วันพุธ, ธันวาคม 14, 2559

ทำไมเราต้องหยุด พ.ร.บ.คอมฯฉบับใหม่?





ทำไมเราต้องหยุด พ.ร.บ.คอมฯฉบับใหม่?


14 ธันวาคม 2559
พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ
บรรณาธิการรายการข่าว Voice TV
Source: Voice TV

15 ธันวาคมนี้ สนช.กำลังจะผ่านกฎหมายคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ย้อนไปดูความทรงจำตลอด 10 ปีของผู้ช่วยประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ตก่อนถึงวันนี้




On social media several thousand Poles have pledged to join antigovernment demonstrations on December 13. In 1981 on this day marshall was declared following protest by the Solidarity movement led by former Polish president Lech Walesa. (Photo by Jaap Arriens/NurPhoto via Getty Images)


เขียนถึง พ.ร.บ.คอมฯฉบับใหม่นิดนึง ย้อนไปเมื่อ 10ปีก่อนที่มีการรัฐประหาร คมช.เข้ามาในประเทศไทยในช่วงการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีที่สำคัญ คือการเพิ่มขึ้นของประชากรอินเทอร์เน็ตในไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด

ผมรู้จักการปิดเว็บครั้งแรกหลังจากการรัฐประหาร สมัยช่วงปี2546-2549น่าจะเป็นช่วงพีคของวัฒนธรรมเว็บบอร์ด ตอนนั้น ห้องราชดำเนินของพันทิปปิดตัวเองลง นั่นเป็นครั้งแรกๆที่เกิดการ Self Censorship ออนไลน์ใหญ่ในไทย รวมไปถึงเริ่มมีการปิดเว็บไซต์การเมืองต่างๆ

ไม่กี่เดือนหลังรัฐประหาร สนช.ซึ่งก็มีคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานสนช.ผลักดัน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำเกี่ยวกับความผิดคอมพิวเตอร์ พุทธศักราช 2550 หรือ พ.ร.บ.คอมฯ ด้วยพื้นฐานกฎหมายที่ออกในสมัยรัฐประหาร หลักใหญ่ใจความมันคือการ "ควบคุมดูแล" มากกว่า "กำกับดูแล"ประชาชน

ตอนนั้นเริ่มมีกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า F.A.C.T. (Freedom Against Censorship Thailand) เริ่มนำเสนอคำใหม่ในสังคม นั่นคือ "เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต" สมัยก่อนเราอาจจะพูดถึงแค่เสรีภาพทางการแสดงออก แต่โลกยุคใหม่อินเทอร์เน็ตคือการแสดงออกที่สำคัญที่ระบุความเป็นตัวตนของเรา ผมเริ่มติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

สายวันอาทิตย์วันหนึ่งในกลางปี2551 ที่สมาคมนักข่าวฯได้มีการจัดเสวนาและเปิดตัว "เครือข่ายพลเมืองเน็ต" ท่ามกลางวิกฤตการชุมนุมพันธมิตร2551 มีงานเสวนาเรื่องสื่อออนไลน์กับการเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการเมือง เริ่มมีการที่คนถูกพ.ร.บ.คอมฯเล่นงาน โดยเรารู้กันแล้วว่าด้วยความเป็นกฎหมายอาญามันจะกลายเป็นอาวุธสำคัญทางการเมืองในอนาคต
จากนั้นผมได้เข้าร่วมเป็นผู้ช่วยผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต ตั้งแต่ปี 2551-2556

งานในช่วงแรกของเครือข่ายพลเมืองเน็ตนั้นเป็นไปในเชิง การรณรงค์ (advocacy) จำได้ว่าเราพยายามบอกกับสังคมว่าเสรีภาพในโลกออนไลน์นั้นสำคัญเพียงไหน แต่เราก็โดนค่อนขอดจากสังคมบ้างก็ว่ารับเงินจากกองทุนโซรอสซึ่งเรารับแค่ปีแรกปีเดียว บ้างก็ว่าเวลาเราออกแถลงการณ์เรื่องการลิดรอนเสรีภาพออนไลน์เป็น "แถลงการณ์ของเครือข่ายพลเมืองเน็ตบางส่วน" (คนพูดนี่เป็นถึงตำนานเว็บไทย ที่ตอนนี้ออกมาร้องเรื่องเสรีภาพออนไลน์)

