วันอาทิตย์, ตุลาคม 07, 2561

ปัจฉิมกถาในงานรำลึก 42 ปี 6 ตุลา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดย กนกรัตน์ เลิศชูสกุล




กนกรัตน์ เลิศชูสกุล : มอง ‘คนเดือนตุลา’ กับสถานะ ‘เดือนตุลา’ จากอดีตจนปัจจุบัน


2018-10-06 19:45
ที่มา ประชาไท


กนกรัตน์ เลิศชูสกุล เป็นอาจารย์สอนที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เธอได้รับเชิญมากล่าวปัจฉิมกถาในงานรำลึก 42 ปี 6 ตุลา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์



คลิปปัจฉิมกถาโดยกนกรัตน์ เลิศชูสกุล


6 ต.ค. 2561 กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์สอนที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับเชิญมากล่าวปัจฉิมกาถาในงานรำลึก 42 ปี 6 ตุลา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

กนกรัตน์ ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่องคนเดือนตุลาฯ “The Rise of the Octobrists in Contemporary Thailand” จาก London School of Economics and Political Science – LSE วิทยานิพนธ์เรื่องนี้เป็นที่กล่าวถึงมาก และโครงการตำราฯ ได้จัดพิมพ์สรุปความการพูดถึงเนื้อหาในวิทยานิพนธ์ดังกล่าวเป็นภาษาไทยด้วย

กนกรัตน์เริ่มต้นการกล่าวปัจฉิมกาถาด้วยการเล่าทั้งความเกี่ยวข้องและความไม่เกี่ยวข้องกับ 6 ตุลาของตัวเธอเอง พร้อมทั้งอธิบายว่าทำไมเธอจึงนึกขำในตอนแรกเมื่อได้ยินหัวข้อที่ผู้จัดเชิญมาพูด “มองเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ด้วยแว่นขาว”

วันที่ 6 ตุลา เธออายุ 7 เดือน 8 วันในท้องของแม่ แม่ขับรถโฟลคเต่าสีครีมไปธรรมศาสตร์ในคืนวันที่ 5 ต.ค. เป็นการฝืนคำสั่งพ่อ แม่มาเดินในสนามฟุตบอล แต่รู้สึกสถานการณ์ไม่ดีช่วงค่ำจึงขับรถกลับบ้าน ตอนเช้าเมื่อเปิดฟังวิทยุและพ่อโทรบอกข่าวที่เกิดขึ้นในธรรมศาสตร์ แม่พยายามจะขับรถเข้ามาอีกแต่ไม่สามารถเข้าถึงได้ เห็นเพียงกลุ่มควันลอยตัวเหนือสนามหลวง

หลังจากนั้นเดือนกว่าเธอก็ลืมตาดูโลก จนอายุ 2-3 ขวบ สิ่งที่พ่อของเธอใช้กล่อมคือ นสพ.ที่เกี่ยวกับเหตุการ 6 ตุลา พ่อไม่เผาหนังสือ หนังสือพิมพ์ ที่เก็บไว้ในช่วงที่มีการกวาดล้าง พ่อเก็บมันในกล่องฟิล์มขนาดใหญ่ แล้วพยายามเล่าให้ลูกฟังว่านักศึกษาถูกทำอย่างไรบ้าง ใครอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ เรื่องเหล่านี้กลายเป็นนิทานก่อนนอนของเธอ เมื่อเรียน ม.ปลาย พ่อพาเธอมาไปร่วมเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ่อบอกว่าเป็นหนึ่งในภารกิจของคนที่เคยเข้าร่วมเหตุการณ์เดือนตุลา จนเมื่อถึงช่วงความขัดแย้งเสื้อเหลืองเสื้อแดง พ่อของเธอยังแอคทีฟทางการเมือง แต่เธอและพ่อคิดไม่ตรงกันและมีวิวาทะกันบ่อย และทำให้เธอเริ่มตั้งคำถามจำนวนมากกับ “คนเดือนตุลา” ที่เคยกระตุ้นให้เธอและอีกหลายๆ คนตื่นตัวทางการเมือง

