ประชาไท Prachatai.com
6h
10 ก.ย. 2565 คือวันที่ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ปรับตำแหน่ง เลื่อนลดปลดย้ายนายทหารจำนวน 765 นาย รู้จักกันในชื่อเล่นว่า ‘โผทหาร’
ท่ามกลางชื่อและตำแหน่งละลานตา มีเพียงไม่กี่ชื่อและไม่กี่ตำแหน่งที่สายตาของผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองและความมั่นคงจับจ้อง ในฐานะจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่จะบ่งชี้ได้ว่าขั้วไหน ค่ายใดจะมีกำลังรบสูงที่สุด และในประเทศที่การรัฐประหารเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการเมือง โผทหารแต่ละครั้งย่อมถูกประเมินต่อยอดไปถึงอนาคตทางการเมืองในภาคพลเรือนแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้
ประชาไทชวนอ่านระหว่างบรรทัดในโผทหารไปกับสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นักวิจัยจากวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อหาคำตอบว่าขั้วไหนคุมกำลังรบไว้ในมือมากที่สุด ผลกระทบต่อทิศทางการเมือง ร่องรอยความบิดเบี้ยวที่ต่อยอดจากรัฐประหาร 2549 สู่คำถามว่า ประชาชนอยู่ตรงไหนในสมการอำนาจนี้
อ่านทั้งหมดได้ที่: https://prachatai.com/journal/2022/09/100588
.....
อ่านโผทหาร 65 กลุ่มไหนได้ ฝ่ายไหนเสีย เมื่อ ‘ทหารพระราชา’ กำลังแทนที่ 3 ป.
Mon, 2022-09-19
ประชาไท
เยี่ยมยุทธ สุทธิฉายา สัมภาษณ์และเรียบเรียง
ชวนอ่านเกมอำนาจและนัยทางการเมืองของโผกองทัพสำหรับการเลื่อนลดปลดย้ายในปี 2565 กับ ‘สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี’ พบ ทหารคอแดงคุมกำลังสำคัญ ลูกรัก ‘ตู่-ป้อม’ หลุดวงโคจร สะท้อนขาลงบูรพาพยัคฆ์และบารมีของพี่ใหญ่ 3 ป. ย้อนดูรัฐประหาร 2549 ที่เปิดทางสู่การมีบทบาทของข้าราชการ กองทัพ สถาบันกษัตริย์ จนนำมาสู่การปิดเกมในรัฐประหาร 2557
10 ก.ย. 2565 คือวันที่ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ปรับตำแหน่ง เลื่อนลดปลดย้ายนายทหารจำนวน 765 นาย รู้จักกันในชื่อเล่นว่า ‘โผทหาร’
ท่ามกลางชื่อและตำแหน่งละลานตา มีเพียงไม่กี่ชื่อและไม่กี่ตำแหน่งที่สายตาของผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองและความมั่นคงจับจ้อง ในฐานะจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่จะบ่งชี้ได้ว่าขั้วไหน ค่ายใดจะมีกำลังรบสูงที่สุด และในประเทศที่การรัฐประหารเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการเมือง โผทหารแต่ละครั้งย่อมถูกประเมินต่อยอดไปถึงอนาคตทางการเมืองในภาคพลเรือนแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้
ประชาไทชวนอ่านระหว่างบรรทัดในโผทหารไปกับสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นักวิจัยจากวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อหาคำตอบว่าขั้วไหนคุมกำลังรบไว้ในมือมากที่สุด ผลกระทบต่อทิศทางการเมือง ร่องรอยความบิดเบี้ยวที่ต่อยอดจากรัฐประหาร 2549 สู่คำถามว่า ประชาชนอยู่ตรงไหนในสมการอำนาจนี้
โผกองทัพปัจจุบันบอกอะไรกับเราบ้าง
โดยภาพรวมแล้วยังบอกถึงโครงสร้างอำนาจของกลุ่มในกองทัพที่มีลักษณะต่อเนื่องในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เปลี่ยนรัชกาล ฝ่ายต่างๆ ในกองทัพเปลี่ยนรูปแบบไปนิดหน่อย จากเดิมเราก็ท่องกันอยู่แค่บูรพาพยัคฆ์กับวงศ์เทวัญ หมายถึงนายทหารที่มีพื้นฐานเริ่มต้นรับราชการส่วนใหญ่อยู่ในสองกองพลใหญ่ คือกองพลที่ 1 ในกรุงเทพฯ เรียกว่าวงศ์เทวัญ เป็นกลุ่มที่เคยอยู่ใกล้ชิดศูนกลางอำนาจดั้งเดิมก็คือวังหลวงเป็นสำคัญ กับกองพลที่ 2 ซึ่งอยู่ที่ภาคตะวันออก เราเรียกว่าบูรพาพยัคฆ์ นับจากการขึ้นสู่ตำแหน่ง ผบ.ทบ. ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อาจจะคั่นด้วย พล.อ.สนธิ บุญรัตนกลินท์นิดหน่อย ซึ่งเป็นข้อยกเว้นเพราะเป็นการเข้ามาแก้ไขสถานการณ์บางอย่าง แต่สมการกำลังในกองทัพในตอนนั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลง เพราะคนที่คุมกำลังหลักก็คือกลุ่มของ พล.อ ประวิตร ได้แก่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และกลุ่มนายทหารที่มาจากกลุ่มบูรพาพยัคฆ์เป็นส่วนใหญ่
