“ผมตกต่ำได้มากกว่านี้ แต่ผมจะไม่สยบยอม”: เบื้องหลัง “ทิวากร” ประกาศไม่ประกันตัวชั้นอุทธรณ์
28/09/2565
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธมนุษยชน
12 ก.ย. 2565 ทิวากร วิถีตน โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับคดีมาตรา 112 ของเขาที่จะฟังคำพิพากษาในวันที่ 29 ก.ย. นี้ว่า “ขอแจ้งทุกท่านไว้ล่วงหน้าว่า ถ้าวันที่ 29 ก.ย. 2565 นี้ ศาลตัดสินให้ผมผิด 112, 116 และ พรบ.คอมพ์ ผมจะขอยื่นอุทธรณ์โดยไม่ขอประกันตัวนะครับ และผมจะขอคืนเงินประกันตัว 150,000 บาท (ระหว่างที่ผมได้รับการประกันตัวในการต่อสู้คดีในศาลชั้นต้น) ให้กับกองทุนดาตอร์ปิโดด้วยครับ”
โพสต์ของทิวากรกระตุกความคิดให้เกิดเครื่องหมายคำถามตัวโตๆ เพราะไม่ว่ารัฐธรรมนูญของไทย หรือหลักสิทธิมนุษยชนสากล ล้วนมีหลักการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ นั่นคือ ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าบุคคลใดกระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดแล้วไม่ได้ อันเป็นที่มาของสิทธิในการประกันตัว และประชาชนมักเป็นฝ่ายเรียกร้องให้ศาลเคารพต่อหลักการและสิทธิดังกล่าวของประชาชนซึ่งถูกดำเนินคดีอาญา สิ่งที่ทิวากรโพสต์จึงสวนทางกับสิ่งที่คนส่วนใหญ่คิด
เกษตรกรวัย 46 ปี อาศัยในหมู่บ้านห่างจากตัวเมืองขอนแก่นราว 20 กม. ซึ่งช่วงหนึ่งของชีวิตที่เขาไปเรียนมหาวิทยาลัยและทำงานในกรุงเทพฯ ได้อยู่ในบริบทการเมืองไทยที่มีการรัฐประหาร 2 ครั้ง การสลายการชุมนุมที่มีประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก และกระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับบุคลิกส่วนตัวที่เป็นคนจริงจัง เชื่อได้ว่า การประกาศออกมาเช่นนั้นของทิวากรผ่านการคิดทบทวนมาแล้ว
อย่างน้อยนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทิวากรคิดและทำไม่เหมือนใคร การใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” และโพสต์รูปลงเฟซบุ๊ก ในวันที่การพูดถึงสถาบันกษัตริย์ยังทำกันอย่างอ้อมค้อม ก็สร้างความตกตะลึง จนทำให้เขาถูกดำเนินคดี 112 คดีที่ศาลจะมีคำพิพากษานี้
>> ไทม์ไลน์คดี “หมดศรัทธา” ไม่ได้แปลว่า “ล้มเจ้า” สำรวจเส้นทางต่อสู้ ‘112’ ของทิวากร
>> ปากคำพยาน 4 วันในห้องพิจารณา คดี 112 “ทิวากร”: ความเข้าใจต่อการเสนอแนะของสถาบันกษัตริย์ต่อคดี 112 และเจตนาการใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว”
บทสนทนาในวันหนึ่งก่อนหน้าที่ทิวากรจะเดินทางไปฟังคำพิพากษาราว 1 สัปดาห์ จึงเกิดขึ้น เพื่อสืบค้นถึงความคิดเบื้องหลังคำประกาศไม่ประกันตัว และการเตรียมตัวต่อเหตุการณ์ที่จะเกิด
…..
ยอมติดคุกเพื่อประจานกระบวนการยุติธรรม หากถูกตัดสินให้ผิด
เมื่อถูกถามถึงเหตุผลของความตั้งใจที่จะไม่ยื่นประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ คำอธิบายขนาดยาวด้วยน้ำเสียงและสีหน้าที่จริงจังตามปกติของทิวากรก็ทะยอยเรียบเรียงส่งผ่านความคิดมายังผู้ตั้งคำถาม “คิดว่าคดีของผมศาลพิพากษาลงโทษแน่นอน ที่ว่าลงโทษแน่นอนไม่ใช่ว่าผมผิดแน่นอน แต่คือกระบวนการยุติธรรมไทยมีความไม่ยุติธรรม มีตัวอย่างให้เห็นเยอะไม่ใช่แค่เคสเดียว แต่มันทั้งหมดเลย เป็นการใช้กฏหมายในการกำจัดศัตรูทางการเมือง ถ้าฝ่ายเดียวกันยังไงก็รอด ถ้าเป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองยังไงก็ผิด สมัยเสื้อแดงก็จะมีคำพูดว่า “คนเสื้อแดงทำอะไรก็ผิด” เพราะฉะนั้น ผมจึงมั่นใจว่าผมต้องถูกตัดสินว่าผิด 100%”
“ตั้งแต่วันแรกที่ผมถูกจับ ผมพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผมด้วยการอธิบายว่า ผมมีเจตนาที่ดีต่อสถาบันกษัตริย์ไม่อยากให้ใช้ 112 เพราะผมมองว่ามันสร้างความเสื่อมเสียให้กับสถาบันกษัตริย์ เนื่องจากเป็นกฎหมายละเมิดสิทธิมนุษยชน และปิดหูปิดตาปิดปากประชาชน”
“ส่วนคำว่า “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ผมก็อธิบายว่าผมหมดศรัทธาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 9 แล้วไม่ใช่เพิ่งมาหมดศรัทธาในรัชกาลที่ 10 ผมไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่นรัชกาลปัจจุบัน แม้แต่คำว่าสถาบันกษัตริย์ผมก็ไม่ได้หมายถึงกษัตริย์รัชกาลที่ 10 ในการสืบพยานแม้แต่พยานโจทก์บางปากเองก็ให้การว่า คำว่าสถาบันกษัตริย์ เขาเห็นว่าหมายถึงตัวสถาบันไม่ได้หมายถึงตัวบุคคล ซึ่งก็เป็นประโยชน์กับผม ในมุมมองของผมในฐานะจำเลย ถ้าศาลมีความยุติธรรมผมมั่นใจว่ายกฟ้อง 100%”
“แต่โดยมาตรฐานของศาลไทยซึ่งอยู่ในรัฐที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ผมก็เลยมั่นใจว่า ผมจะโดนตัดสินว่าผิดแน่ๆ ไม่ว่าศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกาก็คงไม่ต่างกัน เพราะว่าผมถูกมองว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจ ถึงแม้ว่าผมจะเป็นประชาชนคนธรรมดาที่ใช้เสรีภาพขั้นพื้นฐานในการพูดและการแสดงออกเท่านั้น การใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ และต้องไม่ให้มันเป็นเยี่ยงอย่างต่อประชาชนคนอื่น ยังไงผมก็ต้องเข้าคุก ทั้งๆ ที่ผมไม่ผิด ดังนั้น การที่ผมเข้าคุกเร็วผมก็จะได้ออกเร็ว”
“ผมบอกแม่ว่า ศาลชั้นต้นน่าจะตัดสินว่าผมผิดนะ จริงๆ ผมไม่ผิดหรอก ผมก็ยกตัวอย่างคดีของสมบัติ ทองย้อย, นิว จตุพร และคดีอื่นๆ แม่ก็บอกว่า ‘ตัดสินก็ตัดสินโลด เข้าคุกก็เข้าคุกโลด’”
“ผมไม่รู้ว่ากระบวนการในการยื่นอุทธรณ์และฎีกาจะใช้เวลากี่ปี จะ 5 ปี 10 ปี ก็ไม่เป็นไร ผมอยากจะพิสูจน์และยืนยันให้เห็นว่า เขาไม่ยุติธรรมจริงๆ ทั้ง 3 ศาล และถ้าผมติดคุกเร็ว ผมก็ได้ออกเร็ว จากนั้นผมก็จะได้ไปทำตามแผนของผมคือย้ายประเทศ อันนี้เป็นเหตุผลข้อแรก”
“เหตุผลข้อที่ 2 พวกเผด็จการนี่มันดูถูก คือเขาใช้ความกลัวมาปกครองประชาชน กลัวอะไรบ้างล่ะ กลัวเสียงานเสียการ กลัวว่าสังคมจะไม่ยอมรับ เขาก็ใช้การดำเนินคดี ใช้การลงทัณฑ์ทางสังคม เมื่อเรากลัวเราก็จะได้สยบยอมเขา ไม่พูดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ไม่สนใจการเมือง อยู่เงียบๆ เซ็นเซอร์ตัวเองไป”
“แต่ผมอยากชนะเขา นั่นคือ ผมจะยืนยันในการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการพูดและการแสดงออก โดยที่ผมจะยอมรับในสิ่งที่เผด็จการเขาใช้มาทำให้ผมกลัว แต่ผมเลือกที่จะไม่กลัว และยอมรับผลที่ตามมา”
“ขั้นแรกเขาอยากให้ผมกลัวและเซ็นเซอร์ตัวเองผม แต่ผมก็ไม่เซ็นเซอร์ อันนี้ผมชนะไปแล้ว”
“ขั้นต่อมา ก่อนหน้าวันที่ศาลจะมีคำพิพากษาสิ่งที่เขาต้องการจากผมก็คือความกลัว ความร้อนรน ความประสาทแดก แต่ผมไม่มี ต่อให้เขาต้องการหรือไม่ต้องการผมก็ไม่มี เพราะฉะนั้นการที่ผมประกาศไว้ตั้งแต่ตอนแรกว่าผมไม่ขอประกันตัวเอง แสดงให้เขาเห็นว่าผมไม่กลัวคุก ซึ่งผมไม่กลัวจริงๆ ผมก็ชนะในช่วงนี้”
“พอหลังจากศาลตัดสินให้ผมติดคุก ซึ่งเขาจะใช้การติดคุกนี้เป็นการทรมานผมทั้งทางร่างกายและจิตใจรวมถึงทรมานฝ่ายประชาธิปไตยให้หลาบจำ เขาทำมาเยอะแล้วขังจิตร ภูมิศักดิ์, เพนกวิน, บก.ลายจุด ใครต่อใคร ผมก็จะให้เขาล่วงหน้าเลย ผมจะรับการทรมานทั้งกายและใจ ทั้งที่ในมโนสำนึกผมไม่ผิดนะ เพื่อเป็นการประจานความอยุติธรรมว่าจริงๆ แล้ว ที่ผมเข้าไปอยู่ในคุกนั้นผมไม่ควรจะถูกฟ้องด้วยซ้ำไป 112, 116 หรือ พ.ร.บ.คอมฯ มันไม่เข้าอยู่แล้ว ที่ผมเข้าไปไม่ใช่เพราะว่าผมผิด แต่ผมเข้าไปเพราะว่ากระบวนการยุติธรรมมันไม่ยุติธรรม และผมไม่กลัว”
“คำตัดสินของศาลที่จะตัดสินให้ผมผิดจะแสดงให้เห็นเนื้อหาความเป็นประชาธิปไตยของไทย ที่รัฐไทยอ้างว่าเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่จริงๆ มันไม่ใช่ แล้วการติดคุกของผมมันก็จะยิ่งไปเพิ่มน้ำหนักของความไม่ใช่ ว่าที่คุณเรียกตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตยนั้นมันเป็นของปลอม จริงๆ แล้วคุณเป็นปีศาจ คุณเป็นเผด็จการที่สวมเสื้อประชาธิปไตย”
“ผมจะแสดงให้เห็นว่า ที่รัฐไทยต้องการจะทำลายผมนั้น ผมก็ทำให้เขาได้พอใจไปเลย แต่เขาก็ไม่ได้รับความชอบธรรมอยู่ดี”
“การที่รัฐไทยทำลายผมที่เจตนาดีกับเขาด้วยซ้ำไปเท่ากับว่าเขาจะเสื่อมเสียเอง กฎหมายจะศักดิ์สิทธิ์ ได้รับการยอมรับ ก็ต่อเมื่อเขาทำตามกฎหมาย แต่ถ้าเขาไม่ทำตามตัวบทกฎหมาย ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองก็เท่ากับว่าความน่าเชื่อถือของรัฐไทยลดลง ความศักดิ์สิทธิ์ ความยุติธรรมลดลง ก็คือเขาทำลายตัวเองนั่นแหละ”
“ปี 63 ก็พิสูจน์มาแล้วว่า รัฐไทยก็พยายามทำลายผมด้วยการอุ้มผมเข้าโรงพยาบาลจิตเวช แล้วก็ฉีดยาผม ซึ่งโอเคเขาทำลายผมได้ทั้งกายและใจ แต่ว่าผลที่ตามมาก็คือเขาทำลายตัวเอง”
“สุดท้ายถ้าผมเข้าไปอยู่ในคุกแล้วผมอยู่จนถึงคดีสิ้นสุดหรือครบโทษตามคำพิพากษาผมก็ชนะ ชนะในที่นี้หมายถึงในระดับปัจเจก นั่นคือการยืนยันสิทธิเสรีภาพในการพูดและการแสดงออก ต่อให้มีกฎหมายเผด็จการที่จะมาเอาผิดผม ผมก็ไม่กลัว”
“สำหรับผมแล้วมันต้องแลก ระหว่างความทรมานทั้งกายและใจในการเข้าไปอยู่ในคุก กับการได้ทำอะไรมากมายที่เผด็จการมองว่าผมผิดและศาลตัดสินให้ผมผิด ก่อนที่ผมจะติดคุกผมก็ยืนยันในสิทธิเสรีภาพของผม แล้วผมก็ทำมาได้หลายอย่าง ก็คือใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ได้ “ยืน หยุด ขัง” ผมได้ใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ไปยืนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น ไปเดินชูป้ายรอบเมืองขอนแก่น”
“ผมจะถือว่าคำตัดสินให้ผมถูกจำคุกนั้นเป็นการเพิ่มคุณค่าของสิทธิเสรีภาพที่ผมต้องแลกมา โดยฝ่ายเผด็จการเป็นคนให้คุณค่าผมเอง”
“ไคนที่สูญเสียไปเยอะๆ อย่างเอกชัย หงส์กังวาน โดนเผารถ โดนทำร้ายแขนหัก แต่เขาไม่หยุดสู้ แปลว่าสิ่งที่เขาทำมีคุณค่ามาก หรืออย่างเนลสัน แมนเดล่า เขาก็ติดคุก 27 ปี นั่นหมายความว่าสิ่งที่เขายอมแลกกับการติดคุก 27 ปี ก็คือสิทธิเสรีภาพนั้นมีคุณค่าสูงมาก”
“ในความคิดของคนอื่นมันอาจจะไม่เมคเซนส์ แต่การต่อสู้ในระดับปัจเจกของผมมันเป็นแบบนี้ เขามาเหยียบย่ำผม ผมตกต่ำได้มากกว่านี้เพื่อให้เขาพอใจแต่ผมจะไม่สยบยอมพวกเขาหรอก”
“ก็เหมือนในปี 63 ตอนที่ผมใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ผมโดนหนักมากเลยนะ ทั้งโดนข่มขู่ คุกคามแม่ แม่ผมก็กลัว เขาใช้ทุกวิถีทางในการกดดันผม แต่ผมให้เขาได้มากกว่านั้น ผมสามารถที่จะออกจากบ้าน ออกจากตระกูล เขียนจดหมายตัดแม่ตัดลูก เพื่อที่จะยืนยันสิทธิเสรีภาพ เท่ากับว่า ผมให้คุณค่ากับสิทธิเสรีภาพถึงขั้นต้องตัดแม่ตัดลูก หรือถ้าถูกอุ้มหายอุ้มฆ่าผมก็ยอม ผมเป็นของผมแบบนี้”
.
ย้ำแนวทางแสดงออก สื่อสารโดยตรงถึงสถาบันกษัตริย์เพื่อเสนอทางออก
เกษตรกรที่ย้ำเสมอว่า ตนเองเป็นประชาชนธรรมดาที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการพูดและการแสดงออกเท่านั้นเอง ย้อนเล่าถึงเบื้องหลังที่ลุกขึ้นมาใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” รวมถึงแนวทางในการแสดงออกต่อสถาบันกษัตริย์ของเขาว่า
“ผมอยากเสนอทางออกให้ทุกฝ่าย ถ้าจะมีการแสดงออกว่าไม่โอเคกับสถาบันกษัตริย์มันแสดงออกได้หลากหลายมาก บางคนก็ใช้วิธีด่าแบบเสียๆ หายๆ บางคนก็เผาป้ายตามข้างถนน ตามสถานที่ราชการ แต่การใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ไม่ได้มีความรู้สึกเชิงลบอยู่ในนั้น มันแค่บอกให้ทราบว่าตอนนี้เราหมดศรัทธานะ ผมคิดว่ามันไม่เป็นพิษเป็นภัย มันก็เลยเป็นข้อเสนอว่า ถ้าจะแสดงออกต่อสถาบันกษัตริย์ ขอให้แสดงออกเพียงแค่ว่าหมดศรัทธาก็พอ ไม่ได้ต่อต้าน ไม่ได้เปลี่ยนแปลง เป็นการแสดงจุดยืนเท่านั้นเอง วิถีทางของการแสดงออกของผมก็มีเพียงเท่านี้เอง”
“คณะราษฎร 63 เขาทำลายเพดาน ทะลุฟ้า ทะลุวัง แต่แนวทางของผม ผมเรียกว่า “เหนือเมฆ” คือผมจะสื่อสารไปถึงสถาบันกษัตริย์โดยตรง บางทีผมก็เขียนจดหมายไปหารัชกาลที่ 10 ไปหาพระเทพ บางทีผมก็คุยกับคุณจุลเจิม ซึ่งจะทำแบบนี้ได้ ถ้าเป็นนกก็ต้องบินตัวเดียวแบบนกอินทรี ไม่บินเป็นฝูงเพราะมันจะบินสูงไม่ได้”
“ผมอยากชี้ทางว่า การปกครองที่เป็นเผด็จการ ละเมิดสิทธิมนุษยชนแบบนี้มันไปต่อไม่ได้กำลังจะลงเหว จะต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย มีความเป็นประชาธิปไตย แต่ผมสื่อสารมา 2 ปีแล้ว เขาทำตรงข้ามหมดเลย”
“มีรอยัลลิสต์ที่ไหนที่จะกล้าทำแบบผม กล้าเตือนเมื่อเห็นความไม่ชอบมาพากล ความไม่ชอบธรรม เห็นว่าสถาบันกษัตริย์อยู่ในจุดที่เป็นวิกฤตศรัทธา หมดความน่าเชื่อถือ”
ภาพจากเฟซบุ๊ก ทิวากร วิถีตน
เลื่อนแผนย้ายประเทศหากติดคุก
ทิวากรพูดถึงการย้ายประเทศหลายครั้ง ทั้งในการให้สัมภาษณ์และโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว รวมทั้งการตัดสินใจไม่ประกันตัวครั้งนี้ก็เพื่อจะได้ออกจากคุกเร็ว และย้ายออกจากประเทศไป “จุดมุ่งหมายในชีวิตของผมคือผมต้องการย้ายประเทศ ต่อให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ผมก็คิดที่จะย้ายประเทศ เพราะว่าผมรู้สึกว่าผมเจ็บปวดกับสิ่งที่มันเกิดขึ้น อย่าง 6 ตุลาคม 2519 การยิงคนเสื้อแดงปี 2553 มันเป็นบาดแผลที่อยู่ในใจ มันสร้างความเจ็บปวดให้เราแล้ว เราคงจะอยู่ตรงนี้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว”
“ความจริงผมรู้สึกตั้งแต่ปี 54 แล้วว่า ผมอยากจะเป็นพลเมืองโลกมากกว่าที่จะเป็นแค่พลเมืองไทย เพราะว่าผมไม่มีคุณสมบัติของพลเมืองไทยตามที่รัฐไทยเขาต้องการ แต่ตอนนั้นผมไม่ได้ตัดสินใจย้ายประเทศอย่างจริงจัง เพิ่งมาตัดสินใจเมื่อหลังรัฐประหารปี 2557”
“เป้าหมายของผมคือการย้ายประเทศ ถ้าผมเข้าเรือนจำ แผนที่ผมตั้งเอาไว้มันก็ต้องขยับไป”
.
การเตรียมตัวสำหรับภารกิจภาคบังคับ
ทิวากรคาดว่าตัวเองจะถูกขังไม่ต่ำกว่า 3 ปี เขาเล่าถึงการเตรียมตัวที่จะเดินเข้าสู่สถานที่จองจำว่า “ผมแจ้งระงับสัญญาณโทรศัพท์มือถือตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย. ไปแล้ว โดยจ่ายเงินไว้ล่วงหน้าในการรักษาเลขหมาย แต่ถ้าผมถูกขังนานกว่าที่คาด เลขหมายนี้ก็จะถูกระงับไป และต่ออายุใบขับขี่ไปอีก 5 ปีแล้ว”
“นอกจากนี้ก็คือเตรียมไปศาลตัวเปล่าไม่ต้องมีอะไรติดตัวไป จะได้ไม่ต้องฝากใครกลับมาบ้าน รถมอเตอร์ไซค์ก็ไม่เอาไป ผมจะนั่งรถโดยสารประจำทางเที่ยวแรกซึ่งผ่านบ้านผมไม่เกิน 6 โมงครึ่ง ไปถึงศาลไม่เกิน 8 โมง”
“วัว 8 ตัวที่เลี้ยงอยู่ จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ของผม พ่อกับแม่เป็นคนซื้อมาซึ่งเขาจะขายเมื่อไหร่ก็แล้วแต่เขา เขาอาจจะให้หลานมาช่วยดูแล แปลงหญ้าเนเปียร์สำหรับเลี้ยงวัวก็อาจจะมีญาติมารับช่วงดูแล”
ภาพจากเฟซบุ๊ก ทิวากร วิถีตน
“ส่วนแม่ผมเขาก็อยู่ได้ถ้าไม่มีผม ยังมีพี่น้องของผมอีก 4 คนที่จะดูแลแม่ หลังรัฐประหารปี 57 ที่ผมตัดสินใจย้ายประเทศแน่ๆ แต่ยังไม่ไปทันทีและย้ายกลับมาอยู่กับแม่ เพราะผมอยู่กับแม่แล้วผมมีความสุข ผมก็เลยอยากจะอยู่กับแม่ให้นานที่สุด”
“ตั้งแต่กลางปี 58 จนถึงตอนนี้ ผมถือว่าผมได้อยู่กับแม่พอแล้ว รวมถึงได้มารำลึกความหลังสมัยวัยเด็กของผมที่หมู่บ้านดอนช้าง ซึ่งเป็นชีวิตที่ผมมีความสุขมาก ก็ถือว่าผมได้ทำอะไรทุกอย่างหมดแล้วที่ผมจะได้ทำในประเทศไทยและได้อยู่กับแม่แล้ว เพราะฉะนั้นผมถือว่าผมสามารถที่จะย้ายประเทศได้เลยโดยที่ไม่ต้องคาใจอะไรแล้ว รวมถึงเข้าคุก รวมถึงตายวันนี้เลยก็ได้ ผมก็ไม่เสียใจอะไรแล้ว ต่อให้เป้าหมายในชีวิตของผมมันอาจจะไม่สำเร็จเลยผมก็ไม่เสียใจ คือมันเหมือนเป็นความจำเป็น เป็นภารกิจบังคับที่แทรกเข้ามาในช่วงเวลานี้ว่า ผมต้องทำแบบนี้แหละ คือต้องยืนยันในตรงนี้ก่อน ใช้การไม่ขอประกันตัวเพื่อที่จะยืนยันในสิ่งที่ผมอธิบายไปแล้ว”
“ความเป็นตัวตนของผมและสถานการณ์ที่ผมเจอ รวมทั้งแนวคิดแนวอุดมการณ์ของผมมันก็เลยต้องตัดสินใจแบบนี้ คนอื่นอาจจะไม่ตัดสินใจแบบนี้”
.
“ถ้าผมเข้าคุกก็ไม่ต้องจำผม ไม่ต้องสนใจผมเลยก็ได้ ทั้งคนใกล้ชิด ทั้งครอบครัว ทั้งเพื่อน ผมเลือกของผมแบบนี้ ผมพอใจแล้ว”
“แม่คงไปเยี่ยมผมอยู่แล้ว ผมก็คงบอกแม่ว่าไม่ต้องไป ไม่ต้องสนใจ แต่ผมเดาได้ว่าแม่ผมก็คงต้องคิดถึง ก็คงต้องไปเยี่ยม ถ้าใครจะไปเยี่ยมผมคงห้ามไม่ได้ แต่ถ้าไม่มีใครไปเยี่ยมผมก็จะเฉยๆ ไม่เสียใจ ถ้าไปก็ขอบคุณ ก็ซาบซึ้งในน้ำใจ”
“ต่อให้รัฐไทยหรือฝ่ายเผด็จการจะมองว่าผมทำตัวเองผมก็ไม่สนใจ หรือแม้แต่ประชาชนเขาไม่ต้องมาเข้าใจหรือเห็นใจแนวทางปัจเจกของผมเลยก็ได้แม้แต่คนเดียว แค่ผมเข้าใจตัวของผมเองเท่านั้น”
ดูไทม์ไลน์คดีของทิวากร https://tlhr2014.com/archives/48773
อ่านปากคำพยาน https://tlhr2014.com/archives/48783"
4 วันในห้องพิจารณา คดี 112 “ทิวากร”: ความเข้าใจต่อการเสนอแนะของสถาบันกษัตริย์ต่อคดี 112 และเจตนาการใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว”
27/09/2565
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
29 ก.ย. 2565 เป็นหมุดหมายสำคัญของ ทิวากร วิถีตน เกษตรกรชาวขอนแก่น วัย 46 ปี เนื่องจากศาลจังหวัดขอนแก่น นัดเขาไปฟังคำพิพากษา หลังปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เขาเดินทางไปศาลถึง 4 วัน เพื่อร่วมการสืบพยานในคดีที่เขาถูกพนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่นฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 116(3) และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) จากการสวมเสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ถ่ายรูปโพสต์ลงเฟซบุ๊ก รวมถึงโพสต์เรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์ยุติการใช้มาตรา 112 และปล่อย 4 แกนนำราษฎร ในช่วงเดือน ก.พ. 2564อ่านไทม์ไลน์คดีของทิวากร “หมดศรัทธา” ไม่ได้แปลว่า “ล้มเจ้า” สำรวจเส้นทางต่อสู้ ‘112’ ของทิวากร
สุวิจักขณ์ มงคลเสาวณิต พนักงานอัยการ ระบุการกระทำและลักษณะความผิดที่กล่าวหาในคำฟ้อง ดังนี้
1. ระหว่างวันที่ 2 มิ.ย. 2563 – 27 ก.พ. 2564 ทิวากรได้โพสต์ภาพตนเองสวมเสื้อสกรีนข้อความ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ซึ่งหมายถึง หมดความเชื่อ หมดความเลื่อมใสในสถาบันกษัตริย์ และองค์พระมหากษัตริย์ด้วย ทำให้ประชาชนที่พบเห็นข้อความมีความรู้สึกในทางลบ อันเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ และการชวนประชาชนมาสวมเสื้อลักษณะเดียวกัน เป็นการยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนร่วมดูหมิ่นพระมหากษัตริย์
2. เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2564 ทิวากรได้โพสต์ข้อความ “หากสถาบันกษัตริย์ไม่ระงับใช้ 112 โดยทันที ก็เท่ากับทำตัวเองเป็นศัตรูกับประชาชน หากสถาบันกษัตริย์เป็นศัตรูกับประชาชนจุดจบคือล่มสลายสถานเดียว” อันเป็นการใส่ความ ทำให้ประชาชนเข้าใจว่า พระมหากษัตริย์แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นความเท็จ
3. เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2564 ทิวากรได้โพสต์ข้อความ “สถาบันกษัตริย์ สั่งให้ปล่อยแกนนำทั้ง 4 คนได้แล้ว จะสร้างเวรกรรมกับประชาชนไปถึงไหน รู้จักการทำดีเพื่อไถ่โทษมั๊ย ไม่อยากให้คนรักคนศรัทธาเหรอ หรือว่าอยากให้คนเกลียด” อันเป็นการใส่ความ ทำให้ประชาชนเข้าใจว่า พระมหากษัตริย์แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม และไม่มีเมตตาต่อประชาชน ซึ่งเป็นความเท็จ
ทิวากรสู้คดีโดยรับว่าเป็นผู้โพสต์รูปและข้อความตามที่โจทก์ฟ้องจริง แต่การกระทำดังกล่าวไม่ได้เข้าองค์ประกอบความผิด “ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์, กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง” ที่โจทก์ฟ้อง
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
29 ก.ย. 2565 เป็นหมุดหมายสำคัญของ ทิวากร วิถีตน เกษตรกรชาวขอนแก่น วัย 46 ปี เนื่องจากศาลจังหวัดขอนแก่น นัดเขาไปฟังคำพิพากษา หลังปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เขาเดินทางไปศาลถึง 4 วัน เพื่อร่วมการสืบพยานในคดีที่เขาถูกพนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่นฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 116(3) และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) จากการสวมเสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ถ่ายรูปโพสต์ลงเฟซบุ๊ก รวมถึงโพสต์เรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์ยุติการใช้มาตรา 112 และปล่อย 4 แกนนำราษฎร ในช่วงเดือน ก.พ. 2564อ่านไทม์ไลน์คดีของทิวากร “หมดศรัทธา” ไม่ได้แปลว่า “ล้มเจ้า” สำรวจเส้นทางต่อสู้ ‘112’ ของทิวากร
สุวิจักขณ์ มงคลเสาวณิต พนักงานอัยการ ระบุการกระทำและลักษณะความผิดที่กล่าวหาในคำฟ้อง ดังนี้
1. ระหว่างวันที่ 2 มิ.ย. 2563 – 27 ก.พ. 2564 ทิวากรได้โพสต์ภาพตนเองสวมเสื้อสกรีนข้อความ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ซึ่งหมายถึง หมดความเชื่อ หมดความเลื่อมใสในสถาบันกษัตริย์ และองค์พระมหากษัตริย์ด้วย ทำให้ประชาชนที่พบเห็นข้อความมีความรู้สึกในทางลบ อันเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ และการชวนประชาชนมาสวมเสื้อลักษณะเดียวกัน เป็นการยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนร่วมดูหมิ่นพระมหากษัตริย์
2. เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2564 ทิวากรได้โพสต์ข้อความ “หากสถาบันกษัตริย์ไม่ระงับใช้ 112 โดยทันที ก็เท่ากับทำตัวเองเป็นศัตรูกับประชาชน หากสถาบันกษัตริย์เป็นศัตรูกับประชาชนจุดจบคือล่มสลายสถานเดียว” อันเป็นการใส่ความ ทำให้ประชาชนเข้าใจว่า พระมหากษัตริย์แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นความเท็จ
3. เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2564 ทิวากรได้โพสต์ข้อความ “สถาบันกษัตริย์ สั่งให้ปล่อยแกนนำทั้ง 4 คนได้แล้ว จะสร้างเวรกรรมกับประชาชนไปถึงไหน รู้จักการทำดีเพื่อไถ่โทษมั๊ย ไม่อยากให้คนรักคนศรัทธาเหรอ หรือว่าอยากให้คนเกลียด” อันเป็นการใส่ความ ทำให้ประชาชนเข้าใจว่า พระมหากษัตริย์แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม และไม่มีเมตตาต่อประชาชน ซึ่งเป็นความเท็จ
ทิวากรสู้คดีโดยรับว่าเป็นผู้โพสต์รูปและข้อความตามที่โจทก์ฟ้องจริง แต่การกระทำดังกล่าวไม่ได้เข้าองค์ประกอบความผิด “ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์, กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง” ที่โจทก์ฟ้อง
4 วันในห้องพิจารณาคดี
24-27 พ.ค. 2565 ศาลขอนแก่นนัดสืบพยานในคดีนี้ โจทก์นำพยานเข้าเบิกความทั้งสิ้น 13 ปาก เป็นชุดสืบสวน สภ.ท่าพระ ที่ติดตามตรวจสอบเฟซบุ๊กของทิวากร จัดทำรายงานการสืบสวน รวมทั้งตรวจค้นจับกุมทิวากร รวม 2 ปาก 1 ในนั้นเป็นผู้ที่ร้องทุกข์กล่าวโทษทิวากรด้วย
พยานตำรวจอีก 1 ปากคือ 1 ในคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ที่เหลืออีก 10 ปาก ล้วนเป็นพยานที่มาให้ความเห็นต่อข้อความตามฟ้อง มีทั้ง กอ.รมน., ปลัดอำเภอ, สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด, กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน, ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน, นายก อบต., ประธานสภาทนายความจังหวัด, อดีตอาจารย์คณะมนุษย์ฯ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์คณะสถิติประยุกต์ มหาวิทยาลัยบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
พยานโจทก์เหล่านี้ส่วนใหญ่เห็นว่า ทิวากรโพสต์ถึงสถาบันกษัตริย์ มีบางปากเท่านั้นที่เห็นว่า ทิวากรมุ่งโพสต์ถึงกษัตริย์รัชกาลที่ 10 แต่ทั้งสองกลุ่มเบิกความในทำนองเดียวกันว่า การระงับใช้มาตรา 112 หรือให้ประกันแกนนําทั้ง 4 คนนั้น เป็นอํานาจของกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่อํานาจของกษัตริย์หรือสถาบันกษัตริย์ และกษัตริย์ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมตามที่ทิวากรโพสต์
ส่วนที่ทิวากรโพสต์รูปสวมเสื้อที่มีข้อความ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” พร้อมเชิญชวนให้บุคคลทั่วไปสวมเสื้อเหมือนกันนั้น มีเพียงพยานโจทก์ปากพนักงานสอบสวนและอานนท์เบิกความถึง โดยทั้งสองเห็นว่า การที่ทิวากรโพสต์เป็นการชักชวนให้คนเกิดความรู้สึกเกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์ และอาจจะมีบุคคลมาแสดงความคิดเห็นลักษณะดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ทั้งสองยังเห็นว่า คำว่า “สถาบันกษัตริย์” ที่ทิวากรโพสต์นั้น มีความหมายถึง กษัตริย์องค์ปัจจุบันด้วย
อย่างไรก็ตาม ทนายจำเลยถามค้านพยานโจทก์ให้เห็นว่า ข้อความที่ทิวากรโพสต์ตามฟ้องระบุถึง “สถาบันกษัตริย์” ไม่ได้ระบุถึงบุคคลใดเป็นการเฉพาะ โดยที่คำว่า “สถาบันกษัตริย์” ก็มีความหมายไม่แน่นอนว่าหมายถึงบุคคลใดบ้าง พยานโจทก์เองตีความแตกต่างกันไป ทั้งบอกจำนวนบุคคลที่แน่ชัดไม่ได้ อีกทั้งก่อนหน้านี้ก็มีความเห็นของนักกฎหมายและคำพิพากษาที่ระบุว่า มาตรา 112 คุ้มครองเฉพาะบุคคล 4 ตำแหน่งในปัจจุบัน ไม่ได้คุ้มครองถึงสถาบันกษัตริย์
รวมถึงเคยมีเหตุการณ์ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 มีพระราชดำรัสแนะนำไม่ให้ใช้มาตรา 112 ซึ่งมีผลให้มีการถอนฟ้องสนธิ ลิ้มทองกุล และไม่มีการดำเนินคดี 112 ช่วงก่อน พ.ย. 2563 โดยที่พยานโจทก์หลายปากรับว่า ทราบถึงเหตุการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะทราบจากข่าวที่ พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ ให้สัมภาษณ์เองว่า รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระเมตตาไม่ให้ใช้มาตรา 112 ดังนั้น หากมีคนพูดตามสิ่งที่นายกฯ พูดก็ไม่น่าจะเป็นความผิด
นอกจากนี้ พยานโจทก์ยังรับด้วยว่า ข้อความตามฟ้องไม่มีคำหยาบคาย หรือแสดงการข่มขู่ หลังทิวากรโพสต์ใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” พร้อมเชิญชวนให้บุคคลทั่วไปสวมเสื้อ ก็มีเพียง 2 คน ใส่เสื้อและโพสต์ตามทิวากร
ทนายจำเลยยังชี้ประเด็นที่ว่า คำให้การของพยานโจทก์ในชั้นสอบสวนที่ให้ความเห็นต่อข้อความที่ทิวากรโพสต์นั้น มีเนื้อหาเหมือนๆ กัน ซึ่งอาจเป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนคัดลอกคำให้การต่อๆ กันมา โดยพยานไม่ได้เข้าใจตามนั้น ทั้งนี้ พยานปากหนึ่งรับว่า ไม่เข้าใจความหมายของข้อความตามฟ้องเลย
ด้านพยานจำเลย มีทิวากรอ้างตนเองเข้าเบิกความเพียงคนเดียว ยืนยันว่า ตนโพสต์ข้อความตามฟ้องทั้ง 3 ข้อ โดยต้องการพูดถึงองค์กรคือสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งปกติหากตนต้องการจะโพสต์ถึงพระมหากษัตริย์หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งก็จะระบุชื่อบุคคลนั้นโดยตรง
ทิวากรยังเบิกความถึงเจตนาในการใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ว่า เพียงต้องการใช้เสรีภาพแสดงออกขั้นพื้นฐาน เพื่อให้สถาบันกษัตริย์ปรับปรุงอยู่ในจุดที่ประชาชนรักและศรัทธาอย่างจริงใจ ไม่มีเจตนาล้อเลียนหรือดูหมิ่นแต่อย่างใด ตนใส่เสื้อดังกล่าวไปยังสถานที่ต่าง ๆ ก็ไม่ปรากฏว่ามีความวุ่นวายเกิดขึ้น
นอกจากนี้ อีก 2 โพสต์ที่ถูกฟ้อง ทิวากรก็ยืนยันว่า โพสต์ด้วยเจตนาดีต่อสถาบันกษัตริย์ เพราะการใช้มาตรา 112 เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน การนำมาใช้จึงเกิดผลเสียต่อสถาบันกษัตริย์ เนื่องจากตนเห็นว่า สถาบันกษัตริย์เป็นผู้เสียหายในคดี 112 ซึ่งมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะบอกให้ใช้หรือไม่ให้ใช้มาตราดังกล่าวได้ ประกอบกับตนเคยเห็นข่าวที่รัชกาลที่ 9, รัชกาลที่ 10 รวมถึง มจ.จุลเจิม แสดงความเห็นในเรื่องการบังคับใช้มาตรา 112 และการให้ประกันแล้วมีผลต่อคดีเหล่านั้น ตนจึงเชื่อว่า สถาบันกษัตริย์ ซึ่งหมายรวมถึงราชองครักษ์ระดับสูง สามารถเสนอแนะหรือแสดงความคิดเห็นต่อการใช้มาตรา 112 ได้
ภาพโดย ประชาไท
.
ปากคำพยานโจทก์
พยานตำรวจ: เหตุที่ดำเนินคดี-สั่งฟ้องทิวากร เนื่องจากกษัตริย์ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกระบวนการยุติธรรมตามที่ทิวากรโพสต์ – “สถาบันกษัตริย์” หมายรวมถึงบุคคลที่ ม.112 คุ้มครอง
พ.ต.ท.สุรัตน์ วันทะมาตย์ รอง ผกก.สส.สภ.ท่าพระ ผู้กล่าวหา และผู้ใต้บังคับบัญชา คือ พ.ต.ท.อาจหาญ แสงสงคราม สารวัตรสืบสวน เบิกความทำนองเดียวกันว่า ประมาณปลายเดือน ธ.ค. 2563 ได้รับคำสั่งให้ติดตามพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของทิวากร วิถีตน เนื่องจากมีการโพสต์เฟซบุ๊ก ชื่อ “ทิวากร วิถีตน” เป็นรูปที่ใส่เสื้อสีขาวมีข้อความว่า “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” จากการติดตามตรวจสอบเฟซบุ๊กดังกล่าวพบว่า มีการโพสต์ข้อความตามฟ้อง จึงรายงานผู้บังคับบัญชา
พ.ต.ท.สุรัตน์ เบิกความอีกว่า ก่อนหน้าที่ตนได้รับมอบหมาย มีการทำรายงานสืบสวนเกี่ยวกับเรื่องนี้ก่อนแล้วโดยมีรายงานอยู่ในแฟ้มการสืบสวน (รายงานการสืบสวนของสันติบาลจังหวัดขอนแก่น) ต่อมา ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งให้ดำเนินคดีกับทิวากรและมอบหมายให้พยานเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ เนื่องจากพระมหากษัตริย์ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมตามที่จำเลยโพสต์
ด้าน พ.ต.ต.สุริยัน ภูนบทอง หนึ่งในคณะพนักงานสอบสวน สภ.ท่าพระ เบิกความว่า เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2564 ทางตํารวจภูธรภาค 4 ได้รับเรื่องว่ามีการร้องทุกข์กล่าวโทษ ทิวากร วิถีตน จึงมีคําสั่งให้ตั้งคณะทํางานสืบสวนสอบสวนเรื่องดังกล่าว วันเดียวกัน พ.ต.ท.สุรัตน์ ก็ได้มาร้องทุกข์เกี่ยวกับการโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กของทิวากรในวันที่ 11 และ 18 ก.พ. 2564 จึงมีการขอให้ศาลออกหมายค้นบ้านพร้อมทั้งออกหมายจับทิวากร ในวันที่ 3 มี.ค. 2564 และเข้าจับกุมทิวากรในวันต่อมา
พนักงานสอบสวนระบุว่า จากการสอบคําให้การพยานหลายคน และรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด คณะพนักงานสอบสวนมีความเห็นว่า การที่ทิวากรโพสต์รูปสวมเสื้อที่มีข้อความดังกล่าว พร้อมเชิญชวนให้บุคคลทั่วไปสวมเสื้อเหมือนกันนั้น อาจจะมีบุคคลมาแสดงความคิดเห็นลักษณะดูหมิ่น อันเป็นการละเมิดพระมหากษัตริย์ ส่วนการโพสต์ข้อความในวันที่ 11 และ 18 ก.พ. 2564 อาจทําให้ประชาชนเข้าใจได้ว่าพระมหากษัตริย์ก้าวล่วงในการใช้กฎหมาย ทั้งที่พระมหากษัตริย์ไม่มีอํานาจที่จะให้ยกเลิกมาตรา 112 และปล่อยตัวแกนนํา แต่เป็นอํานาจของพนักงานสอบสวนหรือศาล
นอกจากนี้ พ.ต.ท.สุริยัน ยังเบิกความว่า เหตุที่มีการดําเนินคดีทิวากรแม้ข้อความที่โพสต์จะระบุถึง “สถาบันกษัตริย์” ไม่ได้ระบุชื่อพระมหากษัตริย์นั้น เนื่องจากพยานเห็นว่า คําว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ มีความหมายถึงพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และพระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงผู้แทนพระองค์ด้วย
.
พยานความเห็น 9 ปาก: กว่าครึ่งระบุ ทิวากรโพสต์ถึง “สถาบันกษัตริย์” ที่เหลือเห็นว่าหมายถึง “กษัตริย์” แต่ต่างไม่มีอำนาจระงับใช้ 112 – ให้ประกัน อาจารย์ภาษาไทยชี้ มีข้อความข่มขู่
พยานบุคคลที่โจทก์นำเข้าเบิกความเพื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อความตามฟ้องรวม 10 ปากนั้น เกือบทุกปากให้ความเห็นเฉพาะข้อความที่ทิวากรโพสต์ในวันที่ 11 และ 18 ก.พ. 2564 ตามที่พนักงานสอบสวนให้ดูเท่านั้น มีเพียงอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ เพียงปากเดียวที่ให้ความเห็นถึงข้อความบนเสื้อที่ทิวากรใส่ด้วย
พ.อ.เชาวลิต แสงคํา กอ.รมน.จ.ขอนแก่น, วิไลวรรณ สมโสภณ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น เชี่ยวชาญด้านภาษาไทย, ศิริพงษ์ ทองศรี นายก อบต.ดอนช้าง และ สุรสิทธิ์ ทุมทา ประธานสภาทนายความจังหวัดขอนแก่น เบิกความถึงความเห็นของตนเองต่อข้อความทั้งสองคล้ายกันว่า ข้อความดังกล่าวหมายถึงพระมหากษัตริย์
ขณะที่ ดุลยภพ แสงลุน ปลัดอําเภอเมืองขอนแก่นฝ่ายความมั่นคง, นาวี แสงฤทธิ์ ผอ.กลุ่มส่งเสริมศาสนาศิลปะและวัฒนธรรม สํานักงานวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น, กํานัน, ผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ที่ทิวากรเป็นลูกบ้าน เบิกความว่า ข้อความทั้งสองหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์
พยานความเห็นเหล่านี้ระบุทำนองเดียวกับตำรวจว่า อํานาจในการระงับใช้มาตรา 112 และให้ประกันตัวแกนนํานั้นไม่ใช่อํานาจของพระมหากษัตริย์หรือสถาบันกษัตริย์ อาจารย์ภาษาไทยเห็นว่า ข้อความ “หากสถาบันกษัตริย์ไม่ระงับใช้ 112 โดยทันที ก็เท่ากับทำตัวเองเป็นศัตรูกับประชาชน หากสถาบันกษัตริย์เป็นศัตรูกับประชาชนจุดจบคือล่มสลายสถานเดียว” มีความหมายโดยรวมในลักษณะข่มขู่สถาบันกษัตริย์ด้วย
.
อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์: “สถาบันกษัตริย์” หมายถึง ร.10 รวมถึงอดีตกษัตริย์ราชวงศ์จักรี-บรมวงศานุวงศ์ใกล้ชิด ชี้ทิวากรโพสต์ข้อความดูหมิ่น เป็นเท็จ อาฆาตมาดร้าย ผิด รธน.มาตรา 6 กระทบความมั่นคง
อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์คณะสถิติประยุกต์ เบิกความว่า พยานเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ โดยศึกษาและเขียนบทความนับร้อยบทความ ลงในผู้จัดการออนไลน์, หนังสือพิมพ์แนวหน้า และไทยโพสต์ มาเป็นเวลาประมาณ 7 – 8 ปีแล้ว และมีการเขียนในเชิงวิพากษ์วิจารณ์การเมืองด้วย
คําว่าสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นหมายถึงองค์พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน อดีตพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ทํางานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ซึ่งเป็นไปตามพระบรมราชโองการ ประกาศสถาบันกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ แต่พระบรมราชโองการไม่ได้ระบุว่าเฉพาะราชวงศ์จักรีหรือไม่ เมื่อพยานดูคําพิพากษาของศาลฎีกา ผู้ที่ตัดสินคือนายศิริชัย วัฒนโยธิน พยานเห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นหมายรวมถึงเฉพาะในราชวงศ์จักรีเท่านั้น
คดีนี้พนักงานสอบสวนได้เรียกพยานมาถามความเห็น พยานดูภาพคนใส่เสื้อมีข้อความว่า “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” เห็นว่า คําว่า “สถาบันกษัตริย์” มีความหมาย 2 อย่าง คือหมายถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน และอีกความหมายหนึ่งหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในปัจจุบันและในอดีต ซึ่งรวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ด้วย
คําว่า “หมดศรัทธา” หมายถึง เชื่อว่าสถาบันกษัตริย์ไม่ใช่สิ่งที่ดีงาม เลวทราม การที่บอกว่าไม่ศรัทธา แสดงว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่แย่มาก ซึ่งเป็นการกระทําที่ผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่บัญญัติว่า ผู้ใดจะละเมิดพระมหากษัตริย์มิได้ การสวมเสื้อดังกล่าวแสดงต่อสาธารณะและโพสต์ในเฟซบุ๊กนั้นเป็นการชักชวนให้คนเกิดความรู้สึกเกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์หรือหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์
พยานดูโพสต์ที่มีข้อความ “หากสถาบันกษัตริย์ไม่ระงับใช้ 112 โดยทันที ก็เท่ากับทำตัวเองเป็นศัตรูกับประชาชน หากสถาบันกษัตริย์เป็นศัตรูกับประชาชนจุดจบคือล่มสลายสถานเดียว” มีความเห็นว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 เนื่องจากรัชกาลที่ 10 ไม่สามารถที่จะระงับใช้กฎหมายโดยพระองค์เองได้ เพราะไม่ใช่พระราชอํานาจ
นอกจากนี้ยังมีข้อความว่า พระมหากษัตริย์ทําตัวเป็นศัตรูกับประชาชน ซึ่งเป็นข้อความดูหมิ่น และเป็นความเท็จโดยไม่มีหลักฐานใด และข้อความว่า สถาบันกษัตริย์จะล่มสลายสถานเดียว นั้น เป็นการขู่อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์
ส่วนข้อความ “สถาบันกษัตริย์ สั่งให้ปล่อยแกนนำทั้ง 4 คนได้แล้ว จะสร้างเวรกรรมกับประชาชนไปถึงไหน รู้จักการทำดีเพื่อไถ่โทษมั๊ย ไม่อยากให้คนรักคนศรัทธาเหรอ หรือว่าอยากให้คนเกลียด” พยานดูแล้วมีความเห็นว่าคําว่า “สถาบันกษัตริย์” นั้นหมายถึงรัชกาลที่ 10 ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นการดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 เพราะพระมหากษัตริย์ไม่ทรงมีอํานาจในการปล่อยตัวผู้กระทําความผิดได้
การกล่าวหาว่าพระมหากษัตริย์สร้างเวรสร้างกรรมต่อประชาชน ทั้งที่ผู้กระทําความผิดจะต้องได้รับโทษตามกฎหมายที่บัญญัติ คําว่า รู้จักการทําความดีเพื่อไถ่โทษไหม แสดงว่า พระมหากษัตริย์ไม่รู้จักการทําความดีเลย เป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ คําว่า ไม่อยากให้คนรักและศรัทธา หรืออยากให้คนเกลียด แสดงให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์มีจิตใจอันโหดร้ายไม่ได้สนใจความรู้สึกนึกคิดของประชาชน
การที่จําเลยโพสต์ข้อความดังกล่าว อ้างว่าเป็นการแสดงความเห็น เป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้น พยานไม่เห็นด้วย เนื่องจากการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ซึ่งการโพสต์ข้อความดังกล่าวนั้นกระทบสิทธิเสรีภาพของพระเจ้าแผ่นดิน สิทธิเสรีภาพจะต้องไม่ล่วงละเมิดศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยการกล่าวดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนชาวไทย สิทธิเสรีภาพต้องไม่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ การกระทําของจําเลยดังกล่าวกระทบต่อความมั่นคง และสิทธิเสรีภาพจะต้องไม่ผิดต่อกฎหมาย แต่การกระทําของจําเลยผิดต่อกฎหมาย
พยานโจทก์รับ ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญที่ขึ้นทะเบียนของศาล ทั้งไม่มีผลงานวิชาการด้านสถาบันกษัตริย์ แต่ไปให้ความเห็นคดี 112 ราว 100 คดีแล้ว
ด้านทนายจำเลยได้ซักค้านพยานโจทก์ที่มาเบิกความในฐานะพยานนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ คือ อานนท์ อาจารย์คณะสถิติประยุกต์ และวิไลวรรณ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ฯ ถึงสถานะความเป็นผู้เชี่ยวชาญ โดยทั้งสองเบิกความตอบว่า ไม่ได้ขึ้นทะเบียนหรือเคยได้รับการแต่งตั้งเป็นเป็นผู้เชี่ยวชาญของสํานักงานศาลยุติธรรม
อานนท์ยังรับว่า ไม่เคยมีบทความทางวิชาการเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ลงในวารสารระดับชาติและระดับเทียร์ 1 แต่กําลังเขียนและดําเนินการตีพิมพ์ นอกจากนี้ ตนเคยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการรัฐประหาร และเคยเบิกความในคดีอื่นว่า ไม่เห็นด้วยกับการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
อาจารย์สถิติยังระบุว่า ตํารวจเคยเรียกตนไปให้ความเห็นในคดีมาตรา 112 ประมาณ 100 คดี มี 5 – 6 คดี ซึ่งพยานมีความเห็นว่า ไม่เข้ามาตรา 112 บางคดีตนบอกพนักงานสอบสวนว่า ไม่ชํานาญในเรื่องนั้น ให้ไปสอบถามบุคคลอื่นที่ชํานาญ แต่ในคดีนี้ตนไม่ได้บอกพนักงานสอบสวนว่าให้ไปถามความเห็นจากบุคคลอื่น
พ.ต.ท.สุรัตน์ ผู้รวบรวมข้อมูลของทิวากรและเข้าแจ้งความก็ระบุว่า ไม่มีประสบการณ์ในการทำคดีมาตรา 112
.
พยานโจทก์ตีความคำว่า “สถาบันกษัตริย์” แตกต่างกันไป ทั้งบอกจำนวนบุคคลแน่ชัดไม่ได้
ในส่วนพยานความเห็นของโจทก์ได้ตอบทนายจำเลยถึงความหมายของคำว่า “สถาบันกษัตริย์” ตามความเข้าใจของตนแตกต่างกันไป มีทั้งเห็นว่าหมายถึงองค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ในปัจจุบัน รวมถึงพระมหากษัตริย์ในอดีต และที่เห็นว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน
พ.อ.เชาวลิต กอ.รมน. เห็นว่า หมายถึง พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันและพระบรมวงศานุวงศ์ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงองคมนตรี, ทหารราชองครักษ์ และข้าราชการในสํานักพระราชวัง ขณะที่หากพูดถึงสถาบันทหารจะหมายถึงผู้นําเหล่าทัพ รวมถึงกองทัพทั้งหมด
ด้านอานนท์ที่เบิกความว่า คําว่าสถาบันพระมหากษัตริย์หมายถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน อดีตพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ตามพระบรมราชโองการประกาศสถาบันกษัตริย์นั้น ได้ตอบทนายจำเลยว่า ในชั้นสอบสวนตนไม่ได้ให้การถึงพระบรมราชโองการมาก่อน อีกทั้งพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ในอดีตจนถึงปัจจุบันในความหมายของสถาบันกษัตริย์นั้นก็มีหลายพระองค์ ไม่สามารถบอกจำนวนได้ และตามความเห็นของพยาน ผู้แทนพระองค์ก็ถือว่าอยู่ในสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย
เช่นเดียวกันพนักงานสอบสวนและพยานความเห็นซึ่งเห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์รวมถึงพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ในอดีตด้วยนั้น ก็ไม่สามารถตอบทนายจำเลยได้ว่า มีทั้งหมดกี่พระองค์
.
ข้อความตามฟ้องระบุถึง “สถาบันกษัตริย์” ไม่ได้ระบุถึงกษัตริย์องค์ใด
รอง ผกก.สืบสวน สภ.ท่าพระ ผู้กล่าวหาในคดีนี้ และพนักงานสอบสวน ตอบทนายจำเลยสอดคล้องกันว่า พยานเคยเห็นว่า หากจำเลยต้องการเอ่ยถึงพระมหากษัตริย์ก็จะระบุถึงโดยตรง แต่ข้อความตามฟ้องนั้นระบุถึงสถาบันกษัตริย์ ไม่ได้ระบุถึงพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 หรือรัชกาลที่ 10 แต่อย่างใด เช่นเดียวกับพยานความเห็นอีกหลายปากที่รับว่า ข้อความตามฟ้อง ไม่ได้ระบุชื่อพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 หรือพระองค์ใด
.
ข้อความที่โพสต์ไม่หยาบคาย หรือข่มขู่ เป็นเพียงการตั้งข้อแม้
นอกจากนี้ พ.อ.เชาวลิต ยังรับว่า ข้อความที่ทิวากรโพสต์และถูกฟ้องนั้นไม่มีคำหยาบคาย ด้านอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยซึ่งเบิกความว่า ข้อความ “…หากสถาบันกษัตริย์เป็นศัตรูกับประชาชนจุดจบคือล่มสลายสถานเดียว” มีความหมายโดยรวมในลักษณะข่มขู่สถาบันกษัตริย์ รับกับทนายจำเลยว่า ข้อความดังกล่าวไม่ได้บอกว่าผู้โพสต์จะทําอะไรที่ทําให้สถาบันกษัตริย์ล่มสลาย เป็นการตั้งข้อแม้ว่าหากมีสิ่งนี้เกิดขึ้นก็จะมีผลแบบนี้
ขณะปลัดอำเภอเมืองขอนแก่นระบุว่า เมื่อพยานเห็นข้อความตามฟ้องที่ทิวากรโพสต์แล้วพยานยังรักในสถาบันพระมหากษัตริย์เหมือนเดิม
.
ทิวากรเคยโพสต์อธิบาย “หมดศรัทธา” ไม่ได้แปลว่า “ล้มเจ้า”
พ.ต.ท.สุรัตน์ ผู้กล่าวหา รับกับทนายจำเลยว่า พยานเคยเห็นในรายงานการสืบสวนที่มีคนทำไว้ก่อนหน้าว่า จำเลยได้โพสต์อธิบายข้อความ “เราหมดศรัทธาในสถาบันกษัตริย์แล้ว” ไว้ว่า จำเลยไม่ได้มีเจตนาล้มเจ้า โดยอานนท์ก็เคยได้เห็นคำอธิบายดังกล่าวจากพนักงานสอบสวนเช่นกัน
.
ตำรวจให้ดูเฉพาะข้อความที่กล่าวหาทิวากรแล้วถามความเห็น พยานรับ หากได้ดูคอมเมนท์อาจตีความแบบอี่นได้
ขณะที่พยานความเห็นหลายคนเบิกความตอบทนายจำเลยว่า พนักงานสอบสวนให้พยานดูเฉพาะข้อความที่ทิวากรโพสต์ตามฟ้องเท่านั้น ไม่ได้ให้ดูข้อความในส่วนที่มีการแสดงความคิดเห็น รวมทัังพยานไม่เคยเห็นโพสต์อื่นๆ ของทิวากร อ.วิไลวรรณ ยังระบุว่า หากพยานได้ดูข้อความที่มีการแสดงความคิดเห็นแล้วอาจจะมีการแปลความหมายเป็นอีกอย่างหนึ่งได้
นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนรับว่า ทิวากรได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กมีเนื้อหาว่า ไม่สนับสนุนการต่อต้านสถาบันกษัตริย์ด้วยความรุนแรงในทุกรูปแบบ รวมทั้งไม่ดูหมิ่น ด่าหยาบคาย ซึ่งในการสอบคําให้การของพยานในชั้นสอบสวนนั้น ตนไม่ได้ให้พยานเหล่านั้นดูโพสต์ดังกล่าวนี้ รวมถึงโพสต์ที่ทิวากรอธิบายถึงคำว่า “หมดศรัทธา” ไม่ได้แปลว่า “ล้มเจ้า”
.
ทิวากรไม่เคยมีพฤติกรรมกระทบความมั่นคง-สถาบันกษัตริย์
ทั้งตำรวจฝ่ายสืบผู้กล่าวหา, กอ.รมน., ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง และผู้ใหญ่บ้าน รับว่า ก่อนถูกดำเนินคดีนี้ทิวากรไม่เคยมีประวัติถูกจับตามองว่ามีการกระทําที่กระทบต่อความมั่นคงหรือสถาบันกษัตริย์ หรือมีประวัติใช้ความรุนแรง
.
มีเพียง 2 คน ใส่เสื้อและโพสต์ตามทิวากร
พนักงานสอบสวนตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า เมื่อทิวากรโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กตามฟ้องก็มีบุคคลมาแสดงคิดเห็นทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และตามรายงานการสืบสวนของสันติบาล จ.ขอนแก่น ไม่ปรากฏว่ามีคนในหมู่บ้านสวมเสื้อที่มีข้อความ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ตามทิวากร
พนักงานสอบสวนยังรับว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์นั้นไม่ได้มีการนัดหมายให้บุคคลมารวมกัน มีเพียงการเชิญชวนให้สวมเสื้อเท่านั้น และเท่าที่ปรากฏก็มีบุคคลสวมเสื้อดังกล่าวโพสต์ลงเฟซบุ๊กเพียง 2 คนเท่านั้น ไม่ได้มีการรวมกลุ่มทํากิจกรรม
ทนายจำเลยยกความเห็นนักวิชาการ-คำพิพากษา ชี้ มาตรา 112 คุ้มครองบุคคล 4 ตำแหน่งในปัจจุบัน ไม่ได้คุ้มครองถึงสถาบันกษัตริย์
ในการถามค้านนั้น ทนายจำเลยได้นำคำพิพากษาศาลจังหวัดนครพนมในคดีมาตรา 112 ซึ่งศาลจังหวัดนครพนมได้วินิจฉัยว่า สถาบันกษัตริย์ไม่ใช่องค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 ให้ พ.ต.ท.สุรัตน์ ผู้กล่าวหา และ พ.ต.ต.สุริยัน หนึ่งในคณะพนักงานสอบสวนดู ทั้งสองรับว่าในการประชุมของคณะทำงานสืบสวนสอบสวนช่วงที่พยานเข้าประชุมไม่เคยมีการนําเอกสารดังกล่าวมาพูดคุย
นอกจากนี้ พ.ต.ต.สุริยัน ระบุว่า ในการประชุมคณะพนักงานสอบสวนไม่ได้มีการพูดถึงความเห็นของนักวิชาการ เช่น ศจ.จิตติ ติงศภัทิย์, ศจ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ ซึ่งอธิบายไว้ว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต้องเป็นกรณี ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ที่ดำรงตำแหน่ง ณ ขณะปัจจุบันที่มีการกระทำความผิดเท่านั้น
ด้านอานนท์ตอบทนายจำเลยว่า ความเห็นของนักวิชาการดังกล่าวแตกต่างจากความเห็นของตน โดยนักวิชาการเหล่านั้นได้แสดงความเห็นก่อนที่จะมีประกาศพระบรมราชโองการประกาศสถาบันกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์โดยอิงกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 6
.
