วันพฤหัสบดี, กันยายน 29, 2565

ห้องสมุดคุณพระช่วย ชวนคุยอยู่ 2-3 ประเด็น พระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่ผ่านไป บางประเด็นเทียบกับพระราชพิธีพระบรมศพของทางไทย


ห้องสมุดคุณพระช่วย
5d

พระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ผ่านไปอย่างสมพระเกียรติเมื่อวันจันทร์ที่ 19 กันยายน 2565 ตลอดพิธีการ ผู้ชมการถ่ายทอดสดคงได้เห็นความอลังการของขบวนพิธีไปแล้ว
วันนี้มีประเด็นที่จะชวนคุยอยู่ 2-3 ประเด็น บางช่วงอาจเทียบกับพระราชพิธีพระบรมศพของทางไทย
1. คำเรียกกษัตริย์ต่างประเทศ
ก่อนอื่นดูเรื่องคำเรียกกษัตริย์ต่างประเทศ ผศ.ดร.อาทิตย์ ชีรวณิชย์กุล อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความรู้ในเฟซบุ๊กของท่าน ว่าสมัยก่อนคำเรียกกษัตริย์ต่างประเทศใช้ "สมเด็จพระเจ้า" เช่น สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 กรุงเกรตบริเตน ส่วนคำเรียกราชินีก็เป็น "สมเด็จพระนางเจ้า" เช่น สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย
ปัจจุบัน คำเรียกกษัตริย์ชาติอื่นๆ แปรเรียก "สมเด็จพระราชาธิบดี" ทั้งสิ้น คงแต่ชาติบริเตนเท่านั้นยังคงเรียก "สมเด็จพระเจ้า" ดังเห็นในพระราชสาส์นถึงสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3
คำเรียกราชินีก็เปลี่ยน ถ้าเป็นพระราชินีที่ขึ้นครองราชย์ (Queen regnant) เรียก "สมเด็จพระราชินีนาถ" เช่น สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ถ้าเป็นอัครมเหสี (Queen consort) เรียก "สมเด็จพระราชินี" เช่น สมเด็จพระราชินีคามิลลา
ส่วน "สมเด็จพระนางเจ้า" ใช้เฉพาะแก่ผู้เป็นพระภรรยาของพระเจ้าแผ่นดินไทยเท่านั้น
2. การเคลื่อนขบวนและการประกอบพระราชพิธีพระบรมศพ
การเคลื่อนขบวนศพจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ภาษาพูดเรียกว่า แห่ศพ เป็นพิธีการสากลที่มีมาช้านาน จุดหมายปลายทางของการแห่ศพ คือการเชิญศพไปยังสถานประกอบศาสนกิจตามลัทธิความเชื่อของแต่ละศาสนา
พระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ครั้งนี้ กับพระราชพิธีพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อปี พ.ศ. 2560 มีสิ่งที่คล้ายกัน คือการอัญเชิญพระบรมศพไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เปิดให้พสกนิกรได้เข้าแสดงความเคารพหรือสักการะพระบรมศพ
ทางอังกฤษ ประดิษฐานพระบรมศพไว้ในเวสมินสเตอร์ ฮอลล์ ในเวลา 4 วัน ประชาชนชาวอังกฤษกว่า 300,000 คน เข้าแถวยาว 8-13 กิโลเมตร เพื่อทยอยเดินเข้าไปแสดงความเคารพพระบรมศพด้วยความอาลัยอย่างใกล้ชิด ทางไทย อัญเชิญพระบรมศพประดิษฐานในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ตลอด 1 ปี พสกนิกรจำนวนกว่า 12 ล้านคน เข้ากราบสักการะพระบรมศพด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าอยู่หัว
ทางอังกฤษ มีพิธีเฝ้าพระบรมศพ (Vigil of the Princes) ในวันศุกร์ที่ 16 กันยายน สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3, เจ้าหญิงแอนน์, เจ้าชายแอนดรูว์ และเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เสด็จฯ ยังโถงเวสมินสเตอร์ทรงยืนกันองค์ละด้านรอบหีบพระบรมศพ ประทับสงบนิ่งราว 12 นาที และในวันถัดมา เจ้าชายวิลเลียม และเจ้าชายแฮร์รี พร้อมด้วยพระราชนัดดาของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 รวม 8 พระองค์เสด็จมาทำพิธีเฝ้าพระบรมศพเช่นเดียวกัน ท่ามกลางพสกนิกรที่ยังคงทยอยเข้าสักการะพระบรมศพไม่ขาดสาย ในทางไทย เรามีพิธีสวดพระอภิธรรมบำเพ็ญกุศลถวายแด่พระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จมาร่วมพิธีตลอดช่วงเวลาก่อนวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