กนกรัตน์ยักล่าวด้วยว่า ตอนแรกที่ได้รับคำเชิญให้มาพูดในหัวข้อ “มองเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ด้วยแว่นขาว” นั้นรู้สึกขำ ในฐานะนักรัฐศาสตร์ย่อมเห็นว่าคำว่า แว่นขาว นั้นไม่มีอยู่จริง เราต่างใช้แว่นสีต่างๆ ในการมองสิ่งต่างๆ ทั้งนั้นเพียงแต่จะยอมการมองด้วยแว่นสีอื่นบ้างหรือไม่เท่านั้นเอง แต่เมื่อนั่งคิดดูให้ดีๆ ก็เห็นว่าผู้จัดตั้งชื่อเช่นนั้น น่าจะเพราะต้องการให้คนที่ไม่ใช่คนเดือนตุลามาพูดเรื่องเดือนตุลา ไม่ใช้แว่นโลกสวยมองว่า คนเดือนตุลาเป็นวีรบุรุษเปลี่ยนแปลงโลก แต่ก็ไม่ได้มองเป็นภัยคุกคามแบบฝ่ายอนุรักษ์หรือฝ่ายความมั่นคงมอง หรือกระทั่งไม่ใช้แว่นสีเทาที่พวกเขามองกันเองอย่างผิดหวัง เมื่อต่างฝ่ายแสดงจุดยืนตรงกันข้ามกับตนเอง เป็นการมองจากคนนอกและอีกรุ่นหนึ่งที่สนใจและทำความเข้าใจพวกเขา จึงขอเสนอภาพและมุมมองที่ไปไกลกว่าภาพสุดขั้วทั้งเปี่ยมด้วยความหวังหรือผิดหวัง

กนกรัตน์กล่าวว่า การนำเสนอนี้จะเป็นการวิเคราะห์บทบาทของคนเดือนตุลา และสถานะของความเป็น “เดือนตุลา” ในพัฒนาการประชาธิปไตยหลังยุคตุลา โดยจะพาไปดูว่าคนเดือนตุลามีบทบาทอย่างไรในการเปลี่ยแปลงหลังจากนั้น พร้อมกับดูว่าสถานะทางประวัติศาสตร์ของเดือนตุลาอยู่ตรงไหนในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม วันนี้เป็นวันตื่นเต้นมากที่สุดในการพูดเพราะพูดเรื่องคนเดือนตุลาและมีคนเดือนตุลาทั้งห้องนั่งฟัง

การนำเสนอแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ 1. บทวิเคราะห์คนเดือนตุลาในพัฒนาการประชาธิปไตยโดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 2530-2540 2.บทบาทของคนเดือนตุลาในความขัดแย้งทางการเมือง นับตั้งแต่กลางทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา 3. วิเคราะห์สถานะเดือนตุลาหลังยุคตุลา ว่ามันเชื่อมโยงกับคนเดือนตุลาหรือไม่และมันมีพัฒนาการอย่างไร

รายละเอียดสรุปความได้ดังนี้

ความล้มเหลวหลังออกจากป่า

ถ้าเราจะนับกันหยาบๆ ความล้มเหลวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เป็นจุดจบของคนเดือนตุลาในยุคตุลา บทบาทของนิสิตนักศึกษาค่อยๆ อ่อนแอและลดบทบาทลง หลังการออกจากป่านั่นคือบทบาทของคนเดือนตุลาในยุคหลังตุลาในความหมายที่นำเสนอนี้ แน่นอนว่า หลังจากออกจากป่ายังมีคนเดือนตุลาพยายามอยากจะรื้อฟื้นและผลักดันการเคลื่อนไหวของนักศึกษาและฝ่ายซ้ายเพื่อการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งแม้ไม่มี พคท.แล้ว แต่พวกเขาล้มเหลว เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ล้มเหลวมี 3 ประการ คือ