ร.9, ร.10 เคยแนะนำไม่ให้ใช้ ม.112 มีผลให้มีการถอนฟ้องสนธิปี 49 และไม่มีการดำเนินคดี 112 ช่วงก่อน พ.ย. 63
พ.ต.ท.สุรัตน์ ผู้กล่าวหา ตอบทนายจำเลยว่า พยานทราบว่ารัชกาลที่ 9 เคยมีพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2548 ไม่ให้ใช้มาตรา 112 โดยพร่ำเพรื่อ และเคยเห็นข่าวที่อัยการถอนฟ้องมาตรา 112 สนธิ ลิ้มทองกุล ในปี 2549 ด้านอานนท์ก็ทราบถึงพระราชดํารัสในครั้งนั้นเช่นกัน
พ.ต.ท.สุรัตน์ ยังรับว่า โดยปกติหากประชาชนมีความเดือดร้อนก็อาจจะถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์โดยตรงได้ และเคยเห็นข่าวว่า สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เคยถวายฎีกากรณีที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 หลังจากนั้นรัชกาลที่ 10 ก็มีคำสั่งให้ไม่ดำเนินคดี รวมทั้งเคยเห็นข่าวที่ ส.ศิวรักษ์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ใช้มาตรา 112 ผิดพระบรมราชโองการของในหลวงรัชกาลที่ 10
พ.ต.ท.สุรัตน์ รวมทั้งพยานโจทก์อีกหลายปาก ระบุกับทนายจำเลยด้วยว่า เคยทราบข่าวที่นายกฯ ให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ว่า รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระเมตตาไม่ให้ใช้มาตรา 112
สอดคล้องกับที่ พ.ต.ท.สุรัตน์ ตอบทนายจำเลยว่า ทิวากรโพสต์ข้อความและภาพที่ใส่เสื้อมีข้อความ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 ที่ไม่มีการดำเนินคดีในตอนนั้น เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายไม่ดำเนินคดีมาตรา 112 ตามข่าวที่นายกฯ ให้สัมภาษณ์ดังกล่าว ต่อมา เดือนพฤศจิกายน 2563 พยานทราบว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีหนังสือให้ดำเนินคดีบุคคลตามมาตรา 112 ด้วย จึงได้มีการดำเนินคดีทิวากรในปี 2564
.
ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์เองว่า ในหลวงไม่ให้ใช้ ม.112 แต่ไม่เคยถูกดำเนินคดี คนพูดตามก็ไม่น่ามีความผิด
สุรสิทธิ์และวิไลวรรณให้ความเห็นตอบทนายจำเลยว่า จากข่าวที่นายกฯ ให้สัมภาษณ์ว่า ในหลวงทรงมีพระเมตตาไม่ให้ใช้ ม.112 นั้น เป็นการแสดงความคิดเห็นของนายกฯ และหากมีคนพูดตามสิ่งที่นายกฯ พูดก็ไม่น่าจะเป็นความผิดอะไร ด้านอานนท์ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ตนทราบว่ามีข่าวดังกล่าว แต่ไม่เคยไปแจ้งความให้ดําเนินคดีนายกฯ ในขณะที่พนักงานสอบสวนไม่ขอออกความเห็นว่า หากตนเห็นข่าวดังกล่าวแล้วจะดําเนินคดีกับนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ทั้งนี้ ในที่ประชุมคณะพนักงานสอบสวนก็ไม่ได้มีการพูดถึงเนื้อความของข่าวดังกล่าว
.
อานนท์รับ กษัตริย์ถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความเคารพได้
อานนท์เบิกความตอบทนายจำเลยว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่บัญญัติไว้ว่า พระมหากษัตริย์ถูกละเมิดไม่ได้นั้น หมายถึงสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ด้วยความเคารพสูงสุด และต้องไม่ถูกละเมิด
.
พยานรับ คำให้การชั้นสอบสวนที่ให้ความเห็นว่า ทิวากรผิดอย่างไร มีเนื้อหาเหมือนของคนอื่น ขณะบางคนระบุ ไม่เข้าใจความหมาย “ยกเลิก 112”
พยานโจทก์ส่วนใหญ่ทั้งผู้กล่าวหา, ชุดสืบสวน, กอ.รมน., ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง และพยานความเห็น รับกับทนายจำเลยว่า คำให้การชั้นสอบสวนของตนที่ให้ความเห็นไว้ว่า ข้อความตามฟ้องเป็นความผิดอย่างไรนั้นเหมือนกันกับคำให้การของพยานคนอื่น
วิญญู ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านระบุด้วยว่า พยานเล่นเฟซบุ๊กไม่เป็น ไม่เข้าใจคําว่าโพสต์และคอมเมนต์ว่าหมายถึงอะไร ข้อความที่โพสต์ว่า 4 แกนนํานั้นหมายถึงใครพยานไม่ทราบ และข้อความที่บอกว่ายกเลิก 112 หมายถึงอะไรพยานก็ไม่ทราบ พยานไม่ได้อ่านข้อความในบันทึกคําให้การชั้นสอบสวนและพนักงานสอบสวนก็ไม่ได้อ่านให้ฟัง
.
พนักงานสอบสวนยืนยัน แจ้งข้อหาทิวากรใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาฯ” ผิดเฉพาะ ม.116
พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาจําเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในส่วนที่จำเลยโพสต์ข้อความในวันที่ 11 และ 18 ก.พ. 2564 ส่วนที่จําเลยโพสต์ข้อความและภาพที่สวมเสื้อสีขาวมีตัวหนังสือสีแดงว่า “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” และมีการลงข้อความเชิญชวนให้บุคคลมาสวมเสื้อดังกล่าวนั้นได้แจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา 116 ไม่ใช่มาตรา 112
.
ปากคำทิวากร จำเลยในคดี
ทิวากร วิถีตน จำเลย เข้าเบิกความในฐานะพยานจำเลยเพียงปากเดียวในคดีนี้ โดยกล่าวคำปฏิญาณก่อนเริ่มเบิกความว่า พยานจะเบิกความด้วยความสัตย์จริงและจากใจจริง จากนั้นเบิกความตอบทนายจำเลยว่า พยานจบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า นอกจากคดีนี้พยานไม่เคยถูกดําเนินคดีอาญามาก่อน
พยานสนใจเกี่ยวกับการเมืองตั้งแต่ปลายปี 2548 พยานเป็นคนโพสต์ข้อความตามฟ้องทั้ง 3 ข้อ ในเฟซบุ๊กด้วยตนเอง โดยพยานต้องการที่จะพูดถึงองค์กรคือ สถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ได้เป็นการพูดถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งปกติหากพยานต้องการจะโพสต์ถึงพระมหากษัตริย์หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง พยานก็จะระบุชื่อบุคคลนั้นโดยตรง
.
ใส่เสื้อ “หมดศรัทธา” เจตนาใช้เสรีภาพแสดงออกถึง “สถาบันกษัตริย์” เพื่อปรับปรุงให้ประชาชนศรัทธา
ที่พยานทําเสื้อสีขาวมีข้อความว่า “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ที่มีการโพสต์เฟซบุ๊กนั้น เจตนาคือต้องการแสดงความรู้สึกนึกคิดอันเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการพูดและการแสดงออก ซึ่งคําว่า “หมดศรัทธา” นั้นไม่ได้เป็นการล้อเลียน ลบหลู่ หรือดูหมิ่น หมิ่นประมาท และข้อความดังกล่าวไม่ได้หยาบคาย หรือเป็นการอาฆาตมาดร้าย โดยพยานก็ได้เขียนอธิบายความหมาย รวมถึงวิธีการที่จะเรียกศรัทธากลับมาไว้ในเฟซบุ๊กของพยานด้วย
พยานโพสต์ข้อความดังกล่าวด้วยความหวังดีต่อสถาบันกษัตริย์ ซึ่งในขณะนั้นพยานมองเห็นว่า สถานะและอํานาจของสถาบันกษัตริย์อยู่ในจุดที่จะไม่เป็นที่ศรัทธาของประชาชน เนื่องจากพยานได้ดูจากโซเซียลมีเดียต่าง ๆ ที่มีการพูด การแสดงออก และตั้งคําถามต่อสถาบันกษัตริย์ในทิศทางที่ไม่ได้รักและศรัทธาสถาบันกษัตริย์ในรูปแบบต่าง ๆ หลายข้อความถึงขั้นด่าหยาบคาย พยานเล็งเห็นว่า ทางเดียวที่จะแก้ไขคือสถาบันกษัตริย์ต้องปรับปรุงตนเองเพื่อให้อยู่ในจุดที่ประชาชนรักและศรัทธาจากใจจริง ไม่ตะขิดตะขวงใจ
หลังจากที่มีการทําเสื้อและโพสต์ข้อความดังกล่าวแล้ว พยานได้โพสต์สอบถามกองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เกี่ยวกับการสวมเสื้อที่มีข้อความดังกล่าว ซึ่งพยานเชื่อว่าทาง กอ.รมน. จะเห็นข้อความที่พยานโพสต์อยู่แล้ว เนื่องจากทาง กอ.รมน.ได้ติดตามข้อความในเฟซบุ๊กของพยานโดยตลอด
แต่ทาง กอ.รมน.ไม่ได้มีข้อความแจ้งว่า พยานไม่สามารถที่จะสวมเสื้อที่มีข้อความดังกล่าวหรือแจกเสื้อดังกล่าวแก่บุคคลอื่นได้ ซึ่งหากทาง กอ.รมน.ให้บุคคลมาแจ้งเรื่องดังกล่าวแก่พยานว่า เป็นการกระทบต่อความมั่นคงก็สามารถมาจับกุมพยานได้เลย แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีบุคคลใดมาจับกุมพยาน
พยานได้สวมเสื้อที่มีข้อความดังกล่าวไปยังสถานที่ต่าง ๆ ก็ไม่ปรากฏว่ามีความวุ่นวายหรือมีข้อทักท้วงจากบุคคลใด
ภาพจากเฟซบุ๊ก ทิวากร วิถีตน
2 โพสต์ เรื่อง 112 เหตุละเมิดสิทธิมนุษยชน การนำมาใช้ทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสีย
องค์การสหประชาชาติให้ความเห็นมาโดยตลอดว่าการใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ถึงขนาดบอกว่าเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ตามเอกสารที่ทนายจําเลยอ้างส่งศาล (บทความเรื่อง “บทบัญญัติที่ไม่ควรมีที่ทางในประเทศประชาธิปไตย: ย้อนดู ม.112 ในสายตากลไกสิทธิมนุษยชน UN” โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)
และตามความเห็นของพยานที่ได้โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 11 และ 18 ก.พ. 2564 นั้น พยานมองว่าการใช้มาตรา 112 เป็นการทําให้ประชาชนไม่สามารถท้วงติงสถาบันกษัตริย์ได้ เนื่องจากการตีความการใช้มาตรา 112 ไม่มีมาตรฐาน ตีความกว้างมาก ทําให้ประชาชนผู้หวังดีต่อสถาบันกษัตริย์ไม่กล้าที่จะท้วงติงสถาบันกษัตริย์ด้วยเจตนาดี เมื่อประชาชนไม่สามารถจะท้วงติงสถาบันกษัตริย์ด้วยเจตนาดี สถาบันกษัตริย์ก็จะไม่รู้ว่าตนเองมีจุดบกพร่องอย่างไร ทําให้สถาบันกษัตริย์ทําในสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควรและไม่เป็นที่ยอมรับไปเรื่อย ๆ
ดังนั้น การใช้มาตรา 112 จึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติตามที่องค์การสหประชาชาติเคยให้ความเห็นไว้ ทําให้เกิดผลเสียต่อสถาบันกษัตริย์ เพราะเจ้าทุกข์ของมาตราดังกล่าวคือสถาบันกษัตริย์ จึงทําให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสียไปด้วยโดยปริยาย
.
