บ้านเรานี่มีอะไรฮาๆ แยะจัง
(หมายถึงที่เป็นทางการและสาธารณะ น่ะนะ) “อันนี้ฮาจริง” Teerapan Pankeeree ยืนยัน
ในการตอบคอมเม้นต์ของ พนม ยงค์เสนา ที่ว่า “คดีแรกในโลกไหมที่ทนายไม่บอกว่ารับมอบอำนาจจากใคร” บนโพสต์ของ
Atukkit Sawangsuk ซึ่งอ้างข่าวโพสต์ทูเดย์เรื่อง “ทนายอาชีพ
ใครจ้างต้องทำงาน”
ในข่าวนั้น วิมล
ส่งเสริมสกุล คือทนายความผู้ทำหนังสือถึงสมาคมนักข่าวกรณี “ข่าวลือหรือจริง...บิ๊กสื่อคนดีปล้ำลูกน้อง”
แล้วสมาคมนักข่าวฯ ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนหาข้อเท็จจริง
เขาเห็นว่า “การตั้งกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงนั้น
มีความสุ่มเสี่ยงต่อการร่วมกันกระทำความผิดทางอาญาฐานหมิ่นประมาท” แต่หมิ่นประมาทใครทนายไม่ยอมบอก
อ้างเป็นจรรยาบรรณทางวิชาชีพ แต่ไม่วายแย้ม
“ผมว่านักข่าวรู้ดีนะว่าใครว่าจ้างผม
ผมเป็นทนายอาชีพ ใครจ้างก็ทำงาน
แต่ผมพูดไม่ได้ว่าฝ่ายหญิงหรือฝ่ายชายเป็นคนว่าจ้าง แต่ผมเชื่อว่านักข่าวรู้ดี
นักข่าวเก่งๆ เยอะ”
คงจะเหตุเพราะทนายวิมลพูดเยอะ
รวมทั้งที่โพสต์ทูเดย์โคว้ตเอามาลง “ผมทนายอาชีพมีคนจ้างก็ต้องทำงาน
และที่ผ่านมาผมก็ทำงานให้กับหลายคน หากเอาชื่อผมไปค้นหาในกูเกิ้ลก็ต้องรู้ข้อมูล”
โพสต์ทูเดย์ก็ไปค้นตามท้า
ได้ความตอนหนึ่งว่า “เคยเป็นทนายความให้กับ บริษัท โอเอไอ แมนเนจเม้นท์
จำกัด และบริษัท เวิร์ธ ซัพพลายส์ จำกัด เมื่อปี ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นสองบริษัทที่ถูก
คตส.ออกคำสั่งอายัดทรัพย์ไว้
หลังจากพบว่ามีเงินที่เกี่ยวข้องจากการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป ซึ่งเกี่ยวข้องกับนายทักษิณ ชินวัตร
อดีตนายกรัฐมนตรี”
ก็ไม่รู้เกี่ยวกันยังไง
ดูอย่างคนไกลปืนเที่ยงมันน่าขำอยู่ ที่ไหงมันจะต้องเกี่ยวพันทักษิณ ชินวัตรจนได้
ไม่เท่านั้นโพสต์ทูเดย์เล่นต่อวันรุ่งขึ้น บทความของ ‘สันทัด กรณี’ ข้องถึงจดหมายเปิดผนึกของ ‘บรรดานักข่าวภาคสนาม’ ขอให้องค์กรวิชาชีพสื่อ
ตั้งกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริง
“อยากเห็น ‘บิ๊กสื่อ’
ที่ตกเป็นข่าวซึ่งเจ้าตัวก็น่าจะรู้ว่าตัวเองนั้นคือบุคคลในข่าว ชี้แจงอย่างเท่ๆ
ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในมุมมองของเจ้าตัว ใช่หรือไม่ จริงหรือเท็จ
รวมถึงเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง พร้อมประกาศยอมรับการตรวจสอบอย่างหล่อๆ”
บทความแยง เสร็จแล้วจุดไฟ “ถ้าสมาคมนักข่าวฯ ไขข้อเท็จจริงไม่ออก
พึ่งพาไม่ได้” ให้กลุ่มนักข่าวภาคสนามหันไปพึ่งเว็บไซ้ท์ในที่มืด เช่น ‘แหม่มโพธิ์ดำ’ หรือ ‘โซเชียล ฮั้นเตอร์’
ทำหน้าที่ตีแผ่ความจริงออกมาแทน
เท่าที่ลำดับดูจากเม้นต์โน้นเม้นต์นี้
เรื่องมันโฉ่ขึ้นมาเมื่อ สุเมธ สมคะเน กรรมการสมาคมนักข่าวฯ แชร์โพสต์ของ Tongseuk Kumpa-u (September 8 at 10:00 am) ที่ว่า “บิ๊กสื่อคนดีปล้ำลูกน้อง!!!