เวลาอ่านข่าวอาจจะงงว่าทหารเสือราชินีกับกลุ่มบูรพาพยัคฆ์เป็นอันเดียวกันหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่ กลุ่มทหารเสือราชินีเป็นกลุ่มที่เริ่มต้นชีวิตราชการและใช้ชีวิตราชการส่วนใหญ่อยู่ที่กรมทหารราบที่ 21 ที่ จ.ชลบุรี ในจำนวนนั้น คนที่ยังมีอำนาจวาสนาอยู่ก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อนุพงษ์ ส่วน พล.อ.ประวิตรเคยอยู่ที่นั่นแต่ข้ามมาคุมกำลังที่กองพลที่ 2 เลยเป็นพี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ แต่น้องๆ ส่วนใหญ่เคยเริ่มต้นที่หน่วยทหารดังกล่าวที่มีชื่อตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ว่าเป็นหน่วยรักษาพระองค์ในพระราชินีสิริกิติ์
แต่หลังจากการเปลี่ยนรัชกาลใหม่ รูปแบบฝักฝ่ายในกองทัพมีการเปลี่ยนแปลง การขึ้นมาของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็นจุดปฐมบทของความเปลี่ยนแปลงของกลุ่มในทางการทหารที่เกี่ยวข้องกับการเมือง โดย พล.อ.อภิรัชต์มีความใกล้ชิดกับ ร.10 ทั้งตัวที่มาของบุคคลและปูมหลัง พล.อ.อภิรัชต์มาจากกลุ่มวงศ์เทวัญ เป็นลูกผู้ใหญ่จากนามสกุลคงสมพงษ์ รับราชการอยู่ในกรมทหารราบที่ 1 มาโดยตลอด ที่เคยไปรับราชการในภาคใต้ก็ถูกไปในฐานะที่ถูกส่งไปจากกรมทหารราบที่ 11 ซึ่งเป็นกลุ่มวงศ์เทวัญ
การขึ้นมามีตำแหน่งของ พล.อ.อภิรัชต์ในช่วงนั้นก็ได้ดึงเส้นสายต่างๆ มาจากกลุ่มวงศ์เทวัญเสียส่วนใหญ่ แต่ปัจจัยที่เปลี่ยนสมการกำลังก็คือการที่ พล.อ.อภิรัชต์และทหารจำนวนหนึ่ง ผมนับได้ราว 15 คน ได้รับการฝึกพิเศษในโรงเรียนทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ที่วังทวีวัฒนา ซึ่งเป็นการดำเนินการโดยตรงของ ร.10 สมัยที่เป็นมกุฏราชกุมาร โดยคนกลุ่มนี้ใส่เครื่องแบบที่มีสัญลักษณ์ว่าใกล้ชิดกับ ร.10 เช่น ใส่เสื้อคอกลมที่แถบสีแดงภายใต้เครื่องแบบ กลุ่มทหารคอแดงเริ่มต้นจากจุดนั้น
21 ก.พ.62 พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ นำผู้บังคับบัญชาชั้นสูงและกำลังพลภายในกองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) เข้ารับการทดสอบสมรรถภาพร่างกายประจำปี ครั้งที่ 1/2562 โดยสถานีทดสอบร่างกายประกอบด้วย สถานีดันพื้น ลุกนั่ง และวิ่งระยะทาง 2 กม. ณ ลานพื้นแข็ง หน้าพิพิธภัณฑ์กองทัพบกเฉลิมพระเกียรติภายใน บก.ทบ. (ที่มาภาพ Army PR Center)
คนที่เข้าโครงการอบรมเป็นพิเศษ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่าโครงการ 904 จะได้เป็นทหารคอแดง โดยทหารคอแดงสามารถแบ่งได้หยาบๆ เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรกเรียกว่า elite squad มีจำนวนไม่เยอะ แต่อยู่ในตำแหน่งสำคัญของหน่วยที่คุมกำลังในกองทัพและในเสนาธิการที่เป็นมันสมองของกองทัพ คือเป็นฝ่ายบู๊และฝ่ายบุ๋น
กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มจากการโอนย้ายกรมทหารราบ 1 และราบ 11 ที่มีการโอนกำลังเข้าไปเป็นหน่วยที่อยู่ภายใต้กองบัญชาการถวายความปลอดภัย มีสถานะเป็นข้าราชการในพระองค์ เป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่และมีกำลังพร้อมรบอยู่พอสมควร และกลุ่มที่สามคือหน่วยทหารเกิดจากการคัดเลือกจากหน่วยรักษาพระองค์ จะมีการทำงานของเครือข่ายที่ไปดึงกลุ่มทหารที่หน่วยก้านดี มีทักษะทางการทหาร รูปร่างดี การแต่งกายเป๊ะ ระเบียบวินัยเป๊ะ จะถูกคัดมาทั้งทหารสัญญาบัตรและประทวนเป็นรอบๆ แต่กลุ่มนี้ไม่ค่อยเป็นที่ทราบกันในวงกว้างว่ามีอยู่ แต่พวกเขาฝังอยู่ในหน่วยต่างๆ และไม่จำเป็นต้องเข้าไปในวังเว้นแต่ว่าจะถูกเรียกเข้าไปถวายงาน ถวายความปลอดภัย เดินพาเหรดหรือเข้าเวรยามในสำนักพระราชวังบ้าง
