วันจันทร์, กันยายน 26, 2565

ถ้าประยุทธ์ได้เป็นนายกต่อจะทำยังไง!?!

ประยุทธ์ 8 ปี แล้วไง? วิเคราะห์สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 30 กันยาฯ 

19 ก.ย. 2565 
โดย iLaw

ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยคดี "8 ปี ประยุทธ์" ในวันที่ 30 กันยายน 2565 หลังมีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หยุดปฏิบัติหน้าที่ ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565 ทางไอลอว์จึงชวนพิจารณาแนวทางความเป็นไปได้ของคำวินิจฉัยและสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้น

คดี "8 ปี ประยุทธ์" สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2565 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้าน 171 คน ยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปีแล้วหรือไม่ เนื่องด้วยมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ ผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ จะดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม และมาตรา 264 ซึ่งบัญญัติว่า "ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ …"

ต่อมา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์รับคำร้อง และมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย จากนั้น ศาลรัฐธรรมนูญ จึงทำการไต่สวนรวบรวมพยานหลักฐาน

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565 ศาลรัฐธรรมนูญได้อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามมาตรา 58 วรรคหนึ่ง ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 จึงกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ ลงมติ และอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง ในวันที่ 30 กันยายน 2565 เวลา 15.00 น.

ประเด็นสำคัญในคดี "8 ปี ประยุทธ์" คือการตีความวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าต้องเริ่มนับเมื่อใด โดยสามารถแบ่งออกได้อย่างน้อยสามแนวทาง ดังนี้
  1. นับจากวันที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯ หลังการรัฐประหารในปี 2557 หรือ 24 สิงหาคม 2557
  2. นับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 หรือ 6 เมษายน 2560
  3. นับจากวันที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 หรือ 9 มิถุนายน 2562
คำวินิจฉัยในคดีนี้ไม่ว่าจะออกมาในแนวทางใด ย่อมส่งผลอย่างมากต่อความเป็นไปทางการเมืองข้างหน้า เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 วางกลไกต่างๆ มาเพื่อให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีช่องทางรักษาอำนาจไว้ได้ยาวนาน ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ แต่ถ้าหากพล.อ.ประยุทธ์ ต้องออกจากตำแหน่งเพราะ "ครบวาระ" ไปเสียก่อน อาจส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในฝ่ายสืบทอดอำนาจของคสช. ได้มาก

แนวทางที่หนึ่ง: เริ่มนับตั้งแต่ปี 2557 ประยุทธ์+ครม.หลุดชุด เปิดทางสภาเลือกนายกใหม่

การตีความวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ในแนวทางนี้ เป็นแนวทางการตีความแบบ "เคร่งครัดที่สุด" ซึ่งอยู่บนหลักกฎหมายมหาชนที่ว่า "ไม่มีกฎหมาย ไม่มีอำนาจ" กล่าวคือ การดำรงตำแหน่งนายกฯ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐ ดังนั้น ต้องตีความในทางจำกัดอำนาจรัฐให้มากที่สุด เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้บัญญัติข้อยกเว้นสำหรับการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนหน้ารัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ ก็ต้องถือว่า การดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ หลังรัฐประหารในปี 2557 หรือ ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 อยู่ภายใต้เงื่อนไขห้ามดำรงตำแหน่งนายกฯ เกิน 8 ปี ด้วยเช่นกัน

หากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเดินตามแนวทางนี้ วาระการตำแหน่งนายกฯ จะครบกำหนด 8 ปี ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565 ซึ่งจะส่งผลทางกฎหมายและทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ตามมาตรา 158 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 170 วรรคสอง เช่นเดียวกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งคณะที่ต้องหลุดตำแหน่งด้วย ตามมาตรา 167 (1) แต่ ครม. ซึ่งพ้นจากตำแหน่งยังปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้และมีอำนาจเต็ม จนกว่าจะมี ครม. ชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ต่อ

