วันจันทร์, ตุลาคม 07, 2567

งานรำลึก 6 ตุลาปีนี้ เราได้เห็นป้าย จากป่าสู่กลาโหม


Shinji Stoichkovsky
7 hours ago
·
#จาก6ตุลาสู่ทหารป่า
#จากป่าสู่กลาโหม
งานรำลึก 6 ตุลาปีนี้ เราได้เห็นป้าย จากป่าสู่กลาโหม
แถมก่อนนั้นไม่นาน เหล่านายพลเกษียณ ก็ปั่นประเด็นว่ารัฐบาลกำลัง #เอาคอมมิวนิสต์มาคุมทหาร
จากการแต่งตั้งให้ อ้วน ภูมิธรรม เวชยชัย ใน ครม.อิ๊ง 1 รอบนี้ ขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อันเป็นตำแหน่งคุมกองทัพ (อย่างน้อยก็ในทางกฏหมาย)
ทำแบบนี้เท่ากับการเอาอดีตทหารป่า หรือทหาร ทปท. กองกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มาคุมกองทัพไทยนี่หว่า!
ท่านใดสนใจประวัติศาสตร์ช่วงนี้แต่ยังไม่รู้รายละเอียด จะขอเล่าบันทึกไว้โดยย่อ ในวาระ 6 ตุลาปีนี้ (แต่ก็ยาวอยู่ดี บอกไว้ก่อน) โดยจะเป็นเรื่องเล่าผ่านมุมมองของหมอมิ้ง ซึ่งปัจจุบันก็อยู่ในตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลไทยเช่นกัน
ย้อนไปเกือบ 50 ปีที่แล้ว
พวกเขายังอยู่ในวัยเรียนมหาลัย มิ้ง พรหมมินทร์ เป็นนักศึกษาแพทย์อยู่มหิดล ส่วนอ้วน ภูมิธรรมเรียนรัฐศาสตร์ จุฬา เป็นแกนนำนิสิตนักศึกษาที่ลุกขึ้นต้านรัฐบาลในช่วง 6 ตุลา 2519
ร่วมกับตัวละครทางการเมือง อาจารย์ บุคคลสำคัญที่เรารู้จักมากมายในปัจจุบัน ทั้งหมดมีบทบาทไม่น้อยไปกว่ากัน แต่ในที่นี้จะขอเล่าโฟกัสเฉพาะส่วนของ 2 ท่านนี้เท่านั้น
ต้นตุลาคม 2519 หลังจากที่นักศึกษาประชาชนประท้วงที่สนามหลวงมาเป็นอาทิตย์ ท่ามกลางเสียงสื่อฝ่ายขวาปลุกปั่นต้านนักศึกษา มวลชนฝ่ายขวาก่อกวนด้วยความรุนแรง จนกระทั่งหนังสือพิมพ์ดาวสยามได้ลงภาพข่าวละครแขวนคอในฉบับวันที่ 5 ตุลา ว่านักศึกษาจงใจล้อเลียนล้มล้างสถาบัน ปูทางมาสู่การล้อมปราบ
กลุ่มกระทิงแดงได้มาตั้งเวทีมวลชนที่สนามหลวง นักศึกษาจึงถอยร่นจากสนามหลวงเข้ามาในธรรมศาสตร์เพื่อเลี่ยงการเผชิญหน้า
โดยที่ไม่มีใครรู้เลยว่า นั่นคือการปิดประตูตีแมว
เช้าวันที่ 6 ตุลา ตั้งแต่ตี 5 ถึง 8 โมง ตำรวจทหารระดมยิงเข้ามาในธรรมศาสตร์ไม่หยุด พวกเขาเห็นเพื่อนร่วงล้มตายลงกับตา ขณะที่พยายามช่วยเหลือกันและวิ่งหลบกระสุน