การโยกย้ายแต่งตั้งปีนี้ โดยรวมแล้วทหารคอแดงที่ใกล้ชิดกับวังหลวงหรือเครือข่ายที่ทำงานให้ ร.10 เป็นสำคัญ ค่อนข้างที่จะไปอยู่ในตำแหน่งสำคัญๆ ได้หมดในกองทัพ โดยเฉพาะในกองทัพบกและกองบัญชาการกองทัพไทย เช่น กองบัญชาการกองทัพไทย พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ที่เป็นทหารคอแดงที่ยังรักษาตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดไว้ แต่ที่น่าสังเกตก็คือ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ที่เป็นทหารคอแดงได้ขยับจากหัวหน้าฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชาเข้ามาเป็นรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด หมายความว่าจะมีโอกาสมากที่จะเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดแทน พล.อ.เฉลิมพลที่จะเกษียณในปี 2566 หากไม่มีอุบัติเหตุอะไร
การเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจอยู่ในกองทัพบก ซึ่งเป็นเหล่าทัพที่มีบทบาททางการเมืองมากที่สุดและคุมพื้นที่ของเมืองหลวงเอาไว้ทั้งหมด มีการเปลี่ยนแปลงในแบบที่เรายังเห็นการซ้อนกันของวงศ์เทวัญและบูรพาพยัคฆ์ในลักษณะที่ว่านายทหารทั้งหมดอาจจะเรียกว่าเป็นทหารคอแดง แต่ทหารคอแดงบางคนก็มีเชื้อมูลของวงศ์เทวัญ บางคนมีเชื้อมูลบูรพาพยัคฆ์ หรือไม่ก็มาจากกลุ่มทหารเสือราชินีหรือไม่ก็ใกล้ชิดกับกลุ่ม 3 ป. ซึ่งก็เป็นวัฒนธรรมของทหารไทยที่จะมีคนของตัวเองอยู่ในที่ต่างๆ ช่วยเหลือเจือจาน สนับสนุนอุ้มชูกันมา เราจึงเห็นความเป็นฝักเป็นฝ่ายที่ซ้อนกัน
ในกองทัพบก พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ยังรักษาตำแหน่ง ผบ.ทบ. เอาไว้ได้อีกหนึ่งปี ถ้าหากไม่มีอุบัติเหตุอะไร พล.อ.ณรงค์พันธ์ก็คงจะเกษียณได้ตามเกณฑ์ในปี 2566 แม้ที่ผ่านมาจะทราบข่าวลือกระเส็นกระสายเรื่องความขัดแย้งระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์กับ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ในแง่ที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ต้องการอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนเกษียณ แต่ พล.อ.ประยุทธ์อยากให้น้องรักคนหนึ่งซึ่งเป็นทหารเสือราชินีเหมือนกัน ก็คือ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ที่จะเกษียณปี 2567 ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ซึ่งหากรอจน พล.อ.ณรงค์พันธ์เกษียณอายุราชการในปี 2566 ก็จะเหลืออายุการเป็น ผบ.ทบ. แค่ปีเดียว ซึ่งคงจะน้อยไปสำหรับการเกื้อหนุนให้ 3 ป. อยู่ในอำนาจต่อไป เหยื่อของความขัดแย้งจะเห็นได้ได้จากปรากฏการณ์การพ้นจากหน้าที่ของผู้อำนวยการ ททบ. 5 ซึ่งมีความสัมพันธ์กับ พล.อ.ณรงค์พันธ์ และในกรณีลาซาด้า แต่ในที่สุดแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ที่ไม่อยู่ในฐานะที่ดีนักก็พ่ายแพ้ พล.อ.เจริญชัยจึงได้เป็นรอง ผบ.ทบ. และคาดว่าก็คงจะต้องรอจนกว่า พล.อ.ณรงค์พันธ์จะเกษียณ
ในกลุ่มอื่นๆ ที่เราอาจจะเห็นความขัดแย้งอย่างนี้อยู่บ้าง ก็จะมีกรณีของ พล.ท.ธราพงษ์ มาละคำ เป็นแม่ทัพน้อยที่ 1 ซึ่งเป็นที่จับตาในแวดวงผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองและการทหาร พล.ท.ธราพงษ์ เป็นบูรพาพยัคฆ์ และเป็นที่เชื่อว่าเป็นน้องรักของ พล.อ.ประวิตร จากแม่ทัพน้อยที่หนึ่ง ปกติแล้วก็ควรที่จะเข้ามาเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 เป็นอย่างน้อย หรืออาจจะกระโดดเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 เลยถ้าหากเส้นสายถึง แต่ พล.ท.ธราพงษ์กลับหลุดจากวงโคจรไปเป็นที่ปรึกษาพิเศษของกองทัพบก ทำให้เห็นว่าสายบูรพาพยัคฆ์อาจจะถูกกีดกันออกไป
ในขณะเดียวกัน กลุ่มวงศ์เทวัญที่เป็นคอแดงด้วยกันอย่าง พล.ต.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ได้รับปูนบำเหน็จเป็นแม่ทัพภาค 1 ผมเข้าใจว่าเพราะเขามีปูมหลังคล้าย พล.อ.ณรงค์พันธ์ เนื่องจากเคยอยู่ในหน่วยกองการทหารเคลื่อนที่เร็ว กองการทหารราบที่ 31 ที่ จ.ลพบุรี เป็นหน่วยรบพิเศษ ก็ได้รับมอบหมายให้เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 เขามีปูมหลังที่เกี่ยวข้องกับความเป็นคอแดงค่อนข้างที่จะแน่นหนา เรียกว่าเคยเป็นคนที่อยู่ในอุปถัมภ์ของ พล.อ.อภิรัชต์มาก่อน เคยได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าหน่วยพิเศษสไตรเกอร์ หลังจากที่กองทัพบกซื้อรถหุ้มเกราะ Stryker มาจากสหรัฐฯ เราจะเห็นว่าภายใต้ความเป็นคอแดง จะเห็นความแตกต่างของกลุ่มวงศ์เทวัญอยู่เล็กน้อย
