SLAPPs: เหตุใด กลุ่มวิพากษ์สังคมและธุรกิจตกเป็นเป้าฟ้องปิดปากมากขึ้น
วัชชิรานนท์ ทองเทพ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
14 มิถุนายน 2023
การฟ้องปิดปาก หรือ การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อต่อต้านการมีส่วนร่วมสาธารณะ (Strategic Lawsuits Against Public Participation: SLAPPs) ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน
ที่ผ่านมาผู้ฟ้องมักจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีอำนาจ ที่ต้องการจัดการกลุ่มผู้เห็นต่างทางการเมือง ทว่าปัจจุบัน กลุ่มนายทุนที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับผู้มีอำนาจก็ใช้รูปแบบเดียวกันในการปิดปากบุคคลที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์
อย่างกรณีของนายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส รองเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทยเป็นกรณีล่าสุด ที่เขาได้รับหมายศาลอาญากรุงเทพใต้คดีอาญาและแพ่ง จากที่บริษัท กัลฟ์ เจพีเอ็นเอส จำกัด ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจพลังงาน เป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท พร้อมกับนายรณกาจ ชินสำราญ และพรรคไทยสร้างไทย เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.
มูลเหตุหลัก ๆ ของการถูกฟ้องดำเนินคดีในครั้งนี้มาจากพวกเขาจัดแถลงข่าวเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2565 ในหัวข้อ “ชำแหละยุทธการตบตาประชาชน ที่ค่าไฟแพง เพราะราคาแก๊สขึ้น หรือเพราะเอื้อนายทุน ภาค 2” พร้อมตั้งคำถามเกี่ยวกับค่าไฟฟ้าแพง และพาดพิงถึงสัญญาสัมปทานการซื้อไฟฟ้าของรัฐและเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้า เป็นการเอื้อประโยชน์ให้นายทุนพลังงานกลุ่มใดหรือไม่
นายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส (ซ้าย) รองเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย และนายรณกาจ ชินสำราญ
วันนี้ผมได้รับหมายศาลโดยกลุ่มบริษัท “กัลฟ์” หลังจากผมได้เคยแถลงข่าวถึงปัญหา #ค่าไฟแพง
— ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส - Treerat Sirichantaropas (@PuneTreerat) June 7, 2023
โดยผม พร้อมด้วยคุณรณกาจ(ผู้ร่วมแถลงข่าว) และพรรคไทยสร้างไทย ร่วมกันได้ถูกฟ้องทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง และโดนเรียกค่าความเสียหายอีก 100ล้านบาท
ซึ่งทั้งหมดที่ผมเคยออกมาตั้งคำถาม… pic.twitter.com/acnrIjiZaq
3 ปี ทุนใหญ่ฟ้องผู้วิจารณ์รวมมูลค่า 650 ล้านบาท
คดีของนายตรีรัตน์ถือเป็นคดีที่ 7 ในรอบ 3 ปี ที่บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในข้อหา "หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา" กับนักการเมือง นักวิชาการ และเจ้าของสำนักพิมพ์ โดยแต่ละรายถูกฟ้องร้องด้วยมูลค่าสูงถึง 50-100 ล้านบาท
ย้อนหลังไป 4 เม.ย. 2564 น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส. พรรคก้าวไกลถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท หลังจากอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2564 กล่าวถึงนโยบายพลังงานของรัฐบาลว่าเอื้อต่อกลุ่มบริษัทกัลฟ์ จนทำให้กลายเป็นกลุ่มทุนพลังงานอันดับหนึ่ง
ต่อมา 21 ธ.ค. 2564 นายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท โดยเป็นทั้งคดีแพ่งและอาญา คดีแรกจากการแชร์ข้อความการอภิปรายไม่ไว้วางใจของนายรังสิมันต์ โรม และคดีที่ 2 เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2566 ในข้อหาเดียวกันพร้อมเรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท จากกรณีที่เขาแชร์บทการอภิปรายไม่ไว้วางใจของ น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.พรรคก้าวไกล โดยการอภิปรายของ ส.ส. พรรคก้าวไกลทั้งคู่ มีการพาดพิงถึงกลุ่มบริษัทกัลฟ์
น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส. พรรคก้าวไกล
