คณิตศาสตร์ของระบบเลือกตั้งและข้อเท็จจริงในการเมืองไทย
ข้อแนะนำในการอ่าน : โปรดถอดพรรคที่ท่านเชียร์ออกมาแขวนไว้ชั่วคราวก่อน
ภาพประกอบ เพื่อแสดงการคำนวณที่นั่ง ไม่ได้สะท้อนคะแนนที่แต่ละพรรคจะได้ในการเลือกตั้งปี 2562
1. เป็นไปได้ไหมที่เพื่อไทยจะไม่ได้คะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย?
ผู้รู้หลายท่านคำนวณจำนวนผู้ออกเสียงเลือกตั้ง แล้วพบว่า คะแนนเสียงประมาณ 70,000 คะแนน จะทำให้พรรคมี ส.ส. ได้ 1 คน ในการเลือกตั้งปี 2554 เพื่อไทยได้คะแนน ส.ส.ระบบเขตทั้งหมด 14,272,771 (น้อยกว่าที่ได้ในระบบบัญชีรายชื่อ 15,744,190 เสียง) เท่ากับ 203 คน เมื่อชนะ ส.ส. เขตไปแล้ว 204 เขต จึงอาจไม่ได้รับจัดสรรที่นั่งระบบบัญชีรายชื่ออีก
ข้าพเจ้าคิดว่าไม่น่าเป็นเช่นนั้น
ในการเลือกตั้งปี 2562 จำนวนเขตลดลงจาก 375 มาเป็น 350 เขต ดังนั้น จำนวน ส.ส. เขตของเพื่อไทยจะลดลง (ผนวกกับอดีต ส.ส. จำนวนหนึ่งย้ายออก) จึงทำให้ตัวเลข ส.ส.เขต ที่เอาไปลบสัดส่วนที่นั่งที่พรรคพึงได้ลดลงไปด้วย
จากการนับเร็ว ๆ พบว่า ปี 2554 เพื่อไทยได้คะแนนเป็นอันดับ 2 จำนวน 128 เขต ซึ่งเป็นอันดับ 2 ที่คะแนนค่อนข้างสูงในทุกเขต อยู่ในอันดับ 3 จำนวน 36 เขต ที่คะแนนส่วนใหญ่เกิน 10,000 คะแนน ยกเว้นใน 14 เขต ที่อยู่ในภาคใต้ และได้อันดับ 4 และ 5 ใน 7 เขต ทั้งหมดล้วนอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเพื่อไทยมีคะแนนเพียงเขตละหลักพัน
แม้กลไกระบบเลือกตั้งใหม่ จะทำให้เพื่อไทยได้ ส.ส. น้อยลง แต่ด้วยสัดส่วนคะแนนที่เพื่อไทยชนะในอันดับ 2 และ 3 ที่สูงดังกล่าว จึงเชื่อว่าเพื่อไทยน่าจะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อไม่น้อยกว่า 20 ที่นั่ง ไม่ใช่ 0 ที่นั่งอย่างที่บางท่านเสนอไว้ เมื่อรวมกับ ส.ส. เขตแล้ว มีความเป็นไปได้ที่จะได้ 200 ที่นั่ง (+- 10)
2. การจัดตั้งพรรคในเครือ “เพื่อธรรม” “เพื่อชาติ” และ “ประชาชาติ” เป็นไปเพื่อรองรับบัญชีรายชื่อที่จะหายไปจริงไหม?