เราใช้เวลา เกือบ10ปีในการพยายามจะแก้ไขและชี้ให้เห็นปัญหาของการนำไปใช้ เราทำโครงการ My Computer Law เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมฝันถึงพ.ร.บ.คอมฯแบบที่เขาต้องการ จัดวงเสวนาให้ความรู้ อบรมทนายรุ่นใหม่เกี่ยวกับกฎหมายคอมพิวเตอร์ ออกแถลงการณ์เมื่อมีการปิดเว็บไม่ว่าจากรัฐบาลไหน เผยแพร่รายงานเสรีภาพอินเทอร์เน็ตประจำประเทศไทย และไปสัมมนาระดับนานาชาติเพื่อพูดถึงสถานการณ์ในไทย




A man looks at an online 'advent calendar' launched by Europol, the EU's police agency, and listing the most wanted fugitives in Europe in Paris, on December 10, 2016. / AFP / THOMAS SAMSON (Photo credit should read THOMAS SAMSON/AFP/Getty Images)



มาถึงวันนี้ อีกไม่กี่ชั่วโมงเรากำลังได้ พ.ร.บ.คอมฯใหม่ จากการทำรัฐประหาร คสช. ที่เข้มข้นและรุนแรงกว่าเดิม ทั้งในงานเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล การเพิ่มอำนาจรัฐในการตรวจสอบยึดค้นโดยลัดขั้นตอนการขอหมายจากศาลในการสั่งปิดเว็บไซต์ การตีความแบบกว้างขึ้นโดยการใช้คำที่คลุมเครือ เช่น "ข้อมูลอันเป็นเท็จ" ซึ่งใครจะเป็นผู้พิสูจน์ว่าข้อความดังกล่าวเป็นเท็จ โดยแฝงจุดประสงค์การเป็นเครื่องมือทางการเมือง

ตลอดเกือบ 10 ปีที่ผ่านมาเรามีผู้ถูกดำเนินคดีจากพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 กว่าพันรายตั้งแต่คนส่งแก๊สที่เขียนจดหมายประท้วงเจ้านายแล้วมีคนถ่ายรูปเอามาลงเน็ตทั้งที่ตัวเองไม่ได้โพสไปจนถึงผู้หญิงเรียกร้องสิทธิ์ให้กับน้าชายที่ถูกซ้อมตายจากการเกณฑ์ทหาร ความเลวร้ายของ พ.ร.บ.คอมฯทำให้สังคมตื่นตัวมากขึ้นกับเสรีภาพอินเทอร์เน็ต

ไม่สายเกินไปที่เราจะเรียกร้องให้สนช.ทบทวนกฎหมายนี้ในวาระ 3 ที่จะพิจารณาในวันที่ 15 ธันวาคมนี้ แต่ดูจะคาดหวังมากเกินไปกับกลุ่มสนช.ที่ได้ประโยชน์จากแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร คสช. ที่เข้ามาผ่านกฎหมายจำนวนมากแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นในยุคประชาธิปไตยมาก่อน ว่าพวกเขาจะเข้าใจถึงเสรีภาพออนไลน์ หรือมันก็แค่อีกกฎหมายหนึ่งที่เขาตีตรายางให้ผ่าน และยกมือโหวตเป็นฝักถั่วเท่านั้น

#หยุดกฎหมายคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่

ilaw.or.th/node/4364 ร่วมกันส่งต่อข้อความและเผยแพร่ความรู้จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน

ooo





สรุป จาก The Momentum

1. #ไม่ค้านผ่านแน่ๆ ร่วมส่งเสียงคัดค้านก่อน พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ฉบับใหม่จะผ่านการพิจารณาในวาระ 3 และมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายก่อนที่จะสายเกินไป

2. แม้จะไม่มีผลต่อการตัดสินใจของ สนช. แต่เสียงคัดค้านครั้งนี้จะเป็นเครื่องสะท้อนถึงกระบวนการทำงานของ สนช. และแสดงถึงพลังของภาคประชาชนที่จะเป็นเสียงสำคัญสำหรับรัฐบาลต่อไป

