วันพุธ, ตุลาคม 18, 2566

ประวัติศาสตร์ “เสียดินแดน 14 ครั้ง" ประวัติศาสตร์เฟคนิวส์


ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
18h·

รู้สึกขำมากๆ เมื่อมีคนเจอข้อสอบชุดหนึ่ง เป็นประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง ว่า เสียดินแดน 14 ครั้ง!!! นี่คือประวัติศาสตร์แบบอัลไต น่านเจ้า!!! ชวนมาอ่านงานของผม "วาทกรรมเสียดินแดน 14 ครั้ง เป็นวาทกรรมเฟคนิวส์ที่ถูกสร้างขึ้น" เมื่อต้นทศวรรษ 2550 อ่าน... จะตาสว่าง! https://www.lokwannee.com/web2013/?p=380974
.....
“เสียดินแดน 14 ครั้ง วาทกรรมเฟคนิวส์ที่เพิ่งสร้างใน Google” โดยผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

November 1, 2019
โลกวันนี้

วาทกรรมเฟคนิวส์ (Fake News)

วันหนึ่งนายกรัฐมนตรีที่เป็นนายพลทหารที่ขึ้นสู่อำนาจด้วยการรัฐประหารพูดบนเวทีโลกด้วยความภาคภูมิใจว่า กลุ่มผู้นำของพวกเขาบริหารประเทศด้วยการค้นคว้าสืบเสาะหาความรู้ใน Google

ในอีกวันหนึ่งต่อมา พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ผู้นำที่แท้จริงของกองทัพไทย ก็กล่าวบรรยายในเวทีหอประชุมของกองทัพเรื่อง “แผ่นดินของเราในมุมมองด้านความมั่นคง” โดยเริ่มเล่าประวัติศาสตร์ว่าที่มาของดินแดนอาณาเขตประเทศไทยที่เป็นแบบนี้เพราะไทยเสียดินแดนมาแล้ว 14 ครั้ง

คำถามสำคัญคือ อะไรคือฐานข้อมูลที่นายพลทหารผู้นี้นำมาใช้ในการพูดได้อย่างเชื่อมั่นมากมายว่าไทยเสียดินแดนมาแล้ว 14 ครั้ง แม้ว่าจะไม่มีการอ้างอิงในการบรรยาย แต่คำตอบอย่างง่ายที่สุดคือ นายพลผู้นี้คว้าข้อมูลจากเฟคนิวส์ที่สร้างขึ้นและแปะฝังไว้ใน Google นำมาใช้ (ท่านลองพิมพ์คำว่าเสียดินแดนเข้าไปใน Google เสียดินแดน 14 ครั้งจะปรากฏขึ้นมาเป็นอันดับแรกๆ และเรียงกันหลายชิ้น รวมทั้งใน YouTube)

สิ่งที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือคำถามที่ว่า ภูมิปัญญาในกองทัพไทยอับจนมากมายขนาดนั้นจริงๆหรือ? จึงคว้าเอาวาทกรรมชุดเฟคนิวส์ที่ถูกสร้างขึ้นไว้ใน Google มาใช้บรรยายอย่างเป็นทางการ นายพลเหล่านี้ได้เคยอ่านหนังสือวิชาการกันบ้างหรือไม่ ตำรับตำราประวัติศาสตร์ในหนังสือเรียนของโรงเรียนนายร้อยนั้นมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมั้ย นี่เป็นคำถามที่ดูจะมีคำตอบที่ยิ่งน่าตกใจถึงชุดวิธีการค้นคว้าหาปัญญาความรู้ของสังคมโดยรวม

นี่คือภาพสะท้อนวาทกรรมเฟคนิวส์ใน Google ที่ถูกสร้างและฝังตัวไว้มาหลายปี วันหนึ่งก็บรรลุความสำเร็จเมื่อถูกใช้เป็นเครื่องมือแสวงหาข้อมูล “ความรู้” เพียงช่องทางเดียวอย่างง่ายๆ

วาทกรรมไทยเสียดินแดน 8 ครั้ง ถูกผลิตสร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2482