หมอมิ้ง นักศึกษาแพทย์ปี 3 พยายามโทรไปประสานขอรถพยาบาลจากรามาธิบดี เพราะอย่างน้อย มีคนบาดเจ็บล้มตายแบบนี้โรงพยาบาลย่อมไม่อยู่เฉย อย่างแย่ที่สุดก็ต้องมาเก็บศพ
แต่อาจารย์แพทย์ท่านหนึ่งของเขาตอบกลับมาว่า
“พวกนักศึกษาก็ใช้อาวุธหนักไม่ใช่หรือ”
ทุกคนจึงรู้แล้วว่า ทุกองคาพยพของรัฐเช้าวันนั้น พร้อมใจกันปล่อยให้การฆ่านี้เกิดขึ้น ...ไม่มีใครมาแล้ว แม้แต่รถจะเก็บศพ
ที่นั่นเวลานั้น มีแต่พวกเขา ไม่มีใครอีกแล้ว
เขาจึงวิ่งหนีกระสุนจากตึกสังเคราะห์ไปทางตึกโดม เจอพวกเพื่อนๆจับมืออำลากัน ต่างก็พูดว่า “แล้วพบกันใหม่ๆ” แม้ว่านั่นอาจเป็นการพบกันครั้งสุดท้าย
หมอมิ้งวิ่งไปเจอ อ้วน ภูมิธรรม กำลังหลบกระสุน ตอนนั้นอ้วนบอกกับหมอมิ้งด้วยความแค้นว่า “น้อยถูกยิง” (น้อย วิทยา แก้วภราดัย)
ประตูธรรมศาสตร์ทุกฝั่งถูกเจ้าหน้าที่คุมอย่างหนาแน่น คนถูกยิงบาดเจ็บและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น
8.30 กองกำลังของรัฐบุกเข้ามาภายในธรรมศาสตร์สำเร็จ และกราดยิงทุกคน อาวุธมีตั้งแต่เครื่องยิงระเบิด ปืนต่อสู้รถถัง ปืมเอ็ม 79 เอ็ม 16 คาร์บิน ระเบิดมือ ใครวิ่งไปทางหน้าประตูธรรมศาสตร์จะถูกรุมตีจนสาหัส คนยังไม่ทันสิ้นใจก็ถูกลากออกไปแขวนคอที่ต้นมะขามสนามหลวง และรุมกระทำย่ำยีศพ
หมอมิ้งและอ้วน ภูมิธรรม ปีนหน้าต่างออกจากตึกโดม วิ่งไปออกตรงช่องคณะเศรษฐศาสตร์ ที่มีทางลงแม่น้ำเจ้าพระยา หมอมิ้ง กระโดดลงน้ำพร้อมอ้วน ภูมิธรรม ต้องว่ายน้ำฝ่ากระสุนที่ตำรวจยิงลงมาในแม่น้ำ นั่นคือครั้งสุดท้ายในเช้าวันที่ 6 ตุลา ก่อนที่หมอมิ้งและอ้วนจะแยกไปคนละทิศคนละทาง
เกิดเหตุการณ์และรายละเอียดอีกมากมาย กว่าพวกเขาจะเอาชีวิตรอดจากพื้นที่ท่าพระจันทร์-ท่าช้างในเช้าวันนั้นได้
จนตอนเย็น พวกเขาจึงได้เห็นหนังสือพิมพ์ที่ตีพิมพ์ภาพเพื่อน...ถูกผูกคอแล้วเอารองเท้ายัดไว้ที่ปาก
แม้ร่างกายยังมีลมหายใจ แต่หัวใจของพวกเขาแตกสลาย
ขณะที่ยังถูกติดตามจับ ต้องระหกระเหินหนีไปอาศัยตามบ้านคนรู้จัก ก็ต้องทนเห็นข่าวการป้ายสีจากรัฐ ขณะที่ต้องคอยติดตามข่าวว่าเพื่อนคนไหนโดนจับหรือเสียชีวิตบ้าง
บาดแผลร่างกายอาจหายได้ แต่บาดแผลในใจไม่มียาใดรักษา หลังจากหลบหนีอยู่ราวหนึ่งเดือน เมื่อการกลับไปใช้ชีวิตปกติไม่อาจเป็นทางเลือก เพราะอาจถูกจับหรือตาย
เส้นทางเดียวที่เหลือจึงเป็นการ “เข้าป่า”
4 พฤศจิกายน 2519 คือวันที่หมอมิ้งออกเดินทาง ก่อนไปเขากลับไปที่บ้าน เจอน้องชายกำลังเก็บเสื้อผ้า บอกแม่ว่าจะไปต่างจังหวัดอาทิตย์นึง
(น้องชาย = พรชัย เลิศสุรีย์เดช ขณะนั้นเป็นนักศึกษาปี 3 สังคมสงเคราะห์ ธรรมศาสตร์และเป็นนักดนตรีวงเพื่อชีวิตกงล้อ)
พออยู่กันสองคน หมอมิ้งจึงถามน้องว่า “จะไปใช่ไหม”
น้องชายบอกจะไปวันที่ 5 แม้จะต่างคนต่างตัดสินใจ แต่พวกเขาก็มีจุดหมายเดียวกัน
ในความตั้งใจทวงหนี้เลือดและจับอาวุธสร้างโลกใหม่ แต่ภาพวันนั้นมันคือการที่ลูกชายวัยรุ่นสองคน มาเก็บกระเป๋า...และบอกลาแม่
ตี 2 เขาปลุกน้องชายคนที่ 3 มาคุย และบอกว่าพี่ 2 คนจะไปแล้ว นั่นหมายถึงอาจจะไม่ได้กลับมาอีกเลย ฝากน้องชายคนเล็กดูแลครอบครัวด้วย
น้องชายถามว่า ถ้าถึงขั้นรบกัน แล้วเขาถูกเกณฑ์ทหารอยู่ฝ่ายรัฐบาล จะให้ทำยังไง หมอมิ้งเงียบ เพราะตอบไม่ได้ ได้แต่บอกว่าพรุ่งนี้จะออกไป 7 โมงเช้า รอ 2-3 วันค่อยบอกแม่ว่าพี่สองคนไปแล้ว
เช้าวันนั้น หมอมิ้งมีเพียงเสื้อชุดเดียว เพราะบอกแม่ว่าจะไปสอบ กินข้าวเช้าเสร็จแล้วเข้าไปกอดแม่ หอมแม่ทีนึง ซึ่งเป็นการแสดงความรักต่อกันที่ไม่เคยทำมาก่อน
และบอกแม่ว่า “ไปละนะ”
สำหรับแม่คือแค่การที่ลูกไปมหาลัยตามปกติ แต่สำหรับลูกชาย มันคือการร่ำลาที่อาจจะตลอดกาล การตัดสินใจ “เข้าป่า” นั้นเท่ากับการตัดสินใจที่พร้อมไปตาย
เมื่อก้าวเท้าออกจากบ้าน เขาต้องผ่านกระบวนการมากมายและวกวนผ่านรถโดยสารสองแถว จนมาถึงตลาดครบุรี โคราช ขึ้นรถโดยสารรวมกับชาวบ้านอีกครั้ง มีนักศึกษาหญิงชายนั่งบนรถคันนั้น 6 คน แต่ไม่มีใครทักกัน หมอมิ้งต้องถอดแว่นตาออกเพื่อไม่ให้ถูกสงสัยว่าเป็นนักศึกษา
จนเข้าสู่ถนนที่สองข้างทางเป็นป่า ทางข้างหน้ามืดสนิท รถวิ่งวนเป็นชั่วโมง ระหว่างที่รถกำลังวิ่งอยู่นั้น มีคนลงมาจากหลังคารถสองคน เอ่ยทักพวกเขาว่า
“สวัสดีสหาย”
คำสั้นๆคำนั้น ความกังวลที่แบกมาตั้งแต่เช้าวันที่ 6 ตุลา ก็หายสิ้น
…..
ชีวิตนักศึกษาในเมือง แม้แต่ชกต่อยกับใครยังไม่เคย อย่าว่าแต่จะฆ่าใคร แต่เมื่อรัฐไทยไม่เหลือทางเลือกให้พวกเขา การเข้าป่าจับปืนจึงเป็นทางเดียว หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา มีนักศึกษากว่า 3,000 คน ที่สมัครใจเข้าร่วมกองกำลังภายใต้การนำของ พคท.
