วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 03, 2567

รัฐประหารโหด 6 ตุลาคม 2519 ต้นแบบ มีคนตาย…ไม่มีคนผิด



รัฐประหารโหด 6 ตุลาคม 2519 ต้นแบบ มีคนตาย…ไม่มีคนผิด


มุกดา สุวรรณชาติ
2 ตุลาคม พ.ศ.2567
มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 กันยายน - 3 ตุลาคม 2567

ต้นเหตุการเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
คือความขัดแย้งทางชนชั้น


40 ปี หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จนถึง 14 ตุลาคม 2516 มีการรัฐประหาร เกินกว่า 10 ครั้ง มีทั้งที่สำเร็จและล้มเหลว สาเหตุหลักล้วนมาจากการชิงอำนาจปกครองของกลุ่มบุคคล

แต่กรณี 6 ตุลาคม 2519 มิได้เกิดจากความขัดแย้งของตัวบุคคล หรือกลุ่มบุคคล แต่เป็นความขัดแย้งทางชนชั้น ทั้งในด้านอำนาจการปกครอง ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และความคิดการเมือง

ผู้ที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งนี้ คือกลุ่มที่เป็นผู้ปกครองชั้นบน กลุ่มนายทุน กลุ่มศักดินา บิ๊กทหาร และมหาอำนาจจากต่างประเทศ

อีกฝ่ายเป็นคนชั้นล่าง มีทั้งกลุ่มกรรมกร ชาวนา ปัญญาชน ในทางการเมือง ยังมีพรรคการเมืองต่างๆ ที่พยายามต่อสู้ตามแนวทางรัฐสภา

รวมทั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่ใช้แนวทางการต่อสู้ด้วยอาวุธ

1. รากฐานของความขัดแย้งทางการเมือง ก็คือ การที่ฝ่ายประชาชนพยายามจะสร้างระบอบประชาธิปไตย และเข้ามามีส่วนในอำนาจ

แต่ชนชั้นปกครองเดิมไม่ยอม จึงยึดอำนาจและปกครองด้วยระบอบเผด็จการ หรือกึ่งเผด็จการ ต่อเนื่องมาเป็นเวลายาวนานถึง 25 ปี นับจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม ต่อด้วยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร

มีการกวาดล้างจับกุมฝ่ายก้าวหน้า การตัดสินใจต่อสู้ด้วยอาวุธของปัญญาชนในยุคสฤษดิ์ จึงเกิดขึ้นเพราะแรงบีบคั้นที่ไม่มีทางออกอื่นใด

2. หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 สภาพการเมืองในประเทศไทย ทำให้หลายคนคิดว่า การต่อสู้ทางการเมืองแบบประชาธิปไตยสากลคงจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้

แต่ไม่ถึง 3 ปี ก็เกิด 6 ตุลาคม 2519 ชี้ชัดว่า กลุ่มผู้ปกครอง ที่เรียกว่ากลุ่มอำนาจเก่า ไม่ยอมให้อำนาจแก่ประชาชน และกลัวกระแสสังคมนิยมที่กำลังขึ้นสูง

การพ่ายแพ้ของอเมริกาในสงครามเวียดนาม ทำให้เกิดความเชื่อในทฤษฎีโดมิโน ว่าไทยจะล้มตาม เวียดนาม กัมพูชาและลาว กลายเป็นคอมมิวนิสต์ ความกลัวคอมมิวนิสต์ถึงขนาดกล้าเข่นฆ่านักศึกษา ประชาชน กลางเมือง

มีการวางแผนรัฐประหาร
ล่วงหน้านานนับปี


พวกขวาจัดใช้ความรุนแรงมานานนับปี ก่อนวันที่ 6 ตุลาคม 2519 มีการลอบสังหารผู้นำชาวนาจำนวนมากโดยเฉพาะทางภาคเหนือตั้งแต่ปี 2518 และเมื่อถึงต้นปี 2519 เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ ความรุนแรงก็ขยายตัวออกไปสู่วงการเมือง

