วันพุธ, พฤศจิกายน 28, 2561

เวทีสิทธิมนุษยชนอีสานเห็นพ้องชาวอีสานและคนไทยถูกรัฐละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนักหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 “การรัฐประหารประสบความสำเร็จในการทวงคืนอำนาจ จากขบวนการประชาชนที่เติบใหญ่ในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา"





อีสานถูกละเมิดสิทธิจากรัฐและทุนต่อเนื่องหลังรัฐประหาร


26/11/2018
THE ISAAN RECORD


ขอนแก่น – เวทีสิทธิมนุษยชนอีสานเห็นพ้องชาวอีสานและคนไทยถูกรัฐละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนักหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ผ่านโครงการพัฒนาที่ลงมาในพื้นที่โดยปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ขณะที่การพัฒนาเมืองขอนแก่นกลายเป็นดาบสองคมที่ส่งผลเสียต่อคนจนที่จะต้องถูกเบียดขับออกไปเนื่องจากที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าที่กำลังเกิดขึ้นมีราคาแพง

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 ที่ห้องประชุม 3 อาคาร HO 05 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น ร่วมกับเดอะอีสานเรคคอร์ด และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน จัดเทศกาลสิทธิมนุษยชนอีสาน ครั้งที่ 9 โดยมีผู้เข้าร่วมงาน ประกอบด้วย นักศึกษา ม.ขอนแก่น ชาวบ้านจากชุมชนต่างๆ ในภาคอีสาน และบุคคลทั่วไป เข้าร่วมกว่า 300 คน

ช่วงเช้า นิรันดร์ พิทักษ์ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ปาฐกถาเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิคนหรือสิทธิใคร ว่า หลังการรัฐประหาร เมื่อปี 2557 กฎหมายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ล้วนมาจากกระบวนปืน นี่คือลักษณะของสังคมไทยที่ยังผิดเพี้ยน การกระทำต่างๆ ของผู้นำประเทศเวลานี้อ้างว่าทำตามกฎหมาย แต่ไม่มีการคำนึงว่ากฎหมาย (รวมถึงคำสั่งคณะรัฐประหาร และรัฐธรรมนูญ มาตรา 44) เป็นผลพวงของการรัฐประหาร

“ตรงนี้คือสิ่งที่สังคมไทยยังไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลง ตรงนี้คือสิ่งที่มีปัญหา เพราะว่ามีกฎหมายที่ไม่เกิดความชอบธรรม” นิรันดร์กล่าวและว่า กฎหมายที่เกิดขึ้นล้วนแต่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน อาทิ มาตราการทวงคืนผืนป่า การประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ การประกาศยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมือง และการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทหารเป็นเจ้าพนักงานและผู้ช่วยเจ้าพนักงานที่มีอำนาจบังคับและปราบปราม

อดีตกรรมการกสม. ผู้นี้ ระบุว่า ไม่สามารถปฏิเสธความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมได้ แต่เมื่อเกิดความขัดแย้งต้องใช้ความมั่นคงของประชาชนทั่วไป (คนเล็กคนน้อย) เป็นที่ตั้ง แต่การใช้อำนาจของรัฐบาลเผด็จการกระทบต่อหลักสิทธิมนุษยชนซึ่งทำให้เกิดปัญหา ต่อผู้ที่คิดเห็นแตกต่างและหลากหลาย ใน 6 ประการ ได้แก่ ทรัพยากรธรมชาติ/สิ่งแวดล้อม การเมือง สุขภาพ การศึกษา เกษตกร ความยากจน/ความเหลื่อมล้ำ

“รัฐใดที่ไม่ยอมรับคุณค่าสิทธิมนุษยชน ย่อมเป็นรัฐที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย ย่อมเป็นรัฐที่ต่อต้านประชาชน ทำร้ายประชาชน และทำร้านสังคม” นิรันดร์กล่าวทิ้งท้ายถึงบทสรุปของสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตั้งแต่ปี 2557 – ปัจจุบัน



ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี กล่าวว่า รัฐบาลในปัจจุบันพยายามทำให้ประชาชนมีสภาพคล้ายเป็นมนุษย์จักรกลที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ


วงเสวนาสิทธิคนตัวเล็กตัวน้อยที่ยืนไหวคลอน ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี เริ่มต้นด้วยการฉายภาพมนุษย์จักรกลแล้วระบุว่า รัฐพยายามทำให้ประชาชนมีสภาพคล้ายเป็นมนุษย์จักรกลที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ ซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างจากการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครอง รัฐมีกลไกควบคุมประชาชนทำให้โครงการสร้างสังคมที่อยุติธรรมคงอยู่ต่อไป

“การรัฐประหารประสบความสำเร็จในการทวงคืนอำนาจ จากขบวนการประชาชนที่เติบใหญ่ในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา โดยขณะนี้รัฐใช้มาตราการเข้มข้นในการควบคุมสังคม” ฐิติพลบอกและว่า ขณะนี้คนกลุ่มหนึ่งในสังคมสนับสนุนอำนาจที่ไม่ชอบธรรม ส่งผลให้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมมีอำนาจมากยิ่งขึ้น



ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชาคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า โครงการไฟฟ้ารางเบาที่จังหวัดขอนแก่นมีสิ่งหนึ่งที่ไม่ถูกคำนึงถึงคือคนซึ่งอาศัยอยู่บริเวณแนวรถไฟฟ้าที่จะต้องถูกไล่ที่จากการพัฒาเมืองขอนแก่น


ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การเตรียมสร้างโครงการไฟฟ้ารางเบาที่จังหวัดขอนแก่นมีสิ่งหนึ่งที่ไม่ถูกคำนึงถึงคือคนซึ่งอาศัยอยู่บริเวณแนวรถไฟฟ้าที่จะต้องถูกไล่ที่จากการพัฒาเมืองขอนแก่น เพราะการที่มีรถไฟฟ้าจะทำให้ที่ดินบริเวณดังกล่าวมีราคาแพงขึ้น

“พวกเขา (คนซึ่งอาศัยอยู่บริเวณแนวรถไฟฟ้า) ไม่เคยถูกถาม ไม่เคยถูกนับว่าเป็นประชากร และไม่มีใครสนใจว่าเขาจะไปอาศัยอยู่ที่ไหน” บุญเลิศกล่าว



ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.มหาสารคาม กล่าวว่า ปัจจุบันอำนาจรัฐมีมากขึ้น ข้าราชการมีอำนาจมากขึ้นกว่าคนทั่วไป (คนตัวเล็กตัวน้อย) ทำให้คนเหล่านี้ ไม่มีอำนาจในการต่อรองกับอำนาจรัฐ


อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยาผู้นี้ กล่วอีกว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนดสิทธิเอาไว้หลายประการ แต่สิทธิที่ไม่เคยถูกตระหนักคือสิทธิในที่อยู่อาศัย สิทธิในที่อยู่อาศัยไม่ถูกนำมาใช้สำหรับคนจน ตรงข้ามกับคนที่มีฐานะซึ่งสิทธิเสียงของพวกเขามักจะมีผู้รับฟังอยู่เสมอ

ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์คณะสาขาวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดเผยว่า สถานการณ์ปัจจุบันส่งผล 2 ประการ คือ ประการแรก อำนาจรัฐมีมากขึ้น ข้าราชการมีอำนาจมากขึ้น คนทั่วไป (คนตัวเล็กตัวน้อย) ไม่มีอำนาจในการต่อรอง ผลที่ตามมาคือมีการใช้อำนาจรัฐบังคับประชาชนให้ออกจากที่ดินทำกิน ประการต่อมา รัฐเผด็จการเป็นรัฐที่เอื้อต่อการพัฒนาในกระแสเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ (ทุนเคลื่อนไหวข้ามพรมแดน) มากที่สุด เช่น การเกิดขึ้นของโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งหากมีใครขัดขวางโครงการพัฒนาภาครัฐก็จะถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายการชุมนุมในที่สาธารณะ และกฎหมายคอมพิวเตอร์

