วันพฤหัสบดี, กันยายน 01, 2565

112WATCH : คุยกับนักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปมย้อนไปในทิศทาง 'สมบูรณาญาสิทธิราชย์'



112WATCH : คุยกับนักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปมย้อนไปในทิศทาง 'สมบูรณาญาสิทธิราชย์'

2022-08-31
ประชาไท / สัมภาษณ์
ภาพปกโดย แมวส้ม

โครงการ 112WATCH สัมภาษณ์ 'โจชัว เคอร์ลันท์ซิค' นักวิชาการอาวุโสด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อผลกระทบจากการใช้ ม.112 กับอนาคตของประเทศไทย วิเคราะห์การย้อนกลับไปในทิศทางระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การประท้วงจากความล้มเหลวในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มุมมองต่ออิทธิพลจีนที่เขาไม่คิดว่าไทยโน้มเอียงไปหา

31 ส.ค.2565 เมื่อ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา โครงการ 112WATCH เผยแพร่บทสัมภาษณ์แปลคอลัมน์ The Big Interview โดยเป็นบทสัมภาษณ์ โจชัว เคอร์ลันท์ซิค (Joshua Kurlantzick) นักวิชาการอาวุโสด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสมาชิกอาวุโสของสภาความสัมพันธ์ต่างประเทศ (Council of Foreign Relations) ที่วอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐฯ รวมทั้งยังเป็นเป็นนักเขียน โดยล่าสุดได้ออกหนังสือ A Great Place to Have a War: America in Laos and the Birth of a Military CIA ซึ่งบทสัมภาษณ์เป็นการเปิดมุมมองของเขาต่อประเด็นผลกระทบที่เกิดจากกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือ มาตรา 112 ต่ออนาคตของประเทศไทย

ในโอกาสนี้จึงขอนำมุมวิเคราะห์บางส่วนมานำเสนอดังนี้

ย้อนกลับไปในทิศทางระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ต่อการประเมินบทบาทและสถานะของกษัตริย์ในฐานะที่สถาบันกษัตริย์ของไทยซึ่งเป็นสถาบันทางการเมืองที่สำคัญในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลายาวนานนั้น เคอร์ลันท์ซิค มองว่า ประเทศไทยออกห่างจากระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน แม้ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 ประเทศไทยไม่เคยเป็นประเทศที่มีระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริงก็ตาม แต่อย่างน้อยในสมัยรัชกาลที่ 9 นั้นประเทศไทยมีระบอบการปกครองที่ใกล้เคียงเช่นนั้นมากกว่าปัจจุบันซึ่งได้รับการสนับสนุนจากที่ปรึกษาและผู้นำการสนับสนุนระบอบกษัตริย์ต่างๆ กลับนำสถาบันกษัตริย์ย้อนกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เคยมีอยู่ก่อนการปฏิบัติปี 2475 ไม่ว่าจะเป็นการแทรกแซงการเลือกตั้ง นำสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งน่าจะมีมูลค่าอย่างน้อย 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐไปอยู่ภายใต้การควบคุม ให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งหมดนี้แสดงถึงการพยายามย้อนกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

นักวิชาการอาวุโสด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเมินว่า เนื่องจากขาดการสนับสนุนจากประชาชน จึงไม่คิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะสามารถนำประเทศไทยกลับไปอยู่ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้อย่างสุดทาง แต่ได้นำสถาบันกษัตริย์ย้อนกลับไปในทิศทางนั้น

สำหรับกระบวนการข้างต้นนั้น เคอร์ลันท์ซิคมองว่า ยังเป็นชนวนที่ทำให้เกิดการสนทนาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์และการประท้วงต่อสถาบันกษัตริย์ที่เปิดเผยที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยในช่วงที่ผ่านมา

ความโกรธจากความล้มเหลวในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

สำหรับการประท้วงหลายครั้งที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งชูประเด็นหลักเป็นเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในมุมมองของ นักวิชาการอาวุโสด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คนนี้ มองว่า ความโกรธเหล่านั้นที่มีลักษณะเหมือนคลื่นใต้น้ำมีอยู่มาตลอด แล้วยังมีความรู้สึกด้านลบของเยาวชนไทยที่มีต่อแทบจะทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งความล้มเหลวในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ความพยายามอย่างต่อเนื่องในการทำลายบุคคลหรือกลุ่มใดก็ตามที่พยายามผลักดันการปฏิรูปประชาธิปไตย ตลาดแรงงานที่ดูสิ้นหวัง และระบบการศึกษาที่ไร้คุณภาพ แน่นอนว่าประเด็นทั้งหมดนี้ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ตัวกษัตริย์และการประท้วงหลายครั้งก็เน้นย้ำประเด็นไปที่ตลาดแรงงานที่ย่ำแย่ ระบบการศึกษาที่ปิดกั้นซึ่งไม่พร้อมที่จะเตรียมให้คนไทยทำงานที่มีมูลค่ามากขึ้น การจัดการเลือกตั้ง ปี 2562 การยุบพรรคอนาคตใหม่เป็นต้น แต่ตนคิดว่าความโกรธนี้ได้กลายเป็นแรงประทุที่ทำให้ผู้คนเริ่มพูดเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างเปิดเผยมากขึ้นแม้ว่าการอภิปรายเหล่านั้นกำลังถูกปราบปรามอย่างหนักในรูปของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็ตาม

