วันจันทร์, กันยายน 26, 2565

เจี่ยะป้าบ่อสื่อ


เขียนไว้ให้เธอ
1d

เจี่ยะป้าบ่อสื่อ
ช่วงนี้เห็นพฤติกรรมของทนายบางคนที่ทำเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องให้วุ่นวายตามหน้าข่าว เลยนึกถึงประโยคนี้ขึ้นมาเลยครับ…
ภาษาจีนแต้จิ๋วประโยคนี้ผมได้ยินตั้งแต่เด็กๆ อาม่าผมพูดเชิงบ่นให้ฟังอยู่บ่อยๆถึงคนโน้นคนนี้หรือตัวผมเองบ้างเวลาไปหาเหาใส่หัวสร้างเรื่องอะไรวุ่นวายโดยที่ไม่จำเป็น ประโยคนี้แปลตรงตัวว่ากินอิ่มแล้วว่าง ซึ่งความหมายกลายๆที่ผมเข้าใจก็คือ พออิ่มๆว่างๆ ไม่มีอะไรแทนที่จะพอใจก็มักจะไปหาเรื่องหาราวอยู่ไม่สุข ก็จะเข้าใจแบบนี้มาโดยตลอด
เมื่อวานผมรื้อตู้หนังสือ ไปเจอชุดหนังสือที่เคยขายดีมากๆในอดีต ผมจำได้ว่าหนังสือที่ชื่อ “โคตรโกง” ที่แปลจากไต้หวันโดยใบไผ่เขียวในช่วงนั้นขายดีระดับพิมพ์หลายสิบครั้ง และมีซีรีส์ต่อเนื่องมาหลายเล่ม รวมๆเป็นเรื่องของเล่ห์เหลี่ยมทางธุรกิจ ลูกเล่นต่างๆที่อ่านสนุกและได้แง่คิด ยิ่งมาอ่านใหม่ยิ่งอิน บทหนึ่งในหนังสือของซีรีส์นี้ในหนังสือชื่อคนไม่ใช่คนเล่าถึงคำนี้ไว้อย่างน่าสนใจ
ผู้เขียนเล่าถึงประสบการณ์การซื้อบ้านที่สหรัฐแล้วขอให้ทนายช่วยดูสัญญาซื้อขาย แล้วประทับใจกับการเจรจาตัดโน่นตัดนี่สู้กับทนายฝรั่งได้อย่างถึงลูกถึงคน จนพอสนิทกับทนายแล้ว เขาเลยเฉลยให้ฟังว่า
“..คุณน่าจะรู้ว่าทนายอเมริกันจงใจร่างสัญญาที่มีข้อบกพร่องหยุมๆหยิมๆเอาไว้ทุกคนรู้แน่แก่ใจดีว่าตรงไหน ควรตัดทิ้ง ตรงไหนควรแก้ไข ..ที่ต้องทำเพราะว่าจำเป็น ไม่อย่างนั้นคุณคงนึกในใจว่าทำไมต้องจ้างทนายด้วย ตัวเองมาเซ็นสัญญาก็ได้ เมื่อมีขบวนท่าแบบนี้ เวลาแสดงออกค่อยพิสูจน์ว่าทนายมีประโยชน์ คุณจ่ายเงินอย่างคุ้มค่าสมราคา “
การจงใจหาเรื่องหาราวในลักษณะนี้ก็เพื่อสร้างมูลค่าให้ตัวเอง ถ้าเห็นว่าทนายง่ายหรือว่างเกินไปก็จะทำให้เขาดูไม่มีประโยชน์ หลายครั้งก็อาจจะไม่ได้ดีต่อองค์กรอยู่เหมือนกัน
……..
ผมเองเคยรู้จักฝรั่งคนหนึ่งที่ที่ทำงานเก่า ก่อนเขามาบริษัทงานด้านนี้ก็ดูสงบเรียบร้อยไม่ค่อยเคยมีเรื่องกับทางการหรือผู้กำกับดูแลของภาครัฐเท่าไหร่ แต่พอคนนี้ถูกส่งมาไม่นาน โดยมาดูแลด้านความสัมพันธ์ภาครัฐซึ่งเดิมก็เป็นงานง่ายๆสบายๆ คอยดูแลความสัมพันธ์ต่างๆให้เรียบร้อย แต่พอเขามา คดีความ ข้อพิพาทของบริษัทก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆและยืดเยื้อมาก แล้วเขาเองก็ดูเป็นคนที่กล้าเผชิญหน้า เป็นขาลุยมีอะไรก็อาสาไปคุยไปขึ้นโรงขึ้นศาลเองตลอดไม่ยอมให้ใครช่วย ดูเผินๆก็เหมือนจะดี