(1) ความสำเร็จในการปราบปรามกดขี่จนไม่เหลือแนวคิดฝ่ายซ้ายหรือแม้แต่แนวคิดเสรีนิยมทางการเมืองทั้งในระดับโลกและประเทศไทย ในสังคมไทยยุคนั้นแม้บรรยากาศทางการเมืองจะดีขึ้นจากการเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของฝ่ายรัฐจากการรบมาเป็นการเมือง แต่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือพลังกษัตริย์นิยมก็ยังมีอิทธิพลทางการเมืองอยู่ แม้รัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์ จะพยายามฉายภาพการให้นิรโทษกรรมให้นิสิตนักศึกษาที่ออกจากป่า แต่รัฐบาลเปรมก็ยังจับมือกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว เช่น การนำพรรคแนวร่วมมหาชนของสุดสาย หัสดิน แกนนำกลุ่มกระทิงแดงเข้าร่วมรัฐบาล และจนถึงปี 2525-2527 ก็ยังมีการจัดกุมนักศึกษาที่สานสัมพันธ์กับ พคท. เสรีภาพสื่อยังถูกปิดกั้น รัฐบาลยังใช้อำนาจจัดการและจับตาสื่อที่วิจารณ์รัฐบาล มีผู้สื่อข่าว 47คนถูกสังหาร หลายกรณีมีข้อบ่งชี้ว่าตำรวจเกี่ยวข้องด้วย

(2) ความขัดแย้งในหมู่พวกเขาเองที่ค้างคาและยากจะเยียวยา เช่น ความขัดแย้งระหว่างคนรุ่น 14 ตุลากับรุ่น 6 ตุลาที่มีมาตั้งแต่ก่อนเข้าป่า ความขัดแย้งระหว่างนักศึกษาที่มีต่อ พคท. และแนวทางการต่อสู้ของ พคท. นักศึกษาที่แนวคิดแตกต่างกันไม่ไว้ใจกันหลังออกจากป่า

(3) การขาดการจัดตั้งองค์กรที่เข้มแข็ง และขาดการจัดตั้งในเมือง ทำให้ความพยายามที่จะสานต่องานหลังจากออกจากป่ามาแล้วไม่ประสบผลสำเร็จ ความพยายามจะจัดงานประชุมคนที่อยู่ในเขตงานเดียวกัน อยู่ในสายงานเดียวกันก็ไม่ประสบความสำเร็จ พวกเขาไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่าจะเอายังไงต่อกับทิศทางในอนาคตของขบวนการนักศึกษา

นอกจากล้มเหลวแล้ว คนจำนวนมากที่มีฐานะยากจนหรือไม่ได้กลับเข้าไปรายงานตัวก็ไม่สามารถกลับเข้าไปเรียนในสถานศึกษาที่เคยเรียนได้ การที่คนไปรายงานตัวแล้วได้กลับมาเรียนต่อในจุฬาฯ หรือธรรมศาสตร์ ไม่ใช่ทั้งหมดของคนที่ออกจากป่า คนจำนวนมากไม่ได้เรียนต่อทั้งเหตุผลทางอุดมการณ์หรือเงื่อนไขอื่นๆ คนเหล่านี้รู้สึกว่าชีวิตเป็นเรื่องยากลำบากมาก โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือจาก พคท.ถึงแม้หลายคนจะยังมีความหวังและรู้สึกดีกับแนวทางปฏิวัติแต่ก็ต้องถูกบีบด้วยเงื่อนไขเศรษฐกิจให้ใช้เวลาทั้งหมดไปกับการหาเลี้ยงชีพ ในทางตรงกันข้ามคนที่มีมุมมองไม่ดีกับประสบการณ์ในป่าเขาก็หันหลังให้กับการปฏิวัติ หลายคนมองว่าเป็นการเสียเวลาเปล่า หลายคนพบว่าภาพความเป็นซ้ายสร้างปัญหามากในการหาเลี้ยงชีพ หลายคนใช้เวลานานมากกว่าจะปรับตัวได้กับการใช้ชีวิตในเมือง มีคนเล่ากระทั่งว่า แค่จะเดินบนพื้นราบในเมืองยังเป็นเรื่องยากสำหรับคนที่เดินในป่าเขาที่สูงชันมาหลายปี