1 ส.ค. 2565 นายรังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคก้าวไกล ถูกฟ้องทั้งคดีแพ่งและอาญา เรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท จากกรณีที่อภิปรายไม่ไว้วางใจนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2564 โดยตั้งคำถามว่า รมว. ดีอีเอส ใช้ตำแหน่งเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท กัลฟ์ฯ หรือไม่
15 ก.ย. 2565 นพ.วรงค์ เดชวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี ถูกฟ้องคดีแพ่ง เรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท จากการไลฟ์ทางเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2564 มีเนื้อหาว่า บริษัท กัลฟ์ฯ กำลังจะเข้ามาผูกขาดกิจการสื่อสารและอินเทอร์เน็ต หลังประกาศรับซื้อหุ้นและถือหุ้นส่วนใหญ่ของ บมจ. อินทัช โฮลดิ้งส์ และ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส รวมทั้งจะเข้าประมูลสัมปทานดาวเทียม
นายรังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคก้าวไกล
นอกจากนี้ เขายังกล่าวหาว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ล็อคสเปกให้ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ได้รับสัมปทานดังกล่าวด้วย
คดีที่ 6 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2566 โดยผู้ถูกบริษัท กัลฟ์ฯ ฟ้องคือ น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านการเงินการลงทุนและนักเขียน ซึ่งบริษัทอ้างว่า เธอเขียนบทความกล่าวหาว่าบริษัท กัลฟ์ฯ ผูกขาดกิจการโรงไฟฟ้า ในบทความ "มหากาพย์ ‘กินรวบ’ โรงไฟฟ้า" บนเฟซบุ๊กของเธอเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2566 ซึ่งบทความดังกล่าวเผยแพร่บนเว็บไซต์ เดอะ โมเมนตัม ในปี 2559 ครั้งนี้เธอถูกเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 100 ล้านบาท
ล่าสุดคดีที่ 7 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2566 นายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส รองเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย ได้รับหมายศาลจากศาลอาญากรุงเทพใต้ทั้งในคดีอาญาและแพ่ง จากที่บริษัท กัลฟ์ เจพีเอ็นเอส จำกัด ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท พร้อมกับนายรณกาจ ชินสำราญ และพรรคไทยสร้างไทย
คดี SLAPPs ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และไร้กฎหมายปกป้อง
ข้อมูลจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ปัจจุบันการฟ้องปิดปากมีเพิ่มมากขึ้น โดยเป็นรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ดำเนินคดี อย่างเช่น ในช่วงโควิด ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลบริหารประเทศได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ประชาชนที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐยุบสภา ให้นายกฯ ลาออก รวมทั้งให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถูกดำเนินคดีโดยใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เพิ่มมากขึ้น
นางณัฐาศิริ เบิร์กแมน ผู้อำนวยการสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ยกตัวอย่างให้บีบีซีไทยฟังว่า เมื่อมีการชุมนุมมากขึ้น รัฐบาลจึงออก พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ โดยอ้างว่าเพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 แต่การบังคับใช้จะใช้กับผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาล แต่ฝ่ายที่ออกมาสนับสนุนรัฐบาลไม่ถูกดำเนินคดี โดยฝ่ายรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ
เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของภาคธุรกิจ บริษัทใหญ่ก็มีการใช้การฟ้องปิดปากเป็นเครื่องมือเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน เช่น กรณีบริษัทธรรมเกษตร ที่ออกมาฟ้องแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชน นักปกป้องสิทธิ และนักข่าว ที่ออกมาเปิดเผยเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิแรงงานในฟาร์มธรรมเกษตร เป็นจำนวนสูงถึง 39 คดี