แต่ก็มีเพื่อนฝรั่งด้วยกันมาแอบเม้าให้ฟังว่าที่เขาเอะอะอะไรก็ฟ้องก็พิพาท ส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นไปตามข้อเท็จจริงและเหตุผล แต่อีกส่วนก็คือเขาเพิ่งแต่งงานกับภรรยาคนไทยและรักเมืองไทยมาก กลัวว่าจะถูกย้ายไปประเทศอื่นตามนโยบายบริษัทแม่ ก็เลยหาเรื่องอยู่เมืองไทยนานๆด้วยการสร้าง “ความสำคัญ”ของตัวเองขึ้นมาเพื่อให้ตัวเองไม่ได้อยู่ว่างหรือบ่อสื่อซึ่งเป็นความเสี่ยงจะถูกเปลี่ยนประเทศ เพื่อที่จะได้อยู่ยาวๆ ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าคดีพิพาทเยอะๆนั้นจะดีต่อบริษัทจริงๆหรือเปล่าด้วยซ้ำ
………
หนังสือเล่มที่ผมอ่านเลยเตือนถึงความอันตรายของคนที่ไม่ค่อยมีงานทำ เพราะนอกจากจะมีเวลาหาเรื่องแล้วก็ยังมองหาการสร้างความสำคัญให้ตัวเองเพื่อป้องกันตัวหรือทำให้งานต่างๆล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็นก็ได้ หนังสือเขียนไว้มีความตอนหนึ่งว่า
“ ใช่แล้ว คนไม่มีงานทำจะก่อเหตุเภทภัยได้
มีสุภาษิตบทหนึ่งว่า “ไม่กลัวขุนนางใหญ่ กลัวแต่ชั้นผู้น้อย”
ชนผู้น้อยที่ว่ามักเป็นคนที่ไม่มีงานทำ ตำแหน่งของเขาไม่สูงนัก ซุ่มเสียงอาจไม่ดัง เวลาเดินอาจสงบเสงี่ยมเจียมตัว แต่ตอนประทับตราเสียงจะดังเป็นพิเศษ
ปะเหมาะเคราะห์ร้าย คุณมีเอกสารฉบับหนึ่งต้องรับจัดการให้เรียบร้อย พอส่งถึงโต๊ะของเขา ปัญหาก็เกิดขึ้น
พี่ท่านดองเรื่องเอาไว้ เดี๋ยวลุกไปห้องน้ำ เดี๋ยวหยิบกระดาษเช็ดหน้าสั่งน้ำมูก ค่อยบรรจงหยิบเอกสารขึ้นมาดูแล้วดูเล่า ผ่านไปครึ่งค่อนวันจึงถอนหายใจเฮือกใหญ่ กระซิบบอกว่า น้องเอ๋ย พี่คงประทับตราให้ไม่ได้
จนใจที่เขาสามารถหยิบกฎระเบียบหยุมหยิมมาสกัดกั้นคุณ พออ้างระเบียบออกมา แม้แต่ผู้บังคับบัญชาระดับสูงก็ยังไม่กล้าพูดมาก คุณจะทำอย่างไรดี
เจอคนไม่มีงานทำแบบนี้ คุณกล้าที่จะดูถูกเขา กล้าที่ไม่ยำเกรงเขาสักสามส่วนดอกหรือ?”
………..
ในที่ทำงานของเรา ปกติก็จะมองเห็นแต่คนที่ยุ่งวุ่นวาย มีงานเต็มมือ แต่ถ้าสังเกตดีๆโดยเฉพาะบริษัทใหญ่คนเยอะ คนที่ว่างงานไม่ว่าจะตำแหน่งใหญ่หรือเล็กแค่ไหนนั้นน่าจะมีความอันตรายต่อการปล่อยให้ว่างไว้เฉยๆ วิธีที่ดีที่สุดก็คงเหมือนตามที่ผู้เขียนหนังสือแนะนำ ถ้ายังไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก ก็ควรให้เขียนบทให้เขาเล่นโดยอย่าไปสนใจผลลัพธ์ แต่อย่าปล่อยให้คนไม่มีงานทำอยู่ว่างคิดมากจนก่อเรื่องก่อราว สร้างความเสียหายให้บริษัทได้
แล้วจะเหมือนอาม่าผมที่ชอบบ่นว่า เจี่ยะป้าบ่อสื่อ นั่นเลยครับ

Banyong Pongpanich
19h ·
อ่านเรื่องนี้ทำให้นึกถึงประสบการณ์ครั้งหนึ่ง….
ผมเคยถกเถียงกับท่านรองวิษณุ ถึงเรื่องความยุ่งยากรุงรังของกฎหมายไทย ควรต้องตัดทิ้งรื้อลดครั้งใหญ่ โดยใช้โครงการ Regulatory Guillotine ของ OECD มาใช้ ท่านบอกว่า คุณเอาระบบฝรั่งมาใช้ในเมืองไทยไม่ได้หรอก เราต้องปฏิรูปแบบไทยๆ ผมถึงกับอุทานต่อหน้าท่านว่า “ผมเข้าใจแล้ว ว่าทำไมประเทศนี้ถึงขาดท่านไม่ได้” …ท่านโกรธใหญ่ (แล้วจะไปเรียนBerkeleyทำไมวะ)