ณ จุดนี้คนเดือนตุลาหายไป ถูกกลืนไปกับสังคม ต่างคนต่างไปตามทางของตัวเอง หลายคนกลับไปเรียนต่อ บ้างก็ประกอบอาชีพ หรือหันไปทางกิจกรรมทางสังคมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการกลับมาของพวกเขา

การกลับมามีบทบาทในฐานะใหม่ ชื่อใหม่

ทศวรรษ 2530 คนเดือนตุลาเริ่มกลับมามีบทบาทอีกครั้ง แต่ไม่ใช่ในนามของคนเดือนตุลาหรือดีตนักศึกษาฝ่ายซ้าย แต่กลับมาในฐานะนักธุรกิจดาวรุ่ง พนักงานระดับสูงในองค์กรต่างๆ นักวิชการรุ่นใหม่ไฟแรง นักหนังสือพิมพ์ฝีปากกล้า นักเขียนรางวัลซีไรต์ นักแต่งแพลง ผู้มีชื่อเสียงในธุรกิจบันเทิง นักพัฒนาเอกชนชื่อดัง ฯลฯ เป็นการประสบความสำเร็จของพวกเขาในทุกแวดวงทุกสาขาอาชีพ นอกจากนั้นพวกเขายังมีบทบาทนำในขบวนการที่สำคัญในห้วงในพัฒนาการการเมือง ไม่ว่าจะเป็นแกนนำชนชั้นกลางในขบวนการต่อต้านทหารในช่วงพฤษภาทมิฬ แม้เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตของคนชั้นกลางและการขยายตัวของการศึกษา แต่พวกเขาไม่ใช่คนชั้นกลางธรรมดา แต่มีประสบการณ์ในการเคลื่อนไหว จัดตั้งมวลชนเป็น เป็นกำลังสำคัญในวงการการเคลื่อนไหว การคิดยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหว การระดมมวลชน เรียกว่า เป็น Unique Group of Generation พวกเขาสามารถเข้าใจชนชั้นสูง พูดในภาษาชนชั้นกลาง ขณะเดียวกันก็มีประสบการณ์กับชนชั้นล่างแบบที่ไม่มีชนชั้นไหนหรือกลุ่มไหนในห้วงประวัติศาสตร์ไทยเคยมี กลายเป็น asset ทางการเมืองและทางเศรษฐกิจที่สำคัญมาก

นอกจากนั้นแล้วเขายังเป็นมวลชนที่สำคัญ หลายคนตื่นเต้นมากในการกลับมามีบทบาทในพฤษภาทมิฬ ภายใต้นามใหม่ เช่น เครือข่ายนักธุรกิจ เครือข่ายนักวิชาการ สื่อมวลชนผู้รักประชาธิปไตย นักพัฒนาเอกชนที่ผลักดันประเด็นชาวบ้าน แล้วก็พยายามเชื่อมประวัติศาสตร์เดือนตุลากับประวัติศาสตร์พฤษภาทมิฬที่พวกเขาเน้นย้ำว่านี่คือเส้นทางประชาธิปไตยของประเทศไทย และพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางประชาธิปไตยนั้น

