วันศุกร์, มิถุนายน 16, 2566

"หยก" เด็กหญิงวัย 15 ปี ผู้ตั้งคำถามถึง "อนาคตทางการศึกษา" ในวันที่ตามหามารดาไม่พบ


หยก ยืนกรานจะต่อสู้กับ "อำนาจนิยมในรั้วโรงเรียน"

"หยก" เด็กหญิงวัย 15 ปี ผู้ตั้งคำถามถึง "อนาคตทางการศึกษา" ในวันที่ตามหามารดาไม่พบ

ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
15 มิถุนายน 2023

เด็กหญิงวัย 15 ปี ยืนอยู่หน้าประตูรั้วเหล็กที่ปิดแน่นไม่ให้เธอผ่านเข้าไป แม้ระฆังเข้าเรียน จะดังขึ้นมาพักหนึ่งแล้ว

ต่อมาไม่นาน อาจารย์หลายคนแง้มประตูเหล็ก ให้เด็กนักเรียนที่มาสายเข้าไป โดยมี ด.ญ.หยก ยืนมองอยู่ไม่ไกล

วันนี้เป็นวันที่ 2 ที่ ด.ญ.ธนลภย์ (ขออนุญาตสงวนนามสกุล) หรือ หยก ในชุดไปรเวทและผมที่ย้อมเป็นสีชมพู ไม่สามารถเดินเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ในฐานะ “นักเรียน” ได้

“หยกมองว่าชุดนักเรียน มันเป็นอำนาจนิยมแบบหนึ่ง” บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ "บุ้ง ทะลุวัง" วัย 27 ปี เล่าให้บีบีซีไทยฟังถึงเหตุผลที่ หยก ต้องการใช้เวลา 3 ปี ในฐานะนักเรียนมัธยมปลาย ต่อสู้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงจากในรั้วโรงเรียน

ผ่านไปไม่กี่นาที ด.ญ.วัย 15 ปี ก็ตัดสินใจปีนรั้ว เข้าไปเรียนเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน เพื่อยืนกรานว่า เธอต้องได้รับการศึกษา ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กทุกคนควรได้รับ

แฮชแท็ก #saveหยก ขึ้นอันดับ 1 เทรนดิงในสังคมออนไลน์ชั่วข้ามคืน เป็นผลพวงจากเหตุการณ์เมื่อวานนี้ (14 มิ.ย.) ที่ หยก ปักหลักประท้วงหน้ารั้วโรงเรียนนานหลายชั่วโมง ก่อนตัดสินใจปีนรั้วโรงเรียน และเดินเข้าชั้นเรียนตามปกติ

“คุณแม่อยู่ไหนก็ไม่รู้... ทางโรงเรียนจะตัดอนาคตของเด็กหรือคะ” บุ้ง ที่ทำหน้าที่ "ผู้ปกครอง" ทวนคำพูดของ หยก กับบีบีซีไทยผ่านทางโทรศัพท์

คำกล่าวของหยกนั้น เป็นการตอบโต้แถลงการณ์ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ที่ชี้แจงเหตุผลที่หยก ไม่มีสถานะนักเรียน เพราะ “การมอบตัวไม่ครบถ้วน” เนื่องจากไม่มีผู้ปกครอง (มารดา) มาดำเนินการให้เสร็จสมบูรณ์ ก่อนเส้นตายวันที่ 10 มิ.ย. 2566

ไม่เพียงเท่านั้น เอกสารที่บีบีซีไทยได้รับจาก บุ้ง ทะลุวัง ชี้ว่าบุ้งเซ็นมอบตัวให้ หยก เข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ในฐานะ "ผู้ปกครอง" จริง เมื่อวันที่ 19 พ.ค.


บุ้ง ลงนามในฐานะผู้ปกครอง ส่วน หยก เซ็นในช่อง "นักเรียน"

วานนี้ (14 มิ.ย.) น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ทางผู้อำนวยการโรงเรียนรายงานว่า ยังไม่มีการให้หยกออกจากโรงเรียน โดยยังคงสภาพความเป็นนักเรียนของโรงเรียนดังกล่าว และยืนยันว่าหยกยังสามารถเข้าเรียนได้ตามปกติ แต่ต่อมากลายเป็นว่าแถลงการณ์ของทางโรงเรียน ชี้ว่าหยกหมดสภาพความเป็นนักเรียนแล้ว ด้วยเหตุผลว่า “มอบตัวไม่สมบูรณ์”