เรียกได้ว่าเป็นโค้งสุดท้ายจริงๆ สำหรับการคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่..) พ.ศ…. หรือร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่กำลังจะผ่านการพิจารณาจาก สนช. ในวาระที่ 3 ก่อนบังคับใช้เป็นกฎหมายภายในเร็ววันนี้
ก่อนจะถึงเวลานั้น The Momentum อยากชวนคุณมาทบทวนอีกครั้งว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้างหากปล่อยให้ร่าง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ฉบับนี้ผ่านการพิจารณา เพื่อที่คุณจะได้ไตร่ตรองว่าจะร่วมเป็นเสียงหนึ่งในการคัดค้าน หรือควรจะเห็นด้วยกับ พ.ร.บ. ฉบับนี้กันแน่

1. ต้องระมัดระวังการวิพากษ์วิจารณ์ผ่านโลกออนไลน์มากขึ้น
สำหรับร่าง พ.ร.บ. คอมฯ ฉบับใหม่นี้ ข้อความที่ระบุว่าการเผยแพร่ "ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ" ในมาตรา 14 (1) ยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งที่ผ่านมามีความคลุมเครือในการบังคับใช้ และมักจะถูกตีความเพื่อจำกัดการตรวจสอบผู้มีอำนาจทั้งในภาครัฐและเอกชน ทั้งที่เจตนารมณ์แท้จริงของกฎหมายคือการมุ่งแก้ปัญหาการปลอมแปลงตัวตนเพื่อหลอกลวงทางออนไลน์เท่านั้น
แต่ในมาตรา 14 (2) ของร่างที่กำลังมีการแก้ไข ยังกำหนดฐานความผิดให้ยิ่งคลุมเครือมากยิ่งขึ้น เช่น ความผิดฐานโพสต์ข้อมูลเท็จที่กระทบต่อ "ความปลอดภัยสาธารณะ" “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ" หรือ "การบริการสาธารณะ" ซึ่งไม่มีนิยามที่ชัดเจนในกฎหมายว่าหมายถึงอะไรบ้าง อาจทำให้การบังคับใช้มีปัญหา และเกิดการตีความโดยเจ้าหน้าที่เพื่อประโยชน์ของผู้มีอำนาจในเวลานั้น
ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือ เฝ้าจับตามองการบังคับใช้กฎหมายมาตรานี้อย่างใกล้ชิด และระมัดระวังการแสดงความคิดเห็นที่อาจจะขัดแย้งกับผู้มีอำนาจโดยตรง

2. รีบบล็อก รีบปิด โจทย์ใหม่ของผู้ให้บริการ
สำหรับผู้ให้บริการเว็บไซต์ท่าและโซเชียลมีเดียต่างๆ วิธีการทำงานต่อจากนี้อาจจะต้องเปลี่ยนไป เพราะมีภาระรับผิดชอบใหม่ตามข้อ 5 (2) ของร่างประกาศกระทรวงดิจิทัลตามอำนาจมาตรา 15 ของร่างใหม่ ที่ระบุว่า ผู้ให้บริการเว็บไซต์ท่าและโซเชียลมีเดียจะต้องระงับหรือลบข้อมูลภายใน 3 วัน หลังได้รับแจ้ง ไม่เช่นนั้นจะต้องรับโทษเท่ากับผู้โพสต์ ซึ่งขั้นตอนการแจ้งตามมาตรา 15 ดังกล่าว ไม่มีการตรวจสอบโดยศาล และผู้แจ้งจะเป็นใครก็ได้
หมายความว่าเว็บไซต์ หรือข้อมูลต่างๆ ในโลกออนไลน์อาจหายวับไปอย่างรวดเร็วโดยไม่มีใครรู้ตัว เพราะการปิดเว็บด้วยมาตรา 15 จะทำได้สะดวกกว่าการใช้มาตรา 20 ของ พ.ร.บ. คอมฯ ฉบับเดิมซึ่งต้องใช้คำสั่งศาล

