วันศุกร์, กันยายน 30, 2565

งงกับศาลไทย ศาลที่อยู่ต่างจังหวัดมักจะมีแนวโน้มตัดสิน (เฉพาะ112) เป็นคุณกับประชาชน ?


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
10h

29 ก.ย. 2565 ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำพิพากษายกฟ้อง คดีที่ทิวากร วิถีตน ถูกพนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่นฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 116(3) และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) จากการสวมเสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ถ่ายรูปโพสต์ลงเฟซบุ๊ก รวมถึงโพสต์เรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์ยุติการใช้มาตรา 112 และปล่อย 4 แกนนำราษฎร ในช่วงเดือน ก.พ. 2564
.
ทิวากรพร้อมทนายความเดินทางมาถึงศาลจังหวัดขอนแก่นก่อนเวลานัด โดยมี “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ ซึ่งมาศาลในคดีอื่นด้วยแวะมาให้กำลังใจ และมีนักกิจกรรม ผู้สังเกตการณ์ รวมทั้งสื่ออิสระหลายราย มาร่วมติดตามฟังคำพิพากษาด้วย
.
ก่อนเดินขึ้นไปห้องพิจารณาคดีทิวากรกล่าวว่า วันนี้เขาไม่ได้ขี่รถมอเตอร์ไซค์มาจากบ้านเหมือนปกติที่เคยมาศาล เนื่องจากหากศาลตัดสินให้จำคุกจะไม่มีใครนำมอเตอร์ไซค์กลับไปที่บ้าน
.
ราว 09.20 น. ในห้องพิจารณาคดี หลังจากศาลดำเนินการในคดีอื่นๆ เสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่ได้ให้บุคคลอื่นออกจากห้องพิจารณา เหลือเพียงผู้ที่เดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษาในคดีทิวากร จากนั้น วรวุฒิ เลาลัคนา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดขอนแก่น เจ้าของสำนวน จึงเริ่มอ่านคำพิพากษา โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมกุญแจมือ ยืนประกบทิวากร เพื่อเตรียมควบคุมตัวไปห้องขัง หากศาลพิพากษาลงโทษจำคุก
.
คำพิพากษามีใจความว่า เห็นว่า โจทก์มีพยานเพียง อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ เบิกความว่า ที่จำเลยโพสต์ว่า จุดจบสถาบันกษัตริย์จะล่มสลาย เป็นการขู่อาฆาตมาดร้ายองค์พระมหากษัตริย์ แต่ไม่มีพยานโจทก์ปากอื่นใดเบิกความว่า ภาพและข้อความที่จำเลยโพสต์จะชักชวนให้คนรู้สึกเกลียดชังหรือดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์
.
ทั้งเมื่อพิจารณาข้อความที่จำเลยลงทั้งหมดก็ไม่ปรากฏให้เห็นเป็นเช่นนั้น ส่วนรูปภาพและข้อความดังกล่าวจะเป็นข้อความที่หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายหรือไม่นั้น หมิ่นประมาท คือ การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่ 3 โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ดูหมิ่น คือการด่า ดูถูกเหยียดหยาม และจะต้องได้ความว่า การใส่ร้ายหรือดูหมิ่นดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความหรือผู้ถูกดูหมิ่น เป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความหรือผู้ที่ถูกดูหมิ่นโดยตรง การใส่ความหรือการดูหมิ่นนั้นก็ต้องได้ความว่าเป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ
.
เมื่อข้อความและรูปภาพที่จำเลยลงในเฟซบุ๊กดังกล่าว กล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ได้กล่าวถึงองค์พระมหากษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งโดยเฉพาะ หากจำเลยต้องการลงข้อความในเพจเฟซบุ๊กถึงพระมหากษัตริย์โดยตรง จำเลยจะระบุไว้โดยชัดเจนตามที่ พ.ต.ท.สุรัตน์ วันทะมาตย์ และ พ.ต.ต.สุริยัน ภูนบทอง พนักงานสอบสวนเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยไว้
.
และ ผศ.อานนท์ ก็เบิกความยืนยันว่า สถาบันพระมหากษัตริย์หมายถึงองค์พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน อดีตพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ทํางานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ซึ่งเป็นไปตามพระบรมราชโองการ ประกาศสถาบันกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหลายพระองค์
.
การที่จำเลยโพสต์ภาพและข้อความดังกล่าวจึงไม่ได้ระบุถึงการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทให้รู้ได้โดยแน่นอนว่าเป็นองค์พระมหากษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งโดยเฉพาะ การเข้าใจข้อความดังกล่าว ขึ้นกับการตีความของบุคคล และสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ใช่องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 การที่จำเลยลงข้อความดังกล่าวในเพจเฟซบุ๊กจึงไม่ใช่การดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ และไม่ใช่กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีไม่พอที่จะลงโทษจำเลยความผิดฐานดังกล่าวได้
.
เมื่อข้อเท็จจริงการกระทำของจำเลยไม่ใช่ความผิดตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116 การที่จำเลยลงข้อความและรูปภาพในเฟซบุ๊กจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตามฟ้องโจทก์
.
และเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทำผิดตามฟ้อง เสื้อยืดของกลางที่ริบมาจากจำเลย จึงให้คืนแก่เจ้าของ พิพากษายกฟ้องและให้คืนของกลาง
.
.
หลังฟังคำพิพากษา ทิวากรเปิดเผยความรู้สึกว่า “รู้สึกประหลาดใจและผิดไปจากความคาดหมายมาก ผมไม่คิดว่าศาลจะยกฟ้อง แม้ว่าในคดีนี้ ผมไม่ควรถูกฟ้องตั้งแต่แรก และหากศาลพิพากษาตามพยานหลักฐานในการสืบพยานแล้ว โดยไม่มีอะไรมาแทรกแซง ศาลน่ายกฟ้อง”
.
“แต่ก็อย่างที่ผมเคยบอก บรรทัดฐานของกระบวนการยุติธรรมไทยที่ผมเห็นมา ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ แม้แต่ศาล มีการตีความกฎหมายที่บิดเบือนไปมาก ก่อนหน้านี้ก็มีคำตัดสินคดีสมบัติ ทองย้อย, นิว จตุพร ทำให้เห็นว่า มีการใช้กฎหมายกำจัดศัตรูทางการเมือง รวมทั้งประชาชนที่เห็นต่าง ทำให้ผมคิดว่า กรณีผมเขาจะลงโทษให้หลาบจำ หรือเชือดไก่ให้ลิงดู ให้คนอื่นกลัว และจะไม่พูดแบบผม ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายในการใช้มาตรา 112 อยู่แล้ว ยิ่งคนที่ถูกตัดสินจำคุกก่อนผม อย่างนิวแค่ใส่ชุดไทย ไม่ได้พูดอะไร ทำไมผมถึงจะไม่โดน”
.
“ตอนนี้ผมยังงง และยังหาคำตอบไม่ได้ว่า รัฐไทยเขามองคดีผมยังไง” ทิวากรทิ้งท้าย
.
.
อ่านบนเว็บไซต์ https://tlhr2014.com/archives/48972
อ่านปากคำพยานในคดี https://tlhr2014.com/archives/48783
ดูฐานข้อมูลคดี https://database.tlhr2014.com/public/case/1748/lawsuit/531/