วันพุธ, ตุลาคม 02, 2567

จดหมายจาก ‘เก็ท โสภณ’ ถึงคุณย่าที่ไม่ได้พบหน้า และถึงนักกิจกรรมชาวเมียนมาที่ยังต่อสู้


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
15 hours ago 
·
จดหมายจาก ‘เก็ท โสภณ’ ถึงคุณย่าที่ไม่ได้พบหน้า และถึงนักกิจกรรมชาวเมียนมาที่ยังต่อสู้
.
.
ในช่วงปลายเดือนกันยายน 2567 “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้เขียนจดหมายฝากทนายความออกมาจำนวน 3 ฉบับ เล่าถึง 3 เรื่องราวหลัก ได้แก่ เรื่องราวที่เขาเขียนเนื่องในวันเกิดคุณย่าของเก็ท ที่เขาไม่ได้พบหน้าและกินข้าวด้วยกันมากว่า 1 ปีแล้ว, เรื่องราวถึงเพื่อนนักกิจกรรมชาวเมียนมา ที่มีข่าวว่าถูกตัดสินประหารชีวิต และเรื่องราวที่เล่าสั้น ๆ ถึงสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ฝากถึงประชาคมโลก
.
————————-
วันที่ 13 และ 20 ก.ย. 2567
.
วันเกิดคุณย่าปีนี้ผมก็อยู่ในเรือนจำอีกแล้ว ปีนี้เป็นปีที่สองแล้วที่ผมไม่ได้อยู่ฉลองวันเกิดกับคุณย่า คุณย่ามักจะพูดกับพี่คนดูแลเสมอว่าไม่มีใครสั่งพิซซ่าได้ถูกใจได้เหมือนผมเลย ปีนี้คุณย่าอายุ 87 ปีแล้ว ผมขอให้คุณย่ามีสุขภาพที่แข็งแรงอยู่เป็นกำลังใจให้ผม และรอผมออกไปนะครับ ผมยังมีความหวัง ยังมีความเชื่อ และยังคงต่อสู้ต่อไป ให้สมกับที่เป็นหลานคุณปู่คุณย่า
.
บ้านผมเราจะทานข้าวพร้อมกันทุกมื้ออาหาร ไม่ว่าจะทำอะไรอยู่เมื่อถึงเวลาอาหารไม่ว่าจะเช้า เที่ยง เย็น หากทุกคนอยู่ที่บ้าน ไม่ว่าทำอะไรอยู่เราจะต้องมาทานข้าวด้วย มันเป็นแบบนี้อยู่เสมอ แต่กว่าปีหนึ่งแล้วที่ที่นั่งของผมมันว่างลง คุณปู่และคุณย่ามักจะบ่นคิดถึงผมเสมอ แต่ท่านเองก็ไม่ยอมมาเยี่ยมผม หรือให้ผมเห็นหน้าทางไลน์เลย ท่านบอกว่าท่านกลัวว่าจะทำให้ผมเสียใจ หากเห็นท่านทั้งสองร้องไห้ กว่าหนึ่งปีแล้วที่ผมไม่ได้เห็นหน้าปู่กับย่า
.
แม้คุณย่าจะเป็นเอาแต่ใจในมุมมองของหลายคน แต่คุณย่าก็เป็นคนที่มีความคิดเปิดกว้างทางการเมือง ที่บ้านของผม คนที่เปิดดูข่าวการเมืองก็คือคุณปู่และคุณย่า ผมได้รับอิทธิพลในการติดตามข่าวการเมืองมาจากคุณปู่และคุณย่า แม้เราจะมีความเห็นทางการเมืองไม่ตรงกัน แต่เราก็สามารถพูดคุยกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอยู่ตลอด
.
แม่เล่าให้ผมฟังว่า คุณย่าติดตามดูข่าวอภิปรายอยู่เสมอและมักมีอารมณ์ร่วมทุกครั้ง คุณย่าบ่นตลอดว่าเมื่อไหร่นิรโทษกรรมจะผ่านสักที และคุณย่ายังคงติดตามข่าวของผมอยู่เสมอ ยังคงเคียงข้างผมอยู่เสมอ คุณย่ามีส่วนอย่างมากที่ทำให้ผมเป็นผมอย่างทุกวันนี้
.