3. อาจไม่มีความปลอดภัยในโลกอินเทอร์เน็ตอีกต่อไป
ตามมาตรา 20 ของร่างใหม่ ได้ให้อำนาจรัฐมนตรีออกประกาศเพิ่มเติมเรื่องวิธีการปิดกั้นเว็บไซต์ได้ ซึ่งที่ผ่านมาได้ปรากฏเอกสารของกระทรวงไอซีทีว่ามีการเตรียมออกประกาศให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกเข้ารหัส เพื่อให้สามารถปิดกั้นเว็บไซต์ที่เข้ารหัส HTTPS ได้
นอกจากนี้ในข้อ 8 ของร่างประกาศกระทรวงดิจิทัลตามอำนาจมาตรา 20 ยังได้เขียนให้อำนาจผู้ให้บริการ (เช่น ผู้ให้บริการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์) “ดำเนินการด้วยมาตรการทางเทคนิคใดๆ (Technical Measures) ที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้บังเกิดผลตามคำสั่งศาล" ภายใน 15 วัน
นั่นหมายความว่าการกระทำดังกล่าวอาจเป็นการรบกวนระบบรักษาความปลอดภัยของอินเทอร์เน็ต และทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมดตกอยู่ในความไม่ปลอดภัย แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเลยก็ตาม

4. เว็บถูกบล็อกได้เบ็ดเสร็จในขั้นตอนเดียว
จากเดิมที่ต้องขอคำสั่งศาลเพื่อปิดเว็บไซต์ตามมาตรา 19 และ 20 ของ พ.ร.บ. คอมฯ ฉบับเดิม แต่ร่างใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นกลับขยายอำนาจในมาตรา 20 ให้สามารถปิดเว็บไซต์ที่อาจจะผิดกฎหมายอาญาอื่น รวมถึงเนื้อหาที่ถูกกล่าวหาว่า "ละเมิดลิขสิทธิ์" โดยในข้อ 4 ของร่างประกาศกระทรวงดิจิทัลตามอำนาจมาตรา 20 ได้ระบุให้มีการจัดตั้งศูนย์กลาง “เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการระงับการทำให้แพร่หลาย หรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั่นเอง โดยอาจเชื่อมโยงระบบดังกล่าวเข้ากับระบบการระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการในแต่ละรายโดยความยินยอมของผู้ให้บริการก็ได้”
แสดงว่าต่อจากนี้ระบบดังกล่าวจะทำให้เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมการระงับและลบข้อมูลของฝั่งผู้ให้บริการได้ทันที และทำให้การตรวจสอบโดยศาลก่อนที่เจ้าหน้าที่จะใช้อำนาจอาจถูกข้ามไปก่อนได้ในทางปฏิบัติ

5. แม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่ 'ผิดศีลธรรม' ก็ถูกบล็อกได้
อีกมาตราหนึ่งที่ถือเป็นปัญหาสำหรับร่าง พ.ร.บ. คอมฯ ฉบับใหม่คือมาตรา 20/1 เรื่องการปิดกั้นเว็บไซต์ระบุว่า หากคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์เห็นว่าเนื้อหาเหล่านั้น "ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี" ก็อาจทำให้เว็บไซต์ถูกบล็อกได้เช่นกัน แม้ว่าเนื้อหาบนเว็บไซต์จะไม่ผิดกฎหมายใดๆ เลยก็ตาม
ทั้งนี้คณะกรรมการกลั่นกรองฯ อาจมีได้หลายคณะ แต่ละคณะจะมีกรรมการ 5 คน มาจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัล และร่างกฎหมายยังไม่ได้กำหนดคุณสมบัติที่ชัดเจนของกรรมการอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลอีกมากมายในประเด็นการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่และการบังคับใช้กฎหมายในทางปฏิบัติตามมาตราอื่นๆ เช่น มาตรา 16/2 (ภาระในการรู้ว่ามีข้อมูลที่มีความผิดอยู่ในระบบของตัวเองหรือไม่) มาตรา 18 (2) และ 18 (3) (โดยไม่ต้องขอคำสั่งศาล) และมาตรา 26 (เพิ่มระยะเวลาเก็บข้อมูลการจราจร โดยไม่ได้ระบุถึงสิทธิในการอุทธรณ์ของผู้ได้รับผลกระทบ)

