วันอาทิตย์, มีนาคม 11, 2561

ปฏิเสธเสียงสั่น “ไม่ขายชาติ” ให้เช่าที่อีอีซี ๙๙ ปี แต่ญี่ปุ่นก็ยังอยากไปเวียตนามมากกว่า


หายไปนาน ทั่นห่านอูโฆษกนายกฯ รัฐประหาร โผล่มาปฏิเสธเสียงสั่น “ไม่ขายชาติ” เรื่องให้นักลงทุนจากนอกเช่าที่ดินได้ ๙๙ ปี ในโครงการอีอีซี หรือ ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก

ข้ออ้างน่ะหรือ ว่าเป็นไปตามหลักปฏิบัติสากลและกฎหมายเก่าแก่ตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ “เป็นสิทธิเดิมที่นักลงทุนต่างชาติเคยได้รับ” นั่นคือ “สัญญาเช่าครั้งแรกจะไม่เกิน ๕๐ ปี และขยายตัวได้ตามความตกลงอีกไม่เกิน ๔๙ ปี”


นี่ถ้าไม่ใช่ห่านอูพูดสลิ่มไม่เชื่อนะ เมื่อก่อนตั้งแต่หลังปี ๔๙ มา เห็นพวกคลั่งลัทธิทหารพระราชาร้องแรกแหกกะเฌอกันนักไม่ใช่เหรอว่าไอ้การให้เช่า ๙๙ ปีเนี่ย ทักษิณขายชาติทั้งที่มันกฎหมายเดียวกัน หลักการเดียวกันมาก่อน

แล้วก็ อีอีซี นี่เหมือนกัน ทั่นรองฯ กูรูเศรษฐกิจของ คสช. คุยนักหนาจะเอาญี่ปุ่นมาลงเป็นโขยง แล้วไง ข่าว เจแปนไทมส์เพิ่งออกมาสะบัดมือเห็นนิ้วยาวโผล่ใส่ ว่าไตแลนเดีย เฮียไอไม่คัมคัม แล้วนะ
“ความสนใจของบรรดาธุรกิจแจแปนนีส (๙๓๘ แห่ง) ต่อเวียตนามโตเอาโตเอา ดันให้ประเทศในเอเซียอาคเนย์แห่งนี้ติดอันดับสองของพื้นที่โพ้นทะเลน่าขยายกิจการไปลงทุน” ตามการวัดผลของ ‘JETrO’ องค์กรค้านอกประเทศของญี่ปุ่น

ประเทศอันดับหนึ่งในรายการนี้ยังคงเป็นจีน แต่เวียตนามมาเขี่ยไทยตกไปอยู่อันดับสาม ยังดีกว่าสหรัฐที่ตามมาเป็นอันดับสี่ ในกรณีจีนนั้นแม้ยังครองแช้มป์ก็ใช่ว่าจะแข็งแกร่งมากมาย เมื่อปีที่แล้วระดับความสนใจในการขยายการลงทุนของบรรษัทข้ามชาติญี่ปุ่นลดลงไปจากเดิม ๕๒.๓% มาเป็น ๔๙.%

สำหรับไทยว่าตามจริงก็ไม่เลวนัก ‘not too chubby’ สำหรับอันดับสามที่เพิ่งโดนน็อคดาวน์จากอันดับสองที่ครองมาหลายปี เพียงแต่ว่าเวียตนามเขามาแรงมากแซงหน้าไทยแบบฝุ่นตลบ

ตัวเลขผลการสำรวจของเจโทรเปิดเผยเมื่อกลางอาทิตย์ที่ผ่านมา ชี้ว่าเสน่ห์ของญวนต่อบรรษัทข้ามชาติญี่ปุ่นพุ่งจี๋ตั้งแต่ ๒๐.๓% ในปี ๒๕๕๔ ไปเป็น ๓๔.๑% ตอนปี ๕๙ และมาสู่ ๓๗.๕% เมื่อปีที่แล้ว


นั่นพูดแบบเข้าข้างตัวเองน่ะ แทนที่จะบอกว่าเราแย่ลง ก็เปลี่ยนเป็นเขาแน่กว่า แต่เราเท่าเดิม ประมาณว่าน้ำลดไปครึ่งแก้วหรืออีกแค่ครึ่งแก้วก็จะเต็มแล้ว ฝรั่งว่า ‘optimistic or pessimistic’

ทว่าความจริงมันต่างไป เทียบเคียงกับ คนละเรื่องเดียวกันจากคำวิจารณ์ของ Atukkit Sawangsuk ต่ออาการขี้คุยของหัวหน้า คสช. เกี่ยวกับคดี ค่าโง่คลองด่าน

คอยดูเถอะ การล้มคำตัดสินอนุญาโตตุลาการบ่อยๆ จะทำให้ประเทศนี้ไม่มีใครเชื่อมั่น บริษัทข้ามชาติที่มีมาตรฐานจะไม่ทำสัญญาด้วย” มันเป็นไปได้มากที่ทุนต่างชาติ โดยเฉพาะที่เขาใช้มาตรฐานตะวันตก เมินไทย เพราะการใช้กฎหมายกรู ของ คสช. นั่นละ

งานนี้ก็ห่านอูอีกแหระ อ้างคำของนายว่าพอใจผลงานกระทรวงคลังที่รื้อคดีค่าเสียหาย ๙,๖๐๐ ล้านบาทที่ต้องจ่ายผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ให้ศาลปกครองกลางถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด พูดแทนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า “ซึ่งที่ผ่านมาอาจไม่สามารถดำเนินการได้ในรัฐบาลปกติ” ถ้อยคำหยาดเยิ้มแต่แฝงด้วยเล่ห์กระเท่นี่ หยิกเล็บเจ็บเนื้อนะ จะทับถมรัฐบาลที่แล้ว แต่กลับเข้าเนื้อตัวเอง

แบบที่อธึกกิตว่า “แล้วรัฐบาลไม่ปกตินี่ไปสั่งศาลได้เรอะ เรื่องนี้เป็นคำสั่งศาลเว้ย กรมควบคุมมลพิษเพียงแต่ไปขอฟื้นคดี แล้วศาลปกครองพิพากษาพลิก แต่ยังเหลือศาลปกครองสูงสุดอีกชั้น”


การพูดอย่างนี้เท่ากับว่า “กดดันตุลาการศาลปกครองสูงสุด ถ้าพิพากษายืนตามคดีเดิมว่าต้องจ่าย ก็จะถูกรุมถล่มว่าไม่รักชาติ” ใช่นิ

รึว่าถ้าพวกเดียวกันกดดันได้ ประชาชนทั่วไปหรือใครอื่นขืนทำบ้างเป็นโดน รวมทั้งการวิจารณ์คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่เพิ่งออก พรป.มาขย่มชาวบ้าน มันน่าขำแบบแค่นๆ ตรงว่าไม่ทันไรพวกเดียวกันวิจารณ์แล้ว

“เอ้านี่เลย! ลองยา พรป.ห้ามวิจารณ์ศาล รธน. คนแรกเลย! เช็คกันคำต่อคำ ถ้าคนนี้รอด ก็มีช่องล่ะครับ” █ Ghost Writer █ @RITT41 ว่าถึงข่าวมติชนเรื่อง “สุพจน์ ไข่มุกด์ ผิดหวัง มติศาลรธน.ปล่อยกรรมการป.ป.ช.มีตำหนิอยู่ต่อ”
 
จำกันได้นะทั่นไข่มุกด์คนนี้เคยเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่บอกชัชชาติ สิทธิพันธุ์ว่ารถไฟเร็วสูงเอาไว้ก่อน รอจนกว่าถนนฝุ่นลูกรังหมดค่อยว่ากัน เดี๋ยวนี้มาเป็นรองประธานร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) “รู้สึกผิดหวังและตกใจ” ที่ศาลรัฐธรรมนูญวันนี้วินิจฉัยให้กรรมการ ปปช. ซึ่งมีคุณสมบัติเข้าลักษณะต้องห้าม ดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบวาระ


ถึงแม้สุพจน์จะไม่วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง ก็ตีวัวกระทบคราดไปที่ สนช. ที่เขียนกฎหมายลูกเป็นข้อยกเว้น ชนิด “กฎหมายลูกฆ่าแม่ และกลายเป็นกฎหมายลูกทรพี”

เขาอ้างหลักนิติธรรมด้วยว่า “การเขียนรายละเอียดในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายแม่บท คือรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ใช้อารมณ์ ความรู้สึก หรือการต่างตอบแทน เพื่อเขียนสาระที่ปู้ยี่ปู้ยำรัฐธรรมนูญ”

เหล่านั้นคือการละเมิดรัฐธรรมนูญของ สนช. ที่ศาลรัฐธรรมนูญตีตราประทับรับรองให้