วันศุกร์, ตุลาคม 04, 2567

เล่าเรื่อง…การทัศนศึกษาแบบเยอรมันเค้าทำกันอย่างไร


เยอรมนี มีเรื่องเล่า
11 hours ago
·
เล่าเรื่อง…การทัศนศึกษาแบบเยอรมันเค้าทำกันอย่างไร
.
จริงๆ ตั้งใจไว้นานแล้วว่าจะเล่าเรื่องการไปทัศนศึกษาของโรงเรียนเยอรมัน ตั้งแต่ลูกลิงตัวโตไปทัศนศึกษาที่อิตาลีครั้งที่แล้ว เพราะว่ามีเรื่องที่คิดว่าน่าเรียนรู้จากระบบเยอรมันมากๆ แต่ก็ผลัดวันประกันพรุ่งไปเล่าเรื่องอื่นจนลืมไปเลยว่ายังไม่ได้เล่า จนมาเกิด #ทัศนศึกษา เลยคิดว่าถึงเวลาที่จะต้องเล่าแล้วล่ะ
.
โรงเรียนเยอรมันกับกิจกรรมนอกสถานที่
ในโรงเรียนเยอรมันนั้นจะสนับสนุนให้เด็กๆ ได้ฝึกใช้ชีวิตด้วยตนเอง ได้ออกไปใช้ชีวิตกับเพื่อนๆ เรียนรู้และมีประสบการณ์ร่วมกันกับเพื่อนๆ ในชั้นเรียนค่ะ บางทีก็สนุก บางทีก็ไม่ 555 ซึ่งการไปทัศนศึกษากับทางโรงเรียนนี้มีทั้งแบบไปเช้า-เย็นกลับ ไปค้างคืน ไปจนถึงการเดินทางไปต่างประเทศหลายๆ วัน
.
โดยการเริ่มต้นการไปทัศนศึกษาหรือดูงานกันตั้งแต่อนุบาล จริงๆ ไม่อยากเรียกทัศนศึกษาเลยค่ะ เพราะสำหรับเด็กอนุบาลคือการออกไปทำกิจกรรมนอกสถานที่มากกว่า เช่น ไปเดินในป่าดูต้นไม้ ดูสัตว์พวกนก หนู กระรอก หอยทาก เรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติรอบตัว ไปสวนสาธารณะที่มีต้นไม้ ดูต้นไม้ ดูแมลง แล้วก็วิ่งเล่นกัน ซึ่งกิจกรรมพวกนี้จะอยู่ในเมืองของเราค่ะ วิธีเดินทางก็คือเดินเท้าไปกันกับคุณครูและผู้ปกครอง เอาอาหาร เครื่องดื่มไป ดูโน่นนี่แล้วจบด้วยการพัก เล่นที่สนามเด็กเล่นที่มักมีอยู่ทั่วเมือง ไปสวนไหนก็จะเจอสนามเด็กเล่น กินอาหารวิ่งเล่นกันแล้วค่อยกลับบ้านหรือกลับอนุบาล
.
ต่อมาที่น่าจะเรียกว่าเริ่มเป็นการทัศนศึกษาจริงจังขึ้นมาอีกนิดคือ เด็กอนุบาลกลุ่มที่เตรียมเข้าโรงเรียนประถมค่ะ ในปีสุดท้ายก่อนจะย้ายไปโรงเรียนประถม เด็กๆ จะเตรียมความพร้อมมากขึ้น ทางอนุบาลจะจัดโปรแกรมกิจกรรมดูงานเยอะมาก เป็นการดูงานหน่วยงานในเมืองของเรานี่แหล่ะค่ะ ตั้งแต่ตำรวจ ดับเพลิง หน่วยเก็บขยะ หน่วยให้บริการน้ำประปา แก๊ส ออฟฟิศของนายกเทศมนตรีของเมือง คือเด็กๆ จะได้รู้ว่าในเมืองของเราเค้าทำงานอะไรกันและอย่างไรในการทำให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ซึ่งการเดินทางไปยังหน่วยงานเหล่านี้จะเดินทางกันโดยการเดินเท้าบ้าง รถสาธารณะในเมืองบ้าง ระยะทางไม่ไกลค่ะ ดูงานกันแค่ช่วงเช้ากลับมาทานอาหารเที่ยงกันที่อนุบาลเสมอ
.
