วันเสาร์, ธันวาคม 17, 2559

“หลังเห็นร่าง พรบ. คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ชาวไอทีบางคนถามว่า นี่มัน Thailand 4.0 หรือ 0.4 กันแน่” - บก.ลายจุด





เรื่องซิงเกิ้ลเกตเวย์นี่ ใครต่อใครใน คสช. ออกมาปฏิเสธกันอุตลุต พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่มี้ ไม่มี

ทั้งประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานวิสามัญ กมธ. และฤทธี อินทราวุธ ผอ.ศูนย์ไซเบอร์ทัพบก

รายหลังนี่ไปไกลมากกก..ทั่น ผอ. บอกว่าพวกพลเมืองที่ออกมาต่อต้าน พรบ. คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ (ที่ขณะเขียนอยู่นี้ สนช.กำลังอภิปรายเพื่อการอนุมัติผ่านในวาระ ๓ อย่างขมักเขม้น) นั้น

“ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิข้อมูลส่วนบุคคล หรือคุกคามสิทธิส่วนบุคคลในโลกไซเบอร์ตามที่มีคนบางกลุ่มพยายามสร้างกระแสบิดเบือน...

จนทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ ซึ่งเป็นเวลาที่คนไทยทั้งชาติอยู่ในความอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ซึ่งต้องการความรัก สามัคคี และกำลังใจในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กลับคืนมาโดยเร็ว”

(http://www.matichon.co.th/news/394918)





อ่า ทั่น ผอ. ฮัฟ ไอ้ที่กล่าวหาว่าเขาบิดเบือนนั่น เลื่อนเปื้อนน่าดูอยู่แล้ว (ที่จริงอย่างไร เดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง) แต่ทั่น ‘โหน’ ต่องแต่ง เอาความโศกาอาดูรมาอ้างเนี่ย ใช้อะไรคิด

ซ้ำอ้างด้วยว่าจะเอาความเข้มแข็งกลับมา...ให้ใครล่ะ ถ้าไม่ใช่ คสช. เอง

ดูจากข้อคิดที่ ‘blognone’ นำเสนอไว้ ประเด็นมาตรา ๒๐ ในร่าง พรบ. การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับใหม่ เห็นได้ชัดแจ้งว่าเจตนาก็คือเพิ่มอำนาจให้แก่เจ้าพนักงานนั่นละ

“ข้อ ๔ ที่ให้ ‘กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม’ สร้าง ‘ระบบศูนย์กลาง’ เพื่อบริหารจัดการการระงับข้อมูล เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นเอง โดยอาจไม่ต้องผ่านผู้ให้บริการ”

(https://www.blognone.com/node/88306)

อย่างนี้ย่อมสมควรแล้วที่ชาวเน็ตสมาชิกเพจ ‘พลเมืองต่อต้าน Single Gateway : Thailand Internet Firewall #opsinglegateway’ พากันออกปฎิบีติการ “F5 for All Thai people”

เข้าไปถล่มเว็บไซต์ของรัฐสภา เป้าหมายให้เว็บล่มชั่วคราว ใช้การไม่ได้เป็นเวลา ๑ ชั่วโมง

นั่นก็เพื่อจะเตือน คสช. กับลิ่วล้อว่า การใช้อำนาจกดขี่ ดึงดันผ่าน กม. ด้วยการ ‘ลักหลับ’ หรือ ‘ชำเรา’ นั้น ประชาชนมีหนทางประกาศความจริงให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลกได้





จากการร้องเรียน ทั้งผ่าน petitioning ที่ Change.org และการนำรายชื่อคนคัดค้านกว่า ๓ แสนรายไปยื่นกับ สนช. โดยตัวแทนเครือข่ายพลเมืองเน็ตและองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์แน้ทชั่นแนล

(http://www.bbc.com/thai/thailand-38325354…)

ไม่เพียงเท่านั้น ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า ถึงแม้ พรบ. คอมพ์ ฉบับใหม่จะไม่ใช่การจัดตั้งระบบ Single Gateway แต่ก็เป็นการบังคับด้วยกฎหมายในลักษณะเดียวกับการทำงานของซิงเกิ้ลเกตเวย์นั่นเอง

ดังที่ ‘iLaw’ อธิบายไว้ เรื่อง “ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หรือ #พรบคอม ที่กำลังจะผ่าน สนช. ยังไม่ใช่ Single Gateway

“เพราะ Single Gateway นั้นต้องทำใน ‘ทางกายภาพ’ คือต้องสร้างระบบทางเดินของข้อมูลขนาดใหญ่ขึ้นมา แต่ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับนี้ ให้อำนาจรัฐมากขึ้นในการควบคุมเนื้อหาบนโลกออนไลน์และการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนใน ‘ทางกฎหมาย’ เท่านั้น ไม่ใช่ทางกายภาพ”

และ ‘ไม่ใช่กฎหมายฉบับเดียว’ ที่จะมาควบคุมการใช้งานอินเทอร์เน็ต การสื่อสาร และข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน แต่ยังมีอีกมากทั้งที่ผ่านแล้วและรอคิวอยู่”

ไอลอว์ทบทวนความเป็นมาของ “การควบคุมเนื้อหาบนโลกออนไลน์และการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน” โดยรัฐบาล คสช. ย้อนไปเมื่อต้นปี ๒๕๕๘

“คณะรัฐมนตรีเคยรับหลักการกฎหมายเกี่ยวกับโลกออนไลน์ทีเดียว ๘ ฉบับ ภายใต้ข้ออ้าง ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ ซึ่งรวมถึงร่างแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับนี้ด้วย

แต่หลังมีเสียงคัดค้านท่วมท้น กฎหมายทั้งชุดจึงถูกเปลี่ยนมาเป็นค่อยๆ ทำและค่อยๆ ผ่านทีละฉบับ”

อันได้แก่ พรบ.จัดตั้งกระทรวงดิจิทัล พรบ. พัฒนาดิจิทัล ซึ่งจัดตั้งคณะกรรมการวางแผนแห่งชาติ และ พรบ. จัดสรรคลื่นความถี่

หนักกว่านี้ยังมีอีกสองฉบับกำลังจะตามมา คือ “พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ ที่จะให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้ามาตรวจสอบการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ โดยไม่ต้องมีหมายศาล”

กับ “ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล...กลับมีหลักการให้การเก็บข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลก่อน”

(https://ilaw.or.th/node/4372)

ด้วยเหตุนี้ ‘เครือข่ายพลเมืองเน็ต ‏@thainetizen’ จึงยังคงรณรงค์ทาง Change.org ต่อไป

“แคมเปญต้านกม.ล้วงข้อมูลส่วนบุคคล ยังเปิดให้ลงชื่อต่อ นอกจาก #พรบคอม สนช.ยังมี #พรบไซเบอร์ และ #พรบข้อมูลบุคคล อีก https://change.org/singlegatewayreturn …”

ทั้งนี้และทั้งนั้น ด้วยเหตุผลสั้นๆ ดังที่ ‘บก.ลายจุด ‏@nuling’ คอมเม้นต์ไว้บนทวิตภพว่า

“หลังเห็นร่าง พรบ. คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ชาวไอทีบางคนถามว่า นี่มัน Thailand 4.0 หรือ 0.4 กันแน่”