วันพฤหัสบดี, กันยายน 14, 2560

ไม่ใช่แค่ที่เดียวอย่างกรณี “กระทิงแดง” ที่รัฐยกที่ดินป่าให้เอกชน แต่ยังมีอีกหลายกรณีที่เราไม่รู้!!!





ไม่ใช่แค่ที่เดียวอย่างกรณี “กระทิงแดง” ที่รัฐยกที่ดินป่าให้เอกชน แต่ยังมีอีกหลายกรณีที่เราไม่รู้!!!


12 September, 2017
LandwatchThai.org


คงไม่มีข่าวไหนในตอนนี้ดังไปกว่ากรณี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีมหาดไทย เซ็นต์หนังสืออนุมัติยกที่ดินป่าชุมชนห้วยเม็ก จำนวน 31 ไร่ 2 งาน ให้กับบริษัทเคทีดี พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ซึ่งอยู่ในเครือธุรกิจกระทิงแดง โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ดินสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ในเขตหมู่บ้านหนองแต้ ม. 6 ต.บ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ซึ่ง ที่ชาวบ้านอนุรักษ์ไว้เป็นป่าของชุมชน เพื่อกำหนดกติกาการใช้ประโยชน์ เช่น เก็บหาของป่า และพื้นที่เก็บน้ำ

โดยเหตุผลที่รัฐอธิบายอ้างในหนังสือเอกสารยกที่ดินให้กับบริษัทลูกกระทิงแดงที่มี พล.อ.อนุพงษ์ เซ็นต์นั้น แยกออกเป็น 3 ประเด็น หนึ่ง ที่ดินพื้นที่ดังกล่างมีสภาพแห้งแล้งไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติ สอง ชาวบ้านไม่ได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชุมชนดังกล่าวแล้ว และสุดท้ายไม่ได้เป็นพื้นที่รับน้ำฝนแต่อย่างใด ต่อเนื่องในข้อความหนังสือ ยังได้อธิบายต่อด้วยว่า “ที่สาธารณะสมบัติห้วยเม็กอยู่กึ่งกลางในเขตประกอบการอุตสาหกรรมของบริษัทฯ และบริษัทฯ มีความจำเป็นต้องขยายกิจการและก่อสร้างอาคารโรงงานเพื่อประกอบการอุตสาหกรรม..” เพื่อเป็นเหตุผลในแก้ข้อท้วงติงในกรณีอนุญาตเกินกำหนดในระเบียบของกระทรวงมหาดไทยที่ให้แต่ละจังหวัดอนุญาตให้ได้รายละไม่เกิน 10 ไร่ เว้นมีเหตุสมควร ซึ่งในกรณีของบริษัทลูกกระทิงแดงที่ขอกว่า 31 ไร่





และจากการตรวจสอบของสื่อหลายสำนักต่อกรณีดังกล่าว ตามคำกล่าวที่รัฐอ้างในหนังสืออนุมัตินั้นล้วนไม่เป็นความจริง เพราะจากภาพจะพบว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่ชุมชนได้ร่วมกันอนุรักษ์ไว้ ตามภาพด้านบน ซึ่งล้อมรอบไว้ด้วยที่ดินของบริษัทกระทิงแดง ต่อเนื่องด้วยประเด็นที่สองที่กล่าวว่าชาวบ้านไม่ได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่นั้นและไม่มีชาวบ้านคัดค้านนั้น ด้านกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่โดยนายไพบูลย์ บุญลา ประธานสภาองค์กรชุมชน ตำบลบ้านดง หนึ่งในชาวบ้านที่ออกมาร่วมประท้วง เมื่อรู้ข่าวว่ามีการยกที่ดินให้กับกระทิงแดง ก็ออกมาต้าน ด้วยเหตุผลว่าไม่เห็นด้วยกับการจะมายึดพื้นที่สาธารณะ ซึ่งชาวบ้านยังมีการใช้ประโยชน์จากที่แห้งนี้ อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวก็ยังเป็นพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ ไม่ได้แห้งแล้งอย่างที่หน่วยงานภาครัฐกล่าวอ้าง นอกจากนี้การที่อ้างว่าไม่มีชาวบ้านผู้ใดคัดด้านก็ไม่เป็นความจริง เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยมีการสอบถามความเห็นหรือทำประชาคมใดๆเลย และประเด็นที่รัฐอ้างว่าไม่ได้เป็นพื้นที่รองรับน้ำฝนแต่อย่างใด นั้นไม่เป็นความจริง เพราะพื้นที่ดังกล่าวห่างจากเขื่อนอุบลรัตน์เพียงแค่ 1 กิโลเมตร และเป็นทางน้ำผ่าน( Flood Way) ของจังหวัดขอนแก่น และหากดูภาพจะสังเกตุเห็นได้ว่าที่ดินของบริษัทลูกกระทิงแดงนั้นได้ล้อมรอบพื้นที่ป่าชุมชนห้วยเม็ก ซึ่งสันนิษฐานได้ว่ามีการซื้อที่ดินล้อมรอบไว้ และเมื่อมีโอกาส และจังหวะที่เหมาะสมมีรัฐบาลเอื้อก็มีการเซ็นต์อนุมัติพื้นที่ดังกล่าวก็จะเป็นพื้นที่ของกระทิงแดง

