วันจันทร์, ตุลาคม 07, 2567

เอกสาร ภูมิพลสนทนากับทูตอังกฤษเรื่อง 6 ตุลา วันที่ 9 ตุลาคม 2519 ภูมิพลพยายาม defend ข้อกล่าวหาที่พระองค์มีส่วนวางแผนในเหตุการณ์ซึ่งแพร่หลายมาก


Somsak Jeamteerasakul
12 hours ago
·
ภูมิพลสนทนากับทูตอังกฤษเรื่อง 6 ตุลา
วันที่ 9 ตุลาคม 2519

นี่เป็นหลักฐานที่ใกล้เคียงกับวันเกิดเหตุมากที่สุดที่เรามีอยู่ตอนนี้ ในนั้น ภูมิพลพยายาม defend (ปกป้อง-แก้ตัว) ให้กับข้อกล่าวหาที่พระองค์มีส่วนวางแผนในเหตุการณ์ซึ่งแพร่หลายมาก วิธีการที่ใช้ในการแก้ตัวของภูมิพลนั้นคือ ในการพูดแต่ละครั้งจะไม่ระบุลงไปว่าให้ทำอย่างโน้นอย่างนี้ แต่จะพูดอ้อมๆว่า "ลองไปหาคนโน้นสิ" เป็นต้น การแนะนำธานินทร์เป็นนายกฯ โดยความเป็นจริง ไม่ได้ใช้คำว่า"ให้คนนี้เป็นสิ" แต่แนะนำให้ไป"ปรึกษานักกฎหมายคนนี้" หรือการที่กลุ่มก่อรัฐประหารเข้าเฝ้าเพื่อจะทำรัฐประหาร จะไม่ทรงเอ่ยอะไร #แต่ไม่ทรงคัดค้าน เป็นต้น เมื่อถึงเวลาก็สามารถ plausible deniability ได้

.......................................

1. ด้วยความโชคดี ผมสามารถนำมัลคอล์ม แม็คโดนัล เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวในวันนี้. เห็นได้ชัดว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงยินดีที่ได้พบมัลคอล์ม และทรงแสดงออกว่าพระองค์ต้องการให้ภาพเหตุการณ์ทีเกิดขึ้นที่นี่ตามที่พระองค์เสนอ เป็นที่เข้าใจ โดยการเผยแพร่อย่างระมัดระวังเหมาะสม ในหมู่บุคคลสำคัญในต่างประเทศ. แม้จะทรงมีภารกิจอื่นๆอีก การเข้าเฝ้าของเราครั้งนี้ก็กินเวลานานถึงหนึ่งชั่วโมง. พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสอย่างตรงไปตรงมา โดยที่ทรงแสดงออกอย่างชัดเจนตลอดการสนทนา ว่าทรงเห็นชอบโดยทั่วไปกับการยึดอำนาจของทหารในครั้งนี้.

2. พระเจ้าอยู่หัวทรงแสดงทัศนะของพระองค์ในประเด็นที่มีลักษณะกว้างๆ ดังนี้

A. ในขณะที่พระองค์ยอมรับในลักษณะอุดมคติของนักศึกษาและสิทธิของพวกเขาในการพัฒนา "กิจกรรม" ในหลายๆด้าน (รวมทั้งการที่พวกเขาสนใจการเมือง) นอกเหนือไปจากการเรียนของพวกเขา, แต่นักศึกษาบางคนได้หมกมุ่นตัวเองกับการเมืองอย่างเต็มเวลา จนละเลยการเรียนของพวกตน: และเหนืออื่นใด ได้พยายามแสวงหาอำนาจเพียงเพื่ออำนาจนั้นเอง [POWER FOR ITS OWN SAKE] พวกเขาได้ใช้เวลาของตนคอยหาประเด็นต่างๆที่ใช้โค่นรัฐบาลและโครงสร้างอำนาจเดิม [THE ESTABLISHMENT].

B. ในการกระทำดังกล่าว นักศึกษาเหล่านั้นได้รับการยุยงให้ท้ายจากภายนอก. ไม่เช่นนั้น บรรดาผู้นำของพวกเขาจะสามารถเอาเงินจากไหนมาซื้อรถ ฯลฯ

C. นักศึกษาเหล่านั้นได้สร้างความสัมพันธ์กับองค์กรอื่นๆ เช่น สหภาพแรงงาน ไม่ใช่เพื่อปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ แต่เพียงเพื่อเพิ่มอำนาจให้กับพวกเขาเอง

D. ถ้าให้ทรงเลือกระหว่างรัฐบาลทหารกับอำนาจของนักศึกษา พระองค์ แม้จะไม่ทรงนิยมเผด็จการ ก็จะทรงเลือกรัฐบาลทหารมากกว่า. นักศึกษาอาจจะมีอุดมคติบ้าง แต่พวกเขาไม่มีประสบการณ์หรือความรับผิดชอบ และพวกเขาได้รับอิทธิพลอย่างแย่ๆจากภายนอก. ในทางกลับกัน ทหารมีสำนึกทางวินัยและความรับผิดชอบ ห่วงใยการทำให้ประเทศดีขึ้น และมีประสบการณ์ในการปกครอง

E. ถ้าประชาชนไทยต้องการลัทธิคอมมิวนิสม์จริงๆแล้ว ก็แล้วไป แต่ไม่มีหลักฐานว่าพวกเขาต้องการ การเลือกตั้งครั้งสุดท้ายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจากที่พระองค์ได้พูดคุยกับชาวบ้านที่นั่นหลังจากคอมมิวนิสต์เข้าครอบครองลาว แสดงให้เห็นว่า คนไทยไม่ชอบสิ่งที่พวกเขาได้ยินมาเกี่ยวกับระบอบ[สาธารณรัฐ]ประชาธิปไตยประชาชน[ลาว]

3. ในประเด็นที่เกี่ยวข้องมากขึ้นกับเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น พระเจ้าอยู่ทรงมีพระราชดำรัสว่า

A. สักระยะหนึ่งแล้ว ที่พระองค์จำต้องทรงลงความเห็นว่า การเข้ายึดอำนาจโดยทหารเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ รัฐบาลชั่วคราวสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นรัฐบาลที่ซื่อสัตย์ แต่ได้ใช้เวลาอย่างเชื่องช้าเนิ่นนาน ในการผลักดันให้มีรัฐธรรมนูญที่มีรายละเอียดมากเกินไป (และ ทรงกล่าวเป็นนัยว่า มีลักษณะเสรีนิยมเกินไป) หลังจากนั้น ก็มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกที่นำมาซึ่งรัฐบาลประชาธิปไตยที่อ่อนแอและไม่มีเสถียรภาพ หลังจากนั้น ก็มีเลือกตั้งทั่วไปอีก ตามมาด้วยรัฐบาลที่ยิ่งอ่อนแอลงไปอีก และเป็นรัฐบาลที่พิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่สามารถทำอะไรได้เลย

B. ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ทั่วไปเช่นนี้ การเข้ายึดอำนาจจึงไม่ทำให้พระองค์ทรงแปลกใจ

C. มีข่าวลือแพร่ออกไปว่า พระองค์ทรงยุยงให้ท้ายการยึดอำนาจครั้งนี้ล่วงหน้า ซึ่งไม่เป็นความจริง บรรดาหัวหน้าของคณะยึดอำนาจครั้งนี้ได้เคยบอกพระองค์ว่าพวกเขากำลังจะทำอะไร แต่พระองค์ไม่ทรงแสดงความเห็นอะไร เป็นที่ชัดเจนว่า ถึงแม้พระองค์จะคัดค้าน (ซึ่งโดยนัยยะคือพระองค์ไม่ได้ทรงคัดค้านอย่างแน่นอน) พระองค์ก็จะไม่สามารถทำให้เหตุการณ์ต่่างไปจากนี้ และการแสดงความเห็นอะไรไปของพระองค์จะทำให้เรื่องยุ่งยากมากขึ้นอีก

D. เหตุการณ์ที่ธรรมศาสตร์นั้น มีกลุ่มพลังต่างๆมากมายหลายประเภทเข้าเกี่ยวข้องด้วย รวมทั้งอิทธิพลภายนอกและอิทธิพลคอมมิวนิสต์ แต่ก็มีหลักฐานจริงๆน้อยมากหรือไม่มี ในเรื่องบางเรื่อง เช่น การเข้าเกี่ยวข้องของเวียดนาม

E. สภาปฏิรูปเป็นคนดี อนุรักษ์นิยม แต่ภักดีต่อประเทศ. รัฐบาลใหม่ที่เป็นพลเรือนจะมีการตั้งขึ้นในสองสัปดาห์. หลังจากนั้น การกลับไปเป็นประชาธิปไตยควรเป็นอย่างช้าๆ, ทีละขั้นทีละขั้น, ประเทศไทยต้องเดินไปข้างหน้าตามแนวทางของตนเอง พระองค์ทรงอยากให้รัฐธรรมนูญใหม่คราวนี้เป็นแบบของอังกฤษที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร คือ ให้มีข้อกำหนดสำคัญๆเพียงไม่มาก ทีเหลือปล่อยเป็นช่องว่างให้มีการเพิ่มเติมในภายหน้าตามประสบการณ์ที่จะเกิด

4. หลังจากนี้ การสนทนาเปลี่ยนไปเป็นเรื่องอื่น เช่น การพัฒนาเกษตรกรรม ซึ่งสามารถแยกรายงานต่างหากจากนี้ได้.
 
https://www.facebook.com/photo?fbid=8306286512757888&set=a.137616112958343