วันอังคาร, กันยายน 27, 2565

การใช้คำว่า “คนดี” ในทางการเมือง คือวาทกรรมกัดเซาะประชาธิปไตย “คนดี” ไม่มีจริง “ระบบที่ดี” ช่วยชาติพ้นภัย



“คนดี” ไม่มีจริง “ระบบที่ดี” ช่วยชาติพ้นภัย

ที่มา https://decode.plus/20210818/
INTERVIEW • 18 AUGUST 2021

ทหารของพระราชา และตำรวจของประชาชน (คนดี) รวมพลัง พร้อมปกป้องรักษา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และสถานที่สำคัญของชาติ

7 สิงหาคม ข้อความข้างต้นถูกเขียนเด่นไว้บนป้ายผ้าสีขาวซึ่งขึงติดอยู่กับตู้คอนเทนเนอร์ยักษ์บริเวณทางเข้าพระบรมมหาราชวัง นัยยะที่แท้จริงของข้อความอาจตีความได้หลากหลาย แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้คือความขัดแย้งของการเมืองปัจจุบันได้หยิบฉวยวาทกรรม “คนดี” กลับมาใช้อีกครั้ง เเละคงสังเกตได้ว่าหลังจากนั้นท่าทีระหว่างเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนกับประชาชนตั้งเเต่ม็อบวันที่ 10 , 14, 15 เเละวันนี้ 16 สิงหาคม ขยับสู่ความรุนเเรงมากยิ่งขึ้น

De/code จึงชวน รศ.อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคุณพริษฐ์ วัชรสินธุ นักการเมืองรุ่นใหม่ มาร่วมถกและถอดรหัสการใช้วาทกรรม “คนดี” ข้างต้น

ซึ่งต่อปรากฏการณ์ใช้คำว่าคนดีในม็อบล่าสุด รศ.อนุสรณ์ มองว่าปัจจุบันคนดีคือคนที่สนับสนุนรัฐบาลที่สืบเนื่องมาจากการรัฐประหาร ปี 2557 ซึ่งเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของกลุ่ม กกปส. เมื่อมีกลุ่มเคลื่อนไหวตรวจสอบอำนาจรัฐเกิดขึ้นมาอีกครั้ง รัฐบาลก็กลับไปอ้างความชอบธรรมแบบเดิมคือนอกจากตัวเองจะเป็นคนดี ก็เลือกจะปกป้องประชาชนที่ตัวเองเห็นว่าเป็นคนดีด้วย

ด้านคุณพริษฐ์ เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าการนำมาคำว่าคนดีมาใช้ครั้งนี้มีนัยยะทางการเมืองแฝงอยู่ มันคือการพยายามวางกรอบความขัดแย้งให้มีฝ่ายคนดีกับคนไม่ดี แล้วจัดตำแหน่งฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลอยู่ในฝั่งคนดี ซึ่งการแบ่งแยกเช่นนี้เป็นอันตรายต่อประชาชนส่วนรวมมาก เพราะจริง ๆแล้วคำว่า “คนดี” ไม่มีอยู่จริงบนโลกนี้ แต่คือคำที่ถูกใช้เป็นวาทกรรมเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับฝ่ายตน นั่นหมายความว่าต้องมีอย่างน้อยอีกฝ่ายที่ขาดความชอบธรรมในสังคม



คือวาทกรรมกัดเซาะประชาธิปไตย

มองผิวเผินการใช้คำว่า “คนดี” ในทางการเมือง ดูเหมือนไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวล แต่หากพิจารณาถึงหน้าที่ของคำดังกล่าวอย่างถึงแก่นแกนแห่งการใช้แล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันคือคลื่นแรงที่จะซัดมากัดเซาะประชาธิปไตยไทยซึ่งเปราะบางอยู่แล้วให้ผุกร่อนมากขึ้น