จากเหตุผลที่กล่าวมา การอนุมัติพื้นที่ดังกล่าวจึงกระทบต่อทั้งที่ดินป่าไม้และธรรมชาติ ชุมชนในพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์จากที่ดิน และธรรมาภิบาลในการอนุมัติของรัฐ ที่ตลอดการบริหารงานของรัฐบาลทหาร เราจะเห็นได้ว่าหนึ่งในนโยบายที่รัฐให้ความสำคัญคือ “ทวงคืนผืนป่า” เพื่อคืนสภาพป่าในประเทศไทยให้ได้ร้อยละ 40 ซึ่งตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่รัฐบาลทหารบริหารประเทศ การทวงคืนผืนป่าได้ดำเนินนโยบายในเชิงรุกอย่างหนัก ตั้งแต่ตัดโค่นพืชผลทางการเกษตรของประชาชนเพื่อให้ออกจากพื้นที่ที่รัฐมองว่าบุกรุก โดยยึดที่ดินกว่า 151,386 ไร่ มีชาวบ้านถูกดำเนินกระบวนการทางกฎหมายกว่า 1,785 คน และปัจจุบันนโยบายดังกล่าวยังดำเนินการอยู่ จนผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนของสถาบันพระปกเกล้า สำรวจว่านโยบายหนึ่งที่ประชาชนให้ความสนใจสูงและได้รับคะแนนลำดับที่ 4 กว่า 91.4% ซึ่งแม้ว่านโยบายทวงคืนผืนป่าจะได้รับคำชมจากประชาชนทั่วไป แต่ภายในเบื้องลึกก็มีการเลือกปฏิบัติ เพราะมีแต่ที่ดินของชาวบ้านเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบมากกว่าที่ดินของนายทุน คนรวย ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้มากเท่าที่ควร

ซึ่งกลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน ที่ได้ติดตามปัญหาที่ดินในประเทศไทยมาตลอด พบว่า การเซ็นต์อนุมัติยกที่ดินของรัฐ ตั้งแต่ที่ดินป่าอุทยานแห่งชาติ ที่ดินป่าไม้ ที่ดินป่าสงวน ให้เอกชนของรัฐนั้น ไม่ได้มีเพียงแค่ครั้งนี้เพียงครั้งแรก เพียงแต่มาเกิดในรัฐบาลชุดนี้มากกว่ารัฐบาลชุดอื่น ด้วยอำนาจที่เบ็ดเสร็จและมีมาตรา 44 อยู่ในมือ จึงทำให้การกระทำเช่นนี้เป็นไปได้ง่ายกว่ารัฐบาลชุดอื่น





เอาเพียงแค่นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลระดับเมกะโปรเจค โดยการสร้างพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทั่วทุกภาคในประเทศไทย จำนวนกว่า 10 จังหวัด ตั้งแต่จังหวัดตาก สงขลา มุกดาหาร สระแก้ว ตราด หนองคาย นราธิวาส เชียงราย นครพนม และกาญจนบุรี เป็นครอบคลุมพื้นที่เขตพัฒนากว่า 3.9 ล้านไร่ ซึ่งการดำเนินการเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10 จังหวัด ให้เป็นรูปธรรมนั้น มีการตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ และมีการจัดหาที่ดินเพื่อให้เอกชนเช่าในการดำเนินการทำธุรกิจในพื้นที่นั้นๆ สู่การใช้อำนาจของรัฐในการจัดหาที่ดินให้เอกชน ซึ่งรูปแบบการจัดการที่ดินของรัฐในแต่ละพื้นที่ก็แตกต่างกันออกไป แต่หลักๆแล้วล้วนใช้อำนาจเบ็ดเสร็จผ่านมาตรา 44 แทบทั้งสิ้น และส่วนมากล้วนเป็นพื้นที่ป่าสงวน ป่าไม้ถาวร และที่สาธารณะประโยชน์ เช่น