ทศวรรษ 2530-2540 กิจกรรมทางการเมืองของคนเดือนตุลาเริ่มขยายตัวมากขึ้น การขยายตัวของภาคประชาชนใน บทบาทของพวกเขา เช่น ในสมัชชาคนจน เครือข่ายทรัพยากรดินน้ำป่า พวกเขาอยู่ที่นั่น จากบทบาทของคนชั้นกลางในการสนับสนุนประชาธิปไตยและคนจน พวกเขายังขยายบทบาทไปถึงการปฏิรูปการเมืองในระดับชาติ คนเดือนตุลาสายวิชาการกลายเป็นนักคิดที่สำคัญในการเสนอความคิดวิพากษ์โครงสร้างทางการเมืองไทยรวมถึงนำเสนอข้อเสนอต่างๆ สองนคราประชาธิปไตย เป็นงานชิ้นสำคัญที่ทำให้เราได้รัฐธรรมนูญ 2540 ฯลฯ นอกจากนั้นคนเดือนตุลาในเครือข่ายต่างๆ ยังร่วมผลักดันรัฐธรรมนูญ 2540 ในขบวนการ “ธงเขียว” มันไม่ใช่เพียงการเมืองนอกสภาเท่านั้นแล้ว แต่เรายังเห็นบทบาทของพวกเขาในสภาด้วย ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ที่ปรึกษาทางการเมือง ผู้ช่วยนักการเมือง นักวางแผนการรณรงค์หาเสียง ล็อบบี้ยิสต์ให้นักการเมืองและพรรคการเมืองมากมาย ไม่ว่าพรรคเทพ พรรคมาร พรรคก้าวหน้าหรืออนุรักษ์นิยม ทุกพรรคต้องการคนแบบนี้

ระลอกแรก เราเห็นคนเดือนตุลาเริ่มเข้าสู่การเมือง กลุ่มแรกที่ประสบความสำเร็จมักจะเป็นพวกที่มีสายสัมพันธ์กับนักการเมืองหัวก้าวหน้า หรือชนชั้นสูงในแวดวงการเมือง หรือเครือข่ายครอบครัวที่เป็นนักการเมืองอยู่แล้ว จาตุรนต์ ฉายแสง ชำนิ ศักดิเศรษฐ์ อดิศร เพียงเกษฯลฯ ระลอกที่สองก็คือ หลังความสำเร็จของนักการเมืองระลอกแรกที่เข้าสู่การเลือกตั้ง หลังพฤษทมิฬเราจะเห็นการไหลบ่าของคนเดือนตุลาสู่การเมืองการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็น สุธรรม แสงประทุม วิทยา แก้วภราดัย ฯลฯ แต่ไม่ใช่ทุกคนประสบความสำเร็จ อดีตนักศึกษาเหล่านี้มีไม่มากที่จะประสบความสำเร็จในการเมือง เพราะต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าทรัพยกร เครือข่ายการเมืองที่มากพอ และการปรับตัวกับการเมืองที่ไม่ได้เป็นแบบอุดมคติ หลายคนชนะการเลือกตั้งครั้งเดียว หลายคนไม่เคยชนะการเลือกตั้งเลย

ปลายทศวรรษ 2530 นอกจากพรรคการเมืองแล้ว ในการปฏิปรูปการเมืองที่ทำให้เกิดองค์กรอิสระ เป็นผลผลิตของรัฐธรรมนูญ 2540 เราจะเห็นการเปิดพื้นที่ทางการเมืองใหม่ๆ เช่น จรัล ดิษฐอภิชัย สุนี ไชยรส ได้เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนชุดแรก หรืออีกหลายคนที่ได้เป็น ส.ว.จากการเลือกตั้งชุดแรก ตอนนั้นเป็นการเฉลิมฉลองที่น่าตื่นเต้นมากที่คนเดือนตุลาได้เข้าสู่การเมืองแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ต้นทศวรรษ 2540 ไม่ว่าจะหันไปหาพรรคการเมืองไหน องค์กรใด คุณจะพบคนเดือนตุลา ไม่ว่าไปงานสัมมนางานไหน พวกเขาอยู่ที่นั่น บทวิเคราะห์การเมืองไทยจำนวนมากพวกเขาเป็นคนเขียน ไม่ว่าจะไปชุมนุมกับชาวบ้านกลุ่มไหนพวกเขาอยู่ที่นั่น กลายเป็นกลุ่มที่สำคัญมากในการเมืองและขบวนการสังคมในไทย