เด็กอนุบาลได้อะไรจากการดูงาน
ตำรวจในเมืองของเราจะมีการมอบหมายให้มีเจ้าหน้าที่ประจำเขตที่ดูและอนุบาลและโรงเรียนประถมค่ะ เช่น ตอนเช้าก็จะเป็นคุณลุงตำรวจคนนี้ที่แวะมาดูความปลอดภัยหน้าโรงเรียน หรือเวลามีกิจกรรมต่างๆ ก็มักจะเจอคุณลุงตำรวจคนนี้ หากเกิดอะไรขึ้นคุณตำรวจท่านนี้ก็จะเป็นผู้ประสานงานหลักกับทางอนุบาลหรือโรงเรียน ตอนไปดูงานที่สถานีตำรวจคุณลุงตำรวจก็จะพาชมในโรงพัก พาเด็กๆ ดูศูนย์ข้อมูลที่ไว้คอยรับรายงาน ดูห้องเก็บอาวุธ ห้องขัง เคยเล่าไป กิจกรรมเด็ดของที่นี่คือ คุณตำรวจให้เด็กๆ เข้าไปอยู่ในห้องขัง ซึ่งเป็นห้องปิดสนิทสีขาว มีหน้าต่างเล็กๆ ไม่ใช่ห้องลูกกรงแบบไทย จากนั้นจะปิดประตู ปิดไฟมืดทก่อนเปิดไฟดิสโก้ เปิดเพลงให้เด็กๆ เต้นกัน เด็กๆ ชอบมาก หรือดูงานด้านการดับเพลิงว่า จนท.เค้าต้องทำงานอย่างไร ใส่ชุดแบบไหนเพื่ออะไร บนรถมีอุปกรณ์อะไรบ้าง การไปดูงานนี้ยิ่งทำให้เด็กๆ จำเบอร์ฉุกเฉินสำหรับดับเพลิง ตำรวจ รถพยาบาลได้แม่นเลยค่ะ นอกจากนี้เด็กๆ ยังรู้ด้วยว่าฝาท่อที่อยู่บนถนน บนทางเท้าที่มีสัญลักษณ์ต่างๆ แปลว่าอะไร อันไหนท่อน้ำ อันไหนท่อก๊าซ เพราะเวลามีเหตุฉุกเฉินเด็กๆ อาจจะช่วยบอก จนท . ได้ว่าจุดไหนที่มีท่อน้ำที่ใกล้ที่สุด หรือการไปดูงานหน่วยเก็บ/กำจัดขยะ เด็กๆ จะเรียนรู้เกี่ยวกับการแยกขยะ ทำไมต้องแยก แยกอย่างไร ทิ้งอย่างไรให้ถูกต้อง เป็นต้น
.
ไม่ใช่แค่ไปนอกสถานที่แต่ยังมีการไปค้างคืนที่อื่น
ต่อมาระดับประถม (ป.1-4) โรงเรียนมีกิจกรรมนอกสถานที่อยู่บ่อยๆ ค่ะ ไปดูหนัง ดูละครเวทีดูคอนเสิร์ต ดูนิทรรศการ พาร์คต่างๆ ส่วนใหญ่จะอยู่ในเมืองเราเอง ไม่ไกลจากโรงเรียนมากนัก เดินเท้ากันไปหรือขึ้นรถสาธารณะ แต่สิ่งที่เพิ่มมาในระดับประถมคือ การฝึกให้เด็กอยู่ได้ด้วยตนเองมากขึ้น ป.3 จะมีกิจกรรมให้ไปนอนค้างที่โรงเรียนค่ะ เอาอุปกรณ์การนอนพร้อมหนังสือไปนอนค้างด้วยกันในห้องประชุม คุณครูก็นอนด้วย พ่อแม่ไปส่งตอนเย็น เช้าก็ไปกินอาหารเช้าด้วยกับกับเด็กๆ คือ ฝึกให้ไปนอนค้างที่อื่น จัดการดูแลตัวเองโดยไม่มีพ่อแม่ช่วยเหลือบ้าง
.
