วันพุธ, กันยายน 28, 2565

ให้ถึงที่สุดสิน่า รัฐบาลตู่กู้เพิ่มอีก ๑ ล้านล้าน จะได้ไปต่อ

ให้ถึงที่สุดสิน่า ว่าเข้ามาเพื่อกู้ อยู่ได้ด้วยกู้ และกู้อีกจะได้ไปต่อ “ครม.ไฟเขียวแผนก่อหนี้ใหม่อีก ๑ ล้านล้านบาท” ทั้งที่อัตราหนี้สาธารณะขณะนี้เกิน ๖๐% ตามขีดจำกัดปกติ แม้ไม่ถึง ๗๐% ในเกณฑ์บริหารหนี้ที่ปรับตามใจรัฐบาลสืบทอดอำนาจ

แผนการบริหารหนี้สำหรับปี ๒๕๖๖ ที่คณะรัฐมนตรีเฮโลออนุมัติวานนี้ ประกอบด้วยการก่อหนี้ใหม่ ๑ ล้าน ๕ หมื่น ๒ พันกว่าล้านบาท กับบริหารหนี้เดิมซึ่งยังอยู่ในวง ๑ ล้าน ๗ แสน ๓ หมื่น ๒ พันกว่าล้านบาท แต่มีแผนชำระหนี้แค่ ๓ แสน ๖ หมื่นกว่าล้านบาท

หมายความว่าภาระหนี้สำหรับประชากรรุ่นใหม่ ต่อๆ ไป จะเป็นดินพอกหางหมู หากประเทศยังมีผู้บริหารบ้านเมืองชุดเดิมอีกอย่างน้อย ๑ สมัย รองเลขาฯ นายกฯ ผู้ปฏิบัติหน้าที่โฆษกสำนักนายกฯ บอกว่าส่วนใหญ่ ๘๐% ของเงินกู้จะเอาไปใช้ในโครงสร้างพื้นฐาน

อ้างด้วยว่านี่เป็น “การดำเนินนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุน” แต่การเอาเงินไปสร้างโน่นสร้างนี่ที่ไม่ใช่เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะนี้จริงๆ ก็จะยิ่งเพิ่มภาระในการปลดหนี้ เสียจนไม่อาจกระตุ้นอะไรที่จะเป็นนวัตกรรมใหม่

งบประมาณ ๑ หมื่น ๖ พัน ๒ ร้อยกว่าล้านสำหรับโครงการสนามบินอู่ตะเภา อาจจะเอามาใช้อ้างได้ง่ายว่าช่วยอัดฉีดโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษฝั่งทะเลตะวันออก แต่ก็อาจสูญเปล่าไปในระยะสี่ห้าปี ในเมื่อโครงการแม่ อีอีซียังไม่ได้ตั้งไข่

รัฐบาลประยุทธ์มักใช้ข้ออ้างเหล่านี้ เพื่อจะครองอำนาจต่อ “อยากทำงานที่ค้างให้เสร็จ” เป็นคำพูดที่ได้ยินกันบ่อย ต่างแต่ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา ไม่เห็นทีท่าใดว่าสามารถทำได้ดังอ้าง สิ่งที่ยกมาเป็นความหวัง เต็มไปด้วยกับ ลมๆ แล้งๆ

เวลานี้หนี้สาธารณะเกือบ ๙๐% เป็นหนี้ที่รัฐบาลนี้ก่อ โดยไม่มีหลักประกันใดในทางแนวโน้มให้เห็นว่าโครงการอะไรที่ก่อไว้หรือจะทำต่อไป หวังผลได้เต็มที่จริงจัง เพราะสิ่งแวดล้อมไม่อยู่ในสภาพเอื้ออำนวย หรือจัดเตรียมไว้รองรับ

อย่างสนามบินอู่ตะเภานั่น จะเอาอะไรมาเป็นหลักประกันยืนยันได้ว่า สร้างเสร็จแล้วจะเป็นเครื่องมือผลิตดอกผลทางเศรษฐกิจได้ตามที่หวัง ในเมื่อสนามบินนี้จะอยู่ในความครอบครองของกองทัพอากาศ แบบเดียวกับสนามบินดอนเมือง

ซึ่งตั้งแต่วันที่ ๒๓ วันที่ ๒๗ และอีกสองวันข้างหน้า (๓๐ ก.ย.) จะถูกปิดน่านฟ้าครั้งละ ๑ ชั่วโมงกว่าๆ ไม่ให้สนามบินพาณิชย์ขึ้นลง เสียหายทางธุรกิจมหาศาล เพียงเพื่อได้ทำการเฉลิมฉลองกันในกองทัพ โอกาสเปลี่ยนตัวผู้บัญชาการ

ธงทอง จันทรางศุ อาจารย์นิติศาสตร์ จุฬาฯ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม ตำหนิการปิดน่านฟ้าเพื่อฉลองตำแหน่ง ผบ.ทอ.ไว้ว่า “แต่ละนาฑีของเที่ยวบินที่ดีเลย์ ไม่ได้หมายถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูญเสียไปอย่างเดียว หากหมายถึงโอกาสอีกหลายอย่างที่ถูกตัดทอนไป”

นั่นเป็นเพียงคำวิจารณ์นิ่มๆ แต่ในเบื้องลึกของการสื่อความหมาย เป็นการบอกว่ากองทัพอากาศขาดสติปัญญาในทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ แล้วยัง เห็นแก่ได้ เอาแต่ประโยชน์และความรื่นเริงส่วนตัวเท่านั้นเป็นใหญ่

(https://www.facebook.com/thestandardth/posts/pfbid02tGhkEA และ https://www.khaosod.co.th/economics/news_7287993)