ผมได้รับอิทธิพลเรื่องการเมืองจากคุณย่า คุณย่ามักพูดเสมอว่าเราอาจมีความเห็นแตกต่างกันไม่เป็นไร เราจะชอบทักษิณหรือไม่ชอบก็ไม่เป็นไร เราจะมีความเห็นเกี่ยวกับเจ้าแตกต่างกันก็ไม่เป็นไร แต่หากมันอยู่ในหลักการ มันมีเหตุผลเราก็คุยกันได้ เวลาที่คุณย่าอธิบายความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันคุณย่าจะยกเหตุผลให้ผมเห็นอยู่เสมอว่าทำไมคุณย่าถึงเห็นอย่างนี้ มันทำให้ทุกครั้งเวลาที่ผมคิดอะไรผมต้องหาเหตุผลมา พอถึงวันเกิดคุณย่าก็คิดถึงเรื่องการเมืองที่เราคุยกันอยู่เสมอ คิดถึงการถกเถียงกัน อยากถามคุณย่าจังว่าผมเป็นยังไง วิธีคิดเปลี่ยนแปลงไปยังไงหรือเปล่า
.
การอยู่ในคุกมันมีเรื่องมากมายที่ทำให้เราได้คิด มีเรื่องมากมายที่ทำให้เรากลัว สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้หลังจากการสูญเสียพี่บุ้ง คือ เราไม่รู้เลยว่าเราจะตายจากกันไปเมื่อไหร่ เราไม่รู้เลยว่าคำพูดไหนจะเป็นคำพูดสุดท้ายที่เราได้พูดต่อกัน หากเรายังมีโอกาสได้พูดคุยกัน ผมจะพยายามปฏิบัติต่อคนที่ผมรักอย่างดีที่สุด หากมีปัญหาก็จะพูดคุยกัน และรักษาความสัมพันธ์ที่มีต่อกันไว้อย่างดีที่สุด นี่คงเป็นความกลัวหนึ่งของคนที่อยู่ข้างในนี้ มันคือความกลัวว่าเราจะจากกันโดยไม่ได้พูดจาไม่ได้บอกลากันเลย
.
————————–
วันที่ 24 ก.ย. 2567
.
เกี่ยวกับกรณีนักกิจกรรมชาวเมียนมาที่ถูกศาลตัดสินให้ประหารชีวิตทั้งหมดนั้น ในความเป็นมนุษย์ คุณรับได้หรือกับการที่คนธรรมดาประชาชนทั่วไปคนนึงที่ออกมาเปล่งเสียงตามสิทธิขั้นพื้นฐาน แล้วโดนคดีมีโทษถึงประหารชีวิต ในขณะที่เราคุยกันอยู่วันนี้พรุ่งนี้ ไม่รู้ว่าจะมีนักกิจกรรมผู้ต้องหาทางการเมืองที่พม่าถูกประหารไปอีกกี่คน ราคาที่ต้องจ่ายเคลื่อนไหวทางการเมืองมันถึงขั้นที่จะต้องถูกประหารชีวิตเลยเหรอ
.
ผมไม่ได้พูดในฐานะนักกิจกรรมทางการเมืองของไทยพูดถึงนักกิจกรรมทางการเมืองของพม่า แต่ผมพูดในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง คุณรับได้เหรอกับการที่มีเพื่อนมนุษย์ด้วยกันถูกประหารชีวิตจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง การเห็นต่างทางการเมืองในฐานะมนุษย์ มนุษย์เสมอเหมือนกัน จะมีมนุษย์คนไหนสามารถชี้เป็นชี้ตายเพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้เหรอ
.
สัญลักษณ์ชูสามนิ้วในฮังเกอร์เกมส์ มีความหมายว่า “ขอบคุณ อวยพร และคำอำลา” ผมคงต้องพูดซ้ำคำนี้ พร้อมชูสามนิ้วให้กับเพื่อนนักกิจกรรมชาวพม่าที่ถูกประหารชีวิตหรือที่ถูกประหารชีวิตในช่วงที่ผ่านมา
.
1. ขอบคุณที่ยืนหยัดเพื่อเพื่อนมนุษย์ เพื่อตัวเอง
.
2. ผมขออวยพรให้การต่อสู้ที่ท่านทั้งหลาย เอาชีวิต เอาทุกสิ่งที่มีมาต่อสู้นั้น นำชัยชนะผลิบานสู่ครอบครัวและคนที่คุณรักทุกคน และเกิดการเปลี่ยนแปลงดังที่ท่านทั้งหลายปรารถนา
.