Klassenfahrt การทัศนศึกษาร่วมกันของนักเรียนในชั้น
พอป.4 จะเริ่มมีกิจกรรมที่เรียกว่า Klassenfahrt ซึ่งก็คือการไปทำกิจกรรมนอกสถานที่นอกโรงเรียนร่วมกับเพื่อนในชั้น ไปไกลขึ้นอีกหน่อย และอาจจะมีการค้างคืนด้วย ป.4 ก่อนจบชั้นประถมคุณครูประจำชั้นและครูผู้ช่วยจะพาเด็กๆ ในชั้นไปทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งมักจะไปพักที่ youth hostel โรงเรียนประถมของเราไปเมืองใกล้ๆ กันแค่แบบห่างไป 25 กม. คุณครูพาเด็กๆ ขึ้นรถไฟไปค่ะ จากนั้นก็เดินเท้าต่อไปยังที่พัก ทำกิจกรรมร่วมกัน เด็กๆ ไม่ได้รับอนุญาตให้พกโทรศัพท์หรืออุปกรณ์ราคาแพงไป เอาไปได้แค่เกม กล้องถ่ายรูป หนังสือ ตุ๊กตา ส่วนใหญ่จะใช้เวลาเล่นเกมแบบกิจกรรมฐานต่างๆ แต่ละปีจะมีธีมต่างกันไป ไปประมาณ 5 วัน ไปเช้าวันจันทร์กลับบ่ายวันศุกร์ ถึงเด็กๆ จะไม่ได้พกโทรศัพท์ไปแต่คุณครูจะคอยรายงานความเป็นไปตลอด เช่น ถึงที่พักแล้ว วันนี้ทำอะไรกันบ้างส่งมาทางอีเมล์ค่ะ
.
พอเข้า รร.มัธยม (ตั้งแต่ ป.5 ขึ้นไป) รร.เยอรมันจะมีการแจ้งผู้ปกครองเลยค่ะว่า ปีไหนจะมี Klassenfahrt ไปไหนบ้าง เค้าแจ้งล่วงหน้าเป็นปีๆ เข้าป.5 รู้เลยว่าม.1 จะไปเล่นสกี ม.3 จะมีโครงการแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศสำหรับนักเรียนโปรแกรมสองภาษา และก็จะมีกิจกรรมในวิชาที่เพิ่มขึ้นมาที่อาจจะไปทำกิจกรรมเรียนรู้นอกสถานที่ไปเช้า-เย็นกลับ เช่น มีนิทรรศการที่เพิ่งจัดในเมืองใกล้ๆ เด็กๆ ก็จะขึ้นรถไฟไปกับคุณครู หรืออย่างลูกลิงไปเบลเยี่ยมเพื่อฝึกใช้ภาษาฝรั่งเศสในชีวิตจริงตอนเรียนภาษาฝรั่งเศส อันนี้คุณครูจัดรถบัสให้สำหรับเดินทางค่ะ
.
การเดินทางสำหรับการทัศนศึกษา
ในการเดินทางไปทัศนศึกษาไกลๆ พร้อมกัน ถ้าหากว่าสถานที่นั้นไม่ได้อยู่ใกล้สถานีรถไฟ การเดินทางลำบากต้องลากกระเป๋าขึ้นรถกันหลายทอด หรือคำนวณแล้วค่ารถสาธารณะจะแพงกว่า ทางโรงเรียนจะจัดรถบัสให้สำหรับเดินทาง เพื่อที่ทุกคนจะได้เดินทางไปได้พร้อมกันและคุมค่าใช้จ่ายได้ด้วย แม้จะใช้รถบัสแต่ระบบเยอรมันมีการจัดการที่ทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง รวมไปถึงตัวคุณครูและนักเรียนที่เดินทางไปกับรถบัสรู้สึกมั่นใจและปลอดภัยค่ะ
.
