สถาบันปรีดี พนมยงค์ Pridi Banomyong Institute
20h
·
#วันนี้ในอดีต
9 มิถุนายน 2489
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ( รัชกาลที่ 8 ) สวรรคต
.
“ครั้นวันที่ 9 มิถุนายน ศกนี้ เมื่อตื่นบรรทมตอนเช้าเวลา 6 นาฬิกา ได้เสวยน้ำโอสถน้ำมันละหุ่งแล้วเข้าห้องสรงซึ่งเป็นพระราชกิจประจำวัน แล้วก็เสด็จเข้าพระที่ ครั้นเวลาประมาณ 9 นาฬิกา มหาดเล็กห้องพระบรรทมได้ยินเสียงปืนดังขึ้นในพระที่นั่ง จึงรีบวิ่งเข้าไปดูเห็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรรทมอยู่บนพระที่ มีพระโลหิตไหลเปื้อนพระองค์ และสวรรคตเสียแล้ว” [บางส่วนจากคำกล่าวของ นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี ในการประชุมสภาฯ วันที่ 9 มิถุนายน 2489]
.
ภายหลังจากการแถลงเรื่องอันน่าเศร้าสลดใจถึงการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 แล้ว ก่อนการปิดประชุมสภาฯ ในวันดังกล่าว 'นายปรีดี พนมยงค์' ยังได้กล่าวต่อไปอีกว่า “ข้าพเจ้าได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีโดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และบัดนี้ท่านได้สวรรคตแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้ยื่นใบลาออกต่อคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว”
.
การสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 ได้สร้างความเคลือบแคลงใจในหมู่ราษฎรไทย ความคลุมเครือนี้ได้กลายมาเป็นการต่อสู้ทางการเมืองที่นอกวิถีประชาธิปไตย โดยมีการเอากรณีสวรรคตขององค์เยาวกษัตริย์มาเป็นเครื่องมือทางการเมืองทำลายฝ่ายประชาธิปไตยในขณะนั้น
.
การบ่อนทำลายฝ่ายประชาธิปไตยนี้ ได้ถูกกลุ่มอำนาจเดิมปล่อยข่าวลือไปในวงต่างๆ เพื่อให้ราษฎรทั้งหลายเชื่อว่าในหลวงอานันท์ถูกลอบปลงพระชนม์ จนมีการกระพือข่าวจ้างคนไปตะโกนในโรงหนังศาลาเฉลิมกรุงในขณะไฟดับว่า “ปรีดีฆ่าในหลวง”
.
หลังจากเหตุการณ์สวรรคตเพียงไม่นานนัก ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ได้เกิดการรัฐประหาร นำโดย 'ผิน ชุณหะวัณ' โค่นล้มรัฐบาลพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ การรัฐประหารครั้งนั้นได้มีการหมายเอาชีวิตของนายปรีดี ซึ่งยังผลให้นายปรีดีจำต้องลี้ภัยออกจากประเทศไทย
.
ในช่วงระหว่างการลี้ภัยในต่างประเทศ นายปรีดีก็ยังคงถูกใส่ร้ายว่าเป็นผู้วางแผนการปลงพระชนม์ในหลวงรัชกาลที่ 8 จนในท้ายที่สุด นายปรีดีได้มีการฟ้องร้องผู้ใส่ร้ายทุกรายต่อศาลยุติธรรมไทยกระทั่งชนะคดีทั้งหมด (พ.ศ. 2513 - 2526)
.
แม้นายปรีดีจะถือเป็นผู้บริสุทธิ์จากข้อกล่าวหาเรื่องกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 แต่ถึงอย่างไรก็ตามยังมี 'นายชิต สิงหเสนี', 'นายบุศย์ ปัทมศริน' และ 'นายเฉลียว ปทุมรส' ผู้บริสุทธิ์ทั้ง 3 คน ที่ต้องกลายเป็นจำเลยถูกตัดสินประหารชีวิตเนื่องด้วยกรณีสวรรคต ซึ่งท้ายที่สุดแล้วความจริงก็ยังไม่ได้ปรากฏกระจ่างชัด กระทั่งในทุกวันนี้แต่อย่างใด