คนไทยตั้งแต่อายุรุ่น 80-90 ปีลงมา ถูกปลูกความเชื่อในระบบโรงเรียนและระบบข่าวสารในสังคมตลอดมาว่า ประเทศไทยเสียดินแดนไป 8 ครั้ง ถึงแม้ว่าคนจำนวนมากจะจำไม่ได้ว่ามีดินแดนอะไรบ้างที่เสียไป แต่วาทกรรมที่ติดแน่นอยู่ในหัวแน่ๆคือ “ไทยเสียดินแดน”

วาทกรรมไทยเสียดินแดน 8 ครั้ง ถูกผลิตสร้างขึ้นด้วยเทคนิคแผนที่โดยกรมแผนที่ทหารบก 1 แผ่น เมื่อปี 2482 และผลิตพิมพ์แจกจ่ายเป็นใบปลิวให้กับประชาชน มีการนำไปใช้ประกอบในหนังสือ และต่อมาก็ถูกบรรจุไว้ในการสอนของครูๆที่ถูกบ่มเพาะมาจากหลักสูตรสร้างครูเพื่อสร้างชุดข้อมูลเสียดินแดนให้นักเรียนทั้งประเทศ

วิทยุกรมโฆษณาการของรัฐบาลทหารจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็โหมกระหน่ำว่าด้วยการเสียดินแดนตั้งแต่นั้นมา และยิ่งในยุครัฐบาลทหารจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร ต่อเนื่องกันมาถึง 4 ทศวรรษ วิทยุกรมประชาสัมพันธ์ก็ใช้วาทกรรมเสียดินแดนสร้างรัฐทหารเสมอมา

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงการปฏิวัติสร้างประชาธิปไตยเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 โดยในวันเดือนเดียวกันแต่เป็นปี 2482 อนุสาวรีย์นี้สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะในการประกาศ Independence Day หรือวันเอกราชสมบูรณ์ หลังจากที่ไทยเป็นประเทศที่เสียเอกราชไปกึ่งหนึ่ง หรือเป็นกึ่งอาณานิคม นับแต่ไทยทำสนธิสัญญาเบาว์ริงในสมัย รัชกาลที่ 4 และทำเรื่อยมารวม 15 ประเทศ จนถึงกลางยุคสมัยรัชกาลที่ 5

คนไทยในห้วงนั้นได้ฝันที่จะสร้างเอกราชให้กับประเทศ ดังนั้น นโยบายข้อแรกของคณะราษฎรคือ นโยบายด้านเอกราช ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และการศาลของประเทศ (อ่านรายละเอียดใน ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, “2475 อดีต ปัจจุบัน อนาคต”)

ปี 2482 ด้านหนึ่งเฉลิมฉลองประเทศไทยมีเอกราชสมบูรณ์ด้วยอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อีกด้านหนึ่งฝ่ายทหารก็สร้างวาทกรรมการเสียดินแดน 8 ครั้ง เพื่อยุทธศาสตร์ทางการทหาร ปลุกพลังชาตินิยมและพลังลัทธิทหารไทย

วาทกรรมเสียดินแดน โดยเฉพาะด้านลาวและกัมพูชา เป็นวาทกรรมที่ถูกเน้นมากที่สุดในช่วงนี้ (แต่ไม่เน้นวาทกรรมเสียดินแดนในด้านมาเลเซีย พม่า และเวียดนาม) อันเป็นไปตามยุทธศาสตร์การทหารในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ต้องการใช้แม่น้ำโขงตั้งแต่สบรวก อำเภอเชียงแสน กระทั่งถึงเขตจำปาสักในลาว เป็นแนวป้องกันการยกทัพรุกรานจากกองทัพญี่ปุ่นที่กำลังปฏิบัติการทางทหารในทะเลจีนใต้ และดูท่าจะรุกรานเข้าสู่เวียดนาม อินโดจีนของฝรั่งเศส