ทำไมผู้เขียนใช้คำว่า ระบบเยอรมัน? ก็เพราะว่ามันไม่ใช่แค่โรงเรียนหรือบริษัทที่ให้บริการรถบัส แต่การจัดการด้านความปลอดภัยนั้นเป็นการทำงานร่วมกันทั้งระบบตั้งแต่โรงเรียน ตำรวจ บริษัท หน่วยงานด้านการจราจรขนส่งค่ะ
.
การจัดทัศนศึกษาแบบเยอรมัน
เมื่อโรงเรียนจะจัดให้มี Klassenfahrt กระทรวงศึกษาธิการของแต่ละรัฐก็จะมีระเบียบว่าด้วยเรื่องของการจัดทัศนศึกษาที่กำหนดตั้งแต่ใครจะเป็นผู้จัดและรับผิดชอบ กิจกรรมนั้นต้องสัมพันธ์กับสิ่งที่เด็กต้องเรียนรู้ การกำหนดงบประมาณ ถ้าผู้ปกครองต้องมีค่าใช้จ่ายต้องมีการแจ้งล่วงหน้าเพื่อให้ผู้ปกครองเตรียมเงินทัน ราคาที่ต้องจ่ายต้องไม่สร้างปัญหาทางการเงินให้กับครอบครัวของนักเรียน และต้องไม่มีนักเรียนที่ไม่สามารถไปร่วมกิจกรรมได้เพราะไม่มีเงิน (นักเรียนที่ครอบครัวมีปัญหาทางการเงิน ส่วนนี้รร./รัฐจะสนับสนุนให้ค่ะ ส่วนครอบครัวที่สามารถจ่ายเองได้จะต้องจ่ายเอง โดยราคาที่จ่ายต้องไม่แพงเว่อร์วังแบบค้ากำไรกับเด็ก และมีการแจ้งผู้ปกครองล่วงหน้าให้สามารถเตรียมเงินได้ทัน ของโรงเรียนเราแจ้งโปรแกรมล่วงหน้าเป็นปีๆ ส่วนค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเพิ่มเติมเองแจ้งล่วงหน้าหลายเดือนเลยค่ะ) รวมไปถึงผู้ดูแลเด็กในระดับชั้นตั้งแต่ ป.5 ขึ้นไป ครูผู้ดูแลเด็กที่ร่วมทริปจะต้องมีทั้งชายและหญิง และต้องมีการวางแผนดูแลสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ถ้าเด็กต้องมีผู้ช่วย/ผู้ติดตาม ต้องจัดการให้ผู้ช่วย/ผู้ติดตามของเด็กพิเศษได้ร่วมเดินทางไปด้วย นี่คือกฎกระทรวงค่ะ
.
จากนั้น เมื่อมีการติดต่อรถบัสที่ให้บริการสำหรับเดินทาง คุณครูจะติดต่อตำรวจเพื่อให้ทำการตรวจเช็ครถบัสก่อนออกเดินทางค่ะ เป็นบริการของทางตำรวจสำหรับการเดินทางไปทัศนศึกษาของโรงเรียนโดยเฉพาะ โดยตำรวจจะเช็คความเรียบร้อยของรถว่าในรถมีอุปกรณ์ความปลอดภัยครบถ้วนมั้ย อุปกรณ์ใช้งานได้จริงมั้ย หมดอายุหรือยัง เอกสารรถเรียบร้อยดีมั้ย รถผ่านการตรวจเช็คสภาพตามกฎหมายและผ่านการรับรองความปลอดภัยตามมาตรฐานแน่ๆ และก่อนออกเดินทาง ตำรวจจะมาเช็คคนขับค่ะ ว่าคนขับอยู่ในสภาพที่พร้อมจะขับรถแน่นะ ไม่มีอาการมึนเมา และเช็คเอกสารการทำงานว่ามีใบอนุญาตขับรถจริง มีเอกสารรายงานการทำงานว่าในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาทำงานกี่วัน กี่ชั่วโมง มีการพักผ่อนเพียงพอหรือไม่ พร้อมสำหรับการขับรถพาเด็กๆ ไปทัศนศึกษาแน่นะ
.