อีกมุมหนึ่งที่มีการสลับหรือไขว้กัน คือ พล.ต.อมฤต บุญสุยา เป็นบูรพาพยัคฆ์ ที่ขยับจากผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2) เข้ามาเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 ซึ่งเข้าใจว่าเป็นศูนย์กลางอำนาจของกลุ่มวงศ์เทวัญ
สำหรับหน่วยอื่นๆ ที่ไม่มีอำนาจ แต่แสดงออกถึงการต่อสู้กันในเชิงอำนาจก็คือปลัดกระทรวงกลาโหมก็คือ พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ที่ขึ้นจากรองปลัดเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.สนิธชนก เป็นคนสนิทของ พล.อ.ประวิตร แต่ว่ากระทรวงกลาโหมไม่ได้เป็นหน่วยรบ ไม่มีอำนาจในเชิงการรบจริงๆ เราอาจจะถือได้ว่าโดยภาพรวม อำนาจของบูรพาพยัคฆ์ลดต่ำลง ซึ่งก็ลดลงมาสักพักแล้ว จึงเป็นเหตุผลที่ พล.อ.ประวิตรต้องสร้างฐานอำนาจทางการเมืองด้วยการเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
ส่วนกองทัพเรือและกองทัพอากาศก็เป็นไปตามโผ แต่การเปลี่ยนแปลงของเหล่าทัพทั้งสองคงไม่ได้สะท้อนนัยอำนาจทางการเมือง มากไปกว่าการสะท้อนว่าใครเป็นกลุ่มใครในกองทัพ ในส่วนกองทัพอากาศ ก็คงสานต่อโครงการเครื่องบินขับไล่ F-35 ไปให้ตลอดรอดฝั่ง ส่วนกองทัพเรือ โครงการเรือดำน้ำก็ยังไปไม่ถึงไหน อาจจะล้มเหลวด้วยซ้ำไป เพราะเอาเข้าจริงกองทัพเรือก็ไม่มีอำนาจต่อรองอะไรมาก คนที่มีอำนาจอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ หรือ พล.อ.ประวิตร เข้าใจว่าไม่ค่อยต่อสู้หรือปกป้องกองทัพเรือเท่าไหร่เพราะว่ามีเหตุผลอธิบายได้อยู่ว่าสภาพเศรษฐกิจไม่ดี ก็คงไม่ได้ต้องซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ขนาดนั้น
ในกรณีของกองทัพอากาศก็เช่นกัน แต่อาจจะมีลักษณะพิเศษตรงที่ระบบอาวุธของกองทัพอากาศเกือบทั้งหมดนั้นใช้ระบบนาโต้ ซึ่งมีภาษีดีกว่ากองทัพเรือที่ไปใช้อาวุธของจีนอยู่จำนวนหนึ่งแล้ว และกองทัพที่มีความใกล้ชิดกับจีน ใช้อาวุธยุทโธปกรณ์หรือเทคโนโลยีของจีนมาก สหรัฐฯ เขาจะไม่ขายเทคโนโลยีชั้นสูงให้
เมื่อวัดกำลังกันแล้ว ทหารคอแดงหรือคอเขียวมีอำนาจมากกว่ากัน
เราก็ต้องยอมรับให้เป็นทหารคอแดง ส่วนทหารคอเขียว (ทหารที่ไม่ใช่ทหารคอแดง) อาจจะมีปัญหามากในการสร้างตัวตนทางการเมือง เพราะ 3 ป. อยู่ในฐานะขาลง เว้นแต่ว่าจะมีอภินิหารใดๆ คือมีอำนาจที่มากกว่านั้นมาสนับสนุน 3 ป. แต่ผมคิดว่า 3 ป. หมดภารกิจทางทหารไปแล้ว และภารกิจทางการเมืองก็กำลังจะหมด สิ่งที่เขาควรจะทำในช่วงของการเปลี่ยนผ่านรัชกาลก็ได้ทำหมดแล้ว และส่งต่อภารกิจไปให้รุ่นอื่นๆ ในกองทัพทำหน้าที่ต่อแล้ว จะเห็นว่าทหารคอแดงปัจจุบันไม่ต้องรับฟังคำสั่งนายกฯ รัฐมนตรีกลาโหม และพี่ของเขาที่อยู่ในรัฐบาล ไม่ต้องนับว่าเขาไม่ฟังนักการเมืองอื่น
อาจจะต้องพิจารณาการเข้าถึงวังหลวงได้มากกว่ากัน อาจจะพูดได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ณรงค์พันธ์ อยู่ในฐานะเดียวกันคือการเข้าถึงศูนย์กลางอำนาจในวังอาจจะพอๆ กัน พล.อ.ประยุทธ์อาจจะมีภาษีดีหน่อยเพราะเป็นนายกฯ บริหารกิจการมากกว่าการทหาร แต่ถ้าพูดถึงกำลังทหารโดยตรงแล้ว ผมคิดว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสื่อสารผ่าน พล.อ.ประยุทธ์ สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ทำในตอนนี้ก็เพื่อให้คนในกองทัพช่วยรักษาอำนาจของตัวเองอยู่ต่อไป เพื่อพิสูจน์กับวังหลวงว่าเขาสามารถคุมได้ทั้งนักการเมืองและนายทหาร ซึ่งในส่วนของทหาร ไม่จำเป็นแล้วที่จะต้องใช้ตัวแทนอีกต่อไป เพราะสไตล์ของ ร.9 กับ ร.10 ในแง่การทหารนั้นแตกต่างกันมาก
หากวิเคราะห์สถานการณ์ด้วยโมเดล 2M2C (Monarchy, Military, Capital, Civil Society) มองว่าโผกองทัพปัจจุบันมีอิทธิพลกับทิศทางการเมืองอย่างไรในระยะสั้น
นักวิจัยจากวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดีฯ มองว่าโผกองทัพปัจจุบันไม่มีอิทธิพลกับการเมืองระยะสั้น เพราะคนที่ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร อยากให้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ก็ถูกเตะออกจากวงโคจร ส่วนอนาคตของ พล.อ.ประยุทธ์ นั้นสัมพันธ์กับสถาบันกษัตริย์ โดยเฉพาะการจะดำรงอยู่ต่อในตำแหน่งนายกฯ หรือไม่ผ่านตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งพิจารณาผ่านประโยชน์ทางการเมืองที่ นักวิจัยจากวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดีฯ ประเมินว่า "พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีประโยชน์แล้วแน่ๆ"
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หนึ่ง หลายคนอาจจะคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์อาจจะมีน้องนุ่งในกองทัพ แต่สำหรับกองทัพไทย ถ้าถามให้ถึงที่สุดว่าเขาจะจงรักภักดีกับใครระหว่างนายกฯ กับกษัตริย์ เขาก็คงเลือกกษัตริย์มากกว่า ใครจะเป็นนายกฯ ก็ได้ ถ้าหากว่าพิสูจน์ได้ว่ามีความจงรักภักดีกับกษัตริย์
สอง พล.อ.ประยุทธ์ และทีม 3 ป. บริหารประเทศไม่เข้าตากลุ่มชนชั้นนำ เราจะเห็นปฏิกิริยาของกลุ่มชนชั้นนำที่เริ่มออกมาฟาดหัวฟาดหางกับผลงานทางเศรษฐกิจของ พล.อ.ประยุทธ์ค่อนข้างชัดเจน เพราะเศรษฐกิจตกต่ำและไม่สามารถฟื้นได้ การบริหารแบบนี้ เมื่อไม่ได้รับการไว้เนื้อเชื่อใจก็อาจจะมีปัญหา พล.อ.ประยุทธ์ก็คงไม่มีความสามารถจะฟื้นเศรษฐกิจได้ในเวลาอันรวดเร็ว
หนึ่ง หลายคนอาจจะคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์อาจจะมีน้องนุ่งในกองทัพ แต่สำหรับกองทัพไทย ถ้าถามให้ถึงที่สุดว่าเขาจะจงรักภักดีกับใครระหว่างนายกฯ กับกษัตริย์ เขาก็คงเลือกกษัตริย์มากกว่า ใครจะเป็นนายกฯ ก็ได้ ถ้าหากว่าพิสูจน์ได้ว่ามีความจงรักภักดีกับกษัตริย์
สอง พล.อ.ประยุทธ์ และทีม 3 ป. บริหารประเทศไม่เข้าตากลุ่มชนชั้นนำ เราจะเห็นปฏิกิริยาของกลุ่มชนชั้นนำที่เริ่มออกมาฟาดหัวฟาดหางกับผลงานทางเศรษฐกิจของ พล.อ.ประยุทธ์ค่อนข้างชัดเจน เพราะเศรษฐกิจตกต่ำและไม่สามารถฟื้นได้ การบริหารแบบนี้ เมื่อไม่ได้รับการไว้เนื้อเชื่อใจก็อาจจะมีปัญหา พล.อ.ประยุทธ์ก็คงไม่มีความสามารถจะฟื้นเศรษฐกิจได้ในเวลาอันรวดเร็ว
พูดได้หรือไม่ว่าในระยะสั้นๆ นี้ ทหารกลับกรมกองกันแล้ว
ไม่เชิง เป็นเพียงเพราะไม่มีความจำเป็นต้องตบเท้าออกมาสนับสนุน 3 ป. และศัตรูของ 3 ป. มีอยู่ในหลายมิติ เพราะกลุ่มทุนบางกลุ่มก็ไม่ได้ชอบ กลุ่มเยาวชนก็ไม่ชอบ ในหมู่ชนชั้นนำก็ไม่ชอบ ในเหล่าทัพอาจจะไม่สามารถพูดได้ชัดเจนว่าต่อต้าน 3 ป. ไปเสียทั้งหมด แต่ความไม่พอใจก็มีอยู่ไม่น้อย ในช่วงที่ผ่านมาก็มีข่าวลือว่ามีคนในกองทัพเรือเริ่มไม่อยากได้เรือดำน้ำจากจีน คลื่นใต้น้ำเล็กๆ หรือแรงต่อต้านก็อาจจะมีอยู่
การขึ้นมาของแม่ทัพภาคที่ 1 คนใหม่ (พล.ต.พนา แคล้วปลอดทุกข์) จะมีบทบาทกับการคุมมวลชนหรือการรัฐประหารหรือไม่
มี การรัฐประหารในทุกครั้งหากไม่ได้รับความร่วมมืออันดีจากแม่ทัพภาคที่ 1 กรมการทหารราบที่ 1 กรมการทหารราบที่ 11 และกองพลทหารราบที่ 1 การรัฐประหารก็จะไม่สำเร็จ ยังไม่มีทหารต่างจังหวัดก่อรัฐประหารแล้วประสบความสำเร็จเพราะมันเกี่ยวเนื่องกับการวางกำลังที่ต้องเอากำลังเข้ามาจากข้างนอก การรัฐประหาร 2557 อาศัยการที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็น ผบ.ทบ. สั่งการเอง เอาทหารจากตะวันออกมาเก็บไว้ในกรุงเทพฯ ตั้งนาน แล้วใช้เหตุผลว่าเอามาซ้อม แต่พอซ้อมแล้วก็ไม่เอากลับ ฉะนั้น ใครเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 แล้วให้ความร่วมมืออันดีกับคณะรัฐประหาร คณะรัฐประหารนั้นก็ประสบความสำเร็จ ในทางกลับกัน ถ้าหากแม่ทัพภาค 1 ไม่ให้ความร่วมมือ แม่ทัพภาคที่ 1 ที่อยู่ในฐานะที่จะรู้ความเคลื่อนไหวทั้งหมดของกองกำลังในพื้นที่ของตัวเองจึงเป็นจุดสำคัญ บุคลิกของแม่ทัพภาคคนที่ 1 คนใหม่ ที่ผมเน้นว่ามีความคล้ายคลึงกับ ผบ.ทบ. ค่อนข้างมาก ก็อาจจะคิดได้ว่าทั้งสองคงคิดคล้ายๆ กัน
กลุ่มลูกป๋าเปรมยังมีอิทธิพลอยู่หรือไม่