บีบีซีไทย พยายามติดต่อโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ตั้งแต่ 14 มิ.ย. แต่ยังไม่สามารถติดต่อได้

ภาพ หยก ในชุดไปรเวทและผมที่ย้อมสี เดินอยู่กลางเด็ก ๆ ในชุดนักเรียนและผมสีดำขลับ หลังเลิกเรียนเวลาราว 16.00 น. เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคมออนไลน์ บางส่วนสนับสนุนการเรียกร้องสิทธิการแต่งกายและเรือนร่าง แต่ก็มีผู้ใช้สังคมออนไลน์จำนวนมากไม่เห็นด้วย

แต่เบื้องหลังการต่อสู้กับอำนาจนิยมในรั้วโรงเรียนของหยก คือคำถามใหญ่ว่า ผู้ปกครองโดยสายเลือดของหยกอยู่ที่ไหน และหากไม่มีบิดาหรือมารดามาดำเนินการมอบตัวเข้าเรียน หมายความว่าเด็กจะไม่มีสิทธิได้เข้ารับการศึกษาจริงหรือ

แม่ของหยกอยู่ไหน ?

“หนูก็อยากรู้เหมือนกันว่าแม่อยู่ไหน” เด็กหญิงวัย 15 ปี ที่ถือเป็นผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่อายุน้อยที่สุด ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน รวมถึงไทยพีบีเอส และพีพีทีวีเช้าวันนี้ (15 มิ.ย.) พร้อมไลฟ์สดผ่านโทรศัพท์มือถือของตนเองไปพร้อมกัน

ตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. 2566 ที่ถูกจับกุมที่ สน.พระราชวัง ตามหมายจับคดี ม.112 หยกเล่าให้สื่อมวลชน ฟังว่า “นับแต่โดนจับกุม เรา (หยกและแม่) ก็ไม่ได้พูดคุยอะไรกันมากมาย” ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องหมายจับ ส่วนบิดานั้น “ไม่ได้ติดต่อนานมากแล้ว อยู่กับแม่เป็นหลัก”

อย่างไรก็ดี “บุ้ง ทะลุวัง” และทางโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ระบุตรงกันว่า เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2566 ซึ่งเป็นช่วงที่หยกยังถูกคุมขังที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี จ.นครปฐม มารดาของหยกได้มาที่โรงเรียน เพื่อบันทึกขอเลื่อนการมอบตัวศึกษาต่อมัธยมศึกษาปีที่ 4


นับแต่ออกจากบ้านปรานี หยกอยู่กับบุ้งมาโดยตลอด

ต่อมา มารดาของหยกได้แต่งตั้งให้ เก็ท หรือ โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง เป็นผู้ปกครองของหยกแทน แต่เป็นการแจ้งปากเปล่าผ่านโทรศัพท์ ยังไม่เป็นลายลักษณ์อักษร

ปัจจุบัน บุ้ง ทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองให้กับหยก โดยอาศัยอยู่ในคอนโดมีเนียมด้วยกัน 2 คน หลังหยกได้รับการปล่อยตัวจากบ้านปรานีในวันที่ 18 พ.ค. ด้วยเหตุผลว่า สน.สำราญราษฎร์ ขอผัดฟ้อง

และเป็น บุ้ง ที่พา ด.ญ. วัย 15 ปี ที่พึ่งออกจากสถานพินิจ ไปมอบตัวกับทางโรงเรียนในวันต่อมา (19 พ.ค.) แต่มารดาไม่ได้เดินทางไปด้วย เพราะ "ติดต่อไม่ได้" และ "ไปที่บ้านก็หาไม่เจอ" บุ้งจึงรับหน้าที่เซ็นมอบตัว หยก เข้าเรียนในฐานะ "ผู้ปกครอง"

“สาระสำคัญ คือ ต้องเป็นพ่อแม่ที่แท้จริงจริง ๆ หรือ เพราะไม่เจอคุณพ่อคุณแม่ ติดต่อไม่ได้มาโดยตลอด นับแต่น้องอยู่ในสถานพินิจ” บุ้งกล่าว แต่ยืนกรานว่าเมื่อวันที่ 19 พ.ค. ทางโรงเรียนไม่ติดปัญหาอะไร และ “ยินยอมให้มอบตัวเข้าเรียน”