ซึ่งเรื่องนี้ซีเรียสมากค่ะ ตอนลูกลิงตัวโตไปทัศนศึกษาที่อิตาลี ต้องออกเดินทางตอนเย็นประมาณหกโมงเย็น จะไปถึงที่สกีรีสอร์ทเช้าวันรุ่งขึ้น แปลว่าคนขับรถต้องขับทั้งคืน ยาวนานกว่า 12 ชั่วโมง แต่กฎหมายกำหนดว่าคนขับรถบัสไม่สามารถขับได้เกินกว่า 9 ชม./วัน แปลว่าต้องมีคนขับ 2 คนอยู่บนรถเพื่อสลับกันขับ ให้อีกคนได้นอนพักสำหรับขับกลับ วันนั้นคนขับสำรองมีปัญหาชั่วโมงการพักไม่พอ ตำรวจไม่ให้ออกรถค่ะ บริษัทต้องหาคนขับสำรองคนใหม่ ทีแรกหาไม่ได้ บอกว่าจะให้รถแวะรับคนขับของบริษัทที่อยู่เมืองทางใต้ระยะเดินทางถึงก่อนครบ 9 ชม.ของคนขับคนแรกแน่ๆ แต่ตำรวจไม่ยอม บอกว่าถ้าไปแบบนั้นต้องกำหนดจุดเช็คอินเลย จะให้ตำรวจเมืองนั้นไปรอดูว่ามีคนขับคนใหม่ที่ได้รับอนุญาตให้ขับจริงๆ มาเปลี่ยนมือ ไม่งั้นไม่ให้เดินทางต่อ ทางโรงเรียนก็ไม่ยอมเพราะกลัวเด็กไปตกค้างอยู่ที่เมืองอื่น วุ่นวาย ดราม่ามากกว่าจะได้ออกเดินทางไปพร้อมกับคนขับที่ฟิตสำหรับขับได้ตามกฎหมาย 2 คน
เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้วลูกลิงก็ไปทัศนศึกษาที่เนเธอแลนด์ค่ะ ระยะทางไม่ได้ไกลมาก คนขับคนเดียวพอ ตำรวจมาเช็ครถ เช็คคนขับเช่นเคย ก่อนออกรถคนขับประกาศในรถให้ทุกคนคาดเข็มขัด ถ้าไม่ได้ต้องไปห้องน้ำให้นั่งอยู่กับที่และคาดเข็มขัดนิรภัยเสมอ พร้อมแจ้งว่าทุก 4.5 ชม.คนขับจะต้องพัก 45 นาที ซึ่งพักจริงๆ ค่ะ มะม๊าส่งข้อความไปหาลูกลิงว่าถึงหรือยัง เธอบอกว่ากำลังจอดพักรถ 45 นาที แม้จะรถติดทำให้ไปถึงช้ากว่ากำหนดไปมากแต่คนขับโนสนโนแคร์ จอดพักลงไปเดินยืดเส้นยืดสาย 45 นาทีตามกฎหมายกำหนดค่ะ
.
ไม่ใช่แค่รถบัสสำหรับทัศนศึกษา แต่ยังมีการตรวจเช็คและควบคุมเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน
สำหรับรถบัสบริการเดินทางท่องเที่ยวทั่วไปมีมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างไร? แน่นอนว่าหน่วยงานอื่นๆ ก็สามารถแจ้งขอให้ตำรวจช่วยตรวจความปลอดภัยก่อนเดินทางไปทัศนศึกษาด้วยรถบัสได้เหมือนกัน แต่สำหรับผู้ที่ไม่ได้ขอ หรือแม้กระทั่งรถบัสให้บริการระหว่างเมือง รวมไปถึงรถบรรทุกขนส่งต่างๆ ตำรวจจะทำการสุ่มตรวจตลอดเวลาทั่วประเทศค่ะ โดยจะตรวจความเรียบร้อยของรถ ตรวจคนขับว่าทำงานกี่โมง ขับรถมากี่ชั่วโมง รถได้มาตรฐาน ผ่านการตรวจเช็คสภาพเรียบร้อยหรือไม่ หรือแม้แต่กระทั่งรถบัสที่ขับรถดูแล้วอาจเกิดความเสี่ยงก็สามารถถูกเรียกตรวจและปรับได้ค่ะ ซึ่งคนขับต้องจ่ายค่าปรับนี้เอง ทำให้คนขับรถต้องขับรถด้วยความระมัดระวังเพื่อไม่ให้ต้องเสียค่าปรับโดยไม่จำเป็น ซึ่งค่าปรับไม่ถูกค่ะ ยิ่งถ้าเป็นบัสที่มีผู้โดยสารด้วยค่าปรับจะเกือบ 2 เท่าของบัสที่ไม่มีผู้โดยสาร
.