การเคลื่อนขบวนศพ นอกจากจะเป็นการเคลื่อนศพจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ยังเป็นการให้เกียรติสูงสุดแด่ผู้วายชนม์ ในขบวนแห่ย่อมมีผู้คนแห่แหนเดินตาม มีเครื่องดนตรีประโคม ยิ่งเป็นศพของผู้นำรัฐ ผู้นำประเทศ ขบวนแห่ยิ่งมีความสำคัญ จัดอลังการตามประเพณีของชาตินั้นๆ
การเคลื่อนขบวนพระบรมศพของทางอังกฤษให้บรรยากาศขรึมขลัง ส่วนทางไทยให้บรรยากาศเศร้าสลด
การแสดงออกของประชาชนของสองประเทศ แม้จะเต็มไปด้วยความโศกเศร้าเช่นกัน แต่ก็ต่างกัน ประชาชนอังกฤษปรบมือ เมื่อขบวนพระบรมศพเคลื่อนผ่าน นัยว่าเป็นการให้เกียรติแด่สมเด็จพระราชินีนาถ ฝั่งไทย พสกนิกรหมอบเฝ้าอยู่สองข้างทาง และก้มกราบ…ร่ำไห้ แสดงความรักความศรัทธาที่มีต่อองค์พระเจ้าอยู่หัวของเรา
ในช่วงเวลาประกอบพิธี ทางอังกฤษ อัญเชิญพระบรมศพมาประกอบพิธีที่เวสมินสเตอร์แอบบีย์ หรือมหาวิหารเวสมินสเตอร์ ตามคติความเชื่อของคริสต์ศาสนา ส่วนทางไทย ประกอบพิธี ณ พระเมรุมาศ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ตามคติความเชื่อของพราหมณ์และพุทธ
พิธีสำคัญในช่วงสุดท้ายที่ทางไทยไม่มี คือการหักคทา เก็บธง ก่อนที่จะหย่อนพระบรมศพลงในหลุมที่โบสถ์น้อยเซนต์จอร์จ (St. George Chapel) ในปราสาทวินด์เซอร์ สมุหราชวังอังกฤษ ข้าราชการระดับสูงสุดของสำนักพระราชวังสหราชอาณาจักรเป็นผู้หักคทาราชสำนัก (Wand of Office) แล้ววางไว้บนหีบพระศพ แล้วให้คทานั้นถูกฝังลงไปพร้อมกัน
ส่วนการเก็บธง ธงรอยัลสแตนดาร์ดที่คลุมอยู่บนหีบพระบรมศพ จะถูกนำออกจากหีบพระบรมศพหลังพระราชพิธีศพที่โบสถ์น้อยเซนต์จอร์จสิ้นสุดลง
การหักคทาและการเก็บธงเป็นการประกาศว่า รัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้สิ้นสุดลงแล้วอย่างเป็นทางการ
3. ลำดับโปเจียม
ตลอดเวลาของพระราชพิธี เราจะเห็นพระบรมวงศานุวงศ์ทรงพระดำเนิน และทรงยืนหลังหีบพระบรมศพตามลำดับชั้นฐานันดร
การลำดับชั้นฐานันดร เรียกว่า an oder of precedence ตรงกับการลำดับโปเจียมของทางไทย
อันว่าลำดับโปเจียมน่าจะเป็นเรื่องสำคัญในหลายๆ ชนชาติ และสำคัญตั้งแต่ระดับครอบครัวใหญ่ของสามัญชนไปจนถึงระดับเจ้านาย
ในพิธีกงเต๊กของจีน การจัดลำดับการยืน การนั่งเป็นไปตามลำดับผู้สืบสกุล เช่น การนั่งประจำหน้าพระพุทธ ลูกชายนั่งหน้าสุด ลูกสะใภ้ลูกสาวนั่งแถวสอง ชั้นเขยและชั้นหลานนั่งแถวหลังตามมา ในละครเรื่องเลือดข้นคนจาง ออกอากาศไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ฉากงานกงเต๊กอากง เราจะเห็นว่า “ตั่วซุง” หลานชายคนโต ยังมีความสำคัญมากกว่าลูกสาวแท้ๆ เพราะตั่วซุงคือหลานชายคนโตของปู่ เป็นหลานคนแรกที่สืบสกุล ถือเป็นลูกคนสุดท้องของอากง
การจัดลำดับโปเจียมในงานศพเป็นการจัดความสัมพันธ์ใหม่ของสมาชิกในบ้าน เมื่อบ้านสิ้นผู้นำ ลูกชายคนโตต้องขึ้นมาสืบทอดภาระหน้าที่แทน ลำดับชั้นและลำดับความสำคัญย่อมเปลี่ยนไป
อาจารย์วรศักดิ์ มหัทธโนบล ให้ความรู้ไว้ในหนังสือ คำจีนสยาม ว่า โปเจียม สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากคำว่า 宝章 แปลว่าตราพระราชลัญจกร จีนกลางอ่าน bǎo zhāng เป่าจาง เสียง “โปเจียม” น่าจะได้จากเสียงจีนฮกเกี้ยน “โป้เจียง”
โปเจียม เดิมคือเข็มสำหรับติดอกเสื้อกรรมการประกวดเครื่องโต๊ะ (โต๊ะเครื่องบูชาอย่างไทยที่ตั้งแต่งด้วยเครื่องกระเบื้องจีน) สำหรับแสดงลำดับชั้นของกรรมการ ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นที่มาของความหมาย “การเรียงลำดับตามฐานันดรของราชวงศ์”
ในการเคลื่อนขบวนพระบรมศพ เราจะเห็นแถวหน้า เป็นแถวของพระราชโอรสและพระราชธิดา นำโดยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3, เจ้าหญิงแอนน์, เซอร์ทิโมธี ลอว์เรนซ์, เจ้าชายแอนดรูว์ แถวที่สองเป็นแถวของพระนัดดา มีเจ้าชายวิลเลียม, เจ้าชายแฮร์รี่ และเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด พระราชโอรสองค์ที่ 4 ของสมเด็จพระราชินีนาถ
ที่สำคัญ มีการประกาศลำดับการสืบสันตติวงศ์ของราชวงศ์วินด์เซอร์แห่งอังกฤษกันใหม่ โดยมีเกณฑ์การพิจารณาหลักจากสายเลือด ศาสนา และการเป็นลูกคนโต มีเจ้าชายวิลเลียมเป็นรัชทายาทลำดับที่ 1 เป็นต้น
4. สู่อ้อมพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า
ในพระราชพิธีพระบรมศพครั้งนี้ การเลือกบทเพลงมาขับขานประกอบพิธีก็เป็นเรื่องสำคัญ เพลง My Soul, There is a Country ได้รับเลือกเป็นเพลงอำลาส่งสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 สู่อ้อมพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า
เพลง My Soul, There is a Country ฮิวเบิร์ต พาร์รี นักแต่งเพลงชาวอังกฤษ สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นผู้ประพันธ์ทำนอง คำร้องมาจากบทกวีชื่อ Peace ของ เฮนรี วอห์น กวีชาวเวลส์ สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17
เนื้อเพลงพรรณนาถึงดินแดนของพระผู้เป็นเจ้าที่สถิตอยู่โพ้นดวงดารา มีทูตสวรรค์ห้อมล้อม เทียบได้กับราชอาณาจักรบนแผ่นดินที่ปกครองโดยราชวงศ์ ในขณะที่อาณาจักรบนแผ่นดินเต็มไปด้วยสงคราม แต่ดินแดนของพระผู้เป็นเจ้ามีแต่ความสุขศานติ มีรอยยิ้มเป็นมงกุฎ
วิญญาณของผู้วายชนม์จะได้รับการปกป้องให้ปลอดภัยจากพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งทรงพลานุภาพแผ่พระเมตตาจิตมาสู่บุคคลที่ศรัทธาในพระเจ้า จงละทิ้งความโง่เขลา และเปิดรับพระผู้เป็นเจ้าด้วยความรักอันไม่มีวันโรยรา
เมื่อหีบพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้เคลื่อนลงสู่โถงฝังพระบรมศพชั้นใต้ดินของโบสถ์น้อยเซนต์จอร์จ พระองค์ได้เสด็จสู่อ้อมพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า มีชีวิตอันเป็นนิรันดร์…
ธเนศ เวศร์ภาดา
นายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย
ที่มาภาพประกอบ
The Royal Family
PA MEDIA
https://www.bbc.com/thai/international-62962464
https://www.manchestereveningnews.co.uk/.../viewers-tears...
#พระราชพิธีพระบรมศพ #สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่2 #ควีน #เอลิซาเบธที่2 #ElizabethII #ธเนศเวศร์ภาดา #สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย #VespadaAcademy
#ห้องสมุดคุณพระช่วย
#ความเก๋าที่เราเข้าถึง
#KhunphraLibrary
#vintagetogo