วันพุธ, ตุลาคม 02, 2567

ถอดบทเรียนไฟไหม้รถบัสนักเรียน รถติดแก๊สปลอดภัยแค่ไหน ได้ซักซ้อมแผนกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินก่อนทัศนศึกษาหรือไม่


รถบัสทัศนศึกษาจากโรงเรียนใน จ.อุทัยธานี เกิดไฟไหม้บริเวณถนนวิภาวดีรังสิตขาเข้า หน้าศูนย์การค้าเซียร์รังสิต เมื่อช่วงเวลา 12 .00 น. ของวันนี้ (1 ต.ค.) เบื้องต้นมีผู้เสียชีวิต 23 ราย

1 ตุลาคม 2024
บีบีซีไทย

เหตุรถบัสทัศนศึกษาจากโรงเรียนใน จ.อุทัยธานี เกิดไฟไหม้บนถนนวิภาวดีรังสิตขาเข้า ไม่ใช่เหตุการณ์แรกที่รถบัสหรือรถทัวร์เกิดไฟไหม้จนมีการสูญเสียชีวิตของผู้โดยสาร แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดคำถามถึงความปลอดภัยของรถบัสที่เกิดเหตุเช่นนี้บ่อยครั้ง และระบบการอพยพหรือการจัดการเหตุฉุกเฉิน กรณีการเดินทางไปทัศนศึกษาของเด็กนักเรียน

เจ้าหน้าที่ของโรงเรียนและเจ้าหน้าที่กู้ภัย เปิดเผยตรงกันว่า เมื่อรถเดินทางมาถึงจุดเกิดเหตุ ได้เกิดยางระเบิดขึ้นที่บริเวณล้อหน้าซ้าย จากนั้นรถบัสเสียหลักไปเบียดกับแบริเออร์ที่อยู่เกาะกลางถนนวิภาวดี และเกิดเพลิงลุกไหม้อย่างรุนแรงและรวดเร็วจากด้านล่างของตัวรถ ก่อนลุกลามไปบนตัวรถ ซึ่งรถบัสของบริษัทรถทัวร์นำเที่ยว ชินบุตรทัวร์ ที่เกิดเหตุดังกล่าว ใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซเอ็นจีวี (NGV)

ด้านสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย (สปข.) ออกแถลงการณ์ว่าจากคลิปวิดีโอที่เผยแพร่ออกมา "เบื้องต้นสันนิษฐานว่ายางล้อหน้าระเบิด ทำให้รถเสียหลักไปชนเข้ากับแบริเออร์ จนเกิดไฟลุกไหม้ตามมา ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบหาสาเหตุร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง"

“ทั้งนี้เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นในประเทศไทยไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม และจะนำกรณีนี้มาศึกษาและหาแนวทางป้องกันให้ดีที่สุดในอนาคต”

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวกับบีบีซีไทยว่า สาเหตุที่แท้จริงอาจต้องรอให้พนักงานสอบสวนและพิสูจน์หลักฐานตรวจสอบว่า เพลิงไหม้เกิดจากระบบแก๊สหรือไม่ เพราะเบื้องต้นทราบเพียงว่า รถได้เกิดเหตุยางแตก และเสียหลักชนกับแบร์ริเออร์

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางถนนชี้ว่า แต่สิ่งสำคัญที่ต้องมีการถอดบทเรียนทบทวนจากกรณีนี้ คือระบบการอพยพ หรือการจัดการเหตุฉุกเฉิน กรณีการเดินทางไปทัศนศึกษาของเด็กนักเรียน

รถบัสไฟไหม้ เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง

สาเหตุของอุบัติเหตุรถโดยสารที่ชนแล้วเกิดไฟไหม้ หรือเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้โดยไม่มีการชน เกิดจากอะไรได้บ้าง

นพ.ธนะพงษ์ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า อุบัติที่เคยเกิดขึ้นในอดีต กรณีที่มีการชน การเฉี่ยวชนนั้นอาจเกิดในตำแหน่งที่ใกล้กับถังน้ำมัน แบตเตอร์รี ซึ่งอาจเกิดประกายไฟในตัวของแบตเตอร์รี หรือกระทั่งในระบบน้ำมัน หรือระบบแก๊สที่ไม่ได้มาตรฐาน

ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวต่อไปว่า ในบางกรณีอาจเริ่มต้นด้วยยางที่เกิดระเบิด ก่อนเกิดเพลิงลุกไหม้ตามมา อย่างเช่นกรณีรถทัวร์จากสุโขทัย ซึ่งเกิดเหตุยางระเบิดไฟไหม้วอดทั้งคันที่ จ.กาญจนบุรี เมื่อเดือน ม.ค. 2567