วาทกรรมเสียดินแดน โดยเฉพาะด้านลาวและกัมพูชา ถูกปลุกเร้าแบบยกระดับ เป็นวาทกรรมเรียกร้องดินแดนในลาวและกัมพูชา และในปลายปี 2483 นิสิตจุฬาฯและนักศึกษาธรรมศาสตร์ก็ถูกปลุกเร้าให้ออกไปเดินขบวนบนถนนราชดำเนินเพื่อเรียกร้องเอาดินแดนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง ซึ่งการเดินขบวนครั้งนั้นเป็นแผนการของฝ่ายกองทัพและรัฐบาลทหารในการสร้างภาพประชามติจากประชาชน (อ่านรายละเอียดใน ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, “การเรียกร้องดินแดน พ.ศ. 2483”)

ประเด็นที่ลัทธิชาตินิยมแบบคลั่งชาติใช้ในการปลุกพลังมวลชนให้มาสนับสนุนรัฐบาลทหารในศตวรรษที่แล้ว ได้แก่ ประเด็นดินแดน ประเด็นเชื้อชาติ และประเด็นศาสนา และนี่คือประเด็นที่ฮิตเลอร์และพรรคนาซีเยอรมันใช้ก่อสงครามโลกครั้งที่ 2 และสังหารคนในยุโรปไปเป็นจำนวนมาก

สิ่งที่รัฐบาลทหารไทยในยุคนั้นดำเนินการตามพรรคนาซีเยอรมันคือ การส่งทหารไปดูงานการสร้างยุวชนนาซีที่เยอรมัน และนำมาเป็นแบบสร้างยุวชนทหารของไทย ด้วยแนวคิดว่าปลูกลัทธิชาตินิยมและลัทธิทหารในยุวชนและคนไทย เพื่อตอบโจทย์ต่อภาวะสงครามและตอบโจทย์ว่าด้วยทหารคือผู้นำทางการเมือง ดั่งละครที่โด่งดังแห่งยุคด้วยการผลิตสร้างนิยายเวทีสมัยใหม่ของหลวงวิจิตรวาทการ “เลือดสุพรรณ” ที่ชาวนาชาวบ้านผู้รักชาติที่มีมือเปล่าหรือดาบได้วิ่งเข้าหาลูกปืนศัตรูจนตายไปทั้งสิ้น ไม่รอดสักคน นั่นคือการปลูกให้ประชาชนยอมตายเพื่อชาติ (อ่านรายละเอียดใน ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, “เลือดสุพรรณ : ปลูกใจผู้หญิงไทยให้รักชาติและลุกรบ”)

กำเนิดประเทศไทยแบบรัฐสมัยใหม่ที่ได้ดินแดน

กำเนิดเส้นเขตแดนประเทศไทยเส้นแรกแบบที่เป็นอยู่นี้จริงเริ่มต้นในปี 2369 เมื่ออังกฤษได้ชัยชนะเหนือพม่าในสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งแรก พม่าต้องเสียรัฐยะไข่และรัฐตะนาวศรี (ที่เราติดปากว่า มะริด ทวาย ตะนาวศรี) ให้เป็นดินแดนอาณานิคมอังกฤษ และชัยชนะนี้เองอังกฤษจึงส่งทูตเฮนรี่ เบอร์นี่ มากรุงเทพ เพื่อขอให้รัฐอาณาจักรกรุงเทพแต่งตั้งคณะทำงานปักปันเขตแดนระหว่างดินแดนกรุงเทพกับดินแดนของอังกฤษตั้งแต่ปากน้ำกระที่ระนองจนถึงเขตเมืองตาก (สนธิสัญญาเบอร์นี่ในปีแรกๆของรัชกาลที่ 3 พ.ศ. 2369 / ค.ศ. 1826)

นี่คือเส้นเขตแดนเส้นแรกที่เกิดขึ้นของประเทศไทย เพราะรัฐอังกฤษมาพร้อมกับการมีเส้นเขตแดนที่แน่นอน แต่รัฐอาณาจักรในย่านอาเซียนหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ยังเป็นรัฐอาณาจักรที่ไม่มีเส้นเขตแดนที่แน่นอน โลกรัฐสมัยใหม่ที่มีเส้นเขตแดนที่แน่นอนแบบตะวันตกจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดรูปประเทศไทย

นับแต่นั้นมาผู้ปกครองรัฐอาณาจักรไทยก็ปรับตัวได้อย่างรวดเร็วในการยอมรับหลักคิดการสร้างรัฐสมัยใหม่ที่มีเส้นเขตแดนที่แน่นอน ในบริบทที่อังกฤษและฝรั่งเศสกำลังยุ่งวุ่นวายเสียเวลาไปกว่าค่อนศตวรรษในการจัดการความสงบในดินแดนอาณานิคมอินเดีย พม่า มาเลย์ เวียดนาม กัมพูชา ลาว โดยในบริบทดังกล่าวรัฐบาลกรุงเทพได้สร้างกรมแผนที่ จ้างฝรั่งมาทำงานด้านแผนที่ในดินแดนที่ชนชั้นนำกรุงเทพแทบไม่เคยรู้จัก และเข้าร่วมการอ้างสิทธิเหนือดินแดนตอนในภาคพื้นทวีป โดยเฉพาะกับฝรั่งเศสด้านอินโดจีน (อ่านวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่ปรับเป็นหนังสือ ธงชัย วินิจจะกูล, “กำเนิดสยามจากแผนที่ : ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ”)

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กรุงเทพได้ดินแดนรัฐล้านนามาทั้งสิ้นคือ ปัจจัยจากการตกลงของ 2 มหาอำนาจตะวันตกในปฏิญญาอังกฤษ-ฝรั่งเศส พ.ศ. 2439 (the Anglo-French Declaration of 15 January 1896) โดยมหาอำนาจทั้งสองตกลงแบ่งเขตแดนด้านลาวและพม่าตอนใต้ประเทศจีนกัน โดยให้ฝั่งตะวันออกแม่น้ำโขงเป็นเขตอิทธิพลของฝรั่งเศส และฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขงเป็นเขตอิทธิพลของอังกฤษ ส่วนจากสบรวก เชียงแสน ลงมา มหาอำนาจอังกฤษและฝรั่งเศสยกให้เป็นดินแดนของกรุงเทพ และให้รัฐกรุงเทพเป็นรัฐกันชนของ 2 มหาอำนาจอาณานิคม ห้ามใครส่งกองทหารล่วงล้ำ เพื่อทั้ง 2 มหาอำนาจจะได้ไม่ก่อสงครามระหว่างกัน ผลสำคัญของข้อตกลงยกดินแดนของ 2 มหาอำนาจนี้คือ กษัตริย์ในรัฐล้านนาไร้สถานภาพอำนาจอธิปไตยเหนือรัฐล้านนาของตนเองทันที เพราะมหาอำนาจอังกฤษและฝรั่งเศสไม่ถือว่าเป็นรัฐประเทศอีกต่อไป

นับจากนี้ไปรัฐกรุงเทพจึงปฏิบัติการทั้งทางการเมือง การปกครอง การทหาร ภาษี รถไฟ เข้าควบคุมผนวกรัฐล้านนา (อ่านวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกประวัติศาสตร์ จุฬาฯ ที่ปรับเป็นหนังสือ เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว, “เปิดแผนยึดล้านนา”)

รัฐสยามใหม่ที่รวมศูนย์อำนาจที่กรุงเทพก็ทำการปกครองดินแดนใหม่ๆที่ได้มาของตนด้วยวิธีการแบบเจ้าอาณานิคมตะวันตก หรือปกครองแบบ “อาณานิคมภายใน” และ “สวมจิตวิญญาณของลัทธิอาณานิคมโดยตรง” ไม่ต่างไปจากอังกฤษปกครองอินเดีย พม่า มาเลเซีย ฝรั่งเศสปกครองเวียดนาม ลาว กัมพูชา ดัตช์ปกครองอินโดนีเซีย (อ่าน ฉลอง สุนทราวาณิชย์, “รัชกาลที่ 5 กับลัทธิอาณานิคมและสยาม”)

