การแก้ปัญหา ๑๑๒ ยุคแลนด์สไล้ด์นี่ เห็นทีจะต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ละหรือ จากการที่หัวหน้าครอบครัว ‘เพื่อไทย’ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ยืนยัน “ต้องคุยกัน ‘ในระบบรัฐสภา’ ว่ามีปัญหาหรือเปล่า”
“ยังไม่เห็นปัญหาอีกเหรอคะ หนูนี่อึ้งไปเลย” ปนัสยา สิทธิจิระวัฒนกุล หรือ ‘รุ้ง’ ผู้อ่านข้อเรียกร้องของคณะราษฎรเมื่อปี ๒๕๖๓ แสดงปฏิกิริยาผ่านทางหน้าเฟชบุ๊คของเธอ สรุปว่าพรรคเพื่อไทยยุคนี้ยังไม่ทราบว่า ม.๑๑๒ มีปัญหาหรือไม่
มิฉะนั้นเพื่อไทยก็เป็น ‘สุภาพบุคคล’ เสียจนต้องถามใครๆ ในสภาดูก่อน ว่าเห็นเรื่องนี้เป็นปัญหาไหม แม้นว่าดูเหมือน ‘อุ๊งอิ๊ง’ จะเข้าบริบทอยู่แล้วพอควร ในคำให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ “จริง ๆ แล้วกฎหมายมีมานานมาก
แต่ถ้าเรามาดูหลังรัฐประหารที่เกิดขึ้น จำนวนที่ถูกฟ้องด้วยข้อหา ๑๑๒ เพิ่มขึ้นอย่างกะทันหัน เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ปัญหาอยู่ตรงไหนกันแน่ มันไม่ใช่ว่าจู่ ๆ ถูกใช้มาเรื่อย ๆ ในสังคมไทย แต่มันเพิ่งเกิดขึ้น” เธอว่าการเกิดมากมายคือปัญหา
ไม่กระจ่างในความคิดของ แพทองธาร ชินวัตร ว่าเพิ่งเกิดขึ้นตอนไหนแน่ หลังรัฐประหาร ๔๙ หรือหลังรัฐประหาร ๕๗ หรือทั้งสองครั้งต่อเนื่องกันมา แล้วทะลุเพดานในการชุมนุม ๑๙ กันยา ๖๓ เมื่อมีการประกาศข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ๑๐ ข้อ
นั่นเป็นผลพวงต่อยอดจากการปราศรัยนำร่อง ‘prequel’ โดย อานนท์ นำภา ในการชุมนุม ‘แฮรี่พ็อตเตอร์’ #เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย ถ้าอุ๊งอิ๊งเข้าใจตามนี้ ประเด็นจะอยู่ที่ตนเองเห็นอย่างไร กับการที่จะต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
แล้วเห็นด้วยไหม ว่าการปฏิรูปด้วยการแก้ไข ม.๑๑๒ (สมัยนี้เขาต้องการให้ยกเลิกไปเลยกันแล้ว) จะเป็นการทำให้ ‘สถาบันฯ’ ไม่เสื่อมทราม เพราะถูกผู้มีอำนาจการเมืองการปกครอง และกลุ่มชนชั้นนำในหมู่ขุนศึกและศักดินา นำเอาไปใช้เพื่อประโยชน์แห่งตน
หากวัดจากมาตรฐานทางสายเลือด อดีตนายกรัฐมนตรีผู้เป็นบิดาของอุ๊งอิ๊ง เคยมีความเห็นต่อกรณี ม.๑๑๒ ว่า กฎหมายไม่ได้มีปัญหาด้วยตัวของมันเอง ปัญหาเกิดจากคนที่เอามาใช้แล้วสร้างความแตกแยก ทักษิณ ชินวัตร เห็นว่าต้องพูดคุยกันเป็นจุดเริ่มต้น
เขาพูดไว้เมื่อปลายปีที่แล้ว กลางปีนี้แพทองธารเอามาขยายความว่าเป็นการพูดคุยกันในรัฐสภา ทำให้ตีความว่าให้วุฒิสภา ‘ตู่ตั้ง’ อยู่ในวงสนทนาด้วย ถ้าตีความผิดจากที่คิดก็กรุณาพูดใหม่ แต่ถึงอย่างไรนั่นเป็นพื้นฐานที่ไม่ตรงกับความเสียหายที่เกิด
ปัญหาในตัวกฎหมายของมาตรา ๑๑๒ นั้นมีอยู่ แวดวงผู้รู้ ผู้ต่อสู้กับข้อหานี้ในศาล ตระหนักดีว่าเป็นกฎหมายแบบ ‘draconian’ ร้ายแรงเกินไป สำหรับข้อหาดูหมิ่นเหยียดหยามประมุขของประเทศ จำคุก ๑๕ ปีต่อกระทงนั่นประการหนึ่ง
แต่ไอ้ที่ใครก็ได้ฟ้องใครก็ได้ ในนามของความจงรักภักดี นั่นมีลักษณะปลายเปิด อันเป็นช่องทางให้คนทั่วไป ‘abuse’ หรือทำระยำย่ำยีกับกลุ่มบุคคลที่กฎหมายมุ่งปกป้อง พรรคเพื่อไทยไม่จำเป็นต้องเริ่ม “รณรงค์ทางความคิด” ใหม่อีกให้เรื่องมาก
คณะกรรมการรณรงค์แก้ไข ม.๑๑๒ ทำกันมาก่อนแล้ว นานแล้ว ดังที่ รศ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ บอกว่า เมื่อปี ๕๕ สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาของพรรคเพื่อไทย ‘ปัดตก’ ร่างกฎหมายแก้ไข ที่ประชาชนเข้าชื่อกัน ไปเสียดื้อๆ
ถ้าจะ ‘แก้ไข ไม่แก้แค้น’ เอาที่เขาศึกษากันไว้แล้ว มาทำความเข้าใจให้ต้องตามข้อเท็จจริงที่เกิด ว่ามีการใช้กฎหมายนี้ ปิดปาก กลั่นแกล้ง และทำร้ายทำลายฝ่ายเห็นต่าง แค่นี้ก็จะเห็นทางแก้แจ่มแจ้ง มิฉะนั้นคนรุ่นต่อไปต้องรอลูกของอุ๊งอิ๊งมาเริ่มศึกษากันอีก
(https://www.prachachat.net/wp-content/uploads/2022/09/S29614118.jpg)