วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 01, 2566
พระราชอำนาจในระบอบประชาธิปไตย: ว่าด้วย ‘ความล่วงละเมิดมิได้’ ของพระมหากษัตริย์
พระราชอำนาจในระบอบประชาธิปไตย: ว่าด้วย ‘ความล่วงละเมิดมิได้’ ของพระมหากษัตริย์
เรื่อง อติเทพ ไชยสิทธิ์
ภาพประกอบ ภาพิมล หล่อตระกูล
30 Apr 2021
1O1 World
หลังจากที่บทความชิ้นก่อนหน้าผู้เขียนได้อภิปรายถึงปัญหาการจัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ผ่านหลักการ ‘ทวิกายาของพระมหากษัตริย์’ (The King’s Two Bodies) ในบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนจะสำรวจอีกหนึ่งแนวคิดทางการเมืองที่รองรับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ คือหลักการ ‘ความล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์’ (Inviolability of the King) อันเกี่ยวพันอย่างแนบแน่นกับภาษิตทางกฎหมาย ‘The King can do no wrong’ หรือ ‘พระมหากษัตริย์กระทำผิดไม่ได้’
ผู้เขียนยังอภิปรายถึงปัญหาของสถานะ ‘อันล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์’ ในสภาวะที่พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์กลายเป็นภัยคุกคามต่อรัฐธรรมนูญและรากฐานการปกครองจนนำไปสู่วิกฤติทางการเมืองในประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส
และท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนจะอภิปรายถึงปัญหาของสถานะ ‘อันล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์’ ในบริบทของประเทศไทย รวมทั้งข้อเสนอแนวทางการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เรื่องการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของพระราชอำนาจในระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบด้วย (1) การนิยามอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย โดยให้รัฐสภาเป็นหนึ่งในตัวแทนของอำนาจอธิปไตยเช่นเดียวกับพระมหากษัตริย์ ตามหลักการในปฐมรัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 (2) การกำหนดให้พระมหากษัตริย์จะต้องปฏิญาณตนก่อนขึ้นครองราชย์ ว่าจะปฏิบัติตามกฎหมายและพิทักษ์รัฐธรรมนูญ (3) การกำหนดให้พระมหากษัตริย์ต้องรับผิดชอบทางกฎหมาย หากพระองค์ละเมิดหลักการ ‘พระมหากษัตริย์กระทำผิดไม่ได้’ และ (4) การกำหนดขอบเขตของพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน
(1)
‘พระมหากษัตริย์กระทำผิดไม่ได้’ ในฐานะคติธรรมกำกับ
พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์
“…เนื่องเพราะพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเสนาบดีและตัวแทนของพระเจ้าบนโลกมนุษย์ พระองค์จึงไม่สามารถกระทำสิ่งใดยกเว้นแต่สิ่งที่พระองค์สามารถกระทำได้ตามกฎหมาย (แม้จะมีคำกล่าวว่าพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์คือพลังอำนาจแห่งกฎหมาย […] แต่ก็ไม่มีสิ่งใดที่จะสามารถทำไปอย่างเร่งรีบโดยพระราชประสงค์ส่วนพระองค์ หากแต่ต้องผ่านการตัดสินใจอย่างถูกต้องด้วยการปรึกษากับเสนาบดีของพระองค์ เมื่อได้รับการพิจารณาไตร่ตรองและให้คำปรึกษาแล้ว พระมหากษัตริย์จึงค่อยมีพระบรมราชานุมัติ)…”
– เฮ็นรี เดอ แบรคตัน (Henry de Bracton), “On the Laws and Customs of England”. ค.ศ. 1200s[1]
‘พระมหากษัตริย์กระทำผิดไม่ได้’ (The King can do no wrong) เป็นแนวคิดทางกฎหมายของสหราชอาณาจักรที่มีความเก่าแก่และพัฒนามาจากแนวคิดทางเทววิทยาเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ในยุคกลางซึ่งเชื่อว่าพระมหากษัตริย์เป็นเสนาบดีและตัวแทนของพระเจ้าบนโลกมนุษย์ (The King is the minister and the vicar of God on earth) พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์จึงเป็นอำนาจที่ได้รับมาจากพระเจ้า ไม่ใช่อำนาจที่ใช้ไปตามอำเภอใจขององค์พระมหากษัตริย์ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง และเนื่องจากพระเจ้าย่อมไม่กระทำสิ่งใดด้วยความมุ่งหวังอันชั่วร้ายและอยุติธรรม พระมหากษัตริย์ผู้เป็นตัวแทนของพระเจ้าก็ย่อมไม่สามารถกระทำสิ่งที่ชั่วร้าย แต่มุ่งใช้พระราชอำนาจไปเพื่อให้บังเกิดความยุติธรรม
หลักการ ‘พระมหากษัตริย์กระทำผิดไม่ได้’ จึงไม่ใช่การบอกว่าพระมหากษัตริย์จะทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ แต่มีฐานะเป็นคติธรรมที่เอามาใช้กำกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ดังที่เฮ็นรี เดอ แบรคตัน (Henry de Bracton) นักทฤษฎีกฎหมายคนสำคัญของอังกฤษในศตวรรษที่ 13 ได้อภิปรายถึงสถานะของพระมหากษัตริย์เอาไว้ว่า พระมหากษัตริย์ไม่สามารถกระทำสิ่งใด ‘ยกเว้น’ สิ่งที่พระองค์สามารถกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย (the King can do nothing save what he can do de jure) และพระราชอำนาจตามกฎหมายนั้นย่อมถูกใช้ไปภายใต้คำปรึกษาของเหล่าเสนาบดี หาใช่โดยพระราชประสงค์ส่วนพระองค์ไม่
แบรคตันยังอภิปรายต่อไปอีกว่า หากพระมหากษัตริย์ละเมิดกฎหมาย กระทำสิ่งที่ชั่วร้ายและอยุติธรรม พระองค์ย่อมไม่ใช่เสนาบดีและตัวแทนของพระเจ้าอีกต่อไป แต่เป็นเสนาบดีและตัวแทนของซาตาน (as long as he does justice he is the vicar of the Eternal King, but the devil’s minister when he deviates into injustice)[2]
‘พระมหากษัตริย์ในอุดมคติ’ ของแบรคตันจึงเป็นพระมหากษัตริย์ที่กระทำผิดไม่ได้ ไม่ใช่เพราะมีพระราชอำนาจอันสัมบูรณ์ไร้ขอบเขต แต่เป็นเพราะพระองค์ไม่สามารถกระทำสิ่งใดที่เกินไปกว่าขอบเขตของกฎหมาย – อันที่จริงแล้วแบรคตันยังได้เสนอไว้อีกด้วยว่า พระมหากษัตริย์ที่ดีที่สุดก็คือพระมหากษัตริย์ที่ปกครองตามกฎหมาย เพราะกฎหมายนี้เองที่ทำให้พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ (nothing is more fitting for a sovereign than to live by the laws, nor is there any greater sovereignty than to govern according to law, […] for the law makes him king)[3]
อย่างไรก็ตาม คติธรรมเหล่านี้ไม่ได้ตอบคำถามว่าหากพระมหากษัตริย์ละเมิดกฎหมาย จะมีวิธีในทางปฏิบัติใดที่จะเอาผิดพระมหากษัตริย์หรือเยียวยาบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำละเมิดนั้น นอกจากนี้ ตามแนวคิดทางกฎหมายของอังกฤษในยุคกลางแล้ว พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ยังเป็นบ่อกำเนิดแห่งอำนาจทางการเมืองต่างๆ (Public offices and institutions are ‘emanations of the Crown’)[4] พระมหากษัตริย์จึงไม่อาจถูกฟ้องร้องหรือกล่าวหาในทางกฎหมาย เพราะพระองค์ไม่สามารถเป็นจำเลยในศาลที่ก่อกำเนิดขึ้นโดยพระราชอำนาจของพระองค์เอง – ศาลเดียวที่สามารถตัดสินพระมหากษัตริย์ได้ ก็คือศาลของพระเจ้า
เราอาจพิจารณาจากสายตาของคนในยุคปัจจุบันได้ว่า แนวคิดทางกฎหมายในยุคกลางเหล่านี้มีขึ้นเพื่อรองรับพระราชอำนาจในความเป็นจริงของพระมหากษัตริย์ที่มีอยู่มากเป็นล้นพ้น (นั่นคือในสถานการณ์ปกติย่อมไม่มีใครมีอำนาจมากพอจะนำพระมหากษัตริย์มาขึ้นศาลในฐานะจำเลย และคงไม่มีใครบังคับใช้กฎหมายกับพระมหากษัตริย์ได้) แต่ในขณะเดียวกัน นักทฤษฎีกฎหมายผู้เล็งเห็นความอันตรายของพระราชอำนาจที่ล้นเกินก็ได้พยายามสร้างคำอธิบายพระราชอำนาจที่อิงอยู่กับความเชื่อทางศาสนาอันเป็นส่วนสำคัญของชีวิตคนในยุคกลาง โดยเชื่อว่าหากพระมหากษัตริย์มีความยำเกรงต่อเดชานุภาพของพระเจ้า พระองค์ย่อมต้องใช้พระราชอำนาจที่มีอยู่ล้นพ้นนั้นด้วยความระมัดระวัง[5]
แนวคิดทางกฎหมายที่มีต้นกำเนิดมาจากคติทางเทววิทยาจากยุคกลางเหล่านี้ในเวลาต่อมาก็ได้วิวัฒนาการมาเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดทางรัฐธรรมนูญของอังกฤษและสหราชอาณาจักรที่รองรับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ คือหลักการ ‘ความล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์’ (Inviolability of the King)[6] ซึ่งโดยแท้จริงแล้วก็ประกอบขึ้นมาจากแนวคิดที่ผู้เขียนได้อภิปรายมาข้างต้น คือ (1) ‘พระมหากษัตริย์กระทำผิดไม่ได้’ (เพราะพระองค์ไม่สามารถกระทำเกินขอบเขตของกฎหมาย) และ (2) ‘พระมหากษัตริย์ไม่อาจถูกฟ้องร้องหรือกล่าวหาในทางกฎหมาย’ (เพราะพระองค์ไม่สามารถเป็นจำเลยในศาลที่กำเนิดขึ้นด้วยพระราชอำนาจของพระองค์เอง)
เซอร์วิลเลียม เอิร์ล (Sir William Erle) ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลคอมมอนพลีส์ (Court of Common Pleas) ในศตวรรษที่ 19 ได้สรุปหลักการ ‘ความล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์’ ไว้ได้อย่างรวบรัดในคำตัดสินคดี Tobin v The Queen ว่า