เมื่อรัฐสยามกรุงเทพได้ดินแดนล้านนาและดินแดนลาวในลุ่มน้ำโขงและลุ่มน้ำมูล รัฐสยามกรุงเทพจึงจัดตั้งการปกครองมณฑลเทศาภิบาล ให้นครราชสีมาเป็นศูนย์กลางของคนลาว ตั้งชื่อว่ามณฑลลาวกลาง ให้อุบลราชธานีเมืองใหม่เป็นศูนย์กลางของมณฑลลาวกาว ให้อุดรธานีเมืองใหม่เป็นศูนย์กลางของมณฑลลาวพวน และให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของมณฑลลาวเฉียง (เฉียงจากลาวกลาง) เพราะในสายตาของชนชั้นนำตั้งแต่อยุธยา พระเจ้าตากแห่งธนบุรี และรัตนโกสินทร์ มองเห็นคนในดินแดนเหล่านี้ตลอดมาว่าเป็น “ลาว”

ทว่าภายใต้บริบทการอ้างสิทธิเหนือดินแดนเหล่านี้กับฝรั่งเศส รัฐสยามกรุงเทพจึงเพิ่งตระหนักทีหลังว่าหากดินแดนล้านนาและดินแดนลุ่มน้ำโขงและน้ำมูลเป็นดินแดนคนลาวแล้ว ฝรั่งเศสก็สามารถอ้างสิทธิครอบครองเหนือดินแดนเหล่านี้ได้อย่างต่อเนื่องจากอดีต 3 รัฐอาณาจักร (หลวงพระบาง เวียงจันทน์ จำปาสัก) รัฐสยามกรุงเทพจึงต้องรีบเร่งเปลี่ยนชื่อมณฑลทั้ง 4 นี้ใหม่

มณฑลลาวกลางเปลี่ยนเป็นมณฑลนครราชสีมา มณฑลลาวกาวเปลี่ยนเป็นมณฑลอีสาน มณฑลลาวพวนเปลี่ยนเป็นมณฑลอุดร และมณฑลลาวเฉียงเปลี่ยนเป็นมณฑลพายัพ แต่คนในทั้ง 4 มณฑลนี้ ชนชั้นปกครองยังคงเรียกว่า “ลาว” เช่นเดิม กระทั่งเมื่อราว 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา พวกลาวในอีสานจึงถูกเรียกใหม่หลังจากมีปัญหากับคนในประเทศลาวถึงการที่คนไทยถูกสอนให้ดูถูก “ลาว” เสมอมา จึงเรียกว่า “คนอีสาน” แทน ส่วนคนในล้านนาปรับเปลี่ยนตนเองเรียกว่า “คนเมือง” ส่วนชนชั้นนำกรุงเทพก็เรียกพวกลาวนั้นใหม่ว่า “คนเหนือ”

มณฑลเขมรในดินแดนกัมพูชาก็ไม่แตกต่างกับ “ลาว” เพราะชื่อ “เขมร” จึงต้องรีบเร่งเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลบูรพา แต่ความเป็นเขมรนั้นแตกต่างอย่างมากจากไทย ไม่เหมือนลาวที่ยังดูเป็นเครือญาติกันได้ ดังนั้น รัฐสยามกรุงเทพจึงมีนโยบายสละดินแดนเขมร (มณฑลเขมร/บูรพา พระตะบอง เสียมเรียบ) ให้กับฝรั่งเศสเพื่อแลกกับดินแดนที่รัฐสยามกรุงเทพเรียกว่าดินแดนไทยแท้ๆคือ เมืองจันทบุรี ตราด และด่านซ้าย ดังนั้น “กษัตริย์แห่งพระตะบอง” (King of Battambang) ตามการเรียกของฝ่ายฝรั่งเศส จึงเลือกที่จะอพยพครัวเรือนเข้ามาปักหลักในเขตจังหวัดปราจีนบุรีด้วยความเจ็บปวดอย่างยิ่ง โดยฝ่ายฝรั่งเศสยอมจ่ายให้กับการสละตำแหน่งของ “กษัตริย์แห่งพระตะบอง” ปีละ 6 หมื่นเหรียญฝรั่งเศส หรือ 1 แสนบาทสยาม จนกว่าจะสิ้นชีวิต (อ่านงานศึกษา ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, “สยามสมัยรัชกาลที่ 4-5 กับฝรั่งเศสและดินแดนกัมพูชา”)

