วันพุธ, พฤศจิกายน 21, 2561

อยากรู้พรรคทักษิณชนะเลือกตั้งในรอบ 20 ปีได้อย่างไร ภายใต้กติกาที่พวกเขาไม่ได้ร่าง อ่าน บีบีซีไทย - พรรคทักษิณ : ย้อนเกมต่อสู้ในรอบ 20 ปี หนี “กับดัก” รัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ



WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI


พรรคทักษิณ : ย้อนเกมต่อสู้ในรอบ 20 ปี หนี “กับดัก” รัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ


โดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย


ภายหลังนักเลือกตั้งในขั้วอำนาจเก่าชี้ว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 คือ "กับดัก" ของพรรคเสียงข้างมาก ย้อนสำรวจวิธีต่อสู้ของพรรคทักษิณในรอบ 20 ปีว่าพวกเขาออกจาก "กับดัก" ได้อย่างไร

หากวรรคทองที่ว่า "รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์ (ออกแบบ) มาเพื่อพวกเรา" ซึ่งหลุดจากปาก สมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่ม "สามมิตร" คือคำอธิบายปรากฏการณ์นักการเมืองระดับชาติและท้องถิ่นราว 60 ชีวิต ตบเท้า-เข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เมื่อ 18 พ.ย.

ยุทธศาสตร์ "แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย" ของพรรคเครือข่าย ทักษิณ ชินวัตร ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างแจ่มชัด ก็ถูกแจกแจงโดย ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตรัฐมนตรี "ดาวแดง" สังกัดเพื่อไทย (พท.) ผู้ตัดสินใจลาออก-ย้ายไปสังกัดพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เมื่อ 19 พ.ย. ว่า "กติกานี้ไม่ได้ออกแบบมาไว้เพื่อพวกเรา พวกเราจึงต้องออกแบบการต่อสู้ของเราเองเพื่อเอาชนะการสืบทอดอำนาจเผด็จการโดยสันติ"

แม้นักเลือกตั้งต่างขั้วอำนาจกำลังพูดถึงเรื่องเดียวกัน นั่นคือ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งนำระบบการเลือกตั้งแบบ "จัดสรรปันส่วนผสม" มาใช้เป็นครั้งแรก ทว่าในสายตาของพรรครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นว่านี่คือ "โอกาส" ส่วนพรรคขั้วอำนาจเก่ามองเป็น "กับดัก" สกัดกั้นพรรคฝ่ายประชาธิปไตย และเป็นอีกครั้งที่พรรค-พวกทักษิณต้องลงสู่สนามเลือกตั้งภายใต้กติกาที่พวกเขาไม่ได้เลือก



บีบีซีไทยย้อนสำรวจเกมต่อสู้ในรอบ 20 ปีของ "พรรคทักษิณ" เพื่อแก้โจทย์-หนีกับดักในรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ เริ่มตั้งแต่ยุค "สร้างการเมืองใหม่" ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 สู่ยุค "ชนะเลือกตั้ง แต่ปกครองไม่ได้" ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และยุค "ล็อกชื่อนายกฯ เดิม" ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560

รธน. 2540 : ทักษิณแจ้งเกิดเพราะปาร์ตี้ลิสต์ ดับเพราะ "เผด็จการรัฐสภา"

พรรคไทยรักไทย (ทรท.) คือพรรคการเมืองแรกที่เกิดขึ้นใน "กระแสปฏิรูป" ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ท่ามกลางวิกฤตศรัทธาที่เกิดขึ้นกับนักการเมืองหน้าเก่า-ทุนภูธร จากปัญหารัฐบาลผสมที่อ่อนแอ เกิดการทุจริตอย่างกว้างขวาง และขาดองค์ความรู้ในการบริหารเศรษฐกิจและพาประเทศออกจากวิกฤต "ต้มยำกุ้ง" ทักษิณกับพวกเห็นโอกาสในการสร้างภาพลักษณ์ "พรรคสมัยใหม่" ภายใต้กติกาใหม่ที่ให้ประชาชนเลือก "พรรคที่ชอบ" ผ่านการมี ส.ส. บัญชีรายชื่อ เป็นครั้งแรก



LIGHTROCKET VIA GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพทักษิณ ชินวัตร เปิดปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งปี 2544 ที่บ้านเกิดใน จ. เชียงใหม่ โดยขอประชาชนเป็น "นายกฯ ชาวเหนือ"


เขานำแนวคิดภาคธุรกิจมาปรับใช้ในการขับเคลื่อนงานการเมือง อาทิ การจัดทำชุดนโยบายแปลก-ใหม่-จับต้องได้เพื่อให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม การจัดโครงสร้างคณะกรรมการบริหารพรรคแบบบริษัท นอกจากนี้ยังใช้ "ทุน" ผลักดันเป้าหมายทางการเมืองด้วยการ "ดูด-ดึง" ส.ส. เข้าสังกัด แม้พรรคคู่แข่งวิจารณ์ว่าเป็นการ "ตกเขียว ส.ส." แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ทักษิณสนใจ เขายังนำพรรคลงสู่สนามเลือกตั้งภายใต้ยุทธศาสตร์ "2 ขา" ผสมผสานระหว่างนักการเมืองหน้าใหม่กับเก่า

ผลคือ ทรท. ซึ่งมีอายุไม่ถึง 3 ปี กำชัยชนะในการเลือกตั้งปี 2544 ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ส่ง "นักธุรกิจหมื่นล้าน" ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของไทย

ประวัติศาสตร์หน้าต่อไปที่ทักษิณเขียนคือเป็นรัฐบาลที่อยู่ในวาระครบเทอม แต่ในระหว่างทาง หัวหน้า ทรท. ได้กวาดต้อนเอาพรรคเล็กพรรคน้อยมาควบรวมไว้ในสังกัดอย่างต่อเนื่อง ก่อนการเลือกตั้งปี 2548 จึงเหลือพรรคการเมืองในสภาฯ เพียง 4 พรรค ขณะที่ ทรท. มียอด ส.ส. ในสังกัดถึง 320 คน

ด้วยจุดแข็งในพื้นที่ของผู้แทนฯ กระแสนิยมในตัวผู้นำ และนโยบายประชานิยมที่ประชาชนจับต้องได้ ทำให้ ทรท. ชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย 377 เสียง จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์


AFP/GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพทักษิณ ชินวัตร ได้รับเลือกจากสภาฯ ให้เป็นนายกฯ สมัยที่ 2 โดย สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เลขาธิการ ทรท. และสมาชิกพรรค แสดงความยินดี


ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์หมายเลข 1 ของ ทรท. ที่ชื่อทักษิณ มีเสียงประชาชน 19 ล้านเสียงยืนเป็นหลังพิง ทำให้ความมั่นใจในตัวเองล้นเกิน

สิ่งที่ตามมาคือ ทักษิณกับพวกละเลย-ละเมิดรัฐธรรมนูญบางมาตรา มีความพยายามแทรกซึมองค์กรอิสระ ขณะที่กลไกฝ่ายนิติบัญญัติก็ไม่สามารถตรวจสอบฝ่ายบริหารได้ กลายเป็นที่มาของวาทกรรม "เผด็จการรัฐสภา"

การกระทำของทักษิณถูกตั้งข้อสังเกตว่าไม่ได้ทำให้การเมืองมี "2 ขั้ว" ตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญปี 2540 แต่จงใจรวบเหลือ "ขั้วเดียว" แต่ท้ายที่สุดพรรค-พวกทักษิณก็ถูกสลายขั้วชั่วคราวด้วยรัฐประหารปี 2549 และตามด้วยการยุบพรรคและตัดสิทธิคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) 111 คน ในอีก 1 ปีหลังจากนั้น

รัฐธรรมนูญปี 2540 (336 มาตรา)


  • ใช้ระบบเลือกตั้งใหม่ มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบเลือก ส.ส. เขตเดียวเบอร์เดียว 400 คน และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 100 คน
  • ส่งเสริมพรรคเข้มแข็ง เช่น ให้ สฺ.ส. สังกัดพรรค 90 วันก่อนเลือกตั้ง, ให้อำนาจพรรคขับ ส.ส. ได้
  • ให้นายกฯ มาจาก ส.ส.
  • สร้างภาวะผู้นำให้นายกฯ เช่น อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ใช้เสียง 2/5 ของสภาฯ อภิปรายไม่ไว้วางใจ ครม. ใช้เสียง 1/5 ของสภาฯ
  • ให้ ครม. ยื่นและเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน
  • ให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง 200 คน
  • เกิดองค์กรอิสระ

รธน. 2550 : เงาทักษิณทำชนะเลือกตั้ง 2 สมัยซ้อน

รัฐธรรมนูญ 2550 ถูกออกแบบด้วยความกลัว "เสียงข้างมากแบบทักษิณ" โดยได้ถอดระบบ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ออกแล้วแทนที่ด้วย ส.ส. แบบสัดส่วน 8 บัญชี ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่าปาร์ตี้ลิสต์กลายเป็นช่องทางของนายทุน ทำให้เกิด "พรรคนายทุน" มากกว่า "พรรคมหาชน" นอกจากนี้ยังถูกแอบอ้างเป็นฐานที่มานายกฯ ในลักษณะประมุขประเทศ ซึ่ง จรัญ ภักดีธนากุล กมธ. ยกร่างฯ เรียกว่าเป็น "ประธานาธิบดีแบบลับ ๆ"

