วันอาทิตย์, ธันวาคม 11, 2559

วิธีการนอกลู่ของทรั้มพ์





เห็นบทความในเดอะนิวยอร์คไทมส์เมื่อวันก่อน แล้วเกือบ ‘ต๊กกะใจ’ กับหัวเรื่อง “รัฐบาลทหารของดอนัลด์ ทรั้มพ์” เขียนโดย กอร์ดอน แอดัมส์ พูดถึงว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่แวดล้อมไปด้วยพวกนายพล

ในภาวะการณ์ที่อีกแค่สิบวันทรั้มพ์จะได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ ๔๕ ของสหรัฐอเมริกา หลังจากเมื่อมีการออกเสียงเลือกตัวประธานาธิบดีโดยคณะตัวแทนเลือกตั้ง electoral college ทั้งสิ้น ๕๓๘ คน วันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๐

(เป็นที่ทราบกันแล้วว่าด้วยระบบเลือกตั้งโดยใช้ ‘ตัวแทนเลือกตั้ง’ ดังกล่าว ที่มาจากการแบ่งสรรโดยสัดส่วนเป็นรายมลรัฐ ทำให้ทรั้มพ์เป็นผู้ชนะเลือกตั้งด้วยจำนวนตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน ๓๐๙ คน ในเมื่อผู้ได้เป็นประธานาธิบดีจะต้องมีตัวแทนของตนไปออกเสียงไม่น้อยกว่า ๒๗๐ คน)

ทั้งๆ ที่คะแนนเลือกตั้งรายหัว popular votes ที่เขาได้รับ น้อยกว่านางฮิลลารี่ อาร์ คลินตัน คู่แข่งถึง ๒.๗ ล้านเสียง

และด้วยกระบวนการร้องเรียนโดยนางจิล สไตน์ ผู้สมัครพรรคกรีนให้นับคะแนนใหม่ใน ๓ มลรัฐที่น่าสงสัยว่าคะแนนที่ปรากฏจะไม่ตรงกับเสียงจริง อาจผิดพลาดเพราะระบบคอมพิวเตอร์ถูกแทรกแซง

ซึ่งล่าสุดปรากฏว่าผู้พิพากษาในรัฐมิชิแกนมีคำสั่งให้ยุติการนับคะแนนใหม่ที่นั่น อ้างว่านางสไตน์ผู้ยื่นคำร้องไม่มีสิทธิตามกฎหมาย อีกทั้งการนับคะแนนในรัฐวิสคอนซินกระทั่งบัดนี้ดูเหมือนจะพบว่าทรั้มพ์ได้เสียงมากกว่าเดิม

เป็นอันว่าความหวังลอยๆ ของฝ่ายสนับสนุนนางคลินตันที่จะพลิกผลเลือกตั้งมลายไปแล้ว ในเมื่อฮิลลารี่จะกลับเป็นผู้ชนะได้เธอจะต้องชนะรวดในสามรัฐ รวมทั้งมลรัฐเพ็นซิลเวเนียที่ยังไม่ได้เริ่มกระบวนการนับคะแนนใหม่ด้วยซ้ำไป

บทความของกอร์ดอน แอดัมส์ (http://www.nytimes.com/…/donald-trumps-military-government.…) เอ่ยถึงการที่ทรั้มพ์กำหนดตัวนายพลเจมส์ เอ็น แม้ททิส นายพลไมเคิล ที ฟลินน์ และนายพล จอห์น เอฟ เคลลี่ เข้าไปกำกับดูแลงานกลาโหม ที่ปรึกษาความมั่นคง และกิจการในประเทศ ว่า





“การคัดกรองตัดสินนโยบายผ่านแว่นขยายทางการทหาร จะทำให้เสียสมดุลในกระบวนการตัดสินใจ ที่จำเป็นต่อการบริหารราชการอันดี”

ผู้เขียนอ้างถึงหลักการซึ่งสืบเนื่องมาตั้งแต่ยุคก่อตั้งประเทศ ที่ให้พลเรือนกำกับควบคุมกองทัพและประธานาธิบดีเป็นผู้บัญชาการทหาร เพราะ ‘บิดาแห่งชาติ’ เห็นว่าถ้าปล่อยให้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของฝ่ายทหารที่กำอำนาจแห่งศาสตราวุธอยู่ละก็ จะเป็นภัยต่อประชาธิปไตย

