วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 01, 2566

112 ทั้งตัวบทและการตีความของศาล มันคือกฎหมายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์


Atukkit Sawangsuk
17h
·
112 ทั้งตัวบทและการตีความของศาล
มันคือกฎหมายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

The101.world
20h
.
จากการได้เป็นพยานฝ่ายจำเลยในคดี ‘พ่อกูชื่อมานะ’ สมชาย ปรีชาศิลปกุลจึงนำความเห็นที่นำเสนอต่อศาลในส่วนเรื่องมาตรา 112 มาชวนพิจารณาถึงประเด็นสำคัญของการตีความกฎหมายนี้ ทั้งเรื่องฐานะอันล่วงละเมิดมิได้และเรื่องขอบเขตของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
.
อ่านได้ที่: https://www.the101.world/lese-majeste-law-interpretation/
.
"การตีความกฎหมายมหาชนต้องไม่ให้คุณค่าใดมีลักษณะสัมบูรณ์เหนือกว่าคุณค่าอื่นๆ แบบสิ้นเชิง เพราะจะเป็นการทำลายสิทธิเสรีภาพด้านอื่นๆ ลง"
.
"ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดและโทษทางอาญา แต่มิใช่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ เพราะไม่ใช่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงโดยแท้ดังที่ใช้ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์"
.
"กระบวนการลงโทษทางอาญาควรถูกใช้เป็นมาตรการสุดท้ายในการควบคุมสังคม เพราะการลงโทษทางอาญานั้นมีต้นทุนทางสังคมสูงและส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมสำหรับกรณีนี้"
.
ภาพประกอบ: พิรุฬพร นามมูลน้อย
.....
(ยกมาบางส่วน https://www.the101.world/lese-majeste-law-interpretation/)

3. ประมวลกฎหมายอาญา ม. 112

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดและโทษทางอาญา แต่มิใช่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ เพราะไม่ใช่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงโดยแท้ดังที่ใช้ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หากเป็นเพียงกฎหมายที่ใช้คุ้มครองเกียรติยศส่วนบุคคลของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เท่านั้น ซึ่งเกียรติยศส่วนบุคคลนั้นย่อมมิใช่ความมั่นคงของรัฐ

ในส่วนของบทบัญญัติ เมื่อจะพิจารณาถึงการกระทำที่เป็นความผิดตามกฎหมายอาญาต้องพิจารณาองค์ประกอบความผิดตามนิติวิธีในกฎหมายอาญาอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ องค์ประกอบความผิดของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ประกอบไปด้วย การกระทำ 3 ลักษณะ ได้แก่ 1) การดูหมิ่น 2) การหมิ่นประมาท และ 3) การแสดงความอาฆาตมาดร้าย ต่อบุคคล 4 สถานะ ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นอกจากนี้ ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดต้องมีเจตนาในการกระทำความผิด ได้แก่ เจตนาประสงค์ต่อผลและเจตนาย่อมเล็งเห็นผล ในกรณีตามฟ้องมีส่วนที่เกี่ยวข้องดังนี้

– การดูหมิ่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 หมายถึง การดูถูกเหยียดหยาม ทำให้อับอาย สบประมาท หรือด่า ซึ่งหมายถึงการลดคุณค่าของบุคคลอื่น แต่ไม่รวมไปถึงการเสียดสี แดกดัน หรือการล้อเลียน[6]

– การหมิ่นประมาท อาศัยนัยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 หมายถึงการใส่ความบุคคลหนึ่งต่อบุคคลที่สามในประการที่ทำให้เขาเสียหาย หรือถูกเกลียดชัง แต่ไม่รวมถึงการสื่อสารที่ไม่ได้ศัพท์ จับใจความไม่ได้ และต้องเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงที่ทำให้บุคคลอื่นเสียหายต่อชื่อเสียง[7] ซึ่งอาจอธิบายรายละเอียดได้ดังนี้ 1) ต้องมีการ ‘ใส่ความ’ หมายถึง การกล่าวร้ายหรือการแสดงพฤติการณ์อันเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงประการใดประการหนึ่งของผู้ถูกหมิ่นประมาท ทั้งนี้ ด้วยวาจา ตัวอักษร ท่าทาง หรือวิธีอื่นใดต่อบุคคลที่สาม 2) ข้อเท็จจริงที่นำมาใส่ความนั้น เมื่อพิจารณาอย่างวิญญูชนหรือผู้ที่มีเหตุมีผลแล้ว น่าจะกระทบต่อเกียรติยศชื่อเสียงของผู้ถูกใส่ความ หรือน่าจะทำให้บุคคลนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง 3) การใส่ความนั้นต้องสามารถ ‘ระบุเจาะจง’ ตัวผู้ถูกใส่ความได้ว่าหมายถึงบุคคลใดและต้องมิใช่พียงการ ‘แสดงความคิดเห็น’ ลอยๆ หรือใช้ถ้อยคำที่ไม่อาจเป็นจริงหรือพิสูจน์ให้เห็นจริงได้ ดังนั้น การกล่าวถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งแต่เพียงว่าเป็นคนเลว เป็นคนชั่ว แต่ไม่อธิบายว่าเป็นเช่นนั้นเพราะเหตุใด หรือมีพฤติกรรมเช่นไรประกอบ จึงไม่อาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

