วันพุธ, มีนาคม 07, 2561
ประชาไท ถอดความงานเสวนา "จำเลยรัฐจาก NDM ถึง MBK 39" 2 นักข่าว 1 นิสิตจุฬาฯ ให้ปากคำในวันที่สิทธิเสรีภาพถูกริดรอน จากนักข่าว ผู้สังเกตุการณ์การชุมนุมสู่การเป็นผู้ต้องหาคดีการเมือง
บันทึกปากคำ “จำเลยรัฐจาก NDM ถึง MBK 39”
2018-03-06
เพ็ญนภา หงษ์ทอง รายงาน
ที่มา ประชาไท
ถอดความงานเสวนา "จำเลยรัฐจาก NDM ถึง MBK 39" 2 นักข่าว 1 นิสิตจุฬาฯ ให้ปากคำในวันที่สิทธิเสรีภาพถูกริดรอน จากนักข่าว ผู้สังเกตุการณ์การชุมนุมสู่การเป็นผู้ต้องหาคดีการเมือง
ในสถานการณ์ “พิเศษ” ของบ้านเมือง เมื่อนิสิตนักศึกษาตกเป็นผู้ต้องหาเพียงเพราะเธอปรากฏตัวในบริเวณที่มีกลุ่มคนออกมาสื่อสารกับสังคมว่าอยากเลือกตั้ง เมื่อนักข่าวอิสระตกเป็นผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยมีภาพที่ผ่านการโฟโต้ช้อปเป็นหลักฐานมัดตัว และเมื่อนักข่าวพร้อมนักศึกษากลุ่มหนึ่งถูกจับกุมเป็นคดีความถึงชั้นศาลเพราะนั่งอยู่ในรถที่มีเอกสารรณรงค์ “โหวตโน” อยู่ในรถโดยที่ไม่ได้ทำการแจกจ่าย มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ จึงเปิดเวทีมีเดียคาเฟ่-สื่อสนทนา เป็นกรณีพิเศษ ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ เพื่อให้สังคมได้ร่วมกันพินิจความ “พิเศษ” ของสถานการณ์ปัจจุบัน ด้วยการเชิญบุคคลเจ้าของเรื่องราวพิเศษทั้ง 3 คน อันประกอบด้วย นักข่าว 2 และนักศึกษา 1 มาสนทนาบอกเล่าประสบการณ์ในวันที่สิทธิของพวกเขาถูกคุกคามและเสรีภาพถูกริดรอน ภายใต้หัวข้อ “จำเลยรัฐ จาก NDM ถึง MBK 39”
อ้อมทิพย์ เกิดผลานันท์ นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และสงวน คุ้มรุ่งโรจน์ ผู้สื่อข่าวอิสระ สำนักข่าว “หงวนจัดให้” สำนักข่าวที่มีเขาเป็นพนักงานคนเดียวรับผิดชอบทุกตำแหน่งทั้งบรรณาธิการ ผู้สื่อข่าว และนายทุน สองผู้ต้องหาคดี “คนอยากเลือกตั้ง MBK 39” อยู่ระหว่างการสู้คดี ซึ่งศาลสั่งปล่อยตัวโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ประกัน มาพร้อมกับทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวประชาไท อดีตผู้ต้องหาคดีทำข่าวประชามติของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ NDM โดยมี รศ.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ดำเนินรายการ
เวทีสนทนาเริ่มต้นด้วยการให้ทุกคนได้บอกเล่าเรื่องราวของตนเองในวันที่ตกเป็นผู้ต้องหา
ทวีศักดิ์: จากบันทึกประจำวันกลายเป็นบันทึกการจับกุม
เหตุการณ์ของเขาเกิดขึ้นที่ สภ.อ. บ้านโป่ง ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2559 เมื่อเขาในฐานะผู้สื่อข่าวสำนักข่าวประชาไทกำลังทำข่าวที่กลุ่มนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ไปให้กำลังใจชาวอำเภอบ้านโป่งที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาจากกรณีทำกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบปรามการโกงประชามติ โดยเขาติดรถกระบะของกลุ่ม NDM ซึ่งที่ท้ายกระบะเต็มไปด้วยเอกสารความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญ สติ๊กเกอร์ทั้ง Vote No และ Vote Yes รวมถึงแผ่นพับประชาสัมพันธ์ของ กกต.
“ตอนจะกลับเราเดินมาถึงที่รถ ก็มีเจ้าหน้าที่มาค้นกระบะ ที่จริงค้นไปแล้วหนึ่งรอบ พอเราไปถึงรถก็ขอค้นอีกรอบหนึ่ง เขาเจอเอกสาร แต่เราไม่รู้สึกว่าทำอะไรผิด เพราะไม่ได้มีการแจกจ่ายปลุกระดม แต่ในช่วงพูดคุยรองสารวัตรฝ่ายสืบสวนถามว่าเอกสาร Vote Yes กับ Vote No อะไรเยอะกว่ากัน แมน ปกรณ์ (อารีกุล) เจ้าของรถก็บอกว่า Vote No เขาก็บอกว่า Vote No ไม่ได้ ต้อง Vote Yes เท่านั้น เราก็พยายามบอกว่าเอกสารเหล่านี้ยังไม่ผิด ระหว่างนี้เจ้าหน้าที่รู้แล้วว่าผมเป็นนักข่าว แต่ผมก็ต้องไปโรงพักด้วย เพราะเขาบอกจะทำบันทึกประจำวัน แต่ผ่านไปชั่วโมงหนึ่งกลายเป็นบันทึกการจับกุม และในบันทึกก็ไม่ได้ตรงกับเหตุการณ์จริง เขาบอกว่ามีเจ้าหน้าที่ปกครองมาด้วยหลายคนแต่จริงๆ มีเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่กี่คน ตอนนั้น สภ.อ.บ้านโป่งก็ยังไม่รู้จะเล่นเราข้อหาอะไร ผมโทรศัพท์สัมภาษณ์ คุณสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง เพื่อสอบถามว่าเอกสารเหล่านั้นผิดไหม คำตอบคือไม่ผิด แต่ก็ต้องขึ้นกับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สุดท้ายพวกผมก็โดนคดีเพราะดุลยพินิจตำรวจ แล้วตอนนั้นผมดันไปพูดว่าปกติจะมีการใช้มาตรา 61 วรรค 2 (พ.ร.บ.ประชามติ ความผิดฐานแจกจ่ายเอกสารทางการเมือง) ผมคิดว่ามันไม่เข้าเพราะมันบอกว่าต้องมีการแจกจ่าย เข้าคุกที่ สภ.อ.บ้านโป่งไปหนึ่งคืน วันต่อมาเจ้าพนักงานสอบสวนพาเราไปฝากขออำนาจศาลฝากขัง ศาลเห็นว่ามีโทษสูงก็เลยต้องให้ประกันตัวเรียกหลักทรัพย์ 1.4 แสนบาท น้อยกว่าคุณเปรมชัย (กรรณสูตร ผู้บริหารระดับสูง อิตาเลียนไทย ดิเวลลอปเมนท์ ผู้ต้องหาคดีล่าเสือดำในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร)”
อ้อมทิพย์: ปลาที่ถูกเหวี่ยงแห
เหตุเกิดวันที่ 27 มกราคม 2561 เธอไปซ้อมละครตามปกติ และมีนัดกับเพื่อนว่าเสร็จจากการซ้อมละครจะไปเข้าร่วมกิจกรรมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งตามโรคแมพที่บริเวณทางเชื่อมอาคารแยกปทุมวัน (สกายวอล์ค)
“ตอนที่ไปถึงสายแล้ว กิจกรรมเริ่มไปพักหนึ่งแล้ว เห็นพี่โรม (รังสิมันต์ โรม) กับจ่านิว (สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์) โดนนักข่าวล้อมไว้หมดแล้ว เราไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้น ก็ไปหาเพื่อนยืนคุยกันตามปกติ ไม่ได้ยินเสียงข้างในเลย ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น พอคนกระจาย นักข่าวแยกย้าย เราก็ออกไปหาอะไรกินกับเพื่อน มารู้ทีหลังว่าชื่อเราโดนด้วย เราเคยทำแรงกว่านี้แต่ไม่โดนอะไรเลย แต่วันนั้นเราไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่มีการชูป้าย ไม่มีการตะโกนอะไร ก็ค่อนข้างงง และตกใจว่าอะไรเขาจะจับเหวี่ยงแหขนาดนี้เลยหรือ คุยกับเพื่อนคิดว่าตำรวจคงถ่ายรูปไว้ทุกคน รู้จักชื่อใครก็เอาคนนั้นไป... คิดว่าวันนั้นไม่มีใครรู้ว่าโดนข้อหานี้ (พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 7 วรรคแรก: ร่วมกันชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตรจากวังของรัชทายาทหรือของพระบรมวงศานุวงศ์ ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป) มารู้กันทีหลัง ไปที่ สน.ปทุมวันกัน กระบวนการต่างจากพี่อ๊อตโต้ (ทวีศักดิ์) ทุกคนกำลังใจดี พิมพ์ลายนิ้วมือดำ ปฏิเสธชั้นสอบสวนแล้วก็ลงบันทึกประจำวันไว้”
สงวน: นักข่าว-นปช.-ผู้ต้องหา กับหลักฐานเด็ดภาพที่ผ่านการโฟโต้ช้อป
นักข่าว คืออาชีพที่เป็นรายได้เลี้ยงชีพเขามานานกว่า 3 ทศวรรษ ผ่านมามากกว่า 40 สำนักข่าวทั้งไทยและต่างประเทศ ก่อนจะผันตัวเองมาเป็นนักข่าวอิสระ ในนาม “หงวนจัดให้”
นปช. หรือ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีความเกี่ยวโยงกับอดีตนายกรัฐมนตรีชื่อทักษิณ ชินวัตร ที่เขาไม่เคยคลุกคลีด้วยแต่ถูกตำรวจกล่าวหาว่าเขาเป็นสมาชิก
ผู้ต้องหา สถานภาพทางสังคมอย่างหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใส่พานมาให้เขาหลังวันที่ 27 มกราคม ที่เขาเดินทางไปทำข่าวกลุ่มผู้เรียกร้องการเลือกตั้งที่บริเวณสกายวอล์ค
เช่นเดียวกับอ้อมทิพย์ สงวนตกเป็นหนึ่งในกลุ่ม BMK 39 อย่างงงๆ เขาอยู่ที่เวียดนามและกัมพูชาตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม กลับถึงกรุงเทพวันที่ 27 วันเดียวกับที่มีกลุ่มคนกำหนดให้เป็นวันรณรงค์เรียกร้องการเลือกตั้ง เขาจึงไปทำข่าวตามหน้าที่
“ผมว่ามันเป็นเรื่องตลก ไม่ใช่แค่ที่ผมกับนักข่าวอีกสองคนถูกจับครั้งนี้ ก่อนหน้านี้มีเรื่องบ้าๆ เกิดกับนักข่าวต่างชาติ ที่แอนโทนี่ เชง ถูกจับเรื่องมีเสื้อเกราะ (ข้อหามียุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครอง) กำลังเดินทางไปทำข่าวที่อิรัก” สงวนบอกว่าตลอดชีวิตการเป็นนักข่าว เขาผ่านการทำข่าวสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็น การเรียกร้องประชาธิปไตยของพม่าปี 1988, เหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมิน ประเทศจีนปี 1989 และอื่นๆ ไม่เคยมีครั้งไหนที่ถูกจับ “เพราะทุกที่ต่างให้เกียรตินักข่าว แต่ตลอดสี่ปีที่ผ่านมาที่ผมติดตามทำข่าวของนักศึกษาและการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยโดยตลอด ผมกลับถูกกล่าวหาว่าเป็นท่อน้ำเลี้ยง อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหว”
สงวนเล่าว่าหลักฐานที่ตำรวจนำมาแสดงว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวในวันนั้นคือภาพที่เขายืนคุยกับผู้กำกับของสถานีตำรวจแห่งหนึ่ง “มีข่าวว่า ผกก. ท่านนั้นเดินไปบอกพวกโรมว่าหมดเวลาแล้ว ผมก็เข้าไปขอคำยืนยันกับ ผกก. ท่านนั้น แค่นี้ผมโดนจับแล้วและตอนที่ผมยืนคุยก็มีคนอยู่รอบข้างผม 3-4 คน แต่รูปที่ตำรวจเอามายืนยันไม่มีคนพวกนั้น และที่ตลกคือบอกว่าผมเป็นแนวร่วม นปช. ผมบอกผมไม่มีบัตร นปช. มีแต่บัตรนักข่าว”
เช้าวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ก่อนเวทีที่มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ จะเริ่มขึ้น สงวนลงทุนไปเดินวัดระยะห่างระหว่างจุดที่เขาถูกจับกับเขตพระราชฐานและพบว่าระยะห่างอยู่เกือบถึง 160 เมตร ขณะที่ในหมายเรียกที่เดินทางไปถึงบ้านแม่เขากลางดึกคืนวันหนึ่งระบุว่า 148.53 เมตร หมายเรียกใบที่สองถึงบ้านแม่เขาสามวันหลังจากนั้นในเวลากลางดึกเช่นกัน ให้ไปรายงานตัวตามข้อหาที่ 2 ความผิดตามมาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่น
ประสบการณ์ของอ้อมทิพย์และสงวนที่ตกเป็นผู้ต้องหาอย่างงงๆ ทำให้เวทีวันนั้นมีการวิเคราะห์กันถึงที่มาที่ไปของคดี MBK 39 และ ทวีศักดิ์ นักข่าวที่เคยตกเป็นผู้ต้องหา ก็ลงความเห็นว่า “น่าจะมั่วจริง การจับกุมไม่เป็นระบบ” แต่เขามองต่างว่าการจับกุมครั้งนี้ไม่น่าจะเป็นการเหวี่ยงแห แต่น่าจะเป็นความพยายามของฝ่ายความความมั่นคงในการจัดการกับคนเสื้อแดง “จากเหตุการณ์วันที่ 27 สิ่งที่รัฐพยายามทำคือการจัดกลุ่มคนเสื้อแดง พยายามชี้ให้เห็นว่านี่คือคนเสื้อแดง ปกติเวลามีรายชื่อจับกุม เราจะไม่เคยเห็นข้อมูลของคนที่ถูกหมายเรียก แต่ครั้งนี้มีข้อมูลแสดงให้เห็นเลยว่าเคยชุมนุม” ทวีศักดิ์เล่าว่าในวันเกิดเหตุเขาเป็นคนยืนสัมภาษณ์วีระ สมความคิด และสมบัติ บุญงามอนงค์ ซึ่งถูกแจ้งข้อหา 116 ในภายหลัง “ผมว่ามันเป็นสีสันเพราะสองคนนี้อยู่คนละสี พอผมสัมภาษณ์ นักข่าวคนอื่นก็เข้ามารุม มันคงเลยมองดูเหมือนการปราศรัย ทั้งที่จริงเขาไม่ได้ทำอะไรเลย ส่วนวีระ หลังให้สัมภาษณ์เสร็จก็เดินเล่นแป๊บนึงก็กลับแล้ว”
ศาล-กำลังใจ และการประกันตัว
ประสบการณ์ที่ทุกคนเรียนรู้จากคดีของทวีศักดิ์ ที่ศาลกำหนดหลักประกันสูงถึง 1.4 แสนบาท ทำให้ก่อนถึงวันนัดรายงานตัวที่ศาล ผู้ต้องหาคดี MBK 39 ทุกคนต้องเตรียมหลักประกัน มีการระดมนักวิชาการที่พร้อมจะใช้ตำแหน่งเป็นหลักทรัพย์ให้พวกเขา รวมทั้งการระดมเงินจากเพื่อนพ้องน้องพี่
“หาเงินให้วุ่นเลย โชคดีที่เรามีอาจารย์มาช่วย” เมื่อถูกถามถึงความช่วยเหลือจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ตนเองเป็นนิสิตอยู่ คำตอบของเธอคือ “ฝั่งจุฬาฯ ไม่อยากเรียกว่ากำลังใจ เขาส่งพี่นิติกรมาช่วย และบอกว่าถ้ามีอะไรให้ถามนิติกร แต่ในช่วงแรกที่ต้องวางแผนเรื่องการประกันตัว เขาให้ไปหาเอง เพราะมหาวิทยาลัยถือเป็นเรื่องส่วนตัว”
