วันศุกร์, ตุลาคม 04, 2567

สรุป 7 ไฮไลท์รายงาน กมธ. นิรโทษกรรม ฉบับล่าสุด จัดให้ ม.112 เป็น “คดีอ่อนไหว”


กลุ่ม “คณะราษฏยกเลิก 112” เข้ายื่นหนังสือถึง รมว.ยุติธรรม เมื่อ 9 พ.ย. 2566 โดยยื่น 4 ข้อเรียกร้อง ในจำนวนนี้คือ ให้นิรโทษกรรมนักโทษการเมืองทุกกรณี และคดียังไม่ถึงที่สุดให้ได้รับการประกันตัว

โดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
3 ตุลาคม 2024, 16:17 +07

รายงานผลการศึกษาแนวทางการตรากฎหมายนิรโทษกรรมคดีการเมืองต้องเจอ “โรคเลื่อน” ไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ (3 ต.ค.) ท่ามกลางการคัดค้านของนักการเมืองพรรคต่าง ๆ ที่ไม่ต้องการให้รวม “คดี 112” เข้าไปด้วย โดยบางส่วนอ้างถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดียุบพรรคก้าวไกล

รายงานนี้เสนอโดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มี ชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นประธาน

กมธ.นิรโทษกรรม ใช้เวลาราว 6 เดือนในการศึกษาเรื่องนี้ก่อนสรุปรายงานเมื่อ 26 ก.ค. ทว่าผ่านมากว่า 2 เดือน สภากลับยังไม่ได้พิจารณารายงานฉบับนี้ ทั้งที่ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภา บรรจุเป็นระเบียบวาระที่ 4.1 ในการประชุมสภาวันนี้ (3 ต.ค.)

3 วันก่อนประชุมสภาล่างเพื่อถกวาระร้อน ชูศักดิ์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้ปรึกษา วิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. ในฐานะประธานกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) แล้ว “อยากให้เลื่อนวาระออกไป เพื่อรอฟังความคิดเห็นของหัวหน้าพรรคการเมืองให้ครบถ้วนก่อน ซึ่งไม่น่าสายเกินไป”

มือกฎหมายรัฐบาล-เพื่อไทย ให้เหตุผลว่า การนิรโทษกรรมจะสำเร็จเป็นกฎหมายได้ก็ต่อเมื่อ สส. และ สว. เห็นพ้องต้องกันว่าควรเป็นอย่างไร ฉะนั้นควรนำเรื่องไปหารือกับหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค รวมถึงพรรคฝ่ายค้านเพื่อให้ตกผลึกก่อน “หากเราไม่ฟังกัน เมื่อมีการเสนอและพิจารณากันแล้วก็จะคล้ายกับเรื่องรัฐธรรมนูญที่อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ”

ในฐานะประธาน กมธ.วิสามัญ เขาทราบว่ามีบางพรรคต้องการให้มีการนิรโทษกรรมโดยรวมคดี 112 เข้า แต่บางพรรคไม่ต้องการ จึงคิดว่าการรับฟังความหัวหน้าพรรคต่อประเด็นนี้คือสิ่งที่ดีที่สุด

ด้าน ชัยธวัช ตุลาธน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล และหนึ่งใน กมธ. ชุดนี้ มองว่า “พรรคแกนนำรัฐบาลไม่ควรกังวลจนเกินไป” เพราะรายงานของ กมธ. ยังไม่ได้เป็นการนำเสนอร่างกฎหมายให้สภาพิจารณา แต่เป็นเพียงการเสนอผลการศึกษาแนวทางการตรากฎหมายนิรโทษกรรมคดีการเมืองเท่านั้น เพื่อเป็นทางเลือกเชิงนโยบาย พร้อมแสดงความคาดหวังว่าพรรครัฐบาลจะรีบนำรายงานนี้กลับมาสู่การพิจารณาของสภาโดยเร็ว เพื่อเปิดประตูไปสู่ความสมานฉันท์ครั้งใหม่ของสังคมไทย และคืนความยุติธรรมให้แก่ประชาชนที่ตกทุกข์ได้ยากจากคดีความอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมือง

“ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือความอยุติธรรม” ชัยธวัช เขียนทิ้งท้ายบนเฟซบุ๊กส่วนตัว


ชัยธวัช ตุลาธณ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีการเมือง ต่อประธานรัฐสภา 5 ต.ค. 66 โดยระบุว่าตั้งใจยื่นก่อนถึงวันครบรอบเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519

ในระหว่างรอข้อสรุปจากบรรดาคนการเมือง บีบีซีไทยขอสรุป 7 สาระสำคัญของรายงานที่มีเนื้อหา 57 หน้า (ไม่นับรวมภาคผนวก) ไว้ ณ ที่นี้

นิรโทษกรรมเหตุการณ์ใด ใครได้อานิสงค์

กมธ. นำเหตุการณ์การชุมนุมสำคัญใน 4 ช่วงระยะเวลา มาเป็นหลักในการพิจารณา ประกอบด้วย

2549-2551 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)

2550-2553 แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปก.) และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

2556-2557 คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)

2563-ปัจจุบัน นักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชน

จากนั้นมีมติกำหนดช่วงระยะเวลาในการนิรโทษกรรม ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2548 ถึงปัจจุบัน (“ปัจจุบัน” หมายถึง วันที่ กมธ. เสนอรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างของช่วงเวลา ซึ่งอาจทำให้มีบุคคลกระทำหรือแสดงความคิดเห็นที่อาจเป็นความผิดก่อนวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับโดยหวังให้ได้รับการนิรโทษกรรม)


กมธ. ใช้การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ออกมาขับไล่รัฐบาล “ทักษิณ” เมื่อปี 2548-2549 เป็นจุดตั้งต้นของช่วงเวลาที่ให้มีการนิรโทษกรรม

นิยาม “แรงจูงใจทางการเมือง” คืออะไร

กมธ. กำหนดนิยาม “การกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง” ว่าหมายถึง “การกระทำที่มีพื้นฐานมาจากความคิดที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง หรือต้องการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งหรือเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง”

นิรโทษกรรมคดีอะไรบ้าง

แนวทางในการออกกฎหมายนิรโทษกรรม จะให้นิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดที่เกิดจาก “แรงจูงใจทางการเมือง” เท่านั้น โดยมีการจำแนกคดีและฐานความผิดออกเป็น คดีหลัก คดีรอง และคดีที่มีความอ่อนไหว เพื่อพิจารณาว่าการกระทำใดที่ควรได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ควรได้รับ แล้วจัดทำเป็นบัญชีผิดท้าย พ.ร.บ. โดยมี 25 ฐานความผิด ดังนี้

การกระทำในคดีหลัก

1) ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

1.1) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร

มาตรา 113 (1) หรือ (2) (ความผิดฐานกบฏ)

มาตรา 114 (สะสมกำลังเพื่อก่อกบฏ) (เฉพาะการตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกันเพื่อเป็นกบฏ)

มาตรา 116 (กระทำเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย)

มาตรา 117 (ยุยงให้หยุดงานเพื่อให้เปลี่ยนแปลงกฎหมาย)

มาตรา 118 (กระทำต่อธงชาติ)

1.2) ความผิดเกี่ยวกับก่อการร้าย

มาตรา 135/1 (2) หรือ (3) (ความผิดฐานก่อการร้าย)

มาตรา 135/2 (ขู่เข็ญจะก่อการร้าย)

มาตรา 135/3 (โทษของผู้สนับสนุนการก่อการร้าย)

2) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

3) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551

4) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

5) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558

6) ความผิดตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

7) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559


กลุ่ม นปช. นำโดย ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ระหว่างชุมนุมขับไล่รัฐบาล “อภิสิทธิ์” เมื่อ เม.ย. 2553

การกระทำในคดีรอง

1) ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

1.1) ความผิดต่อเจ้าพนักงาน

มาตรา 136 (ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน)

มาตรา 137 (แจ้งความเท็จ)

มาตรา 138 (ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน)

มาตรา 139 (ข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ)

มาตรา 140 (รับโทษหนักขึ้นฐานต่อสู้ขัดขวางและข่มขืนใจเจ้าพนักงาน)

1.2) ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม

มาตรา 168 (ขัดขืนคำบังคับของอัยการ หรือพนักงานสอบสวนเพื่อให้ถ้อยคำ) มาตรา 169 (ขัดขืนคำบังคับของอัยการ หรือพนักงานสอบสวนให้ส่งทรัพย์หรือเอกสารใด)

มาตรา 170 (ขัดขืนหมายหรือคำสั่งศาลให้มาเบิกความ)

มาตรา 184 (ทำลายหลักฐานเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นไม่ต้องรับโทษ)

มาตรา 190 (หลบหนีระหว่างถูกคุมขัง)

มาตรา 191 (ทำให้ผู้อื่นหลุดพ้นจากการคุมขัง)

มาตรา 198 (ดูหมิ่นหรือขัดขวางผู้พิพากษา)

(1.3) ความผิดเกี่ยวกับศาสนา

มาตรา 206 (กระทำการเหยียดหยามศาสนา)

มาตรา 208 (แต่งกายเป็นนักบวชในศาสนา)

(1.4) ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน

มาตรา 209 วรรคหนึ่ง (ความผิดฐานเป็นอั้งยี่)

มาตรา 210 ถึงมาตรา 214 (ความผิดฐานซ่องโจร, ร่วมประชุมอั้งยี่ ซ่องโจร, ช่วยเหลือ อุปการะอั้งยี่ ซ่องโจร, โทษของสมาชิกและพรรคพวกอั้งยี่ ซ่องโจร และจัดหาที่พำนัก ซ่อนเร้นให้ผู้กระทำผิด)

มาตรา 215 วรรคหนึ่ง (มั่วสุมทำให้เกิดการวุ่นวายในบานเมือง)

มาตรา 216 (ไม่ยอมเลิกมั่วสุมตามคำสั่งเจ้าพนักงาน)

1.5) ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน

มาตรา 217 ถึงมาตรา 220 (วางเพลิงทรัพย์ผู้อื่น, เหตุฉกรรจ์วางเพลิง ทรัพย์ผู้อื่น, ตระเตรียมวางเพลิงทรัพย์ผู้อื่น และทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุ)

มาตรา 221 (ทำให้เกิดระเบิดน่าจะเป็นอันตรายฯ)

มาตรา 225 (ทำให้เกิดระเบิดจนเป็นอันตรายแก่ทรัพย์)

มาตรา 226 (กระทำต่อโรงเรียน สิ่งปลูกสร้าง น่าจะเป็นอันตรายต่อผู้อื่น)

1.6) ความผิดต่อร่างกาย

มาตรา 295 (ทำร้ายร่างกายบาดเจ็บ)

มาตรา 296 (ทำร้ายร่างกายบาดเจ็บด้วยเหตุฉกรรจ์)

มาตรา 297 (ทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัส)

มาตรา 299 (ชุลมุนต่อสู้บาดเจ็บสาหัส)

มาตรา 300 (ประมาทเป็นเหตุให้บาดเจ็บสาหัส)

1.7) ความผิดต่อเสรีภาพ

มาตรา 309 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม (ข่มขืนใจให้ผู้อื่นกระทำการ ไม่กระทำการ)

มาตรา 310 วรรคหนึ่ง (หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น)

มาตรา 310 ทวิ (หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเพื่อให้กระทำการให้แก่บุคคล)

มาตรา 311 วรรคหนึ่ง (ทำให้ผู้อื่นถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังโดยประมาท)

1.8) ความผิดฐานหมิ่นประมาท

มาตรา 326 (หมิ่นประมาท)

มาตรา 328 (หมิ่นประมาทโฆษณา)

มาตรา 329 (แสดงความเห็นโดยสุจริต ไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท)

1.9) ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์

มาตรา 358 (ทำให้เสียทรัพย์)

มาตรา 359 (3) (เหตุเพิ่มโทษฐานทำให้เสียทรัพย์)

มาตรา 360 (ทำให้เสียทรัพย์สาธารณประโยชน์)

1.10) ความผิดฐานบุกรุก

มาตรา 362 (บุกรุกอสังหาริมทรัพย์)

มาตรา 364 (บุกรุกเคหสถาน)

มาตรา 365 (1) หรือ (2) โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป หรือ (3) (บุกรุกเหตุฉกรรจ์)

1.11) ความผิดลหุโทษ

มาตรา 368 (ขัดขืนคำสั่งของเจ้าพนักงาน)

มาตรา 370 (ส่งเสียงดังอื้ออึง)

มาตรา 371 (พกพาอาวุธ)

มาตรา 385 (กีดขวางทางสาธารณะ)

มาตรา 391 (ทำร้ายร่างกายไม่บาดเจ็บ)

มาตรา 393 (ดูหมิ่นซึ่งหน้า)

2) ความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 30 (ศาลออกข้อกำหนด เพื่อรักษาความเรียบร้อยในศาล)

มาตรา 31 (ละเมิดอำนาจศาล)

3) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

4) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

5) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

6) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

7) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

8) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

9) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความสะอาดและความเป็นเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535

10) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วย การควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493

11) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551

12) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2535

13) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียม อาวุธปืน พ.ศ. 2490 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

14) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

15) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการเดินทางอากาศ พ.ศ. 2497 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

16) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

17) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. 2487 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

18) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยธง พ.ศ. 2522

19) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550


แนวร่วม “ราษฎร” ชุมนุมเมื่อปี 2564 เรียกร้องให้มียกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังผู้ชุมนุมถูกแจ้งความดำเนินคดีด้วยข้อหานี้นับร้อยคน

การกระทำในคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง


ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา (ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์)

มาตรา 110 (ประทุษร้ายพระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์)

มาตรา 112 (หมิ่นประมาทฯ พระมหากษัตริย์ พระราชินีฯ)

คดี 112 อยู่ตรงไหน ใครค้าน

ในส่วนของความผิดตามมาตรา 110 และมาตรา 112 แม้ปรากฏเป็นส่วนหนึ่งของ 25 ฐานความผิดแนบท้าย พ.ร.บ. แต่ กมธ. ไม่ได้ชี้ชัดว่าจะอยู่ใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรือไม่ เนื่องจากเป็น “คดีที่มีความอ่อนไหว” และ “เป็นเรื่องความมั่นคงแห่งรัฐ” แต่ กมธ. ได้แสดงความเห็นและบันทึกความเห็นไว้ในรายงาน แบ่งออกเป็น 3 แนวทาง

แนวทางที่ 1 ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหว 14 คน

แนวทางที่ 2 เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหวโดยมีเงื่อนไข 14 คน

แนวทางที่ 3 เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหว 4 คน

โดยมี กมธ. 4 คนไม่ประสงค์แสดงความคิดเห็น

ความเห็นของ กมธ. ที่ “ไม่เห็นด้วย” กับการนิรโทษกรรมคดี 112 พูดคล้ายคลึงกันว่า คดี 112 ไม่ใช่คดีทางการเมือง, คนในสังคมยังเห็นแตกต่างกัน จะทำให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรง นอกจากนี้ยังหยิบยกคำวินิจฉัยที่ 3/2567 หรือที่รู้จักในชื่อ “คดีล้มล้างการปกครอง” จากกรณีที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) เสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง เมื่อ 31 ม.ค. จนนำไปสู่คำสั่งยุบพรรคโดยคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 14 พ.ค.


ศาลรัฐธรรมนูญใช้ตุลาการ 4 คนอ่านคำวินิจฉัย “คดีล้มล้างการปกครอง” เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 67 โดยใช้เวลาราว 45 นาที

ไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ. จากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ระบุว่า การออกกฎหมายนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรานี้จะเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ และขัดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยไว้ว่า การแก้ไขมาตรา 112 เป็นการกระทำที่มีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ฯ

“การนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 จะเป็นการทำให้การกระทำความผิดตามมาตรา 112 ไม่เป็นการกระทำผิดอีกต่อไป ดังนั้น การออกกฎหมายนิรโทษกรรมมาตรา 112 จึงจะมีผลกระทบรุนแรงต่อการปกป้องคุ้มครองสถาบันฯ มากกว่าการแก้ไขมาตรา 112” ไพบูลย์ กล่าว และย้ำว่า พปชร. ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งในการออกกฎหมายเพื่อนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรา 110 และ 112 ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ทั้งสิ้น