รศ.อนุสรณ์ กล่าวถึงแรงกัดเซาะดังกล่าวว่า “เมื่อการเมืองเชิงศีลธรรมที่เน้นตัวคนดีขยายวงกว้าง สิ่งที่จะหล่นหายไปจากสังคมคือการพัฒนากลไกในการตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของประชาธิปไตย สังคมจะเชื่อในคนดี และจะเปิดโอกาสให้มีการแทรกแซงของอำนาจนอกระบอบประชาธิปไตย กลุ่มที่ยอมรับการเมืองเช่นนี้ก็จะพยายามคิดว่าต้องกีดกันคนชั่วไม่ให้เข้าสู่อำนาจ ด้วยวิธีการแต่งตั้งกลุ่มคนดีขึ้นมา ซึ่งภาพภายนอกคือดูคล้ายว่า เอาคนดีมาควบคุมคนไม่ดี แต่สุดท้ายก็กระทบต่อระบอบประชาธิปไตย เพราะมีช่องโหว่ในการตรวจสอบ ซ้ำร้ายคนที่ว่าดีซึ่งถูกแต่งตั้งก็ไม่ได้มาจากประชาชนด้วย”



ขณะที่คุณพริษฐ์ สรุปให้เห็นถึงผลกระทบของวาทกรรมคนดีต่อประชาธิปไตยไว้อย่างน้อย 3 ข้อ

หนึ่ง คือการผูกขาดความดี โดยใช้วาทกรรมคนดีเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อสร้างประโยชน์แก่ฝ่ายเดียว ที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีบางกลุ่มทางการเมืองพยายามนิยามคำว่าคนดีเพื่อตนเอง อย่างเช่นการกำหนดมาตรฐานจริยธรรมที่ออกมาโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งเป็นการผูกขาดความดีไว้กับแนวทางที่พวกเขาเชื่อ และปิดกั้นการถกเถียงว่าการกระทำที่ดีมันควรจะเป็นอย่างไร อีกอย่างคือมีความพยายามสร้างวาทกรรมเหมารวมว่านักการเมืองทั้งหมดเป็นคนเลว เมื่อกรอบการมองการเมืองของสังคมถูกทำให้เป็นเช่นนั้นจึงนำไปสู่ความพยายามสร้างความชอบธรรมให้กับคนนอกที่ได้รับการแต่งตั้งและไม่ได้มาด้วยการเลือกตั้งของประชาชนเข้าสู่อำนาจ ด้วยเหตุผลหลักคือเขาเป็น “คนดี”

สอง การยึดติดวาทกรรมคนดีมาก ๆ จะทำให้ละทิ้งการเคารพหลักการประชาธิปไตย เช่นสมมติว่ามีข้อครหาว่ารัฐบาลทุจริต แทนที่จะไปแก้ที่ตัวระบบตรวจสอบให้ทำงานเข้มแข็งขึ้น และพยายามพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่จริง ก็พยายามหาคนดีเข้ามาปกครองบ้านเมืองแทน ถึงแม้ว่าจะต้องรัฐประหาร ถึงแม้จะเป็นนายกพระราชทานก็ไม่ปฏิเสธ กลายเป็นว่าไม่สนใจเลยว่าต้องแก้ไขปัญหานี้ด้วยกระบวนการตรวจสอบตามหลักประชาธิปไตย แต่กลับพึ่งตัวบุคคลมากกว่า ซึ่งการรัฐประหารที่สำเร็จทั้งปี 2549 และ 2557 ก็ต้องยอมรับว่าเพราะมีคนส่วนหนึ่งเชื่อตามแนวคิดเช่นนั้นจริง ๆ คือ


เมื่อพวกเขาเห็นผู้นำที่ตัวเองไม่ถูกใจ แทนที่จะหันหน้ามาใช้กลไกการตรวจสอบ กลับไปพึงพอใจกับอำนาจนอกระบบ อย่างเช่นการกรุยทางให้ทหารเข้าสู่อำนาจ

สาม เกิดการยึดติดกับตัวบุคคลมากเกินไป ซึ่งเป็นภาวะทางสังคมที่ค่อนข้างอันตราย เพราะถ้าประชาชนไม่พร้อม ไม่กล้าตรวจสอบคนที่ชอบ หรือที่เคยชื่นชอบ เมื่อบุคคลนั้นทำผิดประชาชนก็จะเงียบ เขาไม่ถูกตรวจสอบเท่าที่ควร ซึ่งแบบนี้ขัดกับหลักการประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจและต้องสอดส่องตรวจสอบรัฐบาลไม่ว่าใครจะเป็นผู้นำก็ตาม



“แบ่งแยก” ให้ “แตกแยก” แล้วกดปราบอย่างชอบธรรม


ความเลวร้ายจากน้ำมือของคนหรือฝ่ายที่สถาปนาตัวว่าเป็นคนดี จะยังถูกเรียกว่าความชั่วร้ายอยู่ไหม?