“…สัจพจน์ที่ว่าพระมหากษัตริย์กระทำผิดไม่ได้นั้น เป็นข้อเท็จจริงในความหมายที่ว่าพระองค์ไม่สามารถถูกฟ้องร้องในคดีแพ่งหรืออาญาต่อการกระทำที่อาจสันนิษฐานว่าเป็นความผิดนั้นได้ ถ้าหากพระประมุขทรงกระทำการนั้นด้วยตัวพระองค์เอง กฎหมายย่อมถือว่าการกระทำนั้นไม่ผิด และถ้าหากพระประมุขทรงมีพระราชโองการให้ข้าราชบริพารของพระองค์เป็นผู้กระทำแทน ความผิดย่อมไม่ตกแก่องค์พระประมุข เพราะคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็เสมือนดั่งไม่มีคำสั่งนั้นอยู่ในสายตาของกฎหมายตั้งแต่แรก ข้าราชบริพารผู้นั้นจึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบการกระทำที่ผิดกฎหมายนั้นเองราวกับว่าไม่มีคำสั่งใดอยู่เลย…”[7]
และด้วยเหตุผลดังที่อภิปรายข้างต้น เพื่อให้การกระทำทางการเมืองของพระมหากษัตริย์มีผู้รับผิดชอบตามกฎหมายที่ชัดเจน การลงพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ (royal sign-manual) จึงจะต้องถูกกำกับด้วยการลงนามสนองพระบรมราชโองการ (countersign) โดยเสนาบดีหรือผู้มีส่วนรับผิดชอบตามหน้าที่อยู่เสมอ – ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่า ‘พระมหากษัตริย์กระทำผิดไม่ได้ เพราะไม่ทรงกระทำสิ่งใด’ (le Roi ne peut mal faire, puisqu’il n’agit pas – The King can do no wrong, since he does not act)
แน่นอนว่าในยุคที่พระมหากษัตริย์ยังทรงมีพระราชอำนาจทางการเมืองอยู่มาก ในทางความเป็นจริง พระมหากษัตริย์ยังทรงกระทำทางการเมืองด้วยพระองค์เองหลายประการ การลงนามสนองพระบรมราชโองการจึงเป็นเพียงแค่การกำหนดบุคคลรับผิดชอบตามกฎหมายแทนองค์พระมหากษัตริย์ตามหลักการ ‘ความล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์’ เท่านั้น แต่เมื่ออำนาจทางการเมืองที่แท้จริงเริ่มเปลี่ยนถ่ายจากพระมหากษัตริย์มาสู่รัฐสภา[8] และพระมหากษัตริย์เพียงทรงราชย์แต่มิได้ทรงปกครองแล้ว (the King reigns but does not rule) คำกล่าวที่ว่า ‘พระมหากษัตริย์กระทำผิดไม่ได้ เพราะไม่ทรงกระทำสิ่งใด’ จึงมิใช่เพียงข้อเท็จจริงในระนาบของนิติสมมติ (legal fiction) หรือคติธรรมที่ใช้กำกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ดังเช่นในอังกฤษยุคกลางอีกต่อไป แต่กลับกลายมาเป็นความเป็นจริงที่จับต้องได้ในระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional monarchy) ในปัจจุบัน
(2)
ปัญหา ‘ความล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์’
เมื่อพระราชอำนาจเป็นทุรยศ
“…เป็นไปได้อย่างไรกันที่หลักการความล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์ได้ถูกล้มล้างลง? ในเมื่อรัฐธรรมนูญได้ประกาศไว้ว่าองค์พระมหากษัตริย์มีสถานะอันล่วงละเมิดมิได้และให้เสนาบดีเป็นผู้รับผิดชอบ […] กระบวนการทางรัฐธรรมนูญดังกล่าวนี้วางอยู่บนฐานที่ว่าหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญเองต้องไม่ได้รับผลกระทบ […] แต่ถ้ากษัตริย์เป็นฝ่ายวางแผนสมคบคิดเป็นเวลายาวนานเพื่อบ่อนทำลายรัฐธรรมนูญ; […] ถ้าหากว่าความเกรี้ยวโกรธอันชอบธรรมที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากอาชญากรรมของกษัตริย์นั้นได้บีบบังคับให้ประชาชนที่โกรธขึ้งและไม่ยอมจำนนพากันก่อการปฏิวัติ เราจะบังคับใช้รัฐธรรมนูญกับกษัตริย์ได้อย่างไร ก็ในเมื่อกษัตริย์เป็นฝ่ายทำให้แทบไม่มีสิ่งใดจากรัฐธรรมนูญหลงเหลืออยู่เลย…”
-ฌอง โฌเรส (Jean Jaures), “ประวัติศาสตร์สังคมนิยมของการปฏิวัติฝรั่งเศส”. ค.ศ. 1923[9]
แม้หลักการ ‘พระมหากษัตริย์กระทำผิดไม่ได้’ จะเป็นรากฐานการปกครองของอังกฤษและสหราชอาณาจักรก็จริง แต่ก็ย่อมเกิดคำถามว่า หากพระมหากษัตริย์กระทำผิดกฎหมายหรือใช้พระราชอำนาจในทางที่ผิดจนเกิดการกดขี่ประชาชนเป็นวงกว้าง หรือขัดแย้งกับสถาบันทางการเมืองอื่นอย่างรุนแรงจนนำไปสู่วิกฤตทางการเมืองที่ทำลายรากฐานของรัฐธรรมนูญและระบอบการปกครอง ประชาชนควรทำเช่นไร?
ต่อประเด็นปัญหานี้ เซอร์วิลเลียม แบล็กสโตน (Sir William Blackstone) นักทฤษฎีกฎหมายคนสำคัญของอังกฤษในศตวรรษที่ 18 ได้อภิปรายว่า ความรุนแรงของการละเมิดหลัก ‘พระมหากษัตริย์กระทำผิดไม่ได้’ นั้นมีอยู่ 3 ระดับ คือ (1) การละเมิดที่ส่งผลกระทบต่อเอกชน (2) การกดขี่ประชาชนเป็นวงกว้างแต่ไม่ได้กระทบถึงหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ และ (3) การกดขี่เป็นวงกว้างถึงขั้นทำลายล้างรัฐธรรมนูญและรากฐานการปกครอง
สำหรับการละเมิดที่ส่งผลกระทบต่อเอกชน (private injuries) แบล็กสโตนเสนอว่า บุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิดนั้นควรทำฎีการ้องเรียนไปยังพระมหากษัตริย์ผ่านศาลของพระองค์ที่เรียกว่าศาลชานเซอรี (Court of Chancery)[10] จากนั้นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานศาลก็จะชดเชยเยียวยาความละเมิดนั้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณ มิใช่เพราะการถูกบีบบังคับ (his chancellor will administer right as a matter of grace, though not upon compulsion) เพราะพระมหากษัตริย์ย่อมไม่มีเจตนาที่จะใช้พระราชอำนาจไปเพื่อให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนตั้งแต่แรก และถึงแม้พสกนิกรจะไม่สามารถบีบบังคับให้พระมหากษัตริย์ชดเชยเยียวยาการละเมิดนั้น แต่พระมหากษัตริย์ที่ทรงปรีชาย่อมไม่ปฏิเสธที่จะชดเชยความเสียหายอันเกิดจากพระราชอำนาจของพระองค์
สำหรับการกดขี่ประชาชนเป็นวงกว้างแต่ไม่กระทบถึงหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ (ordinary public oppression where the vitals of the constitution are not attacked) แบล็กสโตนเสนอว่า แม้ในทางกฎหมายจะไม่สามารถเอาผิดองค์พระมหากษัตริย์ได้ แต่พระมหากษัตริย์ย่อมไม่สามารถใช้พระราชอำนาจในทางที่ผิดโดยไม่ได้รับความร่วมมือจากเสนาบดีและที่ปรึกษาที่ชั่วร้าย ในกรณีนี้ รัฐธรรมนูญได้เปิดช่องทางให้ฟ้องร้องหรือถอดถอน (impeachment) เสนาบดีและที่ปรึกษาเหล่านั้นเพื่อไม่ให้บุคคลใดกล้าให้ความสนับสนุนหรือช่วยเหลือพระมหากษัตริย์ในการกระทำที่ละเมิดกฎหมายและรัฐธรรมนูญ
และท้ายที่สุด สำหรับการกดขี่ประชาชนเป็นวงกว้างจนถึงขั้นทำลายล้างรัฐธรรมนูญและรากฐานการปกครอง (public oppressions as tend to dissolve the constitution and subvert the fundamentals of government) แบล็กสโตนได้อภิปรายว่า สถานการณ์เช่นนี้ย่อมอยู่นอกเหนือไปจากขอบเขตของกฎหมาย เพราะกฎหมายต่างๆ ย่อมไร้สภาพที่จะบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหลือเพียงแต่ธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ที่จะไม่ยอมเสียสละเสรีภาพของตนเพื่อแลกกับการยึดติดอย่างเชื่องๆ กับคติทางกฎหมายนามธรรมต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยมีเจตนาเพื่อพิทักษ์เสรีภาพนั้นแต่แรก เพราะในสภาวะที่รัฐธรรมนูญและรากฐานการปกครองถูกทำลาย จะเหลือก็แต่เพียงพลังทางสังคมที่ไม่มีสิ่งใด ไม่ว่าจะกระแสสังคม กาลเวลา รัฐธรรมนูญ หรือสัญญาใดสามารถทำลายล้างลงได้ (which no climate, no time, no constitution, no contract, can ever destroy or diminish)[11]
เราอาจพิจารณาสิ่งที่แบล็กสโตนกล่าวให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีกได้ว่า ในสภาวะที่รัฐธรรมนูญและรากฐานการปกครองถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง ย่อมมีเพียงแต่พลังทางสังคมเท่านั้นที่จะสามารถเข้ามาแก้ไขวิกฤตทางการเมืองได้ พลังทางสังคมอาจเพิกเฉยต่อหลักการนามธรรมบางอย่างที่ได้สูญเสียหน้าที่ดั้งเดิมของมันไปตั้งแต่แรก และในสถานการณ์ที่พระมหากษัตริย์ใช้พระราชอำนาจทำลายล้างรัฐธรรมนูญและรากฐานการปกครอง หลักความล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์ย่อมไม่มีความหมายอีกต่อไป เพราะเป้าหมายของการมีสถานะอันล่วงละเมิดมิได้นั้นก็เพื่อให้พระองค์ได้ใช้พระราชอำนาจนั้นในการอำนวยความยุติธรรม ไม่ใช่เพื่อใช้กดขี่ประชาชน
แบล็กสโตนถือเอาการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (The Glorious Revolution) เป็นตัวอย่างทางประวัติศาสตร์ที่พลังทางสังคมนำไปสู่การถอดพระมหากษัตริย์ที่ใช้พระราชอำนาจในทางมิชอบออกจากพระราชบัลลังก์[12] แต่ผู้เขียนยังเห็นว่าการไต่สวนพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ในสมัยสงครามกลางเมืองอังกฤษ (The English Civil War) และการไต่สวนอดีตกษัตริย์ลุยส์ที่ 16 โดยสภากงว็องซิญง (Convention) ภายหลังการลุกฮือของประชาชนชาวฝรั่งเศสในวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ. 1792 (Insurrection of 10 August 1792) ถือเป็นอีกตัวอย่างของพลังทางสังคมที่ล้มล้างสถานะอันล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์ลงไป