จากเส้นเขตแดนที่กำเนิดประเทศไทยเส้นแรกด้านพม่าอังกฤษปี 2369 เรื่อยมาถึงเส้นเขตแดนเส้นสุดท้ายเกิดขึ้นในอีก 83 ปีต่อมากับมาเลเซียอังกฤษ เมื่อรัฐสยามกรุงเทพต้องการยุติปัญหาหลายประการ ต้องการดินแดนที่แน่นอน และต้องการเงินกู้เพื่อสร้างทางรถไฟสายใต้ 6 ล้านปอนด์จากอังกฤษ

สนธิสัญญาอังกฤษ-สยามจึงเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2452 (ค.ศ. 1909) รัฐสุลต่านจำนวนมากเป็นดินแดนในอาณานิคมมลายูอังกฤษ ส่วนรัฐสยามกรุงเทพได้ดินแดนเพิ่มมาด้วยความดีใจคือ รัฐสุลต่าน 7 หัวเมือง ในปัตตานี ยะลา นราธิวาส และได้สตูลมาจากดินแดนของเคดะห์หรือไทรบุรี ทั้งนี้ สายราชวงศ์สุลต่านได้สลายไปแล้วในประเทศไทย (อ่านสนุกๆกับงานวิทยานิพนธ์ปรับเป็นหนังสือ ฐนพงศ์ ลือขจรชัย, “เสียดินแดนมลายู : ประวัติศาสตร์ชาติฉบับ Plot Twist”)

ถึงวันนี้สุลต่านรัฐต่างๆในมาเลเซียยังคงสืบวงศ์สุลต่านของตนและปกครองรัฐสุลต่านของตน สุลต่าน 9 รัฐในมาเลเซียได้เวียนกันขึ้นเป็น “ยังดีเปอร์ตวนอากง” หรือกษัตริย์แห่งมาเลเซีย (Yang di-PertuanAgong) ทุกๆ 5 ปี ที่มิวเซียมแห่งชาติมาเลเซียที่กัวลาลัมเปอร์ ความทรงจำของมาเลเซียต่อสนธิสัญญาอังกฤษ-สยามในครั้งนั้นคือ การจัดแสดงอดีตประตูวังไม้ของสุลต่านสตูลที่ปัจจุบันอยู่ในดินแดนประเทศเพื่อนบ้าน ความหมายคือ มาเลเซียเสียดินแดนสตูลของเคดะห์

นี่คือ 83 ปีของการเกิดเส้นเขตแดนรัฐสยามกรุงเทพ หรือประเทศไทย พ.ศ. 2369-2502 ที่ไทยได้ขยายดินแดนเพิ่มขึ้นจากดินแดน “ประเทศไทยแท้ๆ” เป็นอาณาเขตประเทศไทยในปัจจุบัน (อ่านงานศึกษา ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, “วาทกรรมเสียดินแดน”)

วาทกรรมเสียดินแดน คือวาทกรรมสร้างรัฐทหาร

วาทกรรมเสียดินแดน 8 ครั้ง ถูกผลิตสร้างครั้งแรกด้วยแผนที่วาทกรรมเสียดินแดน พ.ศ. 2482 แม้ว่าการปฏิวัติ 2475 ต้องการสร้างประชาธิปไตยและเอกราชของประเทศ แต่ปฏิวัติ 2475 เกิดขึ้นในบริบทสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กำลังจะระเบิดตัวในอีก 7 ปีต่อมา

ดังนั้น ฝ่ายกองทัพซึ่งนำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นปีกทหารของคณะราษฎร ก็มุ่งสร้างลัทธิทหารในสังคมไทย เป้าหมายคือต้องการสร้างความชอบธรรมในการเพิ่มงบประมาณให้กับการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ให้กองทัพบก เรือ อากาศ ต้องการความชอบธรรมในการเรียกร้องประชาชนในการเกณฑ์ทหาร ต้องการปลูกฝังให้เยาวชนไทยเป็นทหาร และเหนืออื่นใดคือการสร้างความชอบธรรมในการให้ทหารเป็นผู้นำประเทศ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐมนตรี เป็นสมาชิกรัฐสภา เป็นผู้บริหารและกรรมการรัฐวิสาหกิจ กระทั่งตั้งบริษัททำธุรกิจการค้าของกลุ่มตน