มีการลอบสังหาร ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน เลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย โดยการลอบยิงบนถนนในกรุงเทพฯ การขว้างระเบิดใส่ที่ทำการพรรค และเวทีหาเสียงของพรรคพลังใหม่ มีการลอบสังหารนักศึกษามหิดลที่ไปออกค่ายชนบท ขว้างระเบิดใส่ขบวนนักศึกษาใหม่ขอนแก่น

ขว้างระเบิดใส่กลุ่มผู้ชุมนุมเดินขบวนเพื่อขับไล่ฐานทัพอเมริกา วันที่ 21 มีนาคม 2519 กลางถนนหน้าสยามสแควร์

หลังการเลือกตั้งเดือนเมษายน 2519 กลุ่มอำนาจเก่าได้เตรียมการทำรัฐประหาร ซึ่งปรากฏชัดเจน โดยการนำจอมพลประภาสกลับเข้ามา ทำให้เกิดการประท้วงใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการปะทะกันจนมีผู้เสียชีวิต แต่จอมพลประภาสขอกลับออกไปต่างประเทศ เหตุการณ์จึงสงบลง

แต่หลังจากนั้นไม่ถึงเดือน ก็มีการนำจอมพลถนอมกลับเข้ามาอีก เกิดการประท้วงตั้งแต่ 2 ตุลาคม 2519

จนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคมที่มีการสังหารหมู่ ณ บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสนามหลวง นี่เป็นการสร้างสถานการณ์เพื่อทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจและกวาดล้างฝ่ายก้าวหน้าครั้งใหญ่

จากปี 2517 นับถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นักศึกษา ชาวนา กรรมกร ชาวบ้าน นักการเมือง ถูกสังหารไปประมาณ 200 คน

ผลจากการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519

ผู้ได้รับผลกระทบ ที่เราเห็นอยู่ตรงหน้า คือผู้ที่เสียชีวิตในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และใกล้เคียง ผู้เสียชีวิตมากที่สุดมาจากรามคำแหงถึง 13 คน จากมหิดล 5 คน ธรรมศาสตร์ 4 คน จุฬาฯ 1 คน ม.กรุงเทพ 1 คน เพาะช่าง 1 คน ประชาชน 12 คน และที่ไม่สามารถยืนยันได้ เพราะถูกเผาไปอีก 4 คน รวม 41 คน ไม่ต้องพูดถึงความเสียใจของญาติพี่น้องของผู้สูญเสีย

คนบาดเจ็บไม่รู้ว่ามากแค่ไหน เพราะหลายคนต้องแอบหลบซ่อนไปรักษาตัว เนื่องจากการตั้งข้อหาในช่วงนั้นร้ายแรงมาก เป็นกบฏ เป็นคอมมิวนิสต์

คนที่ถูกจับในวันนั้นมีประมาณ 3,100 คน ทั้งคนตาย บาดเจ็บ คนที่ถูกจับกุมส่วนใหญ่ล้วนเป็นเยาวชน ถ้านับอายุก็รุ่นราวคราวเดียวกับเยาวชนยุคนี้ที่กำลังต่อสู้อยู่ อายุประมาณ 17-23 ปี

นักศึกษา ชาวนา ชาวบ้าน หนีเข้าป่าไปจับอาวุธสู้กับรัฐบาล สงครามจรยุทธ์ก็ขยายไปทั่วประเทศภายในเวลาไม่กี่เดือน ต้องรบกันนานถึง 6 ปี มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แม้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม

แต่ผู้ได้ประโยชน์จริงๆ คือคนที่ลงมือฆ่า และผู้บงการ ส่วนผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง บางคนตายไปตั้งแต่ 6 ตุลาคม บางคนพิการ หลายคนไปเสียชีวิตอยู่ในป่า

เหตุการณ์นั้นได้เปลี่ยนวิถีชีวิต จากคนที่จะเป็นหมอ ก็กลายเป็นคนทำงานการเมือง บางคนก็ต้องเลิกเรียนหนังสือไป