ในกรณีของอังกฤษ หลังพระเจ้าชาล์ส์ที่ 1 เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ให้กับฝ่ายรัฐสภาในสงครามกลางเมือง ฝ่ายรัฐสภาได้แต่งตั้งศาลสูง (High court of Justice) ขึ้นเพื่อไต่สวนพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 โดยไม่ได้ถอดพระองค์ออกจากพระราชบัลลังก์ ในสายตาของฝ่ายรัฐสภา พวกเขาไม่ได้กำลังไต่สวน ‘พระมหากษัตริย์’ คือ ‘พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1’ แต่พวกเขากำลังไต่สวน ‘ชาร์ลส์ สจ๊วต’ ผู้ละเมิดคำสาบานตนและใช้อำนาจในทางมิชอบขัดแย้งกับหน้าที่ในฐานะ ‘พระมหากษัตริย์’ ที่ต้องปกครองด้วยกฎหมายเพื่ออำนวยความยุติธรรม[13]
แม้พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 จะไม่ยอมรับความชอบธรรมของศาลสูงโดยอ้างว่าไม่มีศาลใดบนโลกที่จะสามารถไต่สวนและพิพากษาตนได้ตามหลักการ ‘พระมหากษัตริย์กระทำผิดไม่ได้’ และคติที่ว่าพระมหากษัตริย์เป็นตัวแทนของพระเจ้าโลก แต่ผู้พิพากษาศาลสูงตอบโต้กลับว่า พระมหากษัตริย์ย่อมอยู่ภายใต้กฎหมาย และที่เหนือไปกว่ากฎหมายก็คือประชาชน ในฐานะผู้ก่อกำเนิดกฎหมายและผู้มอบอำนาจแห่งกฎหมายให้พระมหากษัตริย์ใช้เพื่ออำนวยความยุติธรรมและความสงบสุข หากพระมหากษัตริย์เลือกที่จะใช้กฎหมายไปในทางตรงกันข้าม ก็สมควรที่จะได้รับการลงโทษ[14] – ในวันที่ 27 มกราคม ค.ศ.1649 พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ถูกตัดสินให้ประหารชีวิตในโทษฐานกบฏ
สำหรับในกรณีของฝรั่งเศส หลังจาก ‘การลุกฮือวันที่ 10 สิงหาคม’ สภากงว็องซิญงอ้างเจตจำนงของชาติในการไต่สวนอดีตกษัตริย์ลุยส์ที่ 16 ซึ่งถูกถอดออกจากพระราชบัลลังก์ด้วยผลแห่งการลุกฮือของประชาชน ในระหว่างการไต่สวน อดีตกษัตริย์ลุยส์ที่ 16 จึงมีสถานะเป็นพลเมืองฝรั่งเศสคนหนึ่งนาม ‘ลุยส์ กาเปต์’ (Louis Capet) แม้เขาจะไม่ได้ปฏิเสธความชอบธรรมในการไต่สวนโดยสภาฯ อย่างสิ้นเชิงเช่นดังในกรณีของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 แต่ประเด็นเรื่อง ‘ความล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์’ ก็ได้ถูกหยิบยกมาอภิปรายทั้งก่อนการไต่สวนและระหว่างการแถลงเปิดคดีของทนายฝ่ายอดีตกษัตริย์ลุยส์ที่ 16
เราควรทราบว่า ก่อนที่จะมี ‘การลุกฮือวันที่ 10 สิงหาคม’ ฝรั่งเศสอยู่ในระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ หลักการของรัฐธรรมนูญ ค.ศ.1791 กำหนดให้อำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ[15] โดยมีพระมหากษัตริย์และสภานิติบัญญัติเป็นตัวแทนในการใช้อำนาจอธิปไตยนั้น พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังมีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งเสนาบดีและการยับยั้งกฎหมาย (veto) แต่การกระทำทางการเมืองของพระมหากษัตริย์จะต้องมีการลงนามสนองพระบรมราชโองการโดยเสนาบดีหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ
บทบัญญัติเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้สะท้อนแนวคิด ‘ความล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์’ ตามที่ผู้เขียนได้เคยอภิปรายไว้ก่อนหน้านี้อย่างชัดเจน นั่นคือนอกจากจะระบุว่า ‘องค์พระมหากษัตริย์มีสถานะล่วงละเมิดมิได้และศักดิ์สิทธิ์’ (La personne du roi est inviolable et sacrée) แล้ว ในมาตราถัดมายังระบุไว้ด้วยว่า ‘ไม่มีอำนาจใดในฝรั่งเศสที่เหนือไปกว่ากฎหมาย พระมหากษัตริย์ทรงราชย์ในนามแห่งกฎหมายนั้น และมีเพียงแต่การกระทำในนามแห่งกฎหมายเท่านั้นที่พระองค์จะสามารถเรียกร้องความเชื่อฟังได้’ (Il n’y a point en France d’autorité supérieure à celle de la loi. Le roi ne règne que par elle, et ce n’est qu’au nom de la loi qu’il peut exiger l’obéissance)[16]
ด้วยเหตุนี้เอง ประเด็นคำถามแรกในรายงานของคณะกรรมาธิการที่มีหน้าที่ร่างคำฟ้องก็คือ อดีตกษัตริย์ลุยส์ที่ 16 จะถูกพิพากษาได้หรือไม่ ในเมื่ออาชญากรรมที่เขาก่อ เกิดขึ้นในระหว่างที่ยังเป็นพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ ค.ศ.1791 ซึ่งระบุว่าพระมหากษัตริย์มีสถานะอันล่วงละเมิดมิได้?
คณะกรรมาธิการได้ตอบประเด็นปัญหานี้ไว้ว่า อดีตกษัตริย์ลุยส์ที่ 16 ย่อมถูกตัดสินได้ เพราะเมื่อพระมหากษัตริย์ถูกถอดออกจากพระราชบัลลังก์แล้ว อำนาจทั้งหมดที่เคยมีอยู่ในพระมหากษัตริย์ย่อมกลับคืนสู่ชาติ และเมื่อชาติในฐานะองค์รัฏฐาธิปัตย์ได้เลือกสภากงว็องซิญงขึ้นมาเป็นองค์กรใช้เจตจำนงของชาติ สถานะ ‘ความล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์’ ย่อมปลาสนาการไปราวกับไม่เคยมีอยู่เลย
ทนายความของอดีตกษัตริย์ลุยส์ที่ 16 คือเรมงด์ เดอแซส (Raymond Desèze) ได้พยายามโต้แย้งว่าไม่มีเงื่อนไขใดจะสามารถเปลี่ยนแปลงหรือล้มล้าง ‘ความล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์’ ซึ่งเป็นรากฐานของการมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขไปได้ นอกจากนี้ในรัฐธรรมนูญเพียงแต่ระบุเงื่อนไขที่จะทำให้พระมหากษัตริย์ถูกถอดออกจากพระราชบัลลังก์เท่านั้น ไม่ได้มีมาตราใดระบุถึงการตั้งสภาขึ้นมาไต่สวนความผิดแต่อย่างใด ถึงกระนั้น หากอดีตกษัตริย์ลุยส์ที่ 16 ได้ถูกถอดออกจากพระราชบัลลังก์ตามเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญไปแล้วจริง ก็หมายความว่าเขาได้รับการลงโทษตามกฎหมายไปแล้ว ย่อมไม่สามารถได้รับการพิพากษาและการลงโทษซ้ำสองอีก[17]
เราอาจเห็นได้ว่าคำโต้แย้งของเดอแซสวางอยู่บนฐานของกฎหมายบางอย่าง แต่คำแถลงของเขาจะสมเหตุสมผลอย่างยิ่งถ้าหากก่อนหน้านั้นไม่มีการลุกฮือของประชาชนในวันที่ 10 สิงหาคม ไม่มีการถอดอดีตกษัตริย์ลุยส์ที่ 16 ออกจากพระราชบัลลังก์ ไม่มีการควบคุมตัวอดีตกษัตริย์ลุยส์ในฐานะนักโทษ และไม่มีการเลือกตั้งสภากงว็องซิญงเพื่อเป็นตัวแทนแห่งเจตจำนงของชาติ – นี่ไม่ใช่ห้วงเวลาแห่งการโต้เถียงหลักการทางกฎหมาย แต่นี่คือสถานการณ์ปฏิวัติ – คำโต้แย้งของเดอแซสปราศจากผล ในวันที่ 17 มกราคม ค.ศ.1792 ‘ลุยส์ กาเปต์’ ถูกตัดสินให้ประหารชีวิตในโทษฐานกบฏ
เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าในห้วงเวลาที่พระมหากษัตริย์ใช้พระราชอำนาจตามกฎหมาย สถานะอันล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์ย่อมมีอยู่เพื่ออำนวยความยุติธรรมและความสงบสุข แต่ในห้วงเวลาที่พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์กลายเป็นทุรยศ หลัก ‘ความล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์’ อาจมีสถานะเป็นเพียงกำบังของทรราชในการกดขี่หรือเข่นฆ่าประชาชนโดยไม่ต้องรับผิดชอบทางกฎหมาย ในห้วงเวลาเช่นนี้เองที่พลังทางสังคมอาจเพิกเฉยต่อหลักนามธรรมต่างๆ ที่ได้สูญเสียความหมายดั้งเดิมของมันไปหมดสิ้นแล้ว พลังทางสังคมอาจเพิกเฉยต่อกฎหมายที่เคยดำเนินการอยู่ในสภาวะปกติ การไต่สวนพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 หรืออดีตกษัตริย์ลุยส์ที่ 16 ไม่ใช่สิ่งที่ถูกบัญญัติอยู่ในกฎหมาย แต่เป็นการกระทำที่ปฏิวัติ (revolutionary act) โดยแท้ – ในสถานการณ์ปฏิวัติ พลังทางสังคมอาจไม่สวยงามหรือประณีตหมดจด เพราะเราย่อมทราบดีว่า การปฏิวัติ ‘ไม่ใช่การเย็บปักถักร้อย’
(3)
‘ความล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์’
และพระราชอำนาจในระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ
“….ทุกอย่างล้วนเชื่อมโยงกัน: พระมหากษัตริย์กระทำผิดไม่ได้, เพราะว่าพระองค์ไม่กระทำสิ่งใด;
พระมหากษัตริย์เป็นที่ล่วงละเมิดมิได้, เพราะพระมหากษัตริย์กระทำผิดไม่ได้;
เมื่อเจตจำนงของพระองค์เหลือเพียงการทรงราชย์ ย่อมไม่ยุติธรรมที่จะให้พระมหากษัตริย์ต้องรับผิดชอบ…”
– Charles Guillaume Hello, “Du Régime Constitutionnel”. ค.ศ. 1848[18]
แม้หลักการ ‘ความล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์’ จะเป็นมรดกตกทอดมาจากยุคสมัยที่พระมหากษัตริย์เคยมีพระราชอำนาจมากเป็นล้นพ้นและพระมหากษัตริย์ทรงมีการกระทำทางการเมืองด้วยพระองค์เอง แต่เมื่อพระราชอำนาจในความเป็นจริงของพระมหากษัตริย์ถูกเปลี่ยนถ่ายมาสู่รัฐสภาในระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญแล้ว สัจพจน์ ‘พระมหากษัตริย์กระทำผิดไม่ได้ เพราะไม่ทรงกระทำสิ่งใด’ ก็ได้กำเนิดชีวิตใหม่ภายใต้เงื่อนไขที่สอดคล้องกับหลักการเสรีนิยมประชาธิปไตยแบบรัฐสภา และมีความหมายที่ตรงตัว จับต้องได้มากยิ่งขึ้นกว่าในยุคกลาง