ข่าวลือหรือจริง? วานสำนักข่าว
อิศราตรวจสอบด้วย!!”
“ปัญหาคุกคามทางเพศทางองค์กรสื่อ เป็นเรื่องเลวร้าย
อย่าให้ผู้คนประณามว่า...ยกเว้นตรวจสอบคนสื่อ” คือข้อความโพสต์ของสุเมธ
ที่แถลงการณ์ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แก้ต่างให้ว่า
“ข้อเขียนดังกล่าว...เกิดจากการศึกษารวบรวมข้อมูลปัญหาคุกคามทางเพศ
ที่เกิดขึ้นในหลายองค์กรสื่อ” คือไม่เจาะจงใครโดยเฉพาะ และ “เก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้เคยเป็นผู้เสียหายหลายกรณี
มาตั้งแต่เดือนกรกฎา” โน่นแล้ว
ถึงอย่างนั้นทนายวิมลโต้ไว้ในจดหมายขู่
(ภาษาชาวบ้านเรียก ‘ยื่นโนติ๊ช’) ว่า “เป็นการกระทำที่ปราศจากอำนาจ อันจะอ้างตามข้อบังคับของสมาคมได้...
แล้วยังเป็นการกระทำที่ไม่มีเหตุอันจะอ้างตามกฎหมาย
ซึ่งเป็นข้อยกเว้นของความผิดฐานหมิ่นประมาท ได้แต่อย่างใด”
ฉะนี้ อธึกกิต แสวงสุข จากค่ายว้อยซ์
อุทานว่า “อุ๊ต๊ะ ชาวบ้านเขายังไม่รู้เลยว่า ‘บิ๊กสื่อ’ นี่คือใคร ไหงร้อนตัว
ทั้งที่ยังไม่เสียหาย (ผมก็ไม่รู้จริงๆ นะ ใครหว่า)
สมาคมเขาตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง
ซึ่งแปลว่ายังไม่ได้ปรักปรำใคร ยังไม่ได้ชี้ว่าผิดจริงหรือไม่
สอบแล้วท่านอาจไม่ผิดก็ได้ ไหงส่งทนายมาขู่ฟ้อง ร้อนท้องนี่หว่า
แถมเรียกร้องให้สอบสุเมธ สมคะเน คนที่เผยแพร่ข้อความจนนำมาสู่การสอบสวน
ทีท่านตรวจสอบคนอื่น ไม่เห็นเป็นอย่างนี้
ถ้าท่านเรียกร้องให้ตั้งกรรมการสอบใคร แล้วฝ่ายนั้นบอกให้สอบท่านด้วย
ท่านคงจะโวยวายว่า "ปิดปากสื่อ"
ว่าที่จริง เรื่องนี้ยังไม่แน่หรอกว่าสอบแล้วจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่
หลายคนที่ได้ฟังก็ยังไม่เชื่อนัก แต่พอมีโนติ๊สทนายมาอย่างนี้ จริงไม่จริง
มันก็กลายเป็นเรื่องลุกลาม กลายเป็นคำถามว่าทำไมไม่ยอมรับการตรวจสอบ”
นั่นแหละ ชาวบ้านมักพูดว่า จิ้งจกชอบร้องทัก
ส่วนตุ๊กแกมักร้องเตือน แต่ถ้าตุ๊กแกดันกินปูน จะร้องเสียงหลงเพราะร้อนท้อง