บทความยังชี้ถึงคำเตือนของอดีตประธานาธิบดีที่มาจากฝ่ายทหาร เช่นนายพล ดไว้ท์ ดี ไอเซ็นฮาวเออร์ ว่าการนำทหารเข้าไปกำกับนโยบายด้านความมั่นคง เสี่ยงต่อการก่ออิฐโบกปูนฝังแน่น ‘นิคมอุตสาหกรรมการทหาร’

อันจะทำให้สไตล์การบริหารประเทศของรัฐบาลทรั้มพ์เป็นไปในทาง “ตอกตะปูกับทุกสิ่งทุกอย่าง” แทนที่จะจักสานเสริมสร้างอย่างปราณีตวิจิตรศิลป์

นั่นเป็นเพียงมุมมองอย่างละมุนต่อภาพพจน์ของรัฐบาลทรั้มพ์ ท่ามกลางรายงานข่าวที่เพิ่งหลุดออกมาสดๆ ร้อนๆ ในสองวันมานี้ว่า

“ซีไอเอสรุปผลการประเมินในทางลับว่าเป็นความจริงที่รัสเซียกระทำการแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดี”

“ไม่เพียงแต่ด้วยเจตนาที่จะทำให้ความเชื่อมั่นในระบบเลือกตั้งของสหรัฐสั่นคลอน” เท่านั้น หากแต่เจาะจงทำ “เพื่อให้ทรั้มพ์ได้รับชัยชนะเหนือคลินตัน” ด้วย

(https://www.washingtonpost.com/…/31d6b300-be2a-11e6-94ac-3d…)

หน่วยงานสืบราชการลับอเมริกันสามารถยืนยันตัวบุคคลที่เกี่ยวโยงกับทางการรัสเซีย ดำเนินการ ‘แฮ็ค’ แทรกแซงอีเมลและข้อมูลส่วนตัวของกองอำนวยการพรรคเดโมแครท (DNC) แล้วส่งให้ ‘วิกิลี้ค’ ของนายจูเลียน แอสแซง ทำการเผยแพร่

ก่อนหน้านี้หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ได้รายงานการแทรกแซงเลือกตั้งสหรัฐโดย ‘แฮ็คเกอร์’ ที่มีสายใยผูกพันกับหน่วยงานไซเบอร์ของรัสเซีย ทำการปล่อยข่าวเท็จ ‘Fake News’ โจมตีผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครท

มีรายงานเช่นเดียวกันว่า ‘ข่าวเท็จ’ ที่ถูกปล่อยออกมาให้ร้ายนางคลินตันระหว่างการหาเสียงโค้งสุดท้ายหนึ่งเดือนก่อนวันเลือกตั้งนี้ เป็นผลให้คนอเมริกันผิวขาว (ทั้งเพศชายและหญิง) ในมลรัฐแถบตะวันตกกลางซึ่งยังไม่ฟื้นจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ได้เห็น

(จากการเผยแพร่ของสื่อประเภท Alt-Right ‘ขวาทางเลือก’ อย่างเช่นสำนักข่าว ‘ไบร๊ท์บาร์ท’ ของนายสตีเฟ็น แบนน่อน ซึ่งทรั้มพ์ตั้งให้เป็นที่ปรึกษาพิเศษของเขาประจำทำเนียบขาว)





แล้วพากันแปรพักตร์ไปลงคะแนนให้ทรั้มพ์ ในรัฐที่ชนะกันสูสี ได้แก่มิชิแกน โอไฮโอ วิสคอนซิน และเพ็นซิลเวเนีย

การประเมินสรุปล่าสุดของซีไอเอพบด้วยว่า ไม่เพียงพรรคเดโมแครทที่ถูกแฮ็คโดยข่ายงานไซเบอร์ของรัสเซีย กองอำนวยการพรรครีพับลิกันก็ถูกแฮ็คโดยบุคคลชุดเดียวกัน เพียงแต่ข้อมูลของพรรครีพับลิกันไม่ถูกเปิดเผยออกมา เชื่อว่าเพราะต้องการสร้างความเสื่อมเสียให้แก่ฝ่ายนางคลินตันเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ทำให้ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า ออกคำสั่งให้ทำการสอบสวนเรื่องการแทรกแซงหาเสียงเลือกตั้งสหรัฐโดยรัสเซียนี้ และรายงานตรงถึงทำเนียบขาวก่อนวันที่ ๒๐ มกราคม

ไม่ว่าทรั้มพ์จะแสดงความภาคภูมิใจผ่านทางทวิตเตอร์ต่อ ‘ชัยชนะขาดลอยตัวแทนเลือกตั้ง’ ของตนเพียงไร

แม้นว่าบทความในหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์คไทมส์ เริ่มที่จะยอมรับสภาพการเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของทรั้มพ์ ด้วยคำว่า “ทรั้มพ์เริ่มต้นดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์แล้ว”

“Trump’s Honeymoon Begins: Confidence in the Economy Is Booming” เป็นบทความที่อ้างว่าหนึ่งเดือนหลังจากเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง ดูเหมือนธุรกิจต่างๆ ปรับขบวนเข้าทางทรั้มพ์ ดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นสูงในรอบสองปี

ศูนย์วิจัยพิวเผยผลสำรวจทั่วประเทศว่า ความตื่นตัวมองโลกแง่ดีของพลเมืองในฝ่ายรีพับลิกันมีความฮึกเหิมกลบกระแสหวาดหวั่นซึมเศร้าของฝ่ายเดโมแครทอย่างเห็นได้ชัด อัตราการว่างงานลดลงไปอีก ต่ำกว่า ๕ เปอร์เซ็นต์

เจมี่ ไดม่อน ซีอีโอของเจพีมอร์แกนเชส บรรษัทการเงินยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งของสหรัฐ ที่แม้ว่าจะไม่ได้เข้าไปร่วมในทีมทรั้มพ์เหมือนผู้บริหารของโกลด์แมนแซ็ค ก็ยังแสดงความชื่นชมกับภาพลักษณ์ฟูเฟื่องของภาคธุรกิจอเมริกันขณะนี้

(http://www.nytimes.com/…/donald-trump-economy-confidence-bo…)

โดยที่ภาพสดใสทางเศรษฐกิจที่ปรากฏในขณะนี้แท้จริงแล้วเป็นผลิตผลจากการที่รัฐบาลโอบาม่ายื่นให้รัฐบาลชุดต่อไป เช่นเดียวกับเมื่อสิ้นสมัยที่สองของรัฐบาลบิล คลินตันส่งมอบให้กับรัฐบาลจ๊อร์จ ดับเบิ้ลยู บุสช์ ที่หลังครองตำแหน่งสองสมัย ทิ้ง recession เศรษฐกิจตกต่ำกับพันธะสงครามอิรักไว้ให้โอบาม่า

ความหวาดหวั่นระแวงในฝ่ายเสรีนิยมก้าวหน้าเวลานี้อยู่ที่เมื่อสิ้นสมัยสี่ปีของทรั้มพ์ ประวัติศาสตร์การ 'ส่งมอบอุจจาระ' จะซ้ำรอยอีกไหม ความห่วงใยว่าในยุคทรั้มพ์ช่องว่างรายได้ระหว่างซีอีโอกับลูกจ้างจะห่างไกลกันออกไปอีกเป็นล้านๆ เท่าหรือไม่

อาการเช่นนั้นกลายเป็นความอึดอัดขัดขืน ที่ไปปรากฏในการแสดงออกของ ไมเคิล มัวร์ นักสร้างภาพยนตร์สารคดีของฝ่ายอุดมการณ์ก้าวหน้า Progressive เขาเป็นผู้ทำนายชัยชนะของทรั้มพ์เอาไว้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ทั้งที่ผู้สนับสนุนคลินตันคิดไม่ถึงกันเลย





มาคราวนี้มัวร์พูดถึงทรั้มพ์ในรายการสนทนา Late Night กับเซ็ธ เมย์เออร์ เป็นลางไว้อีกว่า “เขายังไม่ได้เป็นประธานาธิบดีเลยนะ จนกว่าจะถึงเวลาเที่ยงวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๐

นั่นมันอีกตั้ง ๖ อาทิตย์ คุณเห็นด้วยไหมล่ะ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในฝักฝ่ายการเมืองฟากไหน ครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งบ้าคลั่งที่สุด...อะไรที่ทำนายกันไว้ไม่มีเกิดขึ้นเลย

สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องตรงข้ามทั้งนั้น มันจึงเป็นไปได้ว่าในหกอาทิตย์ข้างหน้านี่ อะไรอื่นอาจเกิดขึ้นก็ได้ อะไรที่ระห่ำชนิดไม่คาดฝันเลยทีเดียว”

(https://www.yahoo.com/…/michael-moore-says-trump-may-104747…)

มัวร์ชี้ให้เห็นด้วยว่าคะแนนเสียงที่ฮืลลารี่ได้รับมากกว่าทรั้มพ์เกือบ ๓ ล้านรายนั้น เกือบจะเท่ากับคะแนนเสียงที่โอบาม่าชนะมิตต์ รอมนี่ย์เมื่อปี ๒๕๕๕

สิ่งที่ไมเคิล มัวร์ ทำนายอย่างลมๆ แล้งๆ โดยไม่ได้กล่าวจะแจ้งอยู่ที่ การออกเสียงเลือกประธานาธิบดีขั้นสุดท้ายโดยคณะตัวแทนเลือกตั้งในวันที่ ๑๙ มกราคม

หากมีตัวแทนในสังกัดพรรครีพับลิกัน ๓๗ คน แปรพักตร์ไปโหวตให้นางคลินตัน ก็จะทำให้ทรั้มพ์ชวดตำแหน่งประธานาธิบดี

ระเบียบการโหวตเลือกประธานาธิบดีโดยคณะตัวแทนโดยทั่วไป ไม่จำกัดแน่นอนว่าตัวแทนจะต้องเลือกผู้สมัครของพรรคตนเอง มีเพียง ๒๙ รัฐที่กำหนดระเบียบการออกเสียงไว้ แต่ก็ไม่เคยมีการบังคับใช้ โทษฝ่าฝืนอย่างดีแค่ปรับ ๑ พันเหรียญ

ซึ่งปรากฏว่ามีตัวแทนของพรรคเดโมแครทสองคนทำการรณรงค์อย่างหนักที่จะให้การโหวตในวันที่ ๑๙ ม.ค. ทำอย่างเสรีไม่มีสังกัด เพื่อที่ตัวแทนรีพับลิกันแตกแถวไปโหวตให้ฮิลลารี่ได้

อีกทั้งมีตัวแทนรีพับลิกันคนหนึ่งที่ไม่ต้องการเลือกทรั้มพ์ เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทมส์ แสดงเหตุผลว่าทำไมไม่ควรเลือกทรั้มพ์เป็นประธานาธิบดี

(http://www.popsugar.com/…/Republican-Elector-Voting-Trump-4…)

จะมีตัวแทน electoral college จากพรรครีพับลิกันสักกี่คนที่แปรพักตร์ไปโหวตให้ฮิลลารี่ในวันที่ ๑๙ มกรา เป็นเพียงกระสายของการเลือกตั้งแหวกทำนองของอเมริกาปีนี้

ข้อควรใส่ใจกับการจะได้เป็นประธานาธิบดีอย่างไม่คาดฝันของดอนัลด์ ทรั้มพ์ อยู่ที่การจับแพะชนแกะเอาทหารกับซีอีโอบรรษัทธุรกิจยักษ์ใหญ่เข้าไปร่วมคณะรัฐมนตรีอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ทรั้มพ์ยังเลือกเอาผู้ที่เห็นแย้งกับระบบการศึกษาสาธารณะไปว่าการกระทรวงศึกษา คัดเอาผู้ที่เอาใจนายจ้างมากกว่าลูกจ้างเข้าไปว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายซีอีโออุตสาหกรรมน้ำมันไปว่าการต่างประเทศ

หากว่าวิธีการนอกลู่เหล่านี้เป็นความผิดพลาดที่จะเกิดอาการอักเสบภายหลัง (ในหนึ่งปี) อันเป็นเหตุให้เจ้าตัวอาจถูกอัปเปหิก็ตามแต่

ทว่าความเสียหายอันหนักหนาที่เกิดกับมวลชนระดับล่าง รวมทั้งแรงงานขั้นต่ำ (ผิวขาวบ้านนอกแถบภาคตะวันตกกลาง) ที่ทำให้ทรั้มพ์ชนะ electoral votes ด้วยละ มันหาได้ระคายผิวพวกนายพลและซีอีโอสักน้อยนิด

จึงได้เกิดการรณรงค์เพื่อตัดไฟต้นลม ชนิดที่เรียกว่า ‘hail Mary’ ในหมู่ electoral college ขึ้น

ที่ซึ่งจะสำเร็จหรือไม่ ก็ยังใช้เป็นบทเรียนให้เห็นว่า การ ‘นิ่งเสีย’ จะได้ตำลึงทองหรือเปล่าไม่แน่ แต่ว่าจะ ‘สายเกินแก้’ แน่นอน