http://www.parliament.go.th/ewtcommittee/ewt/draftconstitution2/ewt_dl_link.php?nid=872&filename=index
ooo
คำอธิบายอย่างย่อเกี่ยวกับ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
ที่มา Voice TV
นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พร้อมด้วย นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง เลขานุการฯ และ นายศุภชัย ยาวะประภาษ กรธ. ร่วมกันแถลงและอธิบายเนื้อหาของ ร่างฯ ดังกล่าวเมื่อวานนี้ (7 ธ.ค.) โดยสรุปเนื้อหาได้ดังนี้
ร่างพระราชบัญญัติฯ ประกอบไปด้วย 10 หมวด 129 มาตรา เนื้อหามุ่งให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้ประชาชนควรเป็นเจ้าของพรรคการเมืองอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพื่อประโยชน์บุคคลบางกลุ่ม
จำนวนสมาชิกและเงื่อนไขในการตั้งพรรค
กำหนดให้การตั้งพรรคต้องรวมตัวกันให้ได้ 500คน จ่ายเงินทุนประเดิมอย่างน้อยคนละ 2,000บาท แต่ไม่เกิน 500,000บาท และในปีแรกต้องมีสมาชิกให้ได้ 5,000 คน จากนั้นภายใน 4 ปี ต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 20,000 คน
ต้องตั้งสาขาพรรคอย่างน้อย 1แห่งในแต่ละภาคที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนด มีตัวแทนประจำจังหวัดในแต่ละจังหวัด ไม่น้อยกว่า 100 คน และพรรคการเมืองต้องจดทะเบียนพรรคกับ กกต. อย่างไรก็ตาม กรธ. ไม่มีเจตนาเซตซีโร่พรรคการเมืองเก่า แต่พรรคการเมืองต้องปรับเปลี่ยนกติกาใหม่
หน้าที่พรรคการเมือง 4 ข้อ
ต้องเสริมสร้างให้สมาชิกพรรค และประชาชนเข้าใจระบอบประชาธิปไตย ใช้สิทธิเสรีภาพอย่างถูกต้อง
เสนอแนวทางพัฒนาประเทศและแก่ปัญหาอย่างเหมาะสม
ต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างมีเหตุผล
ต้องส่งเสริมให้ประชาชนสามัคคี ปรองดอง และแก้ปัญหาความขัดแย้งในประเทศอย่างสันติวิธี
บทลงโทษ
หากพรรคไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ที่กำหนดใน พ.ร.ป. มีโทษถึงขั้นยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคด้วย
นอกจากนี้ ยังกำหนดโทษการกระทำผิดนำไปสู่การยุบพรรค อาทิ กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การปล่อยปะละเลยให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคเข้ามาครอบงำการดำเนินกิจการภายในของพรรค ซึ่งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคแล้ว ห้ามบุคคลใดใช้ชื่อ ชื่อย่อ ตราสัญลักษณ์พรรคการเมืองนั้นซ้ำ หรือพ้องกับพรรคที่ถูกยุบ ห้ามกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบ ไปจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองใหม่ หรือไปเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองอื่นภายใน 10 ปี
ทั้งนี้ กรธ.เตรียมจัดเวทีชี้แจงเนื้อหาร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากนักการเมือง และพรรคการเมือง ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในวันที่ 14 ธ.ค.59 ณ สโมสรสันนิบาตสหกรณ์ โดยจะนำความเห็นมาปรับแก้ไขเนื้อหาต่อไป ส่วน ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. คาดว่าจะมีการเปิดเผยเนื้อหาได้ภายในสัปดาห์หน้า