  • พื้นที่จังหวัดตาก(ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด) ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวน ป่าไม้ถาวร ที่สาธารณประโยชน์ จำนวนกว่า 2,998 ไร่ ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เปลี่ยนให้เป็นที่ราชพัสดุ เพื่อให้เอกชนสามารถเช่าดำเนินธุรกิจ
  • พื้นที่จังหวัดมุกดาหาร(ต.ตาฮวน อ.เมือง) ซึ่งเป็นพื้นที่ป่า สปก. ป่าไม้ถาวร ที่สาธารณประโยชน์ จำนวนกว่า 2,149 ไร่ ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เปลี่ยนให้เป็นที่ราชพัสดุ เพื่อให้เอกชนสามารถเช่าดำเนินธุรกิจ
  • พื้นที่จังหวัดสระแก้ว(ต.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ) ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวน ป่าไม้ถาวร ที่สาธารณประโยชน์ จำนวนกว่า 1,726 ไร่ ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เปลี่ยนให้เป็นที่ราชพัสดุ เพื่อให้เอกชนสามารถเช่าดำเนินธุรกิจ
  • พื้นที่จังหวัดตราด(ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สาธารณประโยชน์ จำนวนกว่า 887 ไร่ ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เปลี่ยนให้เป็นที่ราชพัสดุ เพื่อให้เอกชนสามารถเช่าดำเนินธุรกิจ
  • พื้นที่จังหวัดสงขลา(ต.สำนักขาม อ.สะเดา) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ปปง.ยึดทรัพย์ จำนวนกว่า 1,095 ไร่ ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ยกเว้นกฎหมายผังเมือง เพื่อให้เอกชนสามารถเช่าดำเนินธุรกิจ
  • พื้นที่จังหวัดหนองคาย(ต.สระใคร อ.สระใคร) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สาธารณประโยชน์ จำนวนกว่า 718 ไร่ ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เปลี่ยนให้เป็นที่ราชพัสดุและกฎหมายยกเว้นผังเมือง เพื่อให้เอกชนสามารถเช่าดำเนินธุรกิจ





  • พื้นที่จังหวัดนครพนม(ต.อาจสามารถ อ.เมือง) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สาธารณประโยชน์ จำนวนกว่า 1,860 ไร่ เตรียมใช้อำนาจตามมาตรา 44 เปลี่ยนให้เป็นที่ราชพัสดุ เพื่อให้เอกชนสามารถเช่าดำเนินธุรกิจ
  • พื้นที่จังหวัดเชียงราย(3 อำเภอ แม่สาย/เชียงแสน/เชียงของ) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สปก. ที่สาธารณะประโยชน์ ที่ราชพัสดุ จำนวนกว่า 2,052 ไร่ ได้เตรียมใช้อำนาจตามมาตรา 44 เปลี่ยนให้เป็นที่ราชพัสดุบางส่วน(ที่สาธารณประโยชน์ เพื่อให้เอกชนสามารถเช่าดำเนินธุรกิจ
  • พื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี(ต.บ้านเก่า อ.เมือง) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ราชพัสดุซึ่งกองทัพบกใช้ประโยชน์ จำนวนกว่า 8,193 ไร่ รอการพิจารณา เพื่อให้เอกชนสามารถเช่าดำเนินธุรกิจ
  • พื้นที่จังหวัดนราธิวาส(2 อำเภอ อ.ยี่งอ/อ.เมือง) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่โฉนด 8 แปลง จำนวนกว่า 2,299 ไร่ กำลังรอเจรจาขอซื้อ เพื่อให้เอกชนสามารถเช่าดำเนินธุรกิจ
รวมพื้นที่เพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและเอื้อให้เอกชนทั้งไทยและเทศเข้ามาเช่ารัฐในการทำธูรกิจกว่า 23,955 ไร่ ซึ่งเป็นจำนวนที่ดินมหาศาลนการอนุมัติให้เอกชน เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีของการเซนต์ยกที่ดินให้กับบริษัทลูกกระทิงแดง และนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลโดยการสร้างพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ต้องสูญเสียที่ดินป่าสงวน ป่าไม้ถาวร และที่สาธารณประโยชน์ เหล่านี้กลับสวนทางกับนโยบายทวงคืนผืนป่าที่รัฐบาลขะมักเขม้นจะปฏิบัติอย่างสิ้นเชิง

และแน่นอนว่าประชาชนก็ไม่ได้ยี่หร่ะกับประเด็นการยกที่ดินของรัฐให้กับเอกชนในประเด็นนี้ เมื่อเราถูกรัฐกล่าวอ้างว่าการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษจะทำให้ประเทศไทยเจริญก้าวไกล มีเศรษฐกิจที่ดี ดังเช่นคำกล่าวอ้างในหนังสือเซ็นต์อนุมัติของพล.อ.อนุพงษ์ ยกที่ดินให้กระทิงแดง แต่การกระทำของดังกล่าวได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ว่ารัฐบาลชุดนี้เอื้อนายทุนมากกว่าประชาชน แม้จะต้องผิดหลักธรรมาภิบาลก็ตาม และตัวอย่างกระทิงแดง คงทำให้ประชาชนตาสว่างขึ้นต่อประเด็นการยกที่ดินของรัฐให้กับเอกชน และร่วมกันต่อต้านการนำที่ดินรัฐไปให้เอกชน