บีบีซีไทย ได้รับภาพถ่ายเอกสารมอบตัวหยก ซึ่งบุ้งได้เซ็นและถ่ายไว้เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ก่อนส่งมอบให้กับรองผู้อำนวยการหญิงของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ โดยปรากฏลายเซ็น บุ้ง ในฐานะผู้ปกครอง และลายเซ็นของหยกในฐานะ "นักเรียน"


หยก ถูกควบคุมตัวในวันเดียวกับเหตุการณ์ พ่นสัญลักษณ์บนกำแพงวัดพระแก้ว

ด้าน วีรภัทร คันธะ ว่าที่ ส.ส.สมุทรปราการ ที่ไปสังเกตการณ์การมอบตัวเพื่อเรียนต่อของหยก เมื่อวันที่ 19 พ.ค. เล่าว่า ในตอนแรกทางโรงเรียนแจ้งว่า ตามระเบียบไม่สามารถรับตัวหยกได้ “ต้องเป็นผู้ปกครองที่เป็นพ่อหรือแม่เท่านั้น” เพื่อที่จะสามารถติดต่อได้หากเกิดปัญหา

“ผมจึงคุยกับท่านว่า จะให้ผู้ปกครองที่มากับน้องเป็นผู้รับรองดีไหม เนื่องจากเป็นคนที่ดูแลน้องอยู่ปัจจุบันและเป็นคนที่น้องไว้ใจ ซึ่งสามารถติดต่อได้ทันทีหากมีปัญหาใด ๆ เกิดขึ้น เมื่อได้พูดคุยกันไม่นาน ท่านรอง ผอ. ก็ตกลงรับมอบตัวน้องหยก และได้ให้น้องหยกและผู้ปกครองเข้ามาในห้องเพื่อกรอกเอกสารและรับหลักฐานการมอบตัวเพื่อเข้าศึกษาต่อ” วีรภัทร ระบุในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 23 พ.ค.

สำหรับการแต่งตั้งผู้ปกครองในกรณีที่บิดา-มารดา ยังมีชีวิตอยู่ ดังเช่นกรณีของหยก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมวด 3 มาตรา 1586 ระบุว่า “ผู้ปกครอง... ให้ตั้งโดยคำสั่งศาลเมื่อมีการร้องขอของญาติของผู้เยาว์ อัยการ หรือผู้ซึ่งบิดาหรือมารดาที่ตายทีหลังได้ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมให้เป็นผู้ปกครอง”

เหตุผลของทางโรงเรียน

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “เตรียมพัฒน์” ชี้แจงในแถลงการณ์ว่า โรงเรียนได้รับรายงานตัวหยกจริง เมื่อวันที่ 19 พ.ค. “เพื่อรักษาสิทธิในการศึกษาต่อ... หลังได้รับปล่อยตัวในคดีมาตรา 112”

แต่การรายงานตัวดังกล่าว ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการมอบตัวตามประกาศการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2566 ที่กำหนดให้ “นักเรียนต้องมามอบตัวที่โรงเรียนพร้อมกับผู้ปกครอง (มารดา) ในวันที่ 2 เม.ย. 2566”

“โรงเรียนอนุญาตให้เข้าเรียนก่อน และเน้นย้ำให้นำผู้ปกครอง (มารดา) มามอบตัวนักเรียนให้สมบูรณ์ภายในวันที่ 10 มิ.ย. 2566” เพราะเป็นวันสุดท้ายที่โรงเรียนต้องยืนยันข้อมูลจำนวนนักเรียนกับกระทรวงศึกษาธิการ

"แต่นักเรียนไม่ได้ดำเนินการดังกล่าว ทำให้ไม่มีฐานข้อมูลในระบบ จึงไม่ได้เป็นนักเรียนของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ในปีการศึกษา 2566" แถลงการณ์ของโรงเรียนระบุ


รองเท้าเบรกเกอร์สีดำ ก็เป็นหนึ่งในการต่อสู้ของหยก

อย่างไรก็ดี เนื้อหาอีกส่วนหนึ่งของแถลงการณ์จาก “เตรียมพัฒน์” ระบุว่า หยก ไม่ยอมรับกฎระเบียบและไม่เข้าสู่กระบวนการของโรงเรียน นับแต่เข้าเรียนเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2566 ดังนี้
  • ไม่แต่งกายชุดนักเรียน
  • การทำสีผม
  • เข้าเรียนตามเวลา/รายวิชา ตามความพอใจของตนเอง
  • ไม่เข้าร่วมกิจกรรมโฮมรูม กิจกรรมหน้าเสาธง และอื่น ๆ
แต่ทางโรงเรียนยืนกรานว่า ไม่เคยปฏิเสธรับนักเรียนเข้าเรียน และให้การดูแลอย่างเต็มกำลังความสามารถ “แม้นักเรียนไม่ได้ให้ความร่วมมือในการปรับปรุงพฤติกรรมตามที่กล่าวมา” เลยก็ตาม