ปิยบุตร แสงกนกกุลได้สรุปไว้ว่า ‘ความล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์’ ในระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญต้องวางอยู่บนเงื่อนไข 4 ประการ คือ
(1) พระมหากษัตริย์ไม่กระทำตามลำพัง (the King does not act alone)
(2) อำนาจบริหารเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีการแยกพระมหากษัตริย์กับรัฐบาลออกจากกัน (The Crown is ‘one and indivisible’)
(3) ไม่มีบุคคลใดทราบได้ว่าพระมหากษัตริย์คิดอะไร[19]
(4) พระราชดำรัส พระราชหัตถเลขา การกระทำอื่นใดที่เกี่ยวพันกับประเด็นทางการเมืองต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี (The King acts by and with the advice and consent of his ministers)
เราย่อมเห็นได้ว่าหากพระมหากษัตริย์ทรงดำรงพระองค์ตามเงื่อนไข 4 ประการนี้แล้ว ย่อมเป็นการยากที่จะมีใครคิดฟ้องร้องหรือกล่าวหาพระมหากษัตริย์จากการกระทำในทางการเมืองที่พระองค์ทรงกระทำไปในทางพิธีการ ในทางกลับกัน การละเมิดเงื่อนไข 4 ประการดังกล่าวทั้งโดยสถาบันทางการเมืองอื่นหรือโดยองค์พระมหากษัตริย์เองก็อาจนำไปสู่วิกฤตทางการสังคมและเมือง เพราะการที่พระมหากษัตริย์ทรงกระทำทางการเมืองตามลำพังย่อมเป็นการเผยให้ประชาชนได้ทราบว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีความคิดทางการเมืองเป็นเช่นไร การสูญเสียความเป็นกลางทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ย่อมทำให้หลักการ ‘ความล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์’ รวมทั้งสถานะของสถาบันกษัตริย์เองต้องสั่นคลอนไปด้วย เพราะประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำนั้นย่อมต้องวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์เป็นธรรมดา และพระมหากษัตริย์อาจจะกลายเป็นหนึ่งในคู่ขัดแย้งนั้นเอง[20]
แน่นอนว่ารัฐอำนาจนิยมอาจเลือกใช้กำลังปราบปรามด้วยความรุนแรงเพื่อหักห้ามการวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ของประชาชน แต่นั่นก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงที่ว่าการวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้นของประชาชนเป็นผลสะท้อนมาจากการละเมิดเงื่อนไข 4 ประการของ ‘ความล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์’ ในระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น หากประชาชนสูญเสียความเชื่อมั่นในสถาบันกษัตริย์ไปแล้ว ย่อมเป็นการยากที่จะกู้คืนความเคารพศรัทธากลับคืนมา
หนทางเดียวที่สถาบันกษัตริย์ในระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญจะสามารถดำรงความเป็นกลางทางการเมืองและรักษาสถานะอันล่วงละเมิดมิได้เอาไว้ ก็คือการที่ (1) พระมหากษัตริย์ไม่ทรงกระทำทางการเมืองด้วยพระองค์เองตามลำพัง (2) ในขณะเดียวกัน องคาพยพต่างๆ ของรัฐรวมทั้งภาคเอกชนก็จะต้องไม่แอบอ้างหรือนำเอาพระกระแสรับสั่งส่วนพระองค์ หรือความคิดเห็นส่วนพระองค์มาเปิดเผยในที่สาธารณะ และ (3) ที่สำคัญที่สุด พวกเขาต้องขัดขืนหากพระมหากษัตริย์จะมีพระราชโองการให้พวกเขากระทำสิ่งที่ขัดต่อกฎหมายหรือหลักการของระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ หากพระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจโดยลำพังจนกระทบกระเทือนต่อหลักการของระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญเป็นวงกว้าง รัฐสภาอันเป็นอีกหนึ่งสถาบันที่ใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนร่วมกับพระมหากษัตริย์ย่อมมีหน้าที่หยิบยกเอาข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวมาพิจารณาเพื่อยับยั้งพระมหากษัตริย์ไม่ให้กระทำสิ่งที่ผิดธรรมเนียมการปกครองในระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญต่อไป ดังที่เซอร์วิลเลียม แบล็กสโตนได้ชี้ว่ารัฐสภามีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์และร้องเรียนต่อพระมหากษัตริย์แม้กระทั่งสิ่งที่พระองค์กระทำไปด้วยพระองค์เองโดยแท้ เช่น ข้อความที่มีการลงพระปรมาภิไธย หรือ พระราชดำรัส[21]
เราควรพึงระลึกเสมอว่า สถานะอันล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์ มิใช่ ‘สาเหตุ’ ที่ทำให้พระมหากษัตริย์พ้นไปจากการกล่าวหาและฟ้องร้อง แต่เป็น ‘ผล’ มาจากการที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงกระทำสิ่งใดเกินกว่าขอบเขตของกฎหมาย และในระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญก็คือการที่พระองค์ไม่ทรงกระทำทางการเมืองโดยลำพังนั่นเอง
(4)
ปัญหา ‘ความล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์’ ในระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญของไทย
“…ขอยกตัวอย่างประเพณีที่ดีและไม่ดี ตามประเพณีการปกครองประเทศ โอวาทของพระมหากษัตริย์หรือพระราชดำรัสต้องเขียนเพื่อให้รัฐมนตรีรับสนอง แต่เดี๋ยวนี้ก็กำลังพูดไม่ใช่อ่าน เพราะว่าได้ทำตามประเพณีอันหนึ่งของคนไทยไม่สู้ดี คือ ทำเกินประเพณีฝรั่ง
โอวาทนี้เพิ่งเตรียมเมื่อบ่าย 2 โมงนี้เท่านั้นเอง ควรจะเตรียมมานานแล้ว แต่เห็นว่าไม่จำเป็น อาจจะไม่รู้เรื่องเท่าไรนัก
นี่ตัวอย่างประเพณีที่ไม่ดีที่เราไม่ควรจะทำตาม…”
พระราชดำรัสของในหลวงภูมิพล, 21 เมษายน พ.ศ. 2503 ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
‘ความล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์’ ในบริบทของไทยกำเนิดขึ้นโดยมาตรา 6 แห่งปฐมรัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 ที่บัญญัติว่า ‘กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาชญายังโรงศาลไม่ได้ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย’ และในมาตรา 7 ที่บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ไม่สามารถกระทำทางการเมืองโดยลำพัง[22] อย่างไรก็ตาม แนวคิดที่พระมหากษัตริย์จะต้องปกครองตามกฎหมายอันเป็นรากฐานสำคัญของ ‘ความล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์’ ตามคติทางการเมืองของอังกฤษนั้น ถือเป็นสิ่งแปลกปลอมจากคติจารีตประเพณีก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย
หากจะมีสิ่งใดที่ใกล้เคียงกับหลัก ‘พระมหากษัตริย์กระทำผิดไม่ได้’ ในฐานะคติธรรมที่กำกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ของไทย ก็คงจะเป็นหลักจักรวรรดิวัตรและหลักทศพิธราชธรรมของพระพุทธศาสนา แต่จุดต่างที่สำคัญก็คือ ในขณะที่หลักการ ‘พระมหากษัตริย์กระทำผิดไม่ได้’ ให้ความสำคัญกับ ‘กฎหมาย’ คติทางพระพุทธศาสนากลับให้ความสำคัญกับ ‘ธรรม’[23]
ด้วยเหตุนี้ที่ผู้เขียนเห็นว่า การไม่มีแนวคิดการปกครองตามกฎหมาย หรือการจำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ด้วยกฎหมายในระบบความคิดแบบจารีตประเพณีของไทยนั้นเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาหลัก ‘นิติรัฐ’ (rule of law) มาจนถึงปัจจุบัน พระมหากษัตริย์ในอดีตหรือผู้ถืออำนาจรัฐในปัจจุบันอาจใช้อำนาจที่ตนมีอยู่โดยไม่สนใจหรือขัดต่อกฎหมาย เพียงเพราะเชื่อว่าสิ่งที่ตนกระทำนั้นเป็นความชอบธรรมดีงามแล้ว – หากเราพิจารณาปฐมบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ไทยนับตั้งแต่รัชกาลพระมงกุฎเกล้าฯ เป็นต้นมา ทุกพระองค์ต่างระบุว่าจะทรง ‘ปกครองแผ่นดินโดยธรรม’ ไม่มีรัชกาลใด แม้กระทั่งภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ได้ทรงให้สัตยาธิษฐานว่าจะ ‘ปกครองแผ่นดินตามกฎหมาย หรือ รัฐธรรมนูญ’
แม้ปฐมรัฐธรรมนูญของไทยจะได้รับอิทธิพลทางความคิดจากรัฐธรรมนูญระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ค.ศ.1791 ของฝรั่งเศสมาอย่างชัดเจน[24] แต่กลับไม่มีบทบัญญัติที่เน้นย้ำว่าพระมหากษัตริย์จะต้องทรงราชย์ตามกฎหมายและไม่มีบทบัญญัติที่กำหนดให้พระมหากษัตริย์ต้องปฏิญาณตนว่าจะพิทักษ์กฎหมายและรัฐธรรมนูญ
แม้ระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 จะมีการหารือระหว่างสมาชิกคณะราษฎร คือนายปรีดี พนมยงค์และพระยาพหลพลพยุหเสนา กับพระปกเกล้าฯ ว่าควรจะมีการระบุลงไปในรัฐธรรมนูญว่า ‘พระมหากษัตริย์มีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ’ หรือไม่ แต่พระปกเกล้าฯ กลับปฏิเสธว่าไม่จำเป็นต้องเขียน เพราะได้ทรงมี ‘สัตยาธิษฐานในพิธีราชาภิเษก’ ไว้แล้ว[25] หากพิจารณาให้ดี ย่อมเห็นว่าข้อโต้แย้งของพระปกเกล้าฯ นั้นฟังไม่ขึ้น เพราะในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น สิ่งที่พระองค์ทรงให้ ‘สัตยาธิษฐาน’ คือการปกครองแผ่นดินโดย ‘ธรรม’ มิได้เกี่ยวข้องกับ ‘การปกครองแผ่นดินตามกฎหมาย หรือ รัฐธรรมนูญ’ แต่อย่างใด