การจัดรูปองค์กรใหม่ของพลพรรคทักษิณเป็นไปเพื่อรับมือกับรัฐธรรมนูญใหม่ หลังยกอดีต ส.ส. ทรท. 270 ชีวิตเข้าไปสวมในพรรคพลังประชาชน (พปช.) แต่ กก.บห. หดเหลือเพียง 37 คน มี สมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งเขาประกาศตัวว่าเป็น "นอมินีทักษิณ"


GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพสมัคร สุนทรเวช ผู้มีความจงรักภักดีสูง เข้ามาล้างข้อครหา "ไม่จงรักภักดี" ให้แก่ทักษิณ โดยเขากลายเป็นนายกฯ คนที่ 25 หลังนำพรรคพลังประชาชนคว้าชัยชนะเลือกตั้งเมื่อปี 2550


ยุทธศาสตร์หาเสียงเลือกตั้งปี 2550 เน้นตอกย้ำความสำเร็จของนโยบายประชานิยมผ่านสโลแกน "ทุกนโยบาย สำเร็จได้ ด้วยพลังประชาชน" แต่ภาพลักษณ์ผู้นำเปลี่ยนไปขาย "ผู้นำคู่" ผ่านม็อตโต้ "ชอบสมัคร รักทักษิณ เลือกเบอร์ 12" เพื่อให้ได้ชัยชนะเฉพาะหน้าเนื่องจากต่างคนต่างมีแฟนคลับ แต่ไม่ลืมกำหนดยุทธศาสตร์การเมืองระยะยาวควบคู่ด้วยการกระซิบชาวบ้าน "เลือกพลังประชาชน เอาทักษิณกลับบ้าน"

ผลคือ พปช. ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนน 14 ล้านเสียง กวาด ส.ส. เข้าสภา 233 คน สร้างประวัติศาสตร์อีกหน้าด้วยการกลับมาครองอำนาจทันทีทั้งที่เพิ่งถูกรัฐประหาร ก่อนจัดตั้งรัฐบาลผสม 315 เสียงได้

ภารกิจอันดับแรก ๆ ที่รัฐบาลสมัครทำคือประกาศ "รื้อกติกาสูงสุด" เพื่อปลดล็อค "กับดักรัฐธรรมนูญ" แต่ยังไม่ทันสำเร็จ อายุของรัฐบาลสมัครสิ้นสุดลง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ให้สมัครขาดคุณสมบัติการเป็นนายกฯ จากกรณีจัดรายการ "คดีชิมไปบ่นไป"

พรรคทักษิณหันไปเชิด สมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยทักษิณ ขึ้นเป็นนายกฯ คนใหม่ แต่ทำหน้าที่ได้เพียง 3 เดือนก็มีอันเป็นไปทางการเมือง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ให้ยุบ พปช. และตัดสิทธิการเมือง กก.บห. จนนำไปสู่การพลิกขั้วการเมืองได้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกฯ คนใหม่

อีกครั้งที่พลพรรคทักษิณต้องยกทีม-ย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อไทย (พท.) แต่ชื่อ-ชั้นของ กก.บห. เป็นลักษณะ "โนเนม" มากขึ้นเพื่อป้องกันถูกยุบพรรครอบ 3


AFP/GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เปิดตัวเป็นผู้สมัคร ส.ส. แบบัญชีรายชื่อ พท. เพียง 49 วันก็ขึ้นสู่การเป็นนายกฯ หญิงคนแรกของไทย


ยุทธศาสตร์หาเสียงเลือกตั้งปี 2554 ยังเน้นตอกย้ำความเป็น "ต้นตำรับประชานิยมเจ้าแรก" ผ่านสโลแกน "ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ" พร้อมตอกย้ำแบรนด์ "ชินวัตร" ด้วยการชู ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็น "โคลนนิ่งทักษิณ" จึงกำชัยชนะในการเลือกตั้ง ด้วยคะแนน 15.7 ล้านเสียง ขน ส.ส. เข้าสภา 265 คน

แต่การบริหารประเทศไม่ง่าย รัฐบาล "นายกฯ ผู้น้อง" ต้องเผชิญ "ปัจจัยแทรกซ้อน" จากรัฐธรรมนูญ 2550 ต่อเนื่อง ร่วมด้วยการบริหารการเมืองผิดพลาดจากการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสภาฯ จนนำตัวเองเข้าสู่กับดัก มีการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ก่อนจบลงด้วยรัฐประหารปี 2557