6 ตุลาคม 2519 ทำให้คนจำนวนมากยังสืบทอดอุดมการณ์ เข้าร่วมการต่อสู้มาอีกหลายยุค จนทุกวันนี้

นักต่อสู้ ตายฟรี ไม่มีคนผิด ทุกยุคสมัย


1) 14 ตุลาคม 2516 มีคนใช้อาวุธยิงสู้กับทหารตำรวจมากกว่าเมษายน-พฤษภาคม 2553 หลายเท่า สู้จนยึดกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้ ตามข่าวว่าบางคนเป็นทหารพราน มีการเผากองสลากและเผาตึก กตป.ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 และเผากองบัญชาการตำรวจนครบาลในวันที่ 15 ตุลาคม 2516 เมื่อการเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนจบลง มีแต่วีรชน ไม่มีผู้ก่อการร้าย ไม่มีใครด่าว่าเผาบ้านเผาเมือง มีวีรชนที่เสียชีวิต 69 คน มีพิธีพระราชทานเพลิงศพอย่างยิ่งใหญ่ที่เมรุท้องสนามหลวง

2) 6 ตุลาคม 2519 นักศึกษา-ประชาชน ตาย 41 คน ถูกกล่าวหาว่า ร่วมมือกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เวียดนาม แต่พอขึ้นศาล ฝ่ายรัฐประหารกลายเป็นผู้ร้าย จึงต้องรีบออกกฎหมายนิรโทษกรรม งานนี้ไม่มีคนผิด หลังออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี 6 ตุลาคม 2519 ว่า…

“ความผิดความถูกนั้นก็ไม่รู้ว่าใครผิด แต่อย่าไปนึกถึงดีกว่า เพราะยังก้ำกึ่ง ทุกคนอาจผิดก็ได้ในวันนั้น ศาลยังไม่ได้ตัดสิน แต่ทุกคนเห็นแล้วว่า การกระทำที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการกระทำต่อบ้านเมือง และการนิรโทษกรรมก็หมายถึงเลิกกันหมด ทั้งคนในป่า ทั้งประชาชน ทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ทำตามกฎหมายบ้านเมือง”

3) พฤษภาทมิฬ 2535 ประชาชนตาย 44 คน สูญหาย 48 คน บาดเจ็บ 1,700 คน มีนิรโทษกรรม

4) หลังล้อมปราบในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 คนเสื้อแดงถูกตั้งข้อหาที่ร้ายแรงที่สุดเท่าที่คิดได้คือเป็นผู้ก่อการร้าย เผาบ้านเผาเมือง ชาวบ้านที่มาชุมนุมจึงกลายเป็นผู้ก่อการร้ายกันโดยถ้วนหน้า มีบางคนติดคุก งานนี้ไม่มีนิรโทษกรรม แต่คนฆ่าและคนสั่งการไม่ถูกฟ้อง จนถึงทุกวันนี้

สมัย 6 ตุลาคม 2519 อำนาจที่บีบบังคับฝ่ายประชาชนอยู่ยังคงเป็นอำนาจทหาร แต่ถ้ามาย้อนดูระยะ 15 ปีที่ผ่านมาจะพบว่าอำนาจที่บีบบังคับประชาชนมีหลายด้าน บางอย่างก็อยู่นอกระบอบประชาธิปไตย ได้แสดงมาตั้งแต่ปี 2549 และก็กดดันฝ่ายประชาธิปไตยมาตลอด ส่วนอำนาจตุลาการที่ตัดสินชี้ถูกชี้ผิด ถ้าเป็นคดีการเมือง ฝ่ายประชาชนก็พ่ายแพ้ตลอด ทั้งติดคุก ถูกตัดสิทธิ์ ยุบพรรค

ส่วนอีกฝ่ายอย่าไปหาความผิดในเรื่องเล็ก แม้ยิงคนตายกลางเมืองหลวงก็ยังไม่ผิด ไม่ผิดมาตลอด 50 ปี

(รายละเอียดเชิญชมในงาน 6 ตุลา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันที่ 5-6 ตุลาคม 2567)

https://www.matichonweekly.com/column/article_803661