กลางทศวรรษ 2540 คือจุดที่เป็นจุดสูงสุดของคนเดือนตุลา ซึ่งเป็นยุคของพรรคไทยรักไทย ภายใต้นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร รัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้เกิดชนชั้นนำกลุ่มใหม่คือกลุ่มคนทักษิณ พร้อมกับสร้างพันธมิตรทางการเมืองใหม่ๆ ให้กับคนเดือนตุลา จากบทบาทและทักษะที่เขามี พวกเขาเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ถูกเชื้อเชิญให้เข้าไปในพรรคไทยรักไทย ผ่านสายสัมพันธ์กับคุณทักษิณเอง ผ่านเพื่อนที่เข้าไปอยู่ในนั้น ทำให้ได้เข้าไปช่วยวางนโยบาย วางแผนรณรงค์หาเสียง คนเดือนตุลาที่เข้าร่วมพรรคไทยรักไทยได้นั่งทั้งสมาชิกพรรค ที่ปรึกษาส่วนตัวคุณทักษิณ นักวิเคราะห์นโยบายเกี่ยวกับคนจน ทีมวางแผนหาเสียง ทีมเจรจาและจัดการความขัดแย้ง ทีมประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ หลายคนได้ขึ้นดำรงตำแหน่งระดับรัฐมนตรี ส.ส.บัญชีรายชื่อ คนเดือนตุลาก็อยู่ในลิสต์เลขตัวเดียว ไม่ว่า หมอมิ้ง ภูมิธรรม เวชชยชัย เกรียงกมล เลาหะไพโรจน์ ฯลฯ นี่เป็นโอกาสสำคัญในการเข้าสู่กระบวนการทางนโยบายและอำนาจรัฐ

จุดสูงสุดของพวกเขาไม่ใช่เฉพาะในแง่การเมือง พวกเขายังสถาปนาสถานะของ “เดือนตุลา” โดยสามารถผลักดันให้รัฐเข้ามาสนับสนุนการรำลึกเดือนตุลา ทำให้เดือนตุลาเข้าใกล้สถานะการรับรู้ในพื้นที่หลักมากขึ้น รัฐบาลจัดงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมเฉลิมฉลองเดือนตุลา การสร้างอนุเสาวรีย์ต่างๆ แต่นั่นคือช่วงสุดท้ายของความศักดิ์สิทธิ์ของคนเดือนตุลา

ปลายทศวรรษ 2540 ถึง 2550 บทบาทและความชอบธรรมของคนเดือนตุลาถูกสั่นคลอน ความขัดแย้งทำให้พวกเขาถูกตั้งคำถาม ในช่วงการเมืองสีเสื้อหรือการเติบโตขึ้นของขบวนการต่อต้านทักษิณ คนเดือนตุลาจำนวนมากเข้าร่วมขบวนการต่อต้านทักษิณและตั้งคำถามต่อเพื่อนๆ ของเขาที่ยังคงสนับสนุนรัฐบาล(ทักษิณ)อยู่อย่างรุนแรง ไม่ว่าจะโจมตีในแง่ความเห็นแก่ตัว เห็นแก่อำนาจที่ได้ ไปจนถึงการโจมตีระดับอุดมการณ์ว่าเพื่อนของพวกเขาที่อยู่ในรัฐบาลทรยศต่ออุดมการณ์เดือนตุลา สนับสนุนทุนสามานย์ สนับสนุนรัฐบาลเลือกตั้งอำนาจนิยม บางคนไกลมากด้วยการโจมตีบนฐานคิดชาตินิยมสุดขั้ว กษัตริย์นิยมแบบเดียวกับที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดขั้วใช้ในขบวนการต่อต้านทักษิณ เช่น การกล่าวหาเรื่องปฏิญญาฟินแลนด์ที่จะเปลี่ยนไปสู่ระบอบสาธารณรัฐ ซึ่งเป็นคำกล่าวหาที่ร้ายแรงมาก หรือหลายกลุ่มไปไกลถึงกับสนับสนุนรัฐประหาร การต่อต้านการเมืองแบบเลือกตั้ง สนับสนุนการเมืองแต่งตั้ง ขณะเดียวกันคนเดือนตุลาที่ยังคงสนับสนุนทักษิณและไม่เห็นด้วยกับขบวนการที่มีแนวโน้มเป็นอนุรักษ์นิยม ก็หันไปสนับสนุนเสื้อแดงบ้าง หรือบางส่วนก็สนับสนุนการณรงค์แบบ “สองไม่เอา” บ้าง