“อำนาจนิยมในรั้วโรงเรียน”

ก่อนที่จะปีนรั้วโรงเรียนในวันที่ 15 มิ.ย. เพื่อยืนกรานว่า “เด็กทุกคนต้องเข้าถึงการศึกษา” หยกได้ประกาศผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงความตั้งใจจะต่อสู้กับอำนาจนิยมในรั้วโรงเรียน ตั้งแต่วันแรกที่ก้าวเข้าสู่ชีวิต ม.4 ด้วยวิธีการดังนี้
  • ขั้นตอนที่ 1 – ไว้ผมยาว
  • ขั้นตอนที่ 2 - ใส่รองเท้า “เบรกเกอร์” สีดำ
  • ขั้นตอนที่ 3 – ย้อมสีผมเป็นสีชมพู
  • ขั้นตอนที่ 4 - แต่งกายด้วยชุดไปรเวท เข้าเรียนเฉพาะคาบเรียนสำคัญ
“มันไม่ใช่เพียงแค่การต่อต้านอำนาจ” หยกอธิบายกับสื่อมวลชน “มันมีคนที่เสียชีวิตจากเรื่องกฎระเบียบทรงผมด้วย”


หยกให้สัมภาษณ์สื่อที่หน้าโรงเรียน

กรณีที่หยกกล่าวถึง คือ นักเรียนชายชั้น ม.3 ที่ปีนเสากระโดดฆ่าตัวตาย เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2566 ใน จ.นครศรีธรรมราช หลังถูกครูสั่งให้ตัดผมถึง 3 ครั้ง โดยไทยรัฐออนไลน์รายงานอ้างอิงคำกล่าวของพ่อผู้เสียชีวิตว่า “ลูกเครียด” เพราะครูเตือนว่า หากไม่เปลี่ยนทรงผม ต้องให้ย้ายโรงเรียน

ส่วนคำชี้แจงของทางโรงเรียนว่า หยกเข้าเรียนตามอำเภอใจนั้น เธออธิบายว่า “หนูไม่เข้าวิชาอย่าง จริยธรรม ที่โรงเรียนสอน เพราะมองว่าใช้ไม่ได้จริง”

เมื่อถามถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ ที่ระบุว่า ทำไมถึงไม่ปฏิบัติตามระเบียบของโรงเรียน เพราะเครื่องแต่งกายชุดนักเรียน มีมานานแล้วในประเทศไทย หยกตอบกับสื่อมวลชนหลายสำนักที่ยื่นไมค์สัมภาษณ์เธอว่า

“มีมานานแล้ว ก็ไม่คิดปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัยหน่อยหรือ” พร้อมชี้ว่า โรงเรียนให้เธอออกจากการเรียน จากประเด็นเรื่อง “การมอบตัว” ถ้าเธอแต่งกายตามระเบียบแล้วอนุญาตให้เข้าเรียน หมายความว่า ทางโรงเรียนให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ


หลังเลิกเรียนวันที่ 14 มิ.ย.

“หนูเหลือเวลาอีก 3 ปี ในการศึกษาชั้นมัธยม... ถ้าโรงเรียนจะผิดคำพูดเพื่อเอาหนูออก หนูก็จะหาสถานที่ศึกษาต่อเอง อาจไม่ใช่ที่นี่” ด.ญ. บอกกับสื่อมวลชน

ด้าน บุ้ง ที่เป็นผู้ปกครองทางพฤตินัยของหยกในเวลานี้ ยืนกรานว่า “จะยืนเคียงข้างหยก” เพราะตัวเธอเอง และประชาชนจำนวนมาก ก็เคยผ่านการกดขี่โดยระบบของโรงเรียนเช่นกัน

“ตอนนั้น บุ้งก็อยากสู้ แต่ไม่กล้าหาญเท่าเขา ใจไม่ใหญ่เท่าเขา” บุ้งกล่าว พร้อมระบุว่าตอนนี้อยากให้ประชาชนเห็นว่า “หยกกำลังสู้เพื่อทุก ๆ คน อยากให้การศึกษาไทยไปไกลกว่านี้”