3. ส่วนการอำลานั้น แม้ผมจะไม่อยากใช้เลย แม้ผมอยากให้เกิดปาฏิหาริย์ให้แก่เพื่อนร่วมอุดมการณ์ชาวพม่า ให้เขาได้รอดชีวิตกลับมาสู่อ้อมอกของครอบครัวและคนที่เขารัก แต่หากมันเกิดขึ้นผมก็อยากจะบอกว่าการอำลานี้ ไม่ใช่ความพ่ายแพ้ของประชาชน แต่มันจะเป็นแรงผลักดัน เป็นไฟในการต่อสู้ต่อการเผด็จการต่อไป
.
——————————-
ฝากข้อความเพื่อสื่อสารถึงประชาคมโลก
.
ขอบคุณทุกคนที่คอยใส่ใจในสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในไทยอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด และมีความพยายามจะเข้าตรวจสอบ และทักท้วงสถานการณ์การเมืองไทยที่ไม่ชอบมาพากลอยู่หลายครั้ง แต่รัฐไทยก็แสร้งทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซ้ำร้ายยังมีการกล่าวอ้างว่าการปกครองบ้านเมืองไทยนั้นเป็นวัฒนธรรมตามครรลอง อันเป็นเอกลักษณ์แบบไทย
.
อำนาจอธิปไตยแบ่งเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ซึ่งควรคานกัน ดังที่เรารู้ คืออำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เพื่อสร้างสมดุลการปกครอง แต่ในเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สถาบันตุลาการกลับแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติและบริหารดังที่เห็นได้จาก 2 เหตุการณ์ใหญ่ในปีนี้
.
1. ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกลซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง โดยมูลเหตุมาจากการใช้นโยบายแก้ไขมาตรา 112 ในการหาเสียง
.
2. ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้เศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งคณะรัฐมนตรี โดยมูลเหตุมาจากนายกรัฐมนตรีทำผิดจริยธรรม
.
ทุกประเทศมีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ แต่หากวัฒนธรรมดังกล่าวขัดหลักสิทธิมนุษยชน ก็เป็นภาพสะท้อนว่าประเทศนั้นไม่เป็นที่ยอมรับ และไม่ปลอดภัยต่อประชาชนทั้งในและต่างประเทศ
.
แม้รัฐบาลใหม่จะถูกจัดตั้งขึ้นแล้ว แต่ความไม่มีเสถียรภาพทางอำนาจอธิปไตยยังอยู่ ทำให้ไม่มีหลักประกันใดว่ารัฐบาลนี้จะทำงานอยู่ปลอดภัยจนถึงการเลือกตั้งสมัยหน้า อีกทั้งเมื่อการเมืองไม่มีเสถียรภาพจะรับประกันได้อย่างไรว่ารัฐบาลนี้จะคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้
.
การละเมิดสิทธิมนุษยชนกับประชาชนย่อมเกิดได้ทุกเมื่อ อย่างเป็นปกติในระบบโครงสร้างทางสังคมแบบนี้ เหตุการณ์เช่นนี้ย่อมเป็นผลร้ายกับประชาชน และเป็นบ่อนทำลายสังคมดังเชื้อมะเร็งที่คอยกวาดร่างกายเรา
.
ข้าพเจ้าร่างจดหมายฉบับนี้เพื่อส่งต่อให้มิตรสหายได้ขบคิดกันว่าเราจะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคมนี้อย่างไร
.
——————————-
ปัจจุบัน (1 ต.ค. 2567) เป็นระยะเวลา 1 ปี กับอีก 1 เดือน 8 วัน แล้วที่ “เก็ท โสภณ” ถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จากกรณีปราศรัยในการชุมนุม #ทัวร์มูล่าผัว ต่อมาเก็ทยังถูกศาลอาญาธนบุรีพิพากษาลงโทษจำคุกอีก 3 ปี ในคดีปราศรัยในกิจกรรม “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ 240 ปี ใครฆ่าพระเจ้าตาก” ทำให้รวมโทษจำคุกของเขาอยู่ที่ 6 ปี 6 เดือน
เก็ทกำลังรอคอยฟังพิพากษาคดีมาตรา 112 ในอีก 1 คดี ได้แก่ คดีปราศรัยเนื่องในวันแรงงานสากล เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2565 ซึ่งศาลอาญากำหนดนัดหมายในวันที่ 29 ต.ค. 2567 นี้
.
.
อ่านบนเว็บไซต์ https://tlhr2014.com/archives/70283