ความตกต่ำของคนเดือนตุลาในความขัดแย้งสีเสื้อ

ผลที่ตามมาคือ ความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างคนเดือนตุลา ความตกต่ำในความชอบธรรมและภาพลักษณ์ที่สังคมมีต่อคนเดือนตุลา ในช่วงแรกของความขัดแย้งเวทีรำลึกเดือนตุลากลายเป็นเวทีแห่งการทะเลาะเบาะแว้ง การปะทะคารมของคนเดือนตุลาที่มีจุดยืนทางการเมืองต่างกัน ระยะต่อมามีความพยายามยึดกุมความหมายและสัญลักษณ์งานฉลองเดือนตุลาโดยกลุ่มที่มีจุดยืนทางการเมืองตรงกันข้ามกัน การยึดกุมพื้นที่ใช้ชัยชนะของ 14 ตุลากลายเป็นฐานของกลุ่มที่ต่อต้านระบบทักษิณ ในขณะที่ 6 ตุลากลายเป็นที่ยืนและพื้นฐานของกลุ่มที่ต่อต้านรัฐประหาร

มาถึงจุดนี้ คนจำนวนมากตั้งคำถามกับคนเดือนตุลาทั้งในฝ่ายทักษิณ และฝ่ายต่อต้านทักษิณ หลายคนหมดความหวังกับคนเดือนตุลาและฝ่ายพลังก้าวหน้า หลายกลุ่มตั้งคำถามกับทั้งที่อยู่ในฝ่ายแดงและเหลืองว่าเปลี่ยนไปจากที่เคยต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเท่าเทียมไหม ในระยะหลังการพูดถึงคนเดือนตุลากลายเป็นสัญลักษณ์ของความย้อนแย้งเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์แบบหน้ามือเป็นหลังมือ คำว่า เดือนตุลา กลายเป็นตลกร้ายทางการเมือง กระทั่งคนเดือนตุลาเองยังไม่อยากอ้างอิงว่าตัวเองเป็นคนเดือนตุลา

มาถึงจุดนี้ สำหรับดิฉันมีคำถามมากมาย โดยเฉพาะตอนที่เริ่มทำวิทยานิพนธ์ซึ่งหวังว่าคนเดือนตุลาคือพลังประชาธิปไตย แต่เริ่มเก็บข้อมูลในช่วงที่มีความขัดแย้ง ดิฉันเริ่มรู้สึกว่าตัวเองตั้งคำถามผิดตั้งแต่ต้น

สิ่งที่พยายามจะตอบในช่วงสุดท้ายนี้คือ วิกฤตความชอบธรรมของ “คนเดือนตุลา” ในช่วงสิบกว่าปีทีผ่านมา มันส่งผลหรือไม่กับสถานะทางประวัติศาสตร์หรือมรดกทางประวัติศาสตร์ของ “เดือนตุลา” ถ้ามองผ่านคนที่ไม่ใช่คนเดือนตุลา ได้ข้อสรุปว่า