อาจกล่าวได้ว่าหลักการ ‘ความล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์’ ในบริบทของรัฐธรรมนูญไทย ถูกจับวางลงมาโดยขาดรากฐานทั้งในแง่คติทางจารีตประเพณีที่มีมาก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และในแง่ของการพัฒนาแนวคิดทางกฎหมายที่พระมหากษัตริย์จะต้องปกครอง/ทรงราชย์ตามกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ – การขาดรากฐานดังกล่าวนี้เองที่ทำให้ ‘ความล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์’ ในบริบทของไทยไม่เพียงสูญเสียความหมายที่แท้จริง แต่กลับกลายเป็นเพียงถ้อยคำว่างเปล่าที่ส่งเสริมให้สถานะ ‘อันเป็นที่เคารพสักการะ’ ขององค์พระมหากษัตริย์เด่นชัดยิ่งขึ้นไปอีก ผู้เขียนเห็นว่าจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก หากพวกนิยมเจ้าจะเข้าใจผิดไปว่า ‘ความล่วงละเมิดมิได้’ ตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนั้นมีความหมายว่าองค์พระมหากษัตริย์มีสถานะอันสูงส่ง อยู่เหนือจากกฎหมาย และอยู่เหนือจากคำวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน ไม่ต่างไปจาก ‘เทวดาที่มีลมหายใจ’
อย่างไรก็ตาม แม้ผู้เขียนจะได้พยายามชี้ให้เห็นว่าการนำหลัก ‘ความล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์’ มาใช้ในบริบทของไทยนั้นมีเค้าลางแห่งปัญหามาตั้งแต่ต้น แต่มาตรา 6 แห่งปฐมรัฐธรรมนูญก็มีความคิดริเริ่มที่น่าสนใจ นั่นคือการบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรที่จะวินิจฉัยคดีอาญาของพระมหากษัตริย์ แม้จะไม่สามารถฟ้องร้องในศาลปกติได้ก็ตาม
เราทราบดีว่าการไต่สวนคดีอาญาสำหรับประมุขรัฐที่เป็นประธานาธิบดีนั้นเป็นเรื่องที่พบได้ในรัฐธรรมนูญของหลายประเทศ แต่การไต่สวนคดีอาญาสำหรับพระมหากษัตริย์ที่ทรงราชย์อยู่นั้นไม่ใช่เรื่องปกติเลย เพราะเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในสถานการณ์ปฏิวัติเท่านั้น กล่าวคือ การบัญญัติรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้ได้ทำให้กระบวนการที่โดยปกติเกิดขึ้นจากการกระทำที่ปฏิวัติโดยแท้และไม่มีอยู่ในบทบัญญัติของกฎหมายกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของระบบกฎหมายปกติ
หากพิจารณาว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นผลผลิตของสถานการณ์ปฏิวัติที่คณะราษฎรมีความหวาดระแวงในพระปกเกล้าฯ ก็ย่อมเข้าใจได้ อย่างไรก็ตาม การมีอยู่ของรัฐธรรมนูญมาตรานี้ รวมทั้งการที่ไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าขอบเขตอำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรและบทลงโทษต่อพระมหากษัตริย์ที่กระทำผิดทางอาญานั้นเป็นเช่นไร ย่อมส่งผลให้เกิดความคลุมเครือและความหวาดระแวงแก่ฝ่ายนิยมเจ้าอยู่ไม่น้อย – แนวคิดเรื่องการไต่สวนคดีอาญาของพระมหากษัตริย์โดยสภาผู้แทนราษฎรนี้ได้สาบสูญไปนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 อันเป็นผลผลิตของความประนีประนอมระหว่างฝ่ายเจ้าและฝ่ายคณะราษฎร
การเปิดโอกาสให้สภาผู้แทนราษฎรวินิจฉัยความผิดทางอาญาของพระมหากษัตริย์นี่เองที่ทำให้ในสมัยรัชกาลพระปกเกล้าฯ เกิดเหตุการณ์นายถวัติ ฤทธิเดช ผู้นำกรรมกรรถรางประกาศจะฟ้องร้องต่อสภาผู้แทนราษฎรว่าพระปกเกล้าฯ หมิ่นประมาทตนใน ‘พระบรมราชวินิจฉัยเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม’ ที่มีข้อความตอนหนึ่งว่า “…การที่กรรมกรรถรางหยุดงานนั้น หาใช่เกิดการหยุดเพราะความเดือดร้อนจริงจังอันใดไม่ ที่เกิดเป็นดังนี้นั้นก็เพราะมีคนยุให้เกิดการหยุดงานขึ้น เพื่อจะได้เป็นโอกาสให้ตั้งสมาคมคนงาน และตนจะได้เป็นหัวหน้า และได้รับเงินเดือนกินสบายไปเท่านั้น…”
แม้เหตุการณ์นี้จะนำไปสู่การจบลงอย่างประนีประนอมด้วยการที่นายถวัติ ฤทธิเดชได้เข้าเฝ้าขอพระราชทานอภัยโทษจากพระปกเกล้าฯ แต่ในระหว่างที่เหตุการณ์ได้ดำเนินไปนั้นก็ได้มีการอภิปรายในรัฐสภาถึงหลัก ‘ความล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์’ เนื่องจากเป็นที่ถกเถียงกันว่านายถวัติสามารถฟ้องร้องพระปกเกล้าฯ ได้หรือไม่
ในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2476 รัฐบาลคณะราษฎรได้เสนอให้ตีความรัฐธรรมนูญมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 ความว่า ‘องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการ ผู้ใดจะละเมิดมิได้’[26] ซึ่งมีผลบังคับใช้อยู่ในขณะนั้น โดยฝ่ายรัฐบาลได้เตรียมร่างคำวินิจฉัยไว้มีเนื้อหาดังนี้
“…สภาผู้แทนมีอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ใช่ศาล ไม่มีอำนาจชำระคดีอาชญา หรือแพ่ง เกี่ยวแก่พระมหากษัตริย์
ในกรณีแพ่ง การฟ้องร้องในโรงศาล ให้ฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัง
ส่วนในกรณีอาชญา ซึ่งหากจะบังเอิญเกิดขึ้น ก็จะฟ้องพระมหากษัตริย์ไม่ได้ แต่สภามีอำนาจที่จะจัดการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การเป็นไปโดยยุตติธรรมได้…”[27]
เป็นที่น่าสนใจว่า ฝ่ายคณะราษฎรได้ตีความลดอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรลงเมื่อเทียบกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 ของปฐมรัฐธรรมนูญ นั่นคือจากที่สภาผู้แทนราษฎรสามารถวินิจฉัยคดีอาญาของพระมหากษัตริย์ก็กลายเป็นเพียง ‘มีอำนาจที่จะจัดการ’ ไม่เพียงเท่านั้น คำวินิจฉัยนี้ยังมีความคลุมเครืออีกด้วยว่าอะไรคือ ‘การจัดการตามวิถีรัฐธรรมนูญ’ และอะไรคือขอบเขตของ ‘เพื่อให้การเป็นไปโดยยุตติธรรม’ – ผู้เขียนเห็นว่าความพยายามประนีประนอมของรัฐบาลคณะราษฎรกับฝ่ายเจ้าอย่างเกินเลยได้ทำลายโอกาสที่สภาผู้แทนราษฎรจะสถาปนารากฐานของหลักการ ‘ความล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์’ ไว้ให้มั่นคง
ดังที่ผู้เขียนได้อภิปรายมาก่อนหน้านี้ว่า ‘ความล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์’ ในระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ วางอยู่บนเงื่อนไขสำคัญ 4 ประการ คือ (1) พระมหากษัตริย์ต้องไม่กระทำทางการเมืองโดยลำพัง (2) พระมหากษัตริย์และรัฐบาลเป็นหนึ่งเดียว แบ่งแยกมิได้ (3) ความคิดของพระมหากษัตริย์เป็นความลับ และ (4) การกระทำทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี – เราจะเห็นได้ว่า ในการที่พระปกเกล้าฯ ได้ทรงเผยแพร่ความคิดเห็นส่วนพระองค์ วิพากษ์วิจารณ์ปรีดี พนมยงค์ต่อสาธารณะอันเป็นต้นเหตุแห่งความไม่พอใจของถวัติ ฤทธิเดชนั้น พระองค์ได้ทรงละเมิดเงื่อนไขทั้ง 4 ประการลงจนหมดสิ้น
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว พระปกเกล้าฯ ควรจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่พระองค์ได้กระทำไปโดยลำพังหรือไม่? ผู้เขียนมีความเห็นว่า หากพระมหากษัตริย์ละเมิดเงื่อนไขอันเป็นรากฐานของ ‘ความล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์’ ในระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญแล้ว พระองค์ก็สมควรจะต้องรับผิดชอบ ไม่ว่าจะทางแพ่งหรือทางอาญา และในขั้นต่ำที่สุด สภาผู้แทนราษฎรในฐานะตัวแทนของประชาชนและผู้ใช้อำนาจอธิปไตยร่วมกับพระมหากษัตริย์ย่อมมีหน้าที่ตักเตือนและวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์
ถึงกระนั้น การละเมิดหลักการ ‘ความล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์’ ทั้งโดยพระมหากษัตริย์และโดยผู้ที่ใช้ประโยชน์จากสถานะของสถาบันกษัตริย์ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด และที่สำคัญ เราย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า สถานะของสถาบันกษัตริย์ในปัจจุบันที่มีความเป็นเอกเทศจากสถาบันทางการเมืองอื่นๆ ก็เป็นผลพวงมาจากกิจกรรมทางการเมือง (political activism) ตลอดรัชสมัยของในหลวงภูมิพลที่มิได้สอดคล้องกับเงื่อนไขของหลัก ‘ความล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์’ ในระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ เราได้เห็นว่าพระองค์ทรงกระทำทางการเมืองโดยลำพัง และเราได้เห็นว่าพระองค์ทรงแสดงความเห็นทางการเมืองและมีพระราชดำรัสสดโดยมิได้ผ่านคำปรึกษาและความยินยอมของคณะรัฐมนตรี[28] – ไม่เพียงเท่านั้น ‘ประเพณีการปกครอง’ ที่ไม่ถูกต้องเช่นนี้ก็ยังคงได้รับการปฏิบัติสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน[29]