– การแสดงความอาฆาตมาดร้าย หมายถึง การแสดงว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายในอนาคต ซึ่งในที่นี้มิได้มีข้อเท็จจริงเกี่ยวข้องกับการแสดงความอาฆาตมาดร้ายโดยตรง

องค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 112 ต้องเป็นการกระทำที่มีลักษณะเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย และต้องกระทำต่อพระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ในส่วนของการตีความ เนื่องจากเป็นบทบัญญัติที่มีบทลงโทษทางอาญา ซึ่งเป็นการลงโทษบุคคล การตีความจึงต้องกระทำโดยเคร่งครัด การตีความไม่อาจขยายความหมายให้กว้างขวางหากถ้อยคำไม่มีความชัดเจน เช่น การกระทำที่เป็นการ ‘ดูหมิ่น’ ก็ต้องมีความชัดเจนว่าเป็นการดูหมิ่น หรือคำว่า ‘พระมหากษัตริย์’ ก็ต้องหมายความถึงเฉพาะองค์พระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ในปัจจุบันเท่านั้น โดยไม่อาจตีความให้ขยายไปจากถ้อยคำตามความเห็นของผู้ตัดสิน เนื่องจากกฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่ต้องการลงโทษแก่บุคคล ซึ่งในระบบกฎหมายสมัยใหม่แล้วจำเป็นต้องวางอยู่บนหลักกฎหมายที่มีความชัดเจนแน่นอน

4. กรณีพฤติการณ์ที่เป็นข้อกล่าวหาในคดีนี้

เมื่อพิจารณาจากข้อมูลและหลักฐานที่ปรากฏขึ้นในคดีนี้ ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าข้อกล่าวหาของทางฝ่ายโจทย์ที่มีต่อจำเลยในคดี ‘พ่อกูชื่อมานะ’ ยังไม่ชัดเจนว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 112 ดังนี้

หนึ่ง ยังไม่อาจบ่งชี้ชัดได้ว่าการแต่งกายของจำเลยนั้นแสดงความหมายถึงรัชกาลที่ 10 เป็นการเฉพาะเจาะจง เนื่องจากการแต่งกายในลักษณะดังกล่าวมาจากนักดนตรีที่มีชื่อเสียงเป็นผู้ทำให้แพร่หลาย (หมายถึง Justin Drew Bieber) และเมื่อบุคคลทั่วไปเห็นก็สามารถหวนระลึกถึงนักดนตรีคนดังกล่าวได้เช่นกัน กรณีที่มีการกระทำร่วมอื่นๆ เช่น การเปล่งเสียงของผู้เข้าร่วมว่าทรงพระเจริญ หรือการเปิดเพลงประกอบที่ชี้ชวนให้เห็นว่ามีความมุ่งหมายให้เข้าใจว่าหมายถึงรัชกาลที่ 10 ก็เป็นความจำเป็นที่ต้องมีการพิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเป็นการกระทำร่วมกันของบุคคลทั้งหมด แต่ในการฟ้องคดีมีจำเลยเพียงคนเดียวจึงเป็นการนำเอาการกระทำของบุคคลอื่นปรักปรำการกระทำของจำเลยโดยไม่ได้มีการชี้ให้เห็นลักษณะหรือความเชื่อมโยงอย่างชัดเจน

สอง การกระทำดังกล่าวยังมีความหมายที่ไม่ชัดเจนว่าจะเป็นการกระทำที่เข้าลักษณะการดูหมิ่น แต่อาจเป็นเพียงการล้อเลียนเสียดสี ซึ่งไม่ใช่การเหยียดหยาม หรือการใส่ความ ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าอาจมีประชาชนจำนวนหนึ่งจะไม่สบายใจต่อการกระทำหรือข้อความดังกล่าว แต่ถ้อยคำดังกล่าวยังไม่ถึงระดับของการดูหมิ่นที่ใช้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แม้การกระทำของจำเลยอาจเป็นความไม่เหมาะในการกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำทั่วไป แต่การกระทำในลักษณะดังกล่าวก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดต่อกฎหมาย จึงย่อมถือเป็นเสรีภาพในการแสดงความเห็นที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ

สาม กระบวนการลงโทษทางอาญาควรถูกใช้เป็นมาตรการสุดท้ายในการควบคุมสังคม เพราะการลงโทษทางอาญานั้นมีต้นทุนทางสังคมสูงและส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมสำหรับกรณีนี้ เมื่อข้อความที่ถูกกล่าวหามีความหมายไม่ชัดเจนว่าเป็นการดูถูกเหยียดหยามตามนัยของวิญญูชนที่เป็นกลางทางการเมืองแล้ว การลงโทษทางอาญาจะเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมอย่างรุนแรงว่าเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองมากกว่าการทำหน้าที่รักษาความยุติธรรมตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด