ท้ายที่สุดการเสนอแก้รัฐธรรมนูญใดๆ ที่พรรคเพื่อไทยเข้าร่วม จะไปไม่ได้ถึงจุดหมาย ถ้า สว.สายสีน้ำเงินไม่เอาด้วย หรือนัยหนึ่งผู้ตัดสินใจสุดท้ายในรัฐบาลอุ๊งอิ๊งเรื่องนี้ คือพรรคภูมิใจไทย จะเห็นได้จากประเด็นเสียงข้างมากที่โดนวุฒิสภาหักดิบไปแล้ว
ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายของพรรคเพื่อไทย พูดถึงกรณีวุฒิสภาไม่เห็นด้วยกับการใช้เกณฑ์เสียงข้างมากธรรมดาในการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามที่สภาผู้แทนฯ เห็นชอบ และบอกให้ไปใช้เสียงข้างมากสองชั้น หรือ Double Majority แทน
“ทางออกที่ดีที่สุดคือการหารือร่วมกับตัวแทนพรรคการเมือง” โดยเฉพาะหัวหน้าพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล ซึ่งไม่ต้องบอกว่าเป็นพรรคอันดับสอง หรือภูมิใจไทย ก็เข้าใจกันดี นักข่าวจึงได้ไปเซ้าซี้ถาม ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม
การหารือที่ว่านั้น เป็นการ “ให้หัวหน้าพรรคต่างๆ มายืนยันว่าจะเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่...ป้องกันการบิดพริ้ว” หรือเพื่อให้ทุกพรรคเห็นพ้อง “ไปในแนวทางเดียวกันหรือไม่” ‘สหายใหญ่’ ในรัฐบาลแพทองธาร ตอบว่า “ไม่ใช่
แต่จำเป็นจะต้องมีการหารือกัน ทั้งนี้ยังไม่ได้มีการนัดหารือพูดคุย เพราะเรื่องเพิ่งเกิดเมื่อวาน” พอถามอีกว่า จะส่งผลให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จในรัฐบาลนี้ใช่หรือไม่ ภูมิธรรมบอกอย่าเพิ่งไปด่วนสรุป ตอนนี้ทุกอย่างยังเป็นไปตามกระบวนการ
ถึงตอนนักข่าวเย้า ในกรณีที่นายชูศักดิ์ “ส่งสัญญาณว่า หากการแก้ไขกฎหมายประชามติครั้งนี้ล่าช้า เพราะจะต้องทำถึง ๓ ครั้ง แต่ยังมีข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกฉบับเพื่อทำ ๒ ครั้ง” ‘บิ๊กอ้วน’ หลบฉากทันใด ให้ไปถามนายชูศักดิ์เอง “เรื่องนี้ไม่ได้คุยกัน”
เนื้อข่าวรายงานว่า การทำประชามติเพียงสองครั้ง เป็นข้อเสนอของ ปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า ซึ่งภูมิธรรมบอก “ไม่ได้ไปเอารายละเอียดของคนนั้นคนนี้มาคิด” แต่บังเอิญพอดีกับที่ พริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคประชาชน เสนอ
ทางแก้ปม สว.กลับลำ โยขอให้ประธานสภาฯ “บรรจุร่างแก้ไข รธน.ลดจำนวนครั้งทำประชามติ เป็นทางออกที่ดีที่สุด” ส.ส.‘ไอติม’ ให้เหตุผลว่าตนเคยอภิปรายไว้แล้ว ว่าถ้าดูคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ๔/๒๕๖๔ ตุลาการส่วนใหญ่ไม่ขัด ‘ประชามติ ๒ ครั้ง’
แต่นั่นละในพรรค พท. ชูศักดิ์อาจเป็นเพียงนักกฎหมาย ไม่ได้การเมืองล้ำลึก แก่กล้าเหมือนภูมิธรรม จึงได้พูดอะไรออกมาตามตรง ไม่ได้ตะหงิดคิดว่า วุฒิสภาดึงเกมยื้อเวลา ในเมื่อเรื่องใช้เสียงข้างมากปกติผ่านมติกรรมาธิการมาแล้ว
“แต่เข้าสู่สัปดาห์สุดท้าย ได้มีการขอให้ทบทวนมติดังกล่าวอีกครั้ง” แล้วพลิกมติมาเป็นเสียงข้างมากสองชั้นแทน กระบวนการพิจารณาของวุฒิสภา ควรพัฒนาการเป็นจังหวะจะโกลน ไม่ใช่พลิกผันง่ายๆ ซ้ายหันขวาหันเหมือนมี ‘คำสั่ง’ ลงมา
(https://www.matichon.co.th/politics/news_4820639, https://tna.mcot.net/politics-1426955?=IwY2xjawFoQ และ https://www.facebook.com/TheReportersTH/posts/4aVkpbr43spcs)