เช่นเดียวกับ นิกร จำนง เลขานุการ กมธ. สัดส่วนพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ที่เห็นว่า การนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 จะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรง และขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หากมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่กำหนดให้มีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรานี้ สส. พรรค ชทพ. จะไม่ลงคะแนนเห็นชอบ ซึ่งอาจจะทำให้ร่าง พ.ร.บ. นี้ทั้งฉบับไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภา

“การนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 จึงมีความล่อแหลมต่อการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดในฐานความผิดอื่น ดังนั้น จึงควรใช้ช่องทางอื่นซึ่งไม่ใช่การนิรโทษกรรม ในการดำเนินการแก้ปัญหาให้กับผู้ที่กระทำความผิดตามมาตรานี้ เช่น การขอพระราชทานอภัยโทษ เพราะเป็นคดีที่กระทบต่อสถาบันฯ และการออกกฎหมายนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรานี้ ไม่ใช่หน้าที่และอำนาจของ กมธ.” นิกร กล่าว

ชัยรัตน์ มาตยานุมัตย์ กมธ. สัดส่วนพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เป็นอีกคนที่แสดงอาการไม่เห็นด้วยในการนิรโทษกรรมมาตรา 110 และมาตรา 112 ในทุกกรณี เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยเอาไว้แล้วว่าการกระทำความผิดต่อสถาบันฯ เป็นความผิดต่อความมั่นคงของประเทศ การกระทำความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์จึงเป็นการกระทำความผิดต่อความมั่นคงของประเทศ จึงไม่ใช่ความผิดทางการเมือง การนิรโทษกรรมบุคคลที่กระทำความผิดตาม 2 มาตรานี้จึงเป็นการไม่สมควร “เพราะบุคคลที่ถูกกล่าวหาหรืออยู่ระหว่างดำเนินคดีหรือถูกดำเนินคดีไปแล้ว จะไม่เข็ดหลาบ และจะไม่มีความสำนึกในการกระทำความผิดของตน หากจะมีการนิรโทษกรรมบุคคลดังกล่าวเห็นว่าควรจะให้บุคคลดังกล่าวยื่นเรื่องขออภัยโทษเป็นรายบุคคลจะเป็นการสมควรมากกว่า บุคคลดังกล่าวจะได้สำนึกในการกระทำความผิดของตน”

โดยมี ประดิษฐ์ สังขจาย รองประธาน กมธ. และ สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง โฆษก กมธ. จากพรรคสีน้ำเงิน ร่วมด้วยช่วยกันแสดงความเห็นว่าพวกเขาและพรรค ภท. “ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง” กับการออกกฎหมายนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรา 110 และ 112 โดยย้ำว่าเป็นจุดยืนของพรรค

ขอบเขตการนิรโทษกรรมคืออะไร



สำหรับขอบเขตการนิรโทษกรรม กมธ. เสนอว่า บรรดาการกระทำใด ๆ หากเป็นความผิดตามบัญชีแนบท้ายร่าง พ.ร.บ. ให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป
  • ให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด
  • ถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น
  • ถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง และให้ถือเสมือนว่าบุคคลนั้นไม่เคยกระทำความผิด
ใครคือผู้ตัดสิน

กลไกในการนิรโทษกรรมให้ใช้รูปแบบผสมผสาน เพราะ กมธ. เห็นว่ากินช่วงระยะเวลายาวนาน, มีคดีที่เกี่ยวข้องกับการกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองจำนวนมาก, มีฐานความผิดหลากหลาย โดยมี 3 ส่วน ทำหน้าที่พิจารณาหรือวินิจฉัยให้สิทธินิรโทษกรรมคดีที่เข้าองค์ประกอบ

ส่วนที่ 1 กลไกที่ให้หน่วยงานราชการในกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ ศาล พนักงานอัยการ กรมราชทัณฑ์ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณา

ส่วนที่ 2 กลไกที่ให้ผู้ได้รับสิทธินิรโทษกรรมตามกฎหมายและประสงค์ใช้สิทธิ ยื่นคำร้องต่อหน่วยงานราชการในกระบวนการยุติธรรมที่คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของหน่วยราชการนั้น

ส่วนที่ 3 กลไกที่ให้ผู้ได้รับสิทธินิรโทษกรรมตามกฎหมายขออุทธรณ์ กรณีที่หน่วยราชการปฏิเสธ ไม่ให้สิทธินิรโทษกรรม

นอกจากนี้ยังกำหนดให้มี “คณะกรรมการนิรโทษกรรมรูปแบบผสมผสาน” จำนวน 23 คน มีหน้าที่หลักคือการพิจารณารายงานคดีที่จะให้มีการนิรโทษกรรมที่หน่วยงานราชการในกระบวนการยุติธรรมเสนอมา ภายใน 15 วัน

สำหรับองค์ประกอบของคณะกรรมการ ได้แก่
  • รมว.ยุติธรรม เป็นประธาน
  • ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นรองประธานกรรมการ
  • กรรมการโดยตำแหน่ง 15 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อัยการสูงสุด อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ อธิบดีกรมบังคับคดี อธิบดีกรมคุมประพฤติ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง และนายกสภาทนายความ
  • กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คนเสนอชื่อโดย ครม. โดยเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน และผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านละ 1 คน
  • กรรมการผู้แทนองค์กรภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคม 3 คน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขที่ ครม. ประกาศกำหนด
  • อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นกรรมการและเลขานุการ
รัฐบาลเป็นเจ้าภาพดัน กม.นิรโทษกรรม ได้ไหม


แพทองธาร ชินวัตร และเหล่า ครม.

สิ่งสำคัญอีกประการของรายงานฉบับนี้คือ การเสนอให้รัฐบาลรับเป็นเจ้าภาพในการร่างกฎหมายนิรโทษกรรม

ข้อสังเกตของ กมธ. ข้อแรก ระบุว่า สังคมไทยอยู่ในความขัดแย้งมานาน การนิรโทษกรรมจึงเป็นความความจำเป็นเร่งด่วนอันจะนำมาซึ่งความปรองดองสมานฉันท์และทำให้สังคมกลับคืนสู่สภาพปกติ กมธ. จึงมีข้อสังเกตว่า “ครม. พิจารณารายงานของ กมธ. เพื่อนำไปเป็นแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมโดยเร็ว พร้อมทั้งออกนโยบายและมาตรการที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม”

ปัจจุบันมี ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีการเมืองที่รอการบรรจุเข้าสภา ทั้งสิ้น 5 ฉบับ เสนอโดย สส. ของ 4 พรรคการเมือง ได้แก่ ร่างของพรรคก้าวไกล (ปัจจุบันเป็นพรรคประชาชน), ร่างของพรรคประชาธิปัตย์, ร่างของพรรคพลังธรรมใหม่, ร่างของพรรครวมไทยสร้างชาติ และร่างของภาคประชาชนที่ร่วมกันเข้าชื่อเสนอต่อสภาอีก 1 ฉบับ

กมธ. ยังให้ ครม. ใช้กลไกตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ในช่วงเริ่มต้นอาจใช้กับฐานความผิดที่เกี่ยวข้องกับการกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองที่มีสถิติคดีจำนวนมาก และเป็นคดีที่ไม่เป็นประโยชน์กับสาธารณะ โดยอาศัย พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 21 ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด (อสส.) ยุติคดี หรือถอนฟ้องคดีได้ เพื่อกรองคดีออกไปก่อนที่จะมี พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อาทิ คดีความผิดตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่มีอยู่ 73,009 คดี ในช่วงปี 2563-2567 ซึ่งเหตุที่มีคดีเป็นจำนวนมากเพราะช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาการแพร่ระบาดของโรคติดต่อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด), คดีความผิด พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ที่มีอยู่ 2.63 ล้านคดี ในระหว่างปี 2548-2567

https://bbc.in/3TUSsAi