ประการแรก กลุ่มลูกป๋าเปรมมีอายุมากแล้ว เกษียณราชการกันไปหมดแล้ว ยุคหลังๆ ที่บูรพาพยัคฆ์มีอำนาจ การไปเข้าหา พล.อ.เปรมก็เพื่อแสดงออก เพราะ พล.อ.เปรมใกล้ชิดกับ ร.9 และวังหลวง ทุกคนก็เกรงอกเกรงใจ แต่ปัจจุบันไม่มี พล.อ.เปรมอยู่แล้วทั้งในทางกายภาพและทางอิทธิพล คนที่สืบทอด พล.อ.เปรมได้ก็คือ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งเป็นประธานองคมนตรี แต่บุคลิกของ พล.อ.สุรยุทธ์ ค่อนข้างเป็นคนเก็บตัว โลว์โปรไฟล์และไม่มีบารมีในกองทัพมากเมื่อเทียบกับ พล.อ.เปรม เนื่องจากเป็นหน่วยรบพิเศษ อยู่ชายแดน ไม่ค่อยสุงสิงกับใคร ในกองทัพก็รู้สึกว่าท่านโน้มเอียงไปทางอเมริกันมากไปหน่อย เลยไม่เป็นที่ชื่นชอบเท่าไหร่นัก คนก็อาจจะเคารพนับถือมากกว่าการมีอำนาจอิทธิพลในการสั่งการ จะพบว่าการเลื่อนลดปลดย้ายสมัยนี้ไม่ต้องไปถึงมือใครอื่น มีเพียง ผบ.เหล่าทัพ รมว.กลาโหม และ รมช.กลาโหมที่จะพิจารณา ซึ่งเป็นทหารทั้งหมด ซึ่งส่วนหนึ่งก็ถูกล็อกเอาไว้ในกฎหมาย
รัฐประหาร 2549 เป็นมรดกของสภาพที่เป็นปัจจุบันหรือไม่
รัฐประหาร 2549 ไม่เพียงแต่เป็นปฐมบทการหวนกลับสู่การเมืองอย่างมีระบบอย่างมีระเบียบมากไม่เพียงแค่ของกองทัพ แต่เป็นการให้ความสำคัญกับราชการมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อก่อนกำนัน ผู้ใหญ่บ้านมีวาระ 4 ปี แต่หลังรัฐประหาร 2549 กำนัน ผู้ใหญ่บ้านอยู่ในตำแหน่งได้ถึงอายุ 60 ปี ทั้งๆ ที่เรามีหน่วยการปกครองท้องถิ่นเยอะแยะแต่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านยังอยู่ ทั้งที่จริงๆ กำนันและผู้ใหญ่บ้านแทบจะเป็นผู้ประสานงานราชการในท้องถิ่นไปแล้ว เพราะงบประมาณหลายอย่างก็ยกให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปหมด
พ.ร.บ. กลาโหม ปี 2551 ก็ได้พื้นฐานมาจากสิ่งนั้น เพราะเท่าที่ผมเคยสัมภาษณ์กับคนที่ทำรัฐประหารในปีนั้น (พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน) ก็คือ การจัดความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับพลเรือนเป็นเรื่องที่สำคัญ อุดมคติสูงสุดของกองทัพก็คือไม่อยากให้พลเรือนมายุ่ง ไม่อยากให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง นักการเมือง พรรคการเมืองที่มาจากประชาชนมายุ่งเกี่ยวอะไรในกิจการของกองทัพเลย ไม่ว่าจะเป็นการโยกย้ายแต่งตั้ง ถ้าเป็นไปได้ พวกเขาก็อยากจะทำกันเอง
อีกเรื่องที่เป็นพื้นฐานของมรดกปี 2549 ก็คืออย่างที่เขาพูดกันทั่วไปว่าการรัฐประหาร 2549 นั้นเสียของ จึงต้องมีการรัฐประหาร 2557 อีกเพื่อที่จะทำในสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ทำ คือทำให้การ militarize ประเทศไทย (ทำให้เป็นกองทัพ) ไปทุกส่วน พล.อ.ประยุทธ์ แสดงความพยายามอย่างมากในการสืบทอดแนวคิดการเปลี่ยนรัฐไทยให้กลายเป็นรัฐทหารมากกว่าที่การรัฐประหาร 2549 ทำ เราจะเห็นว่ารัฐประหาร 2549 พวกเขาอยู่ในอำนาจหนึ่งปีเศษๆ เท่านั้นเอง ไม่ว่าจะด้วยบุคลิกของ พล.อ.สนธิ หรือ พล.อ.สุรยุทธ์ก็ดี ก็คงไม่ได้คิดว่าจะต้องทำอะไรยาวนาน
แต่ในปี 2557 มันแตกต่างออกไปในแง่ที่ว่าเขาคิดจะสร้างสิ่งซึ่งปี 2549 ได้เริ่มเอาไว้ให้สำเร็จ ก็คือเปลี่ยนให้ราชการกลับมาเป็นใหญ่เหนือภาคส่วนอื่นๆ อีกครั้ง เราจึงจะเห็น 2M (Military, Monarchy) ค่อยๆ โดดเด่นขึ้นมาเรื่อยๆ ในปี 2549 และมาเต็มรูปแบบในปี 2557 ที่มีการทำอย่างเป็นระเบียบแบบแผนมากกว่า แต่จุดเริ่มต้นมันคือปี 2549 แน่ๆ เพราะคนที่อยู่ในอำนาจก็คือคนกลุ่มเดิม คือ พล.อ.อนุพงษ์ พล.อ.ประยุทธ์ คือคนที่เป็นกลจักรในการรัฐประหาร 2549 ซึ่ง พล.อ.อนุพงษ์ก็ยังสามารถรักษาโมเมนตั้มต่อมาจนถึงการรัฐประหารในปี 2557
เราจะเห็นได้ว่า 3 ป. เริ่มเรืองอำนาจหลังปี 2549 หลังจากนั้นบูรพาพยัคฆ์ก็ควบคุมกองทัพได้แม้จะมีรัฐบาลที่เป็นพลเรือนก็ตาม อย่างที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ใช้อำนาจทหารบังคับขู่เข็ญรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ด้วยการออกโทรทัศน์เพื่อขู่รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กลุ่มเสื้อเหลือง) เมื่อ 7 ต.ค. 2551 เป็นเหตุการณ์ที่ชัดเจนที่สุดที่ ผบ.ทบ. ใช้อำนาจอย่างชัดเจนว่าต้องการสถาปนาอำนาจทางทหารให้อยู่ต่อไป