อย่างไรก็ดีกำลังใจที่ดีและมีความหมายที่สุด ไม่ใช่เฉพาะกับ 39 ผู้ต้องหา แต่กับสังคมไทยทั้งมวล ไม่ได้ออกมาจากผองเพื่อน แต่ส่งออกมาจากศาล ในวันที่ 8 มีนาคม เมื่อพวกเขาไปรายงานตัวซึ่งถูกแบ่งเป็นสองศาล คือศาลแขวงปทุมวัน และศาลอาญากรุงเทพใต้ คำสั่งศาลอกมาเหมือนกันคือสั่งปล่อยผู้ต้องหาโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน
อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ มองว่า “ศาลคงพิจารณาแล้วว่าจะไม่หนี เลยยกเรื่องการประกัน และการฝากขังทั้งหลาย ถ้าเทียบสองเหตุการณ์ (NDM ที่ทวีศักดิ์ถูกจับกุมและต้องใช้เงิน 1.4 แสนบาทในการประกันตัว กับ MBK) จะเห็นว่าเหตุการณ์ที่บ้านโป่ง เหมือนกับตำรวจคิดว่าถือไพ่เหนือกว่า และคดีเล็ก แต่ MBK คดีใหญ่ คนเยอะ จนตำรวจผู้ใหญ่ต้องมาโชว์ตัว”
ตำรวจผู้ใหญ่ที่อุบลรัตน์กล่าวถึงคือ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติด้านความมั่นคง ที่ลงมาดูแลคดีนี้ด้วยตนเองและไม่อนุญาตให้มีการประกันตัวในชั้นสอบสวน (ก่อนศาลสั่งปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข)
MBK 39 ในสายตาผู้ต้องหา
อ้อมทิพย์: “เขาทำให้เราเห็นว่า คสช. เป็นตัวตลก เขาทำตัวเองเลยนะ คนรุ่นใหม่ ด้วยความเป็นปัจเจก จากการเลี้ยงดูตั้งแต่เด็กเราอาจไม่สนใจอะไรมากนัก กระบวนการทางสังคมมันอาจทำให้เราไม่ได้มีจุดโฟกัสทางการเมืองอย่างเดียว แต่พอเขาเริ่มเห็นคนใกล้ตัว เช่น นักศึกษาไปโดนจับ ด้วยข้อหาที่ไม่สามารถเรียกว่าเป็นข้อหาได้ เพื่อนหนูก็เริ่มตระหนักถึงปัญหาทางการเมืองบ้างแล้ว ปัญหาการบริหารของ คสช. หรือความฟอนเฟะที่เกิดขึ้น นิสิตนักศึกษาเขารับรู้ มีการพูดถึงในวงกว้าง อาจไม่ถึงขั้นที่บอกว่า ออกมาล้มล้างรัฐบาลกัน แต่บอกได้ว่าสิ่งที่ คสช. จะทำให้เราหยุด มันทำให้กลายเป็นเรื่อง gossip ที่ค่อนข้างมีอิทธิพลสูง การที่ คสช. ทำอะไรลงไป ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม มันจะเป็นการปลูกเมล็ดพันธุ์ให้นักศึกษาหันมาสนในสถานการณ์ทางการเมืองมากขึ้น”
สงวน: “มันจะทำให้เกิดคนหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้น” สงวนหมายถึงคนหน้าใหม่ที่จะเดินหน้าเข้าสู่ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งคนหน้าใหม่ในสายตาของสงวนไม่ได้หมายความเพียงคนรุ่นใหม่ นิสิต นักศึกษาเท่านั้น เขาตั้งข้อสังเกตว่าคนที่เขาเจอในวันที่ 27 ที่สกายวอล์คนั้นหลายคนเป็นคนวัย “ป้า” ที่ได้ฟังคนรุ่นหลานอย่างเนติวิทย์, โรม, จ่านิว รวมถึงเพนกวิน แล้วติดใจ มองเห็นพลังในการขับเคลื่อนของคนกลุ่มนี้ และเขาคิดว่าเหตุการณ์ MBK จะช่วยผลักให้กลุ่ม “ป้าๆ” ตรงนี้ออกมาเป็นพลังให้กับสังคมควบคู่กับคนรุ่นลูกรุ่นหลานมากขึ้น
“การเล่นของนักศึกษาช่วงหลังก็ยิ่งสนุก โดยเฉพาะเรื่องพิน็อคคิโอ จมูกยาว หากไผ่ไม่ติดคุกผมว่าเราคงเห็นอะไรที่ตื่นเต้นเร้าใจกว่านี้..... ตอนนี้แรงกดดันของนานาชาติก็มีมาก การประชุมสิทธิมนุษยชนที่กรุงเจนีวาก็หยิบยกสถานการณ์ที่เป็นปัญหาในสังคมไทยมาพูด การประชุมองค์กรนิรโทษกรรมสากล ก็หยิบเรื่องสกายวอล์คมาพูด แต่สมาคมสื่อในไทยไม่พูดอะไรเรื่องนักข่าวถูกจับเลย”
แม้จะมีคาดหวังการได้รับความสนับสนุนใดๆ จากสมาคมวิชาชีพ แต่สงวนก็คิดว่าจากนี้ไปเขาคงต้องหาทางขับเคลื่อนเพื่อให้นักข่าวพลเมืองอย่างเขามีที่ยืนในทางวิชาชีพ เพราปัจจุบันประเทศไทยมีนักข่าวพลเมืองไร้สังกัดอย่างเขาเป็นจำนวนมาก “ถึงเวลาแล้วที่เราต้องมีสมาคมนักข่าวพลเมือง” เขากล่าว
กับข้อกล่าวหาเรื่องท่อน้ำเลี้ยง
ท่อน้ำเลี้ยง เป็นอีกหนึ่งข้อกล่าวหาที่ถูกพูดถึงมาก ฝ่ายความมั่นคงพยายามแสวงหาท่อน้ำเลี้ยงและเส้นทางลำเลียงน้ำเลี้ยงนั้นสู่ขบวนการเคลื่อนไหว ทวีศักดิ์ ซึ่งพ้นรั้วการเป็นนักศึกษามาได้ประมาณ 4 ปี บอกเล่าประสบการณ์การหาเงินของขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในวันนั้นกับข้อกล่าวหาเรื่องท่อน้ำเลี้ยงของฝ่ายความมั่นคงได้ทั้งแสบและคัน
“ตอนนั้นผมมีเพื่อนนักศึกษากลุ่มหนึ่ง ก็คือกลุ่มที่เคลื่อนไหวร่วมกันในปัจจุบัน มีโรม (รังสิมันต์) อยู่ด้วย เราไปแสดงพลัง ถือป้าย ยืนอ่านบทกวีกัน แล้วก็มีบางคนเอากล่องไปตั้งขอรับบริจาค ท่อน้ำเลี้ยงเราก็มีอยู่แค่นี้ ถึงวันนี้เราก็ยังทำกันอยู่เหมือนเดิม ท่อน้ำเลี้ยงเรายังเหมือนเดิม ผมก็สงสัยว่าทำไมฝ่ายบ้านเมืองยังหาไม่เจอว่าท่อน้ำเลี้ยงเราอยู่ตรงไหน ผมว่าเขาคงพยายามดิสเครดิตและทำลายภาพลักษณ์เรา”
ขณะที่สงวน ประกาศอย่างชัดเจนว่าเป็นท่อน้ำเลี้ยงของนักศึกษาที่กำลังเคลื่อนไหวกันอยู่ในปัจจุบัน “ผมประกาศเลยว่าผมเป็นท่อน้ำเลี้ยงของเด็ก ตอนเด็กๆ พวกนั้นรับปริญญาผมพาไปเลี้ยงเลย 20 กว่าคน ตอนผมไปใต้หวัน จ่านิวตามไปผมก็พาเที่ยวพาเลี้ยง ผมเป็นทั้งกระบอกเสียงให้ประชาธิปไตยและเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้ประชาธิปไตยด้วย แต่ผมสงสัยว่าท่อน้ำเลี้ยงของ กปปส. ที่มีการออกหมายจับไปแล้วทำไมไม่เห็นมีการทำอะไรต่อ”
ด้านอ้อมทิพย์ ไม่ลังเลที่จะประกาศชื่อท่อน้ำเลี้ยงของเธอ “เนติวิทย์ค่ะ เขาได้มาจากท่อน้ำเลี้ยง แล้วก็เอามาเลี้ยงข้าวหนูอีกต่อหนึ่ง” ด้วยวัยของการเป็นนิสิตปีที่ 2 อ้อมทิพย์มองว่าข้อกล่าวหาของภาครัฐไม่เฉพาะเรื่องท่อน้ำเลี้ยง แต่รวมถึงการป้ายสีอื่นๆ เป็นสิ่งที่ “ไม่เวิร์คแล้ว มุขนี้มันเก่าแล้วค่ะ”