กฎหมายเรื่องความปลอดภัยบังคับใช้ทั้งอียู
ใน EU มีการบังคับใช้ Regulation (EC) No 561/2006 แปลว่าทุกประเทศในอียูจะต้องใช้กฎเดียวกันนี้ในด้านการเดินทางและขนส่ง ซึ่งมีการกำหนดเรื่องชั่วโมงการขับรถสำหรับรถที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 3.5 ตันขึ้นไป (สำหรับในเยอรมนีกำหนดให้บังคับใช้กฎนี้กับรถบรรทุกตั้งแต่ 2.8 ตันขึ้นไป) และรถที่มีผู้โดยสารตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป(ไม่กำหนดน้ำหนัก ไม่ว่าจะบัสเล็กหรือใหญ่มีคนบนรถ 10 คนขึ้นไปต้องทำตามกฎนี้) คนขับจะต้องขับรถไม่เกิน 9 ชม./วัน และอนุญาตให้มีวันที่ขับรถได้ 10 ชม./วันไม่เกิน 2 วัน/สัปดาห์
ตามกฎหมายการทำงานในเยอรมนีทำงาน 6 ชม.แล้วจะต้องพัก 45 นาที แต่สำหรับการทำงานขับรถนั้นเข้มข้นกว่านั้นค่ะ ขับรถ 4.5 ชม.จะต้องพัก 45 นาที แปลว่าถ้าขับรถวันละ 10 ชม. จะต้องมีการพัก 45 นาที 2 ครั้งด้วยกันหลังจากขับไปทุก 4.5 ชม. และจะแกล้งลืมก็ไม่ได้ค่ะเพราะมีระบบสำหรับเช็ค ซึ่งเดี๋ยวจะเล่าต่อไปค่ะ
ส่วนเวลาทำงาน(ขับรถ) ต้องไม่เกิน 56 ชม./สัปดาห์ และไม่เกิน 90 ชม./2 สัปดาห์ แปลว่าถ้าอาทิตย์แรกทำงานเต็มที่ตามกฎหมายอนุญาตเลย 56 ชม. สัปดาห์ถัดไปจะขับรถได้ไม่เกิน 34 ชม.เท่านั้น
.
นอกจากเวลาขับรถแล้ว กฎนี้ยังกำหนด “เวลาพัก” ด้วยค่ะ ว่าแต่ละวันคนขับรถจะต้องได้พักไม่น้อยกว่า 11 ชม. ตัวอย่างเช่น ถ้าเริ่มขับรถเวลา 8 โมงเช้าวันจันทร์ ก่อนจะถึง 8 โมงเช้าวันอังคารถึงจะนานที่ผ่านมา ตึ่กโป๊ะ ไม่ช่ายยย ก่อนจะถึง 8 โมงเช้าวันอังคารที่จะครบ 24 ชม.คนขับรถจะต้องได้พักไม่น้อยกว่า 11 ชม. คือ ต้องไม่ได้นั่งอยู่หลังพวงมาลัย ขับรถ รถไม่ได้เคลื่อนที่ แต่กฎหมายอนุญาตให้สามารถพักได้ 9ชม./วัน ไม่เกิน 3 วัน/สัปดาห์ค่ะ ถ้าหากจะพักแค่ 9 ชม./วัน ในวันที่ 4 วันนั้นจะต้องแบ่งเวลาพักเป็น 2 ระยะ คือ 9 ชม.ติดต่อกันกับอีก 3 ชม. รวมแล้วเป็น 12 ชม.แบบไม่ติดต่อกัน
และหลังจากทำงานติดต่อกันใน 1 สัปดาห์แล้วจะต้องมีเวลาพัก 45 ชม./สัปดาห์ค่ะ เช่น ขับรถจันทร์-เสาร์ 6 วัน (กม.กำหนดให้ขับรถได้ไม่เกิน 6 วัน/สัปดาห์) จะได้พัก 45 ชม. คือเกือบ 2 วัน เริ่มขับรถได้อีกทีวันอังคาร แต่กม.ก็อนุญาตให้เวลาพักในสัปดาห์ต่อไปหลังจากที่ได้พัก 45 ชม.ไปแล้วในสัปดาห์ก่อนหน้า ลดเหลือ 24 ชม.ได้ แต่อีก 21 ชม.ที่เหลือจะต้องได้รับการชดเชย ทำให้อาทิตย์ถัดไปจะต้องได้พัก 45+21 ชม. ทั้งนี้เพื่อให้คนขับรถมีเวลาพักมากพอและไม่เหนื่อยเกินไปอันอาจเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุได้
.