คือคำถามที่เชื่อว่าคนในสังคมไทยคงให้คำตอบไม่เหมือนกัน เพราะวาทกรรมคนดีไม่เพียงแต่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย แต่ในอีกแง่มุมนี่คือเครื่องมือที่จะใช้ขีดกรอบเพื่อแบ่งแยกคนออกเป็นอย่างน้อยสองฝั่ง คือฝั่งคนดี กับคนไม่ดี

ถ้าเป็นเมื่อก่อน ในยุคความเคลื่อนไหวของมวลชนพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย รศ.อนุสรณ์ บอกว่า “คนดี” จะถูกผูกโยงให้หมายถึงคนที่สนับสนุนระบอบการปกครองโดยผู้ปกครองที่มีศีลธรรมดีงาม ขณะที่ยุคความเคลื่อนไหวของ กปปส. ก็ไม่ต่างกัน คนดีถูกนิยามให้หมายถึงกลุ่มที่ยอมรับวิธีคิดแบบที่โหยหาผู้ปกครองแบบมีศีลมีธรรม ซึ่งทั้งสองกลุ่มได้รับการดูแลอย่างดีจากผู้ซึ่งพวกเขาสนับสนุน ได้รับการละเว้นในบางเรื่องที่ไม่สมควร แม้จะมีเหตุผลและหลักฐานชัดเจนว่ากลุ่มดังกล่าวกระทำผิดกฎหมายไว้อย่างไร แต่เมื่อความผิดเกี่ยวโยงอยู่กับว่าเป็นคนของใครด้วย การทำเป็นไม่รู้ ไม่เห็น หลับหูหลับตาลืมจึงเป็นทางออกของทางรอดเสมอ

ด้านคุณพริษฐ์ ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจในอีกมุมว่าวาทกรรมคนดีไม่ได้สร้างแรงกระแทกเพียงแบ่งแยกคนออกเป็นสองกลุ่ม หากแต่ยังปลุกเร้าให้คนทั้งสองฝ่ายเกลียดชังและมองอีกฝ่ายด้วยสายตาที่เป็นอื่นมากขึ้น กล่าวคือคนที่ทึกทักว่าตัวเองเป็นคนดี ก็จะรู้สึกต่อต้านและรังเกียจอีกฝ่ายที่ตนยัดเยียดให้ว่าเป็นคนไม่ดี จนอาจนำมาสู่การก่นด่า ทะเลาะ และเลยเถิดไปเป็นการทำร้ายร่างกายได้

นอกจากนี้ทั้ง รศ.อนุสรณ์ และคุณพริษฐ์ ยังเห็นตรงกันอีกว่าวาทกรรมคนดีถูกใช้เป็นเครื่องมือมอมเมาคนให้รู้สึกว่าการใช้ความรุนแรงกดปราบคนที่ถูกตราหน้าว่าไม่ดีนั้นเป็นสิ่งที่ชอบธรรม

“การเมืองที่ใช้ศีลธรรมมาแบ่งคน จะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในนามของคนดีและความดี เป็นสิ่งที่น่าวิตกกังวล เพราะการอ้างความชอบธรรมเช่นนี้ นอกจากจะไม่ต้องรับผิดชอบทางศีลธรรมแล้ว ก็ยังเปิดช่องให้คนที่ใช้ความรุนแรงพ้นผิดทางกฎหมายด้วย ซึ่งเอาเข้าจริงตอนนี้การใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ในหลาย ๆครั้งก็เป็นเกราะป้องกันให้ไม่ต้องรับผิดชอบต่อผลของการใช้อำนาจ เพราะสามัญสำนึกของคนบางส่วนจะเห็นว่านั่นเป็นความรุนแรงที่ถูกต้อง เพราะถูกใช้ในนามของคนดี เพื่อปกป้องคนดี และจัดการคนชั่ว” รศ.อนุสรณ์กล่าว