วาทกรรมเสียดินแดนจึงเป็นวาทกรรมที่สอดรับกับวาทกรรมเสียกรุงศรีอยุธยาที่มีมาก่อนหน้านี้ 2 วาทกรรมนี้ส่งผลอย่างเดียวกันคือ สร้างความชอบธรรมทางการเมืองของนายพลทหารในการเมืองไทย

วาทกรรมเสียดินแดน 14 ครั้ง เฟคนิวส์ที่เพิ่งสร้าง

กองทัพไทยเป็นผู้นำในการสร้างวาทกรรมเสียดินแดน 8 ครั้งในปี 2482 ผ่านมา 80 ปี การบรรยายครั้งนี้ของผู้นำกองทัพไทยเป็นหลักหมายว่ากองทัพไทยสูญเสียสถานะนำทางการสร้างความรู้ กลายเป็นสถานะผู้ตามในการใช้เฟคนิวส์ใน Google ที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นมา

วาทกรรมเสียดินแดน 14 ครั้ง ถูกผลิตสร้างและเผยแพร่ครั้งแรกราวเดือนมีนาคม 2552 ใน Google และต่อมาผลิตสร้างเป็นภาพเสียงบรรยายและบทเพลงในช่อง YouTube ทั้งนี้ เพื่อต่อต้านรัฐบาลพรรคพลังประชาชนที่สืบเนื่องมาจากพรรคไทยรักไทย โดยใช้ประเด็นการขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหารของกัมพูชามาเป็นตัวเร่งเร้าพลังมวลชนแบบรักชาติและคลั่งชาติตามแนวลัทธิทหารและชาตินิยมสมัยสงครามโลกและสงครามเย็นของรัฐบาลทหารไทย

การสร้างวาทกรรมเสียดินแดนนี้มีเป้าหมายที่จะโจมตีไปยังรัฐบาลพรรคพลังประชาชนในขณะนั้นว่าเป็นผู้ทำให้ไทยเสียดินแดนปราสาทพระวิหาร อันเป็นการเสียดินแดนครั้งที่ 14 ซึ่งจำนวนที่เสียดินแดนที่เพิ่มขึ้นจาก 8 ครั้งของเดิม เป็นครั้งที่ 9-10-11-12-13 ก็ใส่ๆเข้าไป เพราะคิดว่าคงไม่มีใครใส่ใจ แต่ถ้าจีนรู้ว่าคนไทยกล่าวอ้างสิทธิเหนือดินแดนในรัฐยูนนานตอนใต้ของจีน รัฐบาลจีนปักกิ่งจะโกรธหรือไม่?

วาทกรรมเสียดินแดนที่เริ่มเผยแพร่ในปี 2552 และถูกนำไปเผยแพร่ในช่องทางต่างๆ น่าเชื่อได้ว่าเป็นฝีมือหน่วยไซเบอร์ IO

วาทกรรมเสียดินแดน 14 ครั้งนี้ ยังมีการตัดคำกล่าวปราศรัยอันเป็นสาระสำคัญของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อครั้งศาลโลกพิพากษาตัดสินคดีให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาเมื่อปี 2505 ทิ้ง 2 ย่อหน้าที่อยู่ช่วงกลางคำปราศรัยที่ถูกทำลายทิ้งคือ การที่จอมพลสฤษดิ์ประกาศว่าไทยต้องยอมรับคำพิพากษาของศาลโลกและไม่สามารถอุทธรณ์ได้ ดังนั้น เอกสารที่เผยแพร่กันในห้วงเวลานั้นของครึ่งแรกทศวรรษ 2550 คือเอกสารเฟคนิวส์ที่ต้องการให้ผู้อ่านผู้ฟังคนไทยเห็นคล้อยตามว่ารัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ไม่เคยยอมรับคำพิพากษาของศาลโลกปี 2505 ดังนั้น ปราสาทพระวิหารจึงยังสามารถกลับมาเป็นของไทยได้อีก ซึ่งเฟคนิวส์นี้ได้ทำงานของมันในห้วงเวลานั้นเป็นอย่างดี