เคยกล่าวไว้นานแล้วว่า ยุทธศาสตร์ของพรรคใหญ่ที่จะแข่งขันในระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม คือการตั้งพรรคแนวร่วมมาช้อนคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคที่จะหายไป หากพรรคได้ ส.ส. เขตจำนวนมาก
แต่ในทางปฏิบัติ ทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะการตัดสินใจของประชาชน ไม่เชื่อว่ามีพรรคไหนสั่งได้เหมือนกดปุ่มว่า เลือกเพียงให้ ส.ส. เขตของพรรคชนะ คะแนนที่เหลือให้โอนไปเลือกพรรคน้อง ๆ ของเพื่อไทย จะได้กลายเป็นคะแนนบัญชีรายชื่อ
ที่สำคัญ เพื่อไทยย่อมต้องการรักษา “แบรนด์” และพลังเสียงของพรรค
จึงไม่คิดว่าจะมีการย้ายขุนพลของเพื่อไทยไปอยู่พรรคแนวร่วมมากนัก
เพื่อธรรม และเพื่อชาติน่าจะเป็นที่รวมของผู้สมัครที่มีความนิยมรองลงมา ที่พื้นที่ซ้อนทับกับผู้สมัครตัวเต็งของพรรค หรือผู้สมัครหน้าใหม่แต่ขยันทำงานในพื้นที่ ซึ่งอาจได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อไม่ถึง 5 ที่นั่ง โดยที่โอกาสชนะในเขตเป็นไปได้ยาก หากไม่มีอดีต ส.ส. เจ้าของพื้นที่มาเป็นฐานรวบรวมคะแนนให้
อีกเหตุผลหนึ่งในการตั้งพรรคแนวร่วม น่าจะเป็นมาตรการรองรับที่เพื่อไทยมีความเสี่ยงถูกยุบพรรค
ที่น่าจับตามองคือพรรคประชาชาติที่มีความชัดเจนว่าจะมาชิงเสียงพี่น้องมุสลิมใน 3 จังหวัด โปรดสังเกตว่า มาตุภูมิเคยได้ถึง 369,526 เสียง หากพิจารณาร่วมกับจำนวนโหวตประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2559 ด้วยแล้ว ประชาชาติน่าจะได้ทั้ง ส.ส. เขต และบัญชีรายชื่อไม่น้อย และพรรคที่จะต้องเหน็ดเหนื่อยที่สุดคือ ประชาธิปัตย์
3. พรรคประชาธิปัตย์ ดูเหมือนได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมามากกว่าที่คาดไว้ ทั้งการเกิดพรรคประชาชาติ การไหลออกของอดีต ส.ส. กทม. ชลบุรี และในอีกบางจังหวัด การที่คุณสุเทพแยกไปตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย และฐานเสียงของพรรคบางส่วนที่อาจหันไปหนุนพลเอกประยุทธ์
หากใช้ผลเลือกตั้งปี 2554 ดูเหมือนระบบจัดสรรปันส่วนผสมไม่ได้ส่งผลดีหรือผลเสียต่อพรรคประชาธิปัตย์ เพราะคะแนนเสียงกับที่นั่งของพรรคใกล้เคียงกัน แต่จากการพลิกผันทางการเมืองดังกล่าว อาจทำให้ประชาธิปัตย์ได้ที่นั่งลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ผู้สมัครบัญชีรายชื่อ 20 คนแรกของพรรค น่าจะอยู่ในเขตปลอดภัย เช่นเดียวกับเพื่อไทย
4. อดีต ส.ส. ประชาธิปัตย์และเพื่อไทย ที่เคยชนะในเขต แต่โยกไปเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ น่าจะต้องกลับมาลง ส.ส. เขต เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้รับเลือกตั้ง โดยเฉพาะหากอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับต่ำกว่า 20 ลงมา โอกาสที่จะได้รับเลือกอาจหวาดเสียวได้
การเลือกตั้งครั้งนี้ กฎระเบียบจะเข้มงวด ขณะเดียวกันก็คลุมเครือ ดังนั้น อดีต ส.ส. จำนวนหนึ่งอาจขยาดไม่อยากลงเลือกตั้ง แต่หากส่งคนอื่นมาลงแทน ไม่ว่าจะเป็นลูกหลาน คนในตระกูล หรือ “นอมินี” ก็จะไม่ได้คะแนนเสียงเท่าเจ้าของพื้นที่เดิม ในระบบเลือกตั้งที่ทุกคะแนนจะถูกแปรเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ เชื่อว่ายุทธศาสตร์ที่ดีของทุกพรรคคือส่ง “ตัวจริง” ลง ส.ส. เขต เพื่อเก็บทุกแต้มให้มากที่สุด
5. พรรคขนาดกลาง ในที่นี้หมายถึงพรรคที่มีคะแนนประมาณ 10-60 ที่นั่ง พรรคการเมืองที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากคณิตศาสตร์ของระบบเลือกตั้งนี้ คือ พรรคอันดับ 3 อันดับ 4 ที่ ส.ส.เขตจำนวนมากสอบตก จึงมีคะแนนไปจัดสรรในระบบบัญชีรายชื่อ โดยไม่ถูกหักจากจำนวน ส.ส.เขต มากเหมือนพรรคอันดับ 1
พรรคขนาดกลางอย่างภูมิใจไทย และชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน จะได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น และอาจเป็นตัวแปรสำคัญหลังการเลือกตั้ง
6. พรรคตั้งใหม่แต่กระแสแรง คืออนาคตใหม่ และพลังประชารัฐ
อนาคตใหม่ ไม่น่าจะมีผู้สมัครของพรรคชนะเลือกตั้งในระบบเขต แต่ระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม และศักยภาพของพรรคจะเอื้อให้อนาคตใหม่ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ เป็นพรรคขนาดกลางได้
ยุทธศาสตร์ของพรรคคือ การส่งผู้สมัครลงทุกเขตเลือกตั้งเพื่อรวบรวมคะแนนให้มากที่สุด แต่การส่งผู้สมัครที่ส่วนใหญ่ไม่มีฐานเสียงในพื้นที่มาก่อน ไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้สมัครเหล่านี้ รู้ตัวว่าตนเองแทบไม่มีโอกาสชนะ แต่ต้องหาเสียงเพื่อแปรให้เป็นคะแนนผู้สมัครบัญชีรายชื่อ ในกติกาที่เน้นตัวบุคคล คือ ผู้สมัครแต่ละคนของพรรคเดียวกันในแต่ละเขต มีหมายเลขประจำตัวต่างกัน การหาเสียงในนามพรรคและการชูหัวหน้าพรรค นับว่าเป็นงานหินทีเดียว
อย่างที่ทุกท่านทราบดีว่าอนาคตใหม่เป็นขวัญใจวัยหนุ่มสาว จากสถิติปี 2560 ของกรมการปกครอง ระบุว่า จำนวนประชากรสัญชาติไทยอายุ 18-25 (เป็นกลุ่มที่ยังไม่เคยไปเลือกตั้งเลย หากไม่นับการเลือกตั้งปี 2557 ที่ถูกทำให้เป็นโมฆะ) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านทั้งหมด 7,496,454 คน หากออกมาเลือกตั้ง 60% จะเท่ากับ ส.ส. ประมาณ 64 คน แต่กลุ่มผู้เลือกตั้งครั้งแรกนี้จะออกมาส่งเสียงของพวกเขามากแค่ไหน และจะเลือกพรรคใดบ้าง ยังต้องรอการพิสูจน์
ข้อสังเกตคือ ต้นทุนในการออกมาเลือกตั้งของคนกลุ่มนี้ค่อนข้างสูง เนื่องจาก ที่เรียนหรือที่ทำงาน ต่างจากที่อยู่ในทะเบียนบ้าน และหากไม่ใช่ผู้สนใจติดตามการเมือง วัยรุ่นไทยมีแนวโน้มจะฟังผู้ใหญ่ในครอบครัวเมื่อต้องตัดสินใจเลือกตั้ง
พรรคพลังประชารัฐ จะได้ทั้ง ส.ส. เขต และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ แต่ดูเหมือนว่าความสำเร็จหรือล้มเหลวในการเลือกตั้งของพลังประชารัฐ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวพรรคเอง แต่อยู่กับว่าจะดึงกลุ่มและตระกูลทางการเมืองที่มีอดีต ส.ส. เข้าร่วมกับพรรคได้มากแค่ไหน
นักการเมืองหน้าเก่าเหล่านี้ จะยังเป็นที่นิยมของประชาชนในพื้นที่หรือไม่ ภายใต้ “แบรนด์” ใหม่ ที่ชูธงคงอำนาจของ คสช.
7. พรรคขนาดเล็ก จะมีพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ เพียง 1-2 คน พอควรทีเดียว
นอกจากนั้น ยังมีคะแนนสูญเปล่าอีกจำนวนหนึ่ง คะแนนสูญเปล่าคือ คะแนนที่ไม่เพียงพอสำหรับ ส.ส. 1 ที่นั่ง คะแนนของพรรคเหล่านี้จะถูกตัดทิ้งไป แม้ผู้ออกแบบระบบเลือกตั้งระบุว่า ระบบนี้จะทำให้ไม่มีคะแนนเสียงตกน้ำ แต่ในความเป็นจริงจะยังคงมีคะแนนสูญเปล่า
การเลือกตั้งปี 2554 มีพรรคแข่งขันเลือกตั้ง 40 พรรค 28 พรรคซึ่งไม่มีที่นั่งในสภา ได้คะแนน ส.ส. เขตรวมกันทั้งสิ้น 278,175 คะแนน หมายความว่า โดยเฉลี่ย พรรคเหล่านี้ได้คะแนน ส.ส. เขต จากทั้งประเทศ เพียงพรรคละประมาณ 9,970 คะแนน เท่านั้น (พรรคเล็กเหล่านี้ไม่ได้ส่งผู้สมัครครบทุกเขตเลือกตั้ง)
ในบางเขต พรรคที่ได้คะแนนเสียงน้อยที่สุด คือ 6 คะแนน และมีพรรคจำนวนมาก ที่ในแต่ละเขต ได้ไม่ถึง 100 คะแนน
ดังนั้น การคาดว่าพรรคใหม่ ๆ ที่เบ่งบานเหมือนดอกเห็ดหน้าฝน จะมาแย่งคะแนนจากพรรคขนาดใหญ่และขนาดกลาง จึงเป็นไปได้ยาก หากไม่มีทรัพยากรและฐานเสียงเพียงพอ
Siripan Nogsuan Sawasdee