“การแบ่งแยกประชาชนเป็นสองฟากนับว่าอันตรายมาก เพราะไม่ว่าจะเป็นคนประเภทไหน ประชาชนก็ต้องได้รับการปฏิบัติด้วยหลักการที่ถูกต้อง ยกตัวอย่างเช่นหากเจ้าหน้าที่กำลังจับโจร การจับนั้นก็มีหลักกฎหมายและหลักสากลให้ยึดถือปฏิบัติ แม้เขาจะทำผิดร้ายแรงอย่างไร ก็ไม่สามารถใช้เช็คเปล่าดำเนินการตามอำเภอใจได้ เช่นเดียวกันถ้าหันมามองม็อบปัจจุบัน ก็จะเห็นว่าหลายครั้งที่การจัดการต่อม็อบละเมิดหลักสากล เช่นการใช้รถฉีดน้ำ กระสุนยาง แก๊สน้ำตา ที่ต้องใช้เท่าที่จำเป็น ไม่ให้กระทบต่อชีวิตประชาชน แต่หลายครั้งไม่ใช่ ดังนั้นการอ้างว่าตัวเองเป็นคนดี และอีกฝ่ายเป็นคนไม่ดี ไม่ได้เท่ากับว่าจะทำอะไรกับเขาก็ได้” คุณพริษฐ์ให้ความเห็น



ถอดรหัสคนดีจากอดีต

เมื่อย้อนมองประวัติศาสตร์การเมืองไทยจะพบว่าการเมืองเชิงศีลธรรมที่อิงแอบกับการนำเสนอความดีหรือคนดีดังที่กล่าวไปนั้นไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในห้วงทศวรรษให้หลังมานี้ หากแต่พัฒนาการของการฉวยใช้คำนี้แจ่มชัดขึ้นมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2520

โดย รศ.อนุสรณ์ ชี้ชวนให้เห็นว่าการเมืองเรื่องของคนดีเริ่มเข้ามามีบทบาทอย่างจริงจังพร้อมกับการก้าวสู่สนามการเมืองของพลตรีจำลอง ศรีเมือง สิ่งที่ชายผู้นี้ทำคือการหยิบใช้มิติทางศาสนาและศีลธรรมมาสร้างภาพลักษณ์ทางการเมือง ด้วยการก่อตั้งกลุ่มรวมพลังแล้วลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ ผลคือภาพลักษณ์ของพลตรีจำลองตอนนั้นดูเป็นคนดี อยู่ในศีลธรรม กระทั่งปี 2531 เขาตั้งพรรคพลังธรรม และครองเสียงข้างมากในกรุงเทพฯ จนได้เป็นผู้ว่าสมัยที่สอง และกลายเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองแบบใหม่ที่เอามิติทางศีลธรรมเข้ามาใช้ในทางการเมืองในที่สุด อย่างไรก็ดีเขาก็ไม่ได้ประกาศตนว่าตัวเองเป็นคนดี เพียงแต่มุ่งไปที่การเสนอภาพจำของการเป็นคนดีให้คนในสังคมตราตรึงเท่านั้น

กระทั่งความเคลื่อนไหวของการเมืองเสื้อสีปรากฏ ในปี 2549 ซึ่งนำโดยกลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย หรือที่กลุ่มเสื้อเหลือง การเมืองเชิงศีลธรรมจึงขยับไปอีกขั้น เป็นการเคลื่อนไหวที่อ้างว่าเพื่อปกป้องระบอบการเมืองที่ดี ซึ่งคือระบอบการปกครองด้วยผู้ปกครองที่มีศีลธรรม เช่นที่ระบุไว้ในหนังสือชื่อพระราชอำนาจ ที่เขียนโดยประมวล รุจนเสรี สาระสำคัญคือการพยายามชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมีระบอบการปกครองที่ไม่เหมือนใครบนโลกใบนี้ มีลักษณะของการเป็นประชาธิปไตยที่จำเพาะมาก ๆ และมีการพูดถึงคติอเนกชนนิกรสโมสรสมมติ คือประชาชนยินยอมพร้อมใจอยู่ภายใต้การปกครองของผู้ปกครองที่มีคุณธรรม จึงสะท้อนได้ว่าการเคลื่อนไหวของเสื้อเหลืองนั้นใช้ความดีของการปกป้องระบอบการเมืองของคนดี เป็นข้ออ้างในการแทรกตัวเข้ามาทางการเมือง
 


และเช่นเดียวกัน กลุ่มเสื้อเหลืองก็ไม่ได้ป่าวบอกว่าตัวเองเป็นคนดี แต่การอ้างเช่นว่านี้เกิดขึ้นในยุค กปปส. มากกว่า ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแค่แกนนำแต่รวมไปถึงมวลชนทั้งหลายก็ต่างอ้างอย่างออกหน้าว่าตัวเขาเป็นคนดี