“การใช้กฎหมายดังกล่าวเป็น SLAPP (Strategic Lawsuit Against Public Participation – SLAPP หรือ การใช้กฎหมายเพื่อยุติการมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะโดยไม่หวังผลในทางคดี) ขณะนี้ทุนนิยมที่เข้ามาในภาคอีสานเต็มไปด้วยทุนข้ามชาติ เนื่องจากภายใต้พื้นดินอีสาน มีทรัพยากรที่สำคัญ คือ ปิโตรเลียม ทองคำ และโปแตช” ไชยณรงค์กล่าว

อาจารย์คณะสาขาวิชาการพัฒนาชุมชนผู้นี้ยังเรียกร้องให้คนทั่วไปอย่ายอมจำนวนต่อสถานการณ์การพัฒนาที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน สำนึกของคนตัวเล็กตัวน้อยควรก้าวข้ามปัญหาความขัดแย้งของตัวเอง แล้วร่วมกับคนกลุ่มอื่นๆ อาทิ คนจนเมือง คนที่มีปัญหาป่าไม้และที่ดิน คนที่มีปัญหาจากการสร้างเหมืองแร่ ควรร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ในขณะที่คนอีสานควรก้าวข้ามปัญหาของตัวเองแล้วสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายประชาภาคอื่นๆ แล้วจัดทำเครือข่ายของคนทั่วประเทศแบบหลวมๆ

ช่วงบ่ายมีเวทีสิทธิมนุษยชนในโลกกว้าง มุมมองอิสระ ซึ่งผู้พูดได้แก่เอกอัครราชทูต และเจ้าหน้าที่การทูต จากสถานเอกอัครทูตต่างๆ ที่ประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ อาทิ สวีเดน และเนเธอแลนด์ โดยก่อนจะเริ่มงานมีการยืนสงบนิ่งเพื่อรำลึกถึง นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน นักกิจกรรมสังคม ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานหมิ่นเบื้องสูง และถูกคุมขังเป็นเวลาเกือบสองปีแล้ว

ช่วงสุดท้ายคือ สิทธิชุมชนกับการพัฒนาอีสานอย่างยั่งยืน ซึ่งมีการแบ่งเวทีย่อยออกเป็น 2 ส่วน นายณัฐวุฒิ กรมภักดี สมาชิกกลุ่มพลเมืองรุ่นใหม่ กล่าวในเวทีการพัฒนาเมืองและโครงสร้างพื้นฐานว่า อำนาจในการพัฒนาเมืองขอนแก่นเกิดจากอำนาจจากส่วนกลางในสมัยรัฐจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อปัญหารถติดในปัจจุบัน เนื่องจากมีการวางผังเมืองขอนแก่นเลียนแบบนครชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมทำให้มีสี่แยกจำนวนมาก ทั้งพื้นที่ของเมืองขอนแก่นมีขนาดเล็กกว่านครชิคาโก

ณัฐวุฒิกล่าวด้วยว่า ที่ดินของจังหวัดขอนแก่นกระจุกตัวที่คนกลุ่มน้อยส่งผลต่อการจัดทำผังเมือง อีกทั้งกฎหมายก็ไม่ได้กำกับควบคุมให้คนรวยและคนจนเข้าถึงที่ดินได้อย่างเท่าเทียมกัน ทำให้ที่ดินมีราคาสูง

“โครงการขอนแก่นสมาร์ทซิตี้เป็นโครงการที่เน้นการพัฒนาเมืองด้านระบบขนส่งมวลชน แต่ไม่ได้ทำให้คนจนเข้าถึงระบบขนส่ง แต่ทำให้คนจนถูกเบียดขับออกไปอยู่ชานเมือง เพราะที่ดินบริเวณทางรถไฟฟ้ามีราคา” ณัฐวุฒิกล่าวและว่า โครงการขอนแก่นสมาร์ทซิตี้ไม่ควรมุ่งเน้นเพียงแค่การขนส่งระบบราง แต่ควรมุ่งเน้นไปที่หลักประกันทางสังคมขั้นพื้นฐานของคนจนที่จะเข้าถึงการใช้บริการสาธารณะในเมืองขอนแก่น