อีกอันที่ผมคิดว่าเป็นมรดกที่สำคัญมากๆ และส่งผลมาถึงวันนี้ ก็คือการขับเน้นบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจนที่สุด เพราะหลังการรัฐประหาร 2549 ก็มีการต่อต้าน มีขบวนการคนเสื้อแดง และวังหลวงก็ถูกดึงมาโดยกองทัพและคนที่สนับสนุนกองทัพ ให้มามีบทบาทมากขึ้นในการเมืองท้องถนน การปรากฏตัว การสร้างวาทกรรมต่างๆ ระหว่างการประท้วง โดยการสนับสนุนของกองทัพ ยกตัวอย่างเช่นการเขียนผังล้มเจ้า นี่คือการยกบทบาท จนเป็นโมเมนตั้มสำคัญมาสู่การทำให้กองทัพมีหน้าที่สำคัญในการรักษาความมั่นคงในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพราะขณะนั้นมีอริราชศัตรูซึ่งถูกสร้างโดยกองทัพ มาต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์
การรัฐประหารปี 2549 ได้สร้างรากฐานอันเป็นอิฐก้อนแรกให้มาสู่สถานะที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจนเรายังหาทางเปลี่ยนแปลงไม่ได้ อย่าว่าแต่จะหวนกลับเลย แค่จะเบี่ยงทิศทางไปบ้างก็ยังประสบความยากลำบาก ตอนเปลี่ยนรัชกาลใหม่ๆ บอกว่าจะไม่ใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 แต่ปัจจุบันก็ใช้ ม.112 มากขึ้นเรื่อยๆ และใช้อย่างไร้เหตุผลมากขึ้นเรื่อยๆ นี่คือคุณูปการของการรัฐประหารปี 2549
การรัฐประหาร 2549 ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของกองทัพในแบบที่ไม่อิงกับรุ่น แต่อิงกับสังกัดที่ทำงานหรือไม่
ความเป็นรุ่นโรงเรียนนายร้อย จปร. จบไปพร้อมพฤษภาทมิฬ ช่วงหลังปี 2535-2549 เราแทบจำชื่อ ผบ.ทบ. ไม่ค่อยได้ ข่าวทหารไม่ค่อยมีใครสนใจจนกระทั่งมาถึงสมัยทักษิณ ที่ความเป็นรุ่น แต่ไม่ใช่รุ่นของ จปร. เป็นรุ่นของเตรียมทหาร (ตท.) ซึ่งตอนนี้ก็ยังพอหลงเหลือในฐานะที่ทหารที่มีอำนาจในปัจจุบันก็เป็น ตท. รุ่น 22 23 และ 24 ส่วนของทักษิณเป็นรุ่น 10
ความเป็นรุ่นมาจบที่สมัยทักษิณ ความเป็นเหล่าเพิ่งจะมาสมัยหลังยุคทักษิณ รุ่นก็ยังนับอยู่ แต่ไม่มีความสามารถจะดึงคนในรุ่นเข้ามา ก็อาจจะเป็นลักษณะของแต่ละตัวบุคคลด้วยก็ได้ อย่าง พล.อ.ประวิตร ที่เป็นแกนนำนั้นนิยมชมชอบความเป็นเหล่า เพราะในรุ่นของเขานั้นเกษียณหมดแล้ว แต่ความที่ พล.อ.ประวิตรทำตัวเป็นพี่ใหญ่ตลอดเวลา เลี้ยงน้องอีก 2 ป. มาตลอด เติบโตมาในราบ 21 ด้วยกัน พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อนุพงษ์ก็ได้รับการอุ้มชูขึ้นมาเรื่อยๆ โดย พล.อ.ประวิตร
ในความเห็นของผม การจัดกลุ่มอาจไม่ได้มีความหมายจริงๆ ในแง่ของฐานอำนาจ แต่มันมีประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ สำหรับการศึกษาในการแยกหมวดหมู่กลุ่มต่างๆ มันง่ายดีที่เราจะบอกว่าใครอยู่กลุ่มไหนอย่างไร ปัจจุบันเราก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่มีความต้องการจะสลายบูรพาพยัคฆ์กับวงศ์เทวัญออกไป เหลือแต่คอแดงกับคอเขียว แล้วคอแดงกับคอเขียวเราอธิบายอย่างไร ก็คือว่าใกล้ชิดหรือไม่ใกล้ชิดกับพระราชวัง มันก็มีประวัติศาสตร์ของมันแบบนี้ ปัจจุบันก็ง่ายที่จะบอกว่าใครเป็นคอแดงก็จะได้รับการสนับสนุน พวกที่เป็นคอแดงด้วยกันก็ดึงคอแดงด้วยกันเข้ามาเพราะเชื่อว่าจะถูกใจวังหลวงมากกว่าการดึงพวกที่เป็นคอเขียว
ปัจจุบันเราอาจจะพูดได้ว่า ดีกรีความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์เป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาอำนาจในกองทัพมากกว่าการภักดีต่อกลุ่มของตัวเอง อันนี้เป็นคำถามที่สำคัญมากในแง่การศึกษากิจการกองทัพว่า เวลาเรามองทหาร เรามองว่าพวกเขาจงรักภักดีต่อใคร ทหารในประเทศอื่นอาจจะดูความสามารถในการรบหรือความสามารถในการบังคับบัญชาเป็นสำคัญในประเทศที่มีการสู้รบ แต่ในเมื่อประเทศไทยไม่มีการรบ เมื่อก่อนนี้ความสามารถในการวิ่งเข้าถึงนักการเมืองก็มีความสำคัญต่อการได้รับการปูนบำเหน็จ ปัจจุบันพิสูจน์ด้วยความจงรักภักดี ก็กลับไปที่ปี 2549 ที่ทำให้กองทัพอ้างอิงความเจริญก้าวหน้ากับขีดความสามารถในการจงรักภักดี มากกว่าขีดความสามารถในการรบและสมรรถนะของกองทัพ เราจะเห็นได้จากการใช้จ่ายงบประมาณของกิจกรรมกองทัพที่ปรากฏต่อสาธารณะ เราจะไม่ค่อยเห็นเขาซ้อมรบ แต่จะเห็นงานเฉลิมพระเกียรติเยอะ
ประชาชนอยู่ตรงไหนในเรื่องนี้
