วันอังคาร, พฤศจิกายน 20, 2561

บทบาทอันสำคัญของ‘ โซเชียลมีเดีย’ ในสมรภูมิรบการเลือกตั้ง 62





เลือกตั้ง 62: ‘โซเชียลมีเดีย’ จะเป็นสมรภูมิรบสำคัญเป็นครั้งแรก


19 พ.ย. 2561
โดย iLaw





วันที่ 18 พฤศจิกายน 2561 Boonmee Lab, Minimore และ The MATTER ร่วมกันเปิดตัวเว็บไซต์ ELECT.in.th สื่อข้อมูลการเมืองการเลือกตั้งไทย ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีการจัดเสวนาในหัวข้อ “เปลี่ยนผลการเลือกตั้งด้วยพลังข้อมูล” โดยมีนักวิชาการสามคนร่วมพูดคุยในประเด็นคำถามใหญ่ว่า โลกอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย และฐานข้อมูลการเลือกตั้งจะส่งผลต่อการเลือกตั้งปี 2562 อย่างไร และพรรคการเมืองกับประชาชนจะใช้ประโยชน์จากเครื่องมือเหล่านี้อย่างไรได้บ้าง

ปี 2562 การเลือกตั้งยุคโซเชียลมีเดียครั้งแรกของไทย

ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นต้นปี 2562 จะเจอกับการใช้สื่อรูปแบบใหม่จากทั้งพรรคการเมืองและประชาชน ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จะตามสถานการณ์ได้ช้าที่สุด

ผศ.ดร.ประจักษ์ เชื่อว่า เนื่องจากเราว้างเว้นการเลือกตั้งมา 7 ปี การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการเลือกตั้งที่มีการใช้โซเชียลมีเดียเต็มที่เป็นครั้งแรกของเมืองไทยหรือ “The first social media election” โดยโซเชียลมีเดียจะเข้ามามีบทบาทกระจายข่าวสาร รณรงค์แคมเปญ กำหนดวาระและประเด็นสำคัญทางการเมือง และเป็นช่องทางใหม่ในการรับรู้ข้อมูลการเลือกตั้ง

ปรากฎการณ์เช่นนี้เคยเกิดขี้นในต่างประเทศมาแล้ว เช่น ในประเทศมาเลเซีย การเลือกตั้งในปี 2556 พรรคฝ่ายค้านใช้โซเชียลมีเดียทำให้คะแนนตามมาจ่อพรรครัฐบาลจนเกือบจะชนะอยู่แล้ว ถ้ารัฐบาลไม่ได้โกงการเลือกตั้งด้วยระบบการเลือกตั้งและการแบ่งเขตเลือกตั้ง พอเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง นาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ถึงกับออกมาพูดเลยว่า เขาพบกับ ‘อินเทอร์เน็ตสึนามิ’ ส่งผลให้นักการเมืองมาเลเซียต้องปรับตัวมีเฟสบุ๊คและทวิตเตอร์เพื่อสื่อสารกับประชาชน แต่ในที่สุด พรรคฝ่ายค้านก็ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งปี 2561

ในประเทศอินโดนิเซีย การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดในปี 2557 ‘โจโกวี’ หรือ โจโก วีโดโด ซึ่งเป็น ‘ม้ามืด’ ก็มีทีมโซเชียลมีเดียที่มีประสิทธิภาพมากจนทำให้ชนะการเลือกตั้ง ยังไม่พูดถึงปรากฎการณ์การลงประชามติออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรหรือ ‘เบร็กซิต’ ในประเทศอังกฤษ หรือชัยชนะของทรัมป์ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในประเทศสหรัฐอเมริกา

สำหรับประเทศไทย ถึงแม้โซเชียลมีเดีย เช่น เฟสบุ๊ค และทวิตเตอร์จะเข้ามาในเมืองไทยตั้งแต่ปี 2548-2549 แต่การเลือกตั้งในปี 2554 โซเชียลมีเดียยังไม่ถูกใช้มากนัก เราเห็นนักการเมืองนับคนได้ที่ใช้เฟสบุ๊คในการหาเสียงอย่างจริงจัง แต่ตอนนี้โลกโซเชียลมีเดียได้มาถึงจุดพีคแล้ว ซึ่งเราจะเห็นสมรภูมิสื่อใหม่เป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งในปี 2562

ชาวโซเชียลจะทำหน้าที่ให้ความรู้กันเองเรื่องเลือกตั้ง ไม่ง้อกกต.

ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวต่อว่า พรรคการเมืองและนักการเมืองจะได้ประโยชน์ คือ เขาจะมีทางเลือกในการใช้สื่อมากขึ้น เพราะสื่อหลัก เช่น หนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ถูกครอบครองโดยรัฐและถูกเซ็นเซอร์ได้ง่าย แต่โลกโซเชียลไม่มีใครเป็นเจ้าของหลัก นักการเมืองสามารถสื่อสารกับประชาชนได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านตัวกลาง ทำให้การเลือกตั้งเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

ฝั่งประชาชนเองก็สามารถใช้โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่เรียนรู้เรื่องการเลือกตั้งกันเอง หรือ “Voter education by the people” ก่อนหน้านี้หน้าที่การให้ความรู้เรื่องการเลือกตั้งแก่ประชาชนเป็นหน้าที่ของกกต. เท่านั้น แต่การมีเว็บไซต์และช่องทางใหม่ๆ ทำให้ประชาชนสามารถให้ความรู้กันเองได้โดยไม่ต้องรอหน่วยงานภาครัฐ

“ถึงทุกวันนี้ ผมให้กกต. สอบตก หลายคนยังสับสนอยู่เลยว่าบัตรใบเดียวเป็นยังไง แล้วนับคะแนนยังไง รวมถึงการเลือกนายกฯ เลือกยังไง คนไทยก็ยังไม่เข้าใจ ซึ่งถือว่ากกต. ล้มเหลว”

นอกจากนี้ ผศ.ดร.ประจักษ์ ยังกังวลว่า กกต. ในฐานะผู้ควบคุมการเลือกตั้ง (regulator) จะไม่เข้าใจพื้นที่โซเชียลมีเดีย แล้วออกระเบียบมาควบคุมการสื่อสารและการใช้โซเชียลมีเดีย เพราะหลายเรื่องยังไม่เคยมีระเบียบออกมาก่อน เช่น กฎห้ามเผยแพร่ผลโพลก่อนเลือกตั้ง 7 วัน แต่ถ้าวัยรุ่นในทวิตเตอร์แชร์ผลโพลในช่วงนั้นจะได้ไหม หรือจะห้ามใช้โซเชียลมีเดียในการหาเสียงถึงกี่โมง


อ่านบทความเต็มต่อได้ที่...

https://ilaw.or.th/node/5024

ooo