อาจมีผู้กล่าวว่า ลักษณะที่พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจทั้งทางวัฒนธรรมและทางการเมืองมากเช่นนี้เป็นเอกลักษณ์ของ ‘ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข’ แบบไทย และที่เกิดขึ้นได้ก็เพราะการอุทิศพระวรกายของในหลวงภูมิพลทั้งเพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน และการที่ทรงเข้ามามีบทบาทแก้ไขความขัดแย้งภายในชาติยามวิกฤต[30] แต่ผู้เขียนเห็นว่า ต่อให้สิ่งที่ฝ่ายนิยมเจ้ากล่าวมาทั้งหมดเป็นความจริง ‘ระบอบการเมืองการปกครอง’ หรือแม้แต่ ‘จารีตประเพณี’ ที่ดีย่อมไม่ควรถูกสร้างขึ้นโดยอิงกับตัวบุคคลเพียงคนเดียว
เมื่อพิจารณาถึงประเพณีการปกครองในระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ เราควรคำนึงถึงการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่าง ‘พระมหากษัตริย์’ ในฐานะสถาบัน กับสถาบันทางการเมืองอื่นๆ โดยเป็นการมองไปในอนาคตข้างหน้า เพราะ ‘องค์พระมหากษัตริย์’ ย่อมเปลี่ยนแปลงได้ – กล่าวคือ เราไม่ควรฝากเสถียรภาพของประเทศชาติไว้กับพระบารมีของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ แต่ควรพิจารณาถึงการจัดวางสถานะและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในฐานะสถาบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการของระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ และหลีกเลี่ยงการที่พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์จะกระทบกระทั่งกับสถาบันทางการเมืองอื่นจนกลายเป็นวิกฤตทางสังคมและการเมือง ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอังกฤษและฝรั่งเศสในสมัยปฏิวัติ
(5)
ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์: เราจะจัดวาง
พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์อย่างไร?
ผู้เขียนเห็นว่าการจัดวางพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ให้สอดคล้องกับหลักการของระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญเป็นหัวใจของการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และมีเป้าหมายเพื่อไม่ให้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ต้องกระทบกระทั่งกับสถาบันทางการเมืองอื่น และกลายเป็นส่วนหนึ่งของฝักฝ่ายทางการเมืองซึ่งจะส่งผลต่อทั้งเสถียรภาพของสถาบันกษัตริย์และต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทย มีแต่จัดวางพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เช่นนี้เท่านั้นที่จะทำให้องค์พระมหากษัตริย์มีสถานะ ‘อันล่วงละเมิดมิได้’ อย่างแท้จริง
ดังที่ผู้เขียนได้อภิปรายมาตั้งแต่ต้นว่า ‘การปกครองตามหลักกฎหมาย’ ซึ่งเป็นรากฐานอันเก่าแก่ของหลักการ ‘ความล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์’ มาตั้งแต่ต้นกำเนิดในอังกฤษยุคกลาง เป็นสิ่งที่แปลกปลอมตามคติทางจารีตประเพณีของไทยที่ให้ความสำคัญกับ ‘การปกครองโดยธรรม’ การพัฒนาแนวคิดในระบบกฎหมายของไทยว่าสถานะ ‘อันล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์’ นั้น วางอยู่บนหลัก ‘การปกครองตามหลักกฎหมาย’ มิใช่ ‘การปกครองโดยธรรม’ จึงสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในบริบทของระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ที่พระมหากษัตริย์จะต้องทรงราชย์ตามหลักกฎหมายและรัฐธรรมนูญ
ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่า จะต้องมีการแก้ไขและเพิ่มเติมบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับหลักการดังต่อไปนี้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ใช้ผ่านตัวแทนคือ พระมหากษัตริย์ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล พระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขและสัญลักษณ์ของชาติมีพระราชอำนาจตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ(ยกเลิกข้อความว่า‘อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ’ แบบที่มีใช้ในปัจจุบัน)
พระมหากษัตริย์จะต้องปฏิญาณตนก่อนขึ้นครองราชย์ว่าจะทรงปฏิบัติตามกฎหมาย และพิทักษ์รัฐธรรมนูญ
พระมหากษัตริย์ไม่ต้องรับผิดและไม่อาจถูกฟ้องร้องหรือกล่าวหาใดทางใดๆหากเป็นสิ่งที่มิได้ทรงกระทำไปโดยลำพัง แต่ให้รัฐมนตรีผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบ หากเป็นสิ่งที่พระมหากษัตริย์ทรงกระทำไปโดยลำพังและเกิดข้อพิพาททางแพ่งหรืออาญา ให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจวินิจฉัยและหากการกระทำนั้นของพระมหากษัตริย์มีอันตรายถึงขั้นทำลายล้างรัฐธรรมนูญและหลักการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจถอดถอนพระมหากษัตริย์ออกจากพระราชบัลลังก์(ยกเลิกข้อความว่า ‘องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้’ แบบที่มีใช้ในปัจจุบัน) – และด้วยเหตุนี้ พระมหากษัตริย์จึงไม่สามารถพระราชทานพระราชดำรัสในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับคำปรึกษาและความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี อีกด้วย
กำหนดขอบเขตของพระราชอำนาจและพระราชกรณียกิจตามรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนเช่น ในกรณีใดบ้างที่พระมหากษัตริย์สามารถลงพระปรมาภิไธย[31] การกระทำนอกจากที่กำหนดในรัฐธรรมนูญย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามหลักความล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์ และจะต้องยกเลิกส่วนราชการในพระองค์และหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์โดยตรงทั้งหมด เช่น องคมนตรี – หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ต้องย้ายมาสังกัดหน่วยงานราชการอื่นที่ขึ้นตรงกับรัฐบาล
ข้อเสนอข้างต้นของผู้เขียนวางอยู่บนหลักการ ‘พระมหากษัตริย์กระทำผิดไม่ได้ เพราะไม่ทรงกระทำสิ่งใด’ นั่นคือ หากพระมหากษัตริย์ทรงเลือกที่จะกระทำสิ่งใดโดยลำพังแล้ว พระองค์ย่อมต้องรับผิดชอบผลของการกระทำนั้นในทางกฎหมาย ผู้เขียนเห็นว่าสภาผู้แทนราษฎรในฐานะผู้แทนของประชาชนและผู้ใช้อำนาจอธิปไตยร่วมกับพระมหากษัตริย์ย่อมมีหน้าที่ในการตักเตือน วิจารณ์ และควบคุมพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจในทางมิชอบและกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งต่อหน้าที่ทางรัฐธรรมนูญของสถาบันทางการเมืองอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนยังเห็นอีกว่า หากการใช้พระราชอำนาจนั้นเป็นอันตรายถึงขั้นทำลายล้างรัฐธรรมนูญและรากฐานการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย สภาผู้แทนราษฎรย่อมมีอำนาจถอดถอนพระมหากษัตริย์ออกจากพระราชบัลลังก์เพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤตทางการเมืองดำเนินไปถึงจุดที่ไม่สามารถเยียวยาได้ด้วยระบบกฎหมายปกติ
ทั้งนี้ เราพึงระลึกว่า การจัดวางพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ให้สอดคล้องกับหลักการของระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญย่อมไม่อาจสำเร็จด้วยเพียงการแก้ไขกฎหมาย แต่ยังต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและจิตสำนึกทางการเมืองของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอีกด้วย การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ย่อมสำเร็จลงไม่ได้ หากสถาบันกษัตริย์ไม่เสียสละยอมลดทอนพระราชอำนาจของตนเอง และใช้พระราชอำนาจที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญด้วยความระมัดระวัง และในขณะเดียวกัน การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ย่อมสำเร็จลงไม่ได้ หากประชาชนไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง ด้วยการอภิปรายและถกเถียงถึงสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
เชิงอรรถ
[1] “…For the king, since he is the minister and vicar of God on earth, can do nothing save what he can do de jure, [despite the statement that the will of the prince has the force of law, …nor is that anything rashly put forward of his own will, but what has been rightly decided with the counsel of his magnates, deliberation and consultation having been had thereon, the king giving it auctoritas.]…” – ดู de Bracton, H. (1968). On the Laws and Customs of England (Thorne’s Edition). Vol 2. หน้า 305.