หลังจากขับไล่รัฐบาลพรรคพลังประชาชนออกไปได้แล้วในปลายปี 2552 (รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์) และได้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาแทน วาทกรรมเสียดินแดน 14 ครั้ง ก็ค่อยๆหมดบทบาทของมันลงไป เจือจาง ไม่อาจถูกตีฆ้องร้องป่าว

จนกระทั่งในห้วงขณะที่กำลังมีกลุ่มชัตดาวน์ประเทศปลายปี 2556 ศาลโลกก็ได้มีการพิพากษาซ้ำต่อคดีดินแดนปราสาทพระวิหารตามคำร้องของประเทศกัมพูชาเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 ในห้วงนั้นแทบไม่มีคำกรีดร้องหรือภาวะสนใจไยดีต่อคำพิพากษาของศาลโลกจากผู้ที่เคยรณรงค์ และต่างทำเฉยเมยเงียบๆ เพราะขณะนั้นวาทกรรมเสียดินแดน 14 ครั้ง ไม่ได้ถูกใช้ในการขับไล่และเพื่อเตรียมการรัฐประหารรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พรรคเพื่อไทย แต่อย่างใด

วาทกรรมเสียดินแดนจึงเป็นวาทกรรมเพื่อสร้างสนับสนุนความชอบธรรมของรัฐทหาร ของงบประมาณทหาร ของการเกณฑ์ทหาร ของการที่ทหารจะเป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นวาทกรรมเพื่อใช้ขับไล่ทำลายรัฐบาลพรรคการเมืองพลเรือนจากการเลือกตั้งออกไปจากตำแหน่งแห่งที่

สรุป

วาทกรรมเสียดินแดน 14 ครั้ง เป็นวาทกรรมเฟคนิวส์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป้าหมายขับไล่ทำลายรัฐบาลพรรคการเมืองหนึ่งๆเท่านั้นในปี 2552 และอย่างคิดไม่ถึงว่าเมื่อกาลเวลาผ่านไป การฝังตัวของวาทกรรมเสียดินแดนเฟคนิวส์มาถึง 10 ปีใน Google วาทกรรมเสียดินแดน 14 ครั้งเฟคนิวส์นี้กลับถูกคว้ามาเป็นคำบรรยายหลักของผู้นำกองทัพในวันนี้

คำถาม แล้วถ้าไม่มีวาทกรรมเสียดินแดน สภาพของรัฐไทยจะมั่นคงหรือไม่

คำตอบ ยิ่งมั่นคง เพราะถ้าวาทกรรมรัฐไทยเป็นรัฐที่เกิดขึ้นจากการได้รวบรวมดินแดนต่างๆมาในอดีต ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยใด รัฐไทยจึงมีความหลากหลายทั้งเชื้อชาติ คนไทย มอญ ลาว จีน เขมร แขก พม่า กะเหรี่ยง ฯลฯ หลากหลายทั้งศาสนา ลัทธิความเชื่อ รัฐไทยจะเป็นรัฐที่ยอมรับความหลากหลายของคนไทยที่มีหลากหลายในประเทศไทย

ดังนั้น รัฐไทยก็จะเป็นรัฐที่มุ่งให้เราสร้างเอกภาพในความหลากหลาย (Unity in Diversity) มุ่งนำงบประมาณไปสร้างความมั่งคั่งในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในด้านต่างๆอย่างทั่วถึงทั้งประเทศ ไม่ใช่รัฐที่มุ่งแต่ความมั่นคงมาตลอดกว่าศตวรรษ ใช้งบประมาณแต่เน้นไปกับกองทัพและอาวุธยุทโธปกรณ์ สร้างรัฐมั่นคงด้วยความกลัวให้กับประชาชน สร้างสภาวะความรู้สึกถึงสงครามที่จะมีกับรัฐเพื่อนบ้าน ไม่ใส่ใจความมั่งคั่งและวิถีชีวิตที่ดีขึ้น ตลอดทั้งสิทธิเสรีภาพของประชาชน

เราจะเป็นรัฐไทยที่มีเอกภาพในความหลากหลาย เราจะเป็นประชาชนมั่งคั่ง ประเทศชาติจึงมั่นคง

#เสียดินแดน
#ไทยเสียดินแดน
#ควายแดง
#ธำรงศักดิ์เพชรเลิศอนันต์