มุ่งไปสู่การประทะครั้งใหญ่

ต่อการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างไม่ตรงไปตรงมากำลังเพิ่มขึ้น ขณะที่อีกด้านข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์กลับไม่ได้รับการตอบสนอง ในแง้นี้วิถีทางการเมืองของไทยจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้างนั้น เคอร์ลันท์ซิค มองว่าประเทศไทยกำลังมุ่งไปสู่การประทะครั้งใหญ่ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการเลือกตั้งครั้งหน้าด้วย หากการเลือกตั้งครั้งหน้ายังมีลักษณะของการจัดฉากเฉกเช่นการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 (และการลงคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อเร็วๆ นี้ซึ่งให้ประโยชน์กับพรรคเล็กๆ ซึ่งช่วยเหลือพรรคที่สนับสนุนทหาร และส่งผลเสียต่อพรรคเพื่อไทยและพรรคที่สนับสนุนประชาธิปไตยอื่นๆ ไม่ใช่สัญญาณที่ดีว่าเรากำลังจะมีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม) คนหนุ่มสาวไทยยังคงรู้สึกสิ้นหวัง การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็ยังคงเพิ่มขึ้น และประเทศไทยกำลังมุ่งหน้าไปสู่แนวโน้มของการหดตัวทางเศรษฐกิจและความเสียหายทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ตนเห็นความเป็นไปได้ว่าความโกรธแค้นจะระเบิดออกมาบนท้องถนน ในระดับที่ใกล้เคียงกับบางเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย นอกเหนือจากนั้นแล้วผมไม่รู้จริงๆ ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

ไม่คิดว่าไทยโน้มเอียงไปหาจีน

เมื่อถามถึงประเด็นที่ประเทศไทยได้เอียงโน้มไปหาประเทศจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีผู้สังเกตการณ์เชื่อว่าความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีนที่มากขึ้นได้อนุญาตให้ประเทศไทยมีพฤติกรรมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย นั้น นักวิชาการอาวุโสด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ไม่ตอบอย่างลงรายละเอียด แต่เขาไม่คิดว่า ประเทศไทยได้โน้มเอียงไปหาประเทศจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แน่นอนว่าประเทศจีนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วในขณะนี้ แม้ว่าประเทศจีนเองจะมีปัญหาใหญ่ๆ ภายในประเทศ รวมถึงนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (zero-COVID strategy) ซึ่งกำลังทำลายเศรษฐกิจของตัวเอง ตัดขาดประชาชนของตัวเองจากประชาคมโลก และส่งผลเสียต่อห่วงโซ่อุปทานของโลก แต่ตนคิดว่านายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา และกองทัพไทยได้เลือกย้ายตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ของตัวเองกลับไปเข้าใกล้สหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับการที่จีนอนุญาติให้ประเทศไทยมีพฤติกรรมที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนั้นตนคิดว่าอาจจะมีส่วนอยู่แต่ปัจจัยภายในประเทศไทยเองมากกว่าที่เป็นเหตุผลหลักที่เกิดความถดถอยทางประชาธิปไตย

“ไม่มีประเทศอื่นรวมถึงสหรัฐอเมริกาจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับประเด็นอย่างกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในประเทศไทย ประเทศที่เป็นผู้นำด้านประชาธิปไตย ไม่ใช่แค่สหรัฐอเมริกาแต่รวมถึงประเทศที่เป็นประชาธิปไตยในเอเชีย ออสเตรเลีย สหภาพยุโรปสามารถสนับสนุนการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมในประเทศไทยและวิจารณ์ระบบกฎหมายที่เสื่อมถอยและอำนาจของทหารที่เพิ่มขึ้น” เคอร์ลันท์ซิค กล่าว พร้อมยืนยันว่าเป็นเรื่องที่ประเทศไทยต้องหาทางจัดการแก้ปัญหาเหล่านี้เอง ทั้งการก้าวข้ามประเด็นที่อ่อนไหวอย่างกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ที่มาและบทสัมภาษณ์เต็มที่ https://112watch.org/th/joshua-kurlantzick-on-lese-majeste-law/