกตั้งภาคใต้มานาน โดยเฉพาะใน 7 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผู้เขียนต้องรับผิดชอบในเรื่องของ “ข่าว” นั้น ได้พบเห็นบริบทอันหลากหลายที่ค่อนข้าง “เลวร้าย” ตั้งแต่เริ่มกระบวนการ “สรรหาผู้สมัคร ส.ส.เขต” ที่มีการใช้ “อิทธิพล” ทั้งในรูปแบบของความเป็น ข้าราชการ นักการเมือง โดยเฉพาะ “คนในเครื่องแบบ” ทั้ง “สีเขียว” และ “สีกากี” ทั้งในรูปลักษณ์ของการ “ข่มขู่” และ “คุกคาม” อดีต ส.ส.เพื่อให้เข้าสังกัดพรรค

โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีหลายพรรคที่ต้องการเข้าไป “ปักธง” ในพื้นที่ จึงเกิดการแย่งชิง ส.ส.จำนวน 11 ที่นั่ง ซึ่งที่ผ่านมามี“พรรคแม่ธรณีบีบมวยผม” หรือ “ปชป.” มีที่นั่งมากที่สุด แต่ในการเลือกตั้งครั้งที่กำลังจะมาถึงนี้มี “บางพรรค” ที่ประกาศตัวว่าจะขอเป็น “ฝ่ายตั้งรัฐบาล” ได้ใช้วิธีการต่างๆ เพื่อให้ได้ “อดีต ส.ส.” ไปลงสมัครในสังกัดพรรคของตนเอง เช่น เดินไป “บีบคอ” อดีต ส.ส.เอาแบบดื้อๆ บ้าง หรือมีการรับรองว่าถ้าลงสมัครในพรรคนี้จะมีการใช้ “เครื่องมือพิเศษ” ที่ทำให้ทั้ง “ผู้นำท้องที่” และ “ผู้นำท้องถิ่น” ช่วยสนับสนุนจนชนะเลือกตั้งได้เป็น ส.ส.แน่นอน

สำหรับสูตรในการใช้งบประมาณของพรรคการเมืองที่มีการนำเสนอต่อผู้ที่จะลงผู้สมัคร ส.ส.คือ 1, 3, 5, 7, 9 ตามสเต็ป ซึ่งเห็นชัดว่านักการเมืองที่หวังจะได้เป็น “ส.ส.เขต” ต้องใช้วงเงินถึง 25-30 ล้านบาทขึ้นไป

ในส่วนของนักการเมืองทั้งที่เป็น “อดีต ส.ส.” หรือที่เป็น “อดีต ส.ต.” และ “ว่าที่ผู้สมัครหน้าใหม่” หลังจากที่มีการ “ปลอดล็อก” ให้เข้าสู่โหมดเลือกตั้งแบบเต็มสตรีม สิ่งที่จะเห็นชัดเจนต่อไปคือ มีการ “เร่ขายตัว” เดินต่อสายไปแทบจะทุกพรรคเพื่อ “ต่อรองราคา” หลายครั้งจึงมีภาพเปลี่ยนพรรคกันอุตลุด ส่วนที่ชอบอ้างกันเกี่ยวกับเรื่อง “อุดมการณ์” กลายเป็นแค่วาทกรรมสร้างภาพ ซึ่งพฤติกรรมของบรรดานักการเมืองที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ถือเป็น “จุดอ่อน” ที่นำไปสู่การ “ล้มเลือกตั้ง” หรือ “เลื่อนเลือกตั้ง” เกิดขึ้นได้

และที่ได้พบเห็นมาอีกบริบทหนึ่งคือ เวลานี้เกิดการ “ขาดแคลนผู้สมัคร ส.ส.เขต” เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ดูจะพิสดารนี้ ซึ่งเขียนโดย “กูรูกฎหมาย” อย่าง “ปู่มีชัย ฤชุพันธุ์” ได้กำหนดให้การเลือกตั้งครั้งนี้มี “บัตรใบเดียว” ในการลงคะแนนทั้ง ส.ส.เขตและ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ถ้าพรรคไหนไม่ส่ง ส.ส.เขตก็จะไม่มีคะแนนให้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ทำให้ทุกพรรคต้องพยายามดิ้นรนส่งผู้สมัครลง ส.ส.เขตให้ครบ จึงทำให้มีพรรคการเมืองเกิดขึ้นมากมาย “ไม่ต่ำกว่า 80 พรรค” วิ่งหาตัวผู้สมัตร ส.ส.เขตกันให้วุ่น

จึงปรากฏภาพหลายพื้นที่มี “ผู้กว้างขวาง” ได้ปฏิบัติการ “ไล่ต้อน” เอาพวก “มีชื่อ” หรือ “พอได้” เข้าไปไว้ในคอก โดยเฉพาะถ้าเป็นบรรดา “นักการเมืองท้องถิ่น” ได้ยิ่งดี จากนั้นจะมีการ “จัดเกรด” ให้ว่าใครควรจะได้ระดับไหนตั้งแต่ “เอ” หรือ “บี” หรือ “ซี” หรือ “อี” แล้วนำไป “เสนอขาย” ให้แก่พรรคการเมืองที่ต้องการผู้สมัคร ส.ส.เขต จนเกิดเป็น “ตลาดการเมือง” ที่มีการต่อรองซื้อ-ขายกันไม่ต่างจากตลาดค้าวัวควาย นี่เป็นเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นในวงการการเมืองเพื่อรองรับการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมาถึง

นอกจากนั้น ช่วงเวลานี้ที่รู้กันว่าแค่ช่วง “กำลังจะปลดล็อกการเลือกตั้ง” ซึ่งก็ยัง “หาเสียง” กันไม่ได้ แต่กลับสามารถมองเห็นถึง “การเมืองศรีธนญชัย” กันได้แบบง่ายๆ มีการใช้ “เล่ห์กล” และ “เหลี่ยมคู” ของพรรคการเมืองหลายพรรคที่ “อิงแอบ” อยู่กับ “อำนาจรัฐ” กลับสามารถเคลื่อนไหวแบบ “หาเสียงแฝง” ได้ด้วยการจัดรูปแบบแคมเปญต่างๆ นานา เช่น ปฏิบัติการ “คารวะปู่ย่าตายาย” แถมหลายพรรคก็เคลื่อนไหวกันอย่างเปิดเผย โดยใช้เงื่อนของการ “หาสมาชิกพรรค” ในขณะที่พรรคที่ประกาศไม่เอา “เผด็จการ” กลับต้องตัวลีบ เพราะถ้าเคลื่อนไหวก็อาจจะมีความผิด และมีโทษฐานถึงยุบพรรคได้

ถ้าเปรียบสนามเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึงนี้เป็น “สนามมวย” ก็ต้องยอมรับว่าเป็น “เวทีมาตรฐาน” เพียงแต่ “กรรมการ” อาจจะมีภาพ “ไม่กลาง” สอดแทรกอยู่ด้วย เพราะดูเหมือนจะเข้าข้างนักมวยของ “โปรโมเตอร์” อย่างถ้านักมวยค่ายสนิทเจ้าของสนามจับคอตีเข่าอีกฝ่ายหนึ่ง กรรมการก็ปล่อยให้ตีโดยไม่แยก แต่ถ้านักมวยฝ่ายตรงกันข้ามแค่จับคอ แม้ยังไม่ทันได้ตีเข่า กรรมการก็จะปรี่เข้าแยกทันที ดีไม่ดีกรรมการยังอาจกระแทกเข่าเป็นของแถมฝากไปให้อีกต่างหาก นี่คือสภาพของการเมืองช่วงก่อนปลดล็อกเลือกตั้ง แล้วถ้า “หลังปลดล็อก” ในอีกไม่กี่วันข้างหน้าจะขนาดไหน

หลายคนโทร.มาถามเรื่อง “วิวาทะ” ระหว่างทั้งผู้นำและพลพรรค “ประชาธิปัตย์” กับ “รวมพลังประชาชาติไทย” ที่คอการเมืองภาคใต้ให้ความสนใจกันมากเป็นพิเศษ ซึ่งเกิดจากการที่ “ถาวร เสนเนียม” อดีต ส.ส.สงขลา ผู้เคยขึ้นถึง อดีต รมช.มหาดไทย ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ได้เปิดบ้านต้อนรับคนกันเองอย่าง “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ผู้เคยเป็นอดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ที่ลาออกแล้วผันตัวเองไปเป็น “เจ้าพ่อนกหวีด” แถมยังให้ “ลุงกำนัน” จัดกิจกรรมพบปะชาวสงขลาเพื่อรับสมัครสมาชิกพรรคพลังประชาชาติไทยสุดท้ายแล้ววิวาทะครั้งนี้จะนำไปสู่ปรากฏการณ์ “พรรคแตก” อีกคราครั้ง เหมือนที่เคยเกิดขึ้นซ้ำๆ ในพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่

นี่ถ้าเป็นพรรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่ “พรรคการเมืองใต้ปีกลุงกำนัน” ที่ประกาศหนุน “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ให้ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูอีก เชื่อว่าการที่ “พรรครวมพลังประชาชาติไทย” ไปใช้สถานที่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เป็นที่หาเสียง และรับสมาชิกพรรค เชื่อว่าต้องเป็นประเด็นของการกระทำที่ “ผิดกฎหมาย” และอาจจะนำไปสู่การ “ถูกยุบพรรค” ก็เป็นได้ แต่เพราะความขัดแย้งครั้งนี้ผู้มีอำนาจไม่ได้ให้ความสนใจแต่อย่างใด

ความจริงแล้วในเรื่องวิวาทะระหว่าง “สุเทพ-ถาวร-อภิสิทธิ์-นิพิฏฐ์” ถือเป็นเรื่องปกติของพรรคแม่ธรณีบีบมวยผม ซึ่งถ้าศึกษาเส้นทางของพรรคนี้จะเห็นว่า “อดีตเลขาธิการ” ของพรรคต่างมี “ชะตากรรม” ไม่ต่างจากที่ลุงกำนันสุเทพ เป็นอยู่ในขณะนี้

ถามว่าความขัดแย้งครั้งนี้จะนำไปสู่การ “แตกหัก” ของกลุ่มก๊วนนักการเมืองในภาคใต้ค่าย ปชป.หรือไม่ คำตอบก็คือ ให้ติดตามข่าวที่ลือกันว่าจะมีการ “เปลี่ยนตัวผู้สมัคร ส.ส.เขต” ในพื้นที่เขต 4 และเขต 1 จังหวัดสงขลา จากเจ้าของตำแหน่งเดิมคือ ถาวร และคนของเขาให้ไปเป็นคนของ “นิพนธ์ บุญญามณี” นายก อบจ.หรือไม่ รวมทั้งต้องติดตามดูผลการสอบสวนข้อเท็จจริงของพรรคว่าจะออกมาในรูปใด และที่สำคัญเรื่องที่เกิดขึ้นให้จับตาว่า “พี่วร” ของน้องๆ ในพรรคประชาธิปัตย์คิดอย่างไร และจะวางเส้นทางการเมืองของตนเองไปในทิศทางไหน

สุดท้ายมีคนถามมามากมายว่า ณ วันนี้พรรคไหนที่มีคนกล่าวขวัญมากที่สุดใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งเวลานี้ก็คงต้องยกให้แก่ “พรรคภูมิใจไทย” ของ “เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล” ที่ดูเหมือนจะ “ใหญ่กว่าช้าง” เพราะเดินไปจังหวัดไหนก็ได้รับเสียงกล่าวขานอื้ออึง แต่เรื่องการเวลานี้มีการประกาศจะยึดตำแหน่ง ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ไปแล้วหลายเขต อย่างที่มีการประกาศ “ปักธง” ไปแล้วก็ที่ จ.พัทลุง กับ จ.สตูล ส่วนในพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่ากันว่ามีการ “กวาดหัวคะแนน” ไปได้มากมายแล้ว ถึงขั้นกลายเป็นพรรคเนื้อหอมที่ผู้คนพูดถึงมากที่สุดด้วยในเวลานี้

แน่นอนยังมีความพิสดารของรัฐธรรมนูญฉบับนี้อีกมากมาย รวมทั้งความเคลื่อนไหวของทั้งพรรคการเมือง และนักการเมืองอีกมากมาย ซึ่งจะได้นำมาบอกเล่าให้ได้รับรู้กันในฐานะที่เราทุกคนเป็น 1 หุ้นส่วนของประเทศไทย อันการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้ เราจึงไม่ควรจะตกเป็นเหยื่อของนักการเมือง และพรรคการเมืองไร้จุดยืน หรือพวกที่ไม่มีจิตวิญญาณของการเป็นนักประชาธิปไตยอีกต่อไป