เจ้าหน้าที่จะรู้ได้ยังไงว่าคนขับขับรถมากี่ชม. พักกี่ชม.?
ทีนี้มาถึงว่าแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าคนขับรถปฏิบัติตามกฎหมายเรื่องการขับรถและพัก ในอียูตาม regulation 561/2006 กำหนดให้รถบรรทุกที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 3.5 ตันขึ้นไปและรถบัสที่มีผู้โดยสาร 10 คนขึ้นไปจะต้องติดตั้งเครื่อง EG Kontrollgerät (Recording equipment) ซึ่งเครื่องนี้จะบันทึกการทำงานของรถทั้งหมด เช่น รถเริ่มเคลื่อนที่เวลาเท่าไหร่ ใช้ความเร็วเท่าไหร่ จอดพักตอนกี่โมงเป็นเวลากี่นาทีก่อนจะเคลื่อนที่ต่อ นอกจากนี้ยังสามารถบันทึกข้อมูลการตรวจเช็ค ซ่อมบำรุง เมื่อไหร่ ทำอะไรกับรถไปบ้าง นอกจากนี้ยังมีข้อมูลรถ เช่น ทะเบียน จำนวนระยะทาง ปัญหาของรถที่เครื่องตรวจจับเจอ ข้อมูลเจ้าของรถ บริษัทใดเป็นผู้รับผิดชอบ ข้อมูลคนขับรถ เพราะคนขับจะมีการ์ดคนขับที่ต้องเสียบการ์ดก่อนเริ่มขับรถเพื่อให้รถบันทึกข้อมูลว่าใครขับ และคนขับก็มีข้อมูลไปยืนยันกับทางบริษัท ส่วนตำรวจหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการขนส่งเวลาตรวจก็สามารถเรียกข้อมูลทั้งหมดออกมาเช็คได้เช่นกัน และข้อมูลที่บันทึกเกี่ยวกับรถนี้ถ้าเป็นระบบดิจิตัลจะต้องเก็บไว้อย่างน้อย 1 ปี แต่ถ้าไม่ใช่ระบบดิจิตัล จะต้องเก็บไว้อย่างน้อย 2 ปี
และนับตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2026 เป็นต้นไป เครื่องบันทึกข้อมูลนี้จะต้องถูกติดตั้งในยานพาหนะที่มีน้ำหนัก 2.5 ตันขึ้นไป
.
*** เพิ่มเติม *** Regulation No 561/2006 นี้ยังกำหนดเรื่องการจ่ายค่าจ้างแก่คนขับรถบรรทุกขนส่งสินค้าหรือคนขับรถบัส ไม่ให้ขึ้นอยู่กับจำนวนน้ำหนักสินค้าที่ขนส่งหรือว่าระยะทางที่ขับด้วยค่ะ เพื่อป้องกันคนขับพยายามทำรอบเยอะๆ เพื่อหวังจะได้เงินมากขึ้น อันอาจเป็นเหตุให้พักผ่อนไม่เพียงพอหรือพยายามทำความเร็วเกินกำหนดจนเป็นอันตรายหรือเกิดอุบัติเหตุได้
.