[2] “…His power is that of jus, not injuria [and since it is he from whom jus proceeds, from the source whence jus takes its origin no instance of injuria ought to arise, and also, what one is bound by virtue of his office to forbid to others, he ought not to do himself.] as vicar and minister of God on earth, for that power only is from God, […] whose work he performs. Therefore as long as he does justice he is the vicar of the Eternal King, but the devil’s minister when he deviates into injustice…” – ดู de Bracton, H. (1968). On the Laws and Customs of England (Thorne’s Edition). Vol 2. หน้า 305.
[3] ข้อเขียนของแบรคตันสะท้อนความขัดแย้งกันเองของสถานะพระมหากษัตริย์อังกฤษในยุคกลาง ในด้านหนึ่งพระมหากษัตริย์มีความชอบธรรมตามหลักเทวสิทธิ์ (divine right) และไม่ขึ้นต่อผู้ใดนอกจากพระเจ้า แต่อีกด้านหนึ่ง พระมหากษัตริย์ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและปกครองตามกฎหมาย (ความขัดแย้งกันเองนี้เป็นตัวแทนของแนวคิดทางกฎหมายที่ได้รับมาหลังการพิชิตอังกฤษของชาวนอร์มัน (Norman conquest of England) ที่เชื่อในหลักเทวสิทธิ์และแนวคิดทางกฎหมายศักดินาดั้งเดิมของแองโกล-แซกซอน (Anglo-Saxon) ที่เชื่อในหลักการปกครองตามกฎหมาย – (ผู้เขียน)) – ดู de Bracton, H. (1968). On the Laws and Customs of England (Thorne’s Edition). Vol 2. หน้า 306.
[4] ดู Allen, J. G. (2018). “The Office of the Crown” 77(2) Cambridge Law Journal. pp 298-320. หน้า 312.
[5] อันที่จริงแล้ว พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในยุคกลางก็มิได้มีอยู่เป็นล้นพ้นโดยสมบูรณ์อย่างแท้จริง เพราะถูกถ่วงดุลโดยอภิชนและศาสนจักรอยู่เสมอ แต่การที่พระมหากษัตริย์จะถูกไต่สวนหรือคุมขังในฐานะนักโทษไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในสภาวะปกติ
[6] ‘ความล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์’ (Inviolability of the King) ไม่ใช่หลักการที่รองรับการมีอยู่ของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างที่มีคนในไทยจำนวนมากเข้าใจผิดแต่อย่างใด ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (Lèse-majesté) มีที่มาที่แตกต่างออกไปและย้อนไปได้ถึงแนวคิดในกฎหมายโรมันที่บังคับใช้กับบุคคลที่ก่อการขบถ – ข้อความ ‘ล่วงละเมิดมิได้’ ซึ่งเป็นศัพท์เฉพาะทางกฎหมายและเป็นคำแปลของคำว่า ‘inviolability’ อาจก่อให้เกิดความสับสนแม้กระทั่งในหมู่ผู้บังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีความเข้าใจในที่มาของหลักการนี้
[7] “…The maxim that the King can do no wrong is true in the sense that he is not liable to be sued civilly or criminally for a supposed wrong. That which the sovereign does personally, the law presumes will not be wrong: that which the sovereign does by command to his servants, cannot be a wrong in the sovereign, because, if the command is unlawful, it is in law no command, and the servant is responsible for the unlawful act, the same as if there had been no command…” – ดูคำพิพากษาคดีTobin v The Queen (1864) 16 C.B. (N.S.) 310
[8] ในช่วงศตวรรษที่ 17-19 สำหรับกรณีของอังกฤษและสหราชอาณาจักร พัฒนาการทางการเมืองดังกล่าวนี้เกิดขึ้นไปพร้อมๆ กับการที่รัฐสภามีอำนาจเหนืองบประมาณของราชอาณาจักรและทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์มากขึ้นเรื่อยๆ
[9] “…How was it possible to renounce the thesis of royal inviolability? It is certain that the constitution declared the king’s person inviolable and only held ministers responsible […]. But this constitutional procedure supposes that the constitution is not affected at its roots. […] But if the king by a long conspiracy has ruined the constitution itself; […] if the just anger incited by his crime has forced the exasperated and defiant people to a new revolution, how is it possible to apply to a king a constitution of which, because of him, almost nothing remains?…” – ดู Jaurés, J. Abidor, M. และ Heller, H. (2015). A Socialist History of the French Revolution. หน้า 131-132.
[10] ศาลชานเซอรี (Court of Chancery) เป็นวิวัฒนาการอย่างหนึ่งของระบบยุติธรรมในอังกฤษ แต่เดิมพระมหากษัตริย์จะแต่งตั้งผู้พิพากษาไปตัดสินข้อพิพาททั่วราชอาณาจักร หรือตัดสินคดีความต่างๆ ด้วยตนเอง แต่เมื่อสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น พระมหากษัตริย์ได้ตั้งศาลสำหรับที่ประชาชนสามารถถวายฎีการ้องทุกข์ โดยองค์คณะที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ที่เรียกชาน chancellors มีหน้าที่ตัดสินคดีความ
[11] “…Indeed, it is found by experience, that whenever the unconstitutional oppressions, even of the sovereign power, advance with gigantic strides and threaten desolation to a state, mankind will not be reasoned out of the feelings of humanity; nor will sacrifice their liberty by a scrupulous adherence to those political maxims, which were originally established to preserve it. […] And therefore, though the positive laws are silent, experience will furnish us with a very remarkable case, wherein nature and reason prevailed. […] In these therefore, or other circumstances, which a fertile imagination may furnish, since both law and history are silent, it becomes us to be silent too; leaving to future generations, whenever necessity and the safety of the whole shall require it, the exertion of those inherent (though latent) powers of society, which no climate, no time, no constitution, no contract, can ever destroy or diminish…” – ดู Blackstone, W and Lemmings, D. (2016). Commentaries on the Laws of England. Oxford University Press. เล่ม 1. หน้า 158-159.
[12] มีการปลดพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ลงจากพระราชบัลลังก์แล้วทูลเชิญเจ้าหญิงแมรีและพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 แห่งออเรนจ์ (William III of Orange) ให้ขึ้นครองราชย์แทน
[13] สำหรับภูมิหลังความขัดแย้งระหว่างพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 และฝ่ายรัฐสภา รวมทั้งการตีความแนวคิด ‘ทวิกายาของพระมหากษัตริย์’ ของฝ่ายรัฐสภา ที่มองว่าพวกเขากำลังต่อสู้กับ ‘องค์พระมหากษัตริย์’ เพื่อปกป้อง ‘พระมหากษัตริย์’ – ดู อติเทพ ไชยสิทธิ์. ปัญหาการจัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์: ว่าด้วย ‘ทวิกายาของพระมหากษัตริย์’. The 101 World. เข้าถึง https://www.the101.world/the-kings-two-bodies-and-crown-property/
[14] “…Sir, as the law is your superior, so truly, there is something that is superiour to the law, which is the Parent or Author of the law, and that is the people of England: For as they are those who at first (as other countries have done) did chose unto themselves this form of Government, that justice might be administred and the peace preserved: so they gave laws unto their Governours, according to which they were to govern; and if those laws should have proved inconvenient or prejudiciall to the publick, they had a power in them reserved to themselves to alter, as they should finde cause […] By this we learn that the end of having Kings or Governours, is for their enjoying of justice, that is the end. Now sir, If the King will go contrary to that end, or if any governour will go contrary to the end of his government, he must understand, that he is but an Officer in trust, and that he ought to discharge that trust, and order is to be taken for the animadversion and punishment of such an offending Governour…” – ดู Shears, W. (1654). The full proceedings of the High Court of Justice against King Charles in Westminster Hall. Ann Arbor: Text Creation Partnership, 2011. – เข้าถึงทางhttps://quod.lib.umich.edu/e/eebo/A40615.0001.001? หน้า 65-68.