ประวัติศาสตร์เดือนตุลา กับ คนเดือนตุลา เป็นคนละเรื่องเดียวกัน

พัฒนาของคนเดือนตุลา กับ เดือนตุลา เป็นเรื่องที่แยกออกจากกัน เป็นคนละเรื่อง ถึงแม้ว่าสถานะของคนเดือนตุลาจะถูกสั่นคลอนและเผชิญกับวิกฤต แต่สถานภาพของ 14 ตุลาและ 6 ตุลามันลงหลักปักฐานและมีพัฒนาการการเปลี่ยนแปลงแยกออกจากคนเดือนตุลา ถึงตอนนี้แล้ว คนเดือนตุลากับประวัติศาสตร์เดือนตุลาเป็นคนละเรื่องกัน

ประวัติศาสตร์เดือนตุลากลายเป็นหมุดหมายของการเรียกร้องต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน ผ่าน narrative เรื่องเล่าที่เริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญโดยคณะราษฎร 14 ตุลาเป็นก้าวสำคัญก้าวที่สองในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยโดยพลังของคนรุ่นใหม่ พลังหนุ่มสาวที่ลุกมาท้าทายระบอบเผด็จการ ตามด้วยคนชั้นกลางในพฤษภาทมิฬ และขบวนการภาคประชาชนใน 2540 ดังนั้น ในแง่นี้ 14 ตุลาจึงมีที่ยืน

สำหรับเหตุการณ์ 6 ตุลากลายเป็นเหตุการณ์ที่คนธรรมดาใช้สองมือเปล่า ลุกขึ้นสู้กับอำนาจรัฐ ความรุนแรง และชนชั้นนำ เพื่อความยุติธรรม ความเท่าเทียมกันแม้มองไม่เห็นชัยชนะก็ตาม ฉะนั้นทั้งสองเหตุการณ์นี้มีที่ยืนในความรับรู้ของคนรุ่นดิฉัน มีสถานะในการทำความเข้าใจการเมืองไทยโดยแยกออกจากคนเดือนตุลา

นอกจากนี้สถานะของ 14 และ 6 ตุลามีพัฒนาการตลอดเวลา มันไม่เคยหยุดนิ่ง เนื่องจากประวัติศาสตร์ทั้งสองชุดถูกตีความใหม่ตลอดเวลา กลายเป็นเครื่องมือทางประวัติศาสตร์ของหลากหลายพลังการเมืองที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับขบวนการตนเองและลดทอนความชอบธรรมของฝ่ายตรงกันข้าม การสร้างเหตุผลของการเคลื่อนไหวเดือนตุลาถูกจับจองโดยฝ่ายต่างๆ จากการสำรวจประเด็นในการจัดงานรำลึกทุกปีจะเห็นความพยายามเชื่อมโยงเหตุการณ์ 14 และ 6 ตุลา กับบริบททางการเมืองใหม่ๆ อยู่ตลอด และไม่ใช่เพียงการแย่งชิงความหมายกันเองในหมู่คนเดือนตุลา นักศึกษาและขบวนการภาคประชาชนอื่นๆ ที่ต้องต่อสู้กับรัฐและถูกกระทำโดยความรุนแรงของรัฐ ก็ขยายและใช้เดือนตุลาด้วยมิติที่หลากหลาย โดยเฉพาะการสร้างความชอบธรรมให้กับขบวนการนักศึกษา

ประเด็นสุดท้าย แม้ว่าเราจะตั้งคำถามกับคนเดือนตุลา แต่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไร ประวัติศาสตร์ทั้งสองช่วงก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ที่สนใจทางการเมือง โดยไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับคนเดือนตุลา ทำให้พวกเราตื่นตัวและเชื่อว่าอะไรก็เป็นไปได้ เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ การสัมภาษณ์หนุ่มสาวในขบวนการสีเสื้อใดก็ตามพวกเขามักบอกว่าได้แรงบันดาลใจจากการมางานนิทรรศการแบบนี้หรือการอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ของทั้งสองเหตุการณ์ ทั้งหมดเป็นการจุดไฟให้พวกเขาลุกขึ้นสู้ทางการเมือง