ประชาไท Prachatai.com
18 hours ago
.
กระบวนการยุติธรรมที่อ่อนปวกเปียกนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร ?
.
กระบวนการยุติธรรมที่ไม่สามารถจัดการกับอาชญากรตัวเป้งได้ ปล่อยโจรใส่สูทพากันลอยนวลแถมได้ดิบได้ดีในตำแหน่งแห่งที่ต่างๆ ทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐ ถึงแม้สังคมดูเหมือนจะเห่อเหิมจริยธรรมอันสูงส่งกันเสียเหลือเกิน
.....
กระบวนการยุติธรรมปวกเปียก
วิพล กิติทัศนาสรชัย
24 กันยายน 2567
ประชาไท
วันก่อนไปร่วมเสวนากับหน่วยพิทักษ์สิทธิมนุษยชนระดับชาติที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ได้ยินเสียงเล็ดรอดจากห้องประชุมข้างๆ เหมือนจงใจพูดซะดังไปถึงหน่วยงานยุติธรรมที่ทรงเกียรติทั้งหลายบนถนนแจ้งวัฒนะว่า
“มันมีผู้ปกครองประเทศอยู่จำพวกหนึ่งที่มีความสุข จากการปล่อยให้ตำรวจ อัยการ และศาล ขาดความเป็นมืออาชีพ”
ห่ะ อะไรนะ ใครกันที่จะได้ประโยชน์จากกระบวนการยุติธรรมที่บูดเบี้ยว ? ที่แน่ๆ ไม่ใช่ตามี ยายมา ไอ้จุก ไอแกละ ชาว้บานตาดำๆ ทั้งหลายเป็นแน่
เรามีเรื่องและประเด็นมากมายที่ต้องแก้ไขปรับปรุงในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการการกินสินบาดคาดสินบนจากคนในเครื่องแบบตลอดจนคนใส่ครุยที่ดูน่าเกรงขาม ปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจและระบบส่วยที่ฝังรากปัญหาจุดอ่อนของการยึดอาวุโสขององค์กรอัยการและผู้พิพากษาจนเกิดสภาพคล้ายเก้าอี้ดนตรีมีการเปลี่ยนหน้าประธานศาลฎีกา อัยการสูงสุดกันทุกปีจนองค์กรมีสภาพเสมือนไร้ผู้นำ แต่เต็มไปด้วยผู้รอวันขึ้นมากินตำแหน่งกันคนละปีสองปี ซึ่งไม่มีบริษัทที่ดีที่ไหนที่ยอมให้เกิดภาวะเช่นนี้
กระบวนการยุติธรรมที่อ่อนปวกเปียกนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร ?
มันก็คือกระบวนการยุติธรรมที่ไม่สามารถจัดการกับอาชญากรตัวเป้งได้ ปล่อยโจรใส่สูทพากันลอยนวลแถมได้ดิบได้ดีในตำแหน่งแห่งที่ต่างๆ ทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐ ถึงแม้สังคมดูเหมือนจะเห่อเหิมจริยธรรมอันสูงส่งกันเสียเหลือเกิน
แต่กระบวนการยุติธรรมที่อ่อนปวกเปียกนี้น่ะ มันจะเก่งกับพวกโจรกระจอก มันจะสามารถจัดการกับปัญหา อาชญากรรมเล็กๆ น้อยๆ และอาชญากรที่สิ้นไร้ไม้ตอก หรือที่ฝรั่งเรียกว่าอาชญากรรมตามท้องถนน street crime นั่นเอง ผู้บริหารหน่วยงานยุติธรรมทั้งหลายเขารู้กันดีว่าต้องแสดงฝีมือให้เห็นเป็นที่ประจักษ์กับคดีจำพวกใด และใครที่เขาควรเกรงใจไม่กล้าว่าไปตามเนื้อผ้า อันว่า ข้าราชการไทยนั้น ชาวโลกพากันชื่นชมว่าเป็นนักแล่นเรือใบมือฉกาจเพราะดูทิศทางลมเก่งว่าใครในสามโลก
กี่สิบปีแล้วที่ประเทศไทยมีปัญหาคดีล้นศาล นักโทษล้นคุก ?
กี่สิบปีแล้วที่หน่วยงานยุติธรรมขยันแปรรูปผู้เสพยาเรือนหมื่นเรือนแสนให้เป็นอาชญากรป้อนเรือนจำ
กี่สิบปีแล้วที่ชาวบ้านร้านตลาดยังเชื่อว่า คุกมีไว้ขังคนจน ?
กี่สิบปีแล้วที่ตำรวจน้ำดีต้องท้อแท้แพ้พ่ายให้กับระบบที่กัดกินตัวมันเองและทำลายคนดีมีฝีมือในองค์กร ?
กี่สิบปีแล้วที่พนักงานอัยการมักสั่งฟ้องไว้ก่อน และไม่ค่อยกล้าสั่งไม่ฟ้องตามเนื้อผ้า ?
กี่สิบปีแล้วที่ผู้พิพากษาจำนวนไม่น้อย ไม่กล้าสั่งให้ประกันและวินิจฉัยคดีอย่างตรงไปตรงมา และจัดการกับพวกวิ่งคดีอย่างจริงจังโดยไม่ต้องรอให้เป็นข่าวขึ้นมาก่อน คนในวงการเขารู้กันนะ ว่าในคดีแพ่งพาณิชย์น่ะ เขาดีลสิบโล ร้อยโลกันตรงจุดไหนและอย่างไร ?
กี่สิบปีแล้ว ทุกคุกไทย ไม่ได้ทำหน้าที่สมตามชื่อของหน่วยงานที่เรียกว่า กรมแห่งการปรับแก้พฤติกรรม (Correction Department) ?
กี่สิบปีแล้ว ที่ชาวบ้านต้องก้มหัวให้กับผู้มีอิทธิพล เพราะไม่สามารถพึ่งกฎหมายได้ ?
บ่อยแค่ไหนที่เราได้ยินคำสวยหรูอย่างคำว่า “มาตรฐานสากล” “ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” ศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน” “อัยการคือโซ่ข้อกลางในกระบวนการยุติธรรม” “ตำรวจคือต้นธารแห่งกระบวนการยุติธรรม” คำสวยหรูเหล่านี้ มันช่างไร้ความหมายในสายตาคนมองออก แต่กลับมีนักวิชาการและผู้ใหญ่หลายคนในวงการชอบใช้กันจังในเวทีประชุมสัมมนาต่างๆ ไม่รู้เหมือนกันว่า หลังลงเวทีแล้ว มีใครต้องรีบเข้าห้องน้ำเพื่อสำรอกความสะอิดสะเอียนออกมาบ้างหรือไม่
ที่สุดแสนจะน่าสะอิดสะเอียนที่สุดคือทุกหน่วยงานในกระบวนการที่ทำต่างอ้างอิงหลักนิติรัฐ นิติธรรม ความโปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยมีคนเก่งในวงการกฎหมายทั้งหลายพากันสรรเสริญบรรดาเนติบริการ ว่าเป็นเกจิอาจารย์
เรามีกี่รัฐบาลแล้วที่หมุนเวียนเปลี่ยนกันเข้ามาแหกตาประชาชนด้วยคำว่า “ปฏิรูปตำรวจ” “ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม”
แต่ความจริงแล้ว คนที่ยึดกุมอำนาจปกครองประเทศและกลุ่มทุนขนาดใหญ่ชอบใช้ปากเทศนาถึงหลักธรรมาภิบาล แต่ก็ไม่อยากให้กระบวนการยุติธรรมไทยมันมีความเป็นมืออาชีพ เพราะตำรวจ อัยการ ตุลาการที่เป็นมืออาชีพท่านไม่ก้มหัวให้กับอำนาจหรือเงินตรา แต่คนมืออาชีพพวกนี้จะก้มหน้าก้มตาทำงานไปตามเนื้อผ้า ไม่สนหน้าอินทร์ หน้าพรหม
เมื่อคนข้างบนได้ประโยชน์จากกระบวนการยุติธรรมที่ซื้อได้ เขาจะทำให้มันเป็นของดีที่ชาวบ้านเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกันไปทำไม เพราะนั่นเท่ากับ ตาสี ยายสา ก็สามารถชนะคดีที่มีพวกเขาเป็นคู่ขัดแย้งได้เหมือนกัน ที่สำคัญ คนข้างบนเขาจะพยายามคัดกรองไม่ปล่อยให้ตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษามืออาชีพที่ไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมได้ขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งในองค์กร แต่กลับปล่อยให้พวกสีเทาได้ดิบได้ดีกันอยู่เนืองๆ ช่างเข้าตำราการใช้คนของโจโฉเสียนี่กระไร
อีกกลุ่มที่สังคมต้องระวังคือพวกนักแฉนักร้องที่เป็นแร้งกาทำตัวเป็นผู้ปราดเปรื่องที่ชอบออกมาแฉแบบกะปริดกะปรอย แล้วย่องเข้ามาตบทรัพย์ตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษาบางคนที่กินสินบนระดับสิบโล ร้อยโล
เมื่อสภาพของกระบวนการยุติธรรมของบ้านเรามันเป็นเช่นนี้ สิ่งผิดปกติที่มันไม่ควรเกิด มันจึงเกิดจึงเป็นอยู่อย่างที่ว่ามา และจะเป็นต่อไป ตราบเท่าที่....“ยังไม่ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม” กระนั้นหรือ ?
ไม่มีทางได้คำตอบที่ใช่ หากตั้งคำถามผิด
ประเทศนี้ไม่ได้ขาดคนเก่งวิชากฏหมาย แต่ขาดคนกล้ายืนหยัดในหลักการ
ประเทศนี้ไม่ใช่ไม่รู้ว่าจะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างไร
การจะออกแบบ จะสร้างองค์กรตำรวจอัยการและตุลาการที่ดีนั้นต้องทำอย่างไรนั้น แท้จริงแล้ว สังคมเราทำได้ เพราะมีผู้รู้ปัญหาและหาทางออกได้หมดในทุกจุด แต่กรรมของคนไทยคือ ถึงผู้มีอำนาจรู้ พวกเขาก็ไม่อยากทำ เพราะทำไป คนที่ได้ประโยชน์คือไอ้จุกไอ้แกละ ตาดำอีแดง ยายสียายสา แต่ไม่ใช่บรรดาพวกท่านที่ลอยลมบนเพลิดเพลินใจกับ การมีอำนาจเหนือกระบวนการยุติธรรม
เงินงบประมาณจำนวนมหาศาลของประเทศถูกใช้ผิดที่ผิดทางในเรื่องอื่นๆ อย่างไร ก็ถูกใช้ผิดที่ในกระบวนการยุติธรรมในทำนองเดียวกันด้วยเช่นกัน ไม่งั้น คงไม่มีการปล่อยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติขาดการให้ความสำคัญกับพนักงานสอบสวน และยังคงมีการปล่อยให้ตำรวจชั้นผู้น้อยอดอยากต่อไปเพื่อที่จะได้คอยทำหน้าที่เป็นสุนัขล่าเนื้อส่งต่อขึ้นไปเป็นขั้นๆ สูงขึ้นไปจนจุดสูงสุดที่ได้รับประโยชน์กับระบบส่วยนั้นอยู่สูงและไกลเกินการมองเห็นด้วยตาเปล่าของคนธรรมดาสามัญอย่างเราท่าน
งานเสวนาศึกษาวิจัยที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมในประเทศเราจึงไม่สามารถเปลี่ยนอะไรใหญ่ๆ ในกระบวน การยุติธรรมไทยได้เลย
หากบ้านนี้เมืองนี้มีประชาธิปไตยที่ง่อยเปลี้ยเพราะมีอำนาจเทาดำและนายทุนครอบงำอยู่อย่างนี้ เราคงจะไม่มีหวังได้เติบโตและใช้ชีวิตกันอย่างผาสุกเหมือนสังคมอารยะ พวกคนชั้นกลางชั้นสูงจำนวนไม่น้อยก็อยู่อย่างสุขในสังคมแบบนี้ได้อยู่นะ ถ้าคุณไม่รังเกียจสภาพเช่นนั้นถึงระดับรับไม่ได้
ในสมัยสามก๊ก แผ่นดินจีนคงมีตำแหน่งที่ทำหน้าที่ทำนองเดียวกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ปปช. ตำรวจ อัยการ
โจโฉย่อมไม่ยินดีหากสถาบันเหล่านี้มีความเป็นมืออาชีพ เพราะพวกนี้จะเป็นที่รักของประชาชนจนโจโฉเดือดร้อน
ประชาธิปไตยที่ง่อยเปลี้ยกับกระบวนการยุติธรรมที่ปวกเปียก จึงเป็นคู่สร้างคู่สม ของกันและกัน
คนจำพวกที่ยินดีกับความอ่อนแอของประชาธิปไตยไทย ก็เป็นคนจำพวกเดียวกันกับพวกที่ปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมไทยอ่อนปลวกเปียก ซึ่งคนข้างบนจำพวกนี้ยังชอบปล่อยให้องค์กรอิสระและต้านโกงทั้งหลายขาดความเป็นมืออาชีพเพื่อเอาไว้ใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายฝ่ายตรงข้าม
ดังนั้น เรื่องสองเรื่องที่ดูเหมือนไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน การเมืองกับกระบวนการยุติธรรม กลับเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก
นักวิชาการ ผู้บริหารระดับสูง และดาวรุ่งในแวดวงวิชาการกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทั้งหลาย หากท่านไม่ให้ความสนใจในมิตินี้ โครงการ กิจกรรมทางวิชาการบรรดามีทั้งหลายที่ขยันทำกันอยู่และคิดจะทำต่อไป มันก็จะเป็นเพียงแค่การปะผุจุดเล็กจุดน้อยกันต่อไปอย่างน่าเสียดาย จึงถึงเวลาแล้ว ที่พวกเราต้องมาช่วยกันทะลุเพดานคิดและวิพากษ์กระบวนการยุติธรรมไทย และช่วยกัน De-coupling กระบวนการยุติธรรมออกจากการเมือง
https://prachatai.com/journal/2024/09/110810