[15] ‘ชาติ’ ในความหมายของเอ็มมานูเอล ซิเยแยส (Emmanuel Sieyès) ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็คือ ‘กายาที่ประกอบจากบุคคลที่มีชีวิตอยู่ภายใต้กฎหมายและมีตัวแทนแห่งอำนาจนิติบัญญัติร่วมกัน’ – « un corps d’associés vivant sous une loi commune et représentés par une même législature »
[16] อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายมาตราในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ระบุว่าพระมหากษัตริย์อาจถูกถอดออกจากพระราชบัลลังก์ได้ หากพระองค์ไม่ยอมสาบานตนว่าจะจงรักภักดีต่อชาติและกฎหมายและจะพิทักษ์รัฐธรรมนูญ หรือหากพระองค์สมคบคิดกับกองทัพต่างชาติหรือไม่ยอมขัดขวางการกระทำในนามของพระองค์ที่มีเป้าหมายเป็นปฏิปักษ์ต่อชาติ หรือหากพระองค์ทรงเดินทางออกจากประเทศและไม่ยอมกลับตามคำทูลเชิญของสภานิติบัญญัติ – บทบัญญัติเหล่านี้สะท้อนสถานการณ์ความอ่อนไหวของประชาชนในขณะนั้นที่หวาดระแวงว่ากษัตริย์ลุยส์ที่16 อาจสมคบคิดกับกองทัพของกษัตริย์ต่างชาติเพื่อทำลายล้างการปฏิวัติฝรั่งเศส
ความหวาดระแวงขยายตัวรุนแรงขึ้นเมื่อกองทัพพันธมิตรของกษัตริย์ปรัสเซียและออสเตรียยกทัพรุกรานฝรั่งเศส ด้วยความโกรธแค้นว่านี่คือสัญญาณแห่งการสมคบคิดระหว่างกองทัพต่างชาติและกษัตริย์ลุยส์ที่ 16 ประชาชนที่ติดอาวุธในปารีสจึงก่อการลุกฮือโดยบุกเข้าไปในพระราชวังตุยเลอรีส์ (Palais des Tuileries) ในวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ. 1792 หลังการต่อสู้อย่างนองเลือดที่มีผู้เสียชีวิตหลักพัน กษัตริย์ลุยส์ที่ 16 ประกาศยอมแพ้และให้ทหารวางอาวุธ ส่วนเขาและครอบครัวหนีไปขอเข้ารับความคุ้มครองจากสภานิติบัญญัติ – สภานิติบัญญัติมีมติถอดกษัตริย์ลุยส์ที่ 16 ออกจากพระราชบัลลังก์และควบคุมตัวไว้ในฐานะนักโทษ จากนั้นได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วประเทศเพื่อสถาปนาสภาที่จะสะท้อนเจตจำนงของชาติในนามสภากงว็องซิญง (Convention) โดยมีเป้าหมายเพื่อสถาปนาและร่างรัฐธรรมนูญของระบอบสาธารณรัฐ รวมทั้งไต่สวนความผิดของอดีตกษัตริย์ลุยส์ที่ 16
[17] Hayworth, R. (1966). Inviolability Controversy in the Trial of Louis XVI. Journal of the Arkansan Academy of Science. Vol. 20.
[18] «Tout s’enchaîne: le Roi ne peut mal faire, puisqu’il n’agit pas; le Roi est inviolable, puisqu’il ne peut mal faire; sa volonté ne régnant plus uniquement; il serait injuste qu’il fût responsable. » – ดู Hello, C.-G. (1848). Du régime constitutionnel dans ses rapports avec l’état actuel de la science sociale et politique. Vol 2. Libraire August Durand: Paris. หน้า 204.
[19] วอลเตอร์ แบทเชิต (Walter Bagehot) ได้กล่าวถึงการรักษาความลับของสิ่งที่พระมหากษัตริย์คิดเอาไว้ในหนังสือ ‘The English Constitution’ ว่า “…A secret prerogative is an anomaly—perhaps the greatest of anomalies. That secrecy is, however, essential to the utility of English royalty as it now is. Above all things our royalty is to be reverenced, and if you begin to poke about it you cannot reverence it. When there is a select committee on the Queen, the charm of royalty will be gone. Its mystery is its life. We must not let in daylight upon magic. We must not bring the Queen into the combat of politics, or she will cease to be reverenced by all combatants; she will become one combatant among many…” – ดู Bagehot, W. (1894). The English Constitution. 7th Edition. Kegan Paul, Trench, Trubner & Co., Ltd.: London. หน้า 57.
[20] “…We must not bring the Queen into the combat of politics, or she will cease to be reverenced by all combatants; she will become one combatant among many…” – ดู Bagehot, W. (1894). The English Constitution. 7th Edition. Kegan Paul, Trench, Trubner & Co., Ltd.: London. หน้า 57.
[21] “…YET still, notwithstanding this personal perfection, which the law attributes to the sovereign, the constitution has allowed a latitude of supposing the contrary, in respect to both houses of parliament; each of which, in its turn, hath exerted the right of remonstrating and complaining to the king even of those acts of royalty, which are most properly and personally his own; such as messages signed by himself, and speeches delivered from the throne…” – ดู Blackstone, W. and Lemmings, D. (2016). Commentaries on the Laws of England. Oxford University Press. เล่ม 1. หน้า 160.
[22] มาตรา 7 ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ‘การกระทำใด ๆ ของกษัตริย์ ต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดลงนามด้วยโดยได้รับความยินยอมของคณะกรรมการราษฎร จึ่งจะใช้ได้ มิฉะนั้น เป็นโมฆะ’
[23] ความยุติธรรมในทางกฎหมายย่อมแตกต่างจากความเป็นธรรมในพระพุทธศาสนา การกระทำบางอย่างอาจถูกต้องตามหลักศีลธรรม แต่ไม่ได้นำไปสู่ความยุติธรรมทางกฎหมาย – นอกจากนี้เมื่อมีการนำคติธรรมทางศาสนามากำกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ บทบาทของสถาบันศาสนาที่เข้มแข็งและสามารถท้าทายพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ได้ย่อมเป็นสิ่งสำคัญ อย่างไรก็ตาม ในประวัติศาสตร์แต่โบราณมา สถาบันสงฆ์ของไทยล้วนอยู่ภายใต้อำนาจทางโลกของพระมหากษัตริย์
[24] เห็นได้อย่างชัดเจนจากการบัญญัติว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎรทั้งหลาย แต่ใช้ผ่านตัวแทนคือพระมหากษัตริย์ รัฐสภา คณะกรรมการราษฎร และศาล ในขณะที่ในรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1791 ของฝรั่งเศสบัญญัติว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ ใช้ผ่านตัวแทนคือพระมหากษัตริย์และสภานิติบัญญัติ – สำหรับข้อบ่งชี้อื่นถึงอิทธิพลของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสฉบับนี้ต่อแนวคิดการร่างรัฐธรรมนูญของปรีดี พนมยงค์ อ่าน วิเชียร เพ่งพิศ. (2559). แนวความคิดทางกฎหมายรัฐธรรมนูญของปรีดี พนมยงค์. หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2559.
[25] ปรีดี พนมยงค์. (2517). ประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญเบื้องต้นกับการร่างรัฐธรรมนูญ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์นีติเวชช์. หน้า 25-28
[26] พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ผู้เป็นเนติบัณฑิตอังกฤษและประธานกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้อธิบายความหมายของมาตรานี้เอาไว้ว่า “…คำว่าผู้ใดจะละเมิดมิได้นี้ เราหมายว่า ใครจะไปละเมิดฟ้องร้องว่ากล่าวไม่ได้ ถ้าอาจจะมีใครสงสัยว่าถ้าฟ้องร้องท่านไม่ได้แล้วจะทำอย่างไรเมื่อมีใครได้รับความเสียหาย ประการหนึ่งเราต้องนึกว่าที่ว่าเป็นประมุขนั้น ตามแบบเรียกว่า รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ศาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พิจารณาตัดสินความในนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดถึงหลักกฎหมายในบางประเทศแล้ว ฟ้องร้องท่านไม่ได้ทั้งทางอาชญาและประทุษฐ์ร้ายส่วนแพ่ง แต่มีว่าถ้าท่านต้องทรงรับผิดชอบในเรื่องเงินแล้ว ก็ฟ้องร้องได้ทางพระคลังข้างที่ และที่เขียนมานี้ไม่กระทบกระเทือนสิทธิและความเสียหายของราษฎรใดๆ เลย…” – อ้างใน รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 35/2475 วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2475. – หากพิจารณาคำอธิบายของพระยามโนฯ ซึ่งเป็นเนติบัณฑิตอังกฤษและย่อมรู้คำอธิบายทางกฎหมายของหลัก ‘ความล่วงละเมิดมิได้ฯ’ เป็นอย่างดี จะเห็นได้ว่าพระยามโนฯ อธิบายถึงฐานะที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถเป็นจำเลยในศาลที่กำเนิดจากพระราชอำนาจของพระองค์เอง แต่ไม่ได้กล่าวถึงในความหมายที่พระมหากษัตริย์จะต้องปกครองตามหลักกฎหมายแต่อย่างใด อันเป็นการอธิบายในลักษณะส่งเสริมพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ให้มากยิ่งขึ้น
[27] อ้างใน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. (2548). กรณีถวัติ ฤทธิเดชฟ้องพระปกเกล้า. ศิลปวัฒนธรรม (พฤษภาคม 2548). หน้า 100-120.
[28] อ่าน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. (2544). ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง. สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก: กรุงเทพฯ. – การกระทำทางการเมืองโดยลำพัง ยังรวมถึงการพระราชทานพระราชดำรัสสดในวันที่ 4 ธันวาคม เป็นเวลาหลายปี
[29] ดูตัวอย่าง บีบีซี ไทย. ในหลวง ร. 10 ตรัสทักทาย “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” ต่อชายที่ชูพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง ร.9 ไว้เหนือหัว. 24 ตุลาคม พ.ศ. 2563. หรือ มติชนออนไลน์. “ในหลวง” ตรัสกับ “นพ.วรงค์” “ต้องช่วยกันเอาความจริงออกมา”. 1 พศจิกายน พ.ศ. 2563.
[30] บวรศักดิ์ อุวรรณโณสร้างคำอธิบายพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ที่อิงกับในหลวงภูมิพล คำอธิบายเหล่านี้หลายครั้งเป็นการเลือกหยิบเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่นำมาส่งเสริมพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ให้มากยิ่งขึ้น โดยไม่ได้ให้คำตอบว่าอะไรคือทางออกหากพระมหากษัตริย์ใช้พระราชอำนาจในทางที่ผิด หรือขัดแย้งกับสถาบันทางการเมืองอื่นๆ ผู้เขียนเห็นว่าการเสริมสร้างพระราชอำนาจให้พระมหากษัตริย์โดยไม่มองถึงผลเสียหากพระราชอำนาจที่ล้นเกิน เป็นความแตกต่างสำคัญระหว่างนักคิดกฎหมายจารีตประเพณีของอังกฤษและนักวิชาการรอยัลลิสต์ของไทย – ดู BBC. 2020. สถาบันกษัตริย์: มองราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญอังกฤษ ย้อนดูการเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไทยในขณะนี้. และบวรศักดิ์ อุวรรณโณ. (2552). พลวัตของการเมืองไทย. จุลนิติ (พ.ค. – มิ.ย. 52).
[31] ดูตัวอย่างจากมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งประเทศญี่ปุ่น