สิ่งที่ตามมาคือการสร้างอัตลักษณ์คนชั่วของคนเห็นต่างหรือสนับสนุนอีกฝ่ายขึ้น เพื่อกีดกันคนเหล่านั้นออกจากอำนาจ

อย่างไรก็ดีหลังรัฐประหาร 2557 มาถึงปัจจุบัน คำว่าคนดีไม่ได้ถูกใช้เข้มข้นมากนัก เพราะแง่หนึ่งมันไม่มีความจำเป็นเท่าไหร่ เนื่องจากการเข้ามาอยู่ในอำนาจของรัฐบาลปัจจุบันถูกทำให้เห็นว่าเข้ามาตามหลักประชาธิปไตย แต่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา คนดี ถูกนำมาใช้อีกครั้ง การขีดกรอบแบ่งแยกประชาชนจึงกลับมาเป็นแนวทางของฝ่ายที่มีอำนาจนำ ซึ่งน่าจับตามองว่าจะถูกใช้ซ้ำ ๆ ต่อไปหรือไม่ แค่ไหน


พรุ่งนี้จึงต้องมี “ระบบที่ดี” ไม่ใช่ “คนดี”

“คนดี” ที่สถาปนาขึ้นอาจไม่ใช่คำตอบของการก้าวไปข้างหน้าของสังคม หากแต่ “ระบบที่ดี” ต่างหากที่จะสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น ดังกล่าวสอดคล้องกับข้อเสนอแนะของคุณพริษฐ์ว่าการแสวงหาระบบที่ดีสำคัญกว่าแสวงหาคนดี

คุณพริษฐ์ตั้งต้นด้วยการแยกให้เห็นระหว่าง 3 อย่าง คือความดี คนดี และระบบที่ดี ความดี นั้นเป็นสิ่งที่ประชาชนอาจมีฉันทามติร่วมกันเช่นการไปละเมิดเสรีภาพผู้อื่นเป็นการกระทำที่ไม่ดี แต่หลายการกระทำก็นิยามได้ไม่ชัดเจน เพราะต่างคนต่างมุมมอง ต่างปัจจัย ความดีจึงนิยามยาก

คนดี นิยามยากยิ่งกว่า เพราะถ้านิยามคนดีว่าคือคนที่ทำสิ่งที่ดีอยู่ตลอดเวลา แบบนี้แทบไม่มีอยู่จริง แต่ละคนผสมปนเปกันไป คำว่า “คนดี” จึงไม่มีอยู่จริงบนโลกนี้ แต่คือคำที่ถูกใช้เป็นวาทกรรมทางการเมืองเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง อาทิเช่นการพยายามผูกขาดว่ากลุ่มของตัวเองเป็นคนดี ก็ต้องเปิดทางให้พวกเขาเข้าสู่อำนาจ ไม่เช่นนั้นคนไม่ดีก็จะเข้ามาแทน



ระบบที่ดี คือการสร้างกลไกหรือกระบวนการที่เปิดทางให้การกระทำที่ดีเกิดขึ้นมากที่สุด และการกระทำที่ไม่ดีเกิดขึ้นน้อยที่สุด พร้อมกันนั้นก็สามารถจัดการหรือลงโทษคนที่กระทำผิด ไม่ว่าคนที่เข้ามากระทำจะเป็นใครก็ตาม

“จุดยืนของผมคือเราไม่ควรผูกขาดความดีเพราะมันมีหลายความหมาย เราไม่ควรตามหาคนดี เพราะมันไม่อยู่จริง สิ่งที่เราควรทำคือการร่วมกันสร้างระบบที่ดี ถ้าอยากได้คนดีมาปกครอง เราจึงไม่ควรพึ่งบุคคลแต่ต้องพึ่งตัวระบบ โดยอาจคาดเดาไว้ก่อนว่าคนที่เข้ามาสู่อำนาจจะมีความเลวร้ายยังไง แบบไหนบ้าง ก็ออกแบบระบบเพื่อจำกัดการใช้อำนาจในทางไม่ชอบ ให้เขาไม่สามารถสร้างความเสียหายแก่ประเทศได้”

อาจเกิดคำถามต่อมาว่าแล้วระบบที่ดีจะเกิดขึ้นได้ต้องพึ่งพาปัจจัยใดบ้าง คุณพริษฐ์บอกว่า รัฐธรรมนูญและกฎเกณฑ์ ต่าง ๆ นั้นเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรก ๆ ของปัจจัยดังกล่าว เพราะคือรากฐานและกรอบกติกาที่จะจัดระเบียบผู้ที่เข้ามาสู่อำนาจ