ม.112 มีสถาบันกษัตริย์เป็นผู้เสียหาย จึงมีสิทธิบอกให้ใช้หรือไม่ให้ใช้ – เคยมีเหตุให้เชื่อว่า การแสดงความเห็นของสถาบันกษัตริย์ มีผลต่อคดี 112
เหตุที่พยานเรียกร้องไปทางสถาบันกษัตริย์ให้ระงับใช้มาตรา 112 และให้ปล่อยตัวแกนนําทั้งสี่คนนั้น เนื่องจากความผิดในมาตรา 112 สถาบันกษัตริย์เป็นเจ้าทุกข์ที่มีสิทธิอันชอบธรรมที่จะบอกว่าให้ใช้หรือไม่ให้ใช้มาตราดังกล่าว
เหตุที่พยานเชื่อว่าสถาบันกษัตริย์สามารถเสนอแนะหรือแสดงความคิดเห็นว่า สามารถระงับใช้มาตรา 112 และสามารถสั่งให้ปล่อยตัวแกนนําได้นั้น เนื่องจากเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2548 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยมีพระราชดํารัสเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้ (ความโดยสรุปว่า ไม่เคยบอกให้คนที่ละเมิดพระมหากษัตริย์เข้าคุก ถ้าเข้าคุกแล้วก็ให้ปล่อย ถ้ายังไม่เข้าก็ไม่ฟ้อง) หลังจากที่รัชกาลที่ 9 ได้มีพระราชดํารัสดังกล่าวแล้ว วันที่ 7 ธ.ค. 2548 ทักษิณ ชินวัตร ก็ได้มีการถอนฟ้องคดีมาตรา 112 ที่ฟ้องสนธิ ลิ้มทองกุล
นอกจากนี้ ในเดือนมิถุนายน 2563 พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีก็ให้ข่าวว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 มีพระราชดํารัสไม่ให้ดําเนินคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 และมีข่าวในเดือนพฤศจิกายน 2563 ว่า ส.ศิวรักษ์ ได้ออกมาพูดว่า ในหลวงองค์ปัจจุบันมีลายพระหัตถ์ถึงอัยการสูงสุดและประธานศาลฎีกาให้ยุติการใช้มาตรา 112 จากนั้นมีข่าวที่ ส.ศิวรักษ์ เปิดเผยภายหลังว่า คําสั่งไม่ฟ้องคดีของอัยการทหารเป็นผลมาจากการทูลเกล้าถวายฎีกาต่อรัชกาลที่ 10 ซึ่งทรงพระมหากรุณาธิคุณ โดยแนะนํารัฐบาลให้ยุติคดีดังกล่าว ทําให้ในช่วงปี 2561 ถึง 2563 ไม่มีการดําเนินคดีความผิดเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คดีที่มีการดําเนินคดีในช่วงดังกล่าวนั้นก็มีคําพิพากษายกฟ้อง และมีคําสั่งไม่ฟ้องเกือบทั้งหมด
จากเหตุการณ์ดังกล่าวทั้งหมดมาทําให้พยานเชื่อว่า พระราชดํารัสหรือการแสดงความคิดเห็นของสถาบันกษัตริย์มีผลต่อการใช้หรือไม่ใช้มาตรา 112
คําว่า สถาบันกษัตริย์ ที่พยานพูดถึงนั้นหมายถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน พระบรมวงศานุวงศ์ในปัจจุบัน องคมนตรี ประธานองคมนตรี ราชเลขานุการ ราชองครักษ์ระดับสูง
ในหลวงรัชกาลที่ 10 มีประกาศแต่งตั้ง พล.อ.มจ.จุลเจิม ยุคล เป็นนายทหารพิเศษ และ พล.อ.มจ.จุลเจิม เคยโพสต์แสดงความเห็นเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2563 ว่า ควรนำมาตรา 112 ออกมาใช้ได้แล้ว ซึ่งพยานเห็นว่าเป็นความเห็นของราชองครักษ์ระดับสูงและพระบรมวงศานุวงศ์ พยานจึงเชื่อว่าการให้ความเห็นดังกล่าวนั้นเป็นการพูดในนามของสถาบันพระมหากษัตริย์
หลังจากนั้นในวันดังกล่าวนายกรัฐมนตรีก็ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายแก่ผู้ชุมนุม โดยให้ดําเนินคดีทุกมาตรา
ต่อมา ในวันที่ 2 ก.พ. 2564 มจ.จุลเจิม ยุคล ได้โพสต์ตั้งคําถามถึงตุลาการเกี่ยวกับการให้ประกันตัวผู้กระทําความผิดมาตรา 112 ซึ่งหลังจากนั้นในวันที่ 9 ก.พ. 2564 ศาลก็ไม่ให้ประกันตัวแกนนําผู้ชุมนุม 4 ราย
จากเหตุการณ์ดังกล่าวมานั้นทําให้พยานเข้าใจได้ว่า การแสดงความคิดเห็นในนามของสถาบันพระมหากษัตริย์ก็มีผลในการให้ประกันบุคคลที่ถูกดําเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
การที่พยานโพสต์ข้อความในวันที่ 11 และ 18 ก.พ. 2564 นั้นเพราะพยานหวังดีต่อสถาบันกษัตริย์ หากมีการนํามาตรา 112 มาใช้จะเป็นการทําร้ายประชาชนในนามสถาบันกษัตริย์ และจะทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาต่อสถาบันกษัตริย์ อาจจะถึงขั้นเกลียดชังสถาบันกษัตริย์ ในสภาวะแบบนี้เท่ากับว่าสถาบันกษัตริย์จะเป็นศัตรูกับประชาชน การที่สถาบันกษัตริย์เป็นศัตรูกับประชาชนจะทําให้สถาบันกษัตริย์ไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ในที่สุดอาจจะทําให้สถาบันกษัตริย์ล่มสลายได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
พยานจึงได้โพสต์ข้อความเพื่อแสดงความคิดเห็นว่า หากประชาชนเชื่อว่า สถาบันกษัตริย์ไม่ได้ใช้มาตรา 112 เพื่อทําร้ายประชาชน ก็จะไม่เป็นศัตรูกับประชาชนไปโดยปริยาย อันเป็นการรักษาไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ เหมือนที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยให้พระราชดํารัสไว้
.
มีนิสัยพูดตรงไปตรงมาอย่างจริงใจ แต่ไม่หยาบคาย ดูหมิ่น หรือขู่อาฆาตใคร
ที่พยานแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาเนื่องจากเป็นนิสัยของพยานที่จะพูดด้วยความจริงใจอย่างตรงไปตรงมา จึงพูดข้อความออกไปโดยที่ไม่ต้องใช้คําสวยหรู แต่ก็ไม่ได้เป็นคําหยาบคาย ไม่ได้เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท และไม่ได้เป็นการอาฆาตมาดร้าย โดยพยานได้โพสต์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้ในเฟซบุ๊กของพยานเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2564
หลังจากที่พยานถูกเจ้าหน้าที่นําตัวไปที่โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์แล้ว พยานได้ออกจากโรงพยาบาล พยานก็ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับความตั้งใจของพยานและข้อเสนอแนะในการอยู่ร่วมกันของคนที่เห็นต่างเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ลงในเฟซบุ๊กของพยานเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2563
เกี่ยวกับคดีนี้หลังจากตํารวจจับกุมพยานแล้ว พยานได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนไว้โดยละเอียด ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาลงวันที่ 4 มี.ค. 2564 ซึ่งในเอกสารดังกล่าวนั้นพยานได้ตอบคําถามข้อหนึ่งว่า สาเหตุที่พยานหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์เนื่องจากพยานได้อ่านหนังสือกรณีการสวรรคตรัชกาลที่ 8 และจากการศึกษาเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์นั้นไม่ได้เกิดในรัชสมัยของรัชกาลที่ 10
เกี่ยวกับการดําเนินคดีมาตรา 112 นั้น ศาลจังหวัดนครพนมเคยมีคําพิพากษายกฟ้อง (ระบุเหตุผลประการหนึ่งว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ใช่องค์ประกอบความผิดของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112)
.
ดูคำเบิกความพยานโดยละเอียด คดี 112, 116 ทิวากร สวมเสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์” – โพสต์ยุติการใช้ 112