การตรวจเช็คสภาพรถที่จริงจัง
ในเยอรมนีกฎหมายกำหนดให้รถยนต์ส่วนบุคคลต้องผ่านการตรวจสภาพรถโดย TÜV (Technischer Überwachungs-Verein) ทุก 2 ปี แต่สำหรับรถบรรทุกและรถบัสต้องตรวจทุกปี และถ้าหากมีปัญหาเล็กๆ น้อยๆ TÜV จะแจ้งเจ้าของให้ทราบและแก้ไข ถ้ามีปัญหาที่ต้องแก้ TÜV จะแจ้งเจ้าของรถและอู่ในรายละเอียดที่ต้องแก้ไข แต่ถ้ามีปัญหาซีเรียสไม่เหมาะสมกับการใช้งานบนท้องถนนทาง TÜV จะแจ้งเจ้าของพร้อมรายงานไปยังหน่วยงานด้านขนส่งเพื่อให้ดำเนินการต่อ ซึ่งก็คือถ้าแก้ไขได้ ขนส่งจะแจ้งให้แก้ไขภายใน 2 สัปดาห์ ถ้าไม่แก้ไขทางหน่วยงานจะห้ามไม่ให้รถนั้นใช้ถนนร่วมกับรถคันอื่นๆ อีก โดยการยึดป้ายอนุญาตให้ใช้บนท้องถนนค่ะ ถ้ารถไม่มีสัญลักษณ์นี้วิ่งไปไม่น่าจะได้ไกล เจอตำรวจก็โดนสอยค่ะ
อ่านเพิ่มเติมเรื่องการตรวจสภาพรถและป้ายสัญลักษณ์การอนุญาตให้รถใช้บนถนเพิ่มเติมได้ในโพสต์เรื่องป้ายทะเบียนกับปัญหารถไม่มีประกันในลิงค์ด้านล่างนะคะ
.
ไปทัศนศึกษาแล้วรถเกิดอุบัติเหตุ ต้องป้องกันและแก้ไขในสิ่งที่เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุ ไม่ใช่การยกเลิกการทัศนศึกษาค่ะ ส่วนตัวผู้เขียนเข้าใจพ่อแม่ไทยที่ไม่ไว้ใจให้เด็กๆ ไปทัศนศึกษาเพราะกลัวเกิดเหตุไม่คาดคิดต่างๆ ผู้เขียนเองก็คงไม่อยากให้ลูกไปกับรถที่เราไม่รู้ว่าจะไว้ใจได้หรือเปล่า ดังนั้น เพื่อให้เด็กๆ ได้มีโอกาสไปเห็นโลกกว้าง พ่อแม่ควรช่วยกันเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาเรื่องระบบขนส่งต่างๆ ค่ะ เพราะเอาจริง ต่อให้พ่อแม่พาไปเอง ขับรถระวังแค่ไหน เราก็ไม่รู้เลยว่าเพื่อนร่วมถนนของเราเค้าขับด้วยความระมัดระวังหรือว่าสภาพพร้อมแค่ไหนบนท้องถนนในเมืองไทย รักลูก สร้างระบบสังคมที่ดีให้กับลูกดีกว่าค่ะ เพราะเราตามลูกไปทุกๆ ที่ในสังคมไม่ได้
.
เคยเล่าเรื่องเกี่ยวกับระบบการตรวจเช็ครถในเยอรมนีไว้ในโพสต์ด้านล่างนี้ค่ะ เผื่อใครสนใจอ่านเพิ่มเติม
ป้ายทะเบียนรถกับปัญหารถไม่มีประกันในเยอรมนี
https://www.facebook.com/293640287451107/posts/2259792180835898/?
ป้ายทะเบียนรถที่ต้องตรงกับความเป็นจริง
https://www.facebook.com/100064906591481/posts/721603366679877/?
.
Photo credit: https://koeln.polizei.nrw/art.../bus-beruhigt-unterwegs-sein