เวลาพูดเรื่องทหารกับการเมือง เป็นการเมืองของชนชั้นนำ ไม่มีประชาชนอยู่ในนั้นสักเท่าไหร่ แต่ในระยะหลังๆ ก็ถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่มีเยาวชนออกมาเคลื่อนไหว พูดถึงปัญหาที่อยู่ที่สูงที่สุดในลำดับขั้นของสังคมนี้ได้ เราเห็นการเรียกร้องการปรับคืนกำลังที่ถูกโอนย้ายไปอยู่ในการบังคับบัญชาของวังหลวงกลับมาคือ เราเห็นสมาชิกรัฐสภาพูดถึงการปฏิรูปกองทัพ ในความเห็นผมคิดว่ายังไปไม่ถึงแก่น แต่ก็มีการตั้งคำถามไปถึงการใช้งบประมาณกองทัพในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจย่ำแย่ มีการตั้งคำถามถึงปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร มีการตั้งคำถามเรื่องการปฏิบัติต่อกำลังพล เช่น การละเมิดทหาร หรือทหารละเมิดกันเอง
สังคมจับจ้องพฤติกรรมและการใช้จ่ายของกองทัพมากขึ้น มีคนพูดว่าภารกิจกองทัพสมควรจะเปลี่ยนแล้ว เช่น การรักษาความมั่นคงภายใน ก็มีคนพูดว่าควรเป็นตำรวจ เรื่องภัยพิบัติ น้ำท่วมหรืออุทกภัยต่างๆ งานพลเรือนทำได้ดีกว่า มีความชำนาญกว่า อุปกรณ์กองทัพนั้นใช้ในการรบและเคลื่อนย้ายคนได้ก็จริงอยู่ แต่ก็มีต้นทุนที่สูงมาก
ไปไกลขึ้นอีกหน่อยหนึ่ง เวลาเราพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับการเมือง เรามักพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับพลเรือน ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทั้งหลายแหล่ รัฐบาลพลเรือนจะอยู่ในฐานะที่บังคับบัญชาทหารได้ รัฐสภาจะมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้กำลังของกองทัพ แต่ว่านับจากการรัฐประหาร 2557 มาถึงก่อนการเลือกตั้ง 2562 รัฐบาลไม่ได้ตรวจสอบกองทัพเลยแม้แต่น้อย ขออะไรก็ให้ แต่หลังเลือกตั้ง รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ผมหมายถึงสภาผู้แทนราษฎร ก็เริ่มตั้งคำถามมากแต่หลายอย่างก็ตกไป เช่น การเสนอให้ทบทวนการใช้อำนาจตามมาตรา 44 (ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว) หรือการเสนอกระทู้บางเรื่อง การเปิดโปงข้อมูลบางอย่างเช่นตั๋วช้าง ก็ถือว่ารัฐสภาได้เริ่มทำหน้าที่ที่จะมีปฏิสัมพันธ์ ผมคิดว่าประชาชนก็คงอยากจะเห็นว่ารัฐสภาสามารถที่จะบังคับบัญชา กำหนดยุทธศาสตร์ทางความมั่นคงได้และทหารเป็นฝ่ายปฏิบัติ
อีกอย่างหนึ่งที่เราเห็นและสำคัญก็คือวัฒนธรรมการใช้อำนาจของทหารที่มักพ้นผิดลอยนวลได้ง่ายๆ เรื่องนี้ก็ค่อยๆ ยกมาเป็นประเด็นขึ้นมาได้เรื่อยๆ แม้จะมีเพียงฝ่ายค้านที่เป็นเสียงข้างน้อย ซึ่งพูดอย่างตรงไปตรงมา ในฝ่ายค้านก็พูดอยู่พรรคเดียว บางพรรคก็อาจจะประนีประนอมกับอำนาจ แต่ผมคิดว่าประชาชนคงไม่อยากประนีประนอมกับการใช้อำนาจแบบนั้น
เรื่องการปฏิรูปกองทัพอาจจะต้องทำอย่างเป็นระบบ ต้องเริ่มตั้งแต่ระดับอุดมการณ์และภารกิจของกองทัพ รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจของกองทัพ ซึ่งยังไม่มีใครศึกษาเอาไว้อย่างเป็นระบบมากนักว่าต้องทำอะไรบ้าง มีการศึกษาชัดเจนอยู่ในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐสภาแต่ยุคหลังๆ ก็อาจจะยังไม่มีข้อมูล
กฎหมายหลายฉบับก็ยังไม่ได้แตะต้อง เช่น พ.ร.บ.กลาโหม พ.ศ. 2551 ที่ให้อำนาจ ผบ.เหล่าทัพในการเลื่อนลดปลดย้ายไว้สูงมาก หรือ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งให้อำนาจ กอ.รมน. ซึ่งจริงๆ ก็คือปีกการเมืองของกองทัพ เข้ามาทำงานพลเรือน ทำงานการเมือง ซึ่งมันสับสนปนเปไปหมด รวมทั้งเรื่องหน้าที่ที่ทหารไทยถือว่าตัวเองมีหน้าที่พัฒนาประเทศด้วย ซึ่งจริงๆ ทหารไทยไม่มีความชำนาญในการพัฒนาประเทศ เราเห็นแล้วว่าคำว่าพัฒนาในความหมายของทหารคืออะไร คือขุดบ่อ ลอกท่อ มันไม่ใช่ การพัฒนาประเทศมีอะไรมากกว่านั้น กองทัพทำไม่ได้ ต่อให้มีทรัพยากรมาก แต่ยุทโธปกรณ์และการฝึกฝนของบุคลากรในกองทัพไม่ได้เหมาะสมสำหรับงานพัฒนา เราอาจจะต้องพูดถึงเรื่องนี้อย่างจริงๆ จังๆ
เราอาจจะเริ่มต้นจากรัฐธรรมนูญ เขียนให้ชัดว่ากองทัพมีหน้าที่อะไรบ้าง ของไทยเขียนเอาไว้ว่ามีหน้าที่พิทักษ์สถาบันกษัตริย์ ป้องกันประเทศ และทำงานพัฒนา ซึ่งมันดูเหมือนพยายามจะรักษาอำนาจ ถ้ามีบทบาทก็มีอำนาจ รัฐธรรมนูญจะต้องลดทอนบทบาทของกองทัพในงานที่ไม่ใช่ความชำนาญของกองทัพออกไปเรื่อยๆ