ยังไม่มีการสรุปสาเหตุว่าเกี่ยวข้องกับระบบก๊าซของรถหรือไม่

“เคสนั้น พอเกิดยางระเบิด ตำแหน่งระเบิดไปกระแทกกับวาล์วของระบบแก๊ส ทำให้มีการจุดประกายไฟ และเกิดเพลิงไหม้” ผู้เชี่ยวชาญความปลอดภัยทางถนน กล่าว พร้อมสันนิษฐานว่า ในกรณีรถบัสนักเรียนที่เกิดเพลิงไหม้วันนี้ ทั้งเศษยางก็ดี หรือแรงดันต่าง ๆ อาจไปกระทบระบบแบตเตอร์รี วาล์ว หรือระบบน้ำมันอะไร หรือไม่ จึงเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้

เมื่อถามว่าสาเหตุมาจากระบบแก๊สหรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า มีความเป็นไปได้เช่นกันว่า ระบบแก๊สมีการรั่วไหลออกมาหรือไม่ แต่เบื้องต้น มองว่าปัจจัยที่สำคัญน่าจะเกี่ยวข้องกับวัสดุที่มีลักษณะติดไฟง่ายที่อยู่บนรถ เช่น เบาะรถ หรือผ้าม่าน ที่ทำให้เกิดการลุกลามอย่างรวดเร็ว

“สิ่งที่ต้องทบทวนคือ มันต้องมาดูว่า ทำไมเวลามีเกิดเพลิงไหม้ มันถึงลุกลามได้เร็ว อุปกรณ์ที่ใช้ เบาะ ผ้าม่าน อาจจะใช้วัสดุทนไฟที่มากขึ้นไหม อันนี้อาจต้องมีการมากำหนดมาตรฐานให้ชัดเจนว่า อุปกรณ์ในรถ ต้องทนไฟอย่างไร เพราะเวลาเกิดเพลิงไหม้ ถ้าวัสดุมันกันไฟ อาจจะไม่รุนแรงอย่างนี้”



ประเทศไทยเคยวางระบบจัดการเหตุฉุกเฉินนักเรียนทัศนศึกษาหรือไม่

ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) บอกบีบีซีไทยว่า จากเหตุสลดดังกล่าว ประเทศไทยควรจะมีการทบทวนกระบวนการนำนักเรียนไปทัศนศึกษา ทั้งรูปแบบการทัศนศึกษาแบบไปเช้าเย็นกลับ ซึ่งมักเกิดในช่วงปิดเทอมเดือน ต.ค. ของทุกปี และการซักซ้อมแผนกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน

“ความเสี่ยงที่แฝงมา คือการจัดการค่อนข้างเร่งรีบ นัดเด็กแต่เช้าอย่าง จ.อุทัยธานี น่าจะออกตั้งแต่ตีห้าหรือหกโมง แล้วรถ หรือเด็กต้องเตรียมตัว ตั้งแต่ตีสี่ อาจมีข้อจำกัดเรื่องการซักซ้อมว่า ถ้ามีเหตุฉุกเฉิน ต้องทำยังไงบ้าง” นพ.ธนะพงษ์ กล่าว

“สิ่งที่กรณีนี้น่าจะช่วยกันทบทวน คือทำอย่างไรกระบวนการพาเด็กไปทัศนศึกษา ครูและโรงเรียนต้องเตรียมความพร้อม ซักซ้อมว่าจะต้องมีครูกี่คน ครูจะต้องทำหน้าที่ยังไงบ้าง ถ้าเกิดเหตุเช่นเพลิงไหม้ พนักงานประจำรถ ต้องใช้อุปกรณ์ดับเพลิงยังไง เรื่องแบบนี้ต้องทบทวน โดยเฉพาะโรงเรียนที่พาลูกหลานของผู้ปกครองเดินทางไป”



นอกเหนือจากการซักซ้อมแล้ว ระบบการกำกับดูแลความปลอดภัยของตัวรถ อย่างเช่นการทบทวนว่าเหตุใด รถบัสจึงเกิดเพลิงไหม้ได้รวดเร็วขนาดนี้ หรือหากมีปัจจัยจากการเป็นรถที่ใช้เชื้อเพลิงแก๊สโดยเฉพาะ ต้องมีการวางแผนในแต่ละสถานการณ์เป็นการเฉพาะ

“เคสนี้ไม่ทราบว่าเกิดเพลิงไหม้ยังไง ช่วงนั้นได้ใช้อุปกรณ์ดับทันหรือไม่ หรือถังได้ถูกใช้หรือไม่ ถ้าดับไม่ได้ จะอพยพเด็กอย่างไรในรถที่สูงขนาดนี้ ถ้าไม่ถูกเตรียมพร้อมไว้ พอถึงสถานการณ์จริงอาจจะไม่สามารถปฏิบัติได้” นพ.ธนะพงษ์ กล่าวกับบีบีซีไทย และเสริมด้วยว่า การทัศนศึกษาแบบค้างคืนในช่วงเปิดเทอมใหญ่ ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน เพราะการเดินทางมักจะใช้รถบัสโดยสารแบบสองชั้น

อุบัติเหตุซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ไม่เคยมีการแก้ไขเชิงระบบ

นพ.ธนะพงษ์ ให้ความเห็นว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในลักษณะซ้ำ ๆ เช่นนี้ บ่งชี้ว่าตัวสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุยังไม่เคยถูกจัดการ โดยอุบัติเหตุหมู่ของนักเรียนมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ตั้งแต่กระทรวงศึกษาธิการต้นสังกัดของโรงเรียน กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ที่ควบคุมดูแลผู้ประกอบการขนส่ง ซึ่งจำเป็นที่รัฐบาลต้องเป็นเจ้าภาพ โดยอาจตั้งเป็นรูปแบบของหน่วยงานกลางอิสระระดับชาติที่เข้ามาสอบสวนเหตุที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยสาธารณะ เช่นเดียวกับ คณะกรรมการความปลอดภัยการขนส่งแห่งชาติของสหรัฐฯ

“อยากให้รัฐบาลเร่งรัดให้มีหน่วยกลางที่มีความเป็นอิสระและวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เพราะเมื่อวิเคราะห์สาเหตุเสร็จ หน่วยงานนี้จะกำหนดมาตรฐานว่าหน่วยไหน ต้องทำอะไร เช่น ในต่างประเทศที่เกิดเหตุเครื่องบินไฟไหม้ ก็ต้องไปรื้อระบบบนเครื่องบินใหม่หมด”

ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางถนน ชี้ว่า ที่ผ่านมา เมื่อเกิดอุบัติเหตุใหญ่เกิดขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางขนส่งมีการตั้งกรรมการสอบในบางเหตุการณ์ แต่ผลที่ได้ไม่เคยนำไปสู่การวางระบบป้องกันในอนาคตแต่อย่างใด

“ที่ผ่านมาคมนาคมอาจจะมีตั้งกรรมการ แต่มันไม่โยงไปสู่แอคชั่นเชิงระบบ” นพ.ธนะพงษ์กล่าว

“ความรับผิดชอบเชิงระบบ ได้แก่ การวางว่าระบบการทัศนศึกษาได้มาตรฐานปลอดภัยที่ผู้ปกครองไว้วางใจจะมีอะไรบ้าง หรือความรับผิดชอบในการตรวจสภาพรถใครจะต้องทำอะไร”

ย้อนเหตุรถบัสรถทัวร์ไฟไหม้ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รถบัสโดยสารในประเทศไทยเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้อย่างน้อย 4 เหตุการณ์ ได้แก่
  • รถทัวร์โดยสาร 2 ชั้นของบริษัท 407 พัฒนาทัวร์ จำกัด สายอุดรธานี - กรุงเทพฯ เกิดไฟไหม้ ที่ จ.ขอนแก่น หลังจากถังก๊าซเอ็นจีวีเกิดระเบิด เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 5 คน วิศวกรกรมการขนส่งทางบก สรุปผลตรวจเบื้องต้นว่า สาเหตุการเกิดไฟไหม้ เกิดจากระบบเบรกเกิดการขัดข้อง จนทำให้เบรกค้างและเกิดความร้อนจนส่งผลให้ยางล้อหลังระเบิด เศษยางกระเด็นไปโดนวาล์วถังก๊าซเอ็นจีวี ซึ่งติดตั้งอยู่ที่บริเวณด้านท้ายรถใกล้กับเครื่องยนต์ 10 ถัง และอยู่ที่บริเวณด้านหน้า 1 ถัง ใกล้กับประตูทางออก จนก๊าซฟุ้งกระจายและติดไฟขึ้น ทำให้เกิดไฟไหม้อย่างรวดเร็ว (เม.ย. 2564)
  • รถเมล์เอ็นจีวี ปอ.522 รังสิต-อนุสาวรีย์ เกิดยางระเบิดจนไฟลุกไหม้ที่ จ.นนทบุรี มีผู้บาดเจ็บถูกไฟลวกหนึ่งราย (พ.ค. 2565)
  • รถทัวร์จากสุโขทัยมาเที่ยว จ.กาญจนบุรี เกิดเหตุยางระเบิดไฟไหม้วอดทั้งคัน (ม.ค. 2567)
รถบัสกองทัพอากาศรับส่งบุคลากร ซึ่งใช้เชื้อเพลิงก๊าซเอ็นจีวี เกิดเหตุไฟไหม้บริเวณถนนด้านในสนามบินดอนเมือง โดยพลขับระบุว่า ได้กลิ่นแก๊สเข้ามาในตัวรถพร้อม ๆ กับเกิดกลุ่มควัน (ก.ย. 2567)