"ล่าสุด บริษัทกัลฟ์ฯ ก็ฟ้องนักวิชาการ ส.ส. และประชาชนทั่วไปที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีค่าไฟฟ้าแพงอีกหลายคดี โดยฟ้องทั้งคดีอาญาและแพ่ง เรียกค่าเสียหายนับร้อยล้าน และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากไม่มีบทลงโทษใด อีกทั้งบริษัทเหล่านี้มีทรัพยากรมาก ทำให้สามารถฟ้องคดีได้โดยไม่เดือดร้อน และรัฐบาลไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการจัดการกับบริษัทที่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการฟ้องปิดปากประชาชน" นางณัฐาศิริ กล่าว
ลักษณะการฟ้องคดี SLAPPs มีอะไรบ้าง
ที่ผ่านมา ยังไม่มีหน่วยงานใดที่รวบรวมการดำเนินคดีในลักษณะดังกล่าวมาก่อน แต่ที่ปรากฏในบันทึกต่าง ๆ ทำให้ทราบได้ว่าคดีที่เข้าข่าย SLAPPs มีมานานแล้วในไทย
การจัดเก็บข้อมูลภายใต้ข้อจำกัดนับตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปี 2562 โดยสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เป็นหนึ่งในฐานข้อมูลที่บ่งชี้ว่า นับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 การฟ้องคดีปิดปากมีเพิ่มมากขึ้น ทั้งโดยจากรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ และองค์กรภาคธุรกิจ ทั้งนี้ คนที่ตกเป็นเหยื่อของการฟ้องปิดปากส่วนใหญ่ คือนักเคลื่อนไหวที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยหรือเรียกร้องให้รัฐบาลเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน
นางณัฐาศิริ ยกตัวอย่างกรณีที่มีประชาชนออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหาร ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนประกาศ คสช.เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง รวมถึงกรณีรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็ถูกดำเนินคดีเช่นเดียวกัน หรือแม้แต่ในช่วงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งปี 2562 ก็ยังพบเห็นการใช้กฎหมายต่อผู้เห็นต่างทางการเมืองในระหว่างการระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงกรณีการใช้มาตรการทางกฎหมายกับองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรไม่แสวงหากำไร ประชาชนทั่วไปที่คัดค้านโครงการสัมปทานของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงนักข่าวที่รายงานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในประเทศ
ส่วนคดีที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือส่วนใหญ่เป็นคดีอาญา มาตรา 112 (หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) มาตรา 116 (ความผิดฐานยุยงปลุกปั่น) รวมทั้ง ข้อหาหมิ่นประมาททางอาญา ม.326, หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา มาตรา 328, หมิ่นประมาททางแพ่ง มาตรา 420 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
ความพยายามปกป้องการถูกฟ้องคดี SLAPPs ในไทย
ที่ผ่านมา หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่เคยได้รับผลกระทบจากกรณีนี้ มีความพยายามที่จะนำเสนอชุดความคิดเกี่ยวกับกฎหมายต่อต้านการฟ้องหมิ่นประมาทอยู่หลายครั้ง
อย่างเช่นในเดือน เม.ย. 2561 ศาลยุติธรรมเคยออกมาเสนอเเก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อป้องกันการใช้สิทธิฟ้องคดีอาญาโดยมีเจตนาไม่สุจริต แต่ต่อมาถูก ครม. ในขณะนั้นสั่งชะลอไปก่อน
ต่อมาในเดือน ก.พ. 2564 เริ่มมีความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนอีกครั้ง หลังจากกรณีบริษัท ทุ่งคำ ซึ่งเป็นเจ้าของเหมืองแร่ใน จ.เลย ฟ้องนักข่าวและสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ฐานหมิ่นประมาทจากการรายงานข่าวที่มีเนื้อหาสะท้อนผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมจากโครงการเหมืองแร่ทองคำ รวมทั้งกรณีเจ้าของโรงน้ำตาลฟ้องชาวบ้านกลุ่มรักษ์น้ำอูน จ.สกลนคร หลังจากยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ อบต.ให้ระงับการบุกเบิกพื้นที่โครงการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล
แม้ว่าทั้งสองกรณี ผู้ฟ้องยอมถอนฟ้อง แต่ในขณะนั้น ส.ส. พรรคก้าวไกลได้เสนอชุดร่างกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชนจำนวนห้าฉบับเข้าสู่สภา แต่ยังไม่มีความคืบหน้า จนในการเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านมา หนึ่งใน 300 นโยบายของพรรคดังกล่าวก็ถูกนำเสนอกลับมาอีกครั้ง
ผอ.สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน อธิบายว่า ข้อด้อยของกฎหมายต่อต้านการฟ้องหมิ่นประมาทในประเทศไทยคือ ไม่มีกฎหมายกำหนดเรื่องการฟ้องปิดปากไว้โดยตรง แต่เป็นการไปกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161/1 และ 165/1 แม้ได้มีการยื่นคำขอแล้วแต่ศาลก็ไม่วินิจฉัยให้ ดังนั้นในการต่อสู้คดีปัจจุบันจึงยังต้องใช้กฎหมายเดิม เช่นในคดีหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาต้องอ้างว่าทำไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ
ภาระทางคดีตกอยู่ที่จำเลยฝ่ายเดียว แม้ไม่พบความผิด
นางณัฐาศิริระบุว่า แม้ศาลจะพิพากษาว่าไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาเพราะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอันเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่จำเลยจะไม่ได้รับค่าชดเชย ค่าเสียหาย หรือค่าทนายความที่เสียไป ดังนั้นจึงควรออกกฎหมายใหม่คุ้มครองผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการฟ้องปิดปาก โดยกำหนดวิธีการปฏิบัติที่ชัดเจน คุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่สั่งไปโดยสุจริต มีกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจากการฟ้องปิดปาก และมีการลงโทษองค์กรรัฐ หรือบริษัทใหญ่ที่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์
นางณัฐาศิริ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันมีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161/1 และ 165/2 ซึ่งรัฐอ้างว่าออกมาเพื่อคัดกรองการฟ้องปิดปากทำให้คดียุติไปจากศาลได้โดยเร็ว แต่แม้กฎหมายจะกำหนดให้ศาลสามารถยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้องได้ แต่ในทางปฏิบัติศาลก็ไม่กล้ายกฟ้องเพราะไม่แน่ใจว่าเป็นคดีที่ฟ้องโดยมีเจตนาไม่สุจริตหรือไม่ ต้องไต่สวนมูลฟ้องไปก่อนอยู่ดี จึงไม่ช่วยกลั่นกรองคดีหรือทำให้คดีจบไปโดยเร็วแต่อย่างไร
นางณัฐาศิริ เบิร์กแมน ผู้อำนวยการสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
"ถ้าจะมีการออกกฎหมายต่อต้านการฟ้องปิดปาก ตัวอย่างที่ดีคือกฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกา ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่ถูกฟ้องสามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาว่าเป็นการฟ้องกลั่นแกล้งฟ้องปิดปากได้ และหากศาลยกฟ้องคดีนั้นเพราะเป็นการฟ้องกลั่นแกล้งจำเลยก็จะได้รับค่าชดเชยค่าใช่จ่าย ค่าทนายความจากฝั่งโจทก์ได้ด้วย" เธอเสนอแนะ
อย่างไรก็ตาม นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนรายนี้ให้ความเห็นว่า คดีหมิ่นประมาทไม่ควรเป็นความผิดทางอาญา เนื่องจากว่า ผู้ที่อ้างว่าได้รับความเสียหายจากข้อความที่เป็นการหมิ่นประมาทนั้น สามารถเรียกค่าเสียหายเป็นตัวเงินได้อยู่แล้ว โดยพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าได้รับความเสียหายอย่างไร
"แต่ปัจจุบันนี้ การแสดงความคิดเห็น แสดงข้อเท็จจริง การตั้งคำถาม การวิพากษ์วิจารณ์ ที่เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกนั้น นอกจากจะมีโทษทางอาญาแล้วยังมีโทษปรับและเรียกค่าเสียหายทางแพ่งได้อีกด้วย ซึ่งไม่ได้สัดส่วนกับความเสียหายที่เกิดขึ้น" เธอทิ้งท้าย