วันพฤหัสบดี, กันยายน 29, 2565

ก้าวไกล หนุน กทม. ชนกระทรวงการคลัง เก็บภาษีที่ดินให้เป็นธรรม เลิกปลูกกล้วยเลี่ยงภาษี


Wiroj Lakkhanaadisorn - วิโรจน์ ลักขณาอดิศร
10h

[ หนุน กทม. ชนกระทรวงการคลัง เก็บภาษีที่ดินให้เป็นธรรม เลิกปลูกกล้วยเลี่ยงภาษี ]
- - - - - - - - - - - - - - - - - -
จากข่าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ผู้ว่าชัชชาติ มีความพยายามจัดเก็บภาษีที่ดินอย่างเป็นธรรม โดยขึ้นภาษีที่ดินเกษตรกรรมแยกตามโซนผังเมืองในอัตราสูงสุด 0.15% เพราะรู้กันอยู่ว่าการปลูกกล้วย ปลูกมะนาว บนพื้นที่ผังเมืองโซนสีแดงเพื่อการพาณิชยกรรมใจกลางเมือง หรือโซนสีม่วงเพื่อการอุตสาหกรรม นั้นมีเจตนาเพื่อหลบเลี่ยงภาษีที่ดิน
.
เรื่องแบบนี้ปล่อยไว้ไม่ได้ครับ เพราะในปี 2566 นี้ กทม. มีประมาณการในการจัดเก็บภาษีที่ดินไว้ต่ำมากเพียงแค่ 7,710 ล้านบาทเท่านั้น ทั้งๆ ที่ควรจะจัดเก็บได้ 18,000 ล้านบาท (เนื่องจากปี 2564 ที่รัฐบาลลดภาษีที่ดินให้ 90% กทม. จัดเก็บได้ 1,800 ล้านบาท) หนำซ้ำหากนำไปเทียบกับปี 2562 ในสมัยที่ยังเป็นภาษีโรงเรือน ที่จัดเก็บได้ 15,000 ล้านบาท ภาษีที่ดินที่ กทม. ประมาณการว่าจะจัดเก็บไปในปี 2566 ก็ยังต่ำกว่าปี 2562 เป็นเท่าตัว
.
แล้ว กทม. จะเอางบประมาณที่ไหนมาปรับปรุงและพัฒนาระบบระบายน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ?
จะเอางบที่ไหนมาปรับปรุงทางเท้าถนนหนทาง ความปลอดภัย ?
จะเอางบที่ไหนมาปรับปรุงการจัดเก็บขยะ ?
จะเอางบที่ไหนมาปรับปรุงดูแลสวนสาธารณะ ?
จะเอางบที่ไหนมาส่งเสริมการศึกษาดูแลเด็กๆ ?
.
สถานการณ์ในตอนนี้นายทุนอสังหาริมทรัพย์ที่รวยล้นฟ้า จงใจซอยที่ดินเอาไปปลูกกล้วย กลับจ่ายภาษีที่ดินถูกลง แต่ประชาชนตาดำๆ ในชุมชนดั้งเดิม ที่เช่าที่วัดมาจัดสรรเป็นที่อยู่อาศัย กลับถูกรีดภาษีที่ดินเพิ่มขึ้น
.
นี่คือความไม่เป็นธรรม ที่เกิดขึ้น
.
การที่มีข่าวออกมาว่า แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง ออกมาเบรกไม่ยอมให้ผู้ว่าชัชชาติทำในสิ่งที่ถูกต้อง โดยอ้างว่าอาจจะขัดกับ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ พ.ศ. 2562
.
ผมไม่รู้ว่า แหล่งข่าวระดับจากกระทรวงการคลังเป็นใคร แต่เรื่องนี้คุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ในฐานะ รมว.คลัง จะอ้างว่าไม่รู้ คงจะไม่ได้ และถ้าไปอ่าน พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ให้รอบคอบ จะพบว่ากฎหมายฉบับนี้ ได้เขียนนิยามของ "ที่ดินรกร้าง" ไว้ครอบคลุมมาก ไม่ได้หมายความแค่ที่ดินที่ถูกทิ้งร้างเท่านั้น แต่หมายรวมถึง ที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามควรแก่สภาพด้วย
.
ซึ่งหมายความว่า ถ้าจะตีความกันแบบตรงไปตรงมา ที่ดินใจกลางเมืองที่เอาไปปลูกกล้วยหล็อมแหล็มเพื่อเลี่ยงภาษี สมควรจะต้องถูกเก็บภาษีที่ดินในอัตราที่รกร้าง 0.3% - 0.7% ด้วยซ้ำ
.
ผมยืนยันว่า สิ่งที่ผู้ว่าชัชชาติกำลังทำอยู่ คือ สิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม แต่ความพยายามในการขัดขวางของกระทรวงการคลังต่างหาก ที่อาจเข้าข่ายเป็นการตีความ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ แบบข้างๆ คูๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้นายทุนอสังหาริมทรัพย์
.
ก็ต้องถามไปยัง รมว.คลัง แบบตรงไปตรงมาว่า รัฐบาลนี้มีนโยบายสนับสนุนให้นายทุนปลูกกล้วยเพื่อหลบเลี่ยงภาษีที่ดินใช่หรือไม่ สรุปแล้วภาษีที่ดิน มีไว้รีดภาษีจากคนจน เพื่อบีบให้คนจนขายที่ดิน ให้กับนายทุน ใช่ไหม
.
ผมยืนยันว่า อ.ชัชชาติ กำลังทำในสิ่งที่ถูกต้อง อำนาจในการกำหนดอัตราภาษีดังกล่าวเป็นอำนาจเต็มของ กทม. ที่ได้รับตามกฎหมาย ผมและพรรคก้าวไกล พร้อมสนับสนุนผู้ว่าชัชชาติ แบบสุดตัว การที่ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ ท่านหนึ่ง ที่มาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ออกมาแสดงท่าทีว่าจะยอมถอยในเรื่องนี้ ผมคิดว่าถอยไม่ได้ครับ ถ้าเจอปัญหาอะไรกับรัฐบาล พรรคก้าวไกลพร้อมเป็นแรงหนุนช่วยชนเรื่องนี้กับกระทรวงการคลังเต็มที่