รัฐธรมนูญฉบับปี 2550 (309 มาตรา)

  • ใช้ระบบเลือกตั้งเดิม มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่ปรับรูปแบบเป็น ส.ส. เขตใหญ่เรียงเบอร์ 400 คน และ ส.ส. สัดส่วน 8 โซน 80 คน
  • ลดทอนภาวะผู้นำ เช่น อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ใช้เสียง 1/5 ของสภาฯ อภิปราย ครม. ใช้เสียง 1/6 ของสภาฯ
  • ให้ ส.ส. มีอิสระในการอภิปรายและลงมติ
  • ห้ามควบรวมพรรคในระหว่างอายุสภาฯ
  • ให้ยุบพรรคง่าย
  • ให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง 76 คน และสรรหา 74 คน
  • เพิ่มอำนาจให้องค์กรอิสระ

รธน. 2560 : พรรคทักษิณ "แตกแบงก์ย่อย" เก็บทุกแต้ม

หากการเลือกตั้งหลังรัฐประหารปี 2549 เกิดขึ้นภายใต้ความคิดของนายพลคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่ว่าจะป้องกันการใช้อำนาจของพรรคทักษิณอย่างไร มาถึงการเลือกตั้งปี 2562 แกนนำ พท. ประเมินว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญภายใต้การกำกับของ คสช. คิดไปไกลถึงขั้น "วางรัฐบาลของตัวเอง"

ภายใต้ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ได้ปิดทางไม่ให้พรรคหนึ่งพรรคใดครองเสียงในสภา หรือมี ส.ส. มากกว่า 250 คน จึงกำหนดสูตรคำนวณยอด "ส.ส. ที่พึงมี" ให้แต่ละพรรค ซึ่งแกนนำ พท. ประเมินว่าหากแม้พวกเขาชนะการเลือกตั้ง ส.ส. เขต ก็อาจไม่ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว กลายเป็นที่มาของยุทธศาสตร์ "แยกกันเดิน ร่วมกันตี"


WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI


เบื้องต้นกำหนดให้อดีต ส.ส. เขตเกรดเอในภาคเหนือและภาคอีสาน อยู่ในสังกัด พท. ส่วนอดีตผู้สมัครเกรดบีไปเก็บคะแนนที่เคยเป็น "เสียงตกน้ำ" ในภาคใต้ กลาง และตะวันออก กลับมาให้พรรคพันธมิตรใกล้ชิดอย่าง ทษช.

นอกจากนี้รัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ยังขยายอำนาจให้ ส.ว. ร่วมกับ ส.ส. ในการเลือกนายกฯ เป็นผลให้ จาตุรนต์ ฉายแสง คนการเมืองที่อยู่ใต้สังกัดพรรคทักษิณมากว่า 17 ปี เคยมีสถานะรักษาการหัวหน้า ทรท. ประกาศเป้าหมายว่าพรรคฝ่ายประชาธิปไตยต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาฯ หรือ 251 เสียง เพื่อหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจเผด็จการ หลังตัดสินใจยกตระกูล "ฉายแสง" ย้ายไปสังกัด ทษช.

วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ด้านกฎหมายของรัฐบาล คสช. ชี้ว่า การแตกพรรคไม่มีกฎหมายไหนระบุว่าผิด แต่อย่าให้ใครมาครอบงำ เพราะถือว่ามีความผิด

ถึงขณะนี้ยังไม่อาจคาดเดาว่ายุทธศาสตร์ "แตกแบงก์ย่อย" ของพรรคทักษิณจะทำให้พวกเขาพบทางชนะหรือไม่ แต่การออกแบบวิธีเล่นการเมืองเช่นนี้เป๋นสิ่งที่แม้แต่ผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญก็ยังยอมรับว่า "คิดไม่ถึง"

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 (279 มาตรา)
ใช้ระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสมเป็นครั้งแรก แต่มีบัตรเลือกตั้งใบเดียวให้ประชาชนเลือก ส.ส. เขตเดียวเบอร์เดียว 350 คน แต่นำทุกคะแนนเสียงไปคิดเป็นจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ 150 คน
ครม. ชุดใหม่ต้องจัดทำนโยบายที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีซึ่งวางกรอบโดย คสช.
ลดทอนอำนาจสภาล่าง โดยให้ ส.ว. ร่วมกับ ส.ส. เลือกนายกฯ
ให้ ส.ว. เฉพาะกาล 5 ปีแรกมาจากการสรรหาโดย คสช. 250 คน
เพิ่มอำนาจให้องค์กรอิสระจัดทำประมวลจริยธรรมนักการเมือง