แต่ปัจจุบันระบบที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 กลับมีปัญหา ไม่สามารถปิดกั้นการกระทำที่ไม่ดีได้เท่าที่ควร ตัวอย่างเรื่อง ส.ว. 250 ซึ่งเป็นการเลือกมาเพื่อเลือกคืน คือเป็นการปล่อยให้เกิดวงจรที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ที่ผู้แต่งตั้งสามารถถูกแต่งตั้งโดยผู้ถูกแต่งตั้งได้

ประชาชนคือ “นายจ้าง” ต้องตื่นตัวและตรวจสอบรัฐอยู่เสมอ

นอกจากรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น ๆ ที่ต้องออกแบบมาเพื่อเอื้อให้เกิดระบบที่ดีแล้ว อีกสิ่งซึ่งสำคัญต่อการรักษาระบบดังกล่าวไว้คือประชาชนที่ทำตัวเป็นนายจ้าง

คุณพริษฐ์มองว่าจริงอยู่ที่ไม่ควรมีใครมากำหนดว่าคนดีคืออย่างไร แต่สิ่งที่ใช้มาเป็นกรอบเพื่อนิยามว่าประชาชนที่ควรจะเป็นคือแบบไหนนั้นควรต้องเริ่มจากความเข้าใจว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนก่อน ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยเป็นความสัมพันธ์แบบผู้ถูกจ้างกับผู้ว่าจ้าง ประชาชนที่ควรจะเป็นไม่ใช่คนที่จะมาอดทน รอรับการสงเคราะห์จากรัฐ แล้วทำทุกอย่างด้วยตัวเองให้ดีได้ แต่ต้องเป็นคนที่พร้อมทำหน้าที่ในการเรียกร้อง ตรวจสอบ ว่าภาษีที่จ่ายไป ถูกใช้เพื่อประชาชนจริงหรือเปล่า วิพากษ์วิจารณ์ และเสนอแนะทักท้วงการทำงานของรัฐบาลได้

และพร้อม ๆกันกับการทำหน้าที่ดังกล่าว ก็ต้องเคารพหลักการประชาธิปไตย ด้วยการมองคนเท่ากัน เคารพเสรีภาพขั้นพื้นฐานของแต่ละคน ไม่ไปละเมิดเสรีภาพของคนอื่น ใช้สิทธิที่ได้รับตามหลักประชาธิปไตยให้เป็นประโยชน์ที่สุด อาทิ การเลือกตั้ง การมีส่วนร่วมทางการเมือง สุดท้ายคือต้องร่วมรักษาประชาธิปไตย ซึ่งไม่ใช่แค่การต่อต้านรัฐประหารหรือเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญไปสู่เนื้อหาที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการทำงานเชิงความคิดเเละใช้ชีวิตในทุกบริบทให้เป็นประชาธิปไตย
 

ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลาย ๆ อย่าง ซึ่งกำลังดำเนินอยู่ขณะนี้ นี่อาจเป็นเวลาที่สังคมไทยควรได้ทบทวนและยอมรับว่าการเมืองที่มุ่งโหยหาคนดีมาปกครองคือหล่มแห่งวาทกรรมที่ฉุดดึงประเทศไม่ให้ก้าวไปสู่การเป็นสังคมแห่งประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ระบบที่ดี ที่ป้องกันการกระทำผิดได้ หรือถ้าผิดก็ตรวจสอบได้ นำคนผิดมาลงโทษได้ จึงเป็นทางออกที่เราต้องขยับสังคมนี้ไปให้ถึง แต่ระหว่างนี้คงไม่อาจฝากความหวังในการเปลี่ยนแปลงไว้กับองค์กรของรัฐได้มากนัก เพราะหลายองค์กรโดยเฉพาะองค์กรอิสระง่อยเปลี้ยเสียขาและสยบยอมต่ออำนาจนำเสียแล้ว เราผู้เป็นประชาชน เจ้าของอำนาจอธิปไตย จึงต้องทำงานแทนที่ระบบที่เคยเป็นเพื่อให้ชาติของเราทุกคนพ้นภัย

อติรุจ ดือเระ เรื่อง
ณัฐนนท์ ณ นคร ภาพ