กรณีเช่นนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีจากการแต่งตั้งของพล.อ.ประยุทธ์ ก็จะหลุดจากตำแหน่งด้วยพร้อมกับรัฐมนตรีทุกคน พล.อ.ประวิตรจะไม่ได้รักษาการฯ นายกรัฐมนตรีต่อไปอีก แต่จะเป็นพล.อ.ประยุทธ์ ที่รักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีคนอื่นๆ ก็รักษาการในตำแหน่งตัวเอง ระหว่างที่ต้องเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่

หลังจากนั้น กระบวนการต่อไปที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาจะต้องพิจารณาเลือกนายกฯ คนใหม่ ตามมาตรา 272 ซึ่งกำหนดให้ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. เห็นชอบเลือกนายกฯ คนใหม่ โดยกระบวนการเลือกนายกฯ คนใหม่สามารถสรุปได้ดังนี้

ให้เลือกนายกฯ คนใหม่จากผู้มีชื่ออยู่บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตอนการเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม 2562 ซึ่ง ณ วันที่ 18 กันยายน 2565 บุคคลซึ่งมีคุณสมบัติอยู่ในบัญชีของพรรคการเมือง ได้แก่ ชัยเกษม นิติสิริ จากบัญชีพรรคเพื่อไทย อนุทิน ชาญวีรกูล จากบัญชีพรรคภูมิใจไทย และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากบัญชีพรรคประชาธิปัตย์ ในทางกฎหมายมีอีกสองคนที่มีคุณสมบัติ คือ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แต่สุดารัตน์ ออกไปตั้งพรรคไทยสร้างไทยและเคยประกาศหลังการเลือกตั้งปี 2562 ว่าจะไม่ขอรับตำแหน่ง เช่นเดียวกับ ชัชชาติ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้ประกาศต่อสาธารณะว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกฯ

การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีต้องมี ส.ส. รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ กล่าวคือ ไม่น้อยกว่า 48 คน การลงคะแนนเลือกนายกฯ ต้องกระทำโดยเปิดเผย ลงมติด้วยการขานชื่อ และต้องได้รับเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือ 364 คน จากสมาชิกรัฐสภาที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 727 คน (ส.ส. 478 คน และ ส.ว. 249 คน) แต่หากไม่สามารถเลือกนายกฯ จากแคนดิเดตในบัญชีของพรรคการเมืองที่มีอยู่ได้ ก็จะเปิดทางไปสู่ช่อง "นายกฯ คนนอก" โดยสมาชิกทั้งสองสภารวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ กล่าวคือ ไม่น้อยกว่า 364 คน เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้มีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเลือกนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมืองได้ โดยต้องใช้มติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา กล่าวคือ ไม่น้อยกว่า 485 คนจากนั้นเข้าสู่กระบวนการเลือกนายกฯ คนใหม่ โดยจะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมือง หรือนอกบัญชีพรรคการเมืองก็ได้ และดำเนินการตามขั้นตอนปกติก่อนหน้า ทั้งนี้ นายกฯ คนใหม่ ไม่ว่าจะเป็นใครหรือมาจากบัญชีของพรรคการเมืองหรือไม่ก็จะดำรงตำแหน่งได้ถึงครบกำหนดอายุสภาผู้แทนราษฎร หรือถึง 23 มีนาคม 2566 เท่านั้น

แนวทางที่สอง: เริ่มนับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ประยุทธ์อาจอยู่ต่อได้ถึง 2568

การตีความวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ในแนวทางที่สองนี้ เป็นแนวทางการตีความแบบ "ประนีประนอมที่สุด" ซึ่งอยู่บนหลักกฎหมายอาญาที่ว่า "กฎหมายไม่มีผลบังคับย้อนหลัง" กล่าวคือ เมื่อยังไม่มีกฎหมาย ก็ไม่สามารถนำมาใช้ได้ และจะใช้กฎหมายย้อนหลังในทางที่เป็นโทษมิได้ หมายความว่า การนับวาระการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องเริ่มนับตอนที่รัฐธรรมนูญ 2560 มีผลใช้บังคับ กล่าวคือ ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 หากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเดินตามแนวทางนี้ จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อไปได้ถึงวันที่ 5 เมษายน 2568 และสามารถดำรงตำแหน่งนายกฯ รวมกันได้ยาวนานถึง 10 ปี 7 เดือน

ตามเอกสารชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ชิ้นล่าสุด มีชัย ฤชุพันธ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สนับสนุนการตีความตามแนวทางนี้ อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่า มีชัย มีการ "พลิกความเห็น" เนื่องจากความเห็นของมีชัยที่ชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญขัดแย้งกับเอกสารบันทึกการประชุม กรธ. ครั้งที่ 500 วันที่ 7 กันยายน 2561 ซึ่งระบุความเห็นของมีชัย และสุพจน์ ไข่มุก (อดีตกรธ.) ว่า การนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามมาตรา 158 ให้นับรวมถึงการดำรงตำแหน่งก่อนหน้าที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ

มีชัย ได้โต้แย้งว่า บันทึกการประชุม กรธ. ครั้งที่ 500 เป็นการจดรายงานที่ไม่ครบถ้วน อีกทั้ง กรธ. ยังไม่ได้รับรองบันทึกการประชุมดังกล่าว เนื่องจากเป็นการประชุม กรธ. ครั้งสุดท้ายและได้ประกาศสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 12 กันยายน 2561 อย่างไรก็ตาม ต่อมา มีการเผยแพร่เอกสารบันทึกการประชุม กรธ. ครั้งที่ 501 วันที่ 11 กันยายน 2561 ซึ่งระบุว่า กรธ. มีมติรับรองบันทึกการประชุมครั้งที่ 500 แล้ว ดังนั้น จึงไม่ตรงกับสิ่งที่ มีชัย ชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ

หากศาลรัฐธรรมนูญตีความตามแนวทางนี้ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรีชุดนี้ก็จะอยู่ในตำแหน่งต่อไป ซึ่งมีวาระถึงวันที่ 23 มีนาคม 2566 และในการเลือกตั้งครั้งหน้าพล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีก โดยจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือแค่มีชื่ออยู่ในบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอก็สามารถทำได้ แต่หากพล.อ.ประยุทธ์ ยังได้รับการการเลือกตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ก็จะไม่สามารถอยู่ครบเทอมถึงปี 2570 ได้ แต่มีวาระอยู่ได้ถึงแค่วันที่วันที่ 5 เมษายน 2568 หลังจากนั้นก็จะ "ขาดคุณสมบัติ" เป็นเหตุให้พ้นจากตำแหน่ง และสภาต้องเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ตามวิธีการในแนวทางที่หนึ่ง

แนวทางที่สาม: เริ่มนับตั้งแต่เป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้งปี 2562 เปิดทางอยู่ยาวถึง 2570

การตีความวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ในแนวทางที่สามนี้ นับว่าเป็นแนวทางการตีความแบบ "สุดโต่งที่สุด" โดยให้นับวาระหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ารับตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ครั้งแรก และไม่ต้องนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ก่อนหน้า กล่าวคือ ต้องเริ่มนับหลังจากการเลือกตั้งในปี 2562 หรือ วันที่ 9 มิถุนายน 2562 ถึงแม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะครองตำแหน่งนายกฯ มาแล้วกว่า 4 ปี 9 เดือน หากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเดินตามแนวทางนี้ จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อไปได้ และสามารถดำรงตำแหน่งนายกฯ รวมกันได้ยาวนานถึง 12 ปี 9 เดือน

ถึงแม้การตีความตามแนวทางนี้จะเป็นแนวทางที่สุดโต่งมาก แต่ก็ยังมีผู้เห็นด้วยกับแนวทางนี้ เช่น อุดม รัฐอมฤต ผู้สมัครเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ และอดีตโฆษก กรธ. โดย อุดม เคยให้ความเห็นว่า การดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ก่อน 9 มิถุนายน 2562 ไม่ได้เป็นการดำรงตำแหน่งตามมาตรา 158 วรรคสอง ซึ่งต้องเป็นบุคคลที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 ดังนั้น จึงจะนับรวมเวลากันกับระยะเวลา 8 ปีตามมาตรา 158 วรรคสี่ ไม่ได้