จะผ่านไม่ผ่านก็ควรค้านไว้ก่อน
มีแนวโน้มว่าวันที่ 16 ธันวาคมนี้ สนช. อาจมีการพิจารณาผ่านร่าง พ.ร.บ. คอมฯ ฉบับใหม่ในวาระ 3 ก่อนมีผลบังคับใช้อย่างรวดเร็ว แต่จนถึงนาทีนี้ผู้ใช้เน็ตชาวไทยก็ยังสามารถส่งเสียงคัดค้านได้หากไม่เห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว
แม้จะไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ แต่จำนวนเสียงคัดค้านจำนวนมากอาจมีผลในทางอื่นๆ ซึ่ง อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต ให้ความเห็นกับ The Momentum ว่า
“จนถึงนาทีนี้ เสียงคัดค้านคงไม่เปลี่ยนใจอะไรเขาได้หรอก แต่มันก็สำคัญเพราะมันทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แม้กระทั่งในภาวะแบบนี้ที่คนค่อนข้างกลัวว่าถ้าแสดงออกอะไรต่างๆ แล้วจะส่งผลกระทบอะไรกับตัวเขาไหม แต่ก็ยังมีคนเป็นแสนออกมาบอกว่าไม่เห็นด้วย ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่ามันเป็นการสะท้อนกระบวนการทำงานของ สนช. ได้เป็นอย่างดี
“คือที่ผ่านมากระบวนการพูดคุยเกี่ยวกับร่างกฎหมายนี้ค่อนข้างจำกัดมาก ถ้าสนช. ยังยืนยันจะออกกฎหมายนี้มา ประชาชนก็มีสิทธิจะตั้งคำถามเรื่องการมีส่วนร่วม และสะท้อนให้เห็นว่า สนช. ไม่ได้ฟังเสียงของประชาชนทั่วไปเลย แม้จะมีคนพยายามส่งเสียงเป็นแสนคน แต่คุณก็ยังไม่ฟัง แล้วกับกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่ไม่ได้รับความสนใจเท่า พ.ร.บ. คอมฯ ก็อาจจะถูกตั้งคำถามต่อไปได้เหมือนกันว่า มันโอเคหรือเปล่า หรือมันโอเคกับใครกันแน่
"แน่นอนว่าในอนาคตจะมีการเลือกตั้ง แล้วเราก็มีโอกาสที่จะแก้กฎหมายนี้ได้ แต่มันก็ไม่ได้เป็นเหตุผลที่ทำไมเราจะไม่ออกมาค้านตั้งแต่ตอนนี้ เพราะการคัดค้านนี้จะกลายเป็นตัวเลข เป็นเสียงสะท้อนที่จะทำให้รัฐบาลใหม่ได้เห็นว่า นี่แหละคือสิ่งที่ถ้าคุณแก้ให้มันดีขึ้น ก็จะมีคนจำนวนนี้สนับสนุนคุณอยู่"

ร่วมคัดค้าน พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ได้ทาง หยุด Single Gateway หยุดกฎหมายล้วงข้อมูลส่วนบุคคล

หรือร่วมส่งเสียงไปยัง สนช. โดยตรง ด้วยวิธีการตามในลิงค์นี้ รณรงค์: ขอเสียงประชาชนหยุด! ร่าง พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับใหม่

อ่านรายละเอียดของ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ย้อนหลังได้ที่:

- หรือซิงเกิลเกตเวย์กำลังจะกลับมา? รวมเรื่องต้องรู้ พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับใหม่ที่ต้องจับตามอง http://themomentum.co/momentum-feature-cybercrime-act-2016

- ประโยชน์รัฐหรือประโยชน์ใคร? อีกด้านของความจริง พ.ร.บ.คอมฯ ใหม่ จากเวทีเสวนาที่รัฐสภา http://themomentum.co/momentum-feature-cybercrime-act-2016-from-parliament

- หลากมุมมองสะท้อนปัญหา พ.ร.บ. คอมฯ ฉบับใหม่จากเวทีภาคประชาชน http://themomentum.co/momentum-feature-cybercrime-act-2016-from-citizen

ภาพประกอบ: Karin Foxx

ข้อมูลจาก The Momentum
http://themomentum.co/momentum-feature-oppose-single-gateway


ที่มา FB

พลเมืองต่อต้าน Single Gateway : Thailand Internet Firewall