นับจากนี้ พวกเขากำลังจะได้เป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังติดอาวุธในป่า หลังจากหมอมิ้งได้เจอสหายทหารป่าที่ออกมารับที่ถนนหลัก จากนี้ชีวิตพวกเขาอยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพปลดแอกแล้ว
ทหารป่าพานำทางนักศึกษากลุ่มของหมอมิ้ง 6-7 คน เดินเข้าป่าไปเรื่อยๆ เหล่านักศึกษาที่นั่งรถกันมาแบบต่างคนต่างมา และห้ามทักถามกัน จึงพึ่งเริ่มได้พูดคุยทำความรู้จักกัน
ระหว่างทางการเดิน “เข้าป่า” ตลอดหลายวัน มีการเดินและหยุดพักหลายจุด เพื่อรอคนมาสมทบ เป็นเวลาที่ได้เจอเพื่อนนักศึกษาชายหญิงที่ต่างคนต่างมาเพิ่มอีกหลายคน มีนักศึกษาจากหลายที่ ธรรมศาสตร์ มศว รวมถึงนักศึกษาแพทย์หญิงมัธยา ที่ภายหลังเป็นแพทย์หญิงมัธยา เลิศสุริย์เดช ภรรยาของหมอมิ้ง
หมอมิ้งได้เจอเพื่อนรักนักศึกษาแพทย์อีกคน ที่เจอกันครั้งสุดท้ายคือวิ่งหนีกระสุนในเช้า 6 ตุลา มันคือความอุ่นใจอย่างยิ่งที่ได้เจอเพื่อน แม้ว่าต่อมาเพื่อนนักศึกษาแพทย์คนนี้ ได้เสียชีวิตในการต่อสู้ในป่าเขาในที่สุด
สหายทหารป่า แจกถุงปุ๋ยสำหรับเป็นเป้สัมภาระให้ทุกคน และในการเดินรอบสุดท้าย พวกเขารอจน 5 ทุ่มให้มืดสนิท จึงพาออกเดิน โดยไม่บอกว่าไปไหน และไม่มีใครถามอะไร เพื่อปิดลับตำแหน่งที่หมาย พวกเขาแบกเป้และเดินตามเงียบๆในความมืด ใช้ไฟฉายให้น้อยที่สุดและฉายกดลงต่ำ
กลุ่มนักเดินป่าใหม่ เดินไปเรื่อยๆ ฝ่าความมืด เดินกลางฝน ฝ่าโคลน ข้ามทุ่ง ข้ามห้วย หยุดพักบางจุด นอนเอาผ้าขาวม้าปูกับพื้น หลายวันหลายคืน
ตอนนั้นไม่มีใครรู้เลยว่าอยู่จุดไหนแน่ จนมารู้ภายหลังว่าคือ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ในจุดนั้นพวกเขาอยู่หลายวัน จนมีคนเข้าป่ามาสมทบเป็นคณะใหญ่เกือบ 30 คน เดินทางด้วยรองเท้าแตะดาวเทียมต่ออีกหลายวัน ถ้าเป็นเขต พคท.จะเดินกลางวัน ถ้าเขตของรัฐ จะเดินกลางคืน
พื้นที่นี้ รัฐไทยพึ่งตัดถนนเส้นยุทธศาสตร์สำคัญ เพื่อตัดการเชื่อมต่อของผืนป่าไทยกับกัมพูชา อันเป็นเส้นทางลำเลียงของ พคท. เรียกว่าเส้น “ละหานทราย-ตาพระยา” ยาวกว่า 200 กิโลเมตร ซึ่งมีคำกล่าวว่า “กิโลเมตรละ 1 ศพ” เพราะจะมีทหารรัฐบาลเสียชีวิตจากการปะทะกับทหารป่าประจำ
พวกเขาเดินเข้าเขตแดนกัมพูชา ตัดลงหน้าผา คอยระวังทุ่นระเบิด ย่ำน้ำลุยโคลนอีกหลายวันจนนักเดินป่ามือใหม่เท้าพอง
นี่คือรูปธรรมที่เราเรียกว่า “เข้าป่า”
จนกระทั่งถึงจุดหมาย ฐานที่มั่นกองทัพปลดแอก เป็นหมู่กระต๊อบเรียงราย ตั้งอยู่ตรงชายแดนไทยเขต อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ โรงเรียนการเมืองการทหารอยู่ตรงพื้นที่ราบฝั่งกัมพูชา มีสหายชิต วินัย เพิ่มพูนทรัพย์ อดีตประธานนักศึกษาธรรมศาสตร์ รุ่นราวคราวเดียวกับชวน หลีกภัย เข้าป่ามาก่อนนานมาก เป็นผู้รับผิดชอบเขตงานอีสานใต้
วันที่หมอมิ้งไปถึงพร้อมคณะใหม่หลายสิบคน จากนี้ ที่นี่จะเป็นบ้านใหม่ของพวกเขา สหายชิตเดินมาจับมือทักทายสหายใหม่จากเมืองทุกคนจนถึงท้ายแถว คนที่มาถึงก่อนในค่ายก็ออกมาต้อนรับ
และในบรรดาคนเหล่านั้น ก็มีคนๆนึงเดินพุ่งเข้ามาหาด้วยความดีใจ นั่นคืออ้วน ภูมิธรรม!
ครั้งสุดท้ายที่พวกเขาพบกันคือกระโดดหนีกระสุนลงแม่น้ำเจ้าพระยา อ้วน ภูมิธรรมมาถึงฐานที่มั่นแห่งนั้นก่อนระยะหนึ่ง
ที่นั่นเอง สองสหายนักศึกษาจากเมืองกรุง ก็ได้มาพบกันอีกครั้งกลางป่า
พบกันครั้งนี้ อ้วนมีชื่อจัดตั้งใหม่ว่า “สหายใหญ่”
ส่วนหมอมิ้งคือ “สหายจรัส เพื่อประชา”
ทั้งนี้ชื่อว่า มิ้ง คือเสียงแต้จิ๋วของ หมิน ที่แปลว่า ประชาชน นั่นเอง
พวกเขาได้เริ่มเข้าเรียนโรงเรียนการเมืองการทหารของ พคท. ฝึกการทหาร การใช้อาวุธ การเข้าตีและลาดตระเวน ได้สวมชุดทหาร ทปท.และมีเปลหนึ่งอันเป็นที่นอน
ในฐานะนักรบแห่งประชาชน พวกเขาได้สะพายปืนเซกาเซ่ติดตัว (ปืน CKC ออกเสียงตามชื่อย่อภาษารัสเซีย) บวกกระสุนคนละ 100 นัด
ในรุ่นของพวกเขามี 3 หมวด รวม 96 คน โดยมีผู้บังคับกองร้อย คือสหายใหญ่ อ้วน ภูมิธรรมนั่นเอง
ส่วนหมอมิ้ง ได้รับหน้าที่หมอทหาร ประจำเขต 20/205 ทำหน้าที่ภายใต้การนำของ พคท. ได้เห็นเพื่อนเสียสละชีวิตในการรบคนแล้วคนเล่า ตัวพวกเขาเองก็ต้องผ่านประสบการณ์เฉียดตาย ความอดอยาก โรคไข้มาลาเรีย หลบระเบิดกระสุนหลายครั้งหลายหน ผ่านฤดูร้อน ฝน หนาว อยู่กลางป่าเป็นเวลา 4 ปี การสู้รบจึงได้จบสิ้นลง โดยคำสั่ง 66/23
กันยายน 2523 พวกเขาจึงได้วางอาวุธออกจากป่าหวนคืนสู่เมือง เข้าเรียนต่อในฐานะนักศึกษาคืนสภาพ จนต่อมามีชีวิตบนเส้นทางการเมืองอย่างที่เรารู้จัก
�….
ไม่ว่าใครจะพิจารณาบทบาทหรือความเปลี่ยนแปลงของพวกเขาอย่างไร นี่ก็คือบทบาทในอดีตที่เกิดขึ้นแล้ว
48 ปีผ่านไป พวกเขาทั้งคู่ อยู่ในตำแหน่งเบอร์ต้นๆของรัฐบาลไทยปัจจุบัน
โดยเฉพาะอ้วน ภูมิธรรม “สหายใหญ่” อดีตผู้บังคับกองร้อยกองทัพปลดแอก ขึ้นสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทำหน้าที่คุมกองทัพไทยในปัจจุบัน
#เมื่อหมอมิ